เริ่มต้นธุรกิจเกษตรแปรรูป แบบ Smart Farm

ยุคนี้จะเห็นได้ว่า มีคนรุ่นใหม่หันมาสนใจทำธุรกิจการเกษตรแบบสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า Smart Farm เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพราะด้วยแนวคิดของ Smart Farm ซึ่งจะเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นระบบคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร ระบบเซ็นเซอร์ เทคโนโลยีชีวภาพ มาประยุกต์เข้ากับงานด้านการเกษตร เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เพิ่มคุณภาพมาตรฐานให้กับสินค้า รวมไปถึงลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการระบาดของศัตรูพืชและจากภัยธรรมชาติ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การทำ Smart Farm จึงมีความแตกต่างจากวิถีเกษตรแบบดั้งเดิม ที่ต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก มาสู่ การทำการเกษตรแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมการ ตรวจสอบสภาพแวดล้อมเพื่อบริหารจัดการการผลิต การควบคุมคุณภาพ มาตรฐาน ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ผลผลิตที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ส่งผลให้ขายได้ราคาดีขึ้น และยังลดความสูญเสียได้อีกด้วย ดังนั้น ใครที่กำลังคิดอยากจะเริ่มต้นทำธุรกิจ Smart Farm โดยเฉพาะการทำฟาร์มผักและการแปรรูปผักต่างๆ สิ่งเหล่านี้ คือเรื่องที่ควรรู้และควรเตรียมพร้อม!! จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ การทำธุรกิจฟาร์มผักแบบ Smart Farm นั้น ในการเริ่มต้นไม่ได้แตกต่างจากธุรกิจประเภทอื่นๆ โดยสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องทำ นั่นคือ การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ หรือการจดทะเบียนพาณิชย์ อย่างที่หลายคนทราบกันดี ว่า สามารถจดได้ทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล (คลิก! ดาวน์โหลดเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนพาณิชย์) หรือดูข้อมูลได้ที่ เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งจะต้องดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่เริ่มประกอบการ  โดยสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์ กรุงเทพมหานคร ส่วนในต่างจังหวัด สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด จัดเตรียมโรงเรือนสำหรับปลูก สิ่งต่อมาที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง คือ พื้นที่ในการทำฟาร์มผัก ยุคนี้จะเห็นว่าคนนิยมเพาะปลูกผักอินทรีย์ ผักออร์แกนิกส์ หรือผักปลอดสารพิษมากขึ้น เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย และมีมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าผักทั่วไป ดังนั้น การปลูกผักในโรงเรือน จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการ เพราะมีข้อดี คือ สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ความร้อน ความชื้น ฯลฯ การบริหารจัดการปัจจัยภายใน ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ปรับอุณหภูมิ ฯลฯ รวมถึงการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานของผลผลิต ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาการระบาดของศัตรูพืชต่างๆ ได้อีกด้วย สำหรับโรงเรือน มีความหลากหลายทั้งในเรื่องขนาด รูปแบบ รวมถึงคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ การเลือกใช้จึงขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของพืชที่จะปลูก ขนาดของพื้นที่ และที่สำคัญคืองบประมาณของผู้ประกอบการ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม Farming 4.0 มิติใหม่การเกษตรไทย) วางระบบเทคโนโลยีให้พร้อม หัวใจสำคัญของการทำ Smart Farm คือ การนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องศึกษาและเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น ระบบควบคุมการเปิด-ปิดน้ำสำหรับการรดน้ำผัก ที่สามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดน้ำได้โดยอัตโนมัติ อีกทั้งยังช่วยควบคุมปริมาณการรดน้ำตามความต้องการของผักแต่ละชนิด หรือจะเป็น ระบบเซ็นเซอร์ติดตามสภาพอากาศ เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ หากอุณหภูมิสูงเกินกำหนด ระบบจะทำการสั่งเปิดน้ำ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิลง หรือการตรวจวัดความชื้นในดิน หากระบบพบว่าความชื้นในดินต่ำกว่าที่กำหนด ก็จะสั่งรดน้ำโดยอัตโนมัติเช่นกัน เป็นต้น นอกจากนี้ เทคโนโลยียังสามารถวิเคราะห์ ประมวลผลออกมาเป็นข้อมูล (Data) ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้วางแผนการปลูกผักให้ได้ผลผลิตดียิ่งขึ้น ที่สำคัญจะช่วยลดการใช้แรงงานคน และยังช่วยให้เกิดการบริหารจัดการต้นทุนทางธุรกิจได้มีประสิทธิภาพอีกด้วย ขอรับรองมาตรฐาน นอกจากระบบโรงเรือนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำธุรกิจปลูกผักนี้แล้ว สิ่งที่มีความสำคัญ และสร้างความแตกต่างให้กับสินค้ารวมถึงช่องทางการตลาด อยู่ที่มาตรฐานของผลผลิต เนื่องจากปัจจุบันเรื่องของความปลอดภัยด้านอาหาร ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับผู้บริโภค ดังนั้นผู้ประกอบการต้องวางแผนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ต้องการ เพื่อให้ได้รับตราสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายรับรองของมาตรฐานนั้นๆ ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการขยายตลาดอีกด้วย สำหรับสินค้าทางการเกษตร สามารถรับรองมาตรฐานได้หลากหลายมาตรฐาน 1. มาตรฐานสินค้าเกษตร อาทิ เครื่องหมาย Q ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เพื่อเป็นการรับรองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ วิธีการผลิต คุณภาพหรือคุณลักษณะอื่นใดของสินค้าเกษตร ว่าได้มาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยนั่นเอง, มาตรฐาน GAP หรือ การปฏิบัติตามาตรฐานทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice ; GAP) , สินค้าออร์แกนิกส์ และ เกษตรอินทรีย์ 2. มาตรฐานสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น มาตรฐาน GMP , HACCP และมาตรฐานอาหารและยา (อย.) จะเห็นแล้วว่า การทำธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูปในยุคนี้สามารถเริ่มต้นได้ไม่ยาก ที่สำคัญไม่ต้องมีคนมาก ขอแค่ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพ ก็สามารถพลิกโฉมธุรกิจเกษตรเดิมๆ ให้กลายเป็น Smart Farm ได้แล้ว อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขอเครื่องหมายรับรองฮาลาล SME ต้องทำอย่างไร? ขั้นตอนง่ายๆ ยื่นขอ มอก.เอส ถูกใจ SME ได้ใจลูกค้า! รู้ก่อน! ขั้นตอนจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 5 ขั้นตอน ขอ “ฉลากเขียว” ไม่ตกเทรนด์รักษ์โลก 5 ขั้นตอนสมัครขอบาร์โค้ดให้ซื้อง่าย ขายคล่อง! 5 ขั้นตอนง่ายๆ ขอใช้สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ”   Published on 12 March 2020 SMEONE “ทุกเรื่องครบ…จบในที่เดียว”

บทความแนะนำ

มือใหม่อยากทำร้านอาหาร เริ่มต้นอย่างไรดี?

ร้านอาหาร เป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมของผู้ที่ต้องการจะเริ่มต้นทำธุรกิจ เห็นได้จากตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในปี 2562 โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ติดอยู่ในอันดับ 3 ของธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด รองจากธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงสะท้อนได้ชัดเจนว่า คนที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจ มักจะให้ความสนใจธุรกิจร้านอาหารเป็นลำดับต้นๆ เพราะเหตุผลสำคัญคือ อาหาร เป็นปัจจัย 4 ที่คนขาดไม่ได้ ยิ่งทุกวันนี้ ร้านอาหารเสมือนเป็นสถานที่แฟชั่นให้คนยุคดิจิทัล ไปอัพสเตตัสเพื่อสะท้อนไลฟ์สไตล์กัน ธุรกิจนี้จึงกลายเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นนายของตัวเอง เรียกว่า “เก่าไป ใหม่มา” กันไม่ขาดสาย สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะเริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหารทุกวันนี้ ใช่ว่ามีสูตรอาหารอร่อย มีทำเลดีๆ แล้วจะสามารถเปิดร้านได้ทันที แต่สิ่งที่ต้องมี ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ คือ จะต้องศึกษาและรู้ขั้นตอนของการประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง นอกเหนือจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของกลุ่มเป้าหมายตัวเองให้ถ่องแท้ มาดูกันว่า ถ้ามือใหม่อยากเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง ควรรู้และต้องทำอะไรบ้าง? เลือกรูปแบบร้านอาหารให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ในการเริ่มต้น ผู้ประกอบการต้องวางแผนเลือกรูปแบบของร้านและอาหารที่ต้องการจะขายให้ชัดเจน โดยต้องศึกษาความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ศึกษาคู่แข่งในบริเวณเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับทำเลที่ตั้งของธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันร้านอาหารมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ได้แบ่งประเภทร้านอาหารเป็น 4 แบบ โดยใช้หลักเกณฑ์จำแนกตามการออกแบบตกแต่งเป็นหลัก ได้แก่ ร้านอาหารระดับหรู (Fine Dining) ร้านอาหารระดับกลาง (Casual Dining) ร้านอาหารทั่วไป (Fast Dining) และร้านริมบาทวิถี ซึ่งมีทั้งในรูปแบบ Kiosks, Street Food, Food Truck เป็นต้น สร้างเอกลักษณ์ให้ร้านอาหาร เมื่อพิจารณารูปแบบของร้านอาหารได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ การสร้างเอกลักษณ์ที่เด่นชัด เนื่องจากร้านอาหาร เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและมีตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคมากมาย ดังนั้น สิ่งที่จะดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้ คือการมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างและไม่ซ้ำใคร ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การสร้างเอกลักษณ์ด้วยเมนูอาหาร การให้บริการ หรือบรรยากาศภายในร้าน เป็นต้น ขออนุญาตประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารมีผลต่อผู้บริโภคและสภาพแวดล้อม รวมถึงผู้อยู่อาศัยข้างเคียงโดยตรง ดังนั้น ในการดำเนินธุรกิจจึงต้องมีการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ  ตัวอย่างเช่น การดำเนินธุรกิจดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือกำกับดูแลร้านอาหาร ทางกรุงเทพมหานครจึงได้ออกข้อบัญญัติเรื่องสถานที่จำหน่ายและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2545 โดยกำหนดให้ร้านอาหารที่มีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องยื่นคำขอเพื่อขอรับ “หนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร” มีค่าธรรมเนียม 1,000 บาท และร้านอาหารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องยื่นคำขอเพื่อขอรับ “ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร” มีค่าธรรมเนียม 3,000 บาท สำหรับการการยื่นคำขอใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการขอหนังสือรับรองการแจ้ง ของผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างๆ  ให้ยื่นได้ที่ส่วนราชการต่างๆ ดังนี้ - สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร - สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล - สำนักงานเทศบาลสำหรับร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล - สำนักงานเมืองพัทยา ส่วนในกรณีของร้านอาหารที่เปิดในพื้นที่สาธารณะ จำเป็นต้องมีการขอใบอนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ หากร้านอาหารมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอใบอนุญาตขายสุราต่อกรมสรรพสามิต โดยสามารถดำเนินการได้ที่ - กรุงเทพมหานคร: กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง - ต่างจังหวัด: สำนักงานสรรพสามิตอำเภอ/กิ่งอำเภอ หรือในกรณีที่ทางร้านอาหารมีการเปิดเพลง ฉายภาพวีดีทัศน์ หรือฉายภาพถ่ายทอดสดรายการที่มีลิขสิทธิ์  จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย รวมถึงการเปิดจากแผ่นบันทึกเสียงแท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง หรือเปิดผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ประกอบการก็จะต้องขออนุญาตอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน จัดเตรียมเรื่องอาหาร สถานที่และบุคลกรให้พร้อม ในส่วนสถานที่ ในการก่อสร้าง / ดัดแปลงอาคาร เพื่อทำร้านอาหารนั้น ผู้ประกอบการต้องมีใบอนุญาตก่อสร้าง/ ดัดแปลงอาคาร เพราะเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ ส่วนสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร ถือเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านสถานที่ เช่น ความสะอาดของสถานที่ อุปกรณ์ล้างมือ การจัดการด้านห้องสุขา ซึ่งจำนวนห้องสุขาจะขึ้นกับจำนวนที่นั่งในร้านอาหาร รวมไปถึงการจัดการน้ำเสีย เช่น การติดตั้งบ่อดักไขมัน น้ำทิ้ง การจัดการขยะมูลฝอย เช่น การแยกเศษอาหาร นอกจากนี้ ยังต้องมีการจัดพื้นที่ปลอดบุหรี่ด้วย เนื่องจากร้านอาหารถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่ต้องมีเขตปลอดบุหรี่ ในส่วนของอาหารที่จำหน่ายก็ต้องถูกสุขลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด/ แห้ง/ ปรุงสำเร็จ ต้องสะอาดปลอดภัย น้ำ เช่น น้ำดื่ม/ น้ำแข็ง ต้องได้มาตรฐานตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รวมถึงกรรมวิธีการปรุงอาหารต้องถูกต้องปลอดภัย เช่น ห้ามใช้ก๊าซกระป๋องปรุงอาหารบนโต๊ะ ตลอดจนสุขลักษณะของอุปกรณ์และภาชนะ เช่น เก็บอุปกรณ์สูงจากพื้น 60 ซม. ป้องกันการปนเปื้อนจากสัตว์หรือแมลงนำโรค การฆ่าเชื้อภาชนะหลังทำความสะอาด สุดท้ายด้านบุคคลกร ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบ หรือผู้สัมผัสอาหาร ต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่น คือต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อหรือพาหะนำโรค โรคผิวหนังที่น่ารังเกียจ หรือโรคอื่นๆ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติท้องถิ่น มีการรักษาความสะอาดของร่างกาย สวมใส่เสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันที่สะอาดและสามารถป้องกันการปนเปื้อนสู่อาหารได้ จัดการเรื่องภาษีอย่างถูกต้อง เรื่องของภาษีต่างๆ ถือเป็นอีกเรื่องที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรดำเนินการอย่างถูกต้องเมื่อเริ่มต้นธุรกิจ หากผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดา เงินได้จากการประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ซึ่งต้องมีการยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ภ.ง.ด.94 และ ภ.ง.ด.40 และลดหย่อนโดยการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่ 60% กรณีที่เงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเกินจะใช้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล จะต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ภ.ง.ด.51 และ ภ.ง.ด.50 โดยคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิ หากขาดทุนหรือกำไรไม่เกิน 300,000 บาท จะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากกำไรเกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 15% และถ้ากำไรเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีอยู่ที่ 20% พร้อมกันนี้ หากผู้ประกอบการร้านอาหารมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยกฎหมายบังคับให้ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่มีรายได้เกินกว่าที่กำหนด ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดทำรายงานภาษีซื้อและภาษีขายทุกเดือน พร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป นอกจากนี้ ร้านอาหารที่ต้องการมีป้ายหน้าร้าน จะต้องขออนุญาตติดตั้งป้ายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของร้าน ซึ่งจะมีการเรียกเก็บภาษีป้ายตามอัตราที่กำหนด โดยภาษีป้ายจะเรียกเก็บจากการแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือโลโก้บนวัตถุใดๆ ด้วยตัวอักษร ภาพ ไม่ว่าจะเป็นบนป้ายทั่วไป ป้ายบิลบอร์ดตามตึก ตามทางด่วน ป้ายผ้าใบ หรือป้ายไฟ ที่ใช้เพื่อหารายได้หรือการโฆษณา รวมถึงป้ายหน้าร้านตามร้านอาหารทั่วไป ล้วนต้องเสียภาษีป้ายทั้งสิ้น ส่วนอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ภาษา เช่น ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ หรือใช้ร่วมกันทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ และขนาดของป้ายตามที่กำหนด   หน่วยงานใดเกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารบ้าง? 1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ www.dbd.go.th 2. กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง www.excise.go.th 3. สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ foodsan.anamai.moph.go.th   ที่มาข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า / สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)   Published on 13 February 2020 SMEONE “ทุกเรื่องครบ…จบในที่เดียว”

บทความแนะนำ

“จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์” VT THAI ปลุกงานทำมือไทยให้โตไกลระดับโลก

เมื่อการทำธุรกิจไม่ใช่แค่คิดบุกตะลุยไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำการพิสูจน์ให้แน่ชัดก่อนว่า ไอเดียและสิ่งที่มีอยู่ในมือนั้น มีตลาดรองรับอยู่จริง เพื่อจะออกสตาร์ทโดยไม่เสียหลัก เช่นเดียวกับ คุณจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท วิถี ไทย กรุ๊ป จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ VT THAI ศูนย์กลางรวบรวมงานหัตถกรรมและงานทำมือของไทย ที่ตลอดเส้นทางของการเริ่มต้นธุรกิจได้ผ่านทั้งการทดลองและทดสอบแล้วว่า เสน่ห์ของงานคราฟต์ไทยนั้น เป็นที่ต้องการจริงในตลาดโลก การได้เดินทางไปยังต่างประเทศแล้วพบเห็นงานคราฟต์ที่สามารถขายได้ในราคาสูง พร้อมทั้งมีดีไซน์ที่สวยงาม ผสานกับการเดินทางไปยังหลายจังหวัดในประเทศไทย ที่แต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์ของงานทำมือที่แตกต่างกัน รวมถึงการมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ จุดประกายให้นักธุรกิจหนุ่มรายนี้ วาดภาพอนาคตของงานจักสานหัตถกรรมไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล “แต่ละชุมชน มีเสน่ห์ของงานทำมือที่แตกต่างกัน และมีเรื่องราวที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดแค่ดีไซน์และการตลาด ในแง่ดีไซน์ เขาอาจจะขาดความรู้ในการออกแบบที่ดี เพื่อให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า ส่วนในแง่การตลาด เป็นลักษณะของการขาดช่องทางการขายในต่างประเทศ ที่จะทำให้ขายได้ในราคาที่สูงขึ้นในต่างประเทศ เราจึงตั้งใจที่จะทำแพลตฟอร์มขึ้นมา เพื่อที่จะเป็นหนึ่งช่องทางในการทำให้ชุมชนที่ทำงานทำมือ สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ และอยากให้แพลตฟอร์มนี้เป็นตัวเชื่อมโยงนักออกแบบทั่วโลกที่อยากจะทำงานกับคนไทยด้วย” โดยสิ่งที่ทาง VT THAI ทำในช่วง 2 ปีแรกของการเริ่มต้น ก่อนที่จะทำการเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ในปีหน้า คือ การพิสูจน์ว่า ไอเดียที่คิดนั้นมีตลาดอยู่จริงหรือไม่ ผ่านการร่วมทำงานจริงกับชุมชนต่างๆ “ในช่วงแรกนี้เรายังไม่ได้เน้นเรื่องของแพลตฟอร์มมากนัก เพราะเราต้องพิสูจน์ก่อนว่า ไอเดียที่เราคิดนั้นมีตลาดอยู่จริงหรือไม่ เราลองไปช่วยเหลือและทำงานร่วมกับบางชุมชน ซึ่งก็สามารถพิสูจน์ได้ว่า งานชุมชนบางชิ้นที่ขายในราคา 500 – 600 บาท เมื่อจับมาแต่งตัวใหม่ สามารถขายได้ถึง 4,000 – 5,000 บาท นอกจากนี้ เรายังอยากรู้อีกว่า นอกจากจะขายได้ในราคาที่สูงขึ้นแล้ว จะมีลูกค้าต่างประเทศที่ยอมซื้อผ่านออนไลน์หรือติดต่อเราหรือไม่ ซึ่งเราสามารถพิสูจน์ได้แล้วในปีนี้ จากการขายสินค้าให้กับโรงแรมในแถบอเมริกาใต้และสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงแบรนด์แฟชั่นในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ถึงแม้ออเดอร์อาจจะไม่ใหญ่มากนัก เพียงหลักแสนบาท แต่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ภายใน 2 ปีแรกแล้วว่า สิ่งที่เราคิดนั้นมีตลาดอยู่จริงและสามารถขายได้ทั่วโลก” การเริ่มต้นด้วยการหยิบงานจักสานมาเป็นตัวชูโรงของการทำแพลตฟอร์มนั้น คุณจิรโรจน์ บอกว่า ก็เพื่อทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ชัดเจนว่า เมื่อเห็น VT THAI ก็จะนึกถึงงานคราฟต์ งานทำมือ และงานหัตถกรรมของไทย ที่ทุกชิ้นงานต่างมีเสน่ห์และเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง “ด้วยความที่ตัวเองทำมาแล้วหลายธุรกิจ จึงเกิดความคิดว่า ถ้าเราจะทำธุรกิจอีกสักอย่างให้ขายได้ทั่วโลก เราควรที่จะมองหาจุดที่เมืองไทยมี และเป็นจุดที่คนอื่นไม่มี ที่สำคัญควรที่จะมี Social Impact หรือมีผลกระทบที่ดีต่อคนอื่นด้วย สอดคล้องกับสโลแกนที่ว่า VT THAI เป็น Artisanal Handcraft with Social Impact หรือ งานทำมือที่มีผลกระทบที่ดีต่อสังคม เพราะทุกครั้งที่ลูกค้าซื้องานเรา เท่ากับเป็นการสนับสนุนการค้าอย่างเป็นธรรม (Fair Trade) เพราะเราไม่ได้ไปกดเงินกับชุมชน เราจะคุยกับชุมชนทุกครั้งว่า เขาต้องการเวลาในการทำงานชิ้นนั้นเท่าไร และอยากขายในราคาเท่าไร และแน่นอนว่า เสน่ห์ของชุมชนในเมืองไทยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของตัวเอง ซึ่งสะท้อนผ่านทางงานจักสานหรืองานทำมือต่างๆ เป็น True Story หรือเรื่องจริงที่สามารถขายได้ ถ้าเรารู้จุดในการเติมเต็มการตลาดและการออกแบบเข้าไป” เพราะรู้ดีว่าโปรเจกต์แบบนี้เป็นสิ่งที่ยาก และมีหลายคนที่พยายามทำมาแล้ว ทางบริษัทจึงต้องการที่จะทำแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงทุกคนได้จริง และเป็นช่องทางการเชื่อมโยงระหว่างคนทำงานทำมือ นักออกแบบ และผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าได้อย่างแท้จริง “เราตั้งใจที่จะทำงานกับทุกชุมชนในเมืองไทย เพียงแต่ในช่วงแรกจะเน้นไปที่ชุมชนตัวอย่าง ที่เขาต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง อยากจะพัฒนา อยากจะเติบโต และอยากที่จะรักษาเสน่ห์งานคราฟต์ตรงนี้ไว้ก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งในแต่ละชุมชนจะมีปัญหาที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะขาดเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงาน บางคนอาจจะขาดเทคนิคในการขึ้นโครงเฟอร์นิเจอร์ หรือเทคนิคในการเย็บกระเป๋า บางคนอาจจะขาดการ Sourcing อะไหล่ที่ดี ที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศ ดังนั้น หน้าที่ของเราก็คือ เราต้องรู้ว่าเขามีฝีมือตรงไหน และจะเข้าไปเติมเต็มในจุดที่เขาขาดได้อย่างไร เพื่อให้ชุมชนได้ทำในส่วนที่เขาถนัด ส่วนเราก็เป็นคนคอยบริหารจัดการให้” โดยเป้าหมายภายใน 5 ปี ของ VT THAI นั้น ต้องการทำให้ใครก็ตามที่อยู่บนโลกใบนี้ ถ้าอยากได้งานทำมือของไทย ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบแบบดั้งเดิม หรืองานออกแบบแบบสมัยใหม่ จะสั่งแบบ Retail สั่งแบบ Wholesale หรือเป็นนักออกแบบที่อยากร่วมมือกับงานคราฟต์ไทย ต้องคิดถึง VT THAI เป็น Top 3 “เราต้องการให้คนทั่วโลกที่อยากได้ของเกี่ยวกับงานทำมือของไทย คิดถึงเราเป็นลำดับต้นๆ อย่างทุกวันนี้ ถ้าอยากซื้อของจากอเมริกา คนจะนึกถึง Amazon หรือถ้าอยากซื้อของออนไลน์ในญี่ปุ่นจะคิดถึง Rakuten หรือในเมืองไทยอาจจะคิดถึง Lazada หรือ Shopee หรือ หากอยากได้ซัพพลายเออร์ที่น่าเชื่อถือจากจีน อาจจะคิดถึง Alibaba เราเองก็เช่นเดียวกัน ที่อยากให้ทุกคนนึกถึงเราในฐานะของการเป็น Thai Handcraft Marketplace ดังนั้น การที่จะทำให้แพลตฟอร์มหรือธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ลงทุน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเร็วในการทำ แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะทำอย่างไรให้แพลตฟอร์มนี้ สามารถช่วยให้ชุมชนมีรายได้ที่ดีขึ้นจริง ชุมชนสามารถขายสินค้าได้จริงในต่างประเทศ ดีไซเนอร์สามารถมาทำงานร่วมกับชุมชนได้จริง เพราะฉะนั้น เราจึงร่วมทำงานกับชุมชนตัวอย่างก่อน เพื่อทำให้เข้าใจเขามากที่สุด เพื่อนำไปสู่การออกแบบแพลตฟอร์มให้ใช้งานง่ายกับพวกเขาทั้งสองฝ่าย” และเมื่อตลาดของงานทำมือมีทิศทางของการเติบโตที่ดี ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วจากความสำเร็จของเว็บไซต์ในสหรัฐอเมริกาอย่าง Etsy ที่เน้นกระจายงานคราฟต์หรือของทำมือสู่ทุกมุมโลก รวมถึงเว็บไซต์ขายงานแฮนด์เมดในอังกฤษอย่าง Folksy ที่ต้องมีร้านอยู่ในเกาะผู้ดีเท่านั้นถึงจะโพสต์ขายของได้ เป็นสิ่งที่ คุณจิรโรจน์ บอกว่า แค่ 2 เว็บไซต์ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า งานทำมือ ไม่ว่าจะเป็นจักสานหรืออะไรก็ตาม มีตลาดรองรับในต่างประเทศ และมีโอกาสในการเติบโต “ดังนั้น คนไทยเราไม่จำเป็นต้องมาแข่งกันขายสินค้าราคาต่ำในประเทศไทย แต่ทุกคนควรแข่งกันสร้าง Story พัฒนาสินค้า พัฒนาคุณภาพ แล้วไปขายต่างประเทศมากกว่า ซึ่ง VT THAI เองเป็นเหมือนแรงกระตุ้นเล็กๆ ที่ทำขึ้น เพื่อสนับสนุนและทำงานร่วมกันกับทุกคนให้เติบโตไปด้วยกัน” สุดท้าย นักธุรกิจรุ่นใหม่รายนี้ ฝากไว้ว่า “ในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การวางแผนและการทดสอบ เราควรวางแผนให้รอบคอบ และทดสอบก่อนว่า สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราจะทำนั้น มีตลาดรองรับอยู่จริง สามารถเป็นไปได้จริง ถ้าเราทดสอบแล้วจริง ปลายทางเห็นโอกาสที่จะทำได้ เราก็ค่อยๆ วางแผน ค่อยๆ ลงมือ เพื่อเปลี่ยนธุรกิจในฝันให้กลายเป็นความจริงได้”   Published on 27 September 2019 SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"

บทความแนะนำ

"ชื่นชีวัน วงษ์เสรี" Globish ธุรกิจสอนภาษาออนไลน์ สร้างโอกาสโตบนเทคโนโลยี

“เรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กจนโต ทำไมยังพูดไม่ได้สักที” เชื่อว่าเป็นคำถามคาใจที่หลายคนเคยถามตัวเองอยู่เหมือนกัน และไม่ใช่แค่คุณเท่านั้น เพราะคุณชื่นชีวัน วงษ์เสรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Globish สถาบันสอนภาษาอังกฤษออนไลน์แบบตัวต่อตัวที่เน้นการพูดกับโค้ชชาวต่างชาติ ก็เห็นถึงจุดนี้เช่นกัน แต่เธอไม่ได้แค่คิดหาเหตุผล กลับลงมือที่จะแก้ปัญหาแทน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาออนไลน์ ที่เกิดจากความปรารถนาอยากเห็น “คนไทยพูดภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นและพูดได้จริง” หยิบปัญหาสังคม มาสร้างโอกาสทางธุรกิจ ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของการเดินทางเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากจบการศึกษาเอกธุรกิจระหว่างประเทศ การขนส่งและโลจิสติกส์ จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณชื่นชีวัน มองเห็นว่า ประเทศไทยมีปัญหาที่ผู้คนส่วนมากยังไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างแท้จริง จึงเกิดความต้องการจะทำให้ประเทศดีขึ้นด้วยการทำอะไรสักอย่าง และด้วยความที่เพิ่งเรียนจบ สิ่งแรกที่มองเห็นจึงเป็นเรื่องการศึกษา จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง Globish แห่งนี้ “การศึกษาไทยสอนคนให้ทำข้อสอบภาษาอังกฤษได้ ท่องแกรมม่าได้ คำศัพท์ได้ แต่ว่าพูดไม่ได้ ซึ่งในชีวิตของการทำงานจริงๆ คนเราต้องใช้การพูดมากกว่าทักษะอื่นด้วยซ้ำ เรารู้สึกว่านี่คือปัญหาที่เรื้อรังมานาน” Globish ถูกสร้างขึ้นเป็นสถาบันสอนภาษาอังกฤษ ที่ใช้เทคโนโลยีออนไลน์เป็นสื่อกลางในการเรียนแบบตัวต่อตัวที่เน้นการพูดกับโค้ชชาวต่างชาติ ผ่านระบบจองเวลาเรียนที่ให้นักเรียนเลือกโค้ชผู้สอนได้ด้วยตนเอง และเรียนผ่านระบบวิดีโอคอลแบบเรียลไทม์ สามารถเห็นหน้า ได้ยินเสียงกันสดๆ และเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปแบบธุรกิจในญี่ปุ่น ที่เด็กญี่ปุ่นปั่นจักรยานไปพร้อมๆ กับการเรียนภาษาอังกฤษ ด้วยการใส่หูฟังและเรียนจริงๆ กับคุณครูต่างประเทศ ซึ่งธุรกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก “เราไม่ใช่ Marketplace ที่ครูอยากสอนก็เข้ามาสอนได้ หรือเด็กอยากเรียนก็เลือกครูเอาเองได้ แต่เราเป็นสถาบันที่ครูทุกคนต้องมีใบรับรอง เป็นที่ยอมรับในระดับสากล หรือ TEFL (Teaching English as a Foreign Language) และนักเรียนจะต้องมีการสอบวัดระดับก่อนและหลังเรียน เราเหมือนเป็นโรงเรียนจริงๆ เพียงแค่อยู่บนออนไลน์ สามารถเรียนได้จากทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ค หรือคอมพิวเตอร์ ปัจจุบัน สถาบันมีครูกว่า 100 คนที่พร้อมพูดคุยกับนักเรียน ทั้งจากประเทศเจ้าของภาษา อย่าง อังกฤษและอเมริกา รวมถึงครูที่อยู่ในโซนยุโรป โซนเอเชีย และครูคนไทยสำหรับคนที่ไม่พร้อมคุยกับชาวต่างชาติ” พัฒนาระบบ สร้างจุดต่างให้ธุรกิจสอนภาษาออนไลน์ การที่มีระบบวิดีโอคอลเป็นของตัวเอง ทำให้สถาบันควบคุมคุณภาพการเรียนการสอนได้ง่ายขึ้น แตกต่างจากช่วงแรกๆ ที่ต้องอาศัยระบบของคนอื่น “ความยากอย่างหนึ่งที่เราเจอตอนแรกๆ คือ เรายังไม่มีระบบแพลตฟอร์มที่เป็นวิดีโอคอลของตัวเอง ถ้าลองศึกษาจากสถาบันสอนภาษาอังกฤษออนไลน์เจ้าอื่น จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะใช้ Skype หรือโปรแกรมอื่น ซึ่งช่วงแรกเราก็พึ่งพาระบบของคนอื่นเหมือนกัน แต่พบปัญหาว่า บางทีนักเรียนลืมรหัสผ่าน หรือเราไม่สามารถควบคุมคุณภาพของการสอนได้ เพราะว่าไม่ได้อยู่ในห้องเรียนนั้นด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงได้พัฒนาระบบของตัวเองขึ้นมา ผู้เรียนสามารถจองเวลาเรียนผ่านเว็บไซต์ พอถึงเวลาก็แค่กดเข้าห้องเรียนผ่านเว็บไซต์ และในระหว่างเรียน เราสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่า การสอนเป็นอย่างไรบ้าง หรือนักเรียนตั้งใจเรียนหรือไม่ นอกจากคุณภาพของการเรียนการสอนจะดีขึ้นแล้ว ระบบนี้ยังทำให้ Globish แตกต่างจากคนอื่นๆ” ออกแบบการเรียนให้ตรงใจลูกค้าเป้าหมาย ปัจจุบันกลุ่มผู้เรียนของ Globish แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้ใหญ่วัยทำงาน และเด็กที่มีอายุ 7 – 14 ปี ซึ่งกลุ่มแรกถือเป็นลูกค้าส่วนใหญ่และเป้าหมายของสถาบัน “คนวัยทำงานที่มาเรียนกับเราส่วนใหญ่ เป็นระดับผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือเจ้าของธุรกิจที่มีความสามารถในทุกด้าน แต่ขาดทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งส่งผลต่อความก้าวหน้าในการทำงานและโอกาสในการขยายธุรกิจ โดย Globish ได้ออกแบบการเรียนที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ โดยเฉพาะเรื่องของเวลา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวลาว่างมากนัก อย่างสถาบันอื่นๆ ส่วนใหญ่จะปิด 6 โมงเย็นหรือไม่ก็ 2 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาที่บางคนเพิ่งจะเลิกงาน เราจึงจัดเวลาให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย คนที่เรียนกับเราส่วนใหญ่จะเรียนตั้งแต่ 3 ทุ่มถึงเที่ยงคืน และด้วยข้อดีของการเรียนแบบตัวต่อตัว ทำให้ภายใน 25 นาทีของการเรียน สามารถเรียนภาษากับโค้ชส่วนตัวได้อย่างเต็มที่ เรียกว่าในท้องตลาดตอนนี้ยังไม่มีใครที่จะตอบโจทย์เขาได้ นอกจากเรา” ในขณะที่ผู้เรียนกลุ่มเด็ก สถาบันจะเน้นไปที่การเรียนเพื่อทักษะของศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) มากกว่าภาษาอังกฤษแบบดั้งเดิม คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน โดย 4 ทักษะที่ Globish ให้ความสำคัญคือ การสื่อสาร (Communication) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และ การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration) ซึ่ง 4 ทักษะนี้มีความจำเป็นต่อโลกอนาคต ออนไลน์-ออฟไลน์ ส่วนผสมการตลาดที่ต้องทำควบคู่กัน ในแง่ของการตลาด ด้วยความเป็นสถาบันออนไลน์ ทำให้ Facebook และ Google  เป็นช่องทางหลักสำหรับทำการสื่อสารไปยังลูกค้า แต่ในขณะเดียวกัน การตลาดแบบออฟไลน์ก็เป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้ เพื่อทำให้คนได้รู้จักสถาบันในวงที่กว้างขึ้น “เราเชื่อว่าคนที่มาเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ ต้องเป็นคนหัวทันสมัย Content ที่เราทำ มักจะมีการใช้คำที่เรียกว่า กระแทกใจคนอ่านถึงกับต้องมาซื้อคอร์สอย่าง “เป็นหัวหน้า พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ อายลูกน้องไหม” และด้วยความที่เป็นเรื่องของการศึกษา การตลาดแบบออฟไลน์ก็เป็นสิ่งที่ไม่มองข้าม เพราะต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ โดยอีกช่องทางที่ทำให้คนรู้จักเรา มาจากการได้รับเชิญไปสอนตามมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน ซึ่งช่วยให้คนเห็นว่า สถาบันของเรามีตัวตนจริงๆ แม้จะสอนบนออนไลน์ก็ตาม” เข้าใจลูกค้า เคล็ดลับสร้างยอดรายได้โต 400% ต่อปี หากมองในแง่ของความสำเร็จ Startup รายนี้ถือได้ว่า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 400% ต่อปีในช่วง 3 ปีให้หลังมานี้ นั่นเป็นเพราะ Globish เข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง “ทุกอย่างเกิดจากการที่เราเข้าใจลูกค้าหรือนักเรียนจริงๆ เราไม่ได้มีทีมการตลาดแบบที่นั่งอยู่แต่ในออฟฟิศ โดยที่วันๆ เอาแต่คิดว่าจะขายอย่างไรให้ได้ แต่เกิดจากการที่เราทำ Focus Group กับกลุ่มลูกค้าจริงๆ มีการจัด Workshop โดยให้ทีมการตลาดเข้าไปเล่นเกมกับลูกค้า ทำให้รู้ว่า ลูกค้าเป็นใคร คิดอะไร ทำอะไร บ้านอยู่ไหน เราเคยถามลูกค้าคนหนึ่งว่า ปกติเขาเดินทางมาร่วมกิจกรรมด้วยช่องทางไหนบ่อยที่สุด คำตอบแถบไม่น่าเชื่อ เขาเดินทางด้วยเครื่องบินบ่อยที่สุด เนื่องจากบ้านอยู่ต่างจังหวัด และบินมากรุงเทพฯ สัปดาห์ละ 2 – 4 ครั้ง โดยสารเครื่องบินบ่อยกว่ารถยนต์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรารู้คือ การทำโฆษณาบนวิทยุหรือบิลบอร์ดตามรถ อาจจะไม่ได้ผลกับลูกค้ากลุ่มนี้ เป็นการบ้านให้เราต้องคิดหาช่องทางอื่นๆ ในการเจาะคนกลุ่มนี้ให้ได้ในอนาคต” สุดท้ายแล้ว คุณชื่นชีวัน ฝากถึงเจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการ ว่า ปัจจุบันเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำคือ การปรับตัวและเรียนรู้ตลอดเวลา โดยเฉพาะคนที่คิดอยากจะขยายธุรกิจ ต้องสามารถพยากรณ์ถึงเทรนด์ที่จะมาล่วงหน้าได้   Published on 18 September 2019 SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"

บทความแนะนำ

3 คำถามสำคัญ ก่อนตัดสินใจเปิดธุรกิจของตัวเอง

หลายคนอาจอยากจะเป็นเจ้าของกิจการเอง และมีภาพฝันถึงอิสระในเรื่องเวลาทำงานกับผลตอบแทนงามๆ แต่ความเป็นจริงแล้ว หนทางนั้นคงไม่ง่ายและสวยงามอย่างที่คิด หากใครกำลังสับสนอยู่ว่าควรทำงานประจำต่อหรือออกไปทำธุรกิจเองดี Ashley Stahl ที่ปรึกษาด้านการหางาน แนะนำให้ลองถามตัวเอง 3 ข้อนี้ดูก่อน ว่าจะได้คำตอบอย่างไร 1) สิ่งที่คุณกำลังตามหาคือ ‘ความเป็นอิสระ’ หรือ ‘ความอะลุ่มอล่วย’? ลองถามตัวเองดูก่อนว่าต้องการ ‘ความเป็นอิสระ’ โดยการได้เป็นเจ้าของกิจการ หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียง ‘ความอะลุ่มอล่วย’ ในเวลาการทำงาน Ashley Stahl กล่าวว่า บางครั้งสิ่งที่หลายคนต้องการอาจเป็นเพียงเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น ให้คุณสามารถออกไปพบเพื่อนๆ ในยามบ่าย เดินซื้อกาแฟก่อนเข้าทำงาน หรือมีเวลาได้ไปรับลูกๆ ที่โรงเรียน หากเป็นเช่นนั้น ทางที่ดีคุณควรลองพูดคุยกับหัวหน้าของคุณถึงความเป็นไปได้ในการอะลุ่มอล่วยเรื่องเหล่านี้ว่าสามารถเป็นไปได้หรือไม่ ฟังแล้วอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่หากคุณลองหาเหตุผลดีๆ ว่าทำไมและเพราะอะไร แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ทั้งคุณและองค์กรจะได้รับ เชื่อว่าหลายบริษัทจะต้องรับฟังคุณอย่างแน่นอน เธอยังกล่าวอีกว่า หากทางบริษัทปฏิเสธคำขอของคุณก็ไม่เป็นไร เชื่อเถอะว่ายังมีอีกหลายบริษัทที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเรื่องเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นได้

“บางครั้งคุณอาจจะไม่ได้อยากเป็นเจ้าของกิจการเอง เพียงแต่ต้องการงานที่ยืดหยุ่นได้ในเรื่องเวลา”

2) ค่านิยมของคุณไปกันได้กับการเป็นเจ้าของกิจการไหม? การเป็นเจ้าของกิจการเองนั้นอาจไม่เหมาะสำหรับคนที่มีจิตใจเปราะบางสักเท่าไร เพราะกว่าจะถึงจุดที่ประสบความสำเร็จได้อาจเรียกได้ว่า ‘เลือดตาแทบกระเด็น’ เลยทีเดียว Ashley Stahl กล่าวว่า เธอเคยสูญเสียเงินกับการทำธุรกิจมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ และถือเป็นจุดที่เธอตกต่ำที่สุดในชีวิต เธอแนะนำว่า ให้ลองพิจารณาความเชื่อเรื่องการเงินของตัวเองดูก่อนว่า ระหว่างการมีรายได้ต่อเดือนที่แน่นอน กับความเชื่อมั่นในตัวเองโดยลุยทำธุรกิจที่เสี่ยงทางการเงิน อย่างไหนที่คุณรับได้? เพราะในปัจจุบันเกินกว่าครึ่งของธุรกิจหน้าใหม่ที่เปิดตัวนั้น ประสบกับความล้มเหลวในช่วง 4 ปีแรกของการทำธุรกิจ

“คุณพร้อมรับความสูญเสีย ก่อนความสำเร็จจะมาถึงหรือไม่ นี่ถึงเป็นเหตุผลว่า

ทำไมการเป็นผู้ประกอบการถึงเป็นพาหนะชั้นดีสำหรับการเติบโตและพัฒนาตัวเอง”

3) ลองทำอาชีพเสริมหรือยัง? อาชีพเสริมถือเป็นแรงบันดาลใจ และเป็น safe way ชิมลางเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ ที่นอกจากจะช่วยสร้างรายได้เสริมแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันความฝันที่คุณมีได้ว่า การทำธุรกิจของตัวเองใช่ความฝันของคุณจริงๆ ไหม Ashley Stahl เล่าให้ฟังว่า เธอเคยมีลูกค้าที่ประสบความสำเร็จจากการลองทำอาชีพเสริม แล้วพบว่าอาชีพเสริมที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะกับเขา โดยระหว่างการเป็นลูกจ้างก็เก็บเงินและค่อยๆ ปรับเปลี่ยนความคิดบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องการเงินเพื่อสร้างความสำเร็จ จนในที่สุดอาชีพเสริมก็กลายมาเป็นอาชีพแบบเต็มเวลาที่เป็นกิจการของเขาในที่สุด

“การเป็นเจ้าของกิจการก็เหมือนรถไฟเหาะ เพราะฉะนั้น คุณต้องแน่ใจว่าเวลาไหนที่เหมาะกับการกระโดดขึ้นไป ถ้ามันใช่ โอกาสและรายได้ก็รอคุณอยู่!”

  Published by ETDA on 8 May 2019 SMEONE “ทุกเรื่องครบ…จบในที่เดียว”          

บทความแนะนำ