โรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียว พลิกวิกฤติชีวิตด้วยกาแฟ

โรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียว พลิกวิกฤติชีวิตด้วยกาแฟ

ธุรกิจล้ม...แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่คนทำธุรกิจทุกคนไม่คิดฝันให้เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตลอดเส้นทางธุรกิจมักมีปัจจัยต่าง ๆ ที่อยู่เหนือการควบคุมเข้ามาสร้างผลกระทบให้ธุรกิจอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น สถานการณ์บ้านเมือง และภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงจนทำให้ธุรกิจที่เคยมีสถานะมั่นคง กลับกลายเป็นไม่ได้ไปต่อ

คุณปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ เจ้าของโรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียว และหัวหน้ากลุ่มผู้ปลูกกาแฟของอำเภอวังน้ำเขียว ก็เป็นหนึ่งคนที่สู้จนสามารถพลิกฟื้นตัวเองขึ้นมาได้เมื่อพบวิกฤติชีวิต จากธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังไปได้สวย แต่กลับโดนผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์บ้านเมืองและมหาอุทกภัย ส่งผลให้ธุรกิจต้องปิดตัวลงและมีหนี้สินกว่า 50 ล้านบาท

แม้จะสูญเสียใหญ่ แต่ชีวิตก็ยังไม่ถึงกับเสียศูนย์ ในช่วงเวลาปั่นป่วนนั้น คุณปกรณ์ เลือกที่จะถอยกลับมาใช้เวลาตั้งหลักใหม่ ด้วยการกลับบ้านและเลือกที่จะออกบวชเพื่อให้ธรรมะช่วยตั้งสติ เมื่อตั้งสติได้จิตใจนิ่งดีแล้ว ก็กลับออกมาวางแผนเพื่อลุยต่อ สิ่งแรกที่ คุณปกรณ์ ทำ คือการกลับไปคุยกับธนาคารเพื่อหาแนวทางในการชำระหนี้ คุณปกรณ์บอกกับธนาคารว่า ได้เริ่มมองหาอาชีพใหม่แล้ว กำลังเริ่มต้นใหม่ ด้วยวัยแค่ 30 คุณปกรณ์มั่นใจว่ายังมีแรงที่จะชำระหนี้ให้กับธนาคารได้ ถ้าให้โอกาส ซึ่งทางธนาคารบางแห่งก็ยินยอมที่จะผ่อนปรนการชำระหนี้ให้

โรงคั่วกาแฟคู่ชุมชน    

แต่เดิม คุณปกรณ์ ชอบมาใช้เวลาพักผ่อนที่วังน้ำเขียว เมื่อคิดหาทางเริ่มต้นใหม่ จึงคิดว่าอยากทำธุรกิจที่นี่ และได้เห็นว่าที่วังน้ำเขียวนี้น่าจะปลูกกาแฟได้ มีการศึกษาถึงเอกลักษณ์ของกาแฟแต่ละสายพันธุ์ และได้ทดลองเริ่มปลูก โดยนำต้นกล้ากาแฟอาราบิก้าที่รัชกาลที่ 9 ส่งเสริมให้ปลูก มาใช้เป็นสายพันธุ์หลักในการเริ่มต้น ประกอบกับใช้ศาสตร์พระราขาในการดำเนินธุรกิจ จนสามารถปลดหนี้และยืนขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง

ภายในโรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียวของ คุณปกรณ์ นั้นมีทั้งการปลูกกาแฟ ปลูกโกโก้ มีโรงคั่วเมล็ด มีโรงงานแปรรูปกาแฟเป็นสินค้าต่าง ๆ มีบ้านพักโฮมสเตย์ ไปจนถึงหน้าร้านสำหรับชื้อสินค้าจากกาแฟ และมีมุมนั่งกินกาแฟในบรรยากาศแม่น้ำ ที่โอบล้อมด้วยภูเขาโดยรอบ เหมาะกับการเข้ามาพักผ่อนหาความสงบอย่างแท้จริง

ในปัจจุบันมีการร่วมกันผลิตกาแฟกับในชุมชน มีการขยายเครือข่าย ด้วยการเพาะต้นกล้าแล้วส่งให้อำเภอใกล้เคียงช่วยกันปลูก มีการเข้าไปแนะนำการปลูกให้เป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด พร้อมรับซื้อผลผลิตเพื่อรองรับกับตลาดที่เติบโตขึ้น ช่วยให้ชุมชนมีรายได้ไปด้วยกัน จนสามารถสร้างเครือข่ายได้ทั่วทั้งประเทศ

แผนอนาคตสำหรับโรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียวนั้น มีความคิดที่จะนำวิถีชีวิตของเกษตรกรมาทำเป็นสินค้า ที่มากกว่าการจำกัดอยู่แค่กาแฟเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงพืชพรรณต่าง ๆ ที่เกษตรกรในชุมชนทำการเพาะปลูกอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นการรวมกลุ่มกันสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ให้ได้สัมผัสถึงเอกลักษณ์ของชาววังน้ำเขียวว่ามีดีอย่างไร คุณปกรณ์ ยังฝากแง่คิดในการทำธุรกิจเอาไว้ว่า ตลอดเวลาที่ทำธุรกิจและใช้ชีวิตมาล้มลุกคลุกคลานทั้งดี ทั้งไม่ดี คนเราเกิดมานั้นต่างเริ่มต้นจากศูนย์ มีเพียงแค่ร่างกายที่ครบ 32 กับสมองที่เรามี เท่านี้ก็เป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สามารถนำไปต่อยอดได้ ขอให้เรามีพลัง อย่าหมดกำลังใจ

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

โรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียว

ที่อยู่: 185 หมู่ 11 ไทยสามัคคี วังน้ำเขียว นครราชสีมา 30370

โทร: 089 – 054 - 6619

เว็บไซต์: www.wnkcoffee.com

อีเมล: chiwchiw14@hotmail.com

Facebook: โรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียว

บทความแนะนำ

Siamtech Farm สร้างคุณค่าด้วยโปรตีนจิ้งหรีด

Siamtech Farm สร้างคุณค่าด้วยโปรตีนจิ้งหรีด

อาหารที่มีแหล่งโปรตีนอุดมสมบูรณ์มากที่สุดอยู่ที่ไหน เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงต้องคิดไปถึง เอวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ หรืออาจคิดไปถึงเนื้อปลาในทะเลลึกก็เป็นได้ แต่ใครจะรู้ว่า แท้จริงแล้วแหล่งโปรตีนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดนั้น อยู่ในสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก นั่นก็คือแมงนั่นเอง อาจฟังแล้วรู้สึกยี้ แต่แมลงนับได้ว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดมากกว่าเนื้อทั่วไปที่เราพบเห็นได้ในท้องตลาด ในแมลงบางชนิดนั้นสามารถให้โปรตีนได้มากถึง 70% และกำลังเป็นที่จับตามองจากทั่วโลกว่า โปรตีนจากแมลงนี่แหละ จะเป็นแหล่งโปรตีนของโลกอนาคต ที่ไม่ทำร้ายโลกมากเท่ากับการทำปศุสัตว์อย่างในทุกวันนี้ จนเกิดเป็นการทำฟาร์มเลี้ยงแมลงเพื่อสกัดเอาโปรตีนมาใช้ในหลาย ๆ ประเทศ

ในไทยเองก็มีการทำฟาร์มจิ้งหรีดกระจายอยู่ทั่วไป อย่างในจังหวัดขอนแก่นที่มีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดกันอย่างกว้างขวางในชุมชน ตรงนี้เองเป็นสิ่งที่ คุณไก่ - รุจิรา ล่านสกุล เจ้าของ Siamtech Farm มองเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้ามาพัฒนารูปแบบการเลี้ยงจิ้งหรีดในจังหวัดขอนแก่น เพื่อแปรรูปเป็นแหล่งโปรตีนให้สามารถส่งออกไปสู่ตลาดโลก

 ยึดมั่นในเส้นทางสู่ความสำเร็จ 

เมื่อตั้งใจแล้วว่าจะก้าวเข้ามาพัฒนารูปแบบการทำฟาร์มจิ้งหรีด จึงได้เริ่มทำการศึกษารูปแบบของการทำฟาร์มอย่างไร ให้ได้มาตรฐานสูง และมีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในฟาร์ม มีการวางระบบหมุนเวียนน้ำ ระบบควบคุมสภาพอากาศ เพื่อให้สามารถควบคุมบรรยากาศภายในฟาร์มได้ และยังเป็นการควบคุมต้นทุน ลดการใช้แรงงานคน ลดความผิดพลาดของปัจจัยแวดล้อม ให้สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ

ใช้เวลาศึกษา ทดลองระบบ อยู่ประมาณ 1 ปี จนสามารถมั่นใจในผลผลิตได้แล้ว จึงเริ่มกระจายความรู้ให้กับชุมชน เริ่มชักชวนชาวบ้านเข้ามาทำด้วยกัน มีการฝึกอบรม ไปจนถึงการวางระบบสร้างโรงเรือนรูปแบบเดียวกันให้ และนอกจากการให้ความรู้ และนวัตกรรมในการเลี้ยงจิ้งหรีดกับชาวบ้านแล้ว ยังมีการเข้าไปทำตลาดให้กับชุมชนด้วย โดยการรักษาคุณภาพของโปรตีนให้เป็นมาตรฐานสูงเท่า ๆ กัน ในทุกฟาร์ม เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

หลังจากที่พัฒนระบบการเลี้ยงจิ้งหรีดให้มีมาตรฐานเดียวกันจากฟาร์มต่าง ๆ ในชุมชนแล้ว เหล่าคนเลี้ยงจิ้งหรีดยังได้มีการรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน “ฅนค้นแมลง” โดยมี คุณไก่ เป็นประธาน สร้างโอกาสให้ภาครัฐได้เห็นคุณค่าในอาชีพนี้ ซึ่งอาจนำมาซึ่งการสนับสนุนจากทางภาครัฐในอนาคต

พลิกวิธีคิด ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์

นอกจากการแปรรูปโปรตีนจากแมลงแล้ว ทาง Siamtech Farm ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง คิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการพัฒนาสินค้าให้น่าสนใจอยู่เสมอ ทั้งผงโปรตีนเวย์สำหรับคนที่ใส่ใจด้านสุขภาพ ผงโปรตีนชงคู่กาแฟ ไปจนถึงการพัฒนาสินค้าให้เป็นเส้นพาสต้าโปรตีนจิ้งหรีด ที่กลายมาเป็นที่นิยม โดยมีการร่วมงานกับเชฟระดับแถวหน้าของประเทศไทย ในการนำไปสร้างสรรค์เป็นเมนูพิเศษ และยังได้รับการสั่งซื้อเพื่อนำไปใช้ในโรงแรมต่าง ๆ ทั่วประเทศอีกด้ว Siamtech Farm ได้มีการขยับขยายการผลิต เพื่อรองรับการส่งออกให้มากขึ้น เนื่องจากในตลาดฝั่งยุโรปนั้นมีความสนใจและมีความต้องการโปรตีนทางเลือกจากแมลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพอากาศในแถบนั้นไม่เอื้อต่อการเพาะเลี้ยงแมลง Siamtech Farm ยังไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เป็นไปได้ว่าผู้คนจะได้เห็นสินค้าจาก Siamtech Farm ออกไปโลดแล่นอย่างกว้างขวางทั่วทั้งตลาดในประเทศฝั่งยุโรปในอนาคตก็เป็นได้

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

Siamtech Farm

ที่อยู่: 191 บ้านโนนงาม หมู่6 ต.โนนหัน อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 40290

โทร: 098 – 629 - 9955

อีเมล: siamtech58cricket@gmail.com

Facebook: Siamtech Farm

YouTube: Siamtech Farm

TikTok: @siamtechfarm

บทความแนะนำ

Bottomless ร้านกาแฟสุดติสท์ ที่พิชิตใจคนหมู่แมส

Bottomless ร้านกาแฟสุดติสท์ ที่พิชิตใจคนหมู่แมส     

ไม่ว่าใครที่เป็นคอกาแฟสายแข็ง และได้ผ่านไปแถวจังหวัดนนทบุรี เชื่อได้ว่าต้องเคยปักหมุดเพื่อไปลิ้มลองรสชาติกาแฟสุดเข้มข้นจากฝีมือของ คุณหมู - นพพล อมรพิชญ์ปรัชญา เจ้าของร้านกาแฟ Bottomless สุดเท่ บนถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี อย่างแน่นอน เรื่องราวความเป็นมาของคุณหมู ตั้งแต่เริ่มเดินทางสายกาแฟ จนมาถึงวันที่ตั้งร้าน Flagship ที่มีภาพจำสีดำสนิทแห่งนี้ได้นั้น ก็มีรสชาติชีวิตที่เข้มไม่แพ้รสชาติกาแฟเช่นเดียวกัน ความชื่นชอบในเรื่องกาแฟของคุณหมูนั้น มีมานานกว่า 16 ปีก่อน ตั้งแต่ยังไม่มีการจุดกระแสกาแฟในประเทศไทย และในยุคนั้นยังไม่ได้มีคาเฟ่ทุกมุมถนนเหมือนอย่างในทุกวันนี้ กาแฟนั้นเป็นเรื่องของความชอบเฉพาะกลุ่ม การจะหากาแฟ Specialty แบบชงพิเศษมาดื่มนั้น มีร้านเปิดขายในจำนวนที่นับนิ้วได้

คุณหมูในวันนั้น ทำอาชีพขายอุปกรณอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นธุรกิจของทางบ้าน และเมื่อมีเวลาว่าง ก็ใช้เวลาทำความรู้จักกับกาแฟรูปแบบต่าง ๆ โดยมีความชอบในอุปกรณ์การชงกาแฟเป็นพิเศษ และมักมีการสั่งซื้อเครื่องชงกาแฟรุ่นท็อป เข้ามาชงกาแฟทานเล่นเอง เป็นงานอดิเรกส่วนตัว ในแต่ละวันคุณหมูมักใช้เวลาอยู่กับกาแฟ ประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อศึกษาหาวิธีดึงรสชาติจากเมล็ดกาแฟแบบต่าง ๆ รวมถึงการทำกาแฟลาเต้ให้สวยและอร่อยสมบูรณ์แบบจนเพื่อน ๆ ในวงการกาแฟต่างยกนิ้วให้ วันหนึ่งคุณหมู ได้สั่งเครื่องชงกาแฟ Slayer เข้ามาใช้ ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องที่ดีที่สุด แพงที่สุดในประเทศไทยในเวลานั้น ซึ่งมีขนาดใหญ่จนไม่สามารถวางในห้องครัวเดิมได้ จึงต้องหาที่วางใหม่ คุณหมูมีตึกเปล่าอยู่ตึกหนึ่งก็ได้เปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นบาร์ในบ้าน จึงจะมีพื้นที่เพียงพอให้เครื่องชงอยู่ และได้มีการโพสต์ลงไปในโซเชียล ทำให้มีคนอยากตามมาลองชิมรสชาติจากเครื่องชงกาแฟตัวนี้ นับเป็นก้าวแรกของการทำร้านกาแฟโดยไม่ได้ตั้งใจ

ในร้านนี้เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นส่วนตัว ที่คุณหมูจะทดลองชงเมนูกาแฟตามใจตัวเองสุด ๆ โดยไม่สนใจความชอบของลูกค้า ซึ่งเมนูในแต่ละวันจะไม่ซ้ำกัน ตามแต่เมล็ดกาแฟที่มี และไม่มีการชงเมนูกาแฟเย็นเลย ด้วยความที่คุณหมูฝึกฝีมือมาด้วยกาแฟร้อนจนเชี่ยวชาญ จึงไม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถชงกาแฟเย็นให้อร่อยเท่ากับกาแฟร้อนได้ จึงตัดสินใจไม่มีเมนูกาแฟเย็นขายในร้าน นับว่าร้านกาแฟหลังบ้านของคุณหมูนี้ เป็นทีชื่นชอบของคอกาแฟตัวจริงที่ยอมดั้นด้นจากในเมือง ออกมาลิ้มลองรสชาติกันถึงนอกเมือง หลังจากผ่านไปได้ 6 เดือน กระแสของคนดื่มกาแฟจริงจังก็ค่อย ๆ เงียบหายไป ส่วนลูกค้าทั่วไปที่ไม่ใช่สายกาแฟจริงจัง ก็ไม่สามารถเข้าถึงรสชาติกาแฟสายลึกของคุณหมูได้

เมื่อเป็นอย่างนั้น คุณหมู จึงได้กลับมามองว่ามันมีบางสิ่งไม่ถูกต้อง ต้องคิดหาทางที่จะทำอย่างไรให้กาแฟของเราอยู่ในพื้นที่ให้ได้ เมื่อนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับผู้ใหญ่ในวงการกาแฟ ก็ได้รับคำตอบว่า ย้ายร้านเถอะ เปิดร้านแบบนี้ยังไงก็เจ๊ง เป็นแรงผลักดันให้คุณหมู เปลี่ยนแปลงเริ่มใหม่ เพื่อจะทำให้ดูว่า ร้านกาแฟนี้จะไม่เจ๊ง

ยกเครื่องเมนูใหม่ ให้ตอบรับเสียงจากลูกค้า

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น คุณหมู ได้ย้ายร้านใหม่ ออกมาจากในบ้านที่อยู่ลึกจากถนนใหญ่ และได้พื้นที่ตั้งร้านที่ใหม่เป็น Bottomless ติดถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรีในปัจจุบัน ในร้านใหม่นี้ คุณหมูนำเสียงตอบรับจากลูกค้าทั้งหมด มาปรับเปลี่ยนเมนูใหม่ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงรสชาติของกาแฟได้ง่ายยิ่งขึ้น ยอมเปลี่ยนตัวเองมาฝึกฝนทำเมนูกาแฟเย็น เพื่อเตรียมตัวรองรับลูกค้า ด้วยชื่อเสียงเดิมที่เป็นตัวจริงเรื่องกาแฟของคุณหมู รวมกับการเปิดร้านใหม่ที่มีการปรับเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ ทันทีทีเปิดร้านก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีอย่างถล่มทลายจากลูกค้าทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ แต่กับลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบกาแฟตัวจริง ร้านนี้กลับไม่ได้ตอบโจทย์อีกต่อไป ทุกวันนี้คุณหมูได้มีการฝึกฝนสร้างทีมงานที่แข็งแรงพร้อมแล้ว ทำให้ในปีนี้ Bottomless มีแผนที่จะขยายสาขาให้ได้ 8 สาขา ใน กทม. ซึ่งแต่ละสาขาจะมีการทำรูปแบบเมนูให้เข้ากับในแต่ละพื้นที่

คุณหมูยังคงคิดถึงกลุ่มลูกค้าดั้งเดิม และการชงกาแฟแบบดึงรสชาติสุด ๆ จึงจะมีการทำสาขาที่เมืองทองธานี ให้เป็นรูปแบบดั้งเดิม และจะเป็นที่ที่คุณหมูได้กลับเข้าไปเล่นในสนามเด็กเล่นของตัวเองอีกครั้ง ซึ่งในชีวิตการทำธุรกิจของคุณหมู นั้นมีแนวคิดอยู่ว่า ในสินค้านำทาง โดยการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า นั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้ารักเรา และช่วยสนับสนุนเราเสมอมา และนั่นเองทำให้เรายิ่งต้องตอบแทนลูกค้าด้วยสินค้าที่ดี ทุกสินค้าที่ออกไปหาลูกค้าจะมีแต่การทำด้วยความตั้งใจ ถ้าเราทำอะไรมุ่งมั่นและเข้าใจในสินค้าของเรา ในธุรกิจของเรา ในทุกอย่างที่เราทำเพื่อนำมาเสนอลูกค้าจริง ๆ ก็จะมีที่ให้เรายืนอยู่ทุกที่

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

Bottomless

ที่อยู่: 19/14 หมู่ 1 ถนน เลี่ยงเมืองนนทบุรี ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000

โทร: 081-951-5249

อีเมล: retail@bottomlessstore.com

เว็บไซต์: www.bottomlessstore.com

Facebook: Bottomless.es

Instagram: bottomless_es

 

บทความแนะนำ

ผงผัก Care Choice เปลี่ยน Food Waste เป็นนวัตกรรม

ผงผัก Care Choice เปลี่ยน Food Waste เป็นนวัตกรรม

Care Choice เป็นแบรนด์ลูกของ บริษัท ด.เด็กกินผัก จำกัด ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหาสินค้าเกษตรประเภทผักและผลไม้สด ทั้งผักปลอดสารเคมี (Pesticide residue free) และผักอินทรีย์ (Organic) ป้อนให้กับกลุ่มภาคอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็น โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร, ร้านอาหารทั่วไป และร้านอาหารในรูปแบบ Chain Restaurant, โรงแรม รวมไปถึงค้าปลีกอย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ มาตรฐานสินค้าของ ด.เด็กกินผักที่จัดส่ง ทำให้ในแต่ละวันมีผักสดและผลไม้ที่สด คุณภาพดีสมบูรณ์ แต่อาจจะมีตำหนิ ไม่สวยงามผ่านเกณฑ์การคัดเลือกประมาณ 20% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง  ปริมาณของผลผลิตที่ถูกคัดทิ้งนี้ คือจุดเริ่มต้นการพัฒนาสินค้านวัตกรรมอย่าง “ผักอบแห้ง” และ “ผงผัก” Care Choice ของคุณธีระวุธ ศิริทองนภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ด.เด็กกินผัก จำกัด เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งตอนแรกคู่ค้าส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยอมรับ จนเมื่อความต้องการที่จะลด Food Waste ได้มารวมกับกระแสการดูแลสุขภาพที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น 2 แรงบวกนี้เองที่ทำให้ Brand Positioning ของ Care Choice ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับจากท้องตลาดในที่สุด เบื้องหลังความสำเร็จของ Care Choice จึงมีความน่าสนใจไม่ใช่น้อย


SME One : จุดเริ่มต้นของ Care Choice เกิดขึ้นมาได้อย่างไร 

ธีระวุธ : จุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากเราทำโรงงานทางด้านผักสดที่ปลูกให้กับโรงงานอุตสาหกรรม แล้วในกระบวนการผลิตจะมีผักที่ตกค้างที่เป็นผักตกเกรดแต่คุณสมบัติยังดีอยู่ เรามาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผักที่ตกค้างอยู่ในโรงงานที่ไม่ผ่านสเปค เช่น แครอทมีข้อกำหนดเอาไว้ว่าจะต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางเท่าไหร่ หรือน้ำหนักต่อหัวเท่าไหร่ ซึ่งมีบางส่วนที่ถูกคัดทิ้ง โดยเฉลี่ยแล้วผัก 100% จะถูกคัดทิ้งเกือบ 20% ด้วยความที่มีของตกค้างมีมูลค่าเป็นล้านบาทอยู่ในโรงงานของเรา ทีมงานก็เลยมาคิดค้นเป็นผงปรุงรสจากผักที่ใช้แทนผงชูรส หรือใช้แทนผงปรุงรส แต่เป็นผงปรุงรสเพื่อสุขภาพที่ไม่มีสารเคมี โดยเอาผักที่เรามีอยู่ในโรงงานและผักพื้นบ้านมาทดลอง จนออกมาเป็นผงปรุงรสจากผักที่ใช้ชื่อแบรนด์ว่า Care Choice


SME One : จากแนวคิดพัฒนามาเป็นสินค้าผงปรุงรสได้อย่างไร

ธีระวุธ : เราได้ไอเดียมาจากประเทศญี่ปุ่นที่จะมีซุปดาชิซึ่งนิยมใช้ปรุงเป็นเครื่องปรุงประจำบ้าน ก็เลยมองว่าเราทำแบบนั้นที่เมืองไทยได้หรือไม่ จึงไปศึกษาคุณสมบัติของผักแต่ละตัวที่แตกต่างกัน ให้กลิ่นสีรสชาติที่แตกต่างกัน และก็พบว่าพวกหอมหัวใหญ่ ผักชี เห็ดหอม ซึ่งเป็นผักที่หาได้ตามบ้านเรา เมื่อเอามาผ่านกระบวนการผลิตต่างๆ และนำไปปรุงรสจะให้รสชาติที่กลมกล่อม เหมือนรสชาติซุปดาชิของญี่ปุ่น ก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนสุดท้ายลูกค้าบอกว่ารสชาติแบบนี้อร่อยลงตัวพอดี จึงตั้งต้นแล้วทำออกมาเป็นแบรนด์ ตอนแรกชื่อว่าแบรนด์ Carrot แต่คำว่า rot แปลว่าของเสียหรือขยะไม่ดีก็เลยเปลี่ยนแบรนด์มาชื่อว่า Care Choice เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของผงปรุงรสจากผักเพื่อสุขภาพที่ใช้ผักปลอดสารมาเป็นวัตถุดิบ 


SME One : ตอนที่เริ่มพัฒนาเทรนด์เรื่องอาหารสุขภาพมาแรงเหมือนในปัจจุบันหรือไม่ หรือพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ Food Waste เท่านั้น

ธีระวุธ : สมัยนั้นเมืองไทยยังไม่ค่อยพูดถึงอาหารสุขภาพ คำว่าคลีนยังไม่ค่อยมีคนใช้กัน แต่ในเอเชีย ตะวันออก เช่น ออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่น หรือทางยุโรป อเมริกา อาหารคลีนหรือผงปรุงรสเพื่อสุขภาพเขามีเป็น Section ใหญ่ แต่บ้านเรายังไม่เป็นเทรนด์ ตอนแผนกจัดซื้อของห้างแต่ละห้างยังไม่ยอมรับสินค้าเรา บางคนหยิบไปโยนถังขยะเลยหลังจากที่เราเดินออกมา บอกว่าไม่มีศักยภาพ อันนั้นคือสิ่งที่เราเจอมาก่อนในตอนที่เราเอาสินค้าที่ชื่อว่า Carrot ไปนำเสนอห้าง ตอนนั้นยังไม่มีกระแสอาหารสุขภาพนี้เลย ทุกคนปฏิเสธสินค้าเราเกือบทุกที่ แต่สุดท้ายก็ไปเจอที่ Top Supermarket ที่เปิดโอกาสให้เราเอา Care Choice ไปวางขายก็เลยเป็นแบรนด์ผงปรุงรสเพื่อสุขภาพแรกๆ ที่ได้วางขายคู่กับผงชูรส ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น

SME One : ช่วงแรกที่ทั้งคนซื้อ และร้านค้าไม่ยอมรับ มีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร

ธีระวุธ : เราเน้นออกงานแสดงสินค้าที่เราได้สิทธิประโยชน์จากทางภาครัฐ เพื่อที่จะให้คนได้เห็นและได้ทดลองใช้ เราเชื่อว่ายังมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่ยังสนใจ เราพบว่าเริ่มต้นตอนนั้นคนที่สนใจจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะกลุ่มนี้เขาจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เราก็เห็นว่ามันมีศักยภาพสำหรับคนกลุ่มนี้ แล้วเราก็ใช้สื่อออนไลน์ช่วยกระจายแบรนด์ให้คนรู้จัก ก็ใช้ควบคู่กันไป ยอมรับว่าสมัยนั้นสื่อดิจิทัลเราก็ยังไม่ได้มีความรู้มาก จึงต้องอาศัยงานแสดงสินค้าที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้เราเข้าไปแนะนำ พอเราเข้า Top Supermarket ได้ เราก็เลยเอาตรงนั้นเป็น Reference ให้เราไปนำเสนอกับห้างอื่นๆ เช่นเดอะมอลล์หรืออะไรต่างๆ จนมาตรงกลุ่มที่สุดตอนเลมอนฟาร์มเปิดโอกาสให้เราเอาสินค้าไปวางขาย เลมอนฟาร์มเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ตรงกลุ่มมาก คือเป็นกลุ่มผู้รักสุขภาพ หลังจากนั้นเราก็พยายามพัฒนาสูตรใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และลงทุนไปออกงานแสดงสินค้า Thaifex เราทำหลายอย่างมาก คนก็เริ่มเห็นมากขึ้นๆ เป็นการสร้าง Awareness ให้กับตลาดให้กับลูกค้า เราใช้เวลาหลายปีมาก แล้วเวลาที่มีเวทีในการประกวด เราก็นำสินค้าของเราไปประกวดด้วย เพราะเป็นช่องทางในการที่เราจะได้คำแนะนำจากทางกรรมการเพื่อกลับมาพัฒนาปรับปรุงสินค้าของเรา ตอนนั้นประกวดของสสว. ได้รางวัล SME Provincial Champions ของจังหวัด ได้ 2-3 ปีติดต่อกัน จากนั้นก็ไปเวที 7 Innovation Awards ไปเวที Prime Minister Awards

SME One : ลูกค้าของ Care Choice ปัจจุบันคือผู้บริโภคทั่วไป หรือกลุ่มธุรกิจ HORECA

ธีระวุธ : Care Choice ขยายไปถึงโรงงานอุตสาหกรรม ตอนแรกเราเริ่มจากผู้สูงอายุก่อน จากนั้นก็มีการรีแบรนด์ให้ดูทันสมัยขึ้น ประกอบกับช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เมืองไทยก็มีกระแสการทำอาหารคลีน อาหารสุขภาพ อาหารโซเดียมต่ำ น้ำตาลต่ำ มีการกินคีโต ทำให้สินค้าของเราก็ได้ไปอยู่ในกลุ่มกระแสที่ดูแลสุขภาพด้วย พอคนค้นหาใน Google เกี่ยวกับเครื่องปรุงที่ไม่ใส่ผงชูรส Care Choice จะขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ คนก็เริ่มนำสินค้าของเราไปทดลองในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ช่วงแรกๆ ที่ติดต่อเรามาจะเป็นกลุ่มที่ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศจะต้องการเครื่องปรุงที่ไม่ใช้สารเคมี ไม่มีผงชูรส ก็เลยเข้าทางผงปรุงรสของเรา เราก็เลยเริ่มเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร แล้วก็เริ่มมีร้านอาหารต่างๆ เช่น Narai Pizzaria ก็มีการนำสินค้าเราไปทดลอง  Care Choice ก็เลยทำตลาดทั้ง HORECA (ธุรกิจโรงแรม Hotel, ร้านอาหาร Restaurant, กาแฟและธุรกิจจัดเลี้ยง Café and Catering) และ กลุ่มผู้บริโภคทั่วไป (End User) รวมถึงทำ OEM (Original Equipment Manufacturer) ก็ทำด้วย ตอนนี้ Care Choice ก็เริ่มส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน คือ กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว สิงคโปร์ มาเลเซีย ร้านออนไลน์หรือร้านเพื่อสุขภาพ หรือซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นของเขาก็เริ่มเอาสินค้าเราไปวางขาย

SME One : ปัจจุบัน Care Choice มีกี่รสชาติ

ธีระวุธ : ถ้าเป็นผงปรุงรส เรามีเกือบ 20 รสชาติ รสชาติแรก คือสูตรดั้งเดิมที่เป็นผงปรุงรสจากผักสูตร ง่ายๆ คือมาจากผักที่ตกค้างอยู่ในโรงงานของเรา อย่างเช่น หอมหัวใหญ่ หัวไชเท้า ส่วนรสชาติใหม่ๆ จะเกิดจากความต้องการของลูกค้า เช่น สูตรเห็ดหอมที่ไม่มีหอมหัวใหญ่สำหรับคนกินเจ หลังจากนั้นก็พัฒนาโดยดูจากตลาดว่าผงปรุงรสรสชาติอะไรที่เข้ากับการทำอาหารของคนไทย เช่น สูตรที่เหมาะสำหรับผัดก็มีกระเทียมเข้ามา ปัจจุบันก็พัฒนาเป็นสูตรปรุงสำเร็จ อย่างเช่น แกงเผ็ด ผัดกะเพรา ต้มยำ ต้มข่าไก่ ฯลฯ เป็นกลุ่มใหม่ที่เราเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 

ส่วนกลุ่มเด็กก็จะเป็นอีกไลน์สินค้าที่เราแตกย่อยออกมา เราก็มองว่าสินค้าอาหารเสริมของเด็กในตลาดมีศักยภาพ แล้วโรงงานของเราก็มีศักยภาพในการที่จะผลิตด้วย เนื่องจากเราเป็นผู้พัฒนาผงปรุงรสสำหรับเด็ก 1 ขวบขึ้นไปเป็นเจ้าแรกของประเทศ เรามองว่าคุณแม่ใช้ผงปรุงรสของเราเยอะมาก เราสังเกตว่าทำไมโปรไฟล์คุณแม่เยอะมากในการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ก็เลยมาคิดกันว่าเราน่าจะพัฒนาเป็นสูตรเฉพาะสำหรับเด็กที่กินยาก โดยเพิ่มความหอม รสอูมามิเข้าไป เพิ่มสาหร่ายเข้าไป เพื่อให้เด็กกินเข้าไปแล้วรู้สึกว่าถูกลิ้นกับเขา 

พอเรามีผงปรุงรสสำหรับเด็กเป็นเจ้าแรก ไลน์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหารเสริมสำหรับเด็กก็ตามมาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเรามีผงผักมีวัตถุดิบครบอยู่แล้ว เราก็ลองเทสตลาดดู ปรากฏว่ามันไปได้ดีมาก เราก็เลยพัฒนาไลน์ทางด้านอาหารเสริมสำหรับเด็ก ซึ่งปัจจุบันเรามีสินค้าเกือบ 80 SKUs ที่เกี่ยวกับสินค้าสำหรับเด็ก สินค้ากลุ่มนี้จะมีเป็นผงโรยข้าวพร้อมทาน เช่น ผงผักบดละเอียด แครอท หรือฟักทองที่คุณแม่สามารถโรยข้าวเสริมอาหารให้กับน้อง และก็จะเป็นกลุ่มธัญพืช Super Food เช่น งา คีนัวบดละเอียด เด็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปสามารถทานได้ แล้วก็จะมีกลุ่มเนื้อสัตว์ ตับไก่บดผง เรามีการแบ่ง Category มาเป็นผัก ธัญพืช เครื่องปรุง เนื้อสัตว์บดผง แล้วก็มีโจ๊กสำหรับเด็ก 6 เดือนขึ้นไป วางขายประมาณ 20 รสชาติ สินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์เราเพิ่งจะมาพัฒนาหลังจากที่เราเริ่มมาเปิดไลน์พัฒนาอาหารเสริมสำหรับเด็ก

SME One : สัดส่วนการขายสินค้าใหม่ กับผักสดตอนนี้เป็นอย่างไร

ธีระวุธ : ตอนนี้ผักสดทำรายได้ประมาณ 20% ผงปรุงรสกลายมาเป็นสินค้าตัวหลักของเราประมาณ 50% และ 30% ที่เหลือจะมาจากอาหารเสริมสำหรับเด็ก ธุรกิจทั้ง 3 ส่วนยังมีการเติบโตทุกปี แต่จะโตจากผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่เรานำเสนอออกไปให้กับผู้บริโภคคือกลุ่มแม่และเด็กมากหน่อย

SME One : ช่วงพัฒนาสินค้ามีไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่

ธีระวุธ : เรามีการไปขอทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น สูตรผงปรุงสำเร็จ เราก็ได้งบมาจากภาครัฐ โดยได้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเข้ามาช่วยทำ R&D ให้ พอเราเริ่มทำได้ เราก็เลยมาต่อยอดธุรกิจของเราเอง 

SME One : ที่ผ่านมามีสินค้าออกใหม่ที่คิดว่าจะขายดี แต่ขายไม่ได้บ้างหรือไม่

ธีระวุธ : มีสินค้าบางตัวเราคิดว่าน่าจะไปได้แต่มันก็ไปไม่ได้ ส่วนใหญ่เรามักจะมองว่าสินค้าที่เป็นเทรนด์แรงๆ เช่น คีโตอะไรแบบนี้ อะไรที่เป็นกระแสไม่ยั่งยืน สุดท้ายมันก็ไปไม่ได้นาน เช่น ผงปรุงรสคีโตอะไรแบบนี้ ซึ่งมันมาแรงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้กลายเป็นว่าคีโตยอดตกระนาว ไม่เหมือนเมื่อก่อนเลย เพราะคนก็คงไม่สามารถทานคีโตได้ทุกวัน ต้นทุนในการทำมันก็สูง แล้วราคาก็แพงมาก กลายเป็นว่าพอเราออกสินค้าที่เป็นคีโตไป มันก็ไปได้แป๊บเดียว แล้วก็ไม่ได้สร้างยอดขายให้กับเรา เราก็เลยมองว่ามันไม่ใช่แนวเรา เราควรจะเน้น Healthy ไปเลย ไม่ใช่แค่เรื่องอยากผอม

SME One : จากนี้ต่อไปมีแผนจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร

ธีระวุธ : พอเราไปออกงาน Thaifex เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็เห็นแล้วว่าโอกาสในการเปิดตลาดต่างประเทศค่อนข้างสูง ลูกค้าต่างประเทศที่เข้ามาค่อนข้างเยอะมาก แต่ก็ต้องบอกว่าเรายังไม่มีความพร้อมในการส่งออก เช่น เรื่องของมาตรฐานในทางตลาด แต่เราเห็นดีมานด์ เห็นความต้องการของตลาดที่จะไปทางอเมริกายุโรป หรือแม้แต่ฝั่งเอเชียบ้านเราก็มีความต้องการสินค้ากลุ่มพวกนี้ค่อนข้างสูง 

ปีนี้ก็คงจะเป็นปีที่ต้องพัฒนาทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Packaging มาตรฐานอุตสาหกรรม ที่เราจะต้องสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ แล้วก็ในเรื่องของ Marketing Communication ทั้งหมด ตอนนี้เว็บไซต์ก็เริ่มแปลเป็น 2 ภาษา เริ่มทำระบบหลังบ้านเป็นภาษาอังกฤษแล้ว เพื่อจะเตรียมตัวสำหรับปีหน้าในการออกต่างประเทศจริงๆ แล้วก็ไปออกงานต่างประเทศด้วย งาน Thaifex ในปีหน้าเราก็คาดหวังว่าบูธของเราจะเป็น 2 ภาษาอย่างเต็มรูปแบบ Packaging ก็จะต้องเป็น 2 ภาษาอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อจะเตรียมตัวสำหรับไปต่างประเทศ 

SME One : ช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา Care Choice ได้รับผลกระทบบ้างหรือไม่

ธีระวุธ : COVID-19 ทำให้ยอดขายต่อปีเราขึ้น เพราะว่าคนมี Awareness ในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น ผู้บริโภคต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น คนก็ Work from home เยอะ เรียกว่าวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป และช่องทางออนไลน์ก็โตขึ้น เพราะว่าคนไม่สามารถไปช้อปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ อย่างเช่น จังหวัดชลบุรีหลายพื้นที่เป็นพื้นที่สีแดงหมดเลย ปรากฏว่าลูกค้าที่ชลบุรีสั่งออนไลน์เราหมดเลย ยอดออนไลน์เราก็โตขึ้นมาก รายได้ของเราก็เลยเติบโตขึ้นสวนกระแส 

SME One : อะไรคือความท้าทายของ Care Choice 

ธีระวุธ : ความท้าทายตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องการตลาด เพราะคู่แข่งเข้ามาเยอะมากๆ บริษัทขนาดใหญ่ก็เริ่มทำผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วก็นำเข้าไปวางขายข้างเรา ตอนนี้เราจึงต้องพัฒนาตัวเองค่อนข้างเยอะมาก เพราะบริษัทใหญ่ๆ ถ้าเขามีช่องที่จะทำ ถ้าเขาเห็นว่าในตลาดสินค้าตัวนี้ไปได้ เขาก็ลงมาเล่น เราก็ต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ แต่จุดเด่นของเรา คือเราสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าตัวใหญ่ๆ อันนี้ก็จะเป็นความท้าทายในเรื่องของคู่แข่งตัวใหญ่ที่เริ่มลงมาเล่น

ส่วนคู่แข่งที่เป็น SMEs ด้วยกัน พอเขาเห็นแล้วว่าสินค้าตัวนี้ไปได้ ตอนนี้ก็จะเห็นเยอะมากแบรนด์ต่างๆ ที่เป็นผงปรุงรสจากผัก ผงปรุงรสลดโซเดียม ตอนนี้ก็เต็มตลาด ความท้าทายของเราตอนนี้ก็เลยเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ๆ ออกมา ไม่อย่างนั้นเราก็จะโดนเลียนแบบสินค้าตัวเก่าๆ ไป เราก็เลยต้องออกใหม่เรื่อยๆ แตกไลน์สินค้าไปเรื่อยๆ 

SME One : อยากให้ฝากคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ SMEs

ธีระวุธ : มองว่าการทำธุรกิจตอนนี้อย่าคิดง่ายๆ สิ่งที่เจอตอนนี้มีนักธุรกิจเยอะมากที่คิดกันง่ายๆ คิดว่าอยากจะสร้างแบรนด์ แล้วทำกันขึ้นมาโดยที่ไม่มีการวางแผน ไม่มีการวิเคราะห์ตลาดที่ดีพอ สุดท้ายก็เลยไปกันไม่รอด ฉะนั้นมองว่าการทำความเข้าใจลูกค้า ตีโจทย์ตลาดให้แตกก่อนเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากๆ ตรงนี้เราได้ประสบการณ์ตรงมาจากลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาเพื่อที่จะทำ OEM คือการที่เราจะทำแบรนด์ หรือให้คำแนะนำกับใคร เราจะถามว่ากลุ่มลูกค้าของคุณคือใคร ต้องการผลิตภัณฑ์อะไร ตอบโจทย์อะไร ซึ่งคนที่ติดต่อเข้ามาประมาณ 80-90% ตอบไม่ได้ เขาแค่รู้ว่าคนขายเยอะมาก ก็เลยอยากจะขาย ดังนั้นต้องตีความต้องการของลูกค้าให้แตก ต้องศึกษาเรื่องตลาดให้ถ่องแท้ ก่อนที่จะลงทุนทำแบรนด์ขึ้นมา เพราะมันมีไม่กี่รายที่จะรอด  เรื่องสุดท้ายจะต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเองด้วย บางคนเจออุปสรรคขายไม่ได้ ก็หยุดเลย แต่คนที่ทำ OEM กับเราแล้วไปรอด เขาพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ เขาก็จะมีโจทย์ใหม่ๆ มาให้เราช่วยคิดช่วยพัฒนาอะไรแบบนี้

บทสรุป

ความสำเร็จของ Care Choice ล้วนมาจากการที่ไม่หยุดพัฒนา และไม่ยอมแพ้กับความท้าทายหรืออุปสรรคที่มันเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่สินค้ายังไม่ได้รับการยอมรับจากท้องตลาด แม้ว่าสินค้าจะมีนวัตกรรมที่สามารถยกระดับจากสินค้า Commodity ทั่วไปซึ่งแทนที่จะหยุดอยู่เพียงแค่นั้น คุณธีระวุธเลือกที่จะสร้างโอกาสด้วยการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการ และมองหาโอกาสใหม่ๆ ตลอดเวลา จนสามารถเดินไปเจอลูกค้าที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ที่มั่นใจในตัวแบรนด์ได้ในที่สุด

 

บทความแนะนำ