7 ความผิดพลาดธุรกิจครอบครัวของ SME ที่ทำให้ธุรกิจ “พัง”

ในการบริหารธุรกิจถ้าเป็นขนาดเล็กก็ไม่ค่อยมีปัญหานักเจ้าของคนเดียวก็ยังเอาอยู่ แต่ถ้าเริ่มเติบโตเป็นธุรกิจขนาดกลางที่เริ่มมีหลายส่วนหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง การจ้างคนเก่งมาช่วยบริหารเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การคัดเลือกให้ได้คนเก่งนั้นยากนัก เพราะคนเก่งส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ บริษัทมหาชนที่มีชื่อเสียงมีหน้ามีตา เงินเดือนสูงๆ ในในธุรกิจ SMEs นั้นจะมีข้อจำกัดเรื่องนี้อยู่พอสมควร นอกเสียจากว่าจะยอมทุ่มเงินให้เงินเดือนเยอะๆ ไม่น้อยหน้าบริษัทใหญ่ หรือไม่ก็จ้างซัพพลายเออร์เฉพาะด้านที่เค้าเก่งเรื่องนั้นๆ เช่นเรื่องบัญชี ก็มีบริษัทที่เป็นมืออาชีพรับทำให้จะได้แบ่งเบาภาระเรื่องคนไปได้บ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เจ้าของธุรกิจจะต้องมีความรู้ในทุกๆเรื่องเพื่อจะได้ดูแลกิจการให้อยู่ยั่งยืนตลอดไป

6.การสืบทอดตำแหน่ง ทายาทธุรกิจ
เนื่องจากเป็นธุรกิจครอบครัว การสืบทอดตำแหน่งส่วนใหญ่ก็ให้เฉพาะลูกหลานหรือคนในตระกูลเดียวกันเท่านั้น ถ้าลูกหลานที่จะมาสืบทอดกิจการเป็นคนเก่ง คนดี ขยัน ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้าสแกนดูแล้วในบรรดาลูกหลานไม่มีใครเอาอ่าว ก็ต้องยอมรับว่าการจ้างคนนอกมาบริหารกิจการเป็นเรื่องที่จำเป็น เรื่องนี้ต้องยอมรับให้ได้เพราะเรายึดความเป็นธุรกิจเป็นหลัก ต้องรู้จักไว้ใจคนอื่นบ้าง เพราะถึงแม้จะเป็นคนอื่นมาบริหาร แต่ถ้าเค้ามีความรู้มีความสามารถก็อาจจะช่วยให้บริษัทเจริญเติบโตแข็งแรงมั่นคง แต่ถ้ายอมรับไม่ได้จริงๆ อย่างไรเสียก็ต้องเป็นคนในตระกูลเท่านั้น อีกทางหนึ่งที่จะทำได้คือจ้างที่ปรึกษามาช่วยดูแล แต่ก็ต้องยอมรับค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร

7.เงิน ๆ ทอง ๆ ไม่เข้าใครออกใคร ใช้จ่ายไม่เป็นระบบ
เจ้าของธุรกิจ SMEs บางคน เมื่อทำธุรกิจไปได้สักพัก เริ่มเติบโตขึ้น เงินก็มากขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นต้องระวังเรื่องการใช้เงินให้ดี ต้องแยกออกระหว่างเงินของกิจการกับเงินส่วนตัว ทำบัญชีรายรับรายจ่าย อย่าใช้มั่วจนเพลิน ใช้ไปใช้มาทำไมเงินหมด อ้าว ก็ฉันรวย ฉันเงินเยอะ ฉันซื้อรถหรู แต่ฉันลืมไปว่ากิจการต้องใช้เงิน เรื่องนี้จะต้องตระหนักตั้งแต่เริ่มต้นกิจการ อย่าหลงใหลไปกับความฟุ่มเฟือยเพราะหายนะรออยู่ข้างหน้าแน่นอน

 

Published by taokaemai.com on 30 july 2018

SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

3 ปัญหาโลกแตกที่ SME หรือ Startup เจอกันมาตลอดในการหาพนักงานใหม่พร้อมวิธีแก้

 

การมีธุรกิจขนาดเล็ก หรือ สตาร์ทอัพที่สำเร็จได้ สิ่งที่คุณจะมองข้ามไปไม่ได้เลยคือการหาพนักงานคนเก่งเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทของคุณเดินหน้า แต่การหาคนที่ใช่ พนักงานที่ดี ๆ มันใช่ว่าจะหาง่ายกันซะที่ไหน พวกเราชาว SME ก็เจอปัญหาน่าปวดหัวกับเรื่องนี้กันมาตลอดในการหาพนักงาน มันคืออะไรเราไปดูกัน


1. Don’t know the best source where to look for a good candidate ไม่รู้ว่าต้องหาคนจากที่ไหนที่ดีที่สุด

บริษัท SME ส่วนใหญ่โดยเฉพาะช่วงเปิดแรกๆ เจ้าของธุรกิจจะต้องเป็นคนหาพนักงานเอง วิธีหาก็หนีไม่พ้นการ ปากต่อปากกันมา หรือไปโพสจ็อบบนเว็บหางาน เช่น JobBKK, Jobtopgun, JobsDB อะไรแบบนี้ซึ่งก็ต้องภาวนากันไปว่าจะได้คนดีๆมาสมัครมั้ย การหาคนแบบนี้เรียกว่าเป็น Passive Recruitment คือ รอ! มันเหมือนการซื้อหวยแล้วรอให้ถูกรางวัลซึ่งก็ไม่รู้จะถูกรึเปล่า

วิธีแก้ ต้องมาฝึกทำ Proactive Recruitment คือออกไปตกปลาหาแคนดิเดทตามที่ต่างๆ ที่แคนดิเดทน่าจะอยู่ เช่นหาจาก ​LinkedIn, Facebook, Twitter การหาตาม Social media นอกจากจะต้องรู้ว่าหายังไง ก็ต้องรู้ด้วยว่าจะพูด หว่านล้อม โน้มน้าวพวกเขาอย่างไรให้เขามาสนใจบริษัทของคุณด้วย

 

2. Don’t know how to attract top talent ไม่รู้จะดึงดูดให้คนเก่ง ๆ มาทำงานบริษัทเล็ก ๆ ยังไง

บริษัท ​SME ที่ยังไม่มีชื่อเสียง ไม่ดังเท่าบริษัทใหญ่ ๆ โอกาสที่จะได้มาซึ่งคนเก่งๆก็จะน้อยกว่า สมมุติว่าจะหาพนักงานมาทำงาน เช่นหา Software Developer มาสร้างแอพพลิเคชั่น แล้วอยากได้คนเก่งๆ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไงให้เค้ามาสนใจนอกจากการจ้างที่แพงขึ้น ซึ่งบริษัทก็งบไม่ได้เยอะ สุดท้ายก็ต้องหาคนที่พอถูไถทำได้ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง

วิธีแก้ ถึงจะเล็กกว่า ชื่อเสียงน้อย ก็ไม่ใช่ว่าจะหาคนเก่งๆ ดีๆมาร่วมงานไม่ได้เลยเสมอไป บริษัทต้องขายอย่างอื่น นอกจากการเพิ่มเงินอย่างเดียว เช่นการทำ Employer Branding (การสร้างภาพลักษณ์องค์กร) ให้น่าทำงาน วัฒนธรรมองค์กรดี มีวิถีการทำงานที่น่าสนใจ คุณควรเรียนรู้วิธีการทำ Content Marketing ที่ช่วยให้แคนดิเดทรู้จักคุณมากขึ้น และโน้มน้าวให้พวกเขามาสนใจที่อยากทำงานในบริษัทของคุณ

 

3. Don’t know who should be hired ไม่รู้จะสัมภาษณ์ยังไง ให้รู้ว่านี่คือ “คนที่ใช่”

เนื่องจากว่าคนที่หาพนักงานในช่วงแรกๆคือ เจ้าของธุรกิจเอง ซึ่งไม่ได้ถนัดเรื่องการหาคน สัมภาษณ์คน ไม่รู้ว่าจะต้องถามอะไรดีเพื่อให้รู้ว่า คนที่สัมภาษณ์อยู่เป็น “คนที่ใช่” หรือ “คนที่ไม่ใช่” สรุปก็เลยใช้อารมณ์ ความรู้สึก ความถูกชะตา หรือแม้แต่โหงวเฮ้ง หรือหน้าตา มาเป็นตัววัด และเดาว่าคนนี้น่าจะเป็น ”คนที่ใช่ “และหยวนๆจ้างมาก็ได้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็น “คนที่ไม่ใช่” และเพิ่มรอยหยักความปวดหัวให้คุณ

วิธีแก้ เจ้าของธุรกิจ หรือบุคคลที่ทำหน้าที่รีครูทต้องฝึกทักษะการสัมภาษณ์คนให้มีหลักการ มีแบบแผน ตัววัดว่าอะไรคือสิ่งที่บริษัทของคุณมองหาในตัวแคนดิเดท ต้องใช้ตรรกะในการมองหาคนที่ใช่มากกว่าความรู้สึก

 

Published by techsauce.co on 7 july 2018

SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

อีเมลมาร์เก็ตติ้ง ... เก่าแต่เก๋า ที่ไม่อาจมองข้าม

หากย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน จดหมายอิเลคทรอนิกส์ หรืออีเมล์ เป็นเรื่องใหม่ที่เข้ามาสร้างสีสันให้กับการทำ Direct Marketing ที่จากเดิมส่งจดหมายขายโดยตรงถึงผู้รับผ่านทางไปรษณีย์ กลายมาเป็นส่งตรงผ่านทางอีเมล์ ซึ่งทำให้ต้นทุนการจัดส่งถูกลงกว่ามาก ตราบเมื่อโซเชียลมีเดียอย่าง เฟสบุ๊ค ไลน์แอท อินสตาแกรม ฯลฯ เข้ามาแทนที่ อีเมล์มาร์เก็ตติ้งจึงกลายเป็นของเก่าที่หมดยุคไปทันที กระนั้น นั่นคือภาพจำเก่าของคนที่ไม่ได้รู้ลึกรู้จริง ซึ่งในความเห็นของผู้รู้อย่าง ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่ทาง SCB SME เชิญมาแลกเปลี่ยนเรื่องราวของ อีเมลมาร์เก็ตติ้ง กันนั้นกล่าวว่าอีเมล์เป็นเหมือนยักษ์หลับที่จะช่วยเพิ่มยอดขายให้ก้าวกระโดดแบบยั่งยืน ซึ่งอีเมล์สามารถสร้างออร์เดอร์ได้สูงกว่าการทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดียถึง 3 เท่า เพราะการสื่อสารผ่านทางอีเมล์จะให้ความรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัวที่เจ้าของสินค้าส่งตรงถึงผู้รับ หรือลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

  • Email สามารถสร้างออร์เดอร์ได้สูงกว่าการทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดียถึง 3 เท่า เพราะการสื่อสารผ่านทางอีเมล์จะให้ความรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัวที่เจ้าของสินค้าส่งตรงถึงผู้รับ หรือลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
  • การทำ Email Marketing ให้ประสบผลสำเร็จ ควรใช้บริการของ Email Marketing Service ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลากหลาย แต่ละเจ้าล้วนมีฟีเจอร์ที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาใช้เป็นลูกเล่นในการเสริมประสิทธิภาพในการทำตลาด เช่น สามารถวัดผลได้ว่ามีคนเปิด Email กี่คน ใครเป็นคนเปิด และมีคนคลิ๊กลิงค์ในตำแหน่งไหนบ้าง รวมไปถึงการส่งอีเมล์ซ้ำให้กับคนที่ยังไม่เปิดอ่านอีเมล์ หรือไม่คลิ๊กลิงค์ที่จะนำไปสู่การขายได้
  • การใช้ Email Marketing ทำให้สามารถจัดกลุ่มเป้าหมายได้ตรงกว่าการทำการตลาดประเภทอื่นๆ เพราะสามารถคัดแยกรายชื่ออีเมล์เป็นประเภทตามที่ลูกค้าได้กรอกข้อมูลมา ซึ่งจะช่วยให้การสื่อสารแบรนด์ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น มีการนำเสนอขายในสิ่งที่เป็นความสนใจ หรือความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย จึงช่วยเพิ่มโอกาสการขายให้มีมากขึ้น

“จากผลสำรวจของ MailChimp พบว่าอีเมล์มาร์เก็ตติ้งช่วยเพิ่มยอดขายได้ถึง 13% สูงกว่า Social Ads อีก และได้ผลที่คุ้มค่ากว่าด้วย อีเมล์ที่สามารถสร้างความสนใจให้ลูกค้าได้ จะได้ ROI หรือยอดขายหลักหักต้นทุนค่าโฆษณาถึง 3,800% เปรียบได้กับการใช้เงิน 1 ดอลลาร์ ได้รายได้กลับคืนมา 38 ดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้มีการเปิดเผยของแม่ค้าออนไลน์รายหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้อีเมล์มาร์เก็ตติ้งสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ถึง 3 ล้านบาทต่อปี ฉะนั้นถ้าเข้าใจ และทำเป็น อีเมล์มาร์เก็ตติ้งจะสร้างยอดขายได้มากเลยทีเดียว


“หลักสำคัญคือก่อนส่งเมล์ต้องคิดก่อนว่าลูกค้าอยากได้อะไร เพื่อการนำเสนอที่ตรงจุดจนกลับมาสู่การขายได้ โดยเส้นทางของการทำอีเมล์มาร์เก็ตติ้ง คือส่งแล้วมีผู้รับ ผู้รับเปิดอ่าน และมีการเปิดไฟล์แนบ หรือคลิ๊กลิงค์ตามที่เราต้องการ ซึ่งกลยุทธ์มีหลากหลายมาก อย่างในระบบ E-commerce เราจะเห็นว่าคนที่เข้ามาในเว็บ และหยิบของใส่ตะกร้าแล้ว แต่ไม่ซื้อมีเยอะมาก ในจำนวนนี้ถ้าเราส่งอีเมล์ตามไปภายหลังพร้อมข้อเสนอส่วนลดพิเศษ จะทำให้เราได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก 30% เพราะการที่เขาไม่ซื้อ ไม่ใช่เพราะไม่สนใจ แต่อาจเพราะยังไม่พร้อมในเวลานั้น การส่งอีเมล์ไปกระตุ้นอีกครั้งจึงช่วยปิดการขายได้เพิ่มขึ้น”


ข้อดีของการส่งอีเมล์ คือ พฤติกรรมของคนที่เปิดอีเมล์ ส่วนใหญ่จะให้เวลากับการค่อยๆ เปิดดูทีละเมล์ และอ่านรายละเอียดต่างๆ อย่างใจเย็น ซึ่งส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าเมล์นั้น คือเมล์ขายของ นั่นหมายถึงคนที่เปิดเมล์อ่านมีความสนใจในตัวสินค้าอยู่แล้วระดับหนึ่ง ซึ่งต่างจากข้อความสื่อสารผ่านทางโซเชียล ซึ่งมีลักษณะเร่งเร้าการตัดสินใจมากจนเกินไป และปัจจุบันมีมากจนคนเอือมระอา และกลายเป็นสาเหตุให้เฟสบุ๊คต้องปรับฟีดที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคลง


“หากลูกค้าเปิดอ่านและรับรู้ข่าวสารที่เราส่งไปก็หมายความว่าเขาต้องการสินค้าหรือบริการนี้จริงๆ ไม่ได้ถูกเรายัดเยียดและไม่รู้สึกรำคาญสิ่งที่เราส่งไปมากนัก ที่สำคัญคือ อีเมล์สามารปรับแต่งให้เป็นส่วนตัวได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราคลิ๊กขึ้นเป็น 10% เพราะผู้รับจะรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัว เปรียบเหมือนเราส่งตรงถึงเขาเป็นพิเศษ นอกจากนี้อีเมล์ยังสามารถเชื่อมต่อกับเฟสบุ๊คเพื่อยิงโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องมีชื่อเฟสบุ๊คของลูกค้าเลย มีเพียงแค่ที่อยู่อีเมล์ก็สามารถทำได้แล้ว โดยสั่งให้เฟสบุ๊คช่วยค้นหาให้ว่าที่อยู่อีเมล์นั้นใช้เฟสบุ๊คชื่ออะไร”


อย่างไรก็ตาม การทำอีเมล์มาร์เก็ตติ้งให้เกิดประสิทธิพลดังข้างต้นได้นั้น ประสิทธิ์บอกว่าต้องอาศัยเครื่องมือจาก ผู้ให้บริการการจัดการอีเมล์มาร์เก็ตติ้ง หรือ Email Marketing Service ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการทางด้านนี้เยอะมาก โดยประสิทธิ์ได้นำเสนอบริการของ MailChimp เพราะมีฟีเจอร์พื้นฐานครบ ใช้งานง่าย ที่สำคัญคือเวอร์ชั่นฟรีสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมที่จะจ่ายตังค์ แต่ก็จะถูกจำกัดการใช้งานในบางฟีเจอร์ที่มีประโยชน์ในขั้นแอดวานซ์ไปบ้าง


ทั้งนี้ในการทำอีเมล์มาร์เก็ตติ้งให้ได้ผลดี คุณประสิทธิ์แนะนำว่าให้เลือกเฟ้นอีเมล์ที่มีคุณภาพมาใส่ในลิสต์ กล่าวคืออีเมล์ในลิสต์รายชื่อจะต้องได้มาโดยความยินยอมของผู้เป็นเจ้าของ เพื่อป้องกันการถูกตราหน้าว่าเป็นสแปม ซึ่งกลยุทธ์เพื่อให้ได้อีเมล์มาอย่างถูกต้องนั้นมีหลากหลายวิธี วิธีที่ดีที่สุดคือการเก็บบนเว็บไซต์ของเราเอง โดยการติด Subscription Form ไว้ในที่ต่างๆ บนเว็บไซต์เพื่อกระตุ้นให้คนที่สนใจเลือก Subscribe ด้วยตัวของพวกเขาเอง


“ยิ่งไปกว่านั้น คือ MailChimp จะมีฟีเจอร์ให้ผู้รับเลือก Unsubscribe หรือยกเลิกการติดตามได้ด้วย ซึ่งก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวกรองที่จะช่วยให้ผู้รับที่เหลือ คือกลุ่มเป้าหมายที่มีคุณภาพ มีโอกาสสูงในการขาย การใช้งานก็ง่าย เพียงแค่เราจัดเตรียมรายชื่ออีเมล์ และสร้างเนื้อหาของอีเมล์ที่ต้องการส่งในรูปแบบข้อมูล ซึ่งอาจสอดแทรกรูปภาพ วิดีโอ หรือลิค์ได้ จากนั้นระบบก็จะทยอยส่งอีเมล์ที่เราสร้างขึ้นไปยังรายชื่ออีเมล์ทั้งหมดภายในครั้งเดียว แต่มีข้อแม้ว่าถ้าใช้เวอร์ชั่นฟรี เราจะส่งได้แค่ 2,000 รายชื่อเท่านั้น โดยสามารถส่งได้สูงสุด 12,000 ครั้ง


“อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจคือ การส่งอีเมล์อัตโนมัติ และการส่งซ้ำ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องส่งอีเมล์แบบเดิม ซ้ำๆ เราสามารถตรวจสอบได้ว่าอีเมล์ที่ส่งไปนั้น ไปถึงมือผู้รับกี่คน ในจำนวนนั้นมีคนเปิดอ่านอีเมล์กี่คน และคลิ๊กลิงค์กี่คน จากข้อมูลตรงนี้ เราสามารถตั้งค่าให้ระบบส่งซ้ำไปถึงคนที่ยังไม่ได้รับ หรือไม่ได้เปิดอ่าน หรือคลิ๊กลิงค์ได้ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เราสามารถทำการทดสอบอีเมล์ 2 ฉบับ ก่อนทำการส่งจริงได้ โดยเลือกที่จะส่งอีเมล์ไปให้คน 2 กลุ่มเล็กๆ โดยใส่หัวข้อ หรือเนื้อหาที่ต่างกัน แล้วดูว่าอีเมล์ไหนคนเลือกเปิดมากที่สุด ก่อนจะเลือกอีเมล์นั้นส่งไปให้กลุ่มคนที่เหลือทั้งหมด ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำอีเมล์มาร์เกตติ้งให้ประสบผลสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น”


คุณประสิทธิ์กล่าวในตอนท้ายว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นเพียงประโยชน์พื้นฐานของ Email Marketing Service ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ยังมีลูกเล่นอีกมากที่ทำให้อีเมล์มาร์เก็ตติ้ง เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการทำตลาดที่ผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันไม่ควรมองข้าม สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจกับลูกเล่นต่างๆ ที่ Email Marketing Service มี ทดลองใช้ให้คล่อง ซึ่งหากใช้เป็นแล้วอีเมล์สามารถทำอะไรได้หลายอย่างที่เครื่องมือยอดฮิตของคนไทยในยุคนี้อย่างเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม หรือไลน์แอทไม่สามารถทำได้

 

Published by scbsme.scb.co.th
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ข้อควรรู้! ในการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

 

ทำไมต้องจดทะเบียนพาณิชย์เล็กทรอนิกส์?

ในยุคที่ e-Commerce เติบโตอย่างรวดเร็ว จะเห็นว่ามีธุรกิจออนไลน์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และสิ่งหนึ่งที่ธุรกิจเหล่านี้ต้องทำให้ถูกต้อง นั่นคือ การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือจากการมีสถานะตัวตนทางกฎหมายและยังสามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี หลังจากที่ทําเว็บไซต์เสร็จเรียบร้อยพร้อมขายออนไลน์ ผู้ประกอบการจะมีเวลาในการยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มประกอบการ

 

ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ไหน?

ผู้ประกอบการสามารถทำการยื่นจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ ณ สถานที่ ดังนี้

– เขตกรุงเทพฯ ให้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ ณ ฝ่ายปกครอง สํานักงานเขต 50 เขต (ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ) หรือ สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ศาลาว่าการ กทม. (ครอบคลุมทั้ง 50 เขต)

– จังหวัดอื่นๆ ให้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ ณ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล (ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ)

 

เอกสารสำหรับใช้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมให้พร้อม อย่าให้ขาดตกบ่งพร่อง นั่นคือ เรื่องของเอกสารต่างๆ ซึ่งในการยื่นจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ต้องใช้เอกสารดังนี้

1.สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน และสําเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ

2.แบบคําขอจดทะเบียนพาณิชย์ แบบ ทพ. ดาวน์โหลดแบบ ทพ.

3.รายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรอก 1 ใบ ต่อ 1 เว็บไซต์ (ดาวน์โหลดเอกสารแนบแบบ ทพ.)

4.Print หน้าแรกของร้านค้าออนไลน์ สินค้า/บริการที่ประกอบพาณิชยกิจ และวิธีการสั่งซื้อสินค้า/บริการ วิธีการชําระเงิน วิธีการส่งสินค้า

5.วาดแผนที่ตั้งร้านค้า

6.หนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (กรณีจดในนามนิติบุคคล)

7.หนังสือมอบอํานาจ พร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสําเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอํานาจ (กรณีมอบอํานาจ) ดาวน์โหลดหนังสือมอบอำนาจ

 

กรณีผู้ประกอบการมิได้เป็นเจ้าบ้าน (เอกสารเพิ่มเติม)

1) หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่หรือสัญญาเช่า

2) สําเนาบัตรประชาชนเจ้าของสถานที่ พร้อมสําเนาทะเบียนบ้าน หรือเอกสารสิทธิ์ที่แสดงว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

 

 

Published on 15 May 2019
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

มือใหม่อยากทำร้านอาหาร เริ่มต้นอย่างไรดี?

 

ร้านอาหาร เป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมของผู้ที่ต้องการจะเริ่มต้นทำธุรกิจ เห็นได้จากตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในปี 2562 โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ติดอยู่ในอันดับ 3 ของธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด รองจากธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงสะท้อนได้ชัดเจนว่า คนที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจ มักจะให้ความสนใจธุรกิจร้านอาหารเป็นลำดับต้นๆ เพราะเหตุผลสำคัญคือ อาหาร เป็นปัจจัย 4 ที่คนขาดไม่ได้ ยิ่งทุกวันนี้ ร้านอาหารเสมือนเป็นสถานที่แฟชั่นให้คนยุคดิจิทัล ไปอัพสเตตัสเพื่อสะท้อนไลฟ์สไตล์กัน ธุรกิจนี้จึงกลายเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นนายของตัวเอง เรียกว่า “เก่าไป ใหม่มา” กันไม่ขาดสาย

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะเริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหารทุกวันนี้ ใช่ว่ามีสูตรอาหารอร่อย มีทำเลดี ๆ แล้วจะสามารถเปิดร้านได้ทันที แต่สิ่งที่ต้องมี ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ คือ จะต้องศึกษาและรู้ขั้นตอนของการประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง นอกเหนือจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของกลุ่มเป้าหมายตัวเองให้ถ่องแท้ มาดูกันว่า ถ้ามือใหม่อยากเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง ควรรู้และต้องทำอะไรบ้าง?

 

เลือกรูปแบบร้านอาหารให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย

ในการเริ่มต้น ผู้ประกอบการต้องวางแผนเลือกรูปแบบของร้านและอาหารที่ต้องการจะขายให้ชัดเจน โดยต้องศึกษาความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ศึกษาคู่แข่งในบริเวณเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับทำเลที่ตั้งของธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันร้านอาหารมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ได้แบ่งประเภทร้านอาหารเป็น 4 แบบ โดยใช้หลักเกณฑ์จำแนกตามการออกแบบตกแต่งเป็นหลัก ได้แก่ ร้านอาหารระดับหรู (Fine Dining) ร้านอาหารระดับกลาง (Casual Dining) ร้านอาหารทั่วไป (Fast Dining) และร้านริมบาทวิถี ซึ่งมีทั้งในรูปแบบ Kiosks, Street Food, Food Truck เป็นต้น

 

สร้างเอกลักษณ์ให้ร้านอาหาร

เมื่อพิจารณารูปแบบของร้านอาหารได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ การสร้างเอกลักษณ์ที่เด่นชัด เนื่องจากร้านอาหาร เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและมีตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคมากมาย ดังนั้น สิ่งที่จะดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้ คือการมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างและไม่ซ้ำใคร ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การสร้างเอกลักษณ์ด้วยเมนูอาหาร การให้บริการ หรือบรรยากาศภายในร้าน เป็นต้น

 

ขออนุญาตประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง

เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารมีผลต่อผู้บริโภคและสภาพแวดล้อม รวมถึงผู้อยู่อาศัยข้างเคียงโดยตรง ดังนั้น ในการดำเนินธุรกิจจึงต้องมีการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ  ตัวอย่างเช่น การดำเนินธุรกิจดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือกำกับดูแลร้านอาหาร ทางกรุงเทพมหานครจึงได้ออกข้อบัญญัติเรื่องสถานที่จำหน่ายและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2545

โดยกำหนดให้ร้านอาหารที่มีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องยื่นคำขอเพื่อขอรับ “หนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร” มีค่าธรรมเนียม 1,000 บาท และร้านอาหารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องยื่นคำขอเพื่อขอรับ “ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร” มีค่าธรรมเนียม 3,000 บาท

สำหรับการการยื่นคำขอใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการขอหนังสือรับรองการแจ้ง ของผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างๆ  ให้ยื่นได้ที่ส่วนราชการต่างๆ ดังนี้

– สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร

– สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล

– สำนักงานเทศบาลสำหรับร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล

– สำนักงานเมืองพัทยา

ส่วนในกรณีของร้านอาหารที่เปิดในพื้นที่สาธารณะ จำเป็นต้องมีการขอใบอนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ หากร้านอาหารมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอใบอนุญาตขายสุราต่อกรมสรรพสามิต โดยสามารถดำเนินการได้ที่

– กรุงเทพมหานคร: กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง

– ต่างจังหวัด: สำนักงานสรรพสามิตอำเภอ/กิ่งอำเภอ

หรือในกรณีที่ทางร้านอาหารมีการเปิดเพลง ฉายภาพวีดีทัศน์ หรือฉายภาพถ่ายทอดสดรายการที่มีลิขสิทธิ์  จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย รวมถึงการเปิดจากแผ่นบันทึกเสียงแท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง หรือเปิดผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ประกอบการก็จะต้องขออนุญาตอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน

 

จัดเตรียมเรื่องอาหาร สถานที่และบุคลกรให้พร้อม

ในส่วนสถานที่ ในการก่อสร้าง / ดัดแปลงอาคาร เพื่อทำร้านอาหารนั้น ผู้ประกอบการต้องมีใบอนุญาตก่อสร้าง/ ดัดแปลงอาคาร เพราะเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้

ส่วนสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร ถือเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านสถานที่ เช่น ความสะอาดของสถานที่ อุปกรณ์ล้างมือ การจัดการด้านห้องสุขา ซึ่งจำนวนห้องสุขาจะขึ้นกับจำนวนที่นั่งในร้านอาหาร รวมไปถึงการจัดการน้ำเสีย เช่น การติดตั้งบ่อดักไขมัน น้ำทิ้ง การจัดการขยะมูลฝอย เช่น การแยกเศษอาหาร นอกจากนี้ ยังต้องมีการจัดพื้นที่ปลอดบุหรี่ด้วย เนื่องจากร้านอาหารถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่ต้องมีเขตปลอดบุหรี่

ในส่วนของอาหารที่จำหน่ายก็ต้องถูกสุขลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด/ แห้ง/ ปรุงสำเร็จ ต้องสะอาดปลอดภัย น้ำ เช่น น้ำดื่ม/ น้ำแข็ง ต้องได้มาตรฐานตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รวมถึงกรรมวิธีการปรุงอาหารต้องถูกต้องปลอดภัย เช่น ห้ามใช้ก๊าซกระป๋องปรุงอาหารบนโต๊ะ ตลอดจนสุขลักษณะของอุปกรณ์และภาชนะ เช่น เก็บอุปกรณ์สูงจากพื้น 60 ซม. ป้องกันการปนเปื้อนจากสัตว์หรือแมลงนำโรค การฆ่าเชื้อภาชนะหลังทำความสะอาด

สุดท้ายด้านบุคคลกร ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบ หรือผู้สัมผัสอาหาร ต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่น คือต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อหรือพาหะนำโรค โรคผิวหนังที่น่ารังเกียจ หรือโรคอื่นๆ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติท้องถิ่น มีการรักษาความสะอาดของร่างกาย สวมใส่เสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันที่สะอาดและสามารถป้องกันการปนเปื้อนสู่อาหารได้

 

จัดการเรื่องภาษีอย่างถูกต้อง

เรื่องของภาษีต่างๆ ถือเป็นอีกเรื่องที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรดำเนินการอย่างถูกต้องเมื่อเริ่มต้นธุรกิจ หากผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดา เงินได้จากการประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ซึ่งต้องมีการยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ภ.ง.ด.94 และ ภ.ง.ด.40 และลดหย่อนโดยการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่ 60% กรณีที่เงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเกินจะใช้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล จะต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ภ.ง.ด.51 และ ภ.ง.ด.50 โดยคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิ หากขาดทุนหรือกำไรไม่เกิน 300,000 บาท จะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากกำไรเกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 15% และถ้ากำไรเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีอยู่ที่ 20%

พร้อมกันนี้ หากผู้ประกอบการร้านอาหารมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยกฎหมายบังคับให้ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่มีรายได้เกินกว่าที่กำหนด ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดทำรายงานภาษีซื้อและภาษีขายทุกเดือน พร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

นอกจากนี้ ร้านอาหารที่ต้องการมีป้ายหน้าร้าน จะต้องขออนุญาตติดตั้งป้ายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของร้าน ซึ่งจะมีการเรียกเก็บภาษีป้ายตามอัตราที่กำหนด โดยภาษีป้ายจะเรียกเก็บจากการแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือโลโก้บนวัตถุใดๆ ด้วยตัวอักษร ภาพ ไม่ว่าจะเป็นบนป้ายทั่วไป ป้ายบิลบอร์ดตามตึก ตามทางด่วน ป้ายผ้าใบ หรือป้ายไฟ ที่ใช้เพื่อหารายได้หรือการโฆษณา รวมถึงป้ายหน้าร้านตามร้านอาหารทั่วไป ล้วนต้องเสียภาษีป้ายทั้งสิ้น ส่วนอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ภาษา เช่น ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ หรือใช้ร่วมกันทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ และขนาดของป้ายตามที่กำหนด

 

หน่วยงานใดเกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารบ้าง?

1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ www.dbd.go.th

2. กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง www.excise.go.th

3. สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ foodsan.anamai.moph.go.th

 

ที่มาข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า / สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

 

Published on 13 February 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ