‘ตบ’ รักษ์โลก ลดแรงกระแทก ด้วย ‘ตบชวา’

‘ตบ’ รักษ์โลก ลดแรงกระแทก ด้วย ‘ตบชวา’

ทุกวันนี้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่เข้ามามีบทบาทให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แม้แต่การจับจ่ายซื้อสินค้าก็สามารถทำได้ง่าย ๆ แค่เพียงกระดิกปลายนิ้ว ใช้เวลาเพียงไม่นานสินค้าต่าง ๆ  ก็เดินทางมาส่งถึงบ้านได้ในทันที

เราสามารถสั่งสินค้ามาส่งถึงที่ได้สมใจ แต่ก็ต้องทิ้งหีบห่อบรรจุภัณฑ์มากมายให้กลายเป็นขยะ แม้บรรจุภัณฑ์บางส่วนจะเป็นกระดาษที่ย่อยสลายได้ แต่โฟมกันกระแทกที่มาคู่กับสินค้านั้น ยากที่จะย่อยสลายได้ในธรรมชาติ และนับวันยิ่งมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกที แล้วปลายทางของขยะย่อยสลายไม่ได้เหล่านี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน จะมีการนำวัสดุทดแทนอะไรมาช่วยในเรื่องนี้ได้บ้าง

เป็นข้อสังเกตที่ คุณ เจ-วศการ ทัพศาสตร์ กัปตันที่พักงานการบินในช่วงโควิด-19 แล้วผันตัวมาเป็นพ่อค้าออนไลน์ ผู้ต้องบรรจุสินค้าด้วยโฟมและบับเบิลกันกระแทกเป็นประจำ จึงมุ่งความสนใจที่จะหาวัสดุทดแทนกันกระแทกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น

ลดภาระให้ผู้ค้า และสิ่งแวดล้อม

จากจุดเริ่มต้นความคิด ที่ต้องการค้นหาวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ และหนึ่งในสิ่งที่เป็นสาเหตุของปัญหาก็พบว่าเป็นผักตบชวาจำนวนมหาศาล ที่ขวางทางระบายน้ำ รวมถึงสร้างมลภาวะในแม่น้ำลำคลอง

เห็นดังนั้น คุณเจ จึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลในด้านคุณสมบัติของผักตบชวา ว่าถ้าจะนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง และได้ค้นพบว่าลักษณะของผักตบชวาที่เป็นปล้องมีแกนกลางเป็นเส้นใย ซึ่งเหมาะสมที่จะนำมาทดลองทำเป็นวัสดุกันกระแทก หลังจากทดลองหากรรมวิธีต่าง ๆ รวมถึงทดสอบเรื่องการกันกระแทกด้วยการใส่ของและโยนลงจากตึกอย่างจริงจัง ในที่สุดก็สามารถพัฒนาผักตบชวานี้ให้เป็นวัสดุกันกระแทกที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ถึง 5 ครั้ง วางจำหน่ายในราคาที่เป็นมิตรต่อผู้ซื้อและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นผลสำเร็จ และนอกจากใช้กันกระแทกแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เป็นวัสดุรองกรงสัตว์เลี้ยง ใช้เป็นปุ๋ย หรือคลุมหน้าดินควบคุมความชื้นต่อไปได้จนย่อยสลายหมดสภาพ

เข้าใจ เข้าถึงทุกสังคม

แม้จะมั่นใจในสินค้า แต่เมื่อทดลองนำไปขาย กลับไม่ได้ผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า สาเหตุเพราะเป็นสินค้าที่ยังใหม่ในตลาด ผู้คนยังไม่รู้จักและยังไม่มีความมั่นใจที่จะใช้สินค้าตัวนี้ คุณเจ จึงปรับแผนการตลาดใหม่ด้วยการกระจายความรู้ให้คนได้รู้จักคุณสมบัติของสินค้าเป็นวงกว้าง รวมถึงการทำคลิปวิดีโอทดสอบการกันกระแทก โดยใส่แก้วน้ำ 3 ใบลงกล่อง แล้วโยนลงจากตึก 4 ชั้นให้คนเห็นผลกันชัด ๆ ว่าแก้วไม่แตก หลังจากปล่อยคลิปออกไปในโลกออนไลน์ ก็เกิดเสียงตอบรับเกินความคาดหมายและกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

เมื่อประสบผลสำเร็จในการเป็นที่รู้จักแล้ว คุณเจก็มองถึงก้าวต่อไปที่อยากจะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้พี่น้องตามริมน้ำลำคลองมีรายได้ จึงได้เข้าไปสนับสนุนและให้ความรู้ในการทำผักตบชวากันกระแทกโดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้พวกเขาช่วยเป็นผู้ผลิตให้ตามมาตรฐานของทางแบรนด์ 

ในอนาคต คุณเจมองว่าจะมีการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการผลิต โดยจะเป็นนวัตกรรมที่ออกแบบร่วมกับชาวบ้าน เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น เพราะเมื่อธุรกิจนี้เติบโตได้ ชุมชนตามริมแม่น้ำลำคลองก็จะเติบโตไปด้วย และจะมีการกระจายความรู้นี้ออกไปยังชุมชนอื่น ๆ อีกต่อไป เพื่อสามารถเข้าถึงคนทั่วประเทศได้ และนั่นจะเป็นการลดจำนวนผักตบชวาที่เป็นปัญหาต่อแม่น้ำลำคลองได้อย่างยั่งยืน


ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

บริษัท ชวา โกลบอล พลัส จำกัด

ที่อยู่: 31 ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120

อีเมล: Tob.chawa@gmail.com

เว็บไซต์: tobchawa.com

Youtube: Tob-Chawa

Facebook: tobchawa

Instagram: tobchawa

TikTok: @tobchawa

บทความแนะนำ

Papa Paper นวัตกรรมผสมภูมิปัญญา คืนชีพกระดาษสา ‘บ้านต้นเปา’

Papa Paper นวัตกรรมผสมภูมิปัญญา คืนชีพกระดาษสา ‘บ้านต้นเปา’

                                                                                                   

หากพูดถึงกระดาษสา เชื่อว่าคนไทยแทบไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ทุกคนคงนึกภาพออกมาไม่ต่างกัน บ้างก็นึกภาพเป็นกระดาษสีแผ่นหนา ผิวหยาบ ประดับลายด้วยกลีบดอกไม้ลงในเนื้อกระดาษ หรือบ้างก็นึกภาพเป็นกระดาษทำมือแผ่นบาง ผิวนุ่ม โปร่งแสง ถ้าถามว่าแล้วทุกวันนี้ยังมีใครบ้างที่ซื้อกระดาษสามาใช้งาน ก็คงยากที่จะนึกภาพออก แล้วถ้าถามว่า เชื่อไหมว่ากระดาษสาทุกวันนี้ มีการออกแบบให้ไม่ติดไฟ แถมใช้เป็นหน้ากากกันฝุ่น PM 2.5 ได้สบาย ๆ แทบจะนึกภาพไม่ออกเลยว่ามันจะเป็นอย่างไร

กระดาษสาผสมนวัตกรรมาเหล่านี้ คือการคิดมุมกลับของแบรนด์ Papa Paper ที่ไม่เพียงแต่ยังรักษาอาชีพสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์กระดาษสาแห่งเดียวในประเทศไทยของชุมชน บ้านต้นเปา เอาไว้ได้ แต่ยังสามารถเจาะตลาดกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ จากเดิมที่กระดาษสาทำหน้าที่ประดับเพื่อความสวยงาม ปรับให้มีฟังก์ชันที่นำไปใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริง ๆ

ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากกระดาษสาเหล่านี้ ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ทั้งในภูมิภาคเอเชีย และยุโรป ที่ต่างให้คุณค่ากับงานคราฟต์ งานทำมือ ถึงแม้ว่ากระดาษสาเหล่านี้จะถูกผลิตในประเทศไทย                                                                  แต่กลับกลายเป็นว่ายังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในคนไทย

ไม่เพียงสานต่อ แต่ต้องพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น

การนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนารูปแบบของกระดาษสาให้ทันสมัย เป็นสิ่งที่ คุณเต้ - ธนากร สุภาษา CEO รุ่นที่ 2 ของ Papa Paper เลือกเป็นภารกิจในการสานต่อกิจการกระดาษสาต่อจากคุณพ่อหรือรุ่นที่ 1 

คุณเต้มองว่า รุ่นที่ 1 เป็นรุ่นที่ริเริ่มสร้างธุรกิจกระดาษสาด้วยการนำเสนอรูปแบบ ลวดลายที่สวยงาม หรือมีส่วนประกอบแปลกใหม่น่าสนใจ หากแต่เมื่อเวลาผ่านไปความนิยมในกระดาษสาสวยงามเริ่มลดน้อยถอยลง

รุ่นที่ 2 จึงต้องเข้ามาพัฒนาผลิตถภัณฑ์กระดาษสาให้เป็นมากกว่างานฝีมือ แต่ต้องเป็นสินค้าที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้จึงจะเกิดการใช้ซ้ำ และผลิตภัณฑ์กระดาษสาเองต้องมีการสร้างแบรนด์เพื่อให้เกิดการจดจำ โดยตั้งโจทย์ให้กับตัวเองไว้ว่า ทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอดอย่างยั่งยืน พร้อมไปกับการสานต่อภูมิปัญญาร่วมกับชุมชน

แบรนด์ Papa Paper นั้นถูกสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษรักษ์โลก ไม่เพียงแต่ตัวผลิตภัณฑ์ แต่เป็นวิธีคิดตลอดทั้งกระบวนการผลิต ที่ให้ความสำคัญผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น การไปรับใยข้าวโพดจากไร่ เพื่อทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์กระดาษด้วยเส้นใยข้าวโพดเหลือใช้ เมื่อเส้นใยมีค่าเกษตรกรก็ไม่ต้องเผา ช่วยแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควันจากการเผาไร่ในภาคเหนือ 

แนวคิดในการทำธุรกิจของคุณเต้ จะยึดหลัก 3P ประกอบด้วย

  • People – ทำธุรกิจโดยใส่ใจคนรอบข้าง ชุมชนรอบข้าง ให้เป็นธุรกิจสีเขียวมากที่สุด
  • Planet - ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สินค้าเราต้องไม่ทำลายระบบนิเวศ
  • Performance – ทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จริงใจ ไม่ควรมองผู้อื่นเป็นคู่แข่ง แต่มองให้เป็นคู่ค้า ช่วยกันพัฒนา ส่งเสริมวงการไปด้วยกัน เพราะเราไม่มีทางรู้ได้ว่าในอนาคตวันใดวันหนึ่ง อาจจะมีโอกาสที่ต้องร่วมงานกันก็เป็นได้


ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด 

ที่อยู่: 104/4 หมู่ 3 ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ 50130 

โทร: 099-265-6459

อีเมล: sales@papapaper.info

Facebook: papapaperfactory

Instagram: papapaper_craft_official

YouTube: papapaper2002

Line: papapaper

บทความแนะนำ

POOPOOPAPER หยิบขี้ช้าง มาสร้างคุณค่า

POOPOOPAPER หยิบขี้ช้าง มาสร้างคุณค่า

เชื่อว่าทุกคนต่างเคยได้รับรู้มาว่า อุตสาหกรรมการทำกระดาษนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การตัดต้นไม้ ไปจนถึงกระบวนการฟอกสีกระดาษ ให้เป็นกระดาษสีขาวอย่างที่ทุกคนได้ใช้กันอย่างในทุกวันนี้ คงจะดีกว่ามาก ถ้าหากว่าเรามีทางเลือกในการผลิตกระดาษ ด้วยกระบวนการผลิตที่นอกจากจะไม่ต้องตัดต้นไม้ ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ให้ธรรมชาติสามารถเจริญเติบโตได้อย่างงอกงาม และความลับของทางเลือกที่ว่ามาทั้งหมดนั้น รวมอยู่ในขี้ช้าง นั่นเอง

หากได้ฟังแต่ชื่อ คนก็คงจะยี้ แต่ถ้าหากได้ทำความเข้าใจ ได้รู้จักกับขี้ช้างอย่างจริงจังแล้ว จะพบว่า ขี้ช้างที่จะนำมาใช้นั้น เป็นขี้ช้างแห้ง ไม่มีกลิ่น เหมือนกับเป็นก้อนดินเส้นใยพืช ซึ่งนับว่าเป็นทรัพยากรชั้นดี ที่ตอบโจทย์สำหรับนำมาแปรรูปใหม่ให้เป็นกระดาษ ด้วยความที่ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ และกินพืชเป็นอาหารหลัก เมื่อผ่านกระบวนการย่อยออกมาแล้ว จะเหลือเส้นใยพืชที่มีขนาดยาว สามารถนำไปทำกระดาษได้ ส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เส้นใยก็สามารถใช้เป็นปุ๋ยแร่ธาตุให้กับดินและพืชผักต่อไปได้

ประสบการณ์ทำมือ

กระดาษขี้ช้างนี้ อยู่ในความสนใจของ คุณโบตั๋น - กนกรัตน์ สุคนธมาน เจ้าของ ELEPHANT POOPOOPAPER Park มาตั้งแต่ยังทำงานเป็นพนักงานในบริษัทส่งออก ในสมัยนั้นรับหน้าที่เป็นผู้จัดหาสินค้าเพื่อนำเสนอให้กับลูกค้าต่างชาติ เลยได้มีโอกาสรู้จักกับสินค้าแปลกตาหลากหลายรูปแบบ ในตอนนั้นได้รับโจทย์จากลูกค้าว่า อยากได้กระดาษที่ไม่ใช่กระดาษสา ทำให้คุณโบตั๋นสืบเสาะค้นหาจนพบว่ามีการทำกระดาษจากขี้ช้าง เมื่อนำไปเสนอให้ลูกค้าต่างชาติ ก็ชื่นชอบและตกลงสั่งสินค้า

จนเมื่อชีวิตถึงจุดอิ่มตัวในการเป็นพนักงานประจำ และมองหาช่องทางในการทำธุรกิจ ด้วยความเป็นคนชอบเครื่องเขียน จึงอยากทำธุรกิจที่เกี่ยวกับเครื่องเขียนที่จะไม่ซ้ำกับธุรกิจที่มีอยู่แล้วในจังหวัดเชียงใหม่ ตอนนั้นเองที่คุณโบตั๋นได้กลับมาคิดถึงกระดาษขี้ช้างขึ้นอีกครั้ง เมื่อตกลงกับหุ้นส่วนได้แล้ว จึงลองมุ่งมาจับสินค้านี้เพียงอย่างเดียวว่าจะสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง จะสามารถพัฒนาสินค้าให้ไปได้ไกลแค่ไหน เป็นที่มาของแบรนด์ POOPOOPAPER ที่จะสร้างสินค้าจากกระดาษขี้ช้างเป็นหลัก

ธุรกิจในช่วงแรกคือการผลิตสินค้าตามออเดอร์ เพื่อส่งออก ทำให้สินค้าของ POOPOOPAPER นั้นต้องมีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานสูงกว่างานทำมือที่พบเห็นได้ทั่วไป และที่สำคัญตัวกระดาษนั้นต้องสามารถใช้งานได้จริง เช่น รองรับหมึกปากกาได้ กระดาษมีผิวเรียบให้เขียนได้ราบรื่นไม่มีสะดุด

หลังจากสร้างผลิตภัณฑ์ไว้หลายคอลเลคชัน ก็กลับมาย้อนคิดดูว่า จริง ๆ แล้ว สินค้าเหล่านี้ ก็เป็นที่สนใจของลูกค้าชาวต่างชาติอยู่แล้ว และเราเองก็อยู่เชียงใหม่ เป็นจังหวัดท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ที่มาท่อเที่ยวมาไหว้พระ มาดูช้างกันอยู่แล้ว ก็น่าจะทำแหล่งท่องเที่ยวที่เปิดให้ลูกค้าได้เข้ามาเที่ยวชมกรรมวิธีการทำกระดาษขี้ช้าง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว แล้วเปิดร้านขายสินค้าเป็นของฝากกลับบ้านในที่เดียวกันน่าจะดี เมื่อคิดได้อย่างนั้นจึงได้เปิดเป็น ELEPHANT POOPOOPAPER Park พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และแหล่งเรียนรู้เรื่องการผลิตที่ดูแลสิ่งแวดล้อม

คุณโบตั๋นใส่ใจและให้ความสำคัญในเรื่องประสบการณ์ของลูกค้าเป็นอย่างมาก และบอกกับทีมงานเสมอว่า เรามีโอกาสกับลูกค้าแค่เพียงครั้งเดียว ถ้าลูกค้าประทับใจ เขาจะบอกต่อ ชักชวนให้คนมาที่นี่ กลับกันถ้าเขารู้สึกไม่ดี เขาก็จะบอกต่อเช่นกัน ซึ่งนั่นจะสร้างผลกระทบที่แย่ยิ่งกว่า

มุมมองในการทำธุรกิจของคุณโบตั๋น มองว่าถ้าได้ทำในสิ่งที่ชอบ มันจะมีแรงขับเคลื่อนให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้โดยอัตโนมัติ แต่หลายคนก็อาจไม่สามารถที่จะเลือกทำในสิ่งที่ชอบได้ ก็ควรทำในสิ่งที่มีให้ดีที่สุดก่อน แล้วผลลัพธ์จะกลับมาหาเราเอง


ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

ELEPHANT POOPOOPAPER Park 

ที่อยู่: 87 หมู่ 10 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 50180

โทร: 053-299-565

อีเมล: info@poopoopaperpark.com

เว็บไซต์: www.poopoopaperpark.com

Facebook: PoopoopaperPark

บทความแนะนำ

โกโก้ร้านไอ้ต้น ใช้ความสนุกสร้างจุดขาย กระจายสาขาทั่วประเทศ

โกโก้ร้านไอ้ต้น ใช้ความสนุกสร้างจุดขาย กระจายสาขาทั่วประเทศ

โควิด-19 คือวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ ที่ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจต้องปิดฉากลง ผู้คนต่างสูญเสียหน้าที่การงาน คุณต้น - ประชานารถ โพธิสาราช ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด–19 เช่นเดียวกัน จากอดีตที่เคยมีอาชีพเป็นนักดนตรีเล่นตามร้านอาหาร แต่พอเกิดล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ทำให้ร้านอาหารต้องปิด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ช่วงนั้นคุณต้นไม่มีงานจ้างเล่นดนตรี ขาดรายได้ จนถึงวันที่เหลือเงินเก็บติดตัวเพียง 3,000 บาท จึงได้คิดหาทางว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี 

ด้วยความเป็นคนคิดไวทำไว จึงลองเริ่มต้นทำร้านขายกาแฟ Moka Pot เล็กๆ ด้วยงบเท่าที่มี และใช้สิ่งของใกล้ตัวมาตั้งเป็นร้านกาแฟ ชื่อว่า “ชานชาลากาแฟ” ช่วยต่อลมหายใจให้คุณต้นยังสามารถประคับประคองตัวเองต่อไปได้

ภายในร้านก็จะขายเครื่องดื่มเมนูทำง่าย จำพวก กาแฟ ชาเย็น โกโก้ แต่หนึ่งในเมนูที่ขายดีจนน่าประหลาดใจ คือ โกโก้ ที่มีเสียงชื่นชม ผู้คนกลับมาซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่เสมอ คุณต้นจึงได้แยกร้านออกมาอีกหนึ่งร้าน เพื่อขายเมนูโกโก้โดยเฉพาะ โดยยังไม่มีแม้แต่ชื่อร้าน ผลตอบรับก็ยิ่งชัดเจนว่า คนให้ความสนใจโกโก้มากเป็นพิเศษ เพียง 1 เดือน  หลังจากแยกร้าน คุณต้นก็ตัดสินใจที่จะหยุดทำร้านชานชาลากาแฟ แล้วมาทุ่มเทให้กับร้านโกโก้เพียงอย่างเดียว

ร้านโกโก้ต้องสงสัย

คุณต้น อยากให้ร้านโกโก้นี้ แสดงออกถึงความเป็นตัวเองที่มีบุคลิกกวน ๆ สนุกสนานมาเป็นจุดขาย หลังจากหาไอเดียในการสร้างแบรนด์ให้กับร้านอยู่หลายแบบ สุดท้ายก็มาตกผลึกได้ว่า ต้องทำร้านให้ชื่อสะกิดใจคนที่ผ่านไปผ่านมา ให้สามารถเก็บไปนั่งคิด นั่งสงสัยกันต่อจนถึงกับนอนไม่หลับได้  

ร้านขายโกโก้เพียงเมนูเดียว แน่นอนว่าเพื่อให้คนเข้าใจได้ง่าย ๆ ก็ต้องมีคำว่าโกโก้ เป็นหลัก แต่ชื่อที่จะทำให้คนสงสัย จดจำได้นั้น หลังจากคิดหาชื่อมากมาย ก็มาลงตัวที่ชื่อ “โกโก้ร้านไอ้ต้น” ที่ใครได้ฟังครั้งแรก เป็นอันต้องสงสัยว่า “ไอ้ต้น” คือใคร

เมื่อได้ชื่อมาแล้วไอเดียต่าง ๆ ก็ตามมา นอกจากชื่อร้านสะกิดใจง่าย ภาพจำของร้านก็ต้องสะกิดใจง่ายเช่นเดียวกัน ด้วยการใช้ภาพถ่ายหน้าไอ้ต้นในชุดนักเรียนสมัยมัธยม เปลี่ยนพื้นหลังให้เป็นสีเหลือง มาเป็นโลโก้ของร้าน เมื่อชื่อร้าน มารวมกับหน้าของเด็กมัธยมซื่อ ๆ ยิ่งเพิ่มความสงสัยให้ลูกค้ามากยิ่งขึ้นจนถึงกับเพียงแค่เห็นป้ายร้านก็ต้องนำไปบอกต่อกันบนโลกออนไลน์

เมื่อมีความสนุกเป็นดีเอ็นเอของร้าน เมนูภายในร้านก็ต้องใส่ลูกเล่นความสนุกลงไปด้วย ด้วยการใช้หน้าไอ้ต้นคนเดิม มาปรับเพิ่มใส่หนวดเครา ตามระดับความเข้มข้นของเมนูโกโก้ ที่มีให้เลือกตั้งแต่ ละอ่อน เข้ม และ โคตรเข้ม

เมื่อส่วนผสมความสนุกทุกอย่างลงตัว ลูกค้าก็ให้การตอบรับอย่างรวดเร็ว เพียงเดือนแรกก็สามารถทำกระแสบนโลกออนไลน์ จนสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 400 แก้วต่อวัน ไม่เพียงแต่ลูกค้าที่มาเรียงคิวต่อแถวกันเต็มหน้าร้าน แถวของคนที่ติดต่อเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์ก็ยาวไม่แพ้กัน ตั้งแต่สัปดาห์แรก ๆ ที่คุณต้นยังไม่มีความคิดจะเปิดเป็นแฟรนไชส์

ทุกวันนี้ โกโก้ร้านไอ้ต้น ที่เปิดกิจการได้เพียงแค่ 1 ปี ก็สามารถขยายแฟรนไชส์ออกไปได้มากถึง 220 สาขาทั่วประเทศ และยังมีแผนที่จะกระจายต่อออกไปยังนอกประเทศ อย่างที่ประเทศจีน ในเร็ว ๆ นี้ อีกด้วย

คุณต้น มองอนาคตไว้ว่าอยากให้ ไอ้ต้น ไปต่อได้จนกลายเป็นแบรนด์ สตรีทฟู้ด ที่เต็มไปด้วยความสนุก ความกวน มีสินค้าต่าง ๆ ต่อท้ายชื่อว่าไอ้ต้น อย่างที่ตอนนี้เริ่มทำไปแล้ว คือ บราวโน่นไอ้ต้น ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ลูกค้าชื่นชอบ อยากให้ลูกค้าติดตามต่อว่า ไอ้ต้น จะนำเสนอความสนุกไปได้ถึงขนาดไหน


ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

โกโก้ ร้านไอ้ต้น 

โทร: 066-153-0153

อีเมล: cocoaiton03@gmail.com

Facebook: cocoaiton

บทความแนะนำ