เคล็ดไม่ลับ ยกระดับการจัดซื้อเอสเอ็มอี

หัวข้อ : รวยลัดแบบไม่เสี่ยงด้วยธุรกิจเฟรนไชน์ 
อ่านเพิ่มเติม :https://www.apptodaygroup.com/INS_FEB/images/Ebook_inspired_FEB.pdf

 

 

ในแง่ของพัฒนาการแข่งขันทางธุรกิจ “การจัดซื้อ” เป็นสิ่งหนึ่งที่หลายๆ องค์กรมองข้ามไป ในอดีตการจัดซื้อ มักถูกมองว่ามีหน้าที่แค่สนับสนุนการดำเนินงานมากกว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมทำกำไรให้กับบริษัท มีหน้าที่แค่จัดซื้อตามความต้องการของแผนกอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ ต้องพัฒนาอะไรมากมาย แต่นั่นไม่ใช่แนวคิดในการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ เพราะการจัดซื้อนั้นเป็นปราการด่านแรกที่จะสร้างกำไรหรือลดต้นทุน ให้กับธุรกิจโดยไม่ต้องลงทุนอะไร 

ปัจจุบันผู้ประกอบการหลายรายหันมาให้ความสำคัญกับแผนกจัดซื้อ ไม่ว่าจะเป็นระดับนโยบายหรือการวางกลยุทธ์ การลงทุนเทคโนโลยีต่าง ๆ สำหรับแผนกจัดซื้อ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ถือเป็นหัวใจของงานจัดซื้อให้มีประสิทธิภาพมีอยู่ 7 ประการ คือ

 

1. คุณภาพที่ถูกต้อง (Right Quality)

วัตถุดิบ นับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อกระบวนการผลิต คุณภาพสินค้า การกำหนดคุณสมบัติวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพที่ถูกต้อง จึงเป็นปัจจัยที่ไม่ควรละเลย

 

2. ปริมาณที่ถูกต้อง (Right Quantity)

จำนวนสิ่งของหรือวัตถุดิบกับปริมาณที่จัดซื้อจัดหามานั้น จะต้องตรงกับปริมาณความต้องการ ไม่ขาด ไม่เกิน เพื่อลดปัญหา และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการสั่งซื้อ และระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า

 

3. เวลาที่ถูกต้อง (Right Time)

การกำหนดเวลาในการส่งสินค้า/วัตถุดิบ ซึ่งมีความสำคัญในกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร หากมีการส่งสินค้า/วัตถุดิบช้ากว่ากำหนดที่ต้องการ อาจส่งผลทำให้โครงการหรือกระบวนการผลิตหยุดชะงัก

 

4. สถานที่ที่ถูกต้อง (Right Place)

การระบุสถานที่ที่ชัดเจนในการจัดส่ง เพื่อให้ได้สินค้า/วัตถุดิบที่ถูกต้องตามคุณภาพ ปริมาณที่ครบถ้วน เวลาที่ตรงกับความต้องการ ราคาที่เหมาะสม ซึ่งองค์กรบางแห่งให้ผู้ขายสินค้า/วัตถุดิบ มีการแยกส่งตามจำนวนที่แต่ละแห่งต้องการโดยเฉพาะ การจ้างผู้ประกอบการในการจัดส่ง ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จัดซื้อไม่ควรมองข้าม

 

5. ราคาที่ถูกต้อง (Right Price)

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างที่มีผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานขององค์กรด้วย เช่น วัตถุดิบราคาถูกแต่ไม่มีคุณภาพ หรือคุณภาพต่ำกว่าที่กำหนดก็ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตมานั้นขาดคุณภาพ ขาดความน่าเชื่อถือต่อลูกค้า 

 

6. แหล่งขายที่เชื่อถือได้ (Right Source)

การตรวจสอบประวัติผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็นทุนจดทะเบียน กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ หรือแม้แต่สภาพคล่องทางการเงิน ก็เป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามยิ่งในผลิตภัณฑ์อาหาร การสืบกลับที่มาของวัตถุดิบนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ

 

7. การบริการเป็นที่น่าเชื่อถือ (Right Service)

ไม่ว่าอุตสาหกรรมการผลิต หรืออุตสาหกรรมการบริการ การให้บริการที่ดีนั้นจำเป็นที่จะต้องตอบสนองความต้องการได้ตรงตามความต้องการหรือเกินความคาดหวัง เพื่อก่อให้เกิดความพึงพอใจจากการซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ขาย

 

ปัจจัยทั้ง 7 ข้อนั้น มีผลต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรเป็นอย่างมาก และสามารถสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจของท่านได้  จะเห็นได้ว่าการจัดซื้อถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ยิ่งในปัจจุบันการพัฒนาผลิตภัณฑ์จำเป็นที่จะต้องได้รับการร่วมมือจากผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาวัตถุดิบ หรือวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกันเพื่อสร้างความแตกต่างในตลาด 

 

 

Published on 10 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

5 ขั้นตอนพาธุรกิจสู่โลกออนไลน์

หัวข้อ : 100 ธุรกิจออนไลน์ขนาดเล็กกับสูตรสู่ความสำเร็จที่ต้องรู้
อ่านเพิ่มเติม :etda.or.th/publishing-detail/the-100-knowhow-for-smes-go-online.html

 

ร้านค้าออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายอันทรงพลัง ที่จะช่วยสร้างโอกาสและรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้ ทั้งคนที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่หรือคนที่อยากต่อยอดและพัฒนาธุรกิจเดิม นอกจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีให้เลือกใช้ เว็บไซต์ก็ถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะเป็นเสมือนหน้าร้านที่คุณาสามารถควบคุมจัดการได้ และนี่คือ 5 ขั้นตอนพาธุรกิจสู่โลกออนไลน์ที่เอสเอ็มอีควรรู้

 

1. เริ่มต้นจากแผนธุรกิจที่ดี

แผนธุรกิจ เป็นเครื่องมือที่สำคัญมาก เพราะเป็นผลสรุปของกระบวนการคิด ทำหน้าที่เหมือนแผนที่นำทางที่จะช่วยจัดลำดับขั้นตอนในการก่อตั้งกิจการ รวมถึงการตัดสินใจทั้งในเรื่องการตลาด กลยุทธ์ การเงิน รวมถึงชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนและข้อควรระวังอีกด้วย

แผนธุรกิจที่ดี ต้องตอบคำถามเหล่านี้ได้

  • การก่อตั้งธุรกิจเป็นรูปร่างชัดเจนขนาดไหน
  • ธุรกิจน่าลงทุนหรือไม่
  • ธุรกิจมีแนวโน้มที่จะสำเร็จตั้งแต่เมื่อแรกตั้งมากน้อยขนาดไหน
  • ธุรกิจนี้มีความสามารถในการแข่งขันระยะยาวมากน้อยเพียงใด
  • สินค้าที่จะผลิตมีวิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพียงใด
  • สินค้าที่จะผลิตสามารถวางตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
  • วิธีการผลิตและการวางตลาดมีทางเลือกอื่นที่ประหยัดกว่าหรือไม่
  • หน้าที่ต่าง ๆ เช่น การผลิต การจำหน่าย การจัดการทางการเงิน การจัดการคน มีการจัดการที่ดีและเหมาะสมเพียงใด จำนวนและคุณภาพของพนักงานที่ต้องการมีเพียงพอหรือไม่



 

2. จดโดเมนด้วยชื่อที่น่าเชื่อถือและเป็นที่จดจำ

ความหมายของคำว่าโดเมนเนม คือชื่อของเว็บไซต์ ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปเข้าชมเว็บไซต์ผ่านเบราว์เซอร์ของผู้ใช้ทั่วไปได้ เช่น www.google.com ซึ่ง google.com คือชื่อโดเมนเนมนั่นเอง

 

 

3. ออกแบบเว็บไซต์ให้น่าสนใจ

เว็บไซต์ที่ดีอาจไม่ใช่แค่การมีดีไซ์ที่อลังการ แต่เจ้าของธุรกิจต้องเริ่มด้วยการรู้และทำสิ่งเหล่านี้

  • คุณต้องการขายอะไร แล้วนำเสนอคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการออกมาให้เห็นเด่นชัด
  • ไม่ควรเป็นเพียงแคตาล็อกสินค้าเพียงอย่างเดียว
  • ควรคำนึงถึงการออกแบบ ที่จะทำให้ลูกค้าค้นหาสิ่งที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
  • สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรทำให้การโหลดข้อมูลช้าจนเกินไป
  • ควรให้น้ำหนักกับการสร้างเนื้อหาที่เป็นกันเองกับผู้ชมเว็บไซต์ แต่ไม่ทิ้งความน่าเชื่อถือทางธุรกิจ

 

 

4. สร้างระบบการชำระเงิน

วิธีการชำระเงินควรทำให้ทั้งฝั่งผู้ค้าและลูกค้าใช้บริการได้สะดวกที่สุด โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือ ดูว่ากลุ่มลูกค้าเป็นใคร จะทำให้รู้ว่าวิธีชำระเงินแบบไหนจะสะดวกต่อกลุ่มลูกค้า จะเป็นการโอนเงินทางธนาคาร โอนผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือจ่ายผ่านบัตรเครดิต

 

 

5. วางระบบการจัดส่งสินค้าที่ไว้ใจได้

แม้ผู้ประกอบการอาจมองว่า การจัดส่งสินค้าไม่ใช่หน้าที่หลักโดยตรงของการทำธุรกิจ แต่หากละเลยและไม่ได้วางแผนระบบการจัดส่งไว้อย่างดี เมื่อเกิดปัญหาในการจัดส่ง ลูกค้าก็ไม่ได้โทษบริษัทขนส่งเพียงอย่างเดียว แต่จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจโดยตรงอีกด้วย

 

 

Published on 10 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

7 กฎเหล็กทำธุรกิจที่ปรับใช้ได้ทุกยุคสมัย

หัวข้อ : 7 กฎเหล็กทำธุรกิจที่ปรับใช้ได้ทุกยุคสมัย
อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbanksme.com/en/business-rules-apply-everytime

 

การสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จไม่ได้มาจากโชคช่วย แต่มาด้วยการลงมือทำผ่านทักษะหลายด้านจึงจะสามารถสร้างธุรกิจให้ไปไกลได้ หากแต่หลายคนพังก่อนจะปังเพราะก้าวพลาดตั้งแต่เริ่มต้นจากความไม่รู้และขาดประสบการณ์ เพราะการเริ่มธุรกิจด้วยความสนใจหรือความรักเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่พอที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ซึ่งการจะไปถึง ณ จุดนั้น ได้จะต้องผ่านกฎเหล็กเหล่านี้

 

1. หาจุดที่ก่อให้เกิดปัญหาในตลาดและกลุ่มเป้าหมายให้ได้ก่อนจะหาสินค้าหรือบริการ 

ถ้าเราไม่รู้ความต้องการของผู้บริโภค เราก็มีโอกาสที่จะเริ่มต้นพลาด จะไม่รู้เลยว่าขณะนี้ตลาดเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรให้สินค้ามีความแตกต่าง และไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ เพราะถ้าพลาดในข้อนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะตกม้าตายตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นได้เลย และการหาจุดที่ก่อให้เกิดปัญหา (pain point) ที่ซ่อนตัวอยู่ในตลาดเจอนั่นคือจุดเริ่มต้นของชัยชนะ

 

2. ทำความเข้าใจสินค้าและบริการของตัวเองอย่างถี่ถ้วน 

  • จะได้รู้ว่าจุดอ่อน จุดแข็งอยู่ตรงไหน 
  • ตัวตนของสินค้าคืออะไร มีสไตล์แบบไหน
  • สินค้าตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใด 

ถ้าเจ้าของเข้าถึงสินค้าของตัวเองได้ทุกแง่มุม จะง่ายต่อการดำเนินการในขั้นตอนต่อ ๆ ไปได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำตลาด

 

3. การตั้งราคาต้องเหมาะสม 

การกำหนดราคาของหนึ่งสิ่งควรมีการคำนวณอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้คุ้มค่าใช้จ่ายทางตรงและค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เกิดขึ้นรอบด้าน

  • ไม่ควรเริ่มจากราคาที่ต่ำสุดจนเสี่ยงต่อการขาดทุนหรือสูงสุดจนขายไม่ได้
  • หากเป็นสินค้าตามกระแสนิยม (Seasonal Peak) มักมีการบวกเปอร์เซ็นต์กำไรไว้สูงในช่วงแรก เพื่อชดเชยในช่วงที่สินค้าล้าสมัย
  • ถ้าเป็นสินค้าที่ต้องใช้เป็นประจำหรือซื้อบ่อย (Convenience Goods) หาได้ง่ายและมีการแข่งขันกันมาก อาจบวกเปอร์เซ็นกำไรให้ต่ำลง 
  • สินค้าที่ขายไม่ได้บ่อยนักหรือใช้พื้นที่วางสินค้ามาก จำต้องบวกเปอร์เซ็นต์กำไรไว้สูง
  • ถ้าเป็นสินค้าที่จับกลุ่มผู้ซื้อที่มีฐานะดี ก็จะบวกเปอร์เซ็นต์กำไว้สูงเกินกว่าสินค้าที่ผู้ซื้อมีฐานะยากจน

 

4. การทำงานเป็นทีมคือสิ่งสำคัญ

ในการสร้างธุรกิจจำเป็นต้องใช้ทักษะความรู้ความชำนาญจากคนหลายกลุ่มความรู้ การทำอะไรตัวคนเดียวไปทุกอย่าง นอกจากจะไม่สามารถทำออกมาให้ดีที่สุดแล้ว ยังจะทำให้พลาดโอกาสในการใช้เวลาที่มีไปคิดต่อยอดบริหารกิจการ วางแผนกลยุทธ์ในด้านอื่น ดังนั้นทีมทำงานที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นธุรกิจ

 

5. คิดถึงประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับมากกว่าเงินที่จะได้จากลูกค้า 

การยึดสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับจากสินค้าเป็นที่ตั้งมากกว่าการคาดหวังเรื่องเงินหรือผลกำไรที่จะได้ อาจนำมาซึ่งฐานลูกค้าอันเหนียวแน่น และทำให้ลูกค้าเดินเข้าหาแทนการที่เราต้องวิ่งไล่ตามลูกค้า เพราะลูกค้าจะสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับนั้นดีหรือไม่

 

6. ตุนเงินสำรองในการทำธุรกิจอย่างน้อย 6 เดือนแต่จะให้ดีควรมีสัก 1 ปี

การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ อาจไม่ได้นำมาซึ่งผลกำไรหรือยอดขายตามที่หวัง เนื่องจากยังใหม่ต่อตลาด กว่าลูกค้าจะรู้จัก วางใจ ให้การยอมรับ อาจต้องใช้เวลาและการยืนหยัดที่ยาวนานจนลูกค้าเกิดความคุ้นชิน และเห็นว่าธุรกิจมีความมั่นคงน่าเชื่อถือ จนเกิดความเชื่อมั่นในธุรกิจและนำมาสู่การเข้าหาสินค้าอย่างวางใจ

 

7. แผนสำรองต้องมี เพราะทุกการลงทุนคือความเสี่ยง 

ควรมีแผน 2-3-4 สำรองไว้เสมอ ก่อนจะเริ่มต้นลงทุนทำธุรกิจอะไรต้องทำความเข้าใจให้ได้ด้วยว่า ได้ก้าวขาเข้ามายืนอยู่บนความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่จุดที่แย่ที่สุด (The worst point) ด้วย เพื่อเตรียมแผนการรับมือ อย่าคิดแต่ในทางที่จะได้เพียงอย่างเดียว มิเช่นนั้นจะสะดุดล้มแล้วหายไปแทนที่จะลุกขึ้นได้ใหม่ ในแนวทางที่ดีกว่าเดิม

 

 

Published on 10 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย



บทความแนะนำ