
หัวข้อ : พิชิตใจลูกค้าด้วย LINE@ , LINE OFFICIAL ACCOUNT คืออะไร
อ่านเพิ่มเติม :https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/line
https://lineforbusiness.com/th/service/line-oa-features
ปัจจุบัน เรามีช่องทางสื่อสารการตลาดมากมาย แต่ช่องทางสื่อสารการตลาดอีกช่องทางหนึ่งที่ กำลังมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั่นก็คือไลน์แอด (LINE@) หรือไลน์ธุรกิจ (LINE OFFICIAL ACCOUNT)
สิ่งแรกที่ต้องรับรู้คือการลงทะเบียนจะผูกกับบัญชีไลน์ส่วนตัว จึงสามารถกดเลือกลงทะเบียนผ่านไลน์ส่วนตัวได้เลยเมื่อเข้าใช้งาน หรือถ้าลืมรหัสก็สามารถกดขอรับรหัสใหม่ได้เลย รูปแบบบัญชีของไลน์แอด (LINE@) หรือ LINE OFFICIAL ACCOUNT นั้นมีหลายประเภท ทั้งแบบธรรมดาที่ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีรายละเอียดรายละเอียดแพ็กเกจรายเดือน ดังนี้
บัญชีไลน์เพื่อธุรกิจมีทั้งหมด 3 แบบ โดยสามารถดูได้จากสีที่แตกต่างของสีโล่
บัญชีพรีเมี่ยม โล่สีเขียว - หลังจากตรวจสอบโดย LINE จะได้รับโล่สีเขียว โดยแอคเคาท์พรีเมี่ยม จะสามารถหาเจอได้บนแอพฯ LINE ทั้งยังได้รับฟีเจอร์พิเศษอื่น ๆ มากกว่าด้วย
บัญชีรับรอง โล่น้ำเงิน - หลังจากตรวจสอบโดย LINE จะได้รับโล่สีน้ำเงิน แอคเคาท์รับรองจะสามารถหาเจอได้บนแอพฯ LINE ทั้งยังได้รับฟีเจอร์พิเศษอื่น ๆ มากกว่าด้วย
บัญชีทั่วไป โล่สีเทา - เป็นแอคเคาท์ทั้งสำหรับร้านค้าและบุคคล ซึ่งสามารถใช้ฟีเจอร์พื้นฐานได้เหมือนแอคเคาท์พรีเมี่ยมและแอคเคาท์รับรอง และสามารถซื้อชื่อ Premium ID หรือซื้อแพ็กเกจเพิ่มเติมได้เช่นเดียวกัน
สำหรับริชคอนเทนต์ (Rich Content) เป็นฟีเจอร์ที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาใช้เพิ่มลูกเล่นในการส่งข้อมูลให้ลูกค้าได้น่าสนใจมากขึ้น และสามารถเลือกกลุ่มคนเฉพาะที่จะได้รับข้อมูลได้ก็จะตรงกลุ่มเป้าหมาย และประหยัดการใช้งานสำหรับการยิงจํานวนข้อความของแพ็กเกจไปด้วยในทีเดียวกัน
Published on 3 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
หัวข้อ : Logistic เรื่อง ส่งๆ ที่ห้ามทำแบบ “ส่งๆ”
อ่านเพิ่มเติม : https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/Content_Logistic
เมื่อธุรกิจต้องการขยายเพิ่มช่องทางขายออนไลน์ เรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามนั่นคือ การจัดส่งสินค้า เมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้าแล้ว จะจัดส่งสินค้าอย่างไร ให้ “ถึงมือและถึงใจ” ลูกค้า แม้การขนส่งจะเป็นเพียงขั้นตอนสั้น ๆ แต่จะทำแบบส่ง ๆ ไม่ได้เด็ดขาด เราจึงขอแนะนำ 4 ข้อควรรู้ เกี่ยวกับการจัดส่งสินค้าที่จะช่วยมัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
จุดอ่อนของการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์คือ ลูกค้าไม่ได้รับสินค้าทันที ต่างจากการซื้อหน้าร้าน ฉะนั้นถ้าอยากกำจัดจุดอ่อนในข้อนี้ ต้องจัดส่งสินค้าให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
“สินค้าเสียหาย ส่งของผิด ส่งไม่ครบตามจำนวน สินค้าจริงไม่เหมือนบนหน้าเว็บไซต์” กรณีเหล่านี้ถือว่าเกิดขึ้นบ่อยมาก ๆ และเป็นเรื่องที่ทำให้ลูกค้าไม่พึงพอใจมากที่สุด ถ้าอยากเอาชนะใจลูกค้า ต้องใส่ใจเรื่องนี้ให้มาก โดยสิ่งหลัก ๆ ที่ควรตรวจสอบมีดังนี้
เมื่อมีบริการจัดส่งสินค้า ผู้ประกอบการบางรายอาจเลือกดึงดูดใจลูกค้าด้วยการประกาศว่า “จัดส่งฟรี” แต่ปัญหาที่ตามมาคือ คุณจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นแน่นอน ถ้าจะเลือกทางนี้คุณต้องมั่นใจว่ายังมีกำไรเหลืออยู่ ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งที่นิยมทำกันมากคือการคิดค่าจัดส่งกับลูกค้า ซึ่งแบ่งได้ 2 กรณีคือ
ความแม่นยำเรื่องเส้นทางในการจัดส่งเป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าส่งสินค้าทีไรก็ไปผิดที่ นอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าการบริหารจัดการของเราไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย ธุรกิจควรมีบริการจัดส่งสินค้าทุกที่ทั่วประเทศ เพราะลูกค้าที่อยู่ในจังหวัดอื่น ๆ อาจอยากซื้อสินค้าของเรา หากไม่มีบริการจัดส่งไปยังพื้นที่เหล่านั้น ก็ทำให้สูญเสียโอกาสในการขายไป
Published on 3 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
หัวข้อ : Youtuber เทรนด์ใหม่สร้างรายได้ วารสาร กรมสรรพากร ปีที่ 8 ฉบับที่ 94
อ่านเพิ่มเติม : http://download.rd.go.th/fileadmin/eMagazines/rd_july_2020/#p=25
ยูทูบเบอร์ เรียกได้วาเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจออนไลน์ ที่คนรุ่นใหม่สนใจกันเป็นอย่างมาก เป็นอาชีพของกลุ่มคนที่ผลิตเนื้อหาประเภทวิดีโอเพื่อหารายได้จากแพลตฟอร์มชื่อดังอย่างยูทูบ บางคนอาจเริ่มต้นด้วยการทำเป็นอาชีพเสริม แต่หากไปได้ดีก็จะกลายเป็นธุรกิจออนไลน์ที่สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลได้เช่นกัน
คือโฆษณาแทรกตามคลิปยูทูบที่ผู้ชมหลายคนกดข้ามเสมอ เจ้าของคลิปจะได้รับส่วนแบ่งค่าโฆษณาจากยูทูบโดยตรง ซึ่งอัตราจะขึ้นอยู่กับยอดการชมและจำนวนยอดผู้ติดตาม (Subscribe)
รายได้อีกทางหนึ่งมาจากสปอนเซอร์ที่เป็นเจ้าของสินค้าจะติดต่อให้ยูทูบเบอร์ช่วยโปรโมทสินค้า อาจแทรกเข้าไปในเนื้อหาของคลิปหรือทำเนื้อหาโปรโมทสินค้าโดยตรง ราคาจะขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างเจ้าของสินค้ากับยูทูบเบอร์
อาจเป็นการสนับสนุนรายเดือนหรือรายคลิป และผู้สนับสนุนอาจได้รับสิทธิพิเศษ เช่น ได้ดูคลิปก่อนเผยแพร่สาธารณะ แต่รายรับช่องทางนี้ไม่เป็นที่นิยมในไทย
ค้นหาเอกลักษณ์ของตัวเอง หาจุดแข็งที่ไม่มีใครเลียนแบบได้ แสดงออกในสไตล์ตัวเอง ไม่ว่าจะท่าทาง การพูด การแต่งตัว
นำคำติชมมาปรับใช้ คอยตอบคอมเมนต์และทำคลิปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษายอดจำนวนผู้ติดตามเอาไว้
เช่น เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ หรือแจกของรางวัลเพื่อสร้างความสัมพันธ์และทำให้คนดูรู้สึกมีส่วนร่วม
Published on 3 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
ต่อยอดกิจการครอบครัวอย่างไรให้กลายเป็นจุดเปลี่ยน
เคยสังเกตไหมว่ากิจการครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่เราเห็นๆ กัน เปิดมา 50-60 ปี เปลี่ยนถ่ายจากรุ่นสู่รุ่นแล้วก็ยังดำเนินธุรกิจกันแบบเดิมๆ ด้วยความเคยชิน แล้วก็อยู่กันแบบนั้น ยิ่งนานวันยิ่งเหมือนต้นไม้ที่แคระแกรน รอวันร่วงโรยไปตามกาลเวลา
ในทางกลับกัน เราจะเห็นว่ากิจการครอบครัวที่เติบโตงอกเงยแผ่กิ่งก้านสาขาจนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ปัจจัยสำคัญมาจากการสร้างจุดเปลี่ยนให้กับธุรกิจ โดยอาศัยความได้เปรียบจากการวางฐานธุรกิจจากรุ่นพ่อ เสมือนระบบรากใต้ดินที่แข็งแรง มาต่อยอดในช่วงเปลี่ยนผ่านของรุ่นลูก โดยนำเอาโนว์ฮาวความรู้ที่ร่ำเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เหมือนอย่าง คุณสุภลัคน์ พูลเสถียร หรือนุ่น ทายาทรุ่นที่ 3 ของ “ข้าวเหนียวมะม่วงเจ๊เตียง” ที่ทำให้ข้าวเหนียวมะม่วงที่บุกเบิกมาจากรุ่นปู่ในจังหวัดชุมพรเมื่อ 40 ปีก่อน มาไกลกว่าเดิมในฐานะข้าวเหนียวมะม่วงที่ติดอันดับต้นๆ ของประเทศ
จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มาจาก “ความตั้งใจ” ที่อยากจะยกระดับให้ข้าวเหนียวมะม่วงเจ๊เตียงในรุ่นพ่อที่ขายตามตลาดนัด ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ด้วยการเข้าสู่แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีตั้งแต่ปี 2558 โดยในตอนแรกนั้นยังไม่มีสาขาหน้าร้าน
คุณนุ่นรู้ดีว่า การเป็นข้าวเหนียวมะม่วงเจ้าแรกๆ ที่บุกเบิกขายในช่องทางดังกล่าว จำเป็นต้องหารูปแบบการขายที่เหมาะกับการสั่ง และการจัดส่ง ซึ่งประสบการณ์การตระเวนขายข้าวเหนียวมูล และปอกมะม่วงขายด้วยตัวเองตามตลาดนัดออฟฟิศทั่วกรุงเทพฯ ทำให้คุณนุ่น มองเห็นพฤติกรรมลูกค้าที่อาศัยอยู่ในเมืองว่าชอบหรือไม่ชอบมีอะไร นิยมปริมาณการกินแบบไหน นั่นจึงเป็นที่มาของการออกแบบเซ็ตของข้าวเหนียวมะม่วงออกเป็นไซส์ เป็นเจ้าแรกของตลาด โดยแบ่งออกเป็น 3 ไซส์ S M L ตามประเภทของลูกค้า
S ข้าวเหนียว 1 ขีด มะม่วงครึ่งลูก ราคา 50 บาท จับกลุ่มผู้หญิงที่อยู่บ้านคนเดียว หรืออยู่ในออฟฟิศต้องการกินมะม่วง แต่กลัวอ้วน
M ข้าวเหนียว 2 ขีด มะม่วง 1 ลูก ราคา 80 บาท จับกลุ่มลูกค้าทั่วไปจำนวน 1-2 คน
L ข้าวเหนียว 4 ขีด มะม่วง 2 ลูก ราคา 150 บาท จับกลุ่มครอบครัว
ในเวลาเดียวกัน ก็ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการสื่อสารกับลูกค้า พร้อมสร้างคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ โดยในช่วงแรกจะแนะนำว่าแต่ละไซส์เหมาะกับการกินแบบไหน หรือเหมาะกับใคร เรียกได้ว่าเป็นการ Educate ตลาดเพื่อให้ลูกค้าสั่งซื้อได้อย่างเหมาะสม และชี้ให้เห็นถึงความสะดวกสบาย สั่งซื้อได้จากบ้านหรือออฟฟิศได้เลย
ปรากฏว่าไซส์ S เป็นไซส์ที่ขายดีที่สุด เพราะนอกจากจะรองรับกลุ่มลูกค้าคนเดียวแล้ว ยังเป็นที่นิยมสำหรับคนที่นำไปจัดอาหารว่างในงานประชุมสัมมนา งานเลี้ยง หรือถวายพระ
ไม่เพียงเท่านั้น คุณนุ่นยังมองหา “ความแตกต่าง” ให้กับธุรกิจของเธอต่อไป ด้วยการใช้แพ็กเกจจิ้งกระดาษ เจาะกลุ่มตลาดที่ให้ความสำคัญกับโลกร้อน หากลูกค้าสั่งในปริมาณมากก็ยิ่งมีส่วนช่วยลดการใช้พลาสติก
แต่ลำพังแค่ข้าวเหนียวมะม่วงเป็นเซ็ต S M L และกล่องรักษ์โลกคงไม่สามารถเรียกความสนใจจากลูกค้าได้มากพอ ต่อมาไม่นาน จุดเปลี่ยนของกิจการครอบครัวก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเธอใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากสายท่องเที่ยวและโรงแรม นำมาต่อยอดจนสร้างความแตกต่างให้กับข้าวเหนียวมะม่วงทั่วไป ด้วยการการแกะสลักมะม่วงให้กลายเป็นโปรดักท์ใหม่ “เค้กข้าวเหนียวมะม่วง” เป็นเจ้าแรกของตลาด และกลายเป็นแบรนด์ที่โด่งดังมากในโลกโซเชียล
เพราะเค้กข้าวเหนียวมะม่วงเป็นการขยายตลาดไปสู่ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ซื้อไปจัดงานเลี้ยง และด้วยรูปลักษณ์ของสินค้าที่ใช้ข้าวเหนียวมูลรองเป็นฐานเหมือนเค้กก้อนกลมๆ และมีมะม่วงรูปดอกกุหลาบอยู่ข้างบน ความแปลกใหม่ดังกล่าวทำให้ลูกค้านำไปโพสต์ลงโซเชียล และส่งผลให้แบรนด์ข้าวเหนียวมะม่วงเจ๊เตียงกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าเดิม
และปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เค้กมะม่วงของข้าวเหนียวเจ๊เตียงแจ้งเกิดตลาดได้อย่างรวดเร็ว มาจากการตั้งราคาที่ไม่แตกต่างจากเค้กขนมปังทั่วไป นั่นคือ 1 ปอนด์ 350 บาท 2 ปอนด์ 450 บาท และ 3 ปอนด์ 580 บาท
เสียงตอบรับที่ดีจากตลาด ทำให้คุณนุ่นตัดสินใจเปิดร้านข้าวเหนียวมะม่วงเจ๊เตียงในย่านสุทธิสาร ต่อมาได้ขยายสาขาเพิ่มเติมในย่านรังสิต และในปี 2564 คุณนุ่น มีแผนที่จะขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านรูปแบบแฟรนไชส์ โดยในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเซ็ตระบบเพื่อรักษามาตรฐานข้าวเหนียวเจ๊เตียงให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกับสาขาใหญ่
มาถึงอีกตัวอย่างหนึ่ง “ร้านแม่นงนุช” ซึ่งเป็นร้านข้าวเหนียวมะม่วงเหมือนกัน และสามารถต่อยอดกิจการครอบครัวให้เติบโตขึ้นได้เช่นเดียวกัน โดยชูจุดขายความเป็นสินค้าโฮมเมดจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายมาเป็นร้านข้าวเหนียวมะม่วงชื่อดังของหัวหิน ที่ใครมาเยือนต้องแวะเช็คอินทุกครั้ง โดยมีคุณอัจนิริยา ศิลปะสุนทร์ ซึ่งผันตัวเองจากงานพีอาร์ ออแกไนซ์มาสานต่อกิจการของคุณย่าเป็นเจ้าของกิจการร้านแม่นงนุชในรุ่นที่ 3
คุณอัจนิริยา กล่าวว่าวิธีที่จะต่อยอดกิจการครอบครัวให้เติบโตมากกว่าเดิมได้นั้น เธอเริ่มต้นจากการรักษาคุณภาพความอร่อยให้ได้ก่อน เพื่อให้ลูกค้ายอมรับว่าแม้จะเปลี่ยนมือมาสู่ทายาทรุ่นใหม่แล้ว แต่รสชาติไม่เปลี่ยนแปลงจากรุ่นบุกเบิก ถือเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ลูกค้ามีความจงรักภักดีกับแบรนด์ เป็นจุดตั้งต้นให้ธุรกิจต่อยอดไปทำอะไรอื่นได้อีกมากมายในอนาคต โดยต่อมาได้ขยายโปรดักท์ขนมหวานอื่นๆ และอาหารคาว อาทิ น้ำพริกมะยม น้ำพริกมะขามสด ม้าฮ่อ และข้าวตัง เป็นต้น
สิ่งที่ทำให้ร้านแม่นงนุชสามารถรักษาฐานลูกค้าเก่า และเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ได้อย่างต่อเนื่องนั้น การทำตลาดก็เป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จ โดยในระยะแรกคุณอัจนิริยา นำประสบการณ์ด้านการทำพีอาร์มาสร้างแบรนด์ร้านแม่นงนุช ด้วยการเปลี่ยนถุง จากเดิมเป็นถุงกระดาษสีชมพูที่ใช้ใส่ขนมหม้อแกง มาเป็นถุงสีน้ำตาล พร้อมเปลี่ยนโลโก้ตัวอักษรแม่นงนุชให้เป็นฟ้อนท์ลายมือเพื่อสะท้อนความเป็นสินค้าโฮมเมด ต่อมาได้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับลูกค้า นอกจากแนะนำเมนูต่างๆ แล้วยังสร้างคอนเทนต์ที่บ่งบอกถึงสตอรีของร้านแม่นงนุชว่าเป็นร้านข้าวเหนียวมะม่วง 80 ปีในตำนานคู่เมืองหัวหิน
การรักษามาตรฐานด้านรสชาติและความอร่อยจนกลายเป็นร้านขนมในตำนานของหัวหินนี่เอง ทำให้ในระยะหลังมานี้มีพันธมิตรหลายรายอย่างดีแทค และแสนสิริ เข้ามาร่วมทำกิจกรรมการตลาดกับร้านแม่นงนุช เท่ากับเป็นการขยายฐานลูกค้าให้กว้างออกไปจากเดิม
แต่จำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นนั้น คุณอัจนิริยา กล่าวว่ายังไม่มีแผนเพิ่มสาขา เพราะต้องการให้ร้านแม่นงนุชแห่งนี้ยังคงเป็นร้านโฮมเมดต่อไป
อย่างไรก็ดี ในฐานะทายาทรุ่น 3 ของร้านแม่นงนุช ทิ้งท้ายว่าการสานต่อกิจการครอบครัวนั้นไม่ว่าจะผ่านไปกี่รุ่นก็สามารถสร้างจุดเปลี่ยนให้เติบโตได้ หากทายาทรุ่นปัจจุบันหาจุดแข็งของคนรุ่นก่อนให้เจอแล้วนำมารักษาให้ได้ตามมาตรฐานเดิม จากนั้นพยายามหาอะไรใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจเข้าไปในธุรกิจ อย่าหยุดพัฒนาสิ่งที่ดีให้ดีขึ้นไป ก็จะทำให้กิจการขยายตัวต่อไปได้ไม่ยาก
Published on 3 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
ความสำเร็จของ Locall Thailand ซึ่งเป็น Delivery Platform สัญชาติไทยที่ก่อตั้งโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า SATARANA เกิดจากการมีส่วนร่วมกันระหว่างธุรกิจและชุมชน ที่สำคัญเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนจนส่งผลให้ในวันนี้ Locall Thailand เติบโตอย่างรวดเร็ว จาก 3 ย่านแรกที่ดำเนินการคือ ย่านประตูผี-เสาชิงช้า เยาวราชและนางลิ้นจี่ ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 5 ย่านในกรุงเทพ คือ ตลาดพลู คลองเตย สุทธิสาร วังบูรพา บางซื่อ และอีก 4 ย่านในต่างจังหวัดทั้ง ราชพฤกษ์ นนทบุรี ตลาดใน สระบุรี ล่ามช่าง เชียงใหม่ และวัดด่านสำโรง สมุทรปราการ
การปรับตัวได้เร็วเป็นเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจ ยิ่งในภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่มีใครคาดถึง ยิ่งเปลี่ยนตัวเองไวเท่าไหร่ยิ่งได้เปรียบ เฉกเช่นที่มีคนกล่าวว่าปลาใหญ่ไม่น่ากลัวเท่าปลาเร็ว
Locall Thailand เป็นหนึ่งใน Case Study ตัวอย่างของธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และปรับตัว เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากธุรกิจโฮสเทล Once Again Hostel ย่านประตูผี-เสาชิงช้าเปลี่ยนมาเป็น Delivery Platform โดยคง Core Business ซึ่งต้องการเป็น Inclusive Business หรือการดำเนินธุรกิจที่เอื้อต่อชุมชนมาเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน เน้นหาทางรอดให้ธุรกิจตัวเองพร้อมจับมือธุรกิจเล็กๆ ในชุมชนให้มีทางออกด้วยเช่นกัน
“ช่วงที่เกิดโควิด-19 ย่านประตูผี-เสาชิงช้าที่เคยคึกคักกลับเงียบเหงา ร้านอาหารที่อยู่ละแวกนี้หลายร้านขายของไม่ได้จนมองว่าการปิดกิจการอาจเป็นทางเลือกที่แม้ไม่อยากทำแต่ก็คงไม่มีทางออกที่ดีกว่านี้ แต่เรากลับมองว่าถ้าไม่ปิดกิจการแต่ปรับตัวจะดีกว่าหรือเปล่า” เพียงพลอย จิตรปิยธรรม Co-Founder Locall Thailand เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นช่วงโควิด-19
ซึ่งนั่นเป็นการตั้งคำถามกับตัวเอง และเมื่อพยายามมองว่าปัญหาอยู่ตรงไหน Locall Thailand จึงเห็น Pain Point 3 เรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตนี้ คือ
หนึ่งธุรกิจโฮสเทลหยุดลงแต่ยังมีพนักงานที่ต้องดูแล การปรับโมเดลธุรกิจมาเป็น Delivery Hub เป็นทางเลือกเพื่อให้ธุรกิจไปต่อและพนักงานยังมีรายได้
สองทำอย่างไรถึงจะให้ร้านค้าในชุมชนรอบโฮสเทลมีโอกาสเข้าถึงช่องทางการขายและการประชาสัมพันธ์ร้านผ่านทางออนไลน์ได้
สามการปรับเปลี่ยนทั้งหมดต้องอยู่บน Core Value เดิมที่ต้องการธุรกิจเป็น Inclusive Business ซึ่งยังเอื้อและช่วยเหลือชุมชนเหมือนที่ผ่านมา
“เรามีพนักงานที่ต้องดูแลต่อ ทีมเราทำเรื่องของอาหารอยู่แล้วจึงคิดว่าจะพักเรื่องของโฮสเทลมาทำอาหารขาย แต่เมื่อเรามองไปเห็นร้านอาหารรอบข้างที่มีเจ้าของเป็นลุงป้าซึ่งได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมเข้าสู่แพลตฟอร์ม Delivery โดยเฉพาะร้านเล็กในชุมชนซึ่งเจ้าของร้านไม่มีความถนัดในเรื่องของเทคโนโลยีมากนัก ไม่ใช่ว่าคนเหล่านี้ไม่พร้อมจะปรับตัวแต่วิกฤตเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วมากจนเขาอาจจะยังตั้งตัวไม่ติดและตามไม่ทัน”
Locall Thailand จึงเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการปรับโมเดลจากโฮสเทลมาเป็น Delivery Hub ส่งต่อของดีย่านประตูผี-เสาชิงช้าจับมือกับชุมชนโดยไม่ให้กระทบวิถีชีวิตดั่งเดิมซึ่งเจ้าของร้านจะเป็นลุงป้าที่คุ้นเคยกับการขายผ่านช่องทางหน้าร้านมาตลอด การนำ Delivery Platform เข้ามาจะช่วยขยายช่องทางขายใหม่ให้ร้านในชุมชน รวมทั้งยังสามารถพาให้ธุรกิจรอดไปพร้อมกันได้
เพียงพลอยเสริมว่าสิ่งสำคัญอีกเรื่องในการปรับตัวครั้งนี้คือกระบวนการทำงานต้องไม่ซับซ้อน ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วเข้ามาช่วย ดังนั้นช่วงเริ่มต้นของ Locall Thailand จึงให้ลูกค้าสั่งอาหารผ่านแอพลิเคชั่น LINE@ โดยพิมพ์เข้าไปที่แอคเคาน์ @locall.bkk ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้วจะมีลิงค์สำหรับสั่งอาหาร เป็นระบบการสั่งอาหารแบบง่าย ลูกค้าสามารถสั่งอาหารจากหลายร้านได้โดยเสียค่าส่งแค่ครั้งเดียวซึ่งนี่คือจุดต่างจาก Delivery Platform รายอื่นที่หนึ่งออเดอร์สามารถสั่งได้จากร้านเดียวเท่านั้น
แม้ช่วงแรกร้านในชุมชนจะยังไม่เข้าใจกระบวนการทำงานมากนัก แต่การทำความเข้าใจและเข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงทำเป็นตัวอย่างให้เห็นสร้างความเข้าใจให้กับทุกคนจนสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และสร้างยอดขายได้ดีกว่าช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19
Key Success ที่ทำให้ Locall Thailand เติบโตอย่างรวดเร็ว เพียงพลอยมองว่าเกิดจากการลงพื้นที่จริงเพื่อให้ได้ Insight ของคนในชุมชนว่าปัญหาคืออะไรและ Locall Thailand จะเข้าไปช่วยในส่วนใดได้บ้าง
“การลงพื้นที่ทำให้เราเห็นปัญหาว่ามีอะไรที่เราสามารถเข้าไปช่วยได้ ทำให้รู้ว่าเราควรนำเสนอย่านนั้นอย่างไรให้สัมพันธ์กับสิ่งที่มีอยู่ในย่าน การเติบโตของเราจึงเกิดจากการที่คนเชื่อมกัน เราเชื่อมย่าน ย่านเชื่อมลูกค้า สุดท้ายลูกค้าเชื่อมกับเราแล้วฟีดแบ็คกลับมาเพื่อนำความเห็นเหล่านั้นกลับมาพัฒนาย่านอีกที”
ในวันนี้ Locall Thailand จึงไม่ได้เป็นแค่ Delivery Platform แต่เป็น Platform ที่ช่วยในการพัฒนาย่าน ซึ่งปัจจุบันนอกจาก Locall Thailand เรายังได้เห็นแพลตฟอร์มให้บริการรับส่งอาหารท้องถิ่นที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นของผู้ประกอบการในพื้นที่ให้มีช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น DINO DELIVERY ผลงานของบริษัท Start-up ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้บริการรับส่งอาหารและเครื่องดื่มในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเพื่อเพิ่มช่องทางขายให้ Local Brand ในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19
การพลิกวิกฤตจนเกิดเป็นโอกาสในครั้งนี้ เพียงพลอยบอกกับเราว่าสิ่งสำคัญคือการพยายามมองว่าอะไรคือปัญหาทั้งที่เกิดกับธุรกิจของตนเอง ลูกค้า หรือคนรอบข้าง ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และธุรกิจใหม่ได้เสมอ ยิ่งในช่วงเวลาที่ประสบกับวิกฤต ยิ่งเห็นปัญหาเร็วเท่าไรก็คือหาทางออกได้เร็วเท่านั้น
“หากมองแต่ปัญหาของตัวเราเอง ความคิดสร้างสรรค์ของเราก็จะถูกจำกัด ในวิกฤตแบบนี้ไม่มีใครสามารถไปรอดได้เพียงผู้เดียวเพราะทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด การจับมือฝ่าปัญหาไปด้วยกันทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชน ได้เห็นว่าแต่ละร้านก็พยายามช่วยเหลือกันและกันด้วย นี่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การพลิกโมเดลธุรกิจในครั้งนี้ของเราเติบโตไปในทิศทางที่ดีและค่อนข้างที่จะยั่งยืน เพราะถ้าวันนี้เราเอาตัวเรารอดไปได้ผู้เดียวแต่คนรอบข้างในย่านของเราไปไม่รอด สุดท้ายธุรกิจของเราก็คงไม่สามารถยืนอยู่ได้เช่นเดียวกัน”
วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำให้ได้เห็นภาพความร่วมมือกันระหว่างธุรกิจ โดยเฉพาะรายเล็ก ยิ่งชัดเจนขึ้น เพราะยุคนี้การทำธุรกิจแบบลุยเดี่ยวอาจจะไม่ใช่วิถีทางเอาตัวรอดเมื่อเกิดปัญหาแต่การจับมือร่วมกันเป็นเครือข่ายต่างหากที่สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเช่นเดียวกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นของ Locall Thailand
ที่สำคัญในอนาคต Locall Thailand ไม่ได้เป็นเพียง Delivery Platform สำหรับสั่งอาหารเท่านั้นแต่ Locall Thailand ยังมองถึงการก้าวไปเป็นเครื่องมือที่ส่งต่อของดีทั้งสินค้า บริการ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวจากแต่ละย่านถึงหน้าบ้านลูกค้าอีกด้วย
Published on 3 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย