HempThai วิถีชาวม้งในเส้นใยกัญชง

กัญชง พืชเศรษฐกิจที่ผูกพันกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวม้งมาอย่างยาวนาน อารยธรรมที่สวยงามบวกกับคุณสมบัติที่น่าสนใจของกัญชงนี้เอง ทำให้ HempThai หันมาสนใจและทำการศึกษาทดลองเพื่อเฟ้นหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากกัญชง โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมชาวม้ง ผ่านสินค้าแปรรูปจากกัญชง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนไปพร้อม ๆ กัน

.

อารยธรรมชาวม้ง วิถีชีวิตและภูมิปัญญาด้านกัญชง

ชาวม้งมีความผูกพันกับกัญชงในทุกช่วงเวลาของชีวิต นอกจากจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่เพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้แล้ว เส้นใยกัญชงยังถูกนำมาถักทอเป็นเปลสำหรับเด็กแรกเกิด เสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และในบั้นปลายของชีวิต ชุดจากใยกัญชงจะช่วยคุ้มครองดวงวิญญาณของชาวม้งเมื่อพวกเขาหมดลมหายใจ  ดังนั้น ชาวม้งจึงมีความผูกพันกับกัญชงอย่างเหนียวแน่น ภูมิปัญญาของชาวม้งที่ใช้ในการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และผลิตเส้นใยกัญชงนี้เอง ที่ทำให้กัญชงไทย มีคุณสมบัติที่แตกต่างจากกัญชงประเทศอื่น ๆ

.

วิธีการที่แตกต่าง นำมาซึ่งคุณสมบัติที่แตกต่าง

คุณสมบัติของเส้นใยกัญชงนั้นแตกต่างกันไปตามกระบวนการปลูกและการผลิต รูปแบบการปลูกเชิงอุตสาหกรรมหรือการเร่งปลูกจะทำให้คุณสมบัติของกัญชงหายไป ซึ่งการปลูกกัญชงของชาวม้งจะเป็นแบบออร์แกนิค ไม่มีการใช้สารเคมี จุดนี้เองที่ทำให้คุณสมบัติของกัญชงไทยยังคงอยู่อย่างครบถ้วน เส้นใยกัญชงสามารถป้องกันแบคทีเรีย เชื้อรา ไรฝุ่น ยูวี และยังระบายอากาศได้ดีอีกด้วย กัญชงไทยจึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวญี่ปุ่นและชาวยุโรป เนื่องจากมีความแข็งแรงและมีคุณสมบัติที่ดี และเขามองเห็นและให้คุณค่ากับสินค้าเชิงวัฒนธรรม จึงทำให้กัญชงไทยสามารถเพิ่มมูลค่าได้

.

ผลิตภัณฑ์และชุมชน ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน

เป้าหมายของ HempThai นอกจากการทำให้กัญชงไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากต่างประเทศแล้ว การที่ HempThai นำเอาสินค้าแปรรูปจากกัญชงมาพัฒนาต่อยอดให้มีความหลายหลาย ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน สิ่งที่ตามมาคือการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน เช่น มีกี่ทอมือจำนวนมากขึ้น เพิ่มจำนวนกี่ที่ทำงานได้หลากหลายมากขึ้น  มีการสอนเทคนิคการทอผ้า ปักผ้า พัฒนาฝีมือของคนในชุมชน และนำเอาเครื่องจักรมาช่วยทุ่นแรงในการแยกเปลือกกับตัวแกนของต้นกัญชง เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ชุมชนเติบโต 

.

การยอมรับจากเด็กรุ่นใหม่ในชุมชนคือสิ่งสำคัญ

ทุกวันนี้ มีเด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไปทำงานในเมืองเพื่อหารายได้ ด้วยความหลากหลายทางอาชีพที่มากกว่า และโอกาสในการสร้างรายได้ที่มากกว่า แต่เมื่อสินค้าจากชุมชนมีการพัฒนาและมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น สิ่งนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่หันกลับมามองชุมชนของตัวเอง มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่พ่อแม่ตัวเองทำและเกิดความรู้สึกอยากพัฒนาต่อยอดในรูปแบบที่เขาถนัด ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนขยายไปเรื่อย ๆ HempThai จึงพยายามจัดกิจกรรมที่หลากหลายให้กับเด็ก ๆ ในชุมชน เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าพวกเขาจะมีความสามารถหรือถนัดด้านใดก็ตาม พวกเขาก็สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนได้

.

นวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่า และการพัฒนาต่อยอดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ด้วยคติของแบรนด์ที่ไม่หยุดอยู่กับที่ และทดลองสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ปัจจุบัน HempThai ได้มีการนำเอานวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผ้าใยกัญชง ทำให้มีคุณสมบัติพิเศษ ทั้งการเติมนาโนแคปซูลให้ผ้าปล่อยกลิ่นหอม การเพิ่มคุณสมบัติในการกันน้ำ กันไฟ เพื่อใช้ในการทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน และมีการทดลองเพื่อแปรรูปทุกส่วนของต้นกัญชงให้มีประโยชน์มากที่สุด ทั้ง เส้นใย แกน ราก ใบ และเมล็ด ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อใช้เป็น ฝ้า ไม้อัด หลังคา หรือนำมารับแรงกระแทกในกระดานโต้คลื่น โดยทำการวิจัยร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

.

เลือกตลาดที่เหมาะกับสินค้า

นอกจากการพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมและงานออกแบบแล้ว การเลือกกลุ่มลูกค้าก็สำคัญไม่แพ้กัน มีกรณีศึกษาจากผลิตภัณฑ์ของ  HempThai ที่อาจไม่ตอบโจทย์ชาวไทย แต่ถูกใจชาวต่างชาติสุด ๆ

 

  • พรมกันไฟ – ชาวต่างชาติ มักจะปูพื้นบ้านด้วยพรม และการสูบบุหรี่ในบ้านก็มีโอกาสทำให้เกิดไฟไหม้ ซึ่งพรมจากผ้าใยกัญชงสามารถแก้ปัญหานี้ได้ จึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
  • กระเป๋าเป้ Everyday Reuse – กระเป๋าที่ออกแบบมาสำหรับใช้ทุกวัน มีช่องใส่ขวดน้ำ เก็บง่าย พับได้ เปลี่ยนรูปทรงได้ ใบเดียวใช้ได้กับทั้งชุดสูท ชุดลำลอง และชุดออกกำลังกาย สินค้านี้ไม่ค่อยตอบโจทย์คนไทย เนื่องจากคนไทยชอบที่จะเปลี่ยนกระเป๋าไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อนำไปวางขายในตลาดญี่ปุ่นกลับได้ผลตอบรับที่ดีมาก เนื่องจากตอบโจทย์ lifestyle ของเขา

 

.

การปรับตัวเพื่ออยู่รอดในช่วงวิกฤต

ทุกธุรกิจที่ทำผ้าผืน ต่างเอาตัวรอดด้วยการผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อจำหน่ายในช่วงโควิด-19 ทาง HempThai ได้ทำการหาข้อมูลและพบว่าผ้าคอตตอนหรือผ้าชนิดอื่นที่ใช้สีเคมีในการย้อม เมื่อสูดดมเข้าไปสามารถสะสมและส่งผลเสียต่อร่างกายได้ จึงมุ่งสื่อสารที่จุดแข็งของ HempThai คือ กระบวนการผลิตที่เป็นออร์แกนิคทั้งหมด ใช้สีธรรมชาติที่ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว รวมถึงคุณสมบัติที่ระบายอากาศได้ดี ทำให้ได้รับความสนใจจากต่างประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา

.

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการช่วยเหลือชาวบ้านและพัฒนาชุมชน ควบคู่กับการนำเสนอสินค้าไทยเพื่อให้ต่างชาติได้ประจักษ์ นำมาสู่การพัฒนาต่อยอดจนเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนจำนวนมาก ด้วยความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมของชาวม้ง สิ่งนี้เองที่สร้างให้ HempThai เป็น HempThaiอย่างทุกวันนี้

.

ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ของ HempThai สามารถติดต่อได้ที่
Hemp Thai by DD NATURE CRAFT CO., LTD
ที่อยู่ : 68/57 หมู่ 5 ถ.กิ่งแก้ว ซ กิ่งแก้ว 40/2 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 10540

โทร. : (+66) 819110147, (+66) 654310863
อีเมล : info@hempthai.com

Website : www.hempthai.com
Facebook: hempthaishop

Instagram: hempthai
Line Official: HempThai

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

เทคนิคทำ Search Marketing ให้ปัง ร้านตั้งอยู่ที่ไหนลูกค้าก็หาเจอ

การทำการตลาดบน Google Search ทั้งแบบ SEM กับ SEO มีความคล้ายคลึงกัน โดยทั้งคู่ทำงานบนระบบเดียวกันนั่นก็คือ Search Marketing ซึ่งจะต้องอิงผ่านเว็บไซต์ค้นหา แต่ทั้งสองมีหลักในการทำงานที่ต่างกันออกไป

 

SEM (Search Engine Marketing)

การทำ SEM คือการทำการตลาดออนไลน์บน Search Result Page หรือหน้าแสดงผลการค้นหา เพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักสินค้าและบริการของธุรกิจเรามากขึ้น อีกทั้งการทำ SEM จะช่วยให้การทำการตลาดของเรานั้นมีประสิทธิภาพและเป้าหมายอย่างที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจมากที่สุดอีกด้วย โดยจะประกอบด้วย

 

Paid Search หรือ Search Advertising: คือการทำโฆษณาโดยมีค่าใช้จ่าย เมื่อมีการคลิกเข้าไปดูที่เว็บไซต์ ซึ่งจ่ายในรูปแบบการคลิกเรียกว่า PPC (Pay Per Click)

 

Organic Search หรือ Natural Search: เป็นการที่เว็บไซต์ของคุณจะถูกแสดงผลจากการค้นหาอย่างธรรมชาติ ไม่ต้องเสียค่าทำโฆษณา ซึ่งเป็นการตลาดในส่วนของ SEO ที่ช่วยเพิ่มอันดับในการค้นหา โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อดันให้เว็บไซต์ของคุณขึ้นไปอยู่ในอันดับต้น ๆ บน Search Result Page

 

เทคนิคทำโฆษณาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับธุรกิจ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 : การกำหนด Keyword โดยกำหนดจากสิ่งที่เราคาดการณ์ว่าลูกค้าจะ Search คำว่าอะไรเป็นคำแรก ซึ่ง Keyword ก็คือ คำทั่ว ๆ ไป เป็นคำที่ลูกค้าเลือกใช้ในการค้นหาสินค้าชนิดนั้น ๆ 

ส่วนที่ 2 : การออกแบบโฆษณาที่น่าสนใจและดึงดูด ข้อความโฆษณาต้องมีความแตกต่าง น่าสนใจ ดึงดูด และชูจุดขายของสินค้าหรือร้านค้า

ส่วนที่ 3 : Landing page หรือเว็บไซต์ เป็นหน้าแรกที่โชว์ขึ้นมาหลังจากคลิกโฆษณา ซึ่งจะนำทางลูกค้าเข้าไปในเว็บไซต์หรือเข้าไปในหน้า ที่เขาต้องการค้นหาจริง ๆ

 

ทั้ง 3 ส่วนนี้คือหัวใจสำคัญของ Search Engine เพราะว่าหากลูกค้าค้นหา Search Keyword แล้วเจอข้อความโฆษณาที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ต้องการ ลูกค้าก็ไม่คลิกลิงก์เรา แต่เลือกไปคลิกที่อื่น ทำให้เสียโอกาสในการขายสินค้า 

ในทางกลับกันถ้ามีคำโฆษณาที่โดนใจและตรงความต้องการ ก็สามารถดึงดูดให้ลูกค้าคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ เมื่อเข้ามาในเว็บไซต์แล้วพบว่ามีข้อมูลที่ต้องการค้นหา หรือขายสินค้าที่ลูกค้ากำลังต้องการ ก็ทำให้มีโอกาสที่จะขายสินค้าได้



อ่านเพิ่มเติม : www.bangkokbanksme.com/techniques-search-marketing-customers-find-your-shop

บทความแนะนำ

ธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืน + สะอาดปลอดภัย Next Normal การท่องเที่ยวในอนาคตที่SMEs ควรรู้

วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จากธุรกิจที่เคยเป็นฮีโร่กลับต้องมาเจอศึกหนัก โดยมีการคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวทั่วโลกจะฟื้นตัวในปี 2567 โดยจีนน่าจะฟื้นก่อนในช่วงปี 2566 โดยรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนจะมาก่อนการเดินทางแบบธุรกิจ ขณะที่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะค่อยๆ ตามมา โดยคาดว่าธุรกิจสายการบินจะฟื้นตัวในปี 2569 ส่วนภาคธุรกิจโรงแรมที่พัก คาดว่าจะฟื้นตัวประมาณปี 2571 และธุรกิจทัวร์จะฟื้นตัวในปี 2573

นั่นหมายความว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดของไทยยังคงต้องอยู่กับไวรัสโควิด-19 ไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นวันนี้นอกจากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต้องหยุดเลือดเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บให้องค์กรอยู่รอดแล้ว คงต้องหันมาถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อมองไกลไปในอนาคตหลังพ้นวิกฤตครั้งนี้ ว่าจะปรับตัวสู่การทำธุรกิจแบบ New Normal กันอย่างไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์การแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสส่งต่อเชิงนโยบาย โครงสร้างธุรกิจ รวมถึงรูปแบบการท่องเที่ยว ทั้งยังเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้บริโภคไปด้วย

และนี่คือ 5 แนวทางการปรับตัวไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืน และสะอาดปลอดภัยซึ่งจะเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวในยุค Next Normal

  1. Hygiene & Wellness 

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ก็ยิ่งทำให้ทุกคนใส่ใจในเรื่องสุขภาพกันมากขึ้นกว่าเดิม ฉะนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวผู้ประกอบการต้องปรับปรุงมาตรฐานเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ด้านสุขอนามัยของกระทรวงสาธารณสุขสำหรับใช้ตราสัญลักษณ์ SHA Plus+ ถือเป็นการยืนยันความพร้อมของบุคลากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 แล้ว นอกเหนือจากมาตรการความปลอดภัยด้านอื่น เช่น การคัดกรองลงทะเบียนผู้รับบริการ จัดให้รักษาระยะห่าง ระบายอากาศที่ดี จัดที่ล้างมือ/เจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดพื้น เน้นทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมและห้องน้ำ เพิ่มรอบทำความสะอาด มีการจัดการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี และการสื่อสารแจ้งข้อปฏิบัติ สำหรับผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือ รักษาระยะห่าง ลดการสัมผัส/งดใช้ของร่วมกัน จัดอาหารเฉพาะบุคคล และขอความร่วมมือให้ลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะสำหรับการติดตามตัว เมื่อใช้บริการในสถานที่ต่าง ๆ

  1. New Segment Market 

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย น่านฟ้าเปิด นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาท่องโลกอีกครั้ง แต่การท่องเที่ยวครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม เพราะพฤติกรรมที่เคยชินจากการหลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้าเป็นระยะเวลานาน แนวโน้มการท่องเที่ยวแบบกลุ่มทัวร์จะลดน้อยลงหรือหากเที่ยวเป็นกลุ่มเพื่อนก็จำกัดจำนวนให้น้อยลง เหลือแค่เพียงคนใกล้ตัวเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคและคาดว่านักท่องเที่ยวในกลุ่มธุรกิจจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลุ่มแรกที่เดินทางมาท่องเที่ยว นี่จึงเป็นโอกาสดีในการสร้างการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ด้วยการปรับตัวจากการแข่งขันด้านราคา (Red Ocean) หรือกรุ๊ปทัวร์ที่เน้นปริมาณ ยกระดับสู่การท่องเที่ยวคุณภาพ (Blue Ocean) เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) การท่องเที่ยวด้านการแพทย์ (Medical Tourism) เพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวมีคุณภาพใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยนานมากขึ้น และเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวให้สูงขึ้น

  1. Sustainable Tourism

แนวโน้มการท่องเที่ยวในอนาคตอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้ก็คือ นักท่องเที่ยวจะหลีกเลี่ยงการไปเที่ยวสถานที่สำคัญ หรือสถานที่มีชื่อเสียง เพื่อลดความเสี่ยงในการเผชิญกับผู้คนจำนวนมาก ประกอบกับความเคยชินจากการรักษาระยะห่างทางสังคม ดังนั้นสถานที่ยอดนิยมในอดีตจึงกลายเป็นเป้าหมายรอง โดยการท่องเที่ยวแบบสำรวจธรรมชาติอย่างเช่น การเดินป่า ปีนเขา การดำน้ำลึก และการท่องเที่ยวชุมชนจะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้เป็นการท่องเที่ยวที่มีผู้คนจำนวนไม่มาก ทำให้ความเสี่ยงด้านโรคภัยไข้เจ็บจะลดน้อยตามไปด้วย ผู้ประกอบการควรใช้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาสร้างโอกาสทางธุรกิจ ดัวยการพัฒนาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งแบ่งออกเป็น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (Green Ocean) พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ และการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อตอบโจทย์สังคม (White Ocean) ด้วยการชูอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เชื่อมโยงกับจุดแข็งของประเทศ เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงความรู้ 

  1. Collaboration

แสวงหาความร่วมมือสร้างพันธมิตรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยว หรือยกระดับการบริการ โดยผู้ประกอบการอาจจะจับมือกับหน่วยงานภาครัฐ หรือชุมชนในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว ยกตัวอย่างสร้างความเข้าใจให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ ใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นสร้างเอกลักษณ์การท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่ และให้ความสำคัญในการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือผู้ประกอกบการธุรกิจโรงแรมอาจร่วมมือกับธุรกิจด้านสุขภาพ หรือสตาร์ทอัพผู้พัฒนาแอปพลิเคชันจองที่พักเพื่อให้ลูกค้าสามารถรับสิทธิพิเศษในการเข้าพัก ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าพักมากขึ้น หรือแอปพลิเคชั่นในการดำเนินงานทั้งการจ่ายเงิน รับสลิป การเปิดปิดประตูห้องเพื่อลดการสัมผัส เป็นต้น

  1. Digitalization

การใช้เทคโนโลยีและข้อมูลมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ โดยการสร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผน เดินทาง ใช้จ่าย ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ และได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดและนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจหรือทำการตลาดส่วนบุคคล (Personalization) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวแต่หากผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่มีบุคลากรด้านไอที ก็สามารถซื้อแพ็กเกจซอฟท์แวร์โซลูชั่นจากบริษัทผู้ให้บริการ Software as a Service ได้

จากแนวทางดังกล่าว น่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ผู้ประกอบได้ปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ต่อไป เพราะการส่งมอบคุณค่าให้นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น จะนำไปสู่การกลับมาเที่ยวซ้ำ ส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวเติบโตได้ในระยะยาว

  สำหรับ SMEs ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การนำเอา 5 เทรนด์การท่องเที่ยวไปประยุกต์ใช้นั้น ไม่จำเป็นต้องทำทีเดียวพร้อมกันหากยังไม่พร้อม แต่จะต้องดูว่าเทรนด์ใด เหมาะกับรูปแบบธุรกิจของตัวเองมากที่สุด และสามารถทำได้เร็วและได้ผลตอบรับดีที่สุด

บทความแนะนำ

การตลาด New Normal สู่ Next Normal SMEs ควรปรับตัวอย่างไร?

วิกฤติCOVID-19ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อธุรกิจ SMEsในหลายมิติไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากมาตรการรัฐ ผู้บริโภคกำลังซื้อถดถอย นักท่องเที่ยวหดหายและธุรกิจมีรายได้ลดลง, ในท่ามกลางทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การปรับตัวของ SMEs จึงเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอด

รศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านงานวิจัยและอาจารย์ประจำสาขาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากวิกฤติโควิด SMEs ต้องปรับองค์กรให้ Lean และมีประสิทธิภาพรวมถึงต้องทำงานแบบมีโฟกัส

“SMEs ที่เคยทำงานแบบเหวี่ยงแห เพราะก่อนโควิดมีโอกาสหลายทาง แต่ในภาวะที่จะก้าวผ่านวิกฤติได้ จะต้องทำตัวให้ Lean เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และไป Spot ดูว่าตลาดที่แท้จริงอยู่ตรงไหนบ้าง และทำเข้าไปตรงนั้น แทนที่จะเหวี่ยงแหเข้าหาโอกาส จะทำตัวแบบเดิมไม่ได้ดร.กฤตินีกล่าว

สำหรับธุรกิจที่มีข้อจำกัดทางด้านทรัพยากร ต้องหันมามองว่าจุดแข็งอยู่ตรงไหน ซึ่งจุดแข็งของ SME ก็คือ การปรับตัวพลิกแพลงได้อย่างรวดเร็วฉับไว

กรณีธุรกิจร้านอาหาร ท่องเที่ยว โรงแรม ต้องอาศัยจุดแข็งเรื่องการปรับตัวให้รวดเร็ว เช่น โรงแรมขนาดเล็กต้องพลิกตัวเองมาทำธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ แทนที่จะต้องรอรับนักท่องเที่ยวอย่างเดียว และกลยุทธ์สำคัญคือต้อง Localize ให้ได้มากขึ้น โดยใช้ความได้เปรียบของตัวเองที่อยู่ในบริบทของพื้นที่ เข้าไปทำความเข้าใจตลาดเฉพาะพื้นที่ ซึ่งเป็นธรรมชาติของเศรษฐกิจยุคโควิด ที่ต้องมองเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local economy) มากขึ้น SMEs ต้องกลับมาถามตัวเองว่า เข้าใจ Local market, Local economy และปรับตัวสู่ท้องถิ่นได้แล้วหรือไม่

 

SMEsต้องบริหารจัดการข้อมูล

ดร.กฤตินียกตัวอย่าง CJ Supermarket ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตกึ่งร้านสะดวกซื้อ มีจุดกำเนิดที่จังหวัดกาญจนบุรี และขยายไปหลายจังหวัด SMEs นี้มีจุดเด่นอยู่ที่การ Localize จนสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่ได้

เขาสามารถเข้าไปดึงสินค้าท้องถิ่นมาในร้าน ทำให้คนเลือกเข้าไปใช้บริการที่ร้าน โดยที่การทำ Localization จะทำให้เกิดข้อมูลเยอะแยะ SMEs ก็ต้องรู้จักการบริหารจัดการข้อมูล ในกรณีของ CJ Supermarketได้ทำการบริหารจัดการข้อมูล (Data management) ทุกธุรกรรมที่มีการค้าขายในแต่ละวัน ไม่ใช่ว่าปล่อยผ่านแบบ SME ยุคโบราณ แต่ว่ามีการจัดการฐานข้อมูล และวิเคราะห์เพื่อให้เห็นว่า ความต้องการของพื้นที่A เทียบกับพื้นที่ B ต่างกันอย่างไร

กลยุทธ์ Localize ทำได้ทั้งชนิดสินค้า และการจัด Category managementให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะเพิ่มความน่าสนใจและโอกาสขายมากขึ้น

การบริหารจัดการข้อมูลต้องอาศัยเทคโนโลยี SMEs จึงต้องเรียนรู้เทรนด์เทคโนโลยีและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและซอฟแวร์ต่างๆเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ

หัวใจของบริหารจัดการข้อมูลอยู่ที่การตั้งโจทย์ให้ถูก เพราะเครื่องมือมีเยอะไปหมด เราไม่ต้องตั้งต้นจากศูนย์ โค้ชหรือบริษัทที่ปรึกษาที่มาทำงานด้วยก็เยอะไปหมด รวมถึงฟรีแลนซ์ในด้านนี้ก็มีจำนวนมาก แต่ความท้าทายคือ ตั้งโจทย์ให้เขาได้ถูกหรือไม่ เพราะคนอื่นไม่สามารถจะมากำหนดโจทย์ให้เราได้ โจทย์ของมันอย่างเช่น เอาโปรแกรม Excel มาทำ A cross กันกับ B เพื่อดูว่าเซ็กเมนต์ของอายุและไลฟ์สไตล์ มีความต่างกันอย่างไร คนที่จะกำหนดโจทย์นี้ต้องเป็นตัวผู้ประกอบการเอง และไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ทุกเรื่อง เพราะจะเกิดความสับสน ดร.กฤตินีกล่าว

การจะรู้ว่าควรตั้งโจทย์แบบไหน SMEs จำเป็นต้องเข้าใจโจทย์ธุรกิจตัวเอง เข้าใจว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ควรขับเคลื่อนธุรกิจในทิศทางใด หากธุรกิจอิ่มตัวแล้ว สาเหตุของการอิ่มตัวคืออะไร เช่น การไม่สามารถหาลูกค้าใหม่ได้ มีแต่ลูกค้าเก่าหน้าเดิมที่ซื้อจำนวนเท่าเดิม หากโจทย์เป็นแบบนี้ การบริการข้อมูลก็ต้องมุ่งทำความเข้าใจธุรกรรมใหม่ที่เข้ามา (new transaction) และวิเคราะห์ต่อไปว่าธุรกรรมใหม่เป็นใคร สนใจสินค้าอะไร เป็นต้น

 

การเชื่อมโยง Value chain

นอกจากเรื่องการจัดการข้อมูลแล้ว Localization ยังหมายถึงการต่อเชื่อมของซัพพลายเชนสำหรับธุรกิจร้านอาหาร การเชื่อมโยงValue chainนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นการสร้างมูลค่าทางการตลาด สร้างความแตกต่าง และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในโลกยุคหลังโควิด

ผู้บริโภคอยากรู้ว่า วัตถุดิบอาหารมีองค์ประกอบอะไร โดยโควิดก็มาหนุนเรื่องนี้ด้วย ทำให้อยากรู้ว่าสิ่งที่จะกินมีคุณสมบัติและประโยชน์อะไรบ้าง ผู้บริโภคยังอยากรู้ว่า แหล่งที่มามาจากไหน ฉะนั้นการสร้างความแตกต่างของธุรกิจอาหาร การทำ Localize และเชื่อมโยงกับชุมชน ควรจะรู้ว่า ตัวเองรับวัตถุดิบมาจากใคร และใช้ตรงนั้นเป็นจุดขาย เพราะว่าตรงกับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ทั้งนี้พฤติกรรมในอดีตที่เคยไปซื้อเหมามา ไม่สนใจว่าของมาจากไหน และคิดว่าผู้บริโภคคงพอใจแค่ตรงปลายทาง มันไม่ใช่แล้ว

การทำความเข้าใจซัพพลายเชน และการรู้จักแหล่งต้นทาง เช่น เกษตรกรในชุมชน จะกลายเป็นจุดขายที่พลิกธุรกิจ ทำให้เกิดความแตกต่างในสนามการแข่งขันการทำเรื่องเหล่านี้ยังตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัย การตรวจสอบย้อนกลับ และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคอีกด้วย

ท่ามกลางตลาดที่แยกส่วนและการแข่งขันที่รุนแรง การสร้างพันธมิตรนับเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะการปรับตัวและขยายตัวของ SMEs ต้องอาศัยพันธมิตรหรือพาร์ทเนอร์

วิธีคิดของ Business model จะเปลี่ยนไป เป็นการมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem ใหญ่ และตัวเองเชื่อมกับใครได้บ้าง และสร้างประโยชน์ต่างตอบแทนกันตรงไหน ดร.กฤตินียกตัวอย่างเรื่องร้านอาหารว่า ต้องมีพาร์ทเนอร์เรื่องการขนส่ง ทั้งเกษตรกรและแหล่งผลิตวัตถุดิบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ

การมีพาร์ทเนอร์ที่เกื้อหนุนให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้นจึงนับว่าเป็นหัวใจ ยิ่งการแข่งขันดุเดือดรุนแรง การสร้างความต่างไม่ใช่เรื่องง่าย พาร์ทเนอร์จึงเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สามารถทำให้ SME โดดเด่นเหนือคู่แข่ง และเมื่อผสานจุดแข็งเข้ากันแล้วก็สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Win-Win Situation)

บทความแนะนำ

ติดอาวุธให้ผู้ประกอบการ SMEs ด้วย Business Model Canvas

อาจจะกล่าวได้ว่า การแข่งขันทางธุรกิจก็เหมือนกับการทำสงครามในสนามรบ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การมีกลยุทธ์ที่ดีในการที่จะนำพาทัพธุรกิจของตัวเอง ให้สามารถแข่งขันได้ เพราะการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากหากมีโมเดลในการทำที่ชัดเจน และโมเดลการทำธุรกิจที่เรียกว่า Business Model Canvas คือ 1 ในคำตอบของเรื่องนี้ 

Business Model Canvas เป็นแนวคิดพัฒนาขึ้นมาโดย Alex Osterwalder ที่ตั้งใจนำมาเป็นเครื่องมือทางการตลาดสำหรับคนที่ยังค้นหาแนวทางหรือตัวตนยังไม่เจอ เครื่องมือดังกล่าวจะช่วยในการตีกรอบความคิดการทำธุรกิจให้ผู้ประกอบการมองธุรกิจของตนเองได้อย่างชัดเจน ไม่หลงประเด็น และทำให้ทีมงานรับรู้แนวทางและวิธีการปัญหาการทำธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความรวดเร็วในการแก้ปัญหาและระดมความคิด เพราะมองเห็นจุดเด่นจุดด้อยของตัวเองได้ผ่านโมเดลนี้  

Alex Osterwalder ได้อธิบายหลักการง่ายๆ ในการเขียนแผนผ่าน Business Model Canvas โดยย้ำให้เจ้าของธุรกิจหรือนักการตลาดต้องมององค์ประกอบสำคัญ 9 เรื่อง คือ 

1.ลูกค้าของธุรกิจที่เราทำอยู่คือใคร หรือ Customer Segment ซึ่งเป็นพื้นฐานแรกของการทำธุรกิจที่จะทำให้รู้หน้าตาของลูกค้าของเราเป็นอย่างไร และจะทำอะไรเพื่อออกมาตอบสนองความต้องการของพวกเขา 

2.คุณค่า หรือ Value Proposition ที่เป็นจุดขายของสินค้าหรือบริการ ในส่วนนี้ อาจจะมีทั้งในเรื่องของคุณค่าทางกายภาพ และคุณค่าทางอารมณ์ ซึ่งการวาง Value Proposition จะเชื่อมโยงกับ Customer Segment อย่างแยกไม่ออก ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็คือ การวาง Value Proposition ของชาเขียวโออิชิ ภายใต้แนวคิด “มีโออิชิ ชีวิตโอจัง” ซึ่งในความหมายของคำว่า “โอจัง” จะลงรายละเอียดไปตามกลุ่มเป้าหมายในแต่ละวัยของชาเขียวแบรนด์นี้ โดยมีการพัฒนาสินค้าออกมาเพื่อให้สอดรับกัน อย่างกลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่วัยทำงาน ต้องการในเรื่องสุขภาพ หรือกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นคำว่า “โอจัง” อาจจะหมายถึงความสนุกสนานที่แบรนด์มอบให้ 

3.ช่องทาง หรือ Channel ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงช่องทางในการซื้อขาย และช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ลูกค้าเราเป็นแบบไหน ลักษณะธุรกิจเราเป็นอย่างไร การซื้อขายผ่านช่องทางใดจึงจะสะดวกมากที่สุด นอกจากนี้ช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าก็ต้องเลือกให้ถูกต้องตรงจุด ลูกค้าเราอยู่กับสื่อชนิดใด เราจะแจ้งข้อมูลสินค้า หรือบอกโปรโมชั่นกับลูกค้าผ่านสื่อใดจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนทำธุรกิจจำเป็นต้องรู้  

4.ความสัมพันธ์กับลูกค้าตลอดจนวิธีการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship

5.กระแสรายได้หลักของธุรกิจมาจากไหน (Revenue Streams)

6.ทรัพยากรหลัก (Key Resources) สิ่งที่ต้องมีในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญกับธุรกิจทรัพยากรในที่นี้หมายรวมทั้ง คน เครื่องจักร เงินทุน ทรัพย์สินทางปัญญา ที่ดิน ฯลฯ สิ่งที่เราควรเขียนในช่องนี้ควรจะแยกเป็น 2 ส่วนคือ ทรัพยากรส่วนที่มีอยู่ และ ทรัพยากรส่วนที่ต้องมี การมองหาทรัพยากรต้องย้อนกลับไปดูว่าลูกค้าของเราคือใคร อะไรคือคุณค่าที่เราจะนำเสนอแก่ลูกค้า และทรัพยากรของเราจะสามารถสร้างคุณค่านั้นๆได้หรือไม่ อย่างไร

7.กิจกรรมหลัก (Key Activities) หรือกิจกรรมที่ต้องทำเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด 

8.พันธมิตรหลัก (Key Partners) ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของการช่วยป้อนวัตถุดิบ และช่วยขาย 

9.โครงสร้างต้นทุน (Cost Structure) ที่หมายรวมถึงต้นทุนทั้งหมดในการทำธุรกิจ อาจจะแบ่งออกได้เป็น ต้นทุนคงที่ (fixed cost) เป็นรายจ่ายคงที่ จ่ายประจำ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าต้นทุนผันแปร (variable cost) จ่ายมากจ่ายน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันต้นทุนผลิตมากแล้วราคาถูกลง (economy of scale) เช่น สั่งผลิตขวดโหลใส่อาหารจำนวน 1,000 ใบขึ้นไป จะได้ราคาต่อชิ้นถูกกว่าปกติ และต้นทุนซื้อรวมกันแล้วถูกลง (economy of scope) เช่น ซื้อเครื่องใช้สำนักงานพร้อมกัน และจัดส่งทีเดียวจะได้ส่วนลดมากกว่า และได้รับบริการส่งฟรี

จะเห็นได้ชัดเจนว่าทั้ง 9 เรื่องที่กล่าวมาจะสอดรับกันทั้งหมด ซึ่งการขับเคลื่อนธุรกิจผ่านแนวคิดของ Business Model Canvas นี้ แม้จะถูกยกย่องว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ การสรุปผลการดำเนินการในแต่ละแคมเปญ เพื่อตรวจสอบว่าสิ่งที่ทำลงไปได้ผลมากน้อยแค่ไหน

Business Model Canvas นี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ผู้ประกอบการ SMEs ก็สามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ ตัวอย่างที่ใช้โมเดลนี้ในการเข้ามาช่วยทำธุรกิจก็คือ “อารมณ์ดิน” สตูดิโอด้านงานออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาหรือเซรามิกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแห่งจังหวัดลำปาง 

อรรถเทพ สมัครธัญกิจ ผู้ก่อตั้ง เคยให้สัมภาษณ์ว่า  การเริ่มต้นในการทำธุรกิจของตัวเองนั้น มีเป้าหมายที่อยากเห็นธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาในจังหวัดลำปางเป็นมากกว่าสินค้าทั่วไปผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยดีไซน์ และนวัตกรรมต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการเริ่มทำธุรกิจคือปี 2547 ซึ่งอรรถเทพ บอกว่า ช่วงเวลานั้นยังใหม่มากสำหรับวงการทำธุรกิจ ก็เลยกลับมามองภาพรวมของตัวเองก่อนว่าควรเรียงลำดับความสำคัญอะไรบ้าง ตอนเริ่มต้นจะเริ่มโดยใช้ความรู้แบบบ้านๆ คือถ้ามีออกบูธที่ไหน ก็จะวิ่งไปแสดงงานที่นั่น ทำให้เริ่มมีคนรู้จักว่าเราทำสิ่งนี้อยู่แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนมาถึงจุดที่คิดว่า ถ้ายังทำแบบเดิมๆ คงไม่ได้แล้ว และต้องเอาความรู้ที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจเข้ามาใช้บ้าง จนได้มีการศึกษาโมเดลการทำธุรกิจที่เรียกว่า Business Model Canvas มาใช้ โดยเข้าไปศึกษาว่าปัญหาธุรกิจของตนเองคืออะไร และเริ่มปรับปรุง จนได้แพทเทิร์นในการออกแบบดีไซน์ชิ้นงานพร้อมกับวางกลุ่มเป้าหมายใหม่ ว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายหลัก

ไม่เพียงเท่านั้น ยังศึกษาจนรู้ว่าจุดอ่อน - จุดแข็งของธุรกิจที่ทำคืออะไร สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการใช้ Model นี้ก็คือ ถ้าวางกลุ่มเป้าหมายไว้ตั้งแต่ตอนแรก จะทำให้รู้ว่าจะดีไซน์สินค้าออกมาอย่างไร อาทิ สินค้าขายคนที่มีกำลังซื้อสูง หรือแม้แต่การวางกลุ่มเป้าหมายขายในต่างประเทศ สินค้าควรจะเป็นอะไร พอได้แพทเทิร์นแล้ว ก็ลองดีไซน์ออกมาและลองขายดู ลองเจาะกลุ่มเป้าหมายนั้นดู ทำให้ได้เสียงตอบรับกลับคืนมาค่อนข้างดี ซึ่งอรรถเทพ กล่าวว่า ต้องเข้าใจถึง Value Proposition ที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าว่าควรจะสร้างออกมาอย่างไรเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้ รวมถึงจะเลือกใช้ช่องทางสื่อสาร และช่องทางขายอย่างไรในการส่างมอบ Value Proposition ที่นำเสนอออกมา

นอกเหนือจากการเลือกใช้ Canvas Model แล้ว ยังมีการนำเรื่องของ Marketing เข้าไปช่วยผสมผสานให้การดำเนินงานมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นจนช่วยผลักดันให้ “อารมณ์ดิน” สามารถก้าวขึ้นมาเป็นแถวหน้าของผู้ประกอบการเซรามิกที่ใช้เรื่องของดีไซน์เป็นตัวนำได้อย่างเต็มภาคภูมิ จากเดิมที่เริ่มต้นธุรกิจโดยคิดแต่เพียงว่า เมื่อผลิตสินค้าคุณภาพที่มีดีไซน์ที่ดีจะช่วยให้ขายสินค้าได้ แต่ผลที่พิสูจน์ออกมามันไม่เป็นเหมือนที่คิด จนมาได้ตัวช่วยในการทำธุรกิจที่เป็นคำตอบว่า แม้จะเป็นเพียงแค่ผู้ประกอบการ SMEs แต่เมื่อมีการกำหนดกรอบกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

อารมณ์ดินจึงถือเป็นอีก1 ตัวอย่างของการนำ Canvas Model เข้ามาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทความแนะนำ