สถาบันอาหาร ความปลอดภัยอาหาร (Food Safety)

NFI หน่วยงานทางด้านอาหารของชาติ ลมใต้ปีก MSME พาอาหารไทยไปตลาดโลก

ด้วยความที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แถมยังเป็นครัวของโลก ดังนั้นสัดส่วนผู้ประกอบการ  MSME ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานอาหารจึงเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดจากผู้ประกอบการ MSME มีอยู่กว่า 3 ล้ายราย “สถาบันอาหาร” จึงเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อน MSME ในกลุ่มอาหารให้เติบโต ไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้นแต่ยังก้าวไปไกลในตลาดโลกด้วย 

ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หรือ NFI (National Food Institute) กล่าวย้อนไปถึงจุดกำเนิดของ NFI ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมว่า เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2539 ในยุคที่รัฐบาลต้องการผลักดันอาหารไทยให้มีการส่งออก แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านมาตรฐานการส่งออก จึงตั้ง NFI เพื่อดูแลคุณภาพมาตรฐานให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ 

  • ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

NFI มีแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งภาครัฐและเอกชน กล่าวคือ ผ่านการดำเนินโครงการร่วมกับภาคีเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานของรัฐภายนอกกระทรวง ซึ่งอยู่ในรูปงบเงินอุดหนุน การทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) การยื่นข้อเสนอโครงการรับจ้างหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้แผนงาน วัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายของโครงการสอดคล้องกับภารกิจและทิศทางการดำเนินงานของสถาบันฯ 

ในขณะที่ภาคเอกชนจะบริการให้คำปรึกษาแนะนำและให้บริการต่างๆ แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการจัดทำระบบคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร เช่น การบริการที่ปรึกษาระบบ GMP (GHP), HACCP, HALAL, BRC, ISO 22000, ISO/IEC 17025 รวมถึงยังมีบริการทดสอบและตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ (Testing Laboratory) และการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ (Proficiency Testing: PT) ซึ่งบริการดังกล่าวเน้นยกระดับด้านมาตรฐานการผลิต (Standard) และความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) เป็นสำคัญ เรียกได้ว่าดูแลมาตรฐานทั้ง Food และ Nonfood

เมื่อได้ยินชื่อสถาบันอาหารหลายคนมักคิดว่าการเป็นสถาบัน น่าจะทำแต่งานวิจัย แต่ความจริงแล้ว เราหน้าที่เป็นหน่วยงานทางด้านอาหารของชาติหรือ National Food Agency ที่ดูแลและให้บริการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ถ้าเทียบ 2 กลุ่มระหว่างภาครัฐและเอกชน จะพบว่าภาคธุรกิจ MSMEเป็นกลุ่มที่ NFI ให้บริการมากที่สุด ตามภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารกว่า 90% จะเป็น MSMEนั่นเอง

นอกจากให้บริการด้านคำปรึกษาและระบบมาตรฐาน คุณภาพความปลอดภัยด้านอาหารต่างๆ แล้ว NFI ยังเผยแพร่องค์ความรู้ และสนับสนุนขั้นตอนการแปรรูป จากภาคเกษตรกรรม ประมง และปศุสัตว์ โดยใช้นวัตกรรมออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ อำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปจนถึงหาตลาดช่องทางการจัดจำหน่าย 

ตั้งศูนย์นวัตกรรม Innovation Center เป็นโรงงานขนาดย่อมอยู่ในสถาบันอาหารทำหน้าที่เป็นโรงงานต้นแบบ (Pilot plant) ให้บริการกับผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตและทดลองตลาด หรือต้องการทำ Product Line สามารถเข้ามาผลิตในปริมาณไม่เกิน 500 ชิ้นเพื่อนำไปทดลองตลาดได้ ให้บริการ Intelligence Cener ผ่านเว็บไซต์ nfi.or.th โดยรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับอาหาร นวัตกรรม การพัฒนาอาหาร การหาตลาด เทรนด์อาหาร รวมถึงกฎหมายและกฎระเบียบในการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในแต่ละประเทศ ตลอดจนการฝึกอบรมและกิจกรรมWorkshop ผ่าน Academy เพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการตามหัวข้อต่างๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์ 

ทั้งนี้ในปี 2566 NFI เข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตหรือ  Future Food ให้ผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เกือบ 200 ผลิตภัณฑ์ , สร้างมาตรฐานรับรองโรงงาน 1,810 ราย จัด Academy/Workshop ตลอดทั้งปี 3,300 ราย บริการห้องแลปตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อน 57,000 ตัวอย่าง สอบเทียบเครื่องมือในโรงงานต่างๆ 13,700 ตัวอย่าง และสอบเทียบอุปกรณ์ทดลอง 3,900 ปฏิบัติการ 

  • จับมือภาครัฐ-เอกชน ยกระดับอาหาร

ปีที่ผ่านมา NFI ยังจับมือกับหน่วยงานภาครัฐในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ จับมือกับกรมเหมืองแร่ ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ในชุมชนรอบๆ เหมืองแร่ และเขื่อนผลิตไฟฟ้า

ปกติการทำเหมืองแร่จะมีการระเบิดภูเขาทำให้เกิดมลพิษ ในขณะที่เขื่อนผลิตไฟฟ้าเกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียง ชุมชนโดยรอบย่อมได้รับผลกระทบ เราจึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนใกล้เคียง ด้วยการสร้างอาชีพ ซึ่งอาชีพที่ง่ายที่สุดและเป็นวิถีชีวิตของเขาอยู่แล้วคือ การทำอาหาร โดยจับมือกับกรมเหมืองแร่ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าไปยกระดับอาหารท้องถิ่นให้มีมาตรฐานสะอาดปลอดภัย ด้วยนวัตกรรมการยืดอายุสินค้า เช่น การฆ่าเชื้อด้วยระบบความร้อนภายใต้แรงดันสูง (Retort) และ การถนอมอาหารแบบแช่เยือกแข็ง (Freeze Dry) รวมถึงยกระดับเชฟชุมชนคิดค้นเมนูอาหาร Signature เพื่อใช้วัตถุดิบท้องถิ่นต่อยอดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือ Gastronomy Tourism”

ร่วมกับ สสว. ผ่านระบบ Business Development Service หรือ BDS ในการให้คำปรึกษา แนะนำเพื่อจัดทำระบบมาตรฐาน พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถของบสนับสนุนได้มากสุดถึง 80% นอกจากนี้ยังร่วมกับสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เพื่อพัฒนากลุ่มอาหารอนาคต (Future food) อย่าง มังสวิรัส (Vegan) โปรตีนหรือเนื้อสัตว์จากพืช หรือ Plant Based อาหารที่ปราศจากการปรุงแต่ง หรือผ่านการปรุงแต่งน้อย และ New Functional foods หรืออาหารที่มีการเติมสารอาหาร หรือคุณค่าอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในรูปแบบใหม่ๆ เป็นต้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการสร้างสัญลักษณ์มาตรฐานอาหารฟิวเจอร์ฟู้ด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

 

  • เปิดโรดแมปการทำงานปี 2567

ดร.ศุภวรรณ กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือ SMEs ในปีนี้ว่า NFI ให้ความสำคัญใน 4 แกนหลัก ประกอบด้วย 

  1. การขับเคลื่อนฟิวเจอร์ฟู้ดผ่านนวัตกรรม Innovation Center ที่ร่วมมือกับจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ในการจัดหานักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญมาริเริ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของกลุ่มอาหารอนาคต และทำงานร่วมกับสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และหอการค้าไทย เพื่อขับเคลื่อนอาหารกลุ่มนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอนาคตของประเทศไทยด้วย
  2. การฝึกอบรมเพิ่มทักษะผ่านอะคาเดมี ซึ่งผู้ประกอบการสามารถทำเวิร์คช้อปเพื่อผลิตและแปรรูปในโรงงาน NFI ซึ่ง NFI จะยังคงร่วมมือกับ สสว. ภายใต้โครงการ BDS เพื่อลดต้นทุนในการขอตรามาตรฐานต่าง ๆ
  3. การสร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food Safety) ในกลุ่มครัวผลิตอาหารสำหรับคนหมู่มาก (Mass catering) ตามสถานที่จัดการต่าง ๆ โรงแรม และศูนย์ประชุม เพื่อให้เกิดสุขลักษณะที่ดีตั้งแต่การเตรียม, การเก็บ, การผลิต, การส่ง และการบริการอาหาร สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
  4. การขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน รองรับเทรนด์การใส่ใจด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมภิบาลที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมองว่าเรื่องความยั่งยืนทางด้านอาหารถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ประกอบการ หากไม่ปรับตัวจะไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ 

 

ปีนี้ NFI จึงมีแผนที่จะสร้างความตระหนักรู้ และเปลี่ยนวิธีคิด หรือมายด์เซ็ตให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ เริ่มจากนำความรู้การจัดการการสูญเสียอาหาร หรือ Food Loss และขยะอาหาร หรือ Food Waste เข้าไปอยู่ในกระบวนการผลิตอาหาร รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) เป็นการเตรียมความพร้อมไว้แต่เนิ่นๆ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่บังคับใช้กับอุตสาหกรรมอาหารก็ตาม

สำหรับเป้าหมายการทำงานนั้น ดร.ศุภวรรณ กล่าวว่า จะเข้าไปพัฒนาอาหารฮาลาลเพื่อขยับอันดับการส่งออกสินค้าฮาลาล ให้ติดอับดับ 1 ใน 10 ของโลก จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 15 ผ่านศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล จังหวัดสงขลา และโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟ ผลิตเชฟ 10,000 ราย ผลักดันอาหารไทยเป็นซอฟท์พาวเวอร์ และยกระดับเชฟท้องถิ่น  เป็น Best local chef restaurant 100 รายทั่วประเทศ กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism)

สุดท้ายนี้ ดร.ศุภวรรณ ย้ำว่า NFI  ทำหน้าที่เสมือนตัวกลางในการประสานงานเชื่อมโยงองค์ความรู้ และเครือข่ายให้ MSME ไทยเติบโตทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ I ของ NFI นอกจากเป็นสถาบันหรือ Institute แล้ว ยังเป็นทั้ง  Innovation นวัตกรรม สร้าง Impact ให้กับธุรกิจ และ Integrate collaboration สร้างเครือข่ายตั้งแต่ MSME ขนาดเล็ก บ่มเพาะดูแลตั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้เติบโต แข็งแกร่งและยั่งยืน

 

ติดต่อได้ที่

สถาบันอาหาร

2008 ซอยอรุณอมรินทร์ 36 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

โทร: 0-2422-8688

เว็บไซต์ : www.nfi.or.th/home.php

 Facebook : NFI SmartClub 

 Line : @nfithailand

บทความแนะนำ

นิ่ม นิ่ม เส้นไข่ขาวพร้อมทาน แรงบรรดาลใจจากกลุ่มเพื่อน 3 คน

เส้นไข่ขาว นิ่มนิ่ม นวัตกรรมอาหาร จาก Pain Point ของผู้ป่วย

นิ่มนิ่ม คือแบรนด์นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ผลิตโดยใช้ไข่ขาวเป็นวัตถุดิบหลัก อุดมด้วยโปรตีน ไร้แป้ง ไร้ไขมัน ไม่มีวัตถุกันเสีย เหมาะกับผู้ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เด็ก ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ป่วย สามารถรับประทานได้อย่างไร้กังวล คิดค้นขึ้นโดยนักวิจัยด้านโภชนาการคนไทย และผลิตเป็นครั้งแรกของโลก

จุดเริ่มต้นของนิ่มนิ่ม นั้นมาจากงานวิจัยสมัยเรียนปริญญาเอกด้านโภชนาการของคุณเกรท-อุมาพร บูรณสุขสมบัติ ที่มองหาวัตถุดิบอุดมคุณค่า ที่จะนำมาทำเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องควบคุมอาหาร เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ที่ต้องการโปรตีนจำนวนมาก เพื่อไปฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งโดยมากผู้ป่วยจะถูกหมอสั่งให้ทานไข่ต้มเป็นอาหารหลัก วันละ 3-6 ฟอง หรือ อาจมากถึง 10-20 ฟอง ตามแต่สภาวะของผู้ป่วย

Pain Point ใหญ่ของผู้ป่วยคือ เมื่อต้องทานไข่ต้มในปริมาณมาก ทุกมื้อ ทุกวันติดต่อกัน ก็มีความรู้สึกเบื่ออาหาร ไม่อยากทานไข่ต้มอีกต่อไป อีกจุดหนึ่งคือ อาหารสำหรับผู้ป่วยนั้นนอกจากจะมีข้อจำกัดด้านรสชาติแล้ว ยังขาดความความน่ารับประทาน และขาดทางเลือกที่หลากหลาย

จากโจทย์สำหรับผู้ป่วย ขยับมาเป็นโจทย์ที่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น เมื่อคุณพ่อของคุณฟิ้ง-ปณัสสา กาญจนวิเศษ เพื่อนสนิท ป่วยเป็นมะเร็งและเบาหวาน คุณเกรทและคุณฟิ้ง จึงจับมือกันพัฒนางานวิจัยนี้ให้เป็นสินค้าออกสู่ท้องตลาด สามารถหาซื้อได้จริง โดยมีคุณตื๋อ-วรวีร์ เชาวน์พิชญ์ชยา เข้ามาดูแลในด้านการผลิต ด้วยความตั้งใจที่จะดูแลผู้ป่วยที่มีความทุกข์ทางกาย ให้ได้มีความสุขทางใจจากอาหารที่อร่อยและยังมีประโยชน์ ให้โปรตีนสูง ตอบโจทย์โภชนาการด้านการแพทย์ ในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย สามารถทำอาหารทานร่วมกันได้ทั้งครอบครัว ไม่ต่างจากอาหารปกติทั่วไป

 

ทั้ง 3 คน รวมตัวกันก่อตั้งบริษัทชื่อ แข็งแรงทุกวัน ให้มีความหมายที่เป็นเหมือนกับคำอวยพรให้ลูกค้าทุกคนได้มีสุขภาพแข็งแรงทุกวัน

 

ส่งความใส่ใจถึงผู้บริโภค

นิ่มนิ่ม พัฒนาสินค้าขึ้นจากโจทย์ที่ต้องการให้เป็นอาหารที่ผู้ป่วยทานได้ง่าย ทานได้บ่อย ไม่เบื่อ จึงออกเป็นสินค้าแรกคือ เส้นก๋วยเตี๋ยวจากไข่ขาว เพราะมองว่าก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารที่ปรับเปลี่ยนได้หลากหลายรูปแบบทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในแต่ละมื้อ

หลังจากนั้นได้พัฒนาสินค้าให้ครอบคลุมอาหารหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เส้นหมี่ไข่ขาว เส้นสปาเกตตีไร้แป้ง ไข่มุกไข่ขาว ข้าวไข่ขาว ไปจนถึงผงปรุงรสคาโบนาร่าแบบไม่มีน้ำตาล และผงปรุงรสต้มยำโซเดียมต่ำ ซึ่งการพัฒนาทุกสินค้านั้นเกิดจากการรับฟังปัญหาจากลูกค้า เมื่อมีปัญหาใหม่ ๆ ก็จะกลายเป็นโจทย์ใหม่ให้พัฒนาขึ้นเป็นสินค้าใหม่ ๆ กลายเป็นนวัตกรรมด้านอาหารใหม่ๆ

ด้วยคุณภาพ และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าของนิ่มนิ่ม ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ  รางวัลจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และอีกมากมายหลายรางวัล

นอกจากตัวสินค้าแล้วด้านการสื่อสารและการตลาด ก็ยังเต็มไปด้วยความใส่ใจ เนื่องจากทีมงานในบริษัทนั้นเต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์และนักโภชนาการ จึงสามารถสื่อสารให้ข้อมูล ความรู้ กับกลุ่มลูกค้าในสื่อโซเชียลได้อย่างลงลึก ข้อมูลแน่น รวมถึงการตอบคำถามที่ลูกค้า ก็สามารถให้คำปรึกษาในด้านโภชนาการได้อย่างละเอียด ลูกค้าจึงสัมผัสได้ถึงความเข้าใจและใส่ใจจากทางแบรนด์ จนเกิดความประทับใจและบอกต่อ

จับมือแข็งแรงทุกวันไปด้วยกัน

การจับมือทำธุรกิจกันระหว่างเพื่อน มักถูกมองว่าวันหนึ่งอาจเกิดปัญหาได้ แต่กับนิ่มนิ่มแล้ว ทั้ง 3 คนมีเป้าหมายเดียวกันที่อยากจะพัฒนาแบรนด์ให้ดีขึ้น ดังนั้นในบางครั้งเมื่อเกิดการทะเลาะโต้เถียงกัน ก็จะวัดกันด้วยน้ำหนักของเหตุผล ข้อดีข้อเสีย หรือปัจจัยแวดล้อมว่าคำตอบใดที่จะเหมาะสมที่สุด 

นิ่มนิ่มมองว่า การทำธุรกิจกับเพื่อนนั้น เป็นเรื่องดีมากกว่า เพราะรู้มือ รู้ใจกันอยู่แล้ว ทำให้สื่อสารกันได้ง่าย หลายครั้งแทบไม่จำเป็นต้องใช้คำพูด แต่ส่วนสำคัญที่จะทำให้เพื่อนอยู่กันรอดคือความชัดเจน ทั้งในเรื่องการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ และความชัดเจนเรื่องการเงิน ต้องไม่มีอะไรปิดบังกัน

นิ่มนิ่ม มีแนวคิดว่า เราไม่ได้เก่งคนเดียว เราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง การร่วมมือทำงานเป็นทีมจะช่วยให้เราเข้มแข็งและช่วยอุดจุดบกพร่องของกันและกัน แนวคิดนี้ยังส่งต่อไปถึงการสร้างเครือข่ายจับมือร่วมงานกันระหว่างธุรกิจเพื่อช่วยเสริมความแข็งแกร่งไปด้วยกัน

โดยล่าสุด นิ่มนิ่มได้มีการร่วมงานกับข้าวหงส์ทอง โดยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น ช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับด้านการผลิตที่มีมาตรฐานมากขึ้น มีการขยายตลาดภายในประเทศให้กว้างขึ้น รวมถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศ

นิ่มนิ่ม มองว่า ในยุคปัจจุบัน ถ้าเราโตคนเดียวเราอาจจะโตไม่ได้มาก แต่ถ้าเกิดเรามีคนเก่งหลาย ๆ ด้านมาช่วยกัน น่าจะทำให้โตและไปได้ไกลกว่า

 

ติดต่อได้ที่

เส้นไข่ขาว นิ่มนิ่ม

โทร: 08-2242-2992

อีเมล: sales@nimnimnoodle.com, healthytookwan@gmail.com

เว็บไซต์: www.nimnimnoodle.com

Facebook: Nimnim Noodle เส้นไข่ขาว นิ่มนิ่ม

Instagram: nimnim_noodle

Line: @nimnim

บทความแนะนำ

โรงงานมะพร้าว Tropicana จากมะพร้าวลุ่มน่ำตาปี สู่น้ำมันมะพร้าว สกัดเย็นคุณภาพระดับโลก

Tropicana Oil จากน้ำมันมะพร้าว OTOP สู่แบรนด์ติด TOP ระดับโลก

Tropicana Oil น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นออร์แกนิก ไม่เคยหยุดพัฒนา จนสามารถเจาะตลาดสร้างฐานกลุ่มลูกค้าของคนรักผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไทยไป ได้มากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ด้วยมาตรฐานการรักษาคุณภาพของสินค้าที่ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นและใช้ซ้ำมาตลอด 19 ปี ผลิตภัณฑ์ของ Tropicana Oil ในอดีตนั้น เริ่มต้นอย่างเรียบง่าย ด้วยการย้อนกลับไปใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีการทำสวนมะพร้าวอย่างอุดมสมบูรณ์ ด้วยการนำมะพร้าวมาแปรรูป สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขึ้น จนวันหนึ่งน้ำมันมะพร้าว Tropicana เริ่มเป็นที่รู้จัก จึงเริ่มมีการนำมะพร้าวมาพัฒนาเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอาง สบู่ ครีม โลชั่น เพื่อเป็นการขยายตลาดกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้ ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ของ Tropicana นั้น แต่เดิมวางจำหน่ายในรูปแบบ OTOP ตามสถานที่ท่องเที่ยว แต่พอนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสใช้ ก็ติดใจ และกลับไปซื้อฝากให้กับคนในประเทศของเขา กลายเป็นการกระจายสินค้าให้เป็นที่รู้จักในอีกทางหนึ่ง จนชาวต่างชาตินั้นติดแบรนด์ Tropicana และเป็นอันรู้กันว่าถ้ามาถึงประเทศไทยเมื่อไหร่ Tropicana คือสินค้าที่ต้องซื้อติดมือกลับบ้านไปให้ได้ รวมถึงมีการติดต่อเข้ามาสั่งซื้อ เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่าย รับสินค้าไปวางจำหน่ายในประเทศของเขา

ความใส่ใจ สู่ความยั่งยืน

สินค้าจากมะพร้าวไทยนั้น กลายเป็นที่เลื่องลือในกลุ่มชาวต่างชาติอย่างกว้างขวาง ถึงคุณภาพ คุณประโยชน์ และสรรพคุณต่าง ๆ ที่ทำให้ใครต่อใครต่างประทับใจจนต้องสั่งซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่กลับกัน ในหมู่คนไทยเอง ยังไม่ค่อยได้รับรู้ถึงคุณประโยชน์ของมะพร้าวไทยมากนัก จึงเป็นโจทย์หลักที่ทางคุณณัฐ-ณัฐณัย นิลเอก ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และทายาทรุ่น 2 ของ Tropicana Oil ต้องเข้ามาเริ่มสร้างรูปแบบใหม่ๆ ในการสื่อสารเรื่องราวดี ๆ ของสินค้าจากมะพร้าวไทย ให้แพร่หลายสู่กลุ่มลูกค้าภายในประเทศได้รู้จักมากขึ้น

แม้ในทุกวันนี้ Tropicana Oil จะมีผลิตภัณฑ์ มากกว่า 200 รูปแบบ และมีการผลิตแบบอุตสาหกรรม แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญและสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมไม่เปลี่ยนแปลง โดยการสนับสนุนเกษตรกรในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร รวมถึงประจวบคีรีขันธ์ ให้ปลูกมะพร้าวออร์แกนิก ซึ่งทางแบรนด์รับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด ทำให้เกษตรกรมีรายได้ และมีความยั่งยืนในอาชีพ ส่วนของกาบมะพร้าวที่เหลือหลังจากการใช้งาน จะถูกนำไปทำเป็นวัสดุปลูกให้กับฟาร์มปลูกผักออร์แกนิกของ Tropicana Oil ทำให้ไม่มีเศษวัสดุเหลือทิ้งจากในกระบวนการผลิตสินค้า เรียกว่าสามารถจัดการให้เป็น Zero Waste โดยสมบูรณ์

Tropicana Oil มีแนวคิดในการสร้างเครือข่ายธุรกิจทั้งภายในกลุ่มธุรกิจไปจนถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะร่วมมือส่งเสริมซึ่งกันและกัน สิ่งนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าเราไม่พาตัวเราเข้าไปหาโอกาส แต่ถ้าเรามีกลุ่มเครือข่ายที่สามารถช่วยเหลือกันได้ มันก็จะทำให้เราสามารถไปได้ไกลมากกว่าเดิม

ติดต่อได้ที่

บริษัท ทรอปิคานา ออยล์จำกัด

ที่อยู่: 165 หมู่ 1 ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 73120

โทร: 034-323-888

อีเมล: info@tropicanaoil.com

เว็บไซต์: tropicanaoil.com

Facebook: Tropicana Oil Co., Ltd. 

Instagram: tropicanaoil

Line: @TROPICANAOIL

บทความแนะนำ

ศูนย์การบรรจุภัณฑ์หีบห่อ หน่วนงานที่ดูแลในด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์มาตรฐาน

ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย

ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทยเป็นหน่วยงานกลางของรัฐ ทำหน้าที่ให้บริการเกี่ยวกับด้านบรรจุภัณฑ์ เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการทุกระดับ ครบวงจรตั้งแต่การทดสอบ ตรวจสอบ ออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับปรุงคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้ ให้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน และมีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้งาน เพื่อให้บรรจุภัณฑ์สามารถช่วยรักษาคุณภาพของสินค้าให้สมบูรณ์ที่สุด

บริการจากทางศูนย

1. ห้องปฏิบัติการทดสอบบรรจุภัณฑ์ เป็นบริการที่ช่วยทดสอบวัสดุบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล สำหรับการขายและการขนส่งให้ได้มาตรฐานสากล เช่น ทดสอบการกดทับ กันกระแทก และยังมีบริการทดสอบบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอันตราย ในด้านความแข็งแรงทนทาน ไปจนถึงความสามารถในการปกป้องสินค้าในระหว่างขนส่งได้ด้วย

2. ห้องปฏิบัติการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ช่วยพัฒนา ออกแบบ และแก้ปัญหาด้านบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการได้มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ ช่วยส่งเสริมการขายและช่วยปกป้องผลิตภัณฑ์เพื่อลดความเสียหายของผักและผลไม้สด ยืดอายุอาหาร และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3. บริการข้อมูลงานวิจัย เผยแพร่ข้อมูลองค์ความรู้และถ่ายทอดผลงานวิจัยให้กับผู้ที่สนใจ เช่น คู่มือการใช้บรรจุภัณฑ์  รายงานวิชาการและวารสารการบรรจุภัณฑ์  เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้งานบรรจุภัณฑ์ ให้เหมาะสม และเพิ่มความรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ  ด้านบรรจุภัณฑ์

4. หลักสูตรอบรม สัมมนา ส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ด้วยหลักสูตรการฝึกอบรม การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการบรรจุหีบห่อของประเทศไทย

 

ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย เรายินดีช่วยคิด ช่วยเลือก ไปจนถึงช่วยออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้กับผู้ประกอบการ MSME ทุกท่าน

ติดต่อได้ที่

อาคารศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.)

ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย 

ที่อยู่: 196 ถนนพหลโยธิน  เขตจตุจักร  กรุงเทพฯ  10900

โทรศัพท์: 02579 1121 ต่อ 3101, 3208  

อีเมล: tpc-tistr@tistr.or.th

เว็บไซต์ : www.tistr.or.th/Industrials/tpc

 

บทความแนะนำ

Capheny (คาเพนี่) เสื้อผ้าสไตล์ Ready-to-wear ที่กำลังมาแรง

Capheny (คาเพนี่) เดรสคลาสสิก Ready-to-Wear

จากอดีตพนักงานออฟฟิศสาย PR ขอเปลี่ยนบทบาทผันตัวเองมาทำร้านเสื้อผ้าตามความหลงใหล ในสไตล์เสื้อผ้าคลาสสิก Ready-to-Wear จากความชื่นชอบส่วนตัว ที่ปรับรูปแบบให้เรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดประณีต สามารถสวมใส่ได้หลากหลายโอกาส จนสามารถสร้างรายได้หลักล้านบาท

Capheny คือแบรนด์เสื้อผ้าที่เกิดขึ้นมาจากความมุ่งมั่นและหลงใหลเสื้อผ้าสไตล์คลาสสิก และส่วนหนึ่งคือความชอบแต่งตัว ของคุณบุ๋ม-จิราทิพย์ สูรย์ส่องธานี ที่ทำงานออฟฟิศมาจนถึงจุดหนึ่งในช่วงก้าวเข้าสู่วัย 30 ได้เกิดความคิดขึ้นว่า อยากลองออกมาลุยทำธุรกิจส่วนตัวดูสักตั้ง อย่างน้อยถ้ามันไม่รอด ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะกลับเข้าออฟฟิศ แต่ถ้าหากไม่ลุยตอนนี้แล้วปล่อยความฝันให้ลากยาวต่อไป จน 40-50 แล้วค่อยเริ่มต้น หากผิดพลาดแล้วน่าจะยากที่จะกลับมาตั้งตัว

เมื่อใจบันดาลแรง คุณบุ๋มจึงตัดสินใจยื่นลาออกแล้วเริ่มต้นการทำธุรกิจส่วนตัว ด้วยเงินตั้งต้นเพียงหลักหมื่น โดยไม่มีความรู้ด้านธุรกิจเป็นชิ้นเป็นอัน เมินเสียงของคนอื่นที่ว่า “อย่าทำเสื้อผ้าเลย คนทำเยอะแยะ คนเจ๊งเยอะ”, “แบรนด์เสื้อผ้ามีเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ แบรนด์ในไทย”, “จะไหวเหรอ จะรอดเหรอ” มุ่งทำตามเสียงความคิด ถึงไม่สำเร็จก็ไม่เป็นอะไร ขอให้ได้ลองสักครั้งหนึ่งในชีวิต

เมื่อเดินหน้าแล้ว ก็ต้องออกลุยเต็มที่ ลงมือลองผิดลองด้วยตนเองทุกขั้นตอนกับเสื้อผ้าคอลเลคชันแรก โดยนำแบบร่างที่เคยออกแบบไว้เล่น ๆ มาลองเลือกดูว่า ชิ้นไหนสามารถเอามาทำจริงได้ เมื่อเลือกได้แล้วก็รีบไปหาผ้า ออกไปหาช่างทุกวัน จนสามารถตัดคอลเลคชันแรกออกมาได้สำเร็จ 

เมื่อลองนำมาโพสต์ขายทางอินสตาแกรม ผลปรากฎว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ลูกค้าชอบในแนวทางนี้ ทำให้คุณบุ๋มรู้ว่าแบรนด์ยังไปต่อได้ นำมาซึ่งคำถามว่าแล้วแบรนด์จะไปต่ออย่างไรดี

 

เพิ่มความรู้ สร้างธุรกิจให้โดดเด่น

คุณบุ๋มตัดสินใจที่จะจริงจัง จึงไปลงเรียนแฟชั่นดีไซน์ ใช้เวลาเรียนอยู่ 2 ปี โดยที่ทำแบรนด์ไปด้วยพร้อมกับเรียนไปด้วย แบรนด์ก็ค่อย ๆ โตขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถขยายทีม รับสมาชิกเข้ามาช่วยทำงานได้ ทำให้คุณบุ๋มสามารถใช้เวลาไปกับเรื่องการออกแบบ และบริหารจัดการได้เต็มที่

เวลาผ่านไปหลายปีกับเสื้อผ้าหลายคอลเลคชัน คุณบุ๋มได้พบว่า กระบวนการตัดเสื้อผ้านั้นมีเศษผ้าชิ้นใหญ่มากมาย ผ้าเหล่านี้ไม่สามารถนำมาใช้ตัดเสื้อผ้าเต็มตัวได้ จึงคิดหาทางที่จะใช้ประโยชน์ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คุณบุ๋มได้เข้าร่วมการจับคู่ทางธุรกิจ ของกรมส่งเสริมการส่งออก แล้วได้พบกับบริษัทที่รับรีไซเคิลผ้า จึงได้ทำการติดต่อส่งผ้าไปให้ทางนั้นรีไซเคิลกลับมาเป็นผืนผ้า 

เมื่อได้ผ้ากลับมา คุณบุ๋ม ได้นำมาจัดทำเป็นคอลเลคชันพิเศษขึ้น โดยออกแบบให้เป็นคอลเลคชันซัมเมอร์ ในรูปแบบที่สวมใส่ได้อย่างสบาย 

แนวคิดในการทำธุรกิจของคุณบุ๋มมองว่า ถึงแม้ว่าเราจะมีทักษะ ความรู้ สามารถลงมือลงแรงทำทุกขั้นตอนได้ด้วยตัวเอง แต่มันก็ยังคงมีข้อจำกัดในการขยายธุรกิจ แต่ถ้าเราจับมือสร้างเครือข่ายธุรกิจ มันจะช่วยให้เราสามารถพัฒนาธุรกิจให้ไปได้ไกล และออกตัวได้ไวขึ้น มีโอกาสและความไปได้เพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้

ติดต่อได้ที่

Capheny

โทร: 081-937-7993

อีเมล: capheny.official@gmail.com

เว็บไซต์: capheny.com

Facebook: Capheny 

Instagram: capheny.official 

Line: @capheny

บทความแนะนำ