3 คำถามสำคัญ ก่อนตัดสินใจเปิดธุรกิจของตัวเอง

หลายคนอาจอยากจะเป็นเจ้าของกิจการเอง และมีภาพฝันถึงอิสระในเรื่องเวลาทำงานกับผลตอบแทนงามๆ แต่ความเป็นจริงแล้ว หนทางนั้นคงไม่ง่ายและสวยงามอย่างที่คิด หากใครกำลังสับสนอยู่ว่าควรทำงานประจำต่อหรือออกไปทำธุรกิจเองดี Ashley Stahl ที่ปรึกษาด้านการหางาน แนะนำให้ลองถามตัวเอง 3 ข้อนี้ดูก่อน ว่าจะได้คำตอบอย่างไร 1) สิ่งที่คุณกำลังตามหาคือ ‘ความเป็นอิสระ’ หรือ ‘ความอะลุ่มอล่วย’? ลองถามตัวเองดูก่อนว่าต้องการ ‘ความเป็นอิสระ’ โดยการได้เป็นเจ้าของกิจการ หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียง ‘ความอะลุ่มอล่วย’ ในเวลาการทำงาน Ashley Stahl กล่าวว่า บางครั้งสิ่งที่หลายคนต้องการอาจเป็นเพียงเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น ให้คุณสามารถออกไปพบเพื่อนๆ ในยามบ่าย เดินซื้อกาแฟก่อนเข้าทำงาน หรือมีเวลาได้ไปรับลูกๆ ที่โรงเรียน หากเป็นเช่นนั้น ทางที่ดีคุณควรลองพูดคุยกับหัวหน้าของคุณถึงความเป็นไปได้ในการอะลุ่มอล่วยเรื่องเหล่านี้ว่าสามารถเป็นไปได้หรือไม่ ฟังแล้วอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่หากคุณลองหาเหตุผลดีๆ ว่าทำไมและเพราะอะไร แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ทั้งคุณและองค์กรจะได้รับ เชื่อว่าหลายบริษัทจะต้องรับฟังคุณอย่างแน่นอน เธอยังกล่าวอีกว่า หากทางบริษัทปฏิเสธคำขอของคุณก็ไม่เป็นไร เชื่อเถอะว่ายังมีอีกหลายบริษัทที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเรื่องเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นได้

“บางครั้งคุณอาจจะไม่ได้อยากเป็นเจ้าของกิจการเอง เพียงแต่ต้องการงานที่ยืดหยุ่นได้ในเรื่องเวลา”

2) ค่านิยมของคุณไปกันได้กับการเป็นเจ้าของกิจการไหม? การเป็นเจ้าของกิจการเองนั้นอาจไม่เหมาะสำหรับคนที่มีจิตใจเปราะบางสักเท่าไร เพราะกว่าจะถึงจุดที่ประสบความสำเร็จได้อาจเรียกได้ว่า ‘เลือดตาแทบกระเด็น’ เลยทีเดียว Ashley Stahl กล่าวว่า เธอเคยสูญเสียเงินกับการทำธุรกิจมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ และถือเป็นจุดที่เธอตกต่ำที่สุดในชีวิต เธอแนะนำว่า ให้ลองพิจารณาความเชื่อเรื่องการเงินของตัวเองดูก่อนว่า ระหว่างการมีรายได้ต่อเดือนที่แน่นอน กับความเชื่อมั่นในตัวเองโดยลุยทำธุรกิจที่เสี่ยงทางการเงิน อย่างไหนที่คุณรับได้? เพราะในปัจจุบันเกินกว่าครึ่งของธุรกิจหน้าใหม่ที่เปิดตัวนั้น ประสบกับความล้มเหลวในช่วง 4 ปีแรกของการทำธุรกิจ

“คุณพร้อมรับความสูญเสีย ก่อนความสำเร็จจะมาถึงหรือไม่ นี่ถึงเป็นเหตุผลว่า

ทำไมการเป็นผู้ประกอบการถึงเป็นพาหนะชั้นดีสำหรับการเติบโตและพัฒนาตัวเอง”

3) ลองทำอาชีพเสริมหรือยัง? อาชีพเสริมถือเป็นแรงบันดาลใจ และเป็น safe way ชิมลางเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ ที่นอกจากจะช่วยสร้างรายได้เสริมแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันความฝันที่คุณมีได้ว่า การทำธุรกิจของตัวเองใช่ความฝันของคุณจริงๆ ไหม Ashley Stahl เล่าให้ฟังว่า เธอเคยมีลูกค้าที่ประสบความสำเร็จจากการลองทำอาชีพเสริม แล้วพบว่าอาชีพเสริมที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะกับเขา โดยระหว่างการเป็นลูกจ้างก็เก็บเงินและค่อยๆ ปรับเปลี่ยนความคิดบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องการเงินเพื่อสร้างความสำเร็จ จนในที่สุดอาชีพเสริมก็กลายมาเป็นอาชีพแบบเต็มเวลาที่เป็นกิจการของเขาในที่สุด

“การเป็นเจ้าของกิจการก็เหมือนรถไฟเหาะ เพราะฉะนั้น คุณต้องแน่ใจว่าเวลาไหนที่เหมาะกับการกระโดดขึ้นไป ถ้ามันใช่ โอกาสและรายได้ก็รอคุณอยู่!”

  Published by ETDA on 8 May 2019 SMEONE “ทุกเรื่องครบ…จบในที่เดียว”          

บทความแนะนำ

อายุไม่ใช่อุปสรรค ชีวิต ”สตาร์ทอัพ” อีกครั้งหลัง 60

เส้นทางความสำเร็จของชีวิต ไม่ได้หยุดแค่วัยเกษียณ และความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อาจเริ่มต้นใหม่ เหมือน “ผู้พันแซนเดอร์ส” ที่เริ่มต้นธุรกิจไก่ทอดแบรนด์ KFC ในวัย 62 ปี!!! ในปี 2564 หรืออีกแค่เพียง 2 ปี ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ของภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete aged society) โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการว่า ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือปี 2583 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทย ทั้งนี้ จะมีผู้สูงอายุวัย 80 ปีขึ้นไปมากถึง 3.5 ล้านคน เมื่อผู้สูงวัยครองเมือง      คำถามตามมาคือ เมื่อมีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากแล้ว ประเทศจะเป็นอย่างไร ในแง่หนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจาก
  • มีผู้สูงวัยเพียง 40% ที่มีรายได้เพียงพอเลี้ยงดูตัวเองหลังเกษียณ
  • รายได้ต่อหัวของไทยต่ำกว่าประเทศอื่นที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว โดยอยู่ที่ 5,700 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี
  • รายได้หลักของผู้สูงวัยส่วนใหญ่มาจากบุตร ร้อยละ 34.7 รองลงมาคือการทำงานของผู้สูงวัยเอง ร้อยละ 31
  • ประชากรวัยทำงาน ต้องรับภาระประชากรสูงวัยและวัยเด็ก ร้อยละ 51 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 64 ในปี 2570
5 เทรนด์ธุรกิจสำหรับผู้สูงวัย ไฟยังไม่มอด เชื่อว่าผู้สูงวัยหลายคนแม้จะเกษียณอายุแล้วแต่ก็ยังไม่หมดไฟ ยังมีความสามารถทำธุรกิจได้มากกว่าการเลี้ยงหลานอยู่กับบ้านเฉยๆ ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า การเลือกอาชีพหลังเกษียณของกลุ่มผู้สูงวัย สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ควรเลือกทำในสิ่งที่ถนัด มีความเสี่ยงต่ำ ใช้เงินลงทุนไม่มาก ทำแล้วมีความสุข โดยมี 5 เทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจมาแนะนำดังนี้
  • ธุรกิจแฟรนไชส์
แฟรนไชส์ เป็นหนึ่งในอาชีพที่ง่ายต่อผู้สูงวัย เพราะเป็นธุรกิจที่มาพร้อมกับการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ หลายแบรนด์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก มีเครื่องหมายการค้าได้รับการยอมรับอยู่แล้ว มีการโฆษณาและสนับสนุนการขายร่วมกับเจ้าของแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอร์) ได้รับการฝึกอบรมและถ่ายทอดความเชี่ยวชาญ และได้รับความช่วยเหลือแนะนำและให้บริการต่างๆ จากแฟรนไชส์ซอร์ตามข้อตกลง จึงช่วยย่นระยะเวลาการเรียนรู้ในการทำธุรกิจ ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
  • ธุรกิจ Influencer
เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ผู้สูงวัยสามารถสร้างเป็นธุรกิจทำเงินได้ สำหรับ Influencer หรือผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น บล็อกเกอร์ ยูทูปเปอร์ อินสตราแกรมเมอร์ ซึ่งผลการวิจัยทางการตลาด The power of influencer marketing บ่งชี้ว่า จากสถิติการใช้ Influencer เพียงจำนวน 3% สามารถสร้างผลกระทบและการรับรู้บนโซเชียลมีเดียได้มากถึง 90% และการเลือกใช้ Influencer สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับแบรนด์ได้มากถึง 65% โดยเฉพาะคนยุค Millennial (อายุ 24-35 ปี) และ Gen Z (อายุ 16-23 ปี) จะค่อนข้างเชื่อถือในตัว Influencer มากกว่าแคมเปญโฆษณาราคาแพง ทำให้บริษัทโฆษณาหรือคนที่อยากทำการตลาดในกลุ่ม Gen Z Millennial หันมาจ้าง Influencer มากขึ้น เช่น กูรูความงามและแฟชั่น คนที่ชอบท่องเที่ยวและชิมอาหาร ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเกม ดนตรี ภาพยนตร์ รวมไปถึง Celebrity ด้วย
  • ธุรกิจฟรีแลนซ์ / ที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่างๆ
ด้วยประสบการณ์ของผู้สูงวัยที่สั่งสมมายาวนาน โดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้านและมีความน่าเชื่อถือ เช่น แพทย์ นักบัญชี นักการเงิน-การธนาคาร นักเขียน นักแปล ฯลฯ เป็นงานที่สามารถทำที่บ้าน หรือทำได้ตามเวลาที่ต้องการ นอกจากนี้หลายๆ องค์กรมักจะเชิญผู้เกษียณอายุที่มีความเชี่ยวชาญกลับทำงานเป็นที่ปรึกษาในด้านต่างๆ เพราะมีประสบการณ์ในการทำงานและการแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า ซึ่งการจ้างงานลักษณะนี้ เป็นหนึ่งในวิธีบริหารต้นทุนแรงงานของธุรกิจในปัจจุบัน เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับพนักงานประจำ
  • ธุรกิจค้าขาย ทั้ง Online และ Offline
เรื่องของวัยอาจไม่ใช่อุปสรรคสำหรับธุรกิจค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านขายของ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ งานประดิษฐ์ งานเย็บปัก-ถักร้อย ผู้สูงวัยสามารถที่จะทำได้ เพียงแต่ต้องเลือกขายสินค้าที่ตนเองมีความรู้หรือสนใจ ซึ่งการเปิดร้านขายของมีข้อดีตรงที่ทำให้ผู้สูงอายุ มีโอกาสพบปะพูดคุยกับลูกค้า ช่วยให้ไม่เหงา ดีต่อสุขภาพกายและใจ ขณะที่การขายของออนไลน์ก็สามารถเริ่มต้นง่าย ใช้เงินลงทุนไม่มาก แถมมีโอกาสทำเงินได้สูง ยิ่งหากมีลูกหลาน เข้ามาช่วยพัฒนาช่องทางออนไลน์ ยิ่งเป็นโอกาสให้งานดังกล่าวประสบความสำเร็จมากขึ้น
  • ธุรกิจการเกษตร
การปลูกต้นไม้ ปลูกผัก เลี้ยงปลาสวยงาม ฯลฯ งานอดิเรกเหล่านี้สามารถพัฒนาไปเป็นธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุได้ อาจเริ่มตั้งแต่ปลูกไว้กินเองเมื่อเหลือก็นำออกขาย ซึ่งเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันมีผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยที่พัฒนาจากงานอดิเรก จนกลายเป็นอาชีพสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ปั้นผู้สูงวัยให้เป็นผู้ประกอบการ SME สำหรับผู้สูงวัยที่อยากเริ่มต้นอาชีพใหม่แบบมีความมั่นใจมากขึ้น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้วางแนวทางในการส่งเสริมเพื่อสร้างผู้ประกอบการสูงวัย ภายใต้กิจกรรม Born@50 Plus ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งภายใต้โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Early Stage) โดยจะมุ่งพัฒนากลุ่มเป้าหมายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ให้มีความพร้อมจะริเริ่มและสามารถเลือกทำธุรกิจที่สนใจได้ตามศักยภาพตัวเอง โดย สสว. จะวางแผนล่วงหน้าให้คนกลุ่มนี้ก่อน 10 ปี เพื่อสร้างให้เข้าใจกลไกธุรกิจก่อนวัยเกษียณ เรียนรู้การใช้ประสบการณ์ ความรู้ความเชี่ยวขาญในสิ่งที่ตนมีพัฒนาให้กลายเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงได้ต่อไป สำหรับการดำเนินงานในปี 2562 มีกลุ่มผู้สูงวัยเข้าร่วมกิจกรรม 141 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการอบรมเชิงลึก จำนวน 97 ราย ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นผู้ประกอบการอยู่แล้วที่เข้ารับการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง และกลุ่มที่จะออกมาเป็นผู้ประกอบการใหม่ต่อไป ยกตัวอย่าง คุณอมราวดี สงวนศักดิ์ หรือป้าตา วัย 65 ปี ถึงแม้จะเกษียนอายุจากพนักงานของธนาคารออมสินแล้ว แต่ไม่ได้หยุดชีวิตการทำงาน โดยไปเรียนรู้ด้านแพทย์แผนไทย จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จนสามารถนำสมุนไพรพื้นบ้านมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกือบ 30 ชนิด อาทิ น้ำมันนวดเข่า แชมพู ฯลฯ วางจำหน่ายผ่านร้านของฝาก และช่องทาง Facebook (อัมรา ยาไทย) รวมถึงขยายตลาดไปที่ญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ PINYAHERB อีกด้วย นอกจากนี้ยังเข้ารับการส่งเสริมจาก สสว. เพื่อเข้าสู่การค้าออนไลน์ ภายใต้โครงการ SME Online เช่นเดียวกับคุณพรชัย จินตโนทัยถาวร ที่ไม่ขอหยุดพักความสามารถของตัวเองไว้ในวัย 64 ปี ด้วยการอัพเดตความรู้ให้แน่นขึ้นกับโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Early Stage) ปี 2562 กลุ่ม Born@50+ ของ สสว. จนสามารถลับคมฝีมือประดิษฐ์งานกัดกระจก โดยนำมาแกะลายและนำไปพ่นทรายในเครื่อง และทำการลงสีตามลักษณะของชิ้นงาน สร้างงานที่เป็นเอกลักษณ์ จนได้รับความไว้วางใจจากทั้งร้านอาหาร ร้านของตกแต่ง บ้านจัดสรรและคอนโดที่นำไปตกแต่งภายในบ้าน นี่เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเลขกำหนดชะตาชีวิต แต่เลือกที่จะลิขิตชีวิตในแบบฉบับที่เขาเป็นผู้กำหนดขึ้นเอง   Published on 1 August 2019 SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"

บทความแนะนำ

3 ขั้นตอนจดทะเบียนบริษัทได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสำหรับผู้ประกอบการหลายๆ คนมองมักว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบาก เพราะต้องมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและต้องเตรียมเอกสารมากมาย แต่ปัจจุบันกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการพัฒนาระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ผ่านทาง www.dbd.go.th เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ สามารถดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ดังนั้น มาดูกันว่าหากผู้ประกอบการจะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยตนเองต้องทำอย่างไรบ้าง   1. จองชื่อบริษัท สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ คือ จองชื่อบริษัท ด้วยการเข้าไปยื่นจองชื่อนิติบุคคลผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th คลิกที่เมนู จองชื่อนิติบุคคล ซึ่งชื่อที่จะใช้นั้นต้องไม่ซ้ำ หรือใกล้เคียงกับบริษัทที่เคยจดทะเบียนไปแล้ว โดยจะทำการจองได้ครั้งละ 1 ชื่อเท่านั้น จากนั้นให้ดำเนินการจองชื่อและนายทะเบียนจะทำการตรวจสอบ เมื่อจองชื่อได้แล้วจะต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นต้องทำการจองชื่อใหม่ 2. จัดเตรียมข้อมูลให้พร้อม ในการจดทะเบียนบริษัท ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลสำหรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและการจดจัดตั้งบริษัท ซึ่งหนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือที่แสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท มีไว้เพื่อระบุขอบเขตต่างๆ ของธุรกิจ โดยผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิไปในคราวเดียวกันได้ แต่จะต้องมีการเตรียมข้อมูลให้พร้อมเพื่อความถูกต้องและรวดเร็ว สำหรับข้อมูลที่ต้องเตรียมไว้ให้พร้อมมีดังนี้
  1. ชื่อบริษัทตามที่ได้จองไว้
  2. รายละเอียดที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หากไม่ได้เป็นเจ้าของสถานที่เอง ต้องมีหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่
  3. วัตถุประสงค์ของบริษัทต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม
  4. ทุนจดทะเบียน เป็นการจำกัดความรับผิดชอบความเสียหายที่บริษัทอาจก่อขึ้น ส่วนใหญ่นิยมจดกันที่ 1 ล้านบาท
  5. ข้อมูลผู้เริ่มก่อการ หากอธิบายง่ายๆ ก็คือ ผู้ก่อตั้งธุรกิจนั่นเอง จะต้องมีอย่างน้อย 3 คน และต้องจองซื้อหุ้นอย่างน้อยคนละ 1 หุ้น
  6. ข้อมูลผู้ถือหุ้น ชื่อ-สกุล ที่อยู่ สัญชาติ และจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน
  7. ข้อมูลพยาน ต้องมี 2 คน โดยกรอก ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน วันเกิด ที่อยู่ อาชีพ
  8. รายละเอียดการประชุมจัดตั้งบริษัท เช่น ข้อมูลกรรมการบริษัท ชื่อ-สกุล ที่อยู่ และวันเกิดของกรรมการบริษัทแต่ละคน ข้อมูลผู้สอบบัญชี โดยกรอกชื่อ-นามสกุล เลขทะเบียนผู้สอบบัญชี และค่าตอบแทน และอำนาจกรรมการ ระบุจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท และระบุว่าต้องมีตราประทับหรือไม่ ถ้าเลือกต้องมีตราประทับก็จะต้องจัดทำตรายางด้วย เป็นต้น
3. ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านระบบออนไลน์ การยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท สามารถดำเนินการผ่าน ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยสามารถยื่นจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทั้งในรูปแบบของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัด เริ่มจากลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว เพื่อขอรับ Username และ Password สำหรับใช้งานระบบ e-Registration ได้ที่ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1-6 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการต้องไปแสดงตัวตนต่อหน้านายทะเบียน หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนก็ได้ เท่านี้ก็จะมีรายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว จากนั้นให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ e-Registration เพื่อยื่นคำขอจดทะเบียน และชำระค่าธรรมเนียม หากผู้ประกอบการชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัทครบถ้วนแล้ว นายทะเบียนจะทำการรับเรื่องจดทะเบียน และแจ้งผลการจดทะเบียนผ่านอีเมล์  เมื่อท่านได้รับอีเมล์ ถือเป็นที่สิ้นสุดการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ จากนั้นรอรับหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งจะถูกจัดส่งให้กับท่านทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ ซึ่งได้ระบุไว้ในระบบการลงทะเบียน e-Registration นั่นเอง   Published on 30 July 2019 SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"  

บทความแนะนำ

ผลสำรวจชี้! 9 ใน 10 ของคนไทย อยากเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง

เฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น เผยผลสำรวจ “ความเป็นผู้ประกอบการในเอเชียแปซิฟิค ประจำปี 2562” ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ปี 2562 ครอบคลุมประเทศออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไทย ผลสำรวจพบ ไทยจัดอยู่ในอันดับต้นๆ สำหรับประเทศที่ผู้คนต้องการจะเป็นผู้ประกอบการ โดยเกือบ 9 ใน 10 ของคนไทย (ร้อยละ 89) พวกเขาอยากเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง ตามหลังอินโดนีเซีย (ร้อยละ 96) และฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 92) ตามลำดับ นอกจากนี้ คนไทยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 69) มองว่า “การได้เป็นนายตัวเอง” เป็นข้อดีที่จูงใจทำให้อยากมีธุรกิจของตัวเองมากที่สุด ส่วนข้อดีอื่น ๆ ได้แก่ “อยากมีรายได้เพิ่มขึ้น” (ร้อยละ 65) และ “มีความยืดหยุ่นในการจัดสรรเวลาทำงาน/ชีวิต” (ร้อยละ 59)  ร้อยละ 93 ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยที่มีธุรกิจของตัวเองแล้ว เชื่อว่ามันช่วยสร้างความสุขให้กับพวกเขาได้มากกว่า แสดงให้เห็นว่าการได้เป็นผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับผู้คน และความรู้สึกเช่นนี้พบมากที่สุดในอินโดนีเซียและฟิลลิปปินส์ (ร้อยละ 94) ในขณะที่ไทยมาเป็นอันดับสาม ความต้องการที่จะเติมเต็มความฝัน เป็นแรงผลักดันให้คนเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง เมื่อถูกถามถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง ผู้ประกอบการชาวไทยให้เหตุผลว่า “ต้องการทำตามความฝัน” ซึ่งร้อยละ 63 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีธุรกิจของตนเองแล้วเห็นด้วยกับเหตุผลดังกล่าว ตามมาด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้
  • อยากมีรายได้เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 59)
  • ครอบครัวให้การสนับสนุน (ร้อยละ 43)
  • ทำตามเสียงเรียกร้องในใจ/สัญชาตญาณ (ร้อยละ 32)
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มีความมุ่งมั่นหรือผู้ที่กำลังเป็นเจ้าของธุรกิจในไทยได้ตอบคำถามว่าต้องการเน้นหารายได้หรือทำตามความฝันของตนเองมากกว่ากัน ดังนี้
  • เน้นทั้งหารายได้และทำตามความฝัน (ร้อยละ 44)
  • เน้นหารายได้เป็นหลัก (ร้อยละ 42)
  • ทำตามความฝัน (ร้อยละ 11)
ร้อยละ 74 ของผู้ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง กล่าวว่าพวกเขาใฝ่ฝันถึงวันที่สามารถบอกเจ้านายได้ว่าขอลาออก และด้วยเหตุผลที่ดี ก็มีคนจำนวนเท่ากันที่เชื่อว่าไอเดียธุรกิจของตนเองมีความล้ำหน้ากว่าใครๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการมีธุรกิจของตัวเองจะเป็นสิ่งที่พวกเขาปรารถนา ร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสอบถามบางครั้งก็รู้สึกว่าพวกเขาอาจไม่มีวันมีโอกาสได้เป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง เงินทุนเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเจ้าของธุรกิจในไทย เมื่อถูกถามเกี่ยวกับอุปสรรคของการเป็นผู้ประกอบการ ร้อยละ 51 ของคนไทยที่ต้องการมีธุรกิจของตนเองยกเหตุผลด้านเงินทุนในการเริ่มต้นธุรกิจเป็นอุปสรรคอันดับหนึ่งที่ทำให้ไม่อาจมีธุรกิจของตัวเองได้ ตามมาด้วยปัจจัยอื่นๆ ดังนี้
  • กังวลว่าธุรกิจจะไม่ประสบความสำเร็จ (ร้อยละ 37)
  • ไม่มีความรู้เรื่องการเงินและการตลาดอย่างเพียงพอ (ร้อยละ 34)
  • กังวลว่าธุรกิจจะไม่ทำกำไร (ร้อยละ 33)
สำหรับเงินทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจ ร้อยละ 78 ของคนไทยกล่าวว่าจะใช้เงินของตัวเองในการลงทุน ขณะที่ร้อยละ 33 จะขอกู้ยืมสำหรับธุรกิจขนาดย่อม และร้อยละ 32 จะใช้เงินจากครอบครัว อย่างไรก็ดี คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 73 ระบุว่า จะมีความมั่นใจเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองมากขึ้นหากมีหุ้นส่วนร่วมด้วย และร้อยละ 83 เห็นว่า การเริ่มประกอบธุรกิจในประเทศไทยนั้นง่ายกว่าประเทศอื่น   Published on 26 July 2019 SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"

บทความแนะนำ

Wongnai เปิด Co - Cooking Space คอมมูนิตี้ของคนรักการทำอาหาร

เกิดขึ้นแล้ว! คอมมูนิตี้ สำหรับคนรักการทำอาหารแห่งแรกของไทย ภายใต้ชื่อ “Wongnai Co - Cooking Space” โดยเปิดบริการให้ทุกคนเข้ามาร่วมสร้างประสบการณ์การทำอาหาร กับทีมเชฟมืออาชีพจาก Wongnai ที่รวบรวมสูตรเด็ดจาก Wongnai Cooking กว่า 16,000 สูตร ให้ทุกคนได้มาสร้างประสบการณ์การทำอาหารร่วมกัน คุณยอด ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด กล่าวถึงที่มาในการเปิด “Wongnai Co - Cooking Space” ในครั้งนี้ว่า พื้นที่นี้เป็น good space ที่เชื่อมต่อ คนที่ชื่นชอบในการทำอาหารมาพบปะและแชร์ความรู้ ซึ่งปัจจุบัน “การทำอาหาร” เป็นอีกหนึ่ง Lifestyle ของคนยุคใหม่ ดูได้จากการที่มีคนเข้ามาค้นหาสูตรอาหารบน Wongnai Cooking มากกว่า 1,500,000 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีสูตรอาหารที่ถูก submit เข้ามาบน Wongnai มากกว่า 16,000 สูตร ด้วยเหตุนี้ จึงอยากดึง Lifestyle บน online มาสู่ offline เป็นอีกหนึ่งการเชื่อมต่อสิ่งดีๆ ให้กับทุกคน ที่สามารถเข้าถึงสามารถได้ลงมือทำจริง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนที่ชื่นชอบการทำกิจกรรมนอกบ้าน รักการทำอาหาร อยากเรียนรู้การทำอาหาร รวมไปถึงแม่บ้านยุคใหม่ที่มีเวลาว่างและอยากหาความรู้เพิ่มเติม โดยคาดการณ์ว่าจะมีคนมาใช้ Co - Cooking Space จำนวน 200-300 คน ต่อเดือน นอกจากนั้น เรายังมีพันธมิตรอย่าง Electrolux, Geoluxe และ True Digital Park เข้ามาร่วมสนับสนุน Wongnai Co - Cooking Space อีกด้วย Wongnai Co - Cooking Space พร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ มีกิจกรรมการเรียนการสอนทำอาหาร กับทีมเชฟจาก Wongnai และยังมีพื้นที่รองรับการจัดกิจกรรมต่างๆสำหรับเหล่าคนรักการทำอาหาร ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเชื่อมต่อคนไทยเข้าสู่กิจกรรมไลฟ์สไตล์ดีๆ ตามวิสัยทัศน์“Connect People to Good Stuff” ของ Wongnai อีกด้วย สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/wongnaicocooking หรือโทร 098-994-6567   Published on 12 July 2019 SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"  

บทความแนะนำ