ไอติมละมุน ยกระดับไอศกรีมไทยเทียบเท่าไอศกรีมนำเข้า

ไอติมละมุน เล่าเรื่องราวผ่านไอศกรีมผลไม้ไทย

แบรนด์ไอศกรีมที่มีจุดเด่นมากกว่ารสชาติอร่อยของผลไม้ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ของประเทศไทย แต่ในทุกรสชาติยังบอกเล่าเรื่องราวของผลไม้และเกษตรกรในแต่ละท้องที่ จากแนวคิดด้านการตลาดของคุณโบว์ - ชญาณ์พิมพ์ อำนวยปรีชากุล ที่ตั้งคำถามกับแบรนด์ไอศกรีมเดิมของตัวเองขึ้นว่า ถ้าเราจะปรับเปลี่ยนรูปแบบไอศกรีมขึ้นใหม่ให้มีเอกลักษณ์ แต่ยังคงอยู่ในขอบเขตที่เราทำได้ดี และเป็นรสชาติที่ลูกค้าชื่นชอบ จะทำออกมาได้อย่างไร

หลังจากรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายช่องทาง ทั้งการทำ Design Thinking กันภายในทีมงานเอง การไล่สอบถามเก็บข้อมูลจากกลุ่มลูกค้า จึงได้คำตอบออกมาว่า ลูกค้าชอบรสชาติผลไม้ของไอติมละมุน หลังจากได้คำตอบที่เป็นแนวทางตั้งต้นใหม่แล้ว ก็คิดหาอัตลักษณ์ของแบรนด์ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ

คุณโบว์ได้ทำการรีแบรนด์ไอติมละมุนขึ้นใหม่ เป็น ไอติมละมุน Farm to Scoop โดยมีแนวคิดแรกเริ่ม ต้องการชูจุดเด่นเรื่องรสชาติผลไม้ของดีของเด็ดจากทั่วประเทศไทย นำมาทำให้อร่อยได้ในรูปแบบของไอศกรีม

 

ไอศกรีมเชื่อมโยงวิถีชีวิต

รสชาติแรกเริ่มนั้นมีเพียง มะยงชิด มะม่วง มะพร้าว ที่มีเครือข่ายสายสัมพันธ์กับทางฟาร์มที่สามารถส่งวัตถุดิบมาให้ทำเป็นไอศกรีมได้ เมื่อทำออกมาแล้วก็ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี จึงทำการขยายเพิ่มรสชาติต่อ จนตอนนี้สามารถจับมือกับสวนผลไม้ที่แตกต่างกันได้มากกว่า 30-40 สวน ผลไม้แต่ละชนิดมาจากคนละจังหวัด มาจากคนละที่ ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีเรื่องราวให้บอกเล่าแตกต่างกันไป

การทำธุรกิจในรูปแบบนี้ นั้นเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไปด้วยในตัว เพราะในขณะที่แบรนด์เติบโต เกษตรกรก็เติบโตไปด้วย คุณโบว์สร้างพื้นที่ให้กับเกษตรกรไทยผ่านถ้วยไอศกรีม ด้วยการนำพวกเขาขึ้นมาอยู่บนถ้วย พูดถึงพวกเขา บอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา ทำให้เหล่าเกษตรกรเกิดความภาคภูมิใจ และเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาอยากที่จะปลูกผลไม้ในรูปแบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น

การวางระบบที่สนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์นั้น ทางหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีกับตัวเกษตรกรเองเพราะเมื่อไม่ใช้สารเคมี ดินก็จะยังคงมีคุณภาพดี มีความปลอดภัย ส่งผลดีต่อทรัพยากร และส่งผลดีต่อผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคปลอดภัยและได้รับสิ่งดีๆ จากรสชาติที่ดี ก็จะกลับมาอุดหนุน และบอกเล่าเรื่องราวนี้กระจายต่อไปอีก เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันจากทุกฝ่าย ก่อให้เกิดระบบนิเวศที่ดีต่อทั้งธุรกิจและดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

คุณโบว์มีข้อคิดในการทำธุรกิจว่า สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้เป็นอย่างแรก คือ เราต้องรู้ว่าเราเลือกทำธุรกิจ ไปเพื่ออะไร เพราะมันจะส่งผลต่อสิ่งที่เราต้องลงมือทำ สำหรับละมุนกรุ๊ป นั้นต้องการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน จึงตั้งใจที่จะนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

นอกจากนั้นยังมองว่า ธุรกิจจะไม่มีทางอยู่ได้ ถ้าเราไม่รับความร่วมมือจากผู้อื่น ทั้ง Supplier ทีมงาน ไปจนถึงฝั่งลูกค้า การที่เรารู้จักร่วมมือกันสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เป็นการช่วยพัฒนาซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ทุกฝ่ายมีมาตรฐานสินค้าและบริการที่สูงเพิ่มขึ้น

สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท ละมุนกรุ๊ป จำกัด (สำนักงานใหญ่)

ที่อยู่: 562/1 หมู่ที่ 3 ถนนสุขสวัสดิ์ ซอย14/1 แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150 

โทร: 02-068-2662, 095-246-1927

อีเมล: info@lamoon-group.com

เว็บไซต์: www.lamoon-group.com และ www.itimlamoon.com 

Facebook: ไอติมละมุน Itim-lamoon 

Instagram: itimlamoon

Line: @itimlamoon

บทความแนะนำ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีหน้าที่สำคัญในการพัฒนา ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนานวัตกรรมได้ ทั้งที่เป็นวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัป (Startup) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Smart SME) และกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ช่วยพัฒนาปรับเปลี่ยนให้องค์กรเป็น Innovation Base Enterprise 

บริการจากทางศูนย์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ต้องการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการพัฒนานวัตกรรม ผ่านบริการต่าง ๆ ได้แก่

1. การสนับสนุนด้านการเงิน เป็นการสนับสนุนในรูปแบบทุนให้เปล่า (Grant) ไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการที่ขอรับการสนับสนุน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.1. ทุนนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ เป็นกลไกให้ทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจแบบให้เปล่า (Grant) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืนซึ่งจะช่วยยกระดับห่วงโซ่อุปทานเดิมที่มีศักยภาพ และนำไปสู่การสร้างห่วงโซ่มูลค่าใหม่ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

1.2. ทุนนวัตกรรมเพื่อสังคม เป็นกลไกให้ทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมแบบให้เปล่า (Grant) ในการพัฒนาต้นแบบหรือนำร่องนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมไทยในมิติต่างๆ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมอย่างยั่งยืน

2. องค์ความรู้นวัตกรรม ส่งเสริมการสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติและสร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม รวมถึงยกระดับทักษะและความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมายทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ประกอบการ บริษัทขนาดกลางและใหญ่ รวมถึงบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ ผ่านทางโครงการอบรมองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมที่แตกต่างหลากหลายตามบทบาทและหน้าที่ของแต่ละบุคคล

3. การพัฒนาเครือข่าย ความร่วมมือทั้งในด้านธุรกิจและนวัตกรรมระดับประเทศทั้งในระดับเมืองและส่วนภูมิภาค รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายระดับนานาชาติ ผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ

4. การออกสู่ตลาด สนับสนุนสินค้านวัตกรรมของผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาด ทั้งในช่องทางออนไลน์ ห้างร้าน ช่องทางงานจัดนิทรรศการ ไปจนถึงการจับคู่ทางธุรกิจในต่างประเทศ

5. การรับรองบริษัทเป้าหมาย (Capital Gains Tax) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับส่วนเกินทุน (Capital Gains) หรือกำไรจากการขายหุ้น ให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ทำการลงทุนในบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน

ในปัจจุบันนี้โลกของการทำนวัตกรรมนั้น ต้องการความว่องไว จะต้องทำอย่างไรให้เราเอาสินค้าออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว การสร้างเครือข่ายนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เรียกว่าการทำ Open Innovation ที่เปิดเครือข่ายในเรื่องเทคโนโลยี เรื่องการลงทุน เรื่องการตลาดเป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจนวัตกรรมได้

ติดต่อได้ที่

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 

ที่อยู่: 73/2 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

โทรศัพท์: 02-017-5555

โทรสาร: 02-017-5566

อีเมล: info@nia.or.th

เว็บไซต์ : www.nia.or.th

 

บทความแนะนำ

Mr.Leaf Thailand ผลิตภัณฑ์ BCG นำใบไม้มาใช้เป็นวัสดุทดแทนหนังสัตว์

Mr.Leaf วัสดุทดแทนหนังสัตว์

สินค้าตอบโจทย์กระแส BCG Economy ที่กำลังมาแรง “ใบตองตึง” เป็นพืชท้องถิ่นของภาคเหนือที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในรูปแบบภูมิปัญญาชาวบ้านมานับร้อยปี ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ถนอมอาหาร หรือนำมาใช้เป็นวัสดุมุงหลังคา แต่ในความคิดของคุณปรเมศร์ สายอุปราช เขาเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่มากกว่านั้น… 

คุณปรเมศร์ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชาวญี่ปุ่น เพื่อค้นหานวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่และนำมาต่อยอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านจนกลายเป็น “Mr. Leaf” วัสดุทดแทนหนังสัตว์จากใบไม้ ด้วยการนำใบตองตึงมาเคลือบยางพารานาโน จนกลายเป็นวัสดุธรรมชาติชนิดใหม่ที่มีความทนทานไม่แพ้กัน การแจ้งเกิดของ Mr.Leaf ที่ผสมผสานคุณค่าทั้งเรื่องราวด้านวัฒนธรรม ด้านภูมิปัญญาทางกสิกรรมของไทย รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรียกว่าเกิดมาก่อน เทรนด์ธุรกิจสมัยใหม่อย่าง BCG Economy Model จะเป็นที่นิยมจึงถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ที่ผู้ประกอบการทุกคนสามารถศึกษาและถอดบทเรียนได้

 

SME ONE : จุดเริ่มต้นของ Mr.Leaf มีที่มาที่ไปอย่างไร

ปรเมศร์ : อาชีพเก่าผมคือเป็นครูสอนหนังสือ ผมอยากทำธุรกิจแต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจ จนวันหนึ่งได้ไปเจอเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่สอนหนังสือก็คุยว่าเราอยากทำธุรกิจแต่ไม่มีความรู้จะต้องเริ่มต้นอย่างไร ก็พยายามคุยกับหลาย ๆ เรื่องเกี่ยวกับการทำธุรกิจ จนมาจับคีย์เวิร์ดสำคัญที่เพื่อนชาวญี่ปุ่นบอกว่า ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก ถ้าสินค้าไหนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมี Value กับทุกคนไม่ใช่แค่คนบางคน จะเป็นสินค้าที่ขายดีในอนาคต 

ในที่สุดก็ตกผลึกว่าวัสดุที่เหลือใช้บ้านเรามีเยอะ ก็เลยเอาพวกวัสดุไฟเบอร์ เส้นใย ไม่ว่าจะเป็นฟางข้าว ใบไม้ ฯลฯ ลองเอาทุกอย่างมาทำเป็นกระดาษ เป็นเส้นใย จากนั้นก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ลองผิดลองถูกกัน จนได้วัสดุที่นิ่มขึ้นและทนทานอย่างใบตองตึงที่คนเหนือนิยมใช้ห่อข้าว ห่ออาหาร รวมถึงมุงหลังคามาพัฒนา 

พอทำ ๆ ไปผลตอบรับก็ดี หลังจากนั้นก็เข้าเป็นสมาชิกของ สสว. เขาจะมีโครงการ มีหลักสูตรให้เราเรียนรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ เรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ แล้วก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ทำไปพัฒนาไปก็รู้สึกว่าผลตอบรับดี

จริง ๆ Mr.Leaf เริ่มต้นจากเป็นบริษัทที่พัฒนาวัสดุเหลือใช้จากกสิกรรมทั้งหมดของประเทศไทยที่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในการเผา หรือทำลาย ซึ่งเราเห็นว่าตรงนี้มันไม่ใช่แค่ปัญหาของเราคนเดียว ไม่ใช่แค่ปัญหาของเกษตรกร แต่เป็นปัญหาของประเทศเลยพยายามหาวิธีสร้างมูลค่าของวัสดุเหลือใช้ตรงนี้ โดยการเอามาทำให้มีเสน่ห์ในเรื่องของรูปลักษณ์ และเป็นการสร้างคุณค่าของวัสดุเดิมผ่านนวัตกรรม

 

SME ONE : จากวันที่เริ่มต้นเป็นแค่ความคิดในอากาศ จนกระทั่งมีสินค้าชิ้นแรกออกมาต้องใช้เวลานานแค่ไหน

ปรเมศร์ : แรกๆ เราคีย์เวิร์ดตัวเองว่าเราไม่ได้เป็น Product Design เราเป็น Material Design เราเน้นพัฒนาวัสดุทดแทน ไม่ว่าจะเป็นทดแทนหนัง ทดแทนผ้า เอาของที่เหลือใช้มาทำอะไรแบบนี้ แต่สินค้าช่วงแรก ๆ ก็แตกกรอบ คนที่ทำงานพวกนี้ก็น่าจะรู้ว่า การทำสินค้าพวกนี้ต่อสู้กับธรรมชาติ และบางอย่างก็เหนือการควบคุม

ตอนแรกเรายังไม่ได้ทำเป็นกระเป๋า เพราะเรารู้ว่าวัสดุที่เราทำมันยังไม่แข็งแรงพอ เราก็ขายเป็นวัสดุก่อน เพื่อเอาไปทำกล่อง ทำโคมไฟ พอเราได้ข้อเสนอแนะจากลูกค้าว่ามันมีปัญหาตรงนั้นตรงนี้ เราก็พยายามไปอุดรอยรั่วของปัญหา ระยะเวลาที่เราทำตั้งแต่ Kickoff จนเป็นสินค้าของเราเองก็ใช้เวลา 3-5 ปี กว่าที่ลูกค้าจะยอมซื้อเราแบบต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ก็ซื้อมาขายไป แต่ก็ยังไม่มีทิศทางเท่าไหร่ 

 

SME ONE : ช่วงที่เปลี่ยนจากทำวัสดุมาเป็นสินค้า ตอนนั้นคิดไปไกลขนาดไหน

ปรเมศร์ : ช่วงรอยต่อตรงนั้นเป็นยุคกลางแล้ว ช่วงที่เราเข้ามายุคนั้นยังไม่มีคำว่า BCG (Bio-Circular-Green) อะไรสักอย่าง เนื่องจากผมทำแล้วส่งไปที่ยุโรป และอเมริกาเยอะ เรียกว่าพื้นที่ไหนมีปัญหาสิ่งแวดล้อม โอกาสของธุรกิจเราก็จะเกิด เพราะจะมีกลุ่มพวกต่อต้านการฆ่าสัตว์ ต่อต้านการใช้หนังจากสัตว์อะไรพวกนี้ที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม คนจะมองหาวัสดุทดแทนใหม่ ๆ 

เราพยายามพัฒนาวัสดุที่เรามีอยู่ตามคุณสมบัติที่ลูกค้าอยากได้ เราทำมาทดสอบเรื่องแรงดึง แรงเฉือน เรื่องกันน้ำ เราเอาวัสดุเราไปทดสอบให้มีความใกล้เคียงที่สุดกับวัสดุที่ใช้ทดแทนผ้า ก็เลยทำนวัตกรรมขึ้นมา ทำให้เกิดความแข็งแรง ทนทาน เพราะทำให้พาร์ทเนอร์ซื้อเอาไปใช้ หรือขายเขาต้องรู้สึกมั่นใจที่จะเดินต่อไปกับเรา เราก็เลยใช้นวัตกรรมนำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ด้วยการพัฒนาการผลิตวัสดุเคลือบด้วยนวัตกรรมน้ำยางพารานาโน จนเป็นวัสดุทดแทนหนังสัตว์ทำให้แก้ปัญหาการใช้หนังสัตว์ได้ จากที่เน้นขายวัสดุอย่างเดียวก็เริ่มพัฒนางานออกแบบจนเป็นสินค้าต้นแบบ (Prototype) ได้ในที่สุด

 

SME ONE : ในส่วนงานดีไซน์คุณปรเมศร์ทำเองทุกอย่างเลยหรือไม่

ปรเมศร์ : เราทำงานร่วมกับญี่ปุ่นก็ต้องทำเป็นทีมอยู่แล้ว ผมเน้นทำงานเป็นทีม เพราะฉะนั้นผมจะมีทีมที่คิดเรื่องการวิจัยวัสดุ ส่วนทีมดีไซน์ตัว Product ก็มีหน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, สสว. มาให้คำปรึกษา หน่วยงานไหนที่เขามีอบรมประชุมเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบดีไซน์ เราก็ไปเรียน เราก็จะได้หลายความรู้ที่แต่ละองค์กรให้เรามา 

ส่วนที่ 2 End user คือลูกค้าเราที่เขาจะรู้ดีว่าสินค้าที่เราทำไป มันเหมาะกับกลุ่มไหนของเขา เขาก็จะดีไซน์งานมาให้เรา แต่สินค้าที่เพื่อนญี่ปุ่นแนะนำในช่วงแรก คือ Tote Bag แต่เราก็ให้ความสำคัญเรื่องของวัสดุนำดีไซน์มากกว่า 

 

SME ONE : วันที่ Mr.Leaf ทำกระเป๋าเพื่อสิ่งแวดล้อม ตอนนั้นเทรนด์สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นกระแสหรือยัง 

ปรเมศร์ : ถ้าในต่างประเทศเทรนด์สิ่งแวดล้อมมีมาได้ 10-15 ปีแล้ว แต่ตอนนั้นในเมืองไทยยังไม่มา ในต่างประเทศประชาชนสนใจเรื่องปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะ เพราะเขามองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวของเขา เนื่องจากภูมิอากาศภูมิประเทศเขามันเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ของเราไทยเราตื่นมายังมีข้าว มีนาสีเชียวอยู่ ยังมีวัตถุดิบเต็มบ้านเต็มเมือง อยากกินอะไรก็ไปตลาด หรืออยากซื้ออะไรก็ซื้อ เลยอาจจะยังไม่ตื่นตัวเท่าไร

แต่พอช่วงหลังมาด้วยกลไกการตลาดที่กดดันให้ผู้ประกอบการต้องช่วยปกป้องธรรมชาติ ต้องให้ความสำคัญ ทีนี้ทางผู้ประกอบการไทยบางคนที่ไหวก็ทำไปก่อน บางผู้ประกอบการยังไม่ได้ปรับตัวก็รอทางภาครัฐ หรือหน่วยงานมาช่วยเหลือ ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละผู้ประกอบการ แต่ Mr.Leaf ของผมทำมาเกือบ 20 ปีแล้ว สินค้าเราปัจจุบันส่งไปขาย 17 ประเทศ จนเราได้รางวัลรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น ประจำปี 2560 Best OTOP

 

SME ONE : ตอนนี้คนไทยเริ่มใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่พอเจอราคาที่แพงกว่าเข้าไปก็ถอย เรื่องนี้มองอย่างไร

ปรเมศร์ : ผมขายกระเป๋า Tote Bag หรืออะไรแบบนี้ที่ญี่ปุ่น ราคาที่เป็น Best Seller ก็คือราคาของกระเป๋าผู้ชายที่ซื้อได้ง่าย ๆ ก็ 2,800-3,500 บาท ถ้า 10,000 เยนก็ประมาณ 3,000 กว่าบาท แต่ส่วนมากคนจะขายประมาณ 8,000 เยน 6,000 เยนก็เป็นราคา Best Seller ราคาก็ถือว่าค่อนข้างสูง แต่ถ้าเทียบเหมือนกะเพราไข่ดาวบ้านเรา 80 บาท ที่นู่น 150 บาท ก็เป็นราคา Standard ตามค่าครองชีพของเขา

ถ้าเป็นคนไทยผมก็พยายามอธิบายว่า สินค้าของผม 95% ส่งไปต่างประเทศ ถ้าเมืองไทยก็ขายตามงานอีเว้นท์ หรือผมมี Shop Studio ของผมที่เชียงใหม่ ลูกค้าที่เคยใช้ของเราก็จะซื้อซ้ำเยอะ แต่ถ้าลูกค้าใหม่ที่เข้ามาร้านก็ต้องดูคาแรคเตอร์ของผู้ซื้อด้วย ลูกค้าบางคนก็อยากจะคุยกับเราเรื่องแนวคิด วิธีทำ หรืออนาคตเรื่อง BCG แต่บางคนที่เขาสายกรีนอยู่แล้ว ก็อยู่ที่เราจะนำเสนอว่า สินค้าเรามีคุณค่าสำหรับเขาหรือไม่ มันไม่เกี่ยวว่าเราจะตั้งราคาถูกหรือแพง 

ถ้าเราทำสินค้าเราให้มี Value Trust กับคนที่จะซื้อ มันง่ายมาก เพียงแต่ว่าเราต้องลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุดในเรื่องของต้นทุน เพราะผู้ประกอบการไทยบางท่านมองว่าทำสินค้าเศษวัสดุแต่ขายแพงจัง ถ้าซื้อกระเป๋าผ้าทั่วไทยใบละ 550 บาท แต่นี่ 1,200 บาท เราก็ต้องอธิบายให้ความรู้ไป

 

SME ONE : ปัจจุบันสัดส่วนการขายระหว่างสินค้า Material กับสินค้าที่เป็น Product เป็นอย่างไร

ปรเมศร์ : ส่วนธุรกิจ Material เราขายเป็น Project ในรูปแบบพาร์ทเนอร์แบรนด์ Mr.Leaf เช่น Mr.Leaf China, Mr.Leaf Korea, Mr.Leaf Japan เราจะขายวัตถุดิบให้บางส่วนที่เขาต้องการไปซัพพอร์ตลูกค้า ส่วนในประเทศไทยเรามีขายให้หน่วยงาน เช่น งานประชุมเอเปค รัฐบาลก็สั่งสินค้าเราให้ผู้นำประเทศ รวมถึงหลายหน่วยงานที่ทำ CSR ด้านสิ่งแวดล้อมก็จะสั่งของสินค้าเราในส่วนของ Product เราทำทั้ง Co-brand และแบรนด์ Mr.Leaf เพราะแบรนด์ในยุโรปหรือในต่างประเทศมันมี Value สำหรับเขา 

 

SME ONE : ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ Mr.Leaf เจอปัญหาอะไรบ้างในการทำงาน แล้วแก้ปัญหาอย่างไร

ปรเมศร์ : แรก ๆ เราเจอเรื่องคุณภาพของวัสดุ เช่น ลูกค้าบอกว่าใช้แล้วชอบมาก แต่มันปริมันแตก เสียดายจังวัสดุสวยมาก แต่ตรงนี้มันแตกนิดนึง เราก็อธิบายลูกค้าว่ามันไม่มีจักรสำหรับเย็บใบไม้โดยตรง เราก็ขอบคุณที่ช่วยแสดงความคิดเห็น แล้วเราก็พยายามหาวิธีแก้ไข เราก็พูดตรง ๆ กับลูกค้า ลูกค้าบางคนก็แนะนำว่าเราควรจะทำอะไร มันก็จะเป็นจิ๊กซอว์ต่อให้เราพัฒนาปรับปรุงสินค้าให้คุณภาพสูงขึ้น แต่อันดับแรกสมองเราต้องเปิดรับก่อน ต้องยอมรับสิ่งที่ลูกค้าคอมเพลน ถ้าเขาไม่คอมเพลนเลย คือน่ากลัวมาก เพราะเขาไม่อยากติดต่อกับเรา แล้วเราก็จะไม่รู้ปัญหา

ส่วนการปรับปรุงแก้ไข อันดับแรก เราก็ต้องมาดูว่ามันเกิดจากอะไร เกิดจากฝีเข็ม เราใช้จักรฝีเข็ม เราต้องใส่เข็มเบอร์ใหญ่กว่านี้ วัสดุของ Mr.Leaf มันเป็น Leaf Leather เราก็ต้องมาปรับโรตารีจักร ช่วงแรก ๆ เราต้องปรับปรุงเรื่องวัสดุเป็นหลัก ส่วนเรื่องดีไซน์ถ้าสินค้าตัวไหนมีปัญหาก็หาวัสดุใหม่ ๆ มามิกซ์กับมัน 

 

SME ONE : ที่ผ่านมา Mr.Leaf เคยเข้าไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่

ปรเมศร์ : เยอะมาก เพราะเรารู้สึกว่าเราเป็นคนสมองเปิดด้วย ช่วงแรก ๆ ปีพ.ศ. 2547 - 2548 เราเข้าโครงการ OTOP ซึ่งมันเป็นช่วง OTOP ตอนต้น ๆ  มีอะไรก็ขายได้หมด พอขยับมาถึง OTOP ยุคกลางก็เป็น OTOP ที่ทุกคนจะต้องพัฒนาในเรื่องของ Packaging เรื่องของงานดีไซน์  ถ้าเทียบโครงการ OTOP ก็ถือเป็นต้นน้ำ แต่ถ้าโครงการที่ผมเข้าแล้วได้ผลที่สุด คือ ช่วงกลางน้ำก็เป็นของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ช่วยพัฒนาเรื่องระบบการจัดการ เรื่องของโครงสร้าง แล้วก็มีโครงการของกระทรวงพาณิชย์เพื่อมาหาตลาดใหม่ ๆ ช่วงหลังมาผมก็อยู่กับกระทรวงพาณิชย์เยอะขึ้น เพราะว่าเขาจะเอาการตลาดนำการผลิต ผมก็จะเน้นการตลาดนำ แล้วก็ยังมีโครงการของ สสว. ผมก็เข้าร่วมเยอะผมเข้าไปขอคำปรึกษาเรื่องดีไซน์ แล้วก็การพัฒนาที่เน้นเรื่องของระบบการจัดการ เน้นในเรื่องของการพัฒนาเรื่องงานดีไซน์

 

SME ONE : ยอดขายในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ปรเมศร์ : ยอดขายตอนนี้ยังไม่เท่าช่วงก่อน COVID-19 แต่ก็ถือว่ากำลังขึ้นมา แต่ช่วง COVID-19 ก็ยังพอขายได้ เพราะว่าต่างประเทศส่วนใหญ่ก็จะขายออนไลน์กัน พอหลัง COVID-19 ปี 2565 ยอดเราก็เริ่มกลับมา ทุกคนฟื้นตัว ตลาดต่างประเทศต้องใช้เวลาคุยนาน จะขายปีหน้าคุยปีนี้อะไรแบบนี้ มันต้องวางแผนกันข้ามปี เพราะฉะนั้นยอดก็จะขึ้นมาจาก 3% เป็น 5% อย่างปีนี้ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 10% แต่ก็ยังไม่เท่าช่วงก่อนจะเกิด COVID-19  

 

SME ONE : ช่วง COVID-19 Mr.Leaf มีวิธีประคองธุรกิจอย่างไร

ปรเมศร์ : ช่วงนั้นตอนแรกทุกคนก็คงเจอเหมือนกันหมด หลังจากนั้นเราก็เริ่มติดต่อสอบถามลูกค้าว่าเป็นอย่างไร แต่โชคดีที่ต่างประเทศส่วนมากเน้นขายออนไลน์เยอะ และออก Exhibition บ้าง ผมใช้วิธีใช้กลยุทธ์ลดค่าขนส่งให้ลูกค้า 30% สมมติลูกค้าซื้อ 100,000 บาท ผมก็จะช่วยค่าขนส่ง 30% เพราะช่วงนั้น COVID-19 ค่าขนส่งมันแพงมาก แต่เราก็ไม่อยากจะเสียลูกค้าไป เขาก็ไม่อยากจะเสียลูกค้าปลายทางเขา เราก็เลยหากลยุทธ์ หาทางออกร่วมกัน ผมจะนิยมสอบถามลูกค้าเป็นคำถามแบบปลายเปิดว่า มีอะไรให้เราช่วยได้บ้างหรือไม่ ช่วงนั้นพาร์ทเนอร์บางประเทศเราก็ขอโทษด้วยนะเราทำต่อไม่ได้จริง ๆ ช่วงนี้ เอาไว้หลัง COVID-19 เรามาคุยกันใหม่ 

ทางลูกค้าก็เข้าใจและก็ชัดเจน ฉันยังรักและศรัทธาสินค้าคุณอยู่ อะไรประมาณนี้ เขาก็จะพยายามติดต่อกับเรา หลัง COVID-19 ลูกค้าหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐเช็คก็เริ่มกลับมา แล้วก็มีทำโครงการ One Country, One Brand กับแต่ละประเทศด้วย 

แนวคิดของ One Country, One Brand ก็คือ การทำสัญญาเรื่องการบริหารจัดการในแต่ละพื้นที่นั้น ๆ เช่นใช้แบรนด์ Mr.Leaf Canada หรือที่จีนก็ Mr.Leaf China มี 4 สาขาที่จีน ผมก็เอาสินค้าไทยไปขายจีน เอากระเป๋าไปขายด้วย ตลาดที่เมืองจีนจะเป็นลูกค้ากลางกับบนเยอะมาก คนจีนชอบอยู่แล้ว เราก็พยายามเข้าหาลูกค้าที่ชอบธรรมชาติ เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์ก็หนีธรรมชาติไม่พ้น ไม่ว่าจะการกินการใช้การอยู่ เพียงแต่คาแรคเตอร์ของ Product จะต้องชัดเจนกับผู้บริโภคในแต่ละประเทศ

 

SME ONE : มีแผนจะต่อยอดธุรกิจต่อไปอย่างไร

ปรเมศร์ : ตอนนี้ที่เราทำอยู่ที่เชียงใหม่ เราทำโครงการนำร่อง BCG ของกระทรวงพาณิชย์ เราอยากสร้าง Community ที่เกี่ยวข้องกับ BCG จริง ๆ ที่เชียงใหม่ผมก็จะมีห้องประชุม 2 ห้อง มีหน่วยงานราชการเข้ามาดูงานเยอะ เขาก็จะแวะมาดู BCG ของ Mr.Leaf ว่า Key Success คืออะไร แล้วเราสามารถซัพพอร์ตเพื่อนรอบข้าง หรือ ผู้ประกอบการเราด้วยวิธีไหน เพื่อทำให้มันเกิดสินค้าอนาคต 

เขาไม่ได้จู่ ๆ จะเข้ามาซื้อของเราทันที การทำ BCG เราต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ใครมีส่วนได้ส่วนเสีย คุณแน่ใจเหรอว่าคุณทำแล้วมันทำให้ชุมชน หรือสังคมที่คุณอยู่มันดีขึ้นจริง ส่วน Next Step ที่มองไปอีก 2-3 ปี เราจะเป็น Supply Chain Material ให้พาร์ทเนอร์เป็นหลัก แต่ต้องมีเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง 

ความท้าทายของเราต่อจากนี้ไปคือ เราอยากให้เกิด Dynamic เกี่ยวกับ BCG ที่เป็นเชิงพาณิชย์จริง ๆ ที่ไม่ใช่ตามกระแส พอมีข่าวทีก็ทำที แต่เราอยากให้มีกลุ่มก้อนที่เป็น Commercial จริงๆ เกี่ยวกับ BCG ที่ปีกซ้ายคือผู้ประกอบการที่ทำเป็น Dynamic แล้วปีกขวาคือ Government ที่ซัพพอร์ต จะได้บินไปได้ไว ๆ

ผมก็พยายามทำให้มันเกิด กับเพื่อน ๆ ผม ให้เขาเอาของมาวาง ๆ กัน เป็น BCG1, BCG2 ทำเป็นแบบ 1 BCG 1 จังหวัด 1 Product ผมก็ทำของผมเอง คุณทำสินค้า BCG ที่อยู่เชียงรายก็เอามาวางขายที่นี่ได้ แต่ทุกคนต้องมีเป้าหมายและโปรไฟล์ที่ชัดเจนว่าสินค้าที่อยู่ตรงนี้เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมจริง ๆ จะเป็นสินค้าที่เกิดจากป้าคนหนึ่ง ลุงคนหนึ่ง พี่คนหนึ่ง น้องคนหนึ่งก็ได้ที่ตั้งใจทำจริง ๆ แต่ผมอยากให้เกิด Matching Business ที่เป็น BCG จริง ๆ

 

SME ONE : อยากให้คุณปรเมศร์ช่วยให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ MSME 

ปรเมศร์ : อยากฝากให้ผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญกับเรื่อง Positioning ที่ชัดเจน ว่าเราจะเป็นอะไร ผู้ประกอบการบางคนยังมองข้ามเรื่องนี้

 

บทสรุป

ความสำเร็จของ Mr.Leaf อยู่ที่ความชัดเจนตั้งแต่วันแรกที่อยากจะพัฒนาสินค้าที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ เพื่อมาทดแทนวัสดุเดิมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นวัสดุทดแทนหนังสัตว์ที่ทำจากใบไม้ ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ และช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง ๆ  มาจนถึงยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคเรียกร้องให้ภาคธุรกิจเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนกลายเป็นกระแสธุรกิจ BCG Economy Model ก็ยิ่งทำให้ Mr.Leaf ได้รับการยอมรับมากขึ้น ในฐานะสินค้าต้นแบบของ BCG ที่พัฒนามาจากวัสดุเหลือใช้อย่างเศษใบไม้

บทความแนะนำ

สถาบันอาหาร ความปลอดภัยอาหาร (Food Safety)

NFI หน่วยงานทางด้านอาหารของชาติ ลมใต้ปีก MSME พาอาหารไทยไปตลาดโลก

ด้วยความที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แถมยังเป็นครัวของโลก ดังนั้นสัดส่วนผู้ประกอบการ  MSME ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานอาหารจึงเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดจากผู้ประกอบการ MSME มีอยู่กว่า 3 ล้ายราย “สถาบันอาหาร” จึงเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อน MSME ในกลุ่มอาหารให้เติบโต ไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้นแต่ยังก้าวไปไกลในตลาดโลกด้วย 

ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หรือ NFI (National Food Institute) กล่าวย้อนไปถึงจุดกำเนิดของ NFI ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมว่า เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2539 ในยุคที่รัฐบาลต้องการผลักดันอาหารไทยให้มีการส่งออก แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านมาตรฐานการส่งออก จึงตั้ง NFI เพื่อดูแลคุณภาพมาตรฐานให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ 

  • ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

NFI มีแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งภาครัฐและเอกชน กล่าวคือ ผ่านการดำเนินโครงการร่วมกับภาคีเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานของรัฐภายนอกกระทรวง ซึ่งอยู่ในรูปงบเงินอุดหนุน การทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) การยื่นข้อเสนอโครงการรับจ้างหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้แผนงาน วัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายของโครงการสอดคล้องกับภารกิจและทิศทางการดำเนินงานของสถาบันฯ 

ในขณะที่ภาคเอกชนจะบริการให้คำปรึกษาแนะนำและให้บริการต่างๆ แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการจัดทำระบบคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร เช่น การบริการที่ปรึกษาระบบ GMP (GHP), HACCP, HALAL, BRC, ISO 22000, ISO/IEC 17025 รวมถึงยังมีบริการทดสอบและตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ (Testing Laboratory) และการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ (Proficiency Testing: PT) ซึ่งบริการดังกล่าวเน้นยกระดับด้านมาตรฐานการผลิต (Standard) และความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) เป็นสำคัญ เรียกได้ว่าดูแลมาตรฐานทั้ง Food และ Nonfood

เมื่อได้ยินชื่อสถาบันอาหารหลายคนมักคิดว่าการเป็นสถาบัน น่าจะทำแต่งานวิจัย แต่ความจริงแล้ว เราหน้าที่เป็นหน่วยงานทางด้านอาหารของชาติหรือ National Food Agency ที่ดูแลและให้บริการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ถ้าเทียบ 2 กลุ่มระหว่างภาครัฐและเอกชน จะพบว่าภาคธุรกิจ MSMEเป็นกลุ่มที่ NFI ให้บริการมากที่สุด ตามภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารกว่า 90% จะเป็น MSMEนั่นเอง

นอกจากให้บริการด้านคำปรึกษาและระบบมาตรฐาน คุณภาพความปลอดภัยด้านอาหารต่างๆ แล้ว NFI ยังเผยแพร่องค์ความรู้ และสนับสนุนขั้นตอนการแปรรูป จากภาคเกษตรกรรม ประมง และปศุสัตว์ โดยใช้นวัตกรรมออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ อำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปจนถึงหาตลาดช่องทางการจัดจำหน่าย 

ตั้งศูนย์นวัตกรรม Innovation Center เป็นโรงงานขนาดย่อมอยู่ในสถาบันอาหารทำหน้าที่เป็นโรงงานต้นแบบ (Pilot plant) ให้บริการกับผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตและทดลองตลาด หรือต้องการทำ Product Line สามารถเข้ามาผลิตในปริมาณไม่เกิน 500 ชิ้นเพื่อนำไปทดลองตลาดได้ ให้บริการ Intelligence Cener ผ่านเว็บไซต์ nfi.or.th โดยรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับอาหาร นวัตกรรม การพัฒนาอาหาร การหาตลาด เทรนด์อาหาร รวมถึงกฎหมายและกฎระเบียบในการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในแต่ละประเทศ ตลอดจนการฝึกอบรมและกิจกรรมWorkshop ผ่าน Academy เพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการตามหัวข้อต่างๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์ 

ทั้งนี้ในปี 2566 NFI เข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตหรือ  Future Food ให้ผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เกือบ 200 ผลิตภัณฑ์ , สร้างมาตรฐานรับรองโรงงาน 1,810 ราย จัด Academy/Workshop ตลอดทั้งปี 3,300 ราย บริการห้องแลปตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อน 57,000 ตัวอย่าง สอบเทียบเครื่องมือในโรงงานต่างๆ 13,700 ตัวอย่าง และสอบเทียบอุปกรณ์ทดลอง 3,900 ปฏิบัติการ 

  • จับมือภาครัฐ-เอกชน ยกระดับอาหาร

ปีที่ผ่านมา NFI ยังจับมือกับหน่วยงานภาครัฐในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ จับมือกับกรมเหมืองแร่ ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ในชุมชนรอบๆ เหมืองแร่ และเขื่อนผลิตไฟฟ้า

ปกติการทำเหมืองแร่จะมีการระเบิดภูเขาทำให้เกิดมลพิษ ในขณะที่เขื่อนผลิตไฟฟ้าเกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียง ชุมชนโดยรอบย่อมได้รับผลกระทบ เราจึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนใกล้เคียง ด้วยการสร้างอาชีพ ซึ่งอาชีพที่ง่ายที่สุดและเป็นวิถีชีวิตของเขาอยู่แล้วคือ การทำอาหาร โดยจับมือกับกรมเหมืองแร่ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าไปยกระดับอาหารท้องถิ่นให้มีมาตรฐานสะอาดปลอดภัย ด้วยนวัตกรรมการยืดอายุสินค้า เช่น การฆ่าเชื้อด้วยระบบความร้อนภายใต้แรงดันสูง (Retort) และ การถนอมอาหารแบบแช่เยือกแข็ง (Freeze Dry) รวมถึงยกระดับเชฟชุมชนคิดค้นเมนูอาหาร Signature เพื่อใช้วัตถุดิบท้องถิ่นต่อยอดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือ Gastronomy Tourism”

ร่วมกับ สสว. ผ่านระบบ Business Development Service หรือ BDS ในการให้คำปรึกษา แนะนำเพื่อจัดทำระบบมาตรฐาน พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถของบสนับสนุนได้มากสุดถึง 80% นอกจากนี้ยังร่วมกับสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เพื่อพัฒนากลุ่มอาหารอนาคต (Future food) อย่าง มังสวิรัส (Vegan) โปรตีนหรือเนื้อสัตว์จากพืช หรือ Plant Based อาหารที่ปราศจากการปรุงแต่ง หรือผ่านการปรุงแต่งน้อย และ New Functional foods หรืออาหารที่มีการเติมสารอาหาร หรือคุณค่าอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในรูปแบบใหม่ๆ เป็นต้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการสร้างสัญลักษณ์มาตรฐานอาหารฟิวเจอร์ฟู้ด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

 

  • เปิดโรดแมปการทำงานปี 2567

ดร.ศุภวรรณ กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือ SMEs ในปีนี้ว่า NFI ให้ความสำคัญใน 4 แกนหลัก ประกอบด้วย 

  1. การขับเคลื่อนฟิวเจอร์ฟู้ดผ่านนวัตกรรม Innovation Center ที่ร่วมมือกับจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ในการจัดหานักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญมาริเริ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของกลุ่มอาหารอนาคต และทำงานร่วมกับสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และหอการค้าไทย เพื่อขับเคลื่อนอาหารกลุ่มนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอนาคตของประเทศไทยด้วย
  2. การฝึกอบรมเพิ่มทักษะผ่านอะคาเดมี ซึ่งผู้ประกอบการสามารถทำเวิร์คช้อปเพื่อผลิตและแปรรูปในโรงงาน NFI ซึ่ง NFI จะยังคงร่วมมือกับ สสว. ภายใต้โครงการ BDS เพื่อลดต้นทุนในการขอตรามาตรฐานต่าง ๆ
  3. การสร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food Safety) ในกลุ่มครัวผลิตอาหารสำหรับคนหมู่มาก (Mass catering) ตามสถานที่จัดการต่าง ๆ โรงแรม และศูนย์ประชุม เพื่อให้เกิดสุขลักษณะที่ดีตั้งแต่การเตรียม, การเก็บ, การผลิต, การส่ง และการบริการอาหาร สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
  4. การขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน รองรับเทรนด์การใส่ใจด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมภิบาลที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมองว่าเรื่องความยั่งยืนทางด้านอาหารถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ประกอบการ หากไม่ปรับตัวจะไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ 

 

ปีนี้ NFI จึงมีแผนที่จะสร้างความตระหนักรู้ และเปลี่ยนวิธีคิด หรือมายด์เซ็ตให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ เริ่มจากนำความรู้การจัดการการสูญเสียอาหาร หรือ Food Loss และขยะอาหาร หรือ Food Waste เข้าไปอยู่ในกระบวนการผลิตอาหาร รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) เป็นการเตรียมความพร้อมไว้แต่เนิ่นๆ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่บังคับใช้กับอุตสาหกรรมอาหารก็ตาม

สำหรับเป้าหมายการทำงานนั้น ดร.ศุภวรรณ กล่าวว่า จะเข้าไปพัฒนาอาหารฮาลาลเพื่อขยับอันดับการส่งออกสินค้าฮาลาล ให้ติดอับดับ 1 ใน 10 ของโลก จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 15 ผ่านศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล จังหวัดสงขลา และโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟ ผลิตเชฟ 10,000 ราย ผลักดันอาหารไทยเป็นซอฟท์พาวเวอร์ และยกระดับเชฟท้องถิ่น  เป็น Best local chef restaurant 100 รายทั่วประเทศ กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism)

สุดท้ายนี้ ดร.ศุภวรรณ ย้ำว่า NFI  ทำหน้าที่เสมือนตัวกลางในการประสานงานเชื่อมโยงองค์ความรู้ และเครือข่ายให้ MSME ไทยเติบโตทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ I ของ NFI นอกจากเป็นสถาบันหรือ Institute แล้ว ยังเป็นทั้ง  Innovation นวัตกรรม สร้าง Impact ให้กับธุรกิจ และ Integrate collaboration สร้างเครือข่ายตั้งแต่ MSME ขนาดเล็ก บ่มเพาะดูแลตั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้เติบโต แข็งแกร่งและยั่งยืน

 

ติดต่อได้ที่

สถาบันอาหาร

2008 ซอยอรุณอมรินทร์ 36 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

โทร: 0-2422-8688

เว็บไซต์ : www.nfi.or.th/home.php

 Facebook : NFI SmartClub 

 Line : @nfithailand

บทความแนะนำ

นิ่ม นิ่ม เส้นไข่ขาวพร้อมทาน แรงบรรดาลใจจากกลุ่มเพื่อน 3 คน

เส้นไข่ขาว นิ่มนิ่ม นวัตกรรมอาหาร จาก Pain Point ของผู้ป่วย

นิ่มนิ่ม คือแบรนด์นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ผลิตโดยใช้ไข่ขาวเป็นวัตถุดิบหลัก อุดมด้วยโปรตีน ไร้แป้ง ไร้ไขมัน ไม่มีวัตถุกันเสีย เหมาะกับผู้ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เด็ก ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ป่วย สามารถรับประทานได้อย่างไร้กังวล คิดค้นขึ้นโดยนักวิจัยด้านโภชนาการคนไทย และผลิตเป็นครั้งแรกของโลก

จุดเริ่มต้นของนิ่มนิ่ม นั้นมาจากงานวิจัยสมัยเรียนปริญญาเอกด้านโภชนาการของคุณเกรท-อุมาพร บูรณสุขสมบัติ ที่มองหาวัตถุดิบอุดมคุณค่า ที่จะนำมาทำเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องควบคุมอาหาร เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ที่ต้องการโปรตีนจำนวนมาก เพื่อไปฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งโดยมากผู้ป่วยจะถูกหมอสั่งให้ทานไข่ต้มเป็นอาหารหลัก วันละ 3-6 ฟอง หรือ อาจมากถึง 10-20 ฟอง ตามแต่สภาวะของผู้ป่วย

Pain Point ใหญ่ของผู้ป่วยคือ เมื่อต้องทานไข่ต้มในปริมาณมาก ทุกมื้อ ทุกวันติดต่อกัน ก็มีความรู้สึกเบื่ออาหาร ไม่อยากทานไข่ต้มอีกต่อไป อีกจุดหนึ่งคือ อาหารสำหรับผู้ป่วยนั้นนอกจากจะมีข้อจำกัดด้านรสชาติแล้ว ยังขาดความความน่ารับประทาน และขาดทางเลือกที่หลากหลาย

จากโจทย์สำหรับผู้ป่วย ขยับมาเป็นโจทย์ที่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น เมื่อคุณพ่อของคุณฟิ้ง-ปณัสสา กาญจนวิเศษ เพื่อนสนิท ป่วยเป็นมะเร็งและเบาหวาน คุณเกรทและคุณฟิ้ง จึงจับมือกันพัฒนางานวิจัยนี้ให้เป็นสินค้าออกสู่ท้องตลาด สามารถหาซื้อได้จริง โดยมีคุณตื๋อ-วรวีร์ เชาวน์พิชญ์ชยา เข้ามาดูแลในด้านการผลิต ด้วยความตั้งใจที่จะดูแลผู้ป่วยที่มีความทุกข์ทางกาย ให้ได้มีความสุขทางใจจากอาหารที่อร่อยและยังมีประโยชน์ ให้โปรตีนสูง ตอบโจทย์โภชนาการด้านการแพทย์ ในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย สามารถทำอาหารทานร่วมกันได้ทั้งครอบครัว ไม่ต่างจากอาหารปกติทั่วไป

 

ทั้ง 3 คน รวมตัวกันก่อตั้งบริษัทชื่อ แข็งแรงทุกวัน ให้มีความหมายที่เป็นเหมือนกับคำอวยพรให้ลูกค้าทุกคนได้มีสุขภาพแข็งแรงทุกวัน

 

ส่งความใส่ใจถึงผู้บริโภค

นิ่มนิ่ม พัฒนาสินค้าขึ้นจากโจทย์ที่ต้องการให้เป็นอาหารที่ผู้ป่วยทานได้ง่าย ทานได้บ่อย ไม่เบื่อ จึงออกเป็นสินค้าแรกคือ เส้นก๋วยเตี๋ยวจากไข่ขาว เพราะมองว่าก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารที่ปรับเปลี่ยนได้หลากหลายรูปแบบทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในแต่ละมื้อ

หลังจากนั้นได้พัฒนาสินค้าให้ครอบคลุมอาหารหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เส้นหมี่ไข่ขาว เส้นสปาเกตตีไร้แป้ง ไข่มุกไข่ขาว ข้าวไข่ขาว ไปจนถึงผงปรุงรสคาโบนาร่าแบบไม่มีน้ำตาล และผงปรุงรสต้มยำโซเดียมต่ำ ซึ่งการพัฒนาทุกสินค้านั้นเกิดจากการรับฟังปัญหาจากลูกค้า เมื่อมีปัญหาใหม่ ๆ ก็จะกลายเป็นโจทย์ใหม่ให้พัฒนาขึ้นเป็นสินค้าใหม่ ๆ กลายเป็นนวัตกรรมด้านอาหารใหม่ๆ

ด้วยคุณภาพ และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าของนิ่มนิ่ม ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ  รางวัลจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และอีกมากมายหลายรางวัล

นอกจากตัวสินค้าแล้วด้านการสื่อสารและการตลาด ก็ยังเต็มไปด้วยความใส่ใจ เนื่องจากทีมงานในบริษัทนั้นเต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์และนักโภชนาการ จึงสามารถสื่อสารให้ข้อมูล ความรู้ กับกลุ่มลูกค้าในสื่อโซเชียลได้อย่างลงลึก ข้อมูลแน่น รวมถึงการตอบคำถามที่ลูกค้า ก็สามารถให้คำปรึกษาในด้านโภชนาการได้อย่างละเอียด ลูกค้าจึงสัมผัสได้ถึงความเข้าใจและใส่ใจจากทางแบรนด์ จนเกิดความประทับใจและบอกต่อ

จับมือแข็งแรงทุกวันไปด้วยกัน

การจับมือทำธุรกิจกันระหว่างเพื่อน มักถูกมองว่าวันหนึ่งอาจเกิดปัญหาได้ แต่กับนิ่มนิ่มแล้ว ทั้ง 3 คนมีเป้าหมายเดียวกันที่อยากจะพัฒนาแบรนด์ให้ดีขึ้น ดังนั้นในบางครั้งเมื่อเกิดการทะเลาะโต้เถียงกัน ก็จะวัดกันด้วยน้ำหนักของเหตุผล ข้อดีข้อเสีย หรือปัจจัยแวดล้อมว่าคำตอบใดที่จะเหมาะสมที่สุด 

นิ่มนิ่มมองว่า การทำธุรกิจกับเพื่อนนั้น เป็นเรื่องดีมากกว่า เพราะรู้มือ รู้ใจกันอยู่แล้ว ทำให้สื่อสารกันได้ง่าย หลายครั้งแทบไม่จำเป็นต้องใช้คำพูด แต่ส่วนสำคัญที่จะทำให้เพื่อนอยู่กันรอดคือความชัดเจน ทั้งในเรื่องการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ และความชัดเจนเรื่องการเงิน ต้องไม่มีอะไรปิดบังกัน

นิ่มนิ่ม มีแนวคิดว่า เราไม่ได้เก่งคนเดียว เราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง การร่วมมือทำงานเป็นทีมจะช่วยให้เราเข้มแข็งและช่วยอุดจุดบกพร่องของกันและกัน แนวคิดนี้ยังส่งต่อไปถึงการสร้างเครือข่ายจับมือร่วมงานกันระหว่างธุรกิจเพื่อช่วยเสริมความแข็งแกร่งไปด้วยกัน

โดยล่าสุด นิ่มนิ่มได้มีการร่วมงานกับข้าวหงส์ทอง โดยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น ช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับด้านการผลิตที่มีมาตรฐานมากขึ้น มีการขยายตลาดภายในประเทศให้กว้างขึ้น รวมถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศ

นิ่มนิ่ม มองว่า ในยุคปัจจุบัน ถ้าเราโตคนเดียวเราอาจจะโตไม่ได้มาก แต่ถ้าเกิดเรามีคนเก่งหลาย ๆ ด้านมาช่วยกัน น่าจะทำให้โตและไปได้ไกลกว่า

 

ติดต่อได้ที่

เส้นไข่ขาว นิ่มนิ่ม

โทร: 08-2242-2992

อีเมล: sales@nimnimnoodle.com, healthytookwan@gmail.com

เว็บไซต์: www.nimnimnoodle.com

Facebook: Nimnim Noodle เส้นไข่ขาว นิ่มนิ่ม

Instagram: nimnim_noodle

Line: @nimnim

บทความแนะนำ