3 ตัวช่วยเอสเอ็มอีเรื่องกฎหมายสำหรับธุรกิจโรงแรม

หัวข้อ : เจาะ 3 ตัวช่วยเรื่องกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม SME
อ่านเพิ่มเติม :https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/hotel-law1

 

สำหรับธุรกิจบูทีคโฮเต็ล เกสต์เฮ้าส์ โฮสเทล รีสอร์ท โฮมสเตย์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ฯลฯ ที่ดำเนินธุรกิจโดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กนั้น มีข้อกฎหมายสำคัญอะไรที่ควรรู้บ้าง มาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันได้เลย

 

ทำความรู้จักกฎหมายเกี่ยวกับโรงแรม

  • พรบ. โรงแรม ได้ระบุไว้ว่า โรงแรมคือ สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นโดยมีค่าตอบแทน โดยคิดค่าบริการต่ำกว่ารายเดือน 
  • การให้บริการที่พักไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด หากมีการคิดค่าบริการต่ำกว่ารายเดือน ล้วนแต่อยู่ภายใต้พรบ. โรงแรมฉบับนี้ทั้งสิ้น และต้องได้รับการอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
  • ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมจากนายทะเบียนโรงแรม ได้แก่ อธิบดีกรมการปกครองหากโรงแรมตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่จังหวังต่างๆ หากไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท (ม.59)

สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ยังมีที่พักประเภทหนึ่งที่สามารถขอยกเว้นใบขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ ซึ่งก็คือสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม


สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม

คือ สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกิน 4 ห้องและมีจำนวนผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน โดยเปิดให้พักเพื่อเป็นรายได้เสริม ซึ่งผู้ประกอบการลักษณะนี้ที่มีผู้ประกอบการที่มีรายได้หลักสามารถไปติดต่อนายทะเบียนแจ้งขอเป็น “สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม” ก็สามารถประกอบกิจการได้โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

สิทธิในการประกอบธุรกิจนี้จะติดตัวคนแจ้งไปตลอดไม่มีวันหมดอายุ ตัวอย่างการขออนุญาตลักษณะนี้ เช่น โฮสเทลขนาดเล็กในกรุงเทพฯ ที่ใช้พื้นที่ส่วนล่างขายของ โดยแจ้งการขายของเป็นรายได้หลัก บริการที่พักเป็นรายได้เสริม เป็นต้น


ธุรกิจโรงแรมและพรบ.ควบคุมอาคาร และพรบ.ผังเมือง

ธุรกิจโรงแรมยังเกี่ยวข้องกับพรบ.ควบคุมอาคารและพรบ.ผังเมืองอีกด้วย โดยเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522  3 มาตรา ได้แก่

  • มาตรา 21 : ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ
  • มาตรา 32 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยยังไม่ได้รับใบรับรองก่อสร้างอาคาร หรือใบอ.6 ซึ่งโรงแรมก็เป็นหนึ่งในอาคารประเภทควบคุมการใช้ เมื่อก่อสร้าง/ดัดแปลงเสร็จต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจรับรองการก่อสร้าง/ดัดแปลง ออกใบอ.6 ก่อนเปิดการใช้อาคาร
  • มาตรา 33  ห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งไม่เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ ใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารดังกล่าวเพื่อกิจการตามมาตรา 32  (เช่นโรงแรม) เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เรียกว่าใบอ.5 และบังคับแก่การเปลี่ยนการใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้ด้วย

สรุปคือ

  • ถ้าสร้างอาคาร/ดัดแปลงอาคารใหม่ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อออกใบอ.6 ก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจ - ถ้ามีอาคารเดิมอยู่แล้ว แต่ไม่เคยใช้เป็นโรงแรม ต้องแจ้งขอใบอ. 5 เพื่อเปลี่ยนการใช้งานมาประกอบธุรกิจโรงแรม
  • ใบอ.5/อ.6 นี้ เป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม
  • ถ้าฝ่าฝืนพ.ร.บ.ควบคุมอาคารทั้ง 3 มาตรานี้ ก็มีโทษอาญาปรับ/จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ

7 ขั้นตอนสู่การได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

  1. กรรมสิทธิ์ในที่ดิน : ต้องมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใช้พื้นที่ โดยมีเอกสารเช่น โฉนดที่ดิน, หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๑), แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) และหนังสือยินยอมให้ก่อสร้าง/ใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นต้น
  2. ตรวจสอบผังเมืองและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการห้ามก่อสร้างโรงแรม ในพื้นที่ที่จะประกอบกิจการ : ขณะนี้มีคำสั่ง คสช. ที่ 6/2562 เป็นตัวช่วยสำหรับอาคารเก่าที่มีอยู่ก่อน19 สิงหาคม 2559 ไม่ถูกบังคับใช้กฎหมายผังเมืองใดๆ ซึ่งตัวช่วยนี้จะสิ้นสุด 18 สิงหาคม 2564
  3. ตรวจสอบกฎหมายสิ่งแวดล้อม ว่าเข้าข่ายต้อทำ EIA หรือ IEE ก่อนการขอนุญาตอื่น ๆ หรือไม่
  4. พิจารณาสถานที่ตั้งตาม พ.ร.บ.โรงแรม
  5. ดำเนินการติดต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบอ.1 อนุญาตให้ดัดแปลงอาคาร
  6. เจ้าพนักงานท้องถิ่นมาตรวจสอบอาคาร : ถ้าระบุในใบอ.1 ระบุว่าเป็นอาคารประเภทโรงแรม เมื่อดัดแปลงเสร็จแล้วติดต่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมาตรวจสอบอาคาร ออกใบอ.6 / ถ้าใบอ.1 ระบุเป็นอาคารประเภทอื่นที่ไม่ใช่โรงแรม ติดต่อพนักงานท้องถิ่น ออกใบอ.5 อนุญาตให้เปลี่ยนการใช้เป็นอาคารโรงแรม
  7. นำใบอ.5 หรือใบอ. 6 ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

สองกฎหมายตัวช่วยโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก

- ตั้งแต่ 12 มิถุนายน 2562 – 18 สิงหาคม 2564 อนุญาตให้นำอาคารเก่าที่มีอยู่ก่อน 19 สิงหาคม 2559 (ใช้เอกสารที่ออกโดยราชการเช่นทะเบียนบ้าน ใบเสร็จค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ เป็นหลักฐาน) เปลี่ยนมาประกอบธุรกิจโรงแรมประเภทที่ 1 (บริการเฉพาะห้องพัก) หรือประเภทที่ 2 (บริการห้องพักและห้องอาหาร) อย่างถูกกฎหมาย สามารถใช้ละเว้นจากการบังคับของพ.ร.บ.ผังเมืองทุกฉบับ

- ผู้ประกอบการควรตรวจดูอาคารและปรับปรุงความปลอดภัยด้านอัคคีภัยให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 57 (พ.ศ. 2540) และติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 200 เมตร ทุกระยะไม่เกิน 30 เมตร แต่ไม่น้อยกว่า 2 เครื่อง และไปยื่นเอกสารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมาตรวจสอบและออกใบเว้นโทษจนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2564

 


Published on 21 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

3 เรื่องภาษีน่ารู้สำหรับคนทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

หัวข้อ : 3 เรื่องภาษีน่ารู้สำหรับคนทำธุรกิจ E-Commerce
อ่านเพิ่มเติม : https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/tax-tips-e-commerce.html

ทุกวันนี้ผู้ประกอบการในหลาย ๆ ธุรกิจหันมาเปิดบริการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น สำหรับคนที่กำลังทำหรือสนใจที่จะทำธุรกิจแบบอีคอมเมิร์ซ มักจะมีข้อสงสัยในเรื่องราวเกี่ยวกับภาษีมากมาย ว่าต้องเสียแบบไหนและอย่างไรบ้าง สามารถแยกเรื่องของการเสียภาษีออกเป็นคำถาม 3 ข้อดังนี้

 

1. รายได้จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องเสียภาษีหรือไม่?

คำตอบคือ ต้องเสียแน่นอน (ข้อกฎหมายเพิ่มเติม : มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฏากร)

 

2. จะต้องเสียภาษีประเภทไหนและอย่างไรบ้าง?

ประเภทของภาษีที่ต้องเสียนั้นให้ตรวจสอบจากรูปแบบของธุรกิจและรายได้ที่ได้รับ

รูปแบบธุรกิจ

หมายถึง ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเรานั้นอยู่ในรูปแบบของ บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล

บุคคลธรรมดา จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามการคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ และเงินได้พึงประเมิน ตามวิธีการดังต่อไปนี้

  1. รายได้ : ถือเป็นเงินได้จากการขายสินค้าและบริการ (เงินได้ประเภทที่ 8)
  2. ค่าใช้จ่าย : สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ในอัตราเหมาและหักตามค่าใช้จ่ายจริง โดยขึ้นอยู่กับอัตราค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนดของธุรกิจแต่ละประเภท
  3. ค่าลดหย่อน : สามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนตามกฎหมายได้ เช่น คู่สมรส บุตร ประกันชีวิต LTF RMF ฯลฯ
  4. คำนวณภาษี : ด้วยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบก้าวหน้า

วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน

  • ในกรณีเราที่มีเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินเดือนจำนวนมากกว่า 60,000 บาท ให้นำยอดเงินได้คูณด้วย 0.005 และ
  • ถ้าภาษีที่คำนวณได้ตามวีธีนี้ มีจำนวนไม่เกิน 5,000 บาท ได้รับยกเว้นภาษี 
  • ถ้าคำนวณได้ภาษีเกินกว่า 5,000 บาท ให้เปรียบเทียบต่อว่า ภาษีที่คำนวณได้จากทั้งสองวิธีนั้น วิธีไหนได้จำนวนภาษีสูงกว่า ให้เลือกเสียตามวิธีนั้น

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เงินได้สุทธิ

0 - 300,000 ร้อยละ 5*

300,001 - 500,000 ร้อยละ 10

500,001 - 750,000 ร้อยละ 15

750,001 - 1,000,000 ร้อยละ 20

1,000,001 - 2,000,000 ร้อยละ 25

2,000,000 - 5,000,000 ร้อยละ 30

เกิน 5,000,000 ร้อยละ 35

นิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท ที่จดทะเบียนในประเทศไทย) จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยคำนวณตามเกณฑ์ที่เรียกว่า “กำไรสุทธิตามกฎหมายภาษีอากร” (ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฏากร) ซึ่งสำหรับการเลือกเสียภาษีตามรูปแบบนี้นั้น จะมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนในการคำนวณกำไรสุทธิ แนะนำให้หาผู้เชี่ยวชาญทางด้านบัญชีเป็นผู้ดูแลจะสะดวกกว่า

อัตราภาษีกิจการ SMEs

  • พ.ร.ฎ. 530 ยกเว้นและลดอัตราภาษี
  • ม. 4 และ ม. 6 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
  • พ.ร.ฎ. 603 การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีก าไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท ขึ้นไป จากเดิม 15% และ 20% ของกำไรสุทธิ เป็น 10% ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. 2558 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธ.ค. 2559


 

อัตราภาษีกิจการ SMEs (จดแจ้ง พรก.)

  • พ.ร.ฎ. 595 บริษัทจัดตั้งขึ้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 59 ได้จดแจ้งตาม พ.ร.ก. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่1 ม.ค. 59 แต่ไม่เกินวันที่31 ธ.ค. 59ให้ลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท ขึ้นไป เป็น 10% ของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่ม ในหรือหลังวันที่1 ม.ค. 60 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค. 60

รายได้

คือ จำนวนของรายได้ เพราะมีภาษีอีกประเภทหนึ่งที่ต้องเสียนอกจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นั่นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยเมื่อไรก็ตามที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเรามีรายได้เกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนเป็น ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงมีหน้าที่จัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมชำระภาษีอีกด้วย

 

3. ไม่เสียภาษีได้ไหม

หากไม่เสียภาษี จะถือว่าธุรกิจของเราทำผิดกฎหมาย และต้องมีการรับโทษ โดยการเสียค่าปรับและดอกเบี้ย ที่เรียกว่า “เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม” ที่จะต้องเสียในอัตราแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของภาษี

 



Published on 21 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

5 วิธีลดต้นทุนที่ช่วยให้ธุรกิจผ่านวิกฤต

หัวข้อ : 5 วิธีลดต้นทุนที่ช่วยให้ธุรกิจผ่านวิกฤติได้ทุกครั้ง
อ่านเพิ่มเติม : www.bangkokbanksme.com/en/how-to-reduce-costs-that-help-businesses-through-crisis

หลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตต่างๆ อย่างเช่น COVID-19 แม้ธุรกิจจะเริ่มฟื้นคืนกลับมา แต่การบริหารต้นทุนที่เท่าเดิมอาจไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป เพราะพฤติกรรมการใช้จ่ายและความต้องการของคนไม่เท่าเดิม ผู้ประกอบการจึงควรหาวิธีลดต้นทุนการผลิต ให้เหมาะสมกับสถานการณ์แบบนี้ และนี่คือ 5 วิธีที่ช่วยให้บริหารจัดการธุรกิจดีขึ้นกว่าเดิม

 

  1. ใช้สินค้ามือสองบ้าง

การใช้สินค้ามือ 2 สำหรับธุรกิจแล้วนับเป็นการลดต้นทุนที่ดีมาก ซึ่งในบางอุตสาหกรรมหรือบางธุรกิจเราไม่จำเป็นต้องใช้สินค้ามือ 1 อย่างเดียวเสมอไป ซึ่งอาจทำให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากกว่า 30-40% สุดท้ายยิ่งประหยัดต้นทุนได้มากเท่าไหร่ ยิ่งหมายถึงกำไรที่เพิ่มมากขึ้น

 

  1. พยายามทำเองก่อนจ้างคนอื่น

ถึงแม้ว่ายิ่งมีคนช่วยมากยิ่งแบ่งเบาภาระคุณได้ก็จริง แต่หากอยากลดต้นทุนต้องลงมือทำด้วยตัวเองให้มากที่สุดก่อน ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแล้วยังช่วยเพิ่มทักษะของเราได้อีกด้วย เช่น เรื่องของการตลาดออนไลน์ คุณสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องจ้างคนอื่น

 

  1. เปลี่ยนสถานที่ทำงานถ้าจำเป็นจริง ๆ

หากออฟฟิศของคุณมีค่าเช่าที่แพง การย้ายออฟฟิศเป็นการลดต้นทุนต่อเดือนได้หลายพันบาท แม้จะดูเป็นเรื่องใหญ่ แต่หากทำเลของคุณมันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ คุณอาจคุยกับทีมให้ดี เพื่อหาสถานที่ที่เป็นจุดศูนย์กลาง หรือสะดวกกับทุกฝ่าย มันจะช่วยประหยัดได้มากกว่าเดิมแน่นอน

 

  1. ลงทุนกับเทคโนโลยีดีที่สุด

หลายคนจะไม่กล้าที่จะซื้อเทคโนโลยีมาใช้งาน เพราะรู้สึกว่าราคาสูง แต่หากเทคโนโลยีนั้นสามารถตอบสนองแทนคนได้เป็นอย่างดี ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับทีมหรือคุณได้ ก็ควรค่าแก่การลงทุน เทคโนโลยีสมัยนี้มีให้เลือกใช้งานได้ในราคาถูกมากกว่าที่คุณคิด

 

  1. อย่าให้พนักงานลาออกบ่อย ๆ

หลายคนอาจมองว่าการลาออกเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ แต่นั่นหมายถึงต้นทุนของคุณจะเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่รู้ตัว เช่น

  • ต้องมองหาคนใหม่และต้องใช้เวลาในการสอนงาน 
  • อาจมีต้นทุนจากการทำงานพลาด
  • ถ้าบริษัทมียูนิฟอร์มก็อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายตรงนั้นด้วย 
  • มีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่พนักงานคนอื่นจะทำงานตัวเอง แต่ต้องสละเวลามาสอนพนักงานใหม่

 

 

Published on 21 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

3 ข้อที่ต้องทำ ถ้าจะปรับธุรกิจขึ้นออนไลน์

หัวข้อ : 3 ข้อที่ต้องทำ ถ้าจะปรับธุรกิจขึ้นออนไลน์
อ่านเพิ่มเติม :www.smebiznews.com/2020/3-ข้อที่ต้องปรับ

 

ผู้ประกอบการที่มีเคยมีหน้าร้าน แต่ตอนนี้ปิดไปแล้ว หรือผู้ประกอบการที่กำลังสนใจปรับธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ โดยอยากจะเริ่มต้นทำออนไลน์บ้าง จะต้องเริ่มอย่างไร เรามี 3 แง่คิดดี ๆ มาฝากให้เป็นไอเดีย

 

1. ทัศนคติในการทำออนไลน์ 

- เปิดพื้นที่ส่วนตัวเป็นสาธารณะ เรื่องแรกที่ต้องปรับจูนก็คือ ทัศนคติเกี่ยวกับการเปิดเผยตัวตน ลองเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณชนเพิ่มมากขึ้น เปิดรับเพื่อนใหม่ที่อาจไม่เคยรู้จักมาก่อน

- ไม่รอลูกค้าทักเข้ามาซื้อเหมือนออฟไลน์ ต้องทำเชิงรุก เช่น หากเราโพสต์ข้อมูลสินค้าหรือบริการเราลงไปในสื่อโซเชียลแล้ว หากมีคนกดไลก์ ลองเข้าไปทักทายพูดคุย ไม่ต้องรอให้คนทักมาถามราคา

- ตอบไวรวดเร็ว หรือใช้แชทบอท หรือตั้งค่าตอบอัตโนมัติ เพราะตอบช้าแค่ไม่กี่นาที หรือข้ามไปเป็นวัน ๆ ว่าที่ลูกค้าอาจหายไปซื้อกับคนอื่นหมด

- มีการเชื่อมการทำงานระหว่างโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มอื่น ๆ

- ทำงานหนักกว่าออฟไลน์ เช่น เพิ่มเพื่อน ทำโพสต์ ส่งข้อมูล ปิดการขาย

- ลงทุนบ้าง เช่น ถ้าต้องการหาลูกค้าใหม่ ๆ เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย ก็ต้องมีงบประมาณในการซื้อโฆษณาเฟซบุ๊ค

- กฎของจำนวน มีความถี่ ความต่อเนื่อง ทำทุกวัน

 

2. จะเลือกใช้โซเชียลมีเดียแบบไหนดี?

ก่อนจะเลือกใช้ต้องทำความรู้จัก เรียนรู้วิธีใช้งานแต่ละชนิด ซึ่งแต่ะละแพลตฟอร์มก็เหมาะกับประเภทธุรกิจที่แตกต่างไป ขึ้นอยู่ประเภทธุรกิจของคุณ และไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องใช้กี่แพลตฟอร์ม แต่ละโซเชียลมีเดียก็มีจุดเด่นต่างกัน จะใช้หลายโซเชียลมีเดียเพื่อกระจายความเสี่ยงก็ได้ ในบ้านเราที่เป็นที่นิยมในการทำธุรกิจออนไลน์ก็คือโซเชียลมีเดียเหล่านี้

 

3. ทักษะที่ต้องเรียนรู้เพื่อทำธุรกิจออนไลน์

มีหลายเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องฝึก เรียนรู้ในการทำ หรือถ้ามีงบมาก ๆ สามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยทำให้ก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าให้ดีหากธุรกิจไม่ได้ใหญ่มากหรือมีสินค้าหลากหลาย เจ้าของธุรกิจมาลงมือเรียนรู้ทำเอง หรือไปเข้าคอร์สเรียนเพื่อจะได้ทำเองก็จะยิ่งดี

เรื่องที่ควรรู้เพื่อทำเองเป็น

  • ฝึกการใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น แอปแต่งรูป แอพปรับขยายขนาดรูป
  • ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อด้วยแอป
  • เรียนรู้การใช้งานโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
  • การนำโซเชียลมีเดียมาปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจ
  • การเพิ่มเพื่อนแต่ละโซเชียลมีเดีย
  • การลงมือทำอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลลัพธ์หรือสร้างรายได้

 


Published on 21 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ตลาดความงามที่เปลี่ยนไป หลัง COVID-19

หัวข้อ : ตลาดความงามหลังโควิด-19 จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร?
อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbanksme.com/en/beauty-market-behind-covid-19-what-will-happen

 

ในด้านตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกนั้นมีข้อมูลบ่งชี้ว่า ผลพวงจากการล็อกดาวน์ ผู้คนส่วนใหญ่อยู่บ้าน ได้ส่งผลกระทบทำให้ตลาดของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการแต่งหน้าและเทรนด์ความงามต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป

 

เทรนด์และความเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศส

- สาวชาวปารีสที่ขึ้นชื่อว่ารักสวยรักงามเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ยังลดระดับการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงและเสริมความงามลง ในช่วงที่รัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มมาตรการกักตัวประชาชน เป็นระยะเวลานานกว่า 2 เดือน

- น้ำหอมและเครื่องสำอางเมื่อเดือนเมษายน 2563 ยอดขายกลับลดเหลือเพียง 22 ล้านยูโร เท่านั้น (จาก ยอดขายเฉลี่ยปีที่แล้ว เดือนละประมาณ 247.83 ล้านยูโร)

- สินค้าที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ได้แก่ ครีมบำรุงผิวหน้าและผิวกาย ผลิตภัณฑ์บำรุงผม ลิปบาล์ม ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

- สินค้าที่ได้รับผลกระทบสูงสุด คือ ลิปสติก ยอดขายทางออนไลน์ลดลงมากถึงร้อยละ 58

- ปัจจุบันที่เข้าสู่การใช้ชีวิตประจำวันตามเดิม แต่ยังต้องใส่หน้ากากอนามัย ยอดขายเครื่องสำอางสำหรับแต่งดวงตาปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 116  โดยเฉพาะในกลุ่มมาสคาร่าที่มียอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 150

- เครื่องสำอางแบบติดทนนาน กันน้ำ กันเหงื่อ หรือกันเลอะเลือนกลับมาได้รับความนิยมสูงขึ้นมาก 

- เครื่องสำอางแบบคอนทัวร์ริ่งที่เคยฮิต ปัจจุบันกลับได้รับความสนใจน้อยลง

 


 

เทรนด์และความเปลี่ยนแปลงในจีน

-  ในช่วงเกิดการระบาดผู้บริโภคเกือบร้อยละ 50 ให้ความสำคัญกับการดูแลผิวเป็นอย่างมาก ผลิตภัณฑ์ที่มีกำไรเพิ่มขึ้น เช่น แผ่นมาส์กหน้า โลชั่นบำรุงผิวหน้า เซรั่ม เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับดูแลผิวหน้า

- การแต่งหน้าน้อย ส่งผลให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์เช็ดเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ป้องกันแดดน้อยลง

- หลังจากการระบาดพบว่า 

  • ผู้บริโภคร้อยละ 58 ดูแลผิวด้วยการเพิ่มความต้านทานของผิวจากสภาพแวดล้อมภายนอก 
  • ผู้บริโภคร้อยละ 55 ดูแลผิวโดยเน้นคุณค่าและประโยชน์ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์
  • ผู้บริโภคร้อยละ 53 ดูแลผิวโดยเน้นการปรับปรุงผิวพรรณอย่างต่อเนื่อง

- ปัจจุบันเหตุผลที่ผู้บริโภคใช้ในการเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมากที่สุด ได้แก่ ความปลอดภัย ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ ตามลำดับ

- ผู้บริโภคหันมาใช้เทคนิคการแต่งหน้าที่เป็นธรรมชาติแบบบางเบามากขึ้น แม้จะคลายล็อกดาวน์ไปแล้ว

 


 

เทรนด์และความเปลี่ยนแปลงในออสเตรเลีย

- ปกติสาวๆ ออสเตรเลียมีการแต่งหน้าที่เข้ม หลังการระบาดมีการหันมานิยมแต่งหน้าให้มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อความงามแบบทำได้ด้วยเองเพิ่มมากขึ้น

- ยอดขายผลิตภัณฑ์การตกแต่งเล็บ ทำเล็บ และยาล้างเล็บ เพิ่มขึ้นร้อยละ 237

- สินค้าประเภทการทำสีผมแบบปราศจากสารเคมีชนิดรุนแรง เพิ่มขึ้นร้อยละ 124

- ยอดขายสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์กำจัดขน เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน

- ร้านค้าเครื่องสำอางออนไลน์ชื่อดังของออสเตรเลีย มียอดขายเครื่องอุปกรณ์สำหรับคลินิกเสริมความงามเพิ่มขึ้นร้อยละ 113 ยอดขายมาสก์บำรุงผิว เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 และผลิตภัณฑ์ออยบำรุงผิว เพิ่มขึ้นร้อยละ 41

- หลังผ่อนปรนมาตรการมาได้ซักระยะ แต่พฤติกรรมการแต่งหน้ายังคงเน้นสภาพของผิวหน้าที่สดใสและเป็นธรรมชาติ โดยยังคงใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อบางเบา แต่ปกปิดสูง และช่วยบำรุงผิวไปพร้อมกัน

 

บทสรุปนี้ อาจไม่ครอบคลุมในทุกกลุ่มของสาว ๆ ทั่วโลก แต่มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่ประเด็นหนึ่ง คือ เทรนด์ความงามตามธรรมชาติ และเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติได้รับความนิยมชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ ปลอดภัย ซึ่งในประเทศไทยก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน ผู้ผลิตสามารถนำเทรนด์เหล่านี้ไปต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับตลาดที่อนาคตได้

 


Published on 21 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ