3 ข้อที่ต้องทำ ถ้าจะปรับธุรกิจขึ้นออนไลน์

หัวข้อ : 3 ข้อที่ต้องทำ ถ้าจะปรับธุรกิจขึ้นออนไลน์
อ่านเพิ่มเติม :www.smebiznews.com/2020/3-ข้อที่ต้องปรับ

 

ผู้ประกอบการที่มีเคยมีหน้าร้าน แต่ตอนนี้ปิดไปแล้ว หรือผู้ประกอบการที่กำลังสนใจปรับธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ โดยอยากจะเริ่มต้นทำออนไลน์บ้าง จะต้องเริ่มอย่างไร เรามี 3 แง่คิดดี ๆ มาฝากให้เป็นไอเดีย

 

1. ทัศนคติในการทำออนไลน์ 

- เปิดพื้นที่ส่วนตัวเป็นสาธารณะ เรื่องแรกที่ต้องปรับจูนก็คือ ทัศนคติเกี่ยวกับการเปิดเผยตัวตน ลองเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณชนเพิ่มมากขึ้น เปิดรับเพื่อนใหม่ที่อาจไม่เคยรู้จักมาก่อน

- ไม่รอลูกค้าทักเข้ามาซื้อเหมือนออฟไลน์ ต้องทำเชิงรุก เช่น หากเราโพสต์ข้อมูลสินค้าหรือบริการเราลงไปในสื่อโซเชียลแล้ว หากมีคนกดไลก์ ลองเข้าไปทักทายพูดคุย ไม่ต้องรอให้คนทักมาถามราคา

- ตอบไวรวดเร็ว หรือใช้แชทบอท หรือตั้งค่าตอบอัตโนมัติ เพราะตอบช้าแค่ไม่กี่นาที หรือข้ามไปเป็นวัน ๆ ว่าที่ลูกค้าอาจหายไปซื้อกับคนอื่นหมด

- มีการเชื่อมการทำงานระหว่างโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มอื่น ๆ

- ทำงานหนักกว่าออฟไลน์ เช่น เพิ่มเพื่อน ทำโพสต์ ส่งข้อมูล ปิดการขาย

- ลงทุนบ้าง เช่น ถ้าต้องการหาลูกค้าใหม่ ๆ เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย ก็ต้องมีงบประมาณในการซื้อโฆษณาเฟซบุ๊ค

- กฎของจำนวน มีความถี่ ความต่อเนื่อง ทำทุกวัน

 

2. จะเลือกใช้โซเชียลมีเดียแบบไหนดี?

ก่อนจะเลือกใช้ต้องทำความรู้จัก เรียนรู้วิธีใช้งานแต่ละชนิด ซึ่งแต่ะละแพลตฟอร์มก็เหมาะกับประเภทธุรกิจที่แตกต่างไป ขึ้นอยู่ประเภทธุรกิจของคุณ และไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องใช้กี่แพลตฟอร์ม แต่ละโซเชียลมีเดียก็มีจุดเด่นต่างกัน จะใช้หลายโซเชียลมีเดียเพื่อกระจายความเสี่ยงก็ได้ ในบ้านเราที่เป็นที่นิยมในการทำธุรกิจออนไลน์ก็คือโซเชียลมีเดียเหล่านี้

 

3. ทักษะที่ต้องเรียนรู้เพื่อทำธุรกิจออนไลน์

มีหลายเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องฝึก เรียนรู้ในการทำ หรือถ้ามีงบมาก ๆ สามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยทำให้ก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าให้ดีหากธุรกิจไม่ได้ใหญ่มากหรือมีสินค้าหลากหลาย เจ้าของธุรกิจมาลงมือเรียนรู้ทำเอง หรือไปเข้าคอร์สเรียนเพื่อจะได้ทำเองก็จะยิ่งดี

เรื่องที่ควรรู้เพื่อทำเองเป็น

  • ฝึกการใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น แอปแต่งรูป แอพปรับขยายขนาดรูป
  • ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อด้วยแอป
  • เรียนรู้การใช้งานโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
  • การนำโซเชียลมีเดียมาปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจ
  • การเพิ่มเพื่อนแต่ละโซเชียลมีเดีย
  • การลงมือทำอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลลัพธ์หรือสร้างรายได้

 


Published on 21 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ตลาดความงามที่เปลี่ยนไป หลัง COVID-19

หัวข้อ : ตลาดความงามหลังโควิด-19 จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร?
อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbanksme.com/en/beauty-market-behind-covid-19-what-will-happen

 

ในด้านตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกนั้นมีข้อมูลบ่งชี้ว่า ผลพวงจากการล็อกดาวน์ ผู้คนส่วนใหญ่อยู่บ้าน ได้ส่งผลกระทบทำให้ตลาดของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการแต่งหน้าและเทรนด์ความงามต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป

 

เทรนด์และความเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศส

- สาวชาวปารีสที่ขึ้นชื่อว่ารักสวยรักงามเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ยังลดระดับการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงและเสริมความงามลง ในช่วงที่รัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มมาตรการกักตัวประชาชน เป็นระยะเวลานานกว่า 2 เดือน

- น้ำหอมและเครื่องสำอางเมื่อเดือนเมษายน 2563 ยอดขายกลับลดเหลือเพียง 22 ล้านยูโร เท่านั้น (จาก ยอดขายเฉลี่ยปีที่แล้ว เดือนละประมาณ 247.83 ล้านยูโร)

- สินค้าที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ได้แก่ ครีมบำรุงผิวหน้าและผิวกาย ผลิตภัณฑ์บำรุงผม ลิปบาล์ม ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

- สินค้าที่ได้รับผลกระทบสูงสุด คือ ลิปสติก ยอดขายทางออนไลน์ลดลงมากถึงร้อยละ 58

- ปัจจุบันที่เข้าสู่การใช้ชีวิตประจำวันตามเดิม แต่ยังต้องใส่หน้ากากอนามัย ยอดขายเครื่องสำอางสำหรับแต่งดวงตาปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 116  โดยเฉพาะในกลุ่มมาสคาร่าที่มียอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 150

- เครื่องสำอางแบบติดทนนาน กันน้ำ กันเหงื่อ หรือกันเลอะเลือนกลับมาได้รับความนิยมสูงขึ้นมาก 

- เครื่องสำอางแบบคอนทัวร์ริ่งที่เคยฮิต ปัจจุบันกลับได้รับความสนใจน้อยลง

 


 

เทรนด์และความเปลี่ยนแปลงในจีน

-  ในช่วงเกิดการระบาดผู้บริโภคเกือบร้อยละ 50 ให้ความสำคัญกับการดูแลผิวเป็นอย่างมาก ผลิตภัณฑ์ที่มีกำไรเพิ่มขึ้น เช่น แผ่นมาส์กหน้า โลชั่นบำรุงผิวหน้า เซรั่ม เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับดูแลผิวหน้า

- การแต่งหน้าน้อย ส่งผลให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์เช็ดเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ป้องกันแดดน้อยลง

- หลังจากการระบาดพบว่า 

  • ผู้บริโภคร้อยละ 58 ดูแลผิวด้วยการเพิ่มความต้านทานของผิวจากสภาพแวดล้อมภายนอก 
  • ผู้บริโภคร้อยละ 55 ดูแลผิวโดยเน้นคุณค่าและประโยชน์ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์
  • ผู้บริโภคร้อยละ 53 ดูแลผิวโดยเน้นการปรับปรุงผิวพรรณอย่างต่อเนื่อง

- ปัจจุบันเหตุผลที่ผู้บริโภคใช้ในการเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมากที่สุด ได้แก่ ความปลอดภัย ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ ตามลำดับ

- ผู้บริโภคหันมาใช้เทคนิคการแต่งหน้าที่เป็นธรรมชาติแบบบางเบามากขึ้น แม้จะคลายล็อกดาวน์ไปแล้ว

 


 

เทรนด์และความเปลี่ยนแปลงในออสเตรเลีย

- ปกติสาวๆ ออสเตรเลียมีการแต่งหน้าที่เข้ม หลังการระบาดมีการหันมานิยมแต่งหน้าให้มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อความงามแบบทำได้ด้วยเองเพิ่มมากขึ้น

- ยอดขายผลิตภัณฑ์การตกแต่งเล็บ ทำเล็บ และยาล้างเล็บ เพิ่มขึ้นร้อยละ 237

- สินค้าประเภทการทำสีผมแบบปราศจากสารเคมีชนิดรุนแรง เพิ่มขึ้นร้อยละ 124

- ยอดขายสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์กำจัดขน เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน

- ร้านค้าเครื่องสำอางออนไลน์ชื่อดังของออสเตรเลีย มียอดขายเครื่องอุปกรณ์สำหรับคลินิกเสริมความงามเพิ่มขึ้นร้อยละ 113 ยอดขายมาสก์บำรุงผิว เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 และผลิตภัณฑ์ออยบำรุงผิว เพิ่มขึ้นร้อยละ 41

- หลังผ่อนปรนมาตรการมาได้ซักระยะ แต่พฤติกรรมการแต่งหน้ายังคงเน้นสภาพของผิวหน้าที่สดใสและเป็นธรรมชาติ โดยยังคงใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อบางเบา แต่ปกปิดสูง และช่วยบำรุงผิวไปพร้อมกัน

 

บทสรุปนี้ อาจไม่ครอบคลุมในทุกกลุ่มของสาว ๆ ทั่วโลก แต่มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่ประเด็นหนึ่ง คือ เทรนด์ความงามตามธรรมชาติ และเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติได้รับความนิยมชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ ปลอดภัย ซึ่งในประเทศไทยก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน ผู้ผลิตสามารถนำเทรนด์เหล่านี้ไปต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับตลาดที่อนาคตได้

 


Published on 21 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจอาหาร ทำการตลาดผ่านอินสตาแกรม

หัวข้อ : Scale up ธุรกิจอาหารอย่างไร? ให้โตเหนือคู่แข่ง 
อ่านเพิ่มเติม : https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Apr-2019.aspx

การแชร์ภาพอาหารผ่านโซเชียลมีเดียมีอิทธิผลอย่างมากในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อินสตาแกรม หรือไอจี เป็นหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ผู้ใช้ไอจีส่วนใหญ่ชอบลงภาพเซลฟี่ของตัวเองและภาพจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน  หรือกระทั่งภาพอาหารที่ถ่ายอยากสวยงามชวนกิน 

อินสตาแกรม หรือไอจี จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่บรรดาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้า เช่น การเสิร์ฟอาหารที่จัดแต่งสวยงามเพื่อให้ลูกค้าเกิดอาการว้าวจนต้องถ่ายรูปลงไอจี หรือการจ้างคนดังมาถ่ายรูปรีวิวอาหารผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวเพื่อให้ผู้ติดตามของคนดังเหล่านั้นอยากมาตามรอย

สำหรับร้านหรือแบรนดที่มีอินสตาแกรมของตัวเองอย่างเป็นทางการ สิ่งที่ต้องระวังคือ การถ่ายรูปสินค้านับร้อยนับพันแล้วอัพลงรัว ๆ เพราะแทนที่จะเป็นผลดีกลับจะสร้างความรำคาญให้ผู้ติดตามได้

 

เทคนิคการโพสต์ช่วยเพิ่มยอดแชร์และจำนวนผู้ติดตาม

#ชูจานเด่นของร้าน

  • หลีกเลี่ยงการลงภาพอาหารทุกเมนูเพราะอาจจะเป็นอะไรที่มากเกินไป 
  • เลือกลงภาพเมนูที่แตกต่างจากร้านอื่น หรือที่คิดว่าร้านอื่นไม่มี
  • เลือกลงภาพจานที่เป็น “เอกลักษณ์” ที่ลูกค้ามาต้องสั่ง
  • ฉีกแนวเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มด้วยภาพอาหารที่กำลังอยู่ในกระแส เช่น ของว่างเพื่อสุขภาพ อาหาร
  • ที่มีเฉพาะฤดูกาล เป็นต้น

 

#ใช้ประโยชน์จากแฮชแท็ก

การใส่แฮชแท็ก (#) จะทำให้เข้าถึงกลุ่มคนใช้โซเชียลได้มากขึ้น รวมถึงคนที่ไม่ได้ติดตามอินสตาแกรมของทางร้าน นอกจากนั้นแฮชแท็กยังใช้เพื่อติดตามเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกโซเชียลอีกด้วย

 

#รู้ช่วงเวลาในการโพสต์

ภาพอาหารสวยงามก็ไม่อาจดึงดูดความสนใจจากชาวเน็ตได้หากโพสต์ผิดเวลา ช่วงเวลาที่โพสต์จึงสำคัญมาก

  • การโพสต์ภาพอาหารเช้าในช่วงบ่าย หรือโพสต์อาหารค่ำในช่วงเช้าอาจไม่ช่วยอะไร 
  • การโพสต์ภาพอาหารติด ๆ กัน 5 ภาพรวดก็กลายเป็นเฝอเกินไป จึงต้องวางแผนให้ดี
  • การโพสต์ก่อน 9 โมงเช้าช่วงวันธรรมดา เป็นช่วงที่คนเริ่มจับถือโทรศัพท์ระหว่างไปทำงาน โอกาสที่คนจะเข้ามากดไลก์กดแชร์ย่อมมีมาก

 

#ความสมํ่าเสมอคือสิ่งสําคัญ

โพสต์แค่วันละ 1-2 โพสต์ก็เพียงพอ แต่ต้องต่อเนื่องเป็นประจำ ไม่หายไปนานจนคนอาจเข้าใจผิดว่าเลิกกิจการไปแล้ว และไม่จำเป็นต้องโพสต์แต่ภาพอาหารอย่างเดียว อัพเดตข่าวสารของร้านหรือเรื่องราวดี ๆ ที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของร้านและเป็นประโยชน์มาแชร์บ้างก็ได้เช่นกัน

 

#โพสต์ภาพนิ่งสลับภาพเคลื่อนไหว

ควรอัดคลิปหรือถ่ายภาพวิดีโอมาลงบ้าง เพราะภาพเคลื่อนไหวจะดึงความสนใจได้ดีกว่าภาพนิ่ง อาจจะเป็นคลิปสาธิตการทำอาหารหรือเครื่องดื่มง่าย ๆ ของทางร้านที่ความยาว 15 วินาทีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 นาที

 

#ลูกค้าคือคนสําคัญ

ลูกค้าอาจจะถ่ายรูปตัวเองขณะไปใช้บริการที่ร้านและลงในอินสตาแกรมส่วนตัวเป็นเรื่องปกติ ถ้าทางร้านติดตามเจอ แนะนำให้ขออนุญาตแคปภาพลงในอินสตาแกรมร้าน ขอบคุณลูกค้า นอกจากจะสร้างความรู้สึกดีให้กับลูกค้าได้แล้ว ยังอาจช่วยให้เกิดการแชร์โพสต์นั้นเพิ่มอีกได้

 

#จัดกิจกรรมแจกรางวัล

 ทางร้านหรือทางแบรนด์สามารถจัดกิจกรรมง่าย ๆ ผ่านอินสตาแกรม เช่น ประกวดภาพถ่ายกับสินค้าของร้าน เปิดภาพเป็นสาธารณะ แท็กเพื่อนจะกี่คนแล้วแต่เรากำหนด จากนั้นคัดเลือก ภาพไหนชนะจะรับรางวัลไป จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมที่ดีระหว่างลูกค้ากับร้านได้

 

#รีวิวจากคนดังหรือคนที่มีผู้ติดตามเยอะ

หากร้านมีเงินทุนเยอะหรือมีคอนเน็กชัน อาจโปรโมตแบรนด์ผ่านช่องทางของบรรดาเน็ตไอดอล หรือคนที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ยอดขายพุ่งขึ้นถึง 50% เลยทีเดียว



Published on 21 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ทำธุรกิจอาหาร อยากรับจัดเลี้ยง เริ่มต้นอย่างไรดี

หัวข้อ : เทคนิคการทำธุรกิจ Catering อย่างมืออาชีพ
อ่านเพิ่มเติม : https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/catering-technique

 

ธุรกิจรับจัดเลี้ยง หรือ Catering เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการที่อยากเริ่มธุรกิจไปจนถึงผู้ที่อยากต่อยอดธุรกิจอาหารเดิมที่ทำอยู่ แต่การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยปัจจัยหลาย ๆ อย่างมาประกอบเข้าด้วยกัน

 

เรื่องควรรู้ก่อนเริ่มทำธุรกิจรับจัดเลี้ยง

- ธุรกิจรับจัดเลี้ยงถือเป็นงานด้านการบริการจัดเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มตามงานและสถานที่จัดงานต่าง ๆ ที่ลูกค้ากำหนด เพื่อเฉลิมฉลองงานดังกล่าว และเพื่อดูแลให้แขกที่มาร่วมงานเกิดความประทับใจ

- การจัดเลี้ยงที่ดีจะช่วยสร้างคุณค่าให้แก่งาน และเอื้อประโยชน์แก่เจ้าภาพผู้จัดงานต่อไปในอนาคต ดังนั้นนอกเหนือจากอาหารเครื่องดื่มที่สดใหม่ อร่อย และได้คุณภาพแล้ว นักจัดเลี้ยงที่ดีย่อมต้องคำนึงถึงการบริการที่ดีของพนักงาน

- หากยังไม่มีพื้นฐานด้านจัดเลี้ยงมาก่อนไม่ควรทำเป็นธุรกิจใหญ่ ควรเริ่มจากเล็ก ๆ โดยอาศัยฐานลูกค้าในละแวกหมู่บ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียงก่อน

- ธุรกิจรับจัดเลี้ยงเป็นธุรกิจที่ทำกำไรและมีการแข่งขันสูง ดังนั้น ผู้ที่จะทำธุรกิจด้านนี้ต้องมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน และนอกจากมีความพร้อมแล้วยังต้องหาจุดแตกต่างของตัวเองให้เจอ เพื่อเป็นการแสดงจุดขายให้กับธุรกิจของคุณเอง

- หลายครั้งที่ลูกค้ามักมีคำถามหรือต้องการความเห็นจากผู้รับจัดเลี้ยงว่าควรทำแบบไหน มีอาหารอย่างไรที่จะทำให้แขกที่มาร่วมงานประทับใจ ผู้ประกอบการที่ดีต้องสามารถตอบคำถามและให้ข้อมูลกับลูกค้าในเบื้องต้นได้ ดังนั้น ควรรวบรวมผลงานและถ่ายเก็บไว้ ให้ลูกค้าที่มาติดต่อได้เห็นและสามารถตัดสินใจเลือกรูปแบบการจัดเลี้ยงได้ง่ายขึ้น

- ธุรกิจรับจัดเลี้ยงเป็นอีกเทรนด์ที่ต้องอิงกับกระแสสังคม จึงต้องรู้ว่าขณะนั้นความต้องการบริโภคของคนเป็นในทิศทางไหน มีอะไรที่คนสนใจ รวมถึงกระแสสังคมที่คนรับจัดเลี้ยงสามารถเอามาเป็นไฮไลต์หนึ่งในการจัดบรรยากาศของงานโดยต้องไม่เลียนแบบใคร

 

ประเภทของการจัดเลี้ยงสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

  • โต๊ะจีน บริการแบบจับจองที่นั่งรอบโต๊ะ แล้วทยอยเสิร์ฟอาหารเมนูต่าง ๆ ทั้งอาหารจีน อาหารไทย
  • บุฟเฟ่ต์ จัดเตรียมอาหารคาวหวานนานาชนิดไว้ให้แขกเลือกตักรับประทานเอง อาหารบุฟเฟ่ต์มีข้าวเป็นองค์ประกอบหลัก และมักใช้ในอาหารมื้อหลัก เช่น มื้อเช้า มื้อเที่ยง หรือมื้อเย็น
  • ค็อกเทล จัดวางอาหารเมนูต่าง ๆ ไว้ให้แขกเลือกตักรับประทานเอง โดยค็อกเทลจะต่างจากบุฟเฟ่ต์ตรงที่ เมนูค็อกเทลจะเป็นอาหารรับประทานเบา ๆ มักใช้กับงานเลี้ยงที่ต้องการบรรยากาศสบาย ๆ         
  • ซุ้มอาหาร การจัดเลี้ยงแบบออกร้านหรือมีซุ้มอาหารกระจายตามจุดต่าง ๆ เหมาะสำหรับพื้นที่จัดเลี้ยงที่มีบริเวณกว้าง หรืองานที่ต้องการบรรยากาศสนุกสนาน เช่น งานเทศกาลต่าง ๆ เพราะแขกจะรู้สึกเหมือนได้เลือกซื้ออาหารด้วยตนเอง
  • คอฟฟี่เบรกและอาหารว่าง นิยมใช้ในงานสัมมนา มักมีชา กาแฟ หรือโอวัลติน รับประทานกับเบเกอรี่หรือขนมชนิดต่าง ๆ
  • อาหารกล่อง มักเป็นอาหารตามสั่งทั่วไปจัดทำใส่กล่อง เช่น ข้าวผัด ข้าวผัดพริกลงเรือ ข้าวผัดกะเพรา ฯลฯ ราคาตั้งแต่กล่องละ 25 บาทขึ้นไปแล้วแค่วัตถุดิบที่ใช้
  • ชุดอาหารว่าง หรือ Snack Box เป็นการจัดชุดอาหารว่าง เช่น พัฟฟ์ พาย เค้ก และเครื่องดื่มใส่ลงในกล่อง เหมาะสำหรับการสัมมนา การจัดเลี้ยงที่ต้องมีการเดินทาง หรืองานที่ต้องการความรวดเร็ว
  • เซตเมนู เป็นบริการที่จัดอาหารตามความต้องการของลูกค้า ส่วนใหญ่มักเป็นการจัดเลี้ยงขนาดเล็ก เช่น เลี้ยงแขก 10 คน จัดเซตเมนูอาหาร 15 รายการ ซึ่งแต่ละเซตเมนูอาจจะเป็นได้ทั้งเซตอาหารไทย หรือเซตอาหารฝรั่ง
  • อาหารพิเศษอื่น ๆ บางครั้งลูกค้าต้องการเมนูอาหารพิเศษนอกเหนือไปจากที่นิยมใช้กัน เช่น ต้องการให้อาหารในงานเป็นอาหารมังสวิรัติทั้งหมด หรือต้องการให้เป็นอาหารนานาชาติ ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวสำหรับความต้องการพิเศษเหล่านี้อยู่เสมอ

 

Published on 15 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

เคล็ดลับจัดการภาษีธุรกิจ SME ให้มีประสิทธิภาพ

หัวข้อ : เคล็ดลับจัดการภาษีธุรกิจ SMEs ให้มีประสิทธิภาพที่สุด
อ่านเพิ่มเติม : https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/tax-tips-for-sme-1.html

พูดถึงเรื่องของภาษี ผู้ประกอบการหลาย ๆ คนอาจจะคิดว่ามันแสนจะยุ่งยาก ซับซ้อน และมีรายละเอียดมากมายจนอาจทำให้สับสน ควรวางแผนแบบไหน ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง และต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ วันนี้จึงนำเคล็ดลับ5 ข้อ ในการจัดการภาษีให้มีประสิทธิภาพที่สุดมาฝาก

 

1. รู้ก่อนว่า “ธุรกิจ” ไม่ใช่เรื่อง “ส่วนตัว”

ตามหลักของกฎหมาย สถานภาพของ “เจ้าของ” หรือ “ผู้บริหาร” จะถือว่าเป็น “บุคคลธรรมดา” แยกออกจาก “ธุรกิจ” ที่มีสถานภาพเป็น “นิติบุคคล” โดยเด็ดขาด แถมกฎหมายภาษี (ประมวลรัษฎากร) ยังห้ามไว้ด้วยว่า อย่าเอารายจ่ายมารวมกัน เพราะเป็นสิ่งที่ผิดกฏหมาย

ดังนั้นค่าใช้จ่ายส่วนตัว รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของครอบครัว ไม่ควรเอามารวมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาในภายหลังได้

 

2. เข้าใจว่าธุรกิจของเราต้องเสียภาษีอะไรบ้าง

ภาษีที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องเสียให้ถูกต้อง จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม ซึ่งแต่ละประเภทนั้น มีรายละเอียดดังนี้

ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่มีการเรียกเก็บเงินจากเราโดยตรงและไม่สามารถผลักภาระให้กับใครได้เลย ซึ่งก็คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล นั่นเอง

ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่เราสามารถผลักภาระภาษีทั้งหมดไปให้กับผู้บริโภคได้ โดยประกอบด้วยภาษีหลักๆ 3 ประเภท 

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากการบริโภคผ่านการซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากธุรกิจต่างๆ
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีที่มีการจัดเก็บจากธุรกิจเฉพาะอย่าง เช่น ธนาคาร ประกันชีวิต โรงรับจำนำ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
  • อากรแสตมป์ คือ ภาษีที่มีการจัดเก็บในรูปแบบของสแตมป์ เมื่อมีการจัดทำสัญญาหรือเอกสารหลักฐาน ด้วยอัตราที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทที่กฏหมายได้กำหนดไว้

 

3. มองหาผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาดี ๆ

เพราะเรื่องของภาษีอาจมีรายละเอียดที่ซับซ้อน การมองหาที่ปรึกษาที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีสักคน อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้การทำธุรกิจของเราง่ายขึ้นกว่าเก่า

 

4. วางแผนเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย

การวางแผนภาษีที่ดีที่สุด คือ การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องของภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น เราสามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ค่าใช้จ่ายบางรายการที่สามารถหักได้ 2 เท่า เป็นต้น

 

5. อย่าอายที่จะโทรหาสรรพากร

สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่เข้าเรื่องเกี่ยวกับภาษี หรือมีปัญหาที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจน สามารถสอบถามจากทางสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ในเขตที่กิจการของเราตั้งอยู่ เพื่อป้องกันปัญหาการตีความผิดๆ ทางด้านกฎหมาย ซึ่งอาจจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้ หรือในเบื้องต้นสามารถติดต่อและดูรายละเอียดต่าง ๆ ได้ก่อนที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th หรือโทร 1161

 


Published on 15 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ