สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สร้างแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อผู้ประกอบการไทย

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สร้างแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อผู้ประกอบการไทย

 ถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (Thailand Textile Institute : THTI) เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในด้านการส่งเสริมทักษะ และความรู้สหวิชาการที่มุ่งเน้นในเรื่องของนวัตกรรม (Innovation) การออกแบบ (Design) และ การเชื่อมโยง (Connect) ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และไลฟสไตล์ เพื่อเป็นการยกระดับผลิตภาพ (Productivity) และช่วยเสริมสร้างศักยภาพความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดในยุคการค้าเสรี

ปัจจุบัน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินงานภายใต้ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ และเป็นหน่วยงานนิติบุคคลในเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวทางการทำงานในเชิงรุกอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งผลให้ปัจจุบันสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และได้รับโอกาสในการเป็นที่ปรึกษา และร่วมสนับสนุนการดำเนินในโครงการต่างๆ ทั้งกับภาครัฐ และเอกชนจำนวนมาก

คุณสุดา ยังให้ผล ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยโดยภาพรวมยังคงเป็นเรื่องของการส่งออก ซึ่งมีแนวโน้มขยับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ Covid – 19 เริ่มคลี่คลาย แต่สำหรับปี 2566 ภาคการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยอาจมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นคู่ค้ากับประเทศไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาภาคการส่งออกจึงปรับตัวลดลงถึง 16.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านี้

ในมุมของผู้ประกอบการไทย ยังมองเห็นความพยายามที่จะปรับตัว เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถขายสินค้าได้เลยติดต่อกันมา 3-4 ปี ส่งผลให้กระแสเงินสดขาดสภาพคล่อง ดังนั้นเรื่องของการลงทุนเพิ่มจึงไม่ใช่แผนงานหลัก แต่จะมองหาวิธีการที่จะทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่สามารถนำมาปรับเปลี่ยนและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตได้ แต่ทั้งนี้ยังต้องอาศัยการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐด้วย ในขณะที่งบประมาณโดยรวมจากภาครัฐลดต่ำลง ทำให้เงินทุนที่จะไปสนับสนุนผู้ประกอบการก็ลดน้อยลงไปด้วย

“สำหรับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจด้วยงบประมาณรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า BDS (Business Development Service) จากสสว. โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกรับการบริการ หรือรับการพัฒนากับผู้ให้บริการทางธุรกิจที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจของตน เราจึงใช้ตรงนี้มาซัพพอร์ตผู้ประกอบการได้อย่างหลายหลาก เช่น เรื่องการพัฒนามาตรฐาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดขึ้นตามคอนเซ็ปต์ของ BCG Model หรือการส่งเสริมในเรื่องของกิจกรรมทางการตลาด รวมถึงการให้การสนับสนุนในเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ”

“สิ่งสำคัญ คือทางสถาบันมีการขับเคลื่อนด้วยการใช้ต้นทุนของตัวเองในเรื่องของการวิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ โดยมีการขยาย LAB เพื่อรองรับกับการที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะเข้ามาใช้บริการ ซึ่งเราไม่ได้ทำเฉพาะแค่เรื่องสิ่งทอ หรือเครื่องนุ่งห่ม แต่เรายังสามารถใช้อุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่อยู่ในห้องทดลองมาใช้ทดสอบในเรื่องของวัสดุได้อีกด้วย เช่น การทดสอบพลาสติก การทดสอบของเล่นที่เป็นกระดาษ สิ่งเหล่านี้ เป็นแนวทางสำคัญในการที่จะส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอสามารถนำเรื่องมาตรฐานเข้ามาสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองได้ และเรามีความพร้อมด้านบุคลากร ซึ่งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนของทางสถาบัน”

1.คุณสุดา ยังกล่าวเสริมถึง แผนงานในปี 2566 มีการจัดทำโครงการเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ได้แก่

2.มาตรฐาน (Standard) เพื่อการยกระดับการผลิตในอุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอของทางสถาบันฯ และการสร้างมาตรฐานสากล

นวัตกรรม (Innovation) โดยทางสถาบันฯมีแนวคิดที่จะขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการเป็น Innovation Driven Enterprise (IDE) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการใช้นวัตกรรมต่างๆ ไปต่อยอด หรือขยายผลทางการตลาด และสามารถเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจมากขึ้น

“โมเดลนี้เป็นโจทย์ที่เรารับมาจาก บพข. หรือหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปีนี้จะนำร่องด้วย 5 บริษัท ที่เราจะสร้างให้เขาเป็น IDE รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อให้เขาใช้นวัตกรรมต่างๆ มาต่อยอดในภาคการผลิต อีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในแผนงานของสถาบันฯ คือการผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย ปัจจุบันได้มีการพัฒนาศูนย์นำร่องกัญชงขึ้นมาแล้ว และเรายังคงสานต่อโครงการนี้เพื่อที่จะของบต่างๆ จากภาครัฐเข้ามาเพื่อพัฒนาโครงการนี้ต่อไป”

3.การตลาด (Marketing) หลังจากสถานการณ์วิกฤต Covid-19 ผ่านพ้นไป ผู้ประกอบการเริ่มมุ่งเน้นในเรื่องของการตลาดมากขึ้น ทางสถาบันฯจึงได้เร่งพัฒนาแผนงานทั้งด้านออนไลน์และออฟไลน์

Online Market เป็นเรื่องของการพัฒนาแพลตฟอร์ม ปัจจุบันดำเนินการอยู่ 2 แพลตฟอร์ม คือ 1.Textiles Square เปิดตัวในปี 2565 เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการค้นหาที่ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อโปรโมทผลิตภัณฑ์ของตนในแพลตฟอร์มนี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 2.Textiles Circle เป็นแพลตฟอร์มที่เปรียบเสมือนเป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเป็นตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอเศรษฐกิจหมุนเวียน

“ปัจจุบัน Textiles Circle ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการภายในปีนี้ โดยเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถซื้อขายได้โดยการต่อยอดจาก Textiles Square ที่เน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ดังนั้นใครที่ทำในเรื่องของรีไซเคิล หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็สามารถเข้าสู่แพลตฟอร์มนี้เพื่อโปรโมทพร้อมขาย โดยแพลตฟอร์มยังเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาด้วย เพื่อให้โมเดลการขายสามารถทำได้จริง ซึ่งทั้ง 2 แพลตฟอร์ม ผู้ประกอบการสามารถสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และปัจจุบัน Textiles Square มีผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้วไม่ต่ำกว่า 500 ราย” 

Offline Marketing เป็นเรื่องของการเปิดบูธในงานแสดงสินค้าภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สสว. ผ่านโครงการ BDS โดยแผนงานในปีนี้ทางสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ส่งผู้ประกอบการไปเปิดบูธในงานแสดงสินค้าที่ประเทศฮ่องกงเป็นจำนวน 9 ราย รวมถึงการเปิดบูธในงานเอ็กซ์โปต่างๆ อาทิ Manufacturing Expo งาน Care Expo งาน MEGASHOW Bangkok 2023 เป็นต้น โดยมีผู้ประกอบการให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

4.ความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนภายใต้คอนเซ็ปต์ของ BCG Model โดยทางสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้เข้าไปส่งเสริมผู้ประกอบการ ในการทำผลิตภัณฑ์ในการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อนำไปต่อยอดการขายบนแพลตฟอร์ม Textile Circle และมีการส่งเสริมในเรื่องของฉลากสิ่งแวดล้อมต่างๆ และเพื่อให้เกิดการทำงานในเชิงบูรณาการในแง่ของ BCG Model ทางสถาบันฯจึงมุ่งเน้นในเรื่องการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เช่น อบก. หรือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยร่วมมือกันในแง่ของการส่งเสริมผู้ประกอบการ หรือเป็นที่ปรึกษาในการขอฉลากรับรองจากอบก.เป็นต้น

“เรายังมีภารกิจอีก 2 เรื่องสำคัญ คือ เรื่อง บุคลากร (Human Resource) ที่ต้องเร่งพัฒนา โดยทางสถาบันฯได้เปิดการให้บริการในเรื่องของ การพัฒนาองค์กร ให้กับผู้ประกอบการ เพราะบางครั้งผู้ประกอบการอาจสับสนได้ว่า ควรทำเรื่องใดก่อนในความต้องการที่หลากหลาย อีกเรื่องคือ การเชื่อมต่อ (Connect) กับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ที่อยู่นอกสถาบันฯให้มากยิ่งขึ้น เช่น หน่วยงานกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ไปจนถึงต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเซอร์วิสผู้ประกอบการได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และเกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการมากขึ้นด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่องของ LAB Test ค่อนข้างมาก และปัจจุบันมีผู้ประกอบการมาใช้บริการจำนวนมาก โดย LAB Test ดำเนินการในชื่อของศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบสิ่งทอที่เป็นกลางให้กับผู้ประกอบการด้านสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และผู้ส่งออกสิ่งทอของประเทศไทย สามารถมาใช้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพสิ่งทอตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำตามมาตรฐานสากล เช่น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน รวมทั้งมาตรฐานของไทย ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบ ผู้ประกอบการสามารถขอรับฉลาก หรือเครื่องหมายรับรองต่างๆ โดยฉลากที่ออกโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้แก่ ฉลาก Smart Fabric เครื่องหมายแสดงคุณภาพของสิ่งทอไทยที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและทันสมัย ฉลาก CoolMode เป็นฉลากที่มอบให้กับเสื้อผ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี สวมใส่สบายไม่อึดอัด เมื่อสวมใส่ในอาคาร หรือห้องที่มีอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ 25 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ ยังมีฉลากที่ได้ร่วมกันพัฒนากับหน่วยงานต่างๆ อาทิ ฉลากเสื้อเบอร์ 5 โดยพัฒนาร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำหรับเสื้อที่ใส่สบายและไม่จำเป็นต้องรีด ฉลาก S-MARK โดยพัฒนาร่วมกับสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) และสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย สำหรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เป็นต้น

สำหรับความท้าทายในแง่การทำงานในยุค Post Covid คุณสุดา มองว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการมีรายได้เข้ามาเพื่อต่อยอดธุรกิจจากที่เมื่อ 3 - 4 ปีก่อนไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้เข้ามาในธุรกิจได้ จึงถือเป็นความท้าทายที่มาพร้อมกับความกังวลใจ

“โดยแผนงานหลักๆ ที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้น นอกเหนือจากเรื่องของบุคลากร (Human Resource) และการเชื่อมต่อ (Connect) เรื่องที่เราต้องเร่งดำเนินการเป็นเรื่องแรกๆ คือการส่งเสริมการตลาด (Marketing) ที่ต้องทำควบคู่กับเรื่องการสร้างมาตรฐาน (Standard) และการพัฒนานวัตกรรม (Innovation)  เพราะเป็นเรื่องจำเป็นที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมให้ก้าวต่อไป และสามารถแข่งขันได้ในอนาคต” คุณสุดา กล่าว

บทความแนะนำ

สถาบัน NEA พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ติดอาวุธความรู้พร้อมสู้ในเวทีการค้ายุคใหม่

สถาบัน NEA พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการติดอาวุธความรู้พร้อมสู้ในเวทีการค้ายุคใหม่

จากกระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมาถึงวิกฤตโควิด โลกเปลี่ยนแปลงไปมากมาย และเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้ประกอบการ SMEs และ Micro SMEs ทั่วประเทศจำนวนมากกว่า 3.1 ล้านราย ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มด้วยการพัฒนาศักยภาพ และยกระดับองค์ความรู้ เพื่อต่อยอดโอกาสทางการค้าไปยังเวทีการค้าสากล เท่าทันกับโลกที่ไม่แน่นอนในอนาคต หรือ Uncertainty World

คุณภาวินี รวยรื่น ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEW ECONOMY ACADEMY) หรือ สถาบัน NEA เป็นหน่วยงานภายใต้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์มีภารกิจหลักคือการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยอย่างครบวงจร ให้สามารถดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้และจัดฝึกอบรม/สัมมนา ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการไทยทุกระดับ โดยมุ่งเน้นที่จะพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปและมุ่งเน้นการเข้าถึงประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งในรูปแบบ Onsite ผ่านกิจกรรมฝึกบรรยาย อบรมสัมมนา และอบรมเชิงปฏิบัติการ และ Online ในระบบ
E-Academy ให้ผู้ประกอบการเข้ามาเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทุกสินค้า ทุกอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ความสำเร็จของ ปี 2565 ที่ผ่านมา สถาบัน NEA ได้พัฒนาผู้ประกอบการทั้งสิ้นกว่า 61,000 ราย โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ ปี 2562 ถึงปัจจุบัน สถาบัน NEA ได้พัฒนาผู้ประกอบการทั้งสิ้นกว่า 157,000 ราย ทั้งในรูปแบบอบรมสัมมนา และในระบบ E-Academy นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกับสถาบัน NEA ได้รับการพัฒนาศักยภาพจนสามารถต่อยอดเข้าสู่กิจกรรมอื่นๆ ของกรม อาทิ งานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ กิจกรรมเจรจาการค้า โครงการ Thaitrade.com และโครงการอบรมสัมมนาในโครง    การอื่นๆ ของกรม

แต่ละปีสถาบัน NEA กำหนดจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการมากถึง 116 หลักสูตร 58 กิจกรรม ใน 4 ด้านหลักๆ ได้แก่

  1. หลักสูตรด้านความรู้พื้นฐานด้านการค้าระหว่างประเทศ อาทิ โครงการความรู้เบื้องต้นในการประกอบธุรกิจส่งออก โครงการ Young Exporter from Local to Global (YELG) โครงการเปิดโลกการค้ากับทูตพาณิชย์ (Export Clinic) และเอกสารการส่งออก เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจส่งออก หรือต้องการสร้างความรู้พื้นฐานก่อนส่งออกต่างประเทศ
  2. หลักสูตรด้านการสร้างช่องทางตลาด อาทิ โครงการครบเครื่องเรื่องการค้าออนไลน์ หลักสูตรการเรียนการสอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ E-Academy โครงการเจาะลึกตลาดต่างประเทศในยุคการค้าใหม่ พัฒนากลยุทธ์เจาะตลาดต่างประเทศในยุคการค้าใหม่
  3. หลักสูตรการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ส่งออกและเครือข่าย อาทิ โครงการ ผู้ส่งออกอัจฉริยะ Smart Exporter นับเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ศักยภาพด้านการส่งออกต่างประเทศและสร้างเครือข่ายไปพร้อมกัน
  4. หลักสูตรสร้างมูลค่าเพิ่มและธุรกิจกระแสใหม่ อาทิ โครงการยกระดับผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจกระแสใหม่ UpSkill & ReSkill เกี่ยวกับเมกะเทรนด์โดยมุ่งเน้นนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย ประกอบกับการเสริมองค์ความรู้ในการสร้างโอกาสทางการค้าจาก Megatrends การค้าที่สำคัญของโลก เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยพร้อมรับมือและก้าวเข้าสู่โลกในยุคเศรษฐกิจกระแสใหม่อย่างเข้มแข็ง ผ่านหลักสูตรที่อัดแน่นทั้งภาคทฤษฎีด้านเทรนด์การค้าที่สำคัญของโลก อาทิ ทั้งหลักสูตร Green Marketing หลักสูตร Food Technology และหลักสูตรยกระดับการเจรจาธุรกิจออนไลน์สู่ตลาดสากล รวมไปถึงหลักสูตรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ที่เน้นให้ผู้ประกอบการทดลองลงมือปฏิบัติจริงผ่านการทำ Workshop อาทิ หลักสูตร Video Content Creator และหลักสูตร No-Code & Low-Code Platform และโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ From Gen Z to be CEO เป็นต้น

ปัจจุบัน สถาบัน NEA ได้ปรับรูปแบบการจัดอบรมสัมมนาให้สามารถดำเนินการได้ทั้งในแบบ Onsite แบบ Online และแบบ Hybrid ที่รองรับผู้เข้าอบรมแบบ Onsite และผู้เข้าอบรมแบบ Online ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการอบรมและเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล (E-Academy) เพื่อรองรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมแต่ไม่ค่อยมีเวลาให้สามารถเข้าเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ที่เป็นการอบรมผ่านระบบ Online ในรูปแบบห้องเรียน e-learning ที่มีหลักสูตรเด่นๆ เช่น หลักสูตรเพื่อการค้าระหว่างประเทศ หลักสูตร The Guru ปันความรู้ จากกูรู สู่ภูมิภาค หลักสูตรความรู้เบื้องต้นด้านการส่งออก หลักสูตรความรู้ด้าน E-Commerce และการค้ายุคใหม่ และหลักสูตรความรู้ด้านการเจาะตลาดต่างประเทศ

“สถาบัน NEA มีวิธีการออกแบบหลักสูตร โดยมีองค์ประกอบมาจากการพิจารณาผลตอบรับกิจกรรมการฝึกอบรมครั้งที่ผ่านมา ร่วมกับการประชุมหารือสอบถามความคิดเห็นภาคเอกชนทั้งอย่างที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ว่าต้องการให้เราเสริมความรู้ด้านไหนอย่างไร และนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ว่าปีนี้มีทิศทางไปทางไหน ทั้งหมดเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ออกแบบหลักสูตร”

อย่างไรก็ตาม หลังจากฝึกอบรมแล้ว สถาบัน NEA จะมีการติดตามผลว่าผู้ประกอบการมีพัฒนาการอย่างไร โดยสามารถวัดผลได้จาก 2 ช่องทาง กล่าวคือ จากการร่วมกิจกรรมกับกรมส่งเสริมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง  เช่น การแสดงสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งพบว่ามีสูงถึง 57% และติดตามพัฒนาการของผู้ประกอบการจากขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ

สุดท้ายนี้ คุณภาวินีมองว่า ธุรกิจการค้ายุคใหม่หลังวิกฤตโควิดมีความท้าทายมากขึ้น สถาบัน NEA จึงประสานความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญแต่ละประเทศ เพื่อเข้ามาให้ความรู้ และแนะนำโอกาสทางธุรกิจหลังโควิด นอกจากนี้พร้อมต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา

“ผู้ประกอบการควรรับมือกับโลกยุคใหม่ ด้วยการหมั่นศึกษาหาความรู้ อันดับแรกต้องมีความรู้พื้นฐานด้านการค้าก่อน ว่าสินค้าหรือบริการของตนมีจุดเด่นอย่างไร พร้อมปรับตัวเสมอ เพิ่มทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ ใช้เมกะเทรนด์ซอฟท์พาวเวอร์ หรือกระแส Internationalization เข้ามาเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง”

สำหรับแผนการทำงานในปีนี้ สถาบัน NEA ยังคงจัดหลักสูตรฝึกอบรม และกิจกรรมที่เหมาะกับผู้ประกอบการทุกระดับธุรกิจ ทุกเพศ ทุกวัยอย่างต่อเนื่อง รองรับเมกะเทรนด์โลก โดยตั้งเป้าว่าจะพัฒนาผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 20,000 รายภายในปีนี้

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่สนใจการฝึกอบรมสัมมนา และร่วมกิจกรรมของสถาบัน NEA สามารถเข้าร่วมทุกโครงการได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหว ข่าวสาร และสมัครเข้าร่วมกิจกรรมอบรมต่างๆ

ได้ที่เว็บไซต์ http://nea.ditp.go.th/ หรือ https://facebook.com/nea.ditp/ และ Line@nea.ditp สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรสายด่วน 1169 กด 1 กด 1

บทความแนะนำ

หอการค้าไทย บ่มเพาะและสร้างเครือข่าย เพื่อความแข็งแกร่งของ SMEs ไทย

หอการค้าไทย บ่มเพาะและสร้างเครือข่ายเพื่อความแข็งแกร่งของ SMEs ไทย

วิสัยทัศน์ของหอการค้าไทย คือ การเป็นสถาบันหลักทางการค้าและบริการของประเทศที่ใช้ข้อมูล ความรู้ เครือข่าย และความร่วมมือที่เข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เติบโตได้ในตลาดโลก อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะบทบาทของหอการค้าไทยในการสนับสนุน SMEs ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต

คุณสถาปนะ เลี้ยวประไพ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการเพิ่มความเข้มแข็งให้สมาชิก หอการค้าไทย อธิบายถึงบทบาทในการสนับสนุน SMEs ไทยว่า หอการค้าไทยมีสมาชิกและเครือข่ายทั้งหมดกว่าแสนรายทั่วประเทศ ทั้งหอการค้ากลาง และหอการค้าจังหวัด ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็น SMEs หอการค้าไทยจึงเน้นให้การสนับสนุน SMES ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนเป็นหลัก ผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันมี 33 คณะ 10 คณะทำงาน และหนึ่งในนั้นมีคณะทำงานที่เกี่ยวกับ SMEs โดยตรง สนับสนุน SMEs ไทยด้วยการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหอการค้าไทยกับภาครัฐ ให้ความรู้ในเรื่องของการบ่มเพาะความรู้ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการ Big Brother ที่นำองค์กรชั้นนำมาเป็นพี่เลี้ยง บ่มเพาะให้ความรู้ SMEs รุ่นน้องให้เติบโต และมีความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“โครงการ Big Brother เราทำมาปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้ว เป็นโครงการที่นำเอาบริษัทพี่ที่เป็นบริษัทใหญ่ๆในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น กลุ่มซีพี กลุ่มเซ็นทรัล บุญรอดบริวเวอรี่ ไทยเบฟเวอเรจ เอสซีจี โตโยต้า และปีนี้มี กลุ่มปตท เข้ามาร่วม รวมแล้วมีองค์กรใหญ่กว่า 23 บริษัท เข้ามาช่วยกันบ่มเพาะบริษัทน้องซึ่งต่อรุ่นเรารับได้ประมาณ 50 รายอย่างปีนี้เป็นปีที่ 7 เรารับได้ประมาณ 53 ราย ระยะเวลาโครงการประมาณ 1 ปี โดยเราจะเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องของการสร้าง Vision และ Mission ขององค์กร การทำ Business canvas model การปรับปรุงเรื่องของผลิตภัณฑ์ การขาย ตลอดจน Supply Chine ของธุรกิจ SMEs เรียกว่าเป็น Full skill Program 1 ปีเต็ม ที่ผ่านมา 6 รุ่นมีบริษัทน้องที่เข้ามาร่วมโครงการแล้ว 363 บริษัท และจาก 6 รุ่นที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจจากการประเมินโดยอาจารย์ มหาวิทยาลัยหอการค้าทั้งหมด 4,000 ล้านบาท ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการหากเป็นสมาชิกของหอการค้า เสียค่าสมัคร 35,000 บาท”

อีกโครงการ คือ โครงการ Business Accelerator ซึ่งเน้นการเข้าสู่ช่องทางการขายทาง Modern trade สำหรับ SMES ไทย เนื่องจากเป้าหมายส่วนใหญ่ของ SMEs ในประเทศต้องการที่จะนำสินค้าเข้าไปขายใน Modern trade ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวเตรียมความพร้อมในเรื่องสำคัญอย่าง Supply chain

โครงการนี้เราทำร่วมกับทางกลุ่มซีพี ที่มีบริษัทในเครืออย่าง ซีพี ออลล์ โลตัส แม็คโคร เข้ามาช่วยให้ความรู้ความเข้าใจ เป็นคอร์สระยะเวลาประมาณ 4 เดือน โครงการนี้เราทำมาแล้ว 3 รุ่นกำลังเปิดรับรุ่นที่ 4 โดย 1 รุ่นจะรับผู้ประกอบการ 60-70 ราย ปัจจุบันมีคนที่เข้ามาร่วมแล้วทั้งหมด 190 ราย และสามารถนำสินค้าเข้าไปขายใน Modern trade แล้ว 30 ราย ซึ่งจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการหากเป็นสมาชิกของหอการค้า เสียค่าสมัคร 6,000 บาท

นอกจาก 2 โครงการหลัก หอการค้าไทยยังมีโครงการย่อยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น On site visit ซึ่งให้ SMEs ได้เข้าไปเรียนรู้ ศึกษางานจากสถานประกอบการจริง เช่น บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ, Food Innovation ของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ เป็นต้น ส่วนของช่องทางออนไลน์ ทางหอการค้าไทยมีคอร์สเรียนต่างๆให้ผู้สนใจเข้าไปเรียนได้ฟรี โดยหลักสูตรทั้งหมดพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยหอการค้า ผู้เรียนที่เรียนจบจะมีใบประกาศให้ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการต่อยอดความรู้

ในส่วนของการให้บริการ หอการค้าไทยมีบริการ Chatbot ในการให้ข้อมูลเรื่องของการตั้งบริษัท จดทะเบียนบริษัท เพื่อบริการให้คนเริ่มต้นธุรกิจ เอื้ออำนวยให้ SMEs มีความสะดวกในการสร้างธุรกิจของตนเอง ทั้งหมดเป็นโครงการที่หอการค้าทำอย่างต่อเนื่อง

“ปีนี้หอการค้าไทยครบรอบ 90 ปี เราจะมีโครงการที่เพิ่มความเข้มแข็งในกับสมาชิกเพิ่มเติม อันหนึ่งที่เรากำลังจะทำคือเรื่องของเกษตรและเกษตรแปรรูป ซึ่งเป็นหนึ่งในเซ้กเม้นต์ที่เราให้ความสำคัญนอกเหนือจาก การท่องเที่ยวและการบริการ การค้าและการลงทุน”

แผนการทำงานของหอการค้าในปีนี้คุณสถาปนะกล่าวว่าแบ่งเป็น 2 ระดับ ส่วนแรก คือ คณะกรรมการที่เชื่อมโยงกับภาครัฐ โดยปีนี้เป็นปีเลือกตั้ง หลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทางหอการค้าจะเข้าไปนำเสนอไอเดีย ข้ออุปสรรคต่างๆ ให้หน่วยงานรัฐรับทราบและช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายที่ยังไม่ได้เอื้อต่อ SMEs มากนัก รวมถึงการปรึกษาเรื่องการเปิดตลาดใหม่ เช่น ประเทศจีน ซาอุดิอาระเบีย อินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่ตอบรับสินค้าของไทยเป็นอย่างดี ส่วนที่สองคือการดำเนินงานของคณะกรรมการภายในที่ต้องพยายามคิดโครงการใหม่ๆออกมาให้ครอบคลุมทั้งเรื่องของ อาหาร เกษตร ท่องเที่ยว การค้า การบริการ

คุณสถาปนะ เสริมว่าความท้าทายของ SMEs ไทย หลังสถานการณ์ COVID-19 คือ เรื่องของการปรับตัว มองสิ่งต่างๆให้ไกลมากขึ้น รวมถึงหาข้อมูล ความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำเนินธุรกิจ การตัดสินใจด้วยข้อมูลความรู้ จะช่วยให้ SMEs ไทย สามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ สิ่งที่หอการค้าไทยพยายามเน้นให้กับ SMEs มี 3 เรื่องสำคัญคือ

Connect การเชื่อมโยงความร่วมมือเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยตั้งเป้าหมายระดมสมาชิกเพิ่มจาก 1 แสนราย เป็น 2 แสนราย ภายใน 3 ปีข้างหน้า ด้วยการดึง SMEs เข้าสู่ระบบ เพื่อช่วยสนับสนุนและพัฒนาในด้านต่างๆ ให้ตรงตามความต้องการ พร้อมทั้งจะใช้แนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค 5 ภาค จากการระดมความเห็นของสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ เป็นแนวทางในการเดินหน้าเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้งระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาค

Competitive การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ โดยสนับสนุนภาครัฐผลักดัน FTAAP และเร่งขยาย FTA กับต่างชาติให้มากขึ้น พร้อมเร่งดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ร่วมกับ BOI และ EEC จัด Road Show แสดงศักยภาพของประเทศ และผลักดัน Ease of Investment โดยกำหนดประเทศยุทธศาสตร์เป้าหมาย ได้แก่ จีน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม และอินเดีย รวมถึงรักษากลุ่มนักลงทุนเดิมอย่าง ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการหลายๆ อย่างจะได้รับอานิสงส์นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ที่จะสร้างประโยชน์ระยะยาวทางเศรษฐกิจจากการลงทุน FDI มูลค่าประมาณ 6 แสนล้านบาท ภายใน 3-5 ปี

Sustainable การพัฒนาเพื่อการเติบไตอย่างยั่งยืน สร้างอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาส เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่หอการค้าไทยและเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมผลักดัน Bangkok Goals หรือ เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG โดยจะนำเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค ภาคเอกชน ระยะ 5 ปี ที่จัดทำร่วมกับ อว. เป็นแนวทางขยายผล BCG Model เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ ขับเคลื่อน BCG ให้เกิดผลเป็นรูปธรรรม

“SMEs เป็นรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจจะเติบโตต่อไปได้ SMEs มีส่วนในการผลักดัน แต่ SMES ก็ต้องมีความพร้อม ในการทำให้ธุรกิจของตนเองเติบโตไปได้ แข่งขันได้ การเข้าถึงข้อมูลและคอนเน็คชั่น มีระบบหลังบ้านที่ดีสำคัญในการเติบโต เราต้องกลับไปดูตัวเราเองว่าขาดอะไรอยู่ เราต้องเตรียมความพร้อมกับสิ่งเหล่านี้ ต้องใช้วิสัยทัศน์ในระยะยาว เราต้องคิดก่อนว่าอนาคตเราต้องการเป็นแบบไหน จะเติบโตไปอย่างไร ถ้าเรามองตัวเองออก หนทางสู่ความสำเร็จก็ไม่ยากอะไร”

ผู้ประกอบการสามารถสมัครเป็นสมาชิกของหอการค้าไทยได้ทาง www.thaichamber.org หรือทาง แอพลิเคชั่น TCC Connect โดยค่าสมาชิกแรกเข้า 2,000 บาท และค่าสมาชิกรายปีเริ่มต้นที่ 2,600 บาท

 

บทความแนะนำ

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ถ้าหากผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME ที่กำลังประสบปัญหาทางธุรกิจ มีความต้องการที่จะกู้เงินกับสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา แต่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะทำอย่างไร

คำถามสำคัญข้อนี้นี่เอง ที่เป็นเหมือนภารกิจหลัก ของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ในการทำหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในการเข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อ สร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยงานการเงินในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น เป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน หรือมีหลักประกันไม่เพียงพอสามารถได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาทางธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ และเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อย สามารถได้รับสินเชื่อ เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้

อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของ บสย. ก็คือ การสร้างโอกาส และ สร้างความรู้ ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งทาง บสย. นั้นมีผู้เชี่ยวชาญที่ทรงคุณวุฒิทางด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับ SME เป็นหลัก ที่ดำเนินการโดย ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisory Center, FA) พร้อมยินดีให้คำปรึกษาโดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย เช่น การกู้เงินกับธนาคารต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง, หากกู้ยืมเงินจากธนาคารไปแล้ว กิจการประสบปัญหา และกำลังจะกลายเป็นหนี้เสียจะแก้ปัญหาอย่างไร, ถ้าหากเป็นหนี้เสียแล้ว อยากขอปรับโครงสร้างหนี้ จะแก้ปัญหาอย่างไร เป็นต้น บสย. ก็จะทำการวินิจฉัยและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ

บริการจากทางศูนย์

บริการการค้ำประกัน บสย. เป็นศูนย์กลางข้อมูลของสถาบันการเงิน ที่สามารถแนะนำการให้บริการค้ำประกันที่ตอบโจทย์ เหมาะสมกับขนาดของผู้ประกอบการ และ บสย. สามารถช่วยค้ำประกันให้ได้

บริการให้ความรู้ ให้โอกาสทางการเงิน ดำเนินการโดย ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน ของ บสย. โดยการให้คำปรึกษาแยกเป็น 3 ประเภท ได้แก

  1. ต้องการได้สินเชื่อเพื่อสร้างสภาพคล่องทางการเงินเพื่อนำไปต่อยอด
  2. ต้องการแก้ปัญหาทางการเงิน
  3. ต้องการปรับแผนพัฒนารูปแบบธุรกิจ

บสย. ต้องการที่จะเห็นผู้ประกอบการ มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ให้กิจการสามารถตอบโจทย์ต่อสังคมอย่างมีเสถียรภาพ สามารถเติบโตจากผู้ประกอบการรายเล็กไปสู่ผู้ประกอบการขนาดกลางได้ สามารถที่จะทำงานเชื่อมโยงด้วยกันกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ได้

บสย. เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่มีบทบาทในการช่วยผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และพร้อมที่จะช่วยแก้ปัญหาทางธุรกิจ โดยมีความยินดีที่จะเป็นผู้ให้บริการที่ครบวงจรให้กับผู้ประกอบการ สามารถเติบโตต่อไปได้

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ที่อยู่: อาคารชาญอิสสระทาวเวอร์ 2 (ชั้น1)

เลขที่ 2922/53 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

โทรศัพท์: 02-308-2151-2

โทรสาร: 02-308-2152

Call Center: 0-2890-9999

อีเมล: bangkok@tcg.or.th

เว็บไซต์: www.tcg.or.th

บทความแนะนำ

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

 

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการทำนโยบายเพื่อนำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้ขยายขีดความสามารถทางธุรกิจด้วยการใช้นวัตกรรมเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น และมีรายได้ที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

บริการจากทางศูนย์

  1. Talent Mobility บริการส่งนักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญจากทางศูนย์ เข้าไปให้ความรู้และให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ
  2. การพัฒนายกระดับทักษะ เป็นการจัดอบรมฝึกฝนทักษะแห่งอนาคตให้กับบุคลากรในสถานประกอบการ ซึ่งในปัจจุบันมีมากกว่า 600 หลักสูตร
  3. Sandbox เป็นหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรเฉพาะทาง โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน สถาบันการศึกษาในสังกัดของอว. ในการออกแบบหลักสูตรสร้างบุคคลากรที่มีทักษะเฉพาะทางที่ตอบโจทย์ตามความต้องการตามแต่ละสถานประกอบการได้
  4. การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ หลักสูตรบ่มเพาะสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ

หน่วยบริหารจัดการทุน มีด้วยกัน 3 หน่วย ได้แก่

  1. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนทุนเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยี
  2. ด้านการพัฒนาในระดับพื้นที่ สนับสนุนทุนให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่แต่ละจังหวัด
  3. ด้านการขยายตลาด ส่งเสริมการทำตลาดในตลาดต่างประเทศ และตลาด E-Commerce

Sale Talent โครงการสร้างนักขายจากเครือข่ายมหาวิทยาลัย ที่มีการนำนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ มาฝึกฝนให้สามารถนำสินค้าจากประเทศไทยกลับออกไปขายยังต่างประเทศได้ 

สอวช. เองยังมีนบายที่ร่วมมือกับ สสว. ในการออกแบบกระบวนการทางธุรกิจเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงแข็งแรงในประเทศไทย

สอวช. นั้นมีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นผู้ประกอบการในภาคธุรกิจมีการขยายกิจการให้เติบโตขึ้นได้อย่างมั่นคง โดยการนำนวัตกรรมเข้าไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ และ มีภาคการผลิตที่มุ่งเน้นให้เกิดความยั่งยืนในระบบอุตสาหกรรมตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสากล เพราะในอนาคตอันใกล้ เรื่องนี้จะเป็นโจทย์หลักที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือช่วยกันทำให้สำเร็จ

 

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ที่อยู่: 319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

โทรศัพท์: 0-2109-5432

โทรสาร: 0-2160-5438

อีเมล: info@nxpo.orth

เว็บไซต์ : nxpo.or.th

Facebook: NXPOTHAILAND

YouTube: NXPO - สอวช.

บทความแนะนำ