กรมโรงงานอุตสาหกรรม

กรมโรงงานอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวยุค 4.0

จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจ BCG Model หรือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายการขับเคลื่อนในมิติต่างๆ คือ (1) สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างงาน และยกระดับรายได้ของประชากร (2) สร้างความมั่นคงทางสังคม สร้างความมั่งคงทางอาหาร สุขภาพ และพลังงานในทุกระดับ เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต (3) สร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดของเสียและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และ (4) ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs 14 ใน 17 เป้าหมาย

โดยภาครัฐมีภารกิจสำคัญที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อน Green Economy หลายด้าน ประกอบด้วย (1) การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก Smart Factory (2) เงินทุน สิทธิประโยชน์และรางวัล ได้รับ Prime Minister’s Award ด้านการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ด้านความรับผิดต่อสังคม ด้านบริหารความปลอดภัยและสิทธิประโยชน์ผู้ได้รับ GI 4-5 (3) การพัฒนากำลังคนและความสามารถ จาก Third Party การพัฒนาบุคลากรภาครัฐ/เอกชน และการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน (4) บ่มเพาะ สร้าง ยกระดับผู้ประกอบการและรูปแบบธุรกิจใหม่จาก Green Industry, Eco-industrial Estate/Town, CSR-DIW, CSR-DPIM (5) มาตรฐาน กฎหมาย กฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนา BCG มาตรฐานผลิตภัณฑ์ มาตรฐานระบบ พ.ร.บ.โรงงาน และ (6) การสร้างและพัฒนาตลาดด้วย i-mall แพลตฟอร์มตลาดอุตสาหกรรมออนไลน์

 

ปีแห่งความเปลี่ยนแปลง

คุณอำนาจ เหมะสถล ผู้อำนวยการสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ปี 2567 ถือเป็นปีแห่งความเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวสู่ความยั่งยืน และจะมีการใช้กฎระเบียบเรื่องสิ่งแวดล้อมในการผลิตสินค้าอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับความกดดันจากพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เป็นผลจากการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ธุรกิจลดการปล่อยมลพิษ ส่งผลต่อเนื่องมายังธุรกิจ MSME ที่ทำงานร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญและใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

การปรับตัวและเตรียมความพร้อมในปี 2567 ธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด โดยการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียน การลดปริมาณการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ หรือใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การนำของเสียมาแปรสภาพใช้ใหม่ (Recycle) หรือใช้ผลิตใหม่ (Remanufacture) หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Car ในประเทศไทยมีพัฒนาการการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จะเห็นได้จากปริมาณรถยนต์ไฟฟ้า (BEV หรือรถไฟฟ้าแบตเตอรี่) ที่จดทะเบียนใหม่ในช่วง มกราคม - กันยายน 2566 เฉลี่ยเดือนละ 7,399 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่เฉลี่ยเดือนละ 2,673 คัน เกือบ 3 เท่าตัว (อิงข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก) ในส่วนผู้ประกอบการได้ให้ความสนใจในด้านพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และมีความต้องการลดต้นทุนด้านพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ 

“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการขยายโอกาสการลงทุนกำลังเติบโตขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตและอุตสาหกรรมที่ในช่วงปี 2565-2567 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG หรือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโต แต่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนประชากรวัยทำงานจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ดังนั้น ภาครัฐจึงมีนโยบายนำเทคโนโลยีด้านไอทีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยและบำรุงรักษาที่สามารถตรวจสอบและประเมินได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น หนุนโอกาสการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและความสามารถทางการแข่งขันได้” 

 

Disruption ของผู้ประกอบการไทย

โดยสิ่งที่ถือเป็น Disruption ที่ผู้ประกอบการไทยในภาคการผลิตกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ 

1) ความท้าทายของภาคธุรกิจจากการขาดแคลนแรงงานในอีกไม่ถึง 30 ปีข้างหน้า คาดว่าสัดส่วนกำลังแรงงานของไทย (อายุ 15-59 ปี) ต่อประชากรทั้งหมดจะลดลงจาก 62% ในปี 2566 เหลือเพียง 50% ในปี 2593 หากพิจารณาโครงสร้างตลาดแรงงานไทยพบว่า แรงงานทักษะต่ำคิดเป็นสัดส่วนราว 82% (แรงงานภาคเกษตร แรงงานก่อสร้าง แรงงานในโรงงาน)

2) ปัญหาสินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยและอาเซียน ทั้งจากสินค้าออนไลน์ (E-commerce) และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศ รวมถึงการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากรโดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ประเด็นเหล่านี้ทำให้สินค้าราคาถูก รวมถึงสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานทะลักเข้าตลาดภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ  MSME ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้

“แนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เกิดขึ้น เช่น  การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics & Automation) เข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน คาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติภายใน 1- 3 ปี ในสัดส่วน 50% ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางจะมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติภายใน 3- 5 ปี และกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็กจะมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติใช้เวลามากกว่า 5 ปี”

คุณอำนาจ กล่าวเสริมว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีจุดแข็งหลายประการ อาทิ ทำเลที่ตั้งและแหล่งพลังงาน มีฝีมือแรงงานที่ดี มีโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่ง มีความพร้อมด้านวัตถุดิบ เป็นต้น แต่ยังมีจุดอ่อนในเรื่องการขาดเงินทุนหมุนเวียนเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนค่อนข้างยากสำหรับผู้ประกอบรายเล็กหรือผู้เริ่มต้นประกอบกิจการ และอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบด้านอื่นๆ อีก เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานในวงกว้าง ราคาพลังงานและอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้การบริโภคและการลงทุนลดลง ปัญหาสินค้าราคาถูกในตลาดอีคอมเมิร์ช การเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone รวมถึงการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากร และข้อจำกัดของกฎหมายในการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop)

ขณะที่แนวทางการแก้ปัญหา ได้มีการเสนอแนะให้มีการแก้ไขข้อกำหนดที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อคณะทำงานผังเมือง พร้อมสนับสนุนและมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายปลดล็อกให้การติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันมีจำนวนมาก

รวมถึงการให้ความรู้และคำแนะนำผู้ประกอบการเรื่องการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน และสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานอื่นๆ เช่น ผู้ประกอบการสามารถนำ Solar Rooftop เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อกับธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โดยในปี 2566 มีการนำ Solar Rooftop มาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร จำนวน 169 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 90% เมื่อเทียบกับปีก่อน และในปี 2567 คาดว่าจะมีการนำ Solar Rooftop มาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรเพิ่มขึ้นกว่า 100%

 

เดินหน้าสู่ Green Economy

ที่ผ่านมา กรอ. เล็งเห็นถึงปัญหาในภาคอุตสาหกรรม จึงได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ดังนี้

(1) การจัดทำโครงการ “เร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจ และให้คำแนะนำที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรให้กับผู้ประกอบการ MSMEทั่วประเทศ ทั้งในด้านการเพิ่มการผลิต การลดต้นทุนด้านพลังงาน การลดต้นทุนในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ทั้งในด้านการปรับปรุงเครื่องจักรเดิม หรือการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทดแทน โดยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 2,998 ราย และมีเครื่องจักรที่ได้รับการตรวจสอบปรับปรุง หรือปรับเปลี่ยนแล้วไม่น้อยกว่า 12,500 เครื่อง

(2) การเพิ่มช่องทางการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรผ่านระบบจดทะเบียนเครื่องจักรออนไลน์ (Online Machinery Registration) https://omr.diw.go.th/OMR/ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ โดยสามารถยื่นคำขอฯได้ทั้งรูปแบบเอกสารด้วยตนเอง หรือผ่านระบบออนไลน์

(3) สนับสนุนให้โรงงานในกำกับเข้ามาใช้แบบประเมินออนไลน์ Thailand i4.0 Checkup ด้วยตนเอง ทำให้ผู้ประกอบการทราบระดับอุตสาหกรรมของตนและสามารถรับคำแนะนำเบื้องต้นเพื่อยกระดับโรงงานของตนไปสู่ระดับอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านระบบออนไลน์ Thailand i4.0 Checkup ภายใต้การลงนามความร่วมมือระหว่างกรมโรงงานฯ กับ สวทช. เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567

(4) สนับสนุนให้มีการนำกากของเสียอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ ผ่านการวิจัยและพัฒนาสู่การเพิ่มมูลค่ากากของเสียอุตสาหกรรมเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเป็นวัตถุดิบในอีกอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสิ้นสุดของการเป็นของเสีย (End of Waste) รวมถึงการพัฒนามาตรฐานสำหรับวัตถุดิบทุติยภูมิเพื่อให้เกิดการเลือกใช้วัสดุทดแทน (Circular Supplies) เพื่อรักษาต้นทุนของธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และลดการเกิดของเสียที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โดย กรอ.จะให้ความช่วยเหลือ หรือให้การสนับสนุนผ่านทางช่องทางต่าง ๆ คือ 1) Single Window (One Stop Service) ศูนย์สารพันทันใจที่เปิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในการดำเนินการและตอบข้อหารือสถานประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร และพ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2) ระบบการขออนุญาตผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการขออนุญาตตามกฎหมาย ทั้ง 3 ฉบับ ภายในอำนาจหน้าที่ของกรมรงงาน คือ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร และพ.ร.บ.วัตถุอันตราย 

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำปีงบประมาณ 2567 สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้แล้วตั้งแต่วันนี้ โดยสามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www5.diw.go.th/mac/ หรือสอบถามสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง โทร. 02-430-6317 ต่อ 2600  

สำหรับการทำงานภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจสีเขียว” (Green Economy : GE) เพื่อสร้างการเติบโตให้กับสังคมอย่างยั่งยืน กรอ.มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ในทุก ๆ อุตสาหกรรม 

“ปีนี้ กรอ. ได้กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนโรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry : GI) 90% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยในปี 2570 โรงงานจะเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) 100% และมากกว่า 50% จะได้รับเครื่องหมายอุตสาหกรรมสีเขียว (GI) ระดับ 3 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.30 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า”

บทความแนะนำ

Find Folk ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ถอดความคิด Find Folk ผู้จุดประกาย “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”

จักรพงษ์ ชินกระโทก ผู้ก่อตั้ง Find Folk เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายเล็ก  ๆ ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสากรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย เขามองว่าส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวนั้นต้องใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าผู้คนยิ่งเดินทางท่องเที่ยวมากเท่าไหร่ ทุกคนก็มีส่วนในการทำลายทรัพยากรธรรมมาชาติมากขึ้นเท่านั้น ตลอดระยะเวลา 7 ปี ของการก่อตั้ง Find Folk จักรพงษ์ พยายามให้ความรู้และปลุกปั้นเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ ที่เรียกว่า “Sustainable Tourism” หรือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านพาร์ทเนอร์ ผู้ประกอบการและแม้แต่ลูกทัวร์ เพื่อหวังว่าเทรนด์นี้จะขยายเป็นวงกว้างในอนาคต...

 

SME ONE : จุดเริ่มต้นของ Find Folk เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

จักรพงษ์ : ต้องบอกว่าผมเป็นคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตั้งแต่แรก ก็คือเรียนปริญญาตรีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่แล้ว แล้วก็เรียนปริญญาโทสาขาการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว ตั้งแต่ตอนที่เรียนปริญญาตรีก็มีโอกาสไปตามอาจารย์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยในการลงพื้นที่ทำงานวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัยก็มีอีกภารกิจ คือจะต้องทำวิจัยต่าง ๆ เพื่อได้ Knowledge, Know-how มาสอนนักศึกษาใหม่ ตอนแรก ๆ ที่ไปทำงานจริงก็ลงพื้นที่ในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะมี Passion เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะว่าคนที่เรียนท่องเที่ยวส่วนมากก็เริ่มมาจากการทำงานเป็นไกด์ ทำงานโรงแรม ทำร้านอาหาร เรือสำราญ ทำสายการบิน ถูกไหมครับ

ตอนนั้นอาจารย์ชวนไปทำวิจัยก็เลยไป ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่งานวิจัยมันใช้เวลายาวนานมาก ตั้งแต่ปี 2 ถึงปี 3 ก็เลยตกผลึกเกิดเป็นแนวคิดบางอย่างว่า จริง ๆ แล้วอาชีพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมันมีแขนงมากกว่าที่เราเคยรู้จัก หนึ่งในอาชีพนั้นก็คือการเป็นที่ปรึกษา การเป็นนักวิจัย หรือการเป็นนักพัฒนาการท่องเที่ยว 

พอเรียนจบมาก็เลยทำงานในบริษัททัวร์ ทำได้ประมาณ 1 ปี ในความรู้ที่เรามี เรารู้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมันเป็นลมหายใจหลักของประเทศไทย ไม่ว่าอุตสาหกรรมไหนจะซบเซาขนาดไหน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ยังเป็นหนึ่งในความหวังของประเทศ ช่วงประมาณปี 2018 รายได้จากการท่องเที่ยวเราอยู่อันดับที่ 4 ของโลก แต่ในขณะเดียวกันการบริหารจัดการหรือขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันเรากลับอยู่อันดับที่ 33 ในปีนั้น ก็สงสัยว่า ทำไมรายได้เราดีมาก แต่การบริหาร การจัดการสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ วัฒนธรรม ความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยว การบริการมันอยู่ไกลจัง 

พอเห็นปัญหาว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเรามีปัญหาอยู่มาก ก็เลยมีแนวคิดว่าอยากจะทำอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความดีงามทั้งระบบ ตั้งแต่รายได้ที่ดี มีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี การกระจายเอื้อเฟื้อผลประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม ก็เลยตั้งบริษัท Find Folk ขึ้นในปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่การท่องเที่ยวเฟื่องฟูมาก โดย Find Folk เริ่มต้นเฟสแรกด้วยการพาคนลงไปเที่ยวที่ชุมชน ไปเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวจริง ๆ ไปกระจายรายได้ให้กับชุมชน โดยใช้การบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นแกน

 

SME ONE : วันที่ Find Folk เริ่มต้นธุรกิจที่ปรึกษา คุณจักรพงษ์มั่นใจในประสบการณ์ตัวเองแค่ไหน

จักรพงษ์ : ตอนที่ก่อตั้ง Find Folk ผมอายุ 24 ปีเอง ตอนเป็น CEO ใหม่ ๆ ก็คิดว่าจะทำอะไร เพราะว่า การทำงานมีเงินเดือนดี ๆ เดือนละ 2-3 หมื่นยุคนั้นก็ดีมาก แต่ว่าพอมาทำธุรกิจมันมีอะไรหลายอย่างให้ต้องคิด รวมถึงตอนแรก Find Folk เรายังไม่ได้นิยามตัวเอง เรายังไม่ได้ทำแบรนด์ว่าเราจะเป็น Consult ตอนแรกผมก็อยากทำบริษัททัวร์ เพราะตอนนั้นทัวร์รุ่งเรืองเฟื่องฟูมาก แต่เราไม่ได้ขายทัวร์เหมือนคนอื่นที่พาไปชม ชิม ช้อป แล้วแชร์ เช็คอินในต่างประเทศ แต่กลุ่มลูกค้าของ Find Folk คือกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือองค์กรต่างๆ ที่เขาอยากลงพื้นที่ไปทำ CSR ไปเที่ยวชุมชน ไปทำ Team Building ที่ไม่ใช่แค่มีวัตถุประสงค์แค่อยากไปเที่ยวเฉย ๆ  เราเลือกตลาดนั้นก่อน  

ผมรู้ตั้งแต่แรกว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะว่ามันเป็นพลวัตรสูง มันเคลื่อนตัวตลอดเวลา แล้วเราก็รู้ว่าการทำทัวร์อย่างเดียวมันมีคู่แข่งเยอะ มีความเสี่ยงเยอะ เรามาเลือกทำท่องเที่ยวเฉพาะทางก็จริง แต่อนาคตมันก็จะมีคู่แข่งที่ทำทัวร์แบบนี้เยอะมากเหมือนกัน 

ผมก็เลยคิดโมเดล Find Folk มาตั้งแต่ทีแรกว่า เราน่าจะทำอีกธุรกิจควบคู่กันไปคือ นอกจากทำทัวร์ยั่งยืนแล้ว ก็ยังรับงานฝั่งนักวิจัยให้กับภาครัฐ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ดูแลชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ค้นหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ คือตอนแรกยังไม่ได้เป็นที่ปรึกษา แต่ว่าพอมีองค์ความรู้มาบ้างจากลูกค้าที่เราลงชุมชนเขาต้องการอะไร เราก็ไปอบรมชุมชน ไปพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตามประสบการณ์ที่เรามีในช่วงนั้น ผนวกกับตอนทำงานวิจัยมาตั้งแต่เรียนปี 2 ก็เลยมีเครือข่ายด้านอาจารย์เยอะ มีเครือข่ายกูรูในแหล่งท่องเที่ยวเยอะ ในช่วงแรกก็เป็นตัวประสานในการที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหรือค้นหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ โดยที่ก็ทำงานควบคู่กัน 2 มิติ เพราะพอเราพัฒนาเสร็จ เราก็จะได้เส้นทางแหล่งท่องเที่ยว ได้ชุมชนใหม่ ก็เอามาขายทัวร์ก็มีรายได้ ส่วนรายได้จากฝั่งพัฒนาก็มาจากภาครัฐ ก็ทำแบบเดิน 2 ทางมาตลอด 

 

SME ONE : ปัจจุบันรายได้จากฝั่งธุรกิจทัวร์ กับฝั่งธุรกิจที่ปรึกษาเป็นอย่างไร

จักรพงษ์ : ช่วง COVID-19 เป็นปีที่ผู้ประกอบการทัวร์ถดถอย แต่ที่ Find Folk เราโตปี 100% ตอนแรกที่ปิดประเทศ ทัวร์หาย 100% แต่รายได้ฝั่งที่ปรึกษายังอยู่เพราะว่าทัวร์หยุดเที่ยว แต่หน่วยงานภาครัฐหยุดพัฒนาไม่ได้ เขายังต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเอาไว้ เราก็เลยมีรายได้จากฝั่ง Consult ที่เติบโตมาก ๆ สิ่งที่ทำให้ Find Folk โตและอยู่ได้มาตลอดคือ Consult ตอนนี้สัดส่วนรายได้จากฝั่ง Consult กับทัวร์อยู่ที่ประมาณ 60 : 40 อาจจะไปถึง 70 ด้วยซ้ำ สมมติรายได้ 100% มาจาก Consult ภาครัฐ 60-70% ส่วนอีก 30% มาจากทัวร์ ต้องเรียนตามตรงว่าปีนี้เป็นปีแรกที่ทัวร์ Corporate เริ่มจะกลับมาจริงจัง ตอนนี้มีถี่ ๆ เกือบจะทุกเดือน เดือนหนึ่งหลาย ๆ ครั้ง เพราะเราทำทัวร์องค์กร ถี่มากไม่ได้ เพราะแต่ละทริปมันจะใหญ่มาก 

 

SME ONE : คนส่วนใหญ่รู้จัก Find Folk จากงานท่าเตียนเฟส เพราะอะไร

จักรพงษ์ : ตอนขึ้นปีที่ 3 เรามีการรีแบรนด์ Find Folk ปรับแบรนด์ให้เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ก็คือทำแบรนด์ฝ่า COVID-19 เลย เราสื่อสารภาพลักษณ์ใหม่ทั้งหมด รีแบรนด์ใหม่ว่าเราจะเป็นใคร ปรับเปลี่ยน Position ทั้งหมด เราแตกไลน์เพิ่มเป็น 3 แผนก ทีมแรกคือทีมพัฒนาหรือ Consult ทีมที่ 2 คือทีมทัวร์ ทีมที่ 3 คือทีม Strategic Marketing Sustainability คือทีมความยั่งยืนที่ทำงานกับพาร์ทเนอร์ทั้งในและต่างประเทศในการทำการตลาดเชิงกลยุทธ์ และพาร์ทเนอร์ชิพระหว่างองค์กร เรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งมันใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก 

เราก็เลยต้องทำงาน Global เพื่อทำให้เรามีชื่อเสียง งานท่าเตียนเฟสก็เป็นหนึ่งในผลงานของทีม Strategic Marketing ว่าเราควรจะทำแบรนด์ชุมชน เราควรจะสื่อสารแบรนด์ เราควรจะเป็นตัวกลาง ซึ่ง Find Folk เป็นเจ้าของร่วมกับชุมชนในการทำแบรนด์ให้ท่าเตียนเฟส พอเราเป็นที่ปรึกษา เราก็จะสามารถไปขอสปอนเซอร์จากหลาย ๆ หน่วยงานได้ หนึ่งในนั้นที่สนับสนุนให้เราทำท่าเตียนเฟสสำเร็จ คือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่มีเงินสนับสนุนให้เราทำโครงการ พอมันเป็น Project ที่ไม่ใช่หน่วยงานจ้างเรา แต่เป็นหน่วยงานสนับสนุนให้เราทำ มันทำให้เรา Create Project ได้ใหญ่มาก ก็เชิญพาร์ทเนอร์มาร่วมกิจกรรมได้มาก รวมถึงในมิติต่าง ๆ ที่เราสามารถนำ Project นำเสนอได้หลากหลายในนามของ Find Folk ก็เลยอาจจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เรามี Positioning ชัดเจนในการขยับเป็นที่ปรึกษา 

 

SME ONE : อยากให้คุณจักรพงษ์ช่วยขยายความว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคืออะไร และต้องมีองค์ประกอบอะไร

จักรพงษ์ : พอพูดถึงความยั่งยืนมันก็จะเกร่อมากในยุคนี้ เพราะใคร ๆ ก็พูดถึงเรื่องความยั่งยืนทุกอย่าง ทำอะไรก็ต้องยั่งยืน เนื่องจากภาวะของโลกที่มันเดือดมาก ในระดับโลกเขาจริงจังมากเรื่องภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของโลก ประเทศไทยเองเราก็มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจหรือว่านโยบายภาครัฐที่ออกมาเยอะแยะมากมายเรื่องของความยั่งยืนว่า เราจะเดินหน้าประเทศเราอย่างไรให้ตอบรับกับกระแสโลก รวมถึงฝั่งเอกชนเองก็ทำจริงจัง

ตอนนี้องค์กรหลาย ๆ องค์กรไม่ได้พุ่งแค่ทำกำไรอย่างเดียว แต่เขายังมุ่งสร้างภาพลักษณ์ที่ยั่งยืน แล้วภาพลักษณ์ที่ยั่งยืนคืออะไร ต้องบอกว่ามันคือความสมดุลหรือเป็นเก้าอี้ 3 ขา ปกติเรานั่งเก้าอี้ที่มี 4 ขา แต่ความยั่งยืนเป็นเหมือนเก้าอี้ 3 ขา

ความยั่งยืนขาแรกที่ต้องมองคือกำไร บริษัทต้องมีรายได้ มีกำไรในการหล่อเลี้ยงธุรกิจเติบโต เรื่องที่ 2 คือ ทุกบริษัทตอนนี้หรือหลาย ๆ บริษัทต้องมีพันธมิตร มีสังคมเครือข่ายที่ดี เพราะ Partnership ทำให้ธุรกิจเติบโต เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน การมีพันธมิตรที่ดี จึงเป็นขาที่ 2 ของเก้าอี้ 

ส่วนขาที่ 3 ตอนนี้ทุกแบรนด์ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก โดยเฉพาะคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่เราใช้ทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ในการเป็นโรงงานของเราในการทำงาน คืออุตสาหกรรมอื่น ๆ เขามีโรงงานเอง แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเราใช้ประเทศเป็นโรงงาน เราอาจจะบอกว่ารายได้มหาศาล แต่ตอนนี้ถามว่ากำไรหรือขาดทุนมันตอบยากมาก เพราะว่ารายได้ 3 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ถามว่าทรัพยากรกว่ามันจะสวยได้ขนาดนี้ มันใช้เวลากี่ล้านปีในการสวย

ดังนั้นเก้าอี้ 3 ขา หรือความยั่งยืนในมิติของ Find Folk คือ บริษัทมีกำไรอยู่รอด อันที่ 2 คือบริษัทได้โอบอุ้มดูแล แลกเปลี่ยนกับพันธมิตรและเติบโตด้วยกัน คือขาสังคม ส่วนอันที่ 3 คือสิ่งแวดล้อม Tourism Resources ที่เราใช้ในการทำงานก็ต้องเติบโตด้วย เราจึงทำการท่องเที่ยวในรูปแบบ Low Carbon Tourism การท่องเที่ยวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นี่คือความยั่งยืนที่เรามอง

 

SME ONE : พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวปัจจุบันค่อนข้างหลากหลายแบ่งเป็น Segment ย่อยมากมาย Find Folk มีวิธีบริหารความต้องการอย่างไรให้ลงตัว

จักรพงษ์ : ที่ Find Folk พอเราเน้นเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เราทำ Green Operation เป็น Normal อยู่แล้ว เช่น ลูกค้าบอกว่าลูกค้าอยากจะมา Wellness Tourism หรือคอร์สการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อยากไปเที่ยวแบบสุขภาพเลย 5 วัน แต่ในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้นเราใส่เรื่อง Low Carbon Activity ไปด้วย เช่น ทุกทริป Find Folk จะใช้ยานพาหนะที่ผ่านการ Certified จากกรมควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อมแล้วว่า ปล่อยควันไม่เกินมาตรฐาน เราไม่ใช่ขวดน้ำพลาสติก เราพยายามให้นักท่องเที่ยวเอากระบอกน้ำมาเอง หรือถ้าไม่ได้จริง ๆ เราแจกน้ำเป็นกระป๋องแล้วเราเก็บกลับมารีไซเคิล อันนี้เป็นตัวอย่าง Green Operation ที่เป็นแกนกลางของ Find Folk อยู่แล้ว 

ส่วนธีมหรือคอนเซปต์หรือประโยชน์เราดีไซน์ได้เกือบจะทุก Segment ของประโยชน์ที่นักท่องเที่ยวอยากจะได้ เช่น ทริปท่องเที่ยวสายมู อยากจะไปไหว้ขอลูก แต่งงานมาตั้งนานแล้วไม่มีลูก เราก็จัดได้ทั้งแพ็กเกจ โรงแรมก็ต้องเป็นโรงแรมที่ตื่นสาย ๆ ได้ อาหารเช้าเสิร์ฟตอนไหนก็ได้ Check-out Check-in ตอนไหนก็ได้ พาไปปรึกษาคุณหมอว่าวันไหนไข่ตก เราทำถึงขนาดนั้น พบคุณหมอเสร็จ พาไปไหว้ศาลเจ้าตรงไหน ไหว้พระตรงไหน ชุมชนไหนบอกว่าไหว้แล้วได้ลูกดี ได้ลูกผู้หญิงลูกผู้ชายอะไรแบบนี้ ทุกอัน Green Operation จะเป็นแกนกลาง ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยวสายมู สายสุขภาพ ในทุก Segment คือเราต้องตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวได้หลากหลาย 

 

SME ONE : ถ้าผู้ประกอบการเดิมอยากปรับตัวหันมาให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมต้องทำอย่างไร

จักรพงษ์ : ผมว่าทุกคนรู้เรื่องกระแสภาวะโลกร้อน หรือเราต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ทีนี้ถ้าบริษัทไหนไม่ทำมันจะตกขบวน มันอาจจะไม่ต้องทำเข้มข้นกรีดเลือดออกมาเป็นเลือดเขียว Green Operation แบบ Find Folk ก็ได้ ผมว่าสเต็ปของการเริ่ม มันไม่มีจุดไหนที่บอกว่าผ่านไม่ผ่าน แต่ประเทศไทยก็ยังอยู่ในสเตจที่เป็น Volunteer ในเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังไม่มีกฎหมายออกมาบังคับ แต่อีกปี 2 ปีจะเริ่มมีกฎหมายออกมาบังคับเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน 

ถ้ามองในภาพรวมในระดับ Global ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เอาจริงเอาจังเรื่องนี้ ถ้าเป็นใน South East Asia เราเป็นรองแค่สิงคโปร์ในเรื่องของการบริหารจัดการที่พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทีนี้ผู้ประกอบการก็ไม่ต้องกังวลว่ามาตรฐานมันอยู่ตรงไหน เพราะเดี๋ยวมาตรฐาน เครื่องมือ กฎหมายมันจะค่อยๆ ออกมาตะล่อมให้เราอยู่ในกติกาเอง

ผมว่าผู้ประกอบการต้องมี 2 อย่างถ้าอยากจะปรับตัว อันแรกคือต้องมีกรอบความคิดที่จะต้องเรียนรู้ คิดว่าปรับแล้วเป็นประโยชน์ ไม่ได้คิดว่าปรับแล้วลำบาก เช่น สมมติว่าเรา Green Operation ใน Find Folk เราเปลี่ยนหลอดไฟทั้งบริษัทเป็น LED ก็ประหยัดค่าไฟได้ หรือหลอดไฟหน้าบ้านเราทั้งหมดเราใช้ Solar Cell มันก็ประหยัดค่าไฟ มันต้องมี Mindset ว่าเราปรับแล้วไม่ได้เสียอะไร มีแต่ได้กับได้ 

อันที่ 2 ผู้ประกอบการควรจะหา Skill set เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม เช่น ตอนนี้หลักสูตรที่หน่วยงานภาครัฐ หรือสมาคมต่างๆ เปิดให้เรียนก็ไม่เสียเงิน สามารถเรียนรู้ได้เรื่อย ๆ เครื่องมือในการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเดี๋ยวนี้ก็มีให้ใช้ฟรีโหลดแอปฯ มาเลย Zero Carbon มีข้อมูลทุกอย่าง ต้นทุนยั่งยืนถ้าเทียบไปเมื่อ 3-5 ปีที่แล้วตอนที่ Find Folk ทำมันราคาแพงมาก Solar Cell แผงนึงก็หลักหลายแสน แต่ตอนนี้ต้นทุนเรื่องสิ่งแวดล้อมต่ำลงมาก เพราะ Supply มันเยอะขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไม่ต้องกังวล ขอแค่มีอันแรกก่อนคือ Mindset

 

SME ONE : ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ Find Folk เจอปัญหาในการทำธุรกิจอะไรบ้าง และแก้ปัญหาอย่างไร

จักรพงษ์ : เจอปัญหาเกือบทุกวัน ผมมี Mindset ว่าชีวิตส่วนตัวมันไม่ได้มีความสุข คือผมนิยามความสุขไม่ออก ผมแค่รู้สึกว่าชีวิตคนมันมีแค่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ความสุข ก็คือความทุกข์ในระดับที่เราเราทนได้แล้วรู้สึกว่ามันเฉย ๆ ส่วนการทำธุรกิจมันก็มีปัญหาใหญ่กับปัญหาเล็ก ตัวธุรกิจเล็กก็ปัญหาเล็ก ธุรกิจหมื่นล้านก็ปัญหาหมื่นล้าน แล้ว Find Folk เราเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การเป็นที่ปรึกษาหมายความว่า ปัญหาคืองาน คือโอกาส คือเงินของเรา ดังนั้นทุกวันเราจึงทำงานเพื่อแก้ปัญหาตลอดเวลา แล้วด้วยความเป็นตัวกลางในการคุยตั้งแต่ระดับนโยบาย หรือคุยกับผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน หน่วยงานเล็กที่สุดที่เราคุยคือชุมชน คือเราต้องกินวุ้นแปลภาษาตลอดเวลา เราก็ต้องพยายามคิดปัญหาให้มันอยู่ในมือเรา เพื่อเป็นสะพานในการเชื่อม 2 ฝั่งให้สมดุลย์กัน 

ถามว่าเจอปัญหาอะไร เจอตลอด เจอเรื่อย ๆ ปัญหาที่ผู้ประกอบการทุกคนก็คงจะเจอ เช่น เรื่องของคน เมื่อองค์กรมันโตขึ้น เราก็ต้องมีการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เรื่องการบริหารจัดการคนในยุค Crisis ก็สำคัญมาก อย่างเช่น เราต้องรู้ว่าคนตำแหน่งไหนที่บริษัทขาดไม่ได้ เราต้องรักษาให้อยู่ในระดับ 100% ตลอด ตำแหน่งไหนที่เราต้อง Outsource เพื่อจัดการต้นทุน 

การเป็นสตาร์ทอัพมันจะมีจังหวะที่เรามีไฟ ทุกคนก็จะมีไฟ เราก็ต้องคอยปราบปราม เพราะมันก็จะฮึด ๆ ตลอดเวลา มันก็จะมีจังหวะที่เหนื่อยมากจนไฟมันมอด เราก็ต้องคอยเติมไฟให้มัน อันนี้คือตัวอย่างปัญหาเรื่องของคน เรื่องการบริหารจัดการองค์กรที่เราเจอ 

 

SME ONE : ที่ผ่านมา Find Folk เคยไปขอคำปรึกษาจากภาครัฐบ้างหรือไม่

จักรพงษ์ : เรามีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือดีมาก เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติที่ให้ทุนเรา 2-3 ปีต่อเนื่องตอนที่เรายังเตาะแตะ ปีละล้านบ้าง ปีละ 7-8 แสนบ้าง เพื่อให้เราเอานวัตกรรมมาทำเป็นผลงาน ผมมองว่ามัน Win-Win หน่วยงานภาครัฐให้งานให้เงินเราในการเติบโต เพราะถ้าเขาไม่ให้โอกาส เมื่อก่อนบริษัทเล็ก ๆ เมื่อก่อนผมก็อายุ 25-26 แล้วเข้าไปคุยกับ ททท. คือเขาเมตตาเรา คือหน่วยงานภาครัฐเมตตาให้เราเติบโตนะ อย่างที่เราเห็นว่าตอนนี้เขาก็สนับสนุนให้จ้าง MSME จ้าง SE (Social Enterprise) ในการทำงานเยอะขึ้น เราก็เติบโตจากการเรียนรู้ในโครงการที่ทำด้วยกัน เขามองในมิติของหน่วยงานที่ต้องเคลื่อนนโยบาย ผมมองในมิติของคนทำงาน เราก็เติบโตด้วยกันตลอด 

 

SME ONE : คิดว่าอะไรคือ Key Success Factors ของ Find Folk 

จักรพงษ์ : ความยั่งยืนแรกของ Find Folk คือ คนในองค์กร ผมก็จะบอกตลอดเวลาในทุกเวที ทุกคอลัมน์ที่สัมภาษณ์ผมว่า ผมทำหน้าที่เป็นเพียงแค่คนพูดแล้วขมวดไอเดีย คือเมื่อก่อนผมอาจจะทำทุกอย่างจริงตั้งแต่ทำสไลด์ นำเสนอโครงการ ลงพื้นที่ทำงาน จบงาน สัมภาษณ์ แต่ตอนนี้ทีมทำโจทย์มา ผมมาร่วมเซตอัพช่วยเสนอ หรือผมช่วยพูดแทนเขาในมิติต่าง ๆ หรือผลงานต่าง ๆ แม้กระทั่งท่าเตียนเฟส ผมก็รู้ในภาพรวม แต่ถ้าจะเอารายละเอียดว่าเขาทำอะไร กว่าจะกลั่นกรองแบรนด์ออกมา ใช้เวลานานเท่าไหร่ ผมก็ต้องให้คุยกับทีมที่ทำงาน 

Key Success แรกขององค์กรเป็นเรื่องคน แล้วผมตัดสินใจถูกตั้งแต่ 2-3 ปีแรกที่เรามีพนักงานแค่ 3-5 คน แต่เราทำ Training มาตลอด เราพัฒนาคนตลอด แม้กระทั่งบริษัทไม่มีกำไรเยอะแยะมากมาย เราก็ส่งคนไปเทรน เพราะว่าเราไม่ใช่องค์กรที่สามารถให้เงินได้เท่ากับบริษัทจดทะเบียนแน่นอน แต่ผมเชื่อว่าเราพยายามทำให้ทุกคนเติบโตพร้อมกับองค์กร ในขณะที่องค์กรต้องสปีด เราก็ต้องทำให้คนสปีดตามองค์กร หรือในจังหวะที่องค์กรมันสโลว์ด้วยอะไรก็ตาม เราก็ต้องทำให้คนสโลว์อยู่กับองค์กร ดังนั้น Key Success ผมคอนเฟิร์มว่าเป็นเรื่องคนที่ช่วยทำงาน ช่วยจบปัญหา มองว่า Find Folk คือของเขา เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

 

SME ONE : มีความคิดจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร ในจังหวะที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา

จักรพงษ์ : ตอนนี้ 3 โมเดลเราเคลื่อนเต็มที่ โมเดลที่ปรึกษากับภาครัฐเราก็มองหลากหลายขึ้น จากที่เป็นแค่คนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ตอนนี้เราดูในสเกลถ้ามันจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้จริง มันอาจจะไม่ใช่แค่ในชุมชนแล้ว ในมุมของ Find Folk ที่จะเติบโตตอนนี้คือ เรามองเรื่องตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนตลาดเราเป็นตลาดในประเทศ ตอนนี้เราพยายามทำ Global Award มากขึ้น เพื่อจะดึงความสนใจจากต่างประเทศให้สนใจประเทศไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่ดี ไม่ใช่แค่แหล่งท่องเที่ยวที่สวย ประมาณนั้น

 

SME ONE : อะไรคือความท้าทายของ Find Folk 

จักรพงษ์ : ความท้าทายตอนนี้คือทำอย่างไรให้ Sustainable Tourism หรือ Green Operation เป็น Mass มันไม่ใช่เรื่องที่ผมต้องมานั่งอธิบายแล้วว่า ต้องเที่ยวแบบนี้ ๆ คือทรัพยากรเราไม่มีทางอยู่เหมือนเดิม สมมติผมอยากเห็นน้ำตกหรือทะเลที่สวยเหมือนเดิมอีก 20 ปี มันไม่มีทางเหมือนเดิม ถ้าเราทำท่องเที่ยวยังไงมันก็ต้องทรุดโทรม แต่จะทำยังไงให้ Mindset ของคนที่ไปเที่ยวรับผิดชอบตัวเองให้ได้ มันเสื่อมโทรมได้ แต่มันต้องเป็นไปอย่างช้าที่สุดเพื่อให้ลูกหลานเราได้เห็นของสวยงามเหมือนเรา ผมอยากทำให้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็น Normal เป็น Mass ทุกผู้ประกอบการทำเรื่องนี้เป็นปกติ แบบที่ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นความท้าทาย 

ความท้าทายเรื่องที่ 2 คือ ฝั่งนักท่องเที่ยว สมมติว่าเรามีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเยอะแยะมากมาย จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวชุมชนแบบที่ไม่ใช่กลุ่มองค์กรไปเที่ยว ไม่ใช่กลุ่มศึกษาดูงาน แต่เป็นคนที่อยากไปเที่ยวชุมชนจริง ๆ แล้วเห็นประโยชน์ของการเที่ยวชุมชนจริง ๆ เห็นคุณค่าจริง ๆ ให้ทุกคนรู้สึกว่า เฮ่ย...ฉันอยากไปเที่ยวชุมชนนี้จังเลย ดูสวย ดูบริหารจัดการดี อยากไปสนับสนุนชุมชน อันนั้นคือ Challenge ของผมที่ต้องทำให้เกิด ไม่ใช่ว่าผมไปขาย CEO บริษัท แล้ว CEO ซื้อพาคนในบริษัทไปเที่ยว แต่ตัวพนักงานกลับไม่อยากไป

 ถ้าถามว่าความท้าทายที่ต้องทำให้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็น Mass เป็นบันได 10 ขั้น ตอนนี้อยู่ขั้นที่เท่าไหร่ ผมว่าเราเดินมาเกินครึ่งแล้ว อยู่แถวๆ ขั้น 5 ขึ้น 6 มันอยู่ในขั้น Awareness แต่เราจะทำยังไงให้ Awareness นี้เป็น Need ให้ได้ ทีมกลยุทธ์ทีมการตลาดเราก็ดูเฝ้าติดตาม วิจัยตลอดเวลา อะไรที่ทำให้คนตัดสินใจ ตอนนี้คนรับรู้มากขึ้น แต่มันยังเป็นแค่ Nice to Have มันยังไม่ถึงขั้น Need to Do 

 

SME ONE : อยากให้คุณจักรพงษ์แนะนำคนที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจแบบ SMEs

จักรพงษ์ : ผมเชื่อว่าทุกคนอยากมีอิสระ ทั้งอิสระในการใช้ชีวิต อิสระทางการเงิน มันเป็นทางออกของทุกคน สิ่งที่อยากบอกทุกคน คือตอนนี้ช่องทาง โอกาสในการประสบผลสำเร็จ ในการหาความรู้ โอกาสในการทำตลาด ในการทำธุรกิจมันง่าย และหลากหลายกว่าเมื่อก่อน ดังนั้นถ้าเราอยากที่จะทำ คือเมื่อก่อนอาจจะบอกว่ารู้สิ่งใดรู้ให้จริงแต่สิ่งเดียว รู้ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล แต่มันใช้ไม่ได้สำหรับยุคนี้ ยุคนี้คือต้องรู้หลาย ๆ อย่างเพื่อกระจายความเสี่ยง การบริหารธุรกิจการทำธุรกิจ คือการที่เราจับหลักอนาคตได้ เรารู้ว่าความเสี่ยงคืออะไร เราจัดการบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสม คนที่จะมาทำธุรกิจต้องมี Mindset ว่าการทำเรื่องธุรกิจไม่ยาก แต่การทำให้ธุรกิจไปต่อ หรือการมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจน การตื่นขึ้นมาในทุก ๆ วันแล้วรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ มันก็คือความสุขอย่างหนึ่งที่อยากจะชวนทุกคนมาทำ แล้วผมก็เชื่อว่ามันมีโอกาสที่ง่ายและหลากหลายมากกว่าเมื่อก่อนมาก

 

บทสรุป ปัจจุบันการท่องเที่ยวได้กลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า การท่องเที่ยวก็มีส่วนในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หากทุกคนขาดความรับผิดชอบ  ความสำเร็จของ Find Folk อยู่ที่ Mindset ของคุณ จักรพงษ์ ที่ตั้งใจที่จะเป็นหนึ่งในเฟืองจักรที่มีส่วนในการรักษาทรัพยกรธรรมชาติไว้ให้นานที่สุด โดยอาศัยประสบการณ์ในการเป็นบริษัทผู้จัดทัวร์ และเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างสมดุลในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ผ่านความร่วมมือกับภาคชุมชนและสังคมให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน

บทความแนะนำ

ไอติมละมุน ยกระดับไอศกรีมไทยเทียบเท่าไอศกรีมนำเข้า

ไอติมละมุน เล่าเรื่องราวผ่านไอศกรีมผลไม้ไทย

แบรนด์ไอศกรีมที่มีจุดเด่นมากกว่ารสชาติอร่อยของผลไม้ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ของประเทศไทย แต่ในทุกรสชาติยังบอกเล่าเรื่องราวของผลไม้และเกษตรกรในแต่ละท้องที่ จากแนวคิดด้านการตลาดของคุณโบว์ - ชญาณ์พิมพ์ อำนวยปรีชากุล ที่ตั้งคำถามกับแบรนด์ไอศกรีมเดิมของตัวเองขึ้นว่า ถ้าเราจะปรับเปลี่ยนรูปแบบไอศกรีมขึ้นใหม่ให้มีเอกลักษณ์ แต่ยังคงอยู่ในขอบเขตที่เราทำได้ดี และเป็นรสชาติที่ลูกค้าชื่นชอบ จะทำออกมาได้อย่างไร

หลังจากรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายช่องทาง ทั้งการทำ Design Thinking กันภายในทีมงานเอง การไล่สอบถามเก็บข้อมูลจากกลุ่มลูกค้า จึงได้คำตอบออกมาว่า ลูกค้าชอบรสชาติผลไม้ของไอติมละมุน หลังจากได้คำตอบที่เป็นแนวทางตั้งต้นใหม่แล้ว ก็คิดหาอัตลักษณ์ของแบรนด์ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ

คุณโบว์ได้ทำการรีแบรนด์ไอติมละมุนขึ้นใหม่ เป็น ไอติมละมุน Farm to Scoop โดยมีแนวคิดแรกเริ่ม ต้องการชูจุดเด่นเรื่องรสชาติผลไม้ของดีของเด็ดจากทั่วประเทศไทย นำมาทำให้อร่อยได้ในรูปแบบของไอศกรีม

 

ไอศกรีมเชื่อมโยงวิถีชีวิต

รสชาติแรกเริ่มนั้นมีเพียง มะยงชิด มะม่วง มะพร้าว ที่มีเครือข่ายสายสัมพันธ์กับทางฟาร์มที่สามารถส่งวัตถุดิบมาให้ทำเป็นไอศกรีมได้ เมื่อทำออกมาแล้วก็ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี จึงทำการขยายเพิ่มรสชาติต่อ จนตอนนี้สามารถจับมือกับสวนผลไม้ที่แตกต่างกันได้มากกว่า 30-40 สวน ผลไม้แต่ละชนิดมาจากคนละจังหวัด มาจากคนละที่ ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีเรื่องราวให้บอกเล่าแตกต่างกันไป

การทำธุรกิจในรูปแบบนี้ นั้นเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไปด้วยในตัว เพราะในขณะที่แบรนด์เติบโต เกษตรกรก็เติบโตไปด้วย คุณโบว์สร้างพื้นที่ให้กับเกษตรกรไทยผ่านถ้วยไอศกรีม ด้วยการนำพวกเขาขึ้นมาอยู่บนถ้วย พูดถึงพวกเขา บอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา ทำให้เหล่าเกษตรกรเกิดความภาคภูมิใจ และเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาอยากที่จะปลูกผลไม้ในรูปแบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น

การวางระบบที่สนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์นั้น ทางหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีกับตัวเกษตรกรเองเพราะเมื่อไม่ใช้สารเคมี ดินก็จะยังคงมีคุณภาพดี มีความปลอดภัย ส่งผลดีต่อทรัพยากร และส่งผลดีต่อผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคปลอดภัยและได้รับสิ่งดีๆ จากรสชาติที่ดี ก็จะกลับมาอุดหนุน และบอกเล่าเรื่องราวนี้กระจายต่อไปอีก เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันจากทุกฝ่าย ก่อให้เกิดระบบนิเวศที่ดีต่อทั้งธุรกิจและดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

คุณโบว์มีข้อคิดในการทำธุรกิจว่า สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้เป็นอย่างแรก คือ เราต้องรู้ว่าเราเลือกทำธุรกิจ ไปเพื่ออะไร เพราะมันจะส่งผลต่อสิ่งที่เราต้องลงมือทำ สำหรับละมุนกรุ๊ป นั้นต้องการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน จึงตั้งใจที่จะนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

นอกจากนั้นยังมองว่า ธุรกิจจะไม่มีทางอยู่ได้ ถ้าเราไม่รับความร่วมมือจากผู้อื่น ทั้ง Supplier ทีมงาน ไปจนถึงฝั่งลูกค้า การที่เรารู้จักร่วมมือกันสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เป็นการช่วยพัฒนาซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ทุกฝ่ายมีมาตรฐานสินค้าและบริการที่สูงเพิ่มขึ้น

สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท ละมุนกรุ๊ป จำกัด (สำนักงานใหญ่)

ที่อยู่: 562/1 หมู่ที่ 3 ถนนสุขสวัสดิ์ ซอย14/1 แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150 

โทร: 02-068-2662, 095-246-1927

อีเมล: info@lamoon-group.com

เว็บไซต์: www.lamoon-group.com และ www.itimlamoon.com 

Facebook: ไอติมละมุน Itim-lamoon 

Instagram: itimlamoon

Line: @itimlamoon

บทความแนะนำ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีหน้าที่สำคัญในการพัฒนา ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนานวัตกรรมได้ ทั้งที่เป็นวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัป (Startup) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Smart SME) และกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ช่วยพัฒนาปรับเปลี่ยนให้องค์กรเป็น Innovation Base Enterprise 

บริการจากทางศูนย์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ต้องการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการพัฒนานวัตกรรม ผ่านบริการต่าง ๆ ได้แก่

1. การสนับสนุนด้านการเงิน เป็นการสนับสนุนในรูปแบบทุนให้เปล่า (Grant) ไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการที่ขอรับการสนับสนุน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.1. ทุนนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ เป็นกลไกให้ทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจแบบให้เปล่า (Grant) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืนซึ่งจะช่วยยกระดับห่วงโซ่อุปทานเดิมที่มีศักยภาพ และนำไปสู่การสร้างห่วงโซ่มูลค่าใหม่ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

1.2. ทุนนวัตกรรมเพื่อสังคม เป็นกลไกให้ทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมแบบให้เปล่า (Grant) ในการพัฒนาต้นแบบหรือนำร่องนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมไทยในมิติต่างๆ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมอย่างยั่งยืน

2. องค์ความรู้นวัตกรรม ส่งเสริมการสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติและสร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม รวมถึงยกระดับทักษะและความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมายทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ประกอบการ บริษัทขนาดกลางและใหญ่ รวมถึงบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ ผ่านทางโครงการอบรมองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมที่แตกต่างหลากหลายตามบทบาทและหน้าที่ของแต่ละบุคคล

3. การพัฒนาเครือข่าย ความร่วมมือทั้งในด้านธุรกิจและนวัตกรรมระดับประเทศทั้งในระดับเมืองและส่วนภูมิภาค รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายระดับนานาชาติ ผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ

4. การออกสู่ตลาด สนับสนุนสินค้านวัตกรรมของผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาด ทั้งในช่องทางออนไลน์ ห้างร้าน ช่องทางงานจัดนิทรรศการ ไปจนถึงการจับคู่ทางธุรกิจในต่างประเทศ

5. การรับรองบริษัทเป้าหมาย (Capital Gains Tax) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับส่วนเกินทุน (Capital Gains) หรือกำไรจากการขายหุ้น ให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ทำการลงทุนในบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน

ในปัจจุบันนี้โลกของการทำนวัตกรรมนั้น ต้องการความว่องไว จะต้องทำอย่างไรให้เราเอาสินค้าออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว การสร้างเครือข่ายนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เรียกว่าการทำ Open Innovation ที่เปิดเครือข่ายในเรื่องเทคโนโลยี เรื่องการลงทุน เรื่องการตลาดเป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจนวัตกรรมได้

ติดต่อได้ที่

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 

ที่อยู่: 73/2 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

โทรศัพท์: 02-017-5555

โทรสาร: 02-017-5566

อีเมล: info@nia.or.th

เว็บไซต์ : www.nia.or.th

 

บทความแนะนำ

Mr.Leaf Thailand ผลิตภัณฑ์ BCG นำใบไม้มาใช้เป็นวัสดุทดแทนหนังสัตว์

Mr.Leaf วัสดุทดแทนหนังสัตว์

สินค้าตอบโจทย์กระแส BCG Economy ที่กำลังมาแรง “ใบตองตึง” เป็นพืชท้องถิ่นของภาคเหนือที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในรูปแบบภูมิปัญญาชาวบ้านมานับร้อยปี ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ถนอมอาหาร หรือนำมาใช้เป็นวัสดุมุงหลังคา แต่ในความคิดของคุณปรเมศร์ สายอุปราช เขาเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่มากกว่านั้น… 

คุณปรเมศร์ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชาวญี่ปุ่น เพื่อค้นหานวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่และนำมาต่อยอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านจนกลายเป็น “Mr. Leaf” วัสดุทดแทนหนังสัตว์จากใบไม้ ด้วยการนำใบตองตึงมาเคลือบยางพารานาโน จนกลายเป็นวัสดุธรรมชาติชนิดใหม่ที่มีความทนทานไม่แพ้กัน การแจ้งเกิดของ Mr.Leaf ที่ผสมผสานคุณค่าทั้งเรื่องราวด้านวัฒนธรรม ด้านภูมิปัญญาทางกสิกรรมของไทย รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรียกว่าเกิดมาก่อน เทรนด์ธุรกิจสมัยใหม่อย่าง BCG Economy Model จะเป็นที่นิยมจึงถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ที่ผู้ประกอบการทุกคนสามารถศึกษาและถอดบทเรียนได้

 

SME ONE : จุดเริ่มต้นของ Mr.Leaf มีที่มาที่ไปอย่างไร

ปรเมศร์ : อาชีพเก่าผมคือเป็นครูสอนหนังสือ ผมอยากทำธุรกิจแต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจ จนวันหนึ่งได้ไปเจอเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่สอนหนังสือก็คุยว่าเราอยากทำธุรกิจแต่ไม่มีความรู้จะต้องเริ่มต้นอย่างไร ก็พยายามคุยกับหลาย ๆ เรื่องเกี่ยวกับการทำธุรกิจ จนมาจับคีย์เวิร์ดสำคัญที่เพื่อนชาวญี่ปุ่นบอกว่า ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก ถ้าสินค้าไหนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมี Value กับทุกคนไม่ใช่แค่คนบางคน จะเป็นสินค้าที่ขายดีในอนาคต 

ในที่สุดก็ตกผลึกว่าวัสดุที่เหลือใช้บ้านเรามีเยอะ ก็เลยเอาพวกวัสดุไฟเบอร์ เส้นใย ไม่ว่าจะเป็นฟางข้าว ใบไม้ ฯลฯ ลองเอาทุกอย่างมาทำเป็นกระดาษ เป็นเส้นใย จากนั้นก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ลองผิดลองถูกกัน จนได้วัสดุที่นิ่มขึ้นและทนทานอย่างใบตองตึงที่คนเหนือนิยมใช้ห่อข้าว ห่ออาหาร รวมถึงมุงหลังคามาพัฒนา 

พอทำ ๆ ไปผลตอบรับก็ดี หลังจากนั้นก็เข้าเป็นสมาชิกของ สสว. เขาจะมีโครงการ มีหลักสูตรให้เราเรียนรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ เรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ แล้วก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ทำไปพัฒนาไปก็รู้สึกว่าผลตอบรับดี

จริง ๆ Mr.Leaf เริ่มต้นจากเป็นบริษัทที่พัฒนาวัสดุเหลือใช้จากกสิกรรมทั้งหมดของประเทศไทยที่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในการเผา หรือทำลาย ซึ่งเราเห็นว่าตรงนี้มันไม่ใช่แค่ปัญหาของเราคนเดียว ไม่ใช่แค่ปัญหาของเกษตรกร แต่เป็นปัญหาของประเทศเลยพยายามหาวิธีสร้างมูลค่าของวัสดุเหลือใช้ตรงนี้ โดยการเอามาทำให้มีเสน่ห์ในเรื่องของรูปลักษณ์ และเป็นการสร้างคุณค่าของวัสดุเดิมผ่านนวัตกรรม

 

SME ONE : จากวันที่เริ่มต้นเป็นแค่ความคิดในอากาศ จนกระทั่งมีสินค้าชิ้นแรกออกมาต้องใช้เวลานานแค่ไหน

ปรเมศร์ : แรกๆ เราคีย์เวิร์ดตัวเองว่าเราไม่ได้เป็น Product Design เราเป็น Material Design เราเน้นพัฒนาวัสดุทดแทน ไม่ว่าจะเป็นทดแทนหนัง ทดแทนผ้า เอาของที่เหลือใช้มาทำอะไรแบบนี้ แต่สินค้าช่วงแรก ๆ ก็แตกกรอบ คนที่ทำงานพวกนี้ก็น่าจะรู้ว่า การทำสินค้าพวกนี้ต่อสู้กับธรรมชาติ และบางอย่างก็เหนือการควบคุม

ตอนแรกเรายังไม่ได้ทำเป็นกระเป๋า เพราะเรารู้ว่าวัสดุที่เราทำมันยังไม่แข็งแรงพอ เราก็ขายเป็นวัสดุก่อน เพื่อเอาไปทำกล่อง ทำโคมไฟ พอเราได้ข้อเสนอแนะจากลูกค้าว่ามันมีปัญหาตรงนั้นตรงนี้ เราก็พยายามไปอุดรอยรั่วของปัญหา ระยะเวลาที่เราทำตั้งแต่ Kickoff จนเป็นสินค้าของเราเองก็ใช้เวลา 3-5 ปี กว่าที่ลูกค้าจะยอมซื้อเราแบบต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ก็ซื้อมาขายไป แต่ก็ยังไม่มีทิศทางเท่าไหร่ 

 

SME ONE : ช่วงที่เปลี่ยนจากทำวัสดุมาเป็นสินค้า ตอนนั้นคิดไปไกลขนาดไหน

ปรเมศร์ : ช่วงรอยต่อตรงนั้นเป็นยุคกลางแล้ว ช่วงที่เราเข้ามายุคนั้นยังไม่มีคำว่า BCG (Bio-Circular-Green) อะไรสักอย่าง เนื่องจากผมทำแล้วส่งไปที่ยุโรป และอเมริกาเยอะ เรียกว่าพื้นที่ไหนมีปัญหาสิ่งแวดล้อม โอกาสของธุรกิจเราก็จะเกิด เพราะจะมีกลุ่มพวกต่อต้านการฆ่าสัตว์ ต่อต้านการใช้หนังจากสัตว์อะไรพวกนี้ที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม คนจะมองหาวัสดุทดแทนใหม่ ๆ 

เราพยายามพัฒนาวัสดุที่เรามีอยู่ตามคุณสมบัติที่ลูกค้าอยากได้ เราทำมาทดสอบเรื่องแรงดึง แรงเฉือน เรื่องกันน้ำ เราเอาวัสดุเราไปทดสอบให้มีความใกล้เคียงที่สุดกับวัสดุที่ใช้ทดแทนผ้า ก็เลยทำนวัตกรรมขึ้นมา ทำให้เกิดความแข็งแรง ทนทาน เพราะทำให้พาร์ทเนอร์ซื้อเอาไปใช้ หรือขายเขาต้องรู้สึกมั่นใจที่จะเดินต่อไปกับเรา เราก็เลยใช้นวัตกรรมนำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ด้วยการพัฒนาการผลิตวัสดุเคลือบด้วยนวัตกรรมน้ำยางพารานาโน จนเป็นวัสดุทดแทนหนังสัตว์ทำให้แก้ปัญหาการใช้หนังสัตว์ได้ จากที่เน้นขายวัสดุอย่างเดียวก็เริ่มพัฒนางานออกแบบจนเป็นสินค้าต้นแบบ (Prototype) ได้ในที่สุด

 

SME ONE : ในส่วนงานดีไซน์คุณปรเมศร์ทำเองทุกอย่างเลยหรือไม่

ปรเมศร์ : เราทำงานร่วมกับญี่ปุ่นก็ต้องทำเป็นทีมอยู่แล้ว ผมเน้นทำงานเป็นทีม เพราะฉะนั้นผมจะมีทีมที่คิดเรื่องการวิจัยวัสดุ ส่วนทีมดีไซน์ตัว Product ก็มีหน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, สสว. มาให้คำปรึกษา หน่วยงานไหนที่เขามีอบรมประชุมเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบดีไซน์ เราก็ไปเรียน เราก็จะได้หลายความรู้ที่แต่ละองค์กรให้เรามา 

ส่วนที่ 2 End user คือลูกค้าเราที่เขาจะรู้ดีว่าสินค้าที่เราทำไป มันเหมาะกับกลุ่มไหนของเขา เขาก็จะดีไซน์งานมาให้เรา แต่สินค้าที่เพื่อนญี่ปุ่นแนะนำในช่วงแรก คือ Tote Bag แต่เราก็ให้ความสำคัญเรื่องของวัสดุนำดีไซน์มากกว่า 

 

SME ONE : วันที่ Mr.Leaf ทำกระเป๋าเพื่อสิ่งแวดล้อม ตอนนั้นเทรนด์สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นกระแสหรือยัง 

ปรเมศร์ : ถ้าในต่างประเทศเทรนด์สิ่งแวดล้อมมีมาได้ 10-15 ปีแล้ว แต่ตอนนั้นในเมืองไทยยังไม่มา ในต่างประเทศประชาชนสนใจเรื่องปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะ เพราะเขามองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวของเขา เนื่องจากภูมิอากาศภูมิประเทศเขามันเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ของเราไทยเราตื่นมายังมีข้าว มีนาสีเชียวอยู่ ยังมีวัตถุดิบเต็มบ้านเต็มเมือง อยากกินอะไรก็ไปตลาด หรืออยากซื้ออะไรก็ซื้อ เลยอาจจะยังไม่ตื่นตัวเท่าไร

แต่พอช่วงหลังมาด้วยกลไกการตลาดที่กดดันให้ผู้ประกอบการต้องช่วยปกป้องธรรมชาติ ต้องให้ความสำคัญ ทีนี้ทางผู้ประกอบการไทยบางคนที่ไหวก็ทำไปก่อน บางผู้ประกอบการยังไม่ได้ปรับตัวก็รอทางภาครัฐ หรือหน่วยงานมาช่วยเหลือ ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละผู้ประกอบการ แต่ Mr.Leaf ของผมทำมาเกือบ 20 ปีแล้ว สินค้าเราปัจจุบันส่งไปขาย 17 ประเทศ จนเราได้รางวัลรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น ประจำปี 2560 Best OTOP

 

SME ONE : ตอนนี้คนไทยเริ่มใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่พอเจอราคาที่แพงกว่าเข้าไปก็ถอย เรื่องนี้มองอย่างไร

ปรเมศร์ : ผมขายกระเป๋า Tote Bag หรืออะไรแบบนี้ที่ญี่ปุ่น ราคาที่เป็น Best Seller ก็คือราคาของกระเป๋าผู้ชายที่ซื้อได้ง่าย ๆ ก็ 2,800-3,500 บาท ถ้า 10,000 เยนก็ประมาณ 3,000 กว่าบาท แต่ส่วนมากคนจะขายประมาณ 8,000 เยน 6,000 เยนก็เป็นราคา Best Seller ราคาก็ถือว่าค่อนข้างสูง แต่ถ้าเทียบเหมือนกะเพราไข่ดาวบ้านเรา 80 บาท ที่นู่น 150 บาท ก็เป็นราคา Standard ตามค่าครองชีพของเขา

ถ้าเป็นคนไทยผมก็พยายามอธิบายว่า สินค้าของผม 95% ส่งไปต่างประเทศ ถ้าเมืองไทยก็ขายตามงานอีเว้นท์ หรือผมมี Shop Studio ของผมที่เชียงใหม่ ลูกค้าที่เคยใช้ของเราก็จะซื้อซ้ำเยอะ แต่ถ้าลูกค้าใหม่ที่เข้ามาร้านก็ต้องดูคาแรคเตอร์ของผู้ซื้อด้วย ลูกค้าบางคนก็อยากจะคุยกับเราเรื่องแนวคิด วิธีทำ หรืออนาคตเรื่อง BCG แต่บางคนที่เขาสายกรีนอยู่แล้ว ก็อยู่ที่เราจะนำเสนอว่า สินค้าเรามีคุณค่าสำหรับเขาหรือไม่ มันไม่เกี่ยวว่าเราจะตั้งราคาถูกหรือแพง 

ถ้าเราทำสินค้าเราให้มี Value Trust กับคนที่จะซื้อ มันง่ายมาก เพียงแต่ว่าเราต้องลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุดในเรื่องของต้นทุน เพราะผู้ประกอบการไทยบางท่านมองว่าทำสินค้าเศษวัสดุแต่ขายแพงจัง ถ้าซื้อกระเป๋าผ้าทั่วไทยใบละ 550 บาท แต่นี่ 1,200 บาท เราก็ต้องอธิบายให้ความรู้ไป

 

SME ONE : ปัจจุบันสัดส่วนการขายระหว่างสินค้า Material กับสินค้าที่เป็น Product เป็นอย่างไร

ปรเมศร์ : ส่วนธุรกิจ Material เราขายเป็น Project ในรูปแบบพาร์ทเนอร์แบรนด์ Mr.Leaf เช่น Mr.Leaf China, Mr.Leaf Korea, Mr.Leaf Japan เราจะขายวัตถุดิบให้บางส่วนที่เขาต้องการไปซัพพอร์ตลูกค้า ส่วนในประเทศไทยเรามีขายให้หน่วยงาน เช่น งานประชุมเอเปค รัฐบาลก็สั่งสินค้าเราให้ผู้นำประเทศ รวมถึงหลายหน่วยงานที่ทำ CSR ด้านสิ่งแวดล้อมก็จะสั่งของสินค้าเราในส่วนของ Product เราทำทั้ง Co-brand และแบรนด์ Mr.Leaf เพราะแบรนด์ในยุโรปหรือในต่างประเทศมันมี Value สำหรับเขา 

 

SME ONE : ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ Mr.Leaf เจอปัญหาอะไรบ้างในการทำงาน แล้วแก้ปัญหาอย่างไร

ปรเมศร์ : แรก ๆ เราเจอเรื่องคุณภาพของวัสดุ เช่น ลูกค้าบอกว่าใช้แล้วชอบมาก แต่มันปริมันแตก เสียดายจังวัสดุสวยมาก แต่ตรงนี้มันแตกนิดนึง เราก็อธิบายลูกค้าว่ามันไม่มีจักรสำหรับเย็บใบไม้โดยตรง เราก็ขอบคุณที่ช่วยแสดงความคิดเห็น แล้วเราก็พยายามหาวิธีแก้ไข เราก็พูดตรง ๆ กับลูกค้า ลูกค้าบางคนก็แนะนำว่าเราควรจะทำอะไร มันก็จะเป็นจิ๊กซอว์ต่อให้เราพัฒนาปรับปรุงสินค้าให้คุณภาพสูงขึ้น แต่อันดับแรกสมองเราต้องเปิดรับก่อน ต้องยอมรับสิ่งที่ลูกค้าคอมเพลน ถ้าเขาไม่คอมเพลนเลย คือน่ากลัวมาก เพราะเขาไม่อยากติดต่อกับเรา แล้วเราก็จะไม่รู้ปัญหา

ส่วนการปรับปรุงแก้ไข อันดับแรก เราก็ต้องมาดูว่ามันเกิดจากอะไร เกิดจากฝีเข็ม เราใช้จักรฝีเข็ม เราต้องใส่เข็มเบอร์ใหญ่กว่านี้ วัสดุของ Mr.Leaf มันเป็น Leaf Leather เราก็ต้องมาปรับโรตารีจักร ช่วงแรก ๆ เราต้องปรับปรุงเรื่องวัสดุเป็นหลัก ส่วนเรื่องดีไซน์ถ้าสินค้าตัวไหนมีปัญหาก็หาวัสดุใหม่ ๆ มามิกซ์กับมัน 

 

SME ONE : ที่ผ่านมา Mr.Leaf เคยเข้าไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่

ปรเมศร์ : เยอะมาก เพราะเรารู้สึกว่าเราเป็นคนสมองเปิดด้วย ช่วงแรก ๆ ปีพ.ศ. 2547 - 2548 เราเข้าโครงการ OTOP ซึ่งมันเป็นช่วง OTOP ตอนต้น ๆ  มีอะไรก็ขายได้หมด พอขยับมาถึง OTOP ยุคกลางก็เป็น OTOP ที่ทุกคนจะต้องพัฒนาในเรื่องของ Packaging เรื่องของงานดีไซน์  ถ้าเทียบโครงการ OTOP ก็ถือเป็นต้นน้ำ แต่ถ้าโครงการที่ผมเข้าแล้วได้ผลที่สุด คือ ช่วงกลางน้ำก็เป็นของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ช่วยพัฒนาเรื่องระบบการจัดการ เรื่องของโครงสร้าง แล้วก็มีโครงการของกระทรวงพาณิชย์เพื่อมาหาตลาดใหม่ ๆ ช่วงหลังมาผมก็อยู่กับกระทรวงพาณิชย์เยอะขึ้น เพราะว่าเขาจะเอาการตลาดนำการผลิต ผมก็จะเน้นการตลาดนำ แล้วก็ยังมีโครงการของ สสว. ผมก็เข้าร่วมเยอะผมเข้าไปขอคำปรึกษาเรื่องดีไซน์ แล้วก็การพัฒนาที่เน้นเรื่องของระบบการจัดการ เน้นในเรื่องของการพัฒนาเรื่องงานดีไซน์

 

SME ONE : ยอดขายในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ปรเมศร์ : ยอดขายตอนนี้ยังไม่เท่าช่วงก่อน COVID-19 แต่ก็ถือว่ากำลังขึ้นมา แต่ช่วง COVID-19 ก็ยังพอขายได้ เพราะว่าต่างประเทศส่วนใหญ่ก็จะขายออนไลน์กัน พอหลัง COVID-19 ปี 2565 ยอดเราก็เริ่มกลับมา ทุกคนฟื้นตัว ตลาดต่างประเทศต้องใช้เวลาคุยนาน จะขายปีหน้าคุยปีนี้อะไรแบบนี้ มันต้องวางแผนกันข้ามปี เพราะฉะนั้นยอดก็จะขึ้นมาจาก 3% เป็น 5% อย่างปีนี้ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 10% แต่ก็ยังไม่เท่าช่วงก่อนจะเกิด COVID-19  

 

SME ONE : ช่วง COVID-19 Mr.Leaf มีวิธีประคองธุรกิจอย่างไร

ปรเมศร์ : ช่วงนั้นตอนแรกทุกคนก็คงเจอเหมือนกันหมด หลังจากนั้นเราก็เริ่มติดต่อสอบถามลูกค้าว่าเป็นอย่างไร แต่โชคดีที่ต่างประเทศส่วนมากเน้นขายออนไลน์เยอะ และออก Exhibition บ้าง ผมใช้วิธีใช้กลยุทธ์ลดค่าขนส่งให้ลูกค้า 30% สมมติลูกค้าซื้อ 100,000 บาท ผมก็จะช่วยค่าขนส่ง 30% เพราะช่วงนั้น COVID-19 ค่าขนส่งมันแพงมาก แต่เราก็ไม่อยากจะเสียลูกค้าไป เขาก็ไม่อยากจะเสียลูกค้าปลายทางเขา เราก็เลยหากลยุทธ์ หาทางออกร่วมกัน ผมจะนิยมสอบถามลูกค้าเป็นคำถามแบบปลายเปิดว่า มีอะไรให้เราช่วยได้บ้างหรือไม่ ช่วงนั้นพาร์ทเนอร์บางประเทศเราก็ขอโทษด้วยนะเราทำต่อไม่ได้จริง ๆ ช่วงนี้ เอาไว้หลัง COVID-19 เรามาคุยกันใหม่ 

ทางลูกค้าก็เข้าใจและก็ชัดเจน ฉันยังรักและศรัทธาสินค้าคุณอยู่ อะไรประมาณนี้ เขาก็จะพยายามติดต่อกับเรา หลัง COVID-19 ลูกค้าหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐเช็คก็เริ่มกลับมา แล้วก็มีทำโครงการ One Country, One Brand กับแต่ละประเทศด้วย 

แนวคิดของ One Country, One Brand ก็คือ การทำสัญญาเรื่องการบริหารจัดการในแต่ละพื้นที่นั้น ๆ เช่นใช้แบรนด์ Mr.Leaf Canada หรือที่จีนก็ Mr.Leaf China มี 4 สาขาที่จีน ผมก็เอาสินค้าไทยไปขายจีน เอากระเป๋าไปขายด้วย ตลาดที่เมืองจีนจะเป็นลูกค้ากลางกับบนเยอะมาก คนจีนชอบอยู่แล้ว เราก็พยายามเข้าหาลูกค้าที่ชอบธรรมชาติ เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์ก็หนีธรรมชาติไม่พ้น ไม่ว่าจะการกินการใช้การอยู่ เพียงแต่คาแรคเตอร์ของ Product จะต้องชัดเจนกับผู้บริโภคในแต่ละประเทศ

 

SME ONE : มีแผนจะต่อยอดธุรกิจต่อไปอย่างไร

ปรเมศร์ : ตอนนี้ที่เราทำอยู่ที่เชียงใหม่ เราทำโครงการนำร่อง BCG ของกระทรวงพาณิชย์ เราอยากสร้าง Community ที่เกี่ยวข้องกับ BCG จริง ๆ ที่เชียงใหม่ผมก็จะมีห้องประชุม 2 ห้อง มีหน่วยงานราชการเข้ามาดูงานเยอะ เขาก็จะแวะมาดู BCG ของ Mr.Leaf ว่า Key Success คืออะไร แล้วเราสามารถซัพพอร์ตเพื่อนรอบข้าง หรือ ผู้ประกอบการเราด้วยวิธีไหน เพื่อทำให้มันเกิดสินค้าอนาคต 

เขาไม่ได้จู่ ๆ จะเข้ามาซื้อของเราทันที การทำ BCG เราต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ใครมีส่วนได้ส่วนเสีย คุณแน่ใจเหรอว่าคุณทำแล้วมันทำให้ชุมชน หรือสังคมที่คุณอยู่มันดีขึ้นจริง ส่วน Next Step ที่มองไปอีก 2-3 ปี เราจะเป็น Supply Chain Material ให้พาร์ทเนอร์เป็นหลัก แต่ต้องมีเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง 

ความท้าทายของเราต่อจากนี้ไปคือ เราอยากให้เกิด Dynamic เกี่ยวกับ BCG ที่เป็นเชิงพาณิชย์จริง ๆ ที่ไม่ใช่ตามกระแส พอมีข่าวทีก็ทำที แต่เราอยากให้มีกลุ่มก้อนที่เป็น Commercial จริงๆ เกี่ยวกับ BCG ที่ปีกซ้ายคือผู้ประกอบการที่ทำเป็น Dynamic แล้วปีกขวาคือ Government ที่ซัพพอร์ต จะได้บินไปได้ไว ๆ

ผมก็พยายามทำให้มันเกิด กับเพื่อน ๆ ผม ให้เขาเอาของมาวาง ๆ กัน เป็น BCG1, BCG2 ทำเป็นแบบ 1 BCG 1 จังหวัด 1 Product ผมก็ทำของผมเอง คุณทำสินค้า BCG ที่อยู่เชียงรายก็เอามาวางขายที่นี่ได้ แต่ทุกคนต้องมีเป้าหมายและโปรไฟล์ที่ชัดเจนว่าสินค้าที่อยู่ตรงนี้เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมจริง ๆ จะเป็นสินค้าที่เกิดจากป้าคนหนึ่ง ลุงคนหนึ่ง พี่คนหนึ่ง น้องคนหนึ่งก็ได้ที่ตั้งใจทำจริง ๆ แต่ผมอยากให้เกิด Matching Business ที่เป็น BCG จริง ๆ

 

SME ONE : อยากให้คุณปรเมศร์ช่วยให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ MSME 

ปรเมศร์ : อยากฝากให้ผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญกับเรื่อง Positioning ที่ชัดเจน ว่าเราจะเป็นอะไร ผู้ประกอบการบางคนยังมองข้ามเรื่องนี้

 

บทสรุป

ความสำเร็จของ Mr.Leaf อยู่ที่ความชัดเจนตั้งแต่วันแรกที่อยากจะพัฒนาสินค้าที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ เพื่อมาทดแทนวัสดุเดิมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นวัสดุทดแทนหนังสัตว์ที่ทำจากใบไม้ ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ และช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง ๆ  มาจนถึงยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคเรียกร้องให้ภาคธุรกิจเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนกลายเป็นกระแสธุรกิจ BCG Economy Model ก็ยิ่งทำให้ Mr.Leaf ได้รับการยอมรับมากขึ้น ในฐานะสินค้าต้นแบบของ BCG ที่พัฒนามาจากวัสดุเหลือใช้อย่างเศษใบไม้

บทความแนะนำ