ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) “Upcycling” โอกาสของผู้ประกอบการที่ต้องการเปลี่ยนขยะเป็นทอง

หากพูดถึง “Upcycling” ในเมืองไทยคงพูดได้ว่าเป็นเรื่องที่ต่อยอดมาจากการ “Recycle” ซึ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามในการสร้างการตระหนักรู้เรื่องของการนำขยะมาเปลี่ยนให้เป็นทอง หรือให้คนมองเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่ใช้แล้วเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยจากการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยจนทรัพยากรเริ่มหมดไป ปัญหาขยะล้นโลก นำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สร้างผลกระทบต่อโลกและมนุษย์ 

รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่ผลักดันเรื่องของ Upcycling ในเมืองไทยให้เดินทางมาไกลจากจุดเริ่มต้น พูดถึงภาพรวมของ Upcycling ไว้น่าสนใจว่า

“ภาพรวมของธุรกิจ Upcycling ในตอนนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมากปัจจัยหนึ่งมาจากการที่ภาครัฐเริ่มให้การสนับสนุนจนกลายเป็นแนวทางเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งหมายถึง Bio-Circular-Green ที่รัฐบาลกำหนดเป็นโมเดลเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นวาระแห่งชาติ ทำให้มีคนเข้ามาในบริบทนี้ มีเด็กรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการใหม่ๆเข้ามามากขึ้น องค์กรใหญ่เริ่มหันมาสนใจและดำเนินการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง สร้างให้เกิด Upcycling Initiative เพิ่ม ซึ่งผมมองว่าการที่ธุรกิจนี้จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆนโยบายของภาครัฐรวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

ศูนย์ RISC ถือเป็นหนึ่งหน่วยงานวิจัยของบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ที่ช่วยผลักดันแนวคิดให้เกิดการผสานการใช้วัสดุ Upcycle โดยมีการจับมือกับพันธมิตร Upcycling ในการนำวัสดุที่ใช้แล้วไปพัฒนาเป็นองค์ประกอบอาคารส่วนต่างๆ ให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งภายในอาคารจนถึงภายนอกอาคาร ตั้งแต่ผนัง หลังคา วัสดุปิดผิว เฟอร์นิเจอร์ ถนน ทางเดินเท้า และส่วนตกแต่งพื้นที่สีเขียวของโครงการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย “เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน” หรือ Circular Economy การนำผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำเพื่อทำให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง ตามพันธกิจของ MQDC ที่ว่า ‘for all well-being’ ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของทุกสรรพสิ่งบนโลก

“ที่ RISC เราเป็นศูนย์วิจัยที่เกี่ยวกับวัสดุ โดยเราจะเน้นวัสดุ Upcycling เป็นหลัก เรามี ห้องสมุด Well-being Material ที่เรารวบรวมวัสดุที่เกี่ยวกับสุขภาวะ เกี่ยวกับ Green มารวมเอาไว้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายและเราจะมีการเชิญ Architect,Engineer,Developer ต่างๆเข้ามาเรื่อยๆเพื่อให้พวกเขาเหล่านี้สามารถมาสั่งซื้อวัสดุเหล่านี้ตรงกับผู้ผลิต หากเรามองเห็นว่าวัสดุตัวไหนน่าสนใจมากๆ เราก็จะมีการคุยตรงเพื่อนำไปใช้กับโครงการต่างๆของ MQDC เช่น Whizdom หรือ โครงการ The Forestias เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีรายได้และต่อยอดการเติบโตของธุรกิจต่อไป นอกจากนี้ผู้ผลิตยังสามารถเข้ามาใช้ห้องแลปหรือมาปรึกษากับเราได้ เราจะช่วยคอมเมนต์ หาฟันดิ้ง รวมถึงลูกค้าให้กับเขา” 

ในฐานะหัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์ RISC รศ.ดร. สิงห์ มองว่าการที่ผู้ประกอบการซึ่งสนใจเรื่องของ Upcycling จะเข้ามาในธุรกิจนี้มีเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจอยู่ 2-3 เรื่อง

  1. ต้อง  Identify ก่อนว่าขยะที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตคืออะไร รวมถึงต้องวางแผนก่อนว่าต้องการจะ Upcycling เป็นอะไร และไปสู่อุตสาหกรรมไหน เพื่อดูว่าหลังจากทำแล้ววัสดุเหล่านั้นมีเพียงพอที่จะต่อยอดธุรกิจได้หรือไม่

“ถ้าเรารู้ตรงนี้เราจะประเมินได้ว่าวัสดุที่เราจะใช้เพียงพอสำหรับทำธุรกิจหรือเปล่า อย่างตอนที่ผมทำโอซิซุเราเน้นไปที่ขยะซึ่งมาจากการก่อสร้างนั่นหมายความว่าผมรู้ว่า Supply Chain ของผมมีค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นการ Identify ได้ว่าแหล่งวัตถุดิบที่จะนำมา Upcycling มีมากแค่ไหน ตรงนี้สำคัญมากไม่อย่างนั้นจะเป็นการทำธุรกิจไปแล้วผ่านไปไม่นานวัตถุดิบหมดมันก็ไปต่อไม่ได้” 

  1. ต้องสามารถจัดหมวดหมู่วัตถุดิบที่มีได้หรือไม่ “บางคนไม่มีการจัดหมวดหมู่วัตถุดิบที่มีเพราะคิดว่ามีของเยอะอยู่ตลอดเวลาถึงจุดสุดท้ายวัตถุดิบไม่พอ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำส่วนอื่นก็เหมือนกับการทำธุรกิจทั่วไป ยุคนี้คนยอมรับสินค้าที่มาจากขยะมากขึ้น คนใส่ใจ รัฐบาลก็ให้การสนับสนุน เราก้าวมาถึงจุดนี้แล้วการทำธุรกิจ Upcycling จึงค่อนข้างเป็นไปได้ดีมากขึ้น”

นอกจากนี้ รศ.ดร. สิงห์ ยังเสริมว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการ Upcycling ควรทำนอกจากการรู้ว่าวัตถุดิบของตนมีมากน้อยแค่ไหน คัดแยกได้หรือไม่แล้ว ทีมงานต้องรู้จุดแข็งของตัวเองว่าเราถนัดทางด้านไหน 

“ถ้าเราเก่งเรื่องดีไซน์เราก็ออกแบบสินค้าของเราเอง แต่ถ้าเราไม่เก่งอาจจะใช้เรื่องของ IT เข้ามาช่วยเป็นตัวกลางแบบที่ผู้ประกอบการอย่าง More loop ซึ่งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเป็นตัวกลางในการเทรดผ้าเหลือใช้จากอุตสาหกรรมทำ คือส่งไปขายมา นอกจากนั้นควรหาตลาดที่แน่นอนที่เราสามารถผูกปิ่นโตกันในระยะยาวได้ ธุรกิจ Upcycle ในเมืองไทยทิศทางจะเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากประเทศเราเล็กเกินไปสำหรับธุรกิจนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องมองเป้าหมายในระดับโกลบอล พยายามหาเซกเตอร์ที่ใหญ่ เช่น อาหาร ธุรกิจก่อสร้าง แต่ต้องอย่าลืมมองเรื่องของกำลังการผลิตของเราเพราะถ้าออกสู่ตลาดโกลบอลกำลังซื้อจะมากกว่าเดิม กำลังการผลิตของเราต้องพร้อม” 

แม้การเดินทางของธุรกิจ Upcycling ในไทยจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เราก็พอมองเห็นว่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่หลายรายเริ่มให้ความสนใจและเห็นโอกาสในธุรกิจนี้มากขึ้น ประกอบการภาครัฐเองเริ่มให้ความสำคัญและสนับสนุนตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG ดังนั้นหากรัฐสามารถสร้าง Ecosystem ให้เกิดขึ้นได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ประกอบการและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 

ธุรกิจ Upcycling จึงเป็นเทรนด์ทางธุรกิจที่ SMEs ควรให้ความสนใจ ทั้งผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับ BCG โดยตรงและทางอ้อม รวมถึงผู้ประกอบการทั่วไป เพราะในอนาคตเทรนด์ดังกล่าวจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย

บทความแนะนำ

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 7 – แปรรูปผลผลิตให้เป็นคุณค่า

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 7 – แปรรูปผลผลิตให้เป็นคุณค่า

ประเทศไทยเรามีกำลังและศักยภาพที่สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างล้นหลาม แต่เหล่าผู้ประกอบการทางการเกษตรทั้งหลาย กลับยังไม่รู้จักวิธีที่จะสามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่มากมายเหล่านี้ ให้เกิดเป็นมูลค่าเพิ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

ไปให้ไกลกว่าผลผลิตทางการเกษตร

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 7 จึงมีความต้องการที่จะให้ผู้ประกอบการทางการเกษตรได้รับคำปรึกษาแนะนำให้เห็นทิศทางหรือความเป็นไปได้ของเหล่าผลผลิต ให้ทราบว่านอกจากการนำไปจำหน่ายโดยตรงแล้ว จะสามารถเปลี่ยนผลผลิตเหล่านี้ให้เป็นอะไรได้บ้างในรูปแบบของการคิดผลิตภัณฑ์ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

จึงกลายเป็นภารกิจสำคัญที่ทางศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 7 ต้องการที่จะเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาทางด้านผลิตภัณฑ์ ให้กับทั้งผู้ประกอบการ SME ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ภายในพื้นที่ 4 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และ อำนาจเจริญ เพราะเป็นจังหวัดที่สามารถสร้างผลผลิตได้อย่างมากมายทุกปี และควรที่จะสนับสนุนให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่หลากหลาย

.

สับปะรด ไม่เป็นสับปะรด

โดยแนวคิดหลักที่นำมาใช้บอกกับผู้ประกอบการก็คือ “ปลูกสับปะรด ไม่ให้ขายเป็นสับปะรด” ซึ่งเป็นการอธิบายโดยให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า เมื่อมีผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ควรนำผลผลิตเหล่านั้นไปผ่านกระบวนการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์เสียก่อน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ซึ่งทางศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 7 ได้วางแนวทางที่จะพัฒนาไปใน 3 ด้านหรือ 3P ก็คือ

ด้านที่ 1 การแปรรูปผลิตภัณฑ์ หรือ Product transformation เป็นการพัฒนาผลผลิตขึ้นใหม่ ให้อยู่ในรูปแบบของการคิด สร้างให้เป็นผลิตภัณฑ์ด้วยกรรมวิธีการแปรรูปการพัฒนาตั้งแต่ตัววัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างไรบ้าง เช่น ออกเป็นแคปซูล ออกเป็นเครื่องดื่ม ออกเป็นตากแห้ง เป็นต้น รวมไปถึงการคิดตลอดวงจรอายุของผลิตภัณฑ์ทั้งในเรื่องอายุของสินค้า ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรฐาน และกระบวนการในการผลิตด้วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยตอบแนวคิดเรื่อง “สับปะรด ไม่เป็นสับปะรด” ให้ผู้ประกอบการเห็นภาพได้อย่างชัดเจน 

ด้านที่ 2 การพัฒนาระบบการผลิต หรือ  Process transformation ให้บริการเข้ามาปรึกษาแนะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการผลิต พร้อมทั้งสามารถทดลองส่วนผสมในห้องปฏิบัติการ, ทดสอบการผลิตชิ้นงานต้นแบบเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือทำการผลิตเล็กๆ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถเข้ามาใช้เครื่องมือเครื่องจักรทำได้ โดยมี ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ Industry Transformation Center (ITC) ที่พร้อมรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ รวมไปถึงการเข้าไปตรวจสอบเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้มานานแล้ว ว่าควรจะปรับปรุงอย่างไรให้เพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการนำวิธีการดิจิทัลเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องการบริหารจัดการภายในโรงงานให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้นได้

ด้านที่ 3 บทบาทในการพัฒนาให้ความรู้พนักงาน หรือ People ให้มีการปรับปรุงการเรียนรู้ ปรับปรุงในเรื่องของการเพิ่มทักษะต่าง ๆ ให้รู้ทันช่องทางการตลาดหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้บุคลากรทุกภาคส่วน ก้าวทันยุคทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ

.

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 7 มีความพร้อมทั้งในด้านทีมงานบุคลากร เครื่องมือ แนวคิดการสร้างสรรค์ นวัตกรรม เทคโนโลยี รวมถึงงานออกแบบ ที่จะเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เกิดการพัฒนาในด้านผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ เพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดในยุคปัจจุบัน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในธุรกิจได้อย่างมั่นคง

.

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7
เลขที่ 222 หมู่ 24 ถนนคลังอาวุธ ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000
โทร. 045314216
E-mail: ipc7@dip.go.th
Website : https://ipc7.dip.go.th
Facebook: dip.ipc7
Youtube: DIProm Station

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

บัชชี่บีส์ จากผู้พัฒนาระบบตรวจสอบลายนิ้วมือ สู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งรองรับผู้ใช้งานว่า90 ล้านคน

จากผู้พัฒนาระบบลายนิ้วมือเชิงชีวสถิติ หรือ Biometric เพื่อใช้ในการตรวจสอบข้อมูลบุคคลและใช้ในงานรักษาความมั่นคงปลอดภัย สำหรับใช้งานกับหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภายใต้ บริษัท ไอคอนเซ็ป เมื่อ 16 ปีที่ผ่านมา

ณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ได้ปรับธุรกิจจากการผู้พัฒนาระบบลายนิ้วมือ มาสู่บริษัทที่พัฒนาแพลตฟอร์มระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ที่เรียกว่า CRM Privilege (Customer Relationship Management Privilege) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อธุรกิจและลูกค้าครบวงจร เมื่อปี 2555 

การเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ ของ บัซซี่บีส์ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อบริษัทมีแผนที่จะก้าวเข้าสู่การพัฒนาระบบ CRM Privilege ทำให้บริษัทหยุดที่จะพัฒนาระบบลายนิ้วมือ และปรับธุรกิจสู่ธุรกิจใหม่ทันที และเมื่อพัฒนาระบบใหม่เสร็จเรียบร้อย ยังไม่มีลูกค้าและเกือบที่จะขาดสภาพคล่องของบริษัท 

ณัฐธิดา กล่าวต่อว่าหลังจากที่ใช้เวลา 2 ปี ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม Buzzebees ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่น สะสมแต้มและแลกของ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากผู้ใช้งานน้อย ต่อมาบริษัทได้ต่อยอดการพัฒนาสู่ระบบ CRM Privilege โดยมีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟส์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส เป็นบริษัทแรกที่ใช้บริการระบบบริหารความสำคัญกับลูกค้า หรือ CRM Privilege ภายใต้บริการ AIS Privilegeหลังจากนั้นบริษัทได้พัฒนาพอร์ตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการเครื่องมือการตลาดดิจิทัล ที่หลากหลาย 

“เราเชื่อมั่นว่า แพลตฟอร์ม ของ Buzzebeesจะช่วยธุรกิจ และChange the Worldเราต้องเปลี่ยน Marketing work เป็น Digital work และเราเชื่อในสิ่งนี้ ว่ามันจริง” ณัฐธิดา กล่าว

ปัจจุบัน บัซซี่บีส์ ให้บริการแพลตฟอร์ม CRM Privilege ที่ครอบคลุม 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ลูกค้ากลุ่ม คอร์ปอเรท และลูกค้ากลุ่มรีเทล 

โดยในกลุ่ม คอร์ปอเรท นั้น บริษัทให้บริการ Corporate Solution ในรูปแบบ One stop service ด้าน CRM สำหรับองค์กรใหญ่ ประกอบด้วย บริการ Loyalty Program for Customers, Loyalty program for Dealer, Loyalty Program for Employee, Rewards & Privileges Management, Data Management Platform (DMP), e-Commerce service, Digital Marketing Activation และ บริการ Food Delivery เป็นต้น

Loyalty Program for Customer โปรแกรมสร้างแรงจูงใจสำหรับลูกค้า บน แอพพลิเคชั่น และไลน์ พร้อมจัดหาของรางวัลให้ตอบโจทย์ธุรกิจ

Loyalty Program for Dealer เป็นโปรแกรมสร้างแรงจูงใจสำหรับตัวแทนจำหน่าย เพื่อกระตุ้นยอดขายสำหรับธุรกิจ 

Loyalty Program for Employee เป็นโปรแกรมที่สร้างแรงจูงใจให้พนักงานมีส่วนร่วมและมีความสัมพันธ์กับบริษัทมากยิ่งขึ้น มีการนำระบบการให้รางวัลและการแลกแต้ม มาช่วยในการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานของบริษัทด้วย 

Rewards & Privileges Management บริการจัดหาส่วนลด ของรางวัลและสิทธิพิเศษต่างๆ พร้อมวางแผนแคมเปญครบวงจร

Data Management Platform (DMP) บริการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และเปลี่ยนให้เข้าใจได้ง่าย สามารถนำไปต่อยอดในการดำเนินธุรกิจ 

e-Commerce service บริการรับดูแล อีคอมเมิร์ซครบวงจร ช่วยสร้างยอดขายให้ธุรกิจบนออนไลน์

Digital Marketing Activation บริการจัดแคมเปญการตลาดเพื่อเพิ่มฐานลูกค้าเพื่อดันยอดขายผ่านการวิเคราะห์ Big data ช่วยวางกลยุทธ์การตลาดให้ธุรกิจ

และ บริการ Food Deliveryระบบสั่งและจัดส่งอาหารที่เชื่อมต่อกับไรเดอร์

ในส่วนของบริการกลุ่มลูค้รีเทลนั้น บริษัทให้บริการ Retail Solution เป็นบริการเพื่อรองรับธุรกิจ SMEs ประกอบด้วย CRM Plus, B-POS, B-Voucher, B-Giftcard, Food Delivery, และ e-Payment

สำหรับบริการ CRM Plusเป็นบริการ Loyalty Program บน Line OA สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถรองรับทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ 

ขณะที่บริการ B-POS เป็นระบบจัดการหน้าร้านอัจฉริยะ ที่ช่วยเพิ่มช่องทางการขาย ละขยายโอกาสทางธุรกิจ 

บริการ B-Voucherเป็นระบบสร้างบัตรกำนัลดิจิทัล ให้ธุรกิจสามารถมอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้า

B-Giftcard เป็นระบบสร้างบัตรของขวัญดิจิทัลให้ลูกค้าซื้อเพื่อใช้งานเองหรือซื้อเป็นของขวัญ 

และ e-Payment เป็นระบบรับชำระเงินที่เชื่มต่อกับผู้ให้บริการ e-wallet ทุกเจ้าในประเทศไทยอาทิ Alipay, True Money และ Dolfin เป็นต้น 

“บัซซี่บีส์ มีการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการใหม่ๆ กับลูกค้า ปีละ 2-3 บริการตอนนี้มีคนอยู่บนแพลตฟอร์ม 90 ล้านคนจากวันแรกที่มีผู้ใช้ดาวห์โหลด แอพพลิเคชั่น Buzzebeesจำนวน 20 ดาวห์โหลด มีผู้ใช้งาน (Transaction)ในแพลตฟอร์ม วันละ2 ล้านครั้ง (Transactions) มีร้านค้าที่อยู่ในระบบหลายหมื่นร้านค้า (Merchants) รองรับสินค้ามากกว่า 200,000 รายการ“ธุรกิจของบัซซี่บีส์เหมือนต่อ จิ๊กซอ พยายามต่อให้ครบภาพพบภาพเมื่อไหร่ มันถึงจะออก ทุกอย่างมันเชื่อมกันเราเป็น Marketing enable platform เป็นเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมธุรกิจเพื่อให้ทำการตลาด(Marketing)ได้ทุกอย่างบนโลกออนไลน์ สิ่งที่บัซซี่บีส์ ทำ เราเป็นคนกลางในการเชื่อมต่อร้านค้ารับแลกของมากกว่า 20,000 ร้านค้า เป็นศูนย์รวมจุดเชื่อมต่อออนไลน์และออฟไลน์ ด้านการทำมาร์เก็ตติ้ง มีลูกค้าคอร์ปอเรทมากกว่า 150 ราย เราอยากเป็น enable อย่างแท้จริง” ณัฐธิดา กล่าว และอธิบายเพิ่มเติมว่า 

บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาเฟรมเวิร์คทางด้าน Privilege marketing เพื่อให้นักพัฒนา รวมถึง คู่ค้า สามารถนำเฟรมเวิร์ค ไปพัฒนาต่อยอดในการทำธุรกิจใหม่ด้วย นอกจากนี้ยังจากสถานการณ์โควิด-19 บริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจอย่างเป็นทางการที่ประเทศ ฟิลิปินส์ เวียดนาม มาเลเซียและสิงคโปร์ สำหรับรายได้ของบริษัทในครึ่งปีที่ผ่านมามีการเติบโตประมาณ 30 เปอร์เซ็น และภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะการเติโตโดยรวม 30-50 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้ประมาณ 1,600 ล้านบาท

สำหรับ SMEs ที่มีการให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟนบ่อยๆ การเก็บข้อมูลของลูกค้าเพื่อเอามาทำ CRM ในปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ยากเหมือนกับสมัยก่อนแล้ว เพราะมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ออกมาให้เลือกใช้บริการเป็นจำนวนมาก และการคิดค่าบริการก็มีให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งชำระเป็นรายเดือนหรือตามปริมาณฟังก์ชั่นการใช้งาน ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งบัซซี่บีส์ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกนั้น

บทความแนะนำ

NEA ปั้นผู้ประกอบการหน้าใหม่ เสริมทัพผู้ส่งออก

สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ภายใต้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อเสริมทัพธุรกิจส่งออกของไทยให้แข็งแกร่ง ซึ่งในสถานการณ์ COVID-19 ครั้งนี้เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของการส่งออกไทย

การส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์เดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ โดยตัวเลขล่าสุด การส่งออกในช่วง 7 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.64) มีมูลค่ารวม 154,985.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.20 ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและจีน ต่างทยอยฟื้นตัว ดังนั้นการขับเคลื่อนการส่งออกจึงเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย ทำให้ NEA ต้องเร่งผลักดันผู้ประกอบการแม้จะมีอุปสรรคมากมายในช่วงโควิดที่เกิดขึ้น

อารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด NEA ต้องมีการปรับตัวอย่างมากในการขับเคลื่อนภารกิจในการนำองค์ความรู้ไปสู่ผู้ประกอบการผ่านโครงการต่าง ๆ ของสถาบันฯ ซึ่งปีนี้ยังคงมีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการตลอดทั้งปี แต่เปลี่ยนมาใช้รูปแบบออนไลน์เป็นหลักในการเข้าถึงผู้ประกอบการทั่วประเทศ

“สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) มีวิสัยทัศน์สำคัญในการสร้างนักธุรกิจระหว่างประเทศที่มีความเข้มแข็ง และพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ทัดเทียมกับระดับนานาชาติ ผ่านยุทธศาสตร์ Sharing Knowledge เป็นการแบ่งปันองค์ความรู้ใหม่ ที่สามารถเสริมภูมิคุ้มกันให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ทันกับบริบทโลก และยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน หรือ Sharing Economy

 

ยกระดับ Tonkla to Goal

สำหรับปีนี้ โครงการสร้าง SMEs ไทยสู่เวทีสากล หรือ Tonkla to Goal ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 10 เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายทุกรูปแบบ สร้างโอกาสในการทำธุรกิจและเรียนรู้เคล็ดลับสู่ความสำเร็จกับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการเรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

“จากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใหม่ของผู้บริโภคที่เกิดจากสถานการณ์โควิด หรือ New Normal ผู้ประกอบการยิ่งต้องเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ ๆ การอัพสกิล รีสกิล เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี ระบบ 5จี คลาวด์ หรือ ไอโอที เพื่อก้าวสู่การทำธุรกิจในยุค NewNormal และ NextNormal ต่อไป” ผู้อำนวยการสถาบัน NEA ระบุ

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องการ คือเครือข่ายธุรกิจ คอนเนคชั่น และการเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งจากภารกิจของต้นกล้า ทู โกล ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2564) มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการระยะแรก 1,510 ราย ผ่านการพัฒนาอย่างครบถ้วนและได้รับวุฒิบัตร จำนวน 234 ราย เข้าร่วมกิจกรรมส่งออกต่างประเทศรวม 111 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าการส่งออกถึง6,053.6 ล้านบาท

 

เน้นพัฒนาธุรกิจ 5 กลุ่ม

โครงการสร้าง SMEs ไทยสู่เวทีการค้าสากล (ต้นกล้า กู โกล) ปี 2564 จัดขึ้นเป็นปีที่ 10 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs ท้องถิ่น ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าและพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานสากล สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ในส่วนภูมิภาคที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า

ทั้งนี้ จะเน้นพัฒนาธุรกิจใน 5 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

  1. สินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูป อาหาร/อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม
  2. สินค้าเครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว สมุนไพร
  3. สินค้าแฟชั่นและสิ่งทอ
  4. สินค้าหัตถกรรม เครื่องใช้และของตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ ของขวัญ และของชำร่วย
  5. สินค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับ

สำหรับในปีนี้ สถาบันฯ ได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 สร้างองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ ระยะที่ 2 สร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์และการจัดทำแผนธุรกิจ ระยะที่ 3 พัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อต่อยอดสินค้านวัตกรรมในเชิงสร้างสรรค์ และระยะที่ 4 จัดกิจกรรมเสวนา / เจรจาการค้า / จัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์

โดยผู้เข้าร่วมโครงการปี 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 725 ราย แบ่งเป็นที่มาจากกลุ่มนิติบุคคล 75 ราย โดย 51 รายอยู่ในกลุ่ม สินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูป อาหาร/อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม 18 รายอยู่ในกลุ่มสินค้าเครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว สมุนไพร 5 รายในกลุ่มสินค้าหัตถกรรม เครื่องใช้และของตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ ของขวัญ และของชำร่วยและสินค้าแฟชั่นและสิ่งทอ 1 ราย โดยจัดให้มีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจรวม 150 คู่

“เราอยากให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในการเจรจากับคู่ค้า เพื่อสร้างให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นทำการค้าให้เข้มแข็งในยุค New Normalซึ่งพอ New Normal มา รูปแบบการค้าเปลี่ยนแปลงไป หลักสูตรของ NEA เน้นการค้าระหว่างประเทศ มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างนักรบทางธุรกิจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างเข้มแข็งในยุค New Normal ต่อไป” อารดากล่าวทิ้งท้าย

สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://nea.ditp.go.th/

บทความแนะนำ

“ทีเส็บ” สร้างความพร้อมผู้ประกอบการไมซ์ รับมือความเปลี่ยนแปลงแบบ New Normal

ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นศูนย์กลางของธุรกิจและอุตสาหกรรมการจัดประชุมและงานแสดงสินค้าในอาเซียน โดยในปี 2562 ประเทศไทย โดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ (Thailand Convention & Exhibition Bureau : TCEB) ได้รับคัดเลือกเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ (Convention and Visitors Bureau หรือ “CVB”) อันดับ 1 และได้คะแนนผลงานการบริหารจัดการจุดหมายปลายทาง (Destination Management Performance) สูงสุดในเอเชียจาก Global Destination Sustainability (GDS) 2019 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นจุดหมายปลายทางของการจัดกิจกรรมไมซ์ อันดับ 2 ของโลก โดย Pacific World - Top Demanded MICE Destination for 2019 และเมื่อมองในด้านเศรษฐกิจ ปี 2562 อุตสาหกรรมไมซ์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศก่อให้เกิดผลประโยชน์ตลอดห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ (Economic Impact) รวมมูลค่าทั้งสิ้น 544,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 

แต่เมื่อเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันจากสถานการณ์โควิด 19 ที่เกิดขึ้น ทีเส็บในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ หรืออุตสาหกรรมการจัดประชุมสัมมนาและงานแสดงสินค้า (MICE - Meetings, Incentives, Conventions and Exhibitions) ได้มีการปรับแผนงานและรูปแบบการทำงานให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้ 

คุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ทีเส็บ กล่าวถึงการดำเนินงานที่ปรับตัวตามความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดตั้งแต่ระลอกที่ 1 ถึงระลอกที่ 3 โดยที่ผ่านมามีการปรับแผนงานและรูปแบบการทำงาน เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยการเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมไมซ์ไทยใน 4 ด้านหลัก ดังนี้

ด้านที่ 1 : การสร้างงาน และการดึงงาน ผ่านการจัดกิจกรรมไมซ์ โดยสนับสนุนการจัดงานในประเทศไทย ในรูปแบบการสนับสนุนกิจกรรม (Event Support) หรือ เงินอุดหนุน (Subsidy) และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด รวมถึงสนับสนุนการประมูลสิทธิ์การจัดงาน โดยทีเส็บร่วมเป็นผู้ให้การสนับสนุนหน่วยงาน และสมาคมต่าง ๆ ในการประมูลสิทธิ์งานนานาชาติให้มาจัดในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ด้านที่ 2 : การส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร มุ่งเน้นแนวทางการสื่อสาร สร้างการรับรู้ และความรู้ความเข้าใจด้านข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ เข้าใจ และรับรู้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้การดำเนินงาน ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร COVID-19 ทีเส็บ หรือ TCEB COVID-19 Information Center เช่น การจัดทำรายงานสถานการณ์ หรือ TCEB Situation Update โดยจัดส่งให้กลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการไมซ์ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารจัดการเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียรายวันเพื่อให้ทันกับสถานการณ์

ด้านที่ 3 : การกระจายรายได้และความเจริญสู่ภูมิภาค โดยจัดตั้งทีมงานสำนักภาคกระจายสู่ภูมิภาค ดำเนินงานร่วมกับจังหวัดหรือไมซ์ซิตี้ รวมถึงภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ภูมิภาค และกระตุ้นให้เกิดการจัดงานไมซ์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า รวมถึงสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าภายในประเทศ ทั้งในรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าแบบเดิม และการจัดงานเป็นแบบผสมผสาน หรือ Hybrid เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ 

ด้านที่ 4 : การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ การใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และช่องทางออนไลน์เข้ามาช่วยในการจัดงาน ทีเส็บ พัฒนามาตรฐานบุคลากรไมซ์ โดยให้ความรู้ด้านการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการศึกษา และการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายภาคการศึกษาไมซ์ใน 5 ภูมิภาค นอกจากนั้นยังพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ อาทิ โครงการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสุขอนามัยและนวัตกรรมการจัดงานเสมือนจริง (Hygiene & Hybrid) แก่สถานที่จัดงานที่ได้มาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (TMVS) และสนับสนุนให้ผู้จัดงานและผู้ประกอบการไมซ์นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดงาน หรือแก้ปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 สนับสนุนการจัดงานแบบ Hybrid หรือ ออนไลน์ ทั้งในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนหรือการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี

“ต้องยอมรับว่าการประชุม การจัดงานแสดงสินค้า และการจัดงานต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้เข้าสู่รูปแบบ Hybrid ซึ่งทีเส็บเริ่มให้ความรู้และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจัดงานไมซ์ตั้งแต่ต้นปี 2563 ผ่านโครงการ Virtual Meeting Space หรือ VMS โดยมีการส่งเสริมให้ความรู้การจัดงานใน 3 รูปแบบ คือ Webinar หรือการประชุมสัมมนาเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ โดยส่งเสริมผู้จัดงานและผู้ประกอบการไมซ์ที่ต้องการจัดประชุมสัมมนากับเครือข่ายธุรกิจของตน O2O (Offline to Online) หรือการจัดงานประชุมและงานแสดงสินค้าผ่านระบบออนไลน์สำหรับผู้จัดงานไมซ์ และ E-Learning Platform หรือศูนย์การเรียนรู้คอร์สฝึกอบรมออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการไมซ์ เพื่อเพิ่มทักษะและทบทวนความรู้ (Upskills and Reskills) ที่จำเป็นทั้งด้านไมซ์และทักษะอื่นๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงานรูปแบบใหม่ได้ทันที และยังเตรียมความพร้อมปูพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีสำหรับผู้ประกอบการไมซ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” 

ทีเส็บ ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Thai MICE Connect https://www.thaimiceconnect.com ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ในปัจจุบันมีข้อมูลผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์เข้าร่วมแล้วกว่าหมื่นราย แบ่งเป็น 12 หมวดหมู่ที่ครอบคลุมทุกด้านในการดำเนินกิจกรรมไมซ์ เป็นแพลตฟอร์มที่ครบ ตอบโจทย์ทุกการจัดงานไมซ์ในประเทศไทย และในปีนี้ได้ผลักดันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้แก้ปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด 19 ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ผ่านโครงการ MICE Winnovation โดยได้มีการพัฒนา “MICE Innovation Catalog” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผู้ให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมไมซ์ มีการจัดแบ่งหมวดหมู่นวัตกรรมไมซ์ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนเริ่มงานจนจบงาน ซึ่งทีเส็บ และพันธมิตรจากทั้งภาครัฐ และสมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ ได้ร่วมพิจารณาคัดเลือกนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะสมนำมาบรรจุไว้ใน https://innocatalog.tceb.or.th เป็นประจำทุกเดือน ปัจจุบันมีนวัตกรรมด้านไมซ์ที่พร้อมให้บริการกว่า 70 นวัตกรรม จาก 50 บริษัท

ทั้งนี้ในระหว่างรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย  คุณจิรุตถ์ แนะนำให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้ออกตัวดำเนินธุรกิจได้ทันทีที่โอกาสมาถึง สำหรับผู้ประกอบการอีเวนต์ออแกไนเซอร์ จำเป็นต้อง Up Skills / Re Skills เรียนรู้เทคโนโลยีในการจัดงาน มองหาโอกาสที่จะเดินหน้า และเตรียมความพร้อมทำการวิจัยลักษณะงานที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด19 ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม สถานที่จัดงานต่างๆ ควรเตรียมความพร้อมในทุกด้านทั้งการพัฒนาความสามารถบุคลากรตลอดจนสถานที่ให้ได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัยและแนวปฏิบัติด้านการจัดงาน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับงานและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทันทีที่สามารถจัดกิจกรรมได้

นอกจากนี้ ผอ.ทีเส็บ ยังเชื่อว่าหลังจากสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย จะทำให้ความต้องการจัดกิจกรรมไมซ์ในประเทศไทยฟื้นตัวกลับมาจำนวนมาก เนื่องจากผู้คนโหยหาการเดินทาง การทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงการประชุมพบปะแบบเห็นหน้า (Face to Face) ซึ่งยังคงเป็นวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่สุด

“ผมคิดว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในการรับมือกับโควิด 19 แต่โดยทั่วไปแล้วเป็นเรื่องของความรวดเร็วในการแก้ปัญหา ความสามารถในการปรับตัวเพื่อให้ยังคงดำเนินงาน ทำธุรกิจต่อไปได้ในสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์รูปแบบใหม่ การเรียนรู้และยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อเดินต่อไปข้างหน้า ในภาพรวมผู้คนยังคงอยากพบปะทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ พิสูจน์ได้จากการคอนเฟิร์มการจัดงานในอนาคตยังเป็นไปตามคิวที่จองไว้ โดยเฉพาะธุรกิจงานแสดงสินค้า เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยการดำเนินงานได้จริง แต่อาจจะไม่ได้หมดทุกมิติของประสาทสัมผัสทั้ง 5  เช่นเรื่อง รส กลิ่น สัมผัส เสน่ห์ของการจัดงานไมซ์คือการพบปะเจอ Face to Face เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างคอนเนคชั่น จึงทำให้ความต้องการในการทำกิจกรรมไมซ์ยังคงมีอยู่ ไม่ได้หายไปไหน รอเวลาที่พร้อมเท่านั้น”

ฉะนั้นผู้ประกอบการสามารถวางใจได้ว่าในปัจจุบันอุตสาหกรรมไมซ์ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ และในอนาคตเมื่อโอกาสมาถึง ขอให้ทุกคนเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด ในขณะที่ ทีเส็บ พร้อมที่จะรับฟัง และสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์อย่างต่อเนื่อง การจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในการจัดงาน การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และงบประมาณสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

บทความแนะนำ