
หัวข้อ : หลักการวางแผนภาษีในการส่งเสริมการขาย
อ่านเพิ่มเติม : https://sme.ktb.co.th/sme/productListAction.action?command=getDetail&cateMenu=KNOWLEDGE&cateId=45&itemId=311
ในทางธุรกิจนอกจากการขายสินค้าและบริการตามปกติแล้ว การส่งเสริมการขายก็เป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ดี การส่งเสริมการขายมีส่วนที่เกี่ยวข้องทางภาษีที่จะต้องพิจารณา จึงต้องมีการวางแผนด้านภาษีเกี่ยวข้องด้วย
ส่วนที่เกี่ยวข้องทางภาษีที่เราต้องให้ความใส่ใจมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเราสามารถแยกคำตอบในการวางแผนภาษีส่งเสริมการขาย เป็นกรณีดังนี้
ด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องคิดจากราคาที่ลด ซึ่งก็ต้องมีใบกำกับภาษีที่ชัดเจนประกอบตอนยื่นภาษี
ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องแยกเป็น 2 กรณี
มีประเด็นภาษีต้องคำนึงเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่ใช่การลดราคาระดับทั่วไป แต่ลดต่ำกว่าราคาตลาด ดังนั้นจึงต้องมีข้อคำนึงทางภาษีที่ต่างออกไป
ด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าที่ลดแบบล้างสต็อคก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ราคาขายล้างสต็อค เหมือนสินค้าลดราคาทั่วไป
ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าการลดราคาแบบล้างสต็อคนั้นไม่ได้มีราคาต่ำกว่าราคาตลาด จะคิดเหมือนการลดราคาทั่วไป แต่ถ้าการขายมีราคาต่ำกว่าราคาตลาดเมื่อใด จะเข้าเงื่อนไขที่เราควรต้องจัดการอย่างพิเศษถึงจะมีประสิทธิภาพทางภาษีสูงสุด หรือพูดในภาษากฎหมายก็คือต้อง “มีเหตุอันสมควร” ในการขายสินค้าราคาต่ำกว่าราคาตลาด
เงื่อนไขสำหรับสินค้าที่จะนำมาลดล้างสต็อค
ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไขดังนี้ เจ้าพนักงานด้านภาษีก็จะมีสิทธิ์ในการประเมินรายได้จากการล้างสต็อคของเราในราคาตลาด เช่น ถ้าปกติเราขายสินค้าในราคา 100 บาท แต่ขายลดล้างสต็อคไปในราคา 30 บาท เจ้าพนักงานก็มีอำนาจที่จะให้เราเพิ่มรายได้ในบัญชีไปให้เป็นราคาตลาด ซึ่งถือว่าเรามีราคาได้จากการขายสินค้านั้น 100 บาท เป็นต้น
ด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและต้องเสียตามมูลค่าตลาด ถ้าไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นต่าง ๆ อย่าง
ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล คิดเหมือนการขายสินค้าราคาต่ำกว่าตลาดแบบการ “ล้างสต็อค” คือถ้าไม่มี “เหตุสมควร” เจ้าพนักงานจะมีอำนาจในการสั่งให้เอา “ของแถม” มาคิดเป็นรายได้ของบริษัทตามราคาตลาดในบัญชีภาษี
ในแง่นี้ “ของแถม” ที่มีประสิทธิภาพทางภาษีก็คือ “สินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก” ซึ่งผ่านกระบวนการต่างๆ ให้มันมี “เหตุสมควร” ในการที่บริษัทจะขายออกไปในราคาต่ำกว่าตลาด ดังที่อธิบายไว้แล้วในหัวข้อการลดล้างสต็อค
Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
หัวข้อ : ไขข้อกังวล Top Hits เกี่ยวกับการทำR&D
อ่านเพิ่มเติม : https://sme.ktb.co.th/sme/previewPdf.action?fileId=23#book/9
การทำวิจัยและพัฒนาสินค้าหรือการทำ R&D เป็นส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค เพื่อให้ธุรกิจทำกำไรได้มากขึ้น เราได้รวบรวมปัญหาเกี่ยวกับการทำ R&D ของผู้ประกอบการ พร้อมคำตอบเเละตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
ผู้ประกอบการที่ขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ หรือเครื่องมือทำ R&D สามารถขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่พร้อมให้บริการวิจัย ซึ่งเเบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม
การสนับสนุนของหน่วยงานดังกล่าวประกอบด้วย
ซึ่งการสนับสนุนแต่ละระดับก็เหมาะสมกับผู้ประกอบการที่มีเงื่อนไขของการพัฒนาสินค้าที่ต่างกัน
ผู้ประกอบการสามารถติดตามผลงานวิจัยใหม่ๆ ได้ด้วยตนเองหรือตามช่องทางออนไลน์ได้ง่ายๆ โดยในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่สนับสนุนการจัดทำนวัตกรรม เช่น สวทช. สำนักงานนวัตกรรมเเห่งชาติ (สนช.) หรือ สำนักงานกองทุนสนุบสนุนการวิจัย (สกว.) ฯลฯ ได้รวบรวมผลงาน R&D ในระดับพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์จากหลากหลายเเห่ง
หากสนใจไปเห็นด้วยตัวเองทำได้ด้วยการไปร่วมงานโชว์เคส ทั้งมหกรรมเเละงานประกวดรางวัลที่เกี่ยวกับนวัตกรรมโดยตรง โดยจุดเด่นของงานเหล่านี้คือ เป็นงานที่รวมตัวของผู้ประกอบการเเละนักวิจัยที่สามารถพัฒนาผลงาน R&D ในระดับต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้มีอยู่ 3 รูปแบบให้เลือกเข้าร่วม คือ
แต่หากต้องการดูผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ซึ่งรวบรวมผลงาน R&D ในระดับพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์จากศูนย์วิจัยต่างๆ ไว้เเล้ว เเละยังมีข้อมูลสำหรับติดต่อผู้วิจัย/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ให้อีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการที่ยังมีเงินทุนไม่เพียงพอ สามารถขอรับการสนับสนุนจากโครงการสินเชื่อพิเศษสำหรับการทำ R&D จากสถาบันการเงินชั้นนำได้ ซึ่งโครงการเหล่านี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐกับธนาคารพาณิชย์ มีเสนอให้เข้าร่วมได้ 3 รูปแบบ ได้เเก่
หากผู้ประกอบการรายใดที่มีไอเดียนวัตกรรมสร้างสรรค์เเละต้องการเงินสนับสนุน สามารถยื่นขอเงินทุนให้เปล่าเพิ่มเติมจากโครงการ 4 ประเภท (ตาราง ที่ 5 ) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งมีการช่วยออกค่าใช้จ่าย R&D สูงถึง 50%-75% โดยบางโครงการจะให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการสร้างนวัตกรรมที่น่าสนใจ หรือสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ บางโครงการก็มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบการได้ทำ R&D ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้วย
หากผู้ประกอบการเริ่มสนใจในการทำ R&D เเต่ยังมีข้อสงสัยว่าควรเริ่มต้นจากจุดไหน เเละสงสัยว่าจะทำ R&D เรื่องอะไรดี สามารถดูได้จากข้อมูลเเละวิเคราะห์เส้นทางการทำ R&D ในภาพด้านล่างนี้
Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
เมื่อโควิดทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวต้องหยุดพัก แล้วจะปรับยังไงให้องค์กรได้ไปต่อ
อุตสาหกรรมที่บาดเจ็บมากที่สุดจากสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยคงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 22 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเจอผลกระทบหนักถ้วนหน้า
แต่ท่ามกลางการบาดเจ็บล้มตาย ย่อมมีผู้รอดชีวิตเสมอ ไม่ใช่เพราะมีร่างกายแข็งแกร่ง แต่อยู่ที่ทัศนคติทำให้ตั้งหลักได้เร็ว และพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ด้วยกันทั้งองค์กร
วิธีนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าประสบความสำเร็จมาแล้ว จากตัวอย่างของ Local Alike บริษัทท่องเที่ยวสตาร์ทอัพที่แม้จะทำธุรกิจเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise แต่ก็ยังฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนองค์กรรอดพ้นจากวิกฤต แถมยังต่อยอดธุรกิจให้เติบโตต่อไปในอนาคตย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 Local Alike แจ้งเกิดในตลาดท่องเที่ยวชุมชนผ่านแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับนักท่องเที่ยวที่สนใจในเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเข้าด้วยกัน โดยในระยะแรกจับกลุ่ม B2B (Business to Business) และ B2G (Business to Government) เป็นหลัก ทำให้มีลูกค้ามากกว่า 50 ราย ทั้งในภาคที่เป็นองค์กรเอกชนอย่างไทยแอร์เอเชีย เอสซีจี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซีพีเอฟ และหน่วยงานภาครัฐอย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาชุมชม และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) เป็นต้น
โดย Local Alike จะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางด้านการท่องเที่ยวของชุมชน และทำให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน กลายเป็นโมเดลที่ทำให้ Local Alike ประสบความสำเร็จกลายเป็นที่จับตาในฐานะสตาร์ทอัพดาวรุ่งใน Travel Tech
แม้จะมีลูกค้า B2C (Business to Consumer) เข้ามาบ้างก็ตาม แต่ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 100% ที่ชอบท่องเที่ยวแบบเจาะลึกในชุมชน ปลายปีที่ผ่านมา Local Alike จึงขยายธุรกิจใหม่เพื่อเจาะเข้าไปในกลุ่มลูกค้า B2C คนไทยบ้าง ภายใต้แบรนด์ Local Aroi หรืออาหารชุมชน อันจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับคนในชุมชนต่อยอดจากการท่องเที่ยวชุมชน ผ่านการจัดเตรียมอาหารมื้อพิเศษแบบ Chef’s Table ให้คนเมืองมาลิ้มรส ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นโดยชาวบ้านในชุมชน และปรุงด้วยเชฟชาวบ้าน เพื่อคงรสชาติดั้งเดิมที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและเรื่องราวของแต่ละชุมชนจากทั่วประเทศ ซึ่งต่อมาได้ขยาย Private Dinner Catering และ Cooking Class โปรแกรมแต่ละอย่างดังกล่าวที่จัดขึ้นในแต่ละชุมชนหลายสิบอีเวนท์เมื่อปลายปีก่อนถูกจองเต็ม เช่นเดียวกับโปรแกรมในปีนี้ที่มีลูกค้าจองเต็มล่วงหน้าเช่นกัน แต่..........
“พอ COVID-19 มาปุ๊ป โปรแกรมท่องเที่ยวของ Local Alike และโปรแกรมต่างๆ ของ Local Aroi ต้องถูกระงับจากมาตรการล็อคดาวน์ทันที และส่วนหนึ่งคนยังไม่กล้าท่องเที่ยวด้วย ทำให้รายได้เราหายไปทันที 20 ล้านบาท” คุณสมศักดิ์ บุญคำ หรือไผ Founder & CEO ของ Local Alike กล่าว
เดือนกุมภาพันธ์จึงเป็นห้วงเวลาที่ผู้บริหาร Local Alike ยอมรับว่าองค์กรอยู่ในขั้นบาดเจ็บสาหัส แต่การเป็นสตาร์ทอัพที่มีหัวใจของการทำงานที่คล่องตัว ตัดสินใจไว และทุกคนในองค์กรมีส่วนในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ทำให้ Local Alike ค่อยๆ ฟื้นตัวมาได้ โดยใช้เวลาเพียงเดือนเดียวในการปรับตัว Local Aroi ให้กลายเป็น Local Aroi Dee Delivery แพลตฟอร์มการสั่งอาหารชุมชนผ่านเดลิเวอรี
“มันเป็นไอเดียส่งความอร่อยจากท้องถิ่นถึงบ้านคุณในรูปแบบ Delivery โดยเราให้ชุมชนส่งวัตถุดิบหลักมา ส่วนทีมงาน Local Aroi จะทำหน้าที่เป็นเชฟ และ Food Stylist นำวัตถุดิบมาทำเป็นเมนูฟิวชั่นให้ถูกจริตคนเมือง จากวัตถุดิบท้องถิ่นนั้นๆ อาทิ ใบโกงกาง จากชุมชนบางหญ้าแพรก จากสมุทรสาคร, กะปิ จากชุมชนคลองโคน สมุทรสงคราม, พริกแกงเขียวหวาน จากนครศรีธรรมราช และปอเปี๊ยะ จากคลองเตย เป็นต้น”
แม้จะมีจุดแข็งที่ขายอาหารผ่านสตอรีสร้างความแตกต่างจากเจ้าอื่นได้อย่างสบายๆ ท่ามกลางสงครามฟู้ดเดลิเวอรีที่แข่งขันกันดุเดือดก็ตาม แต่อุปสรรคก็ยังมีไว้ให้ฝ่าฟัน เพราะค่าส่งและ GP ที่เจ้าของแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีเก็บ 30% ยังเป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่ต้องทลายมันลงมา
“เราขายอาหาร 60 บาท แต่เจอค่าส่งแพงกว่าค่าอาหาร เราคิดว่ามันไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นัก เราจึงอาศัยความสัมพันธ์จากการเข้าไปทำท่องเที่ยวชุมชนในสลัมคลองเตยก่อนหน้านี้ ให้พี่ๆ วินมอเตอร์ไซค์ รวบรวมพรรคพวกที่ว่างงานจากการล็อคดาวน์ มาตั้งกลุ่มคลองเตยไบค์ เราให้ค่าจ้างเขาเป็นรายวัน แล้วเราก็มาบริหารจัดการค่าจัดส่งไปยังลูกค้าในราคาที่ถูกกว่าแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี”
มีท่องเที่ยวชุมชนแล้ว อาหารชุมชนแล้ว ในเวลาไล่เลี่ยกัน Local Alike ก็ได้ขยายอีกหนึ่งธุรกิจ นั่นคือ Local A lot ในฐานะสินค้าชุมชนบ้าง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาสร้างรายได้หล่อเลี้ยงให้กับองค์กรและชุมชนในช่วงธุรกิจท่องเที่ยวต้องหยุดชะงัก
“Local A lot เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับสินค้าชุมชน จากการที่เราทำงานร่วมกับชุมชนมานาน เราพบว่าชุมชมมีของดีเยอะมาก เราเลยตั้งชื่อนี้”
แต่ใช่ว่าจะสักแต่ขายของลูกเดียว โดยไม่เข้าใจสถานการณ์ ทุกอย่างต้องมีไอเดียการขายทั้งนั้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสอย่างนี้
“เราให้แม่ๆ ในชุมชน เย็บหน้ากากจากผ้าทอมือมาขายเป็นหน้ากากชุมชน หรือบางแห่งผลไม้ออกพอดี เราก็ขายมังคุดชุมชน รวมถึงออกโปรดักท์เป็นถุงยังชีพชุมชนเลย โดยเราเอาของดีจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารอาหารแห้งมารวมอยู่ในถุงยังชีพ เพื่อนำมาขายให้กับองค์กรเอกชน หรือพรรคการเมืองที่ต้องซื้อไปแจกผู้ประสบปัญหาอยู่แล้ว ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก เฉพาะแค่หน้ากาก เราขายได้ 1,000 ชิ้นภายใน 2 วัน ทำให้หลังจากที่ Local A lot เปิดตัวมาได้ 45 วัน เราสร้างรายได้ให้ชุมชนมากถึง 3 ล้านบาท และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Local Alike ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด”คุณไผ กล่าวถึงบทเรียนที่เขาได้รับจากวิกฤตนี้ว่ามีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรก ธุรกิจท่องเที่ยวมีความเปราะบางมากกว่าที่คิด ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ต้องเรียนรู้ที่จะหาโมเดลใหม่เพื่อสร้างรายได้จากช่องทางอื่น
เรื่องที่สอง ธุรกิจทัวร์ต้องมีความเกื้อกูลกันมากขึ้น (Inclusive) ในกรณีของ Local Alike หากไม่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนไว้ตั้งแต่แรก ชุมชนก็คงไม่ยื่นมือมาช่วยเหลือยามลำบากด้วยการขายสินค้าในราคาต้นทุนให้ Local Aroi และ Local A lot แจ้งเกิดได้ ดังนั้นธุรกิจท่องเที่ยวที่เข้าไปทำในชุมชมแต่ไม่สนใจชุมชมรอบข้างก็จะอยู่ยาก
และเรื่องสุดท้ายที่สำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการ คือ การสร้างทีมให้เข้าใจภารกิจเดียวกัน และพร้อมที่จะ Reskill สู้ไปด้วยกัน จะสังเกตได้ว่าวิกฤตครั้งนี้ ทีมไหนมี Grow Mindset สูงมักจะอยู่รอด
และบทเรียนทั้งหมดก็พิสูจน์ได้ว่า Local Alike ไม่เพียงแค่อยู่รอด แต่ยังพลิกวิกฤตให้ธุรกิจและชุมชนมีโอกาสเพิ่มรายได้ไปด้วยกันในอนาคต
“ในอนาคต Local Aroi และ Local A lot มีศักยภาพที่จะเติบโตไปได้อีกไกล เพราะจับตลาดแมส เมื่อเทียบกับ Local Alike เป็นการที่ชวนคนไปเที่ยวชุมชน หลายคนอาจจะคิดเยอะ เพราะแพ็กเกจหลักพันขึ้นไป แต่สองอันนี้แค่หลักร้อย แล้วจุดเด่นคือ สตอรี ที่ทำให้เราต่างจากคนอื่น แค่นำเสนอผ่านอาหารและสินค้าชุมชนเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือ พัฒนาอาหาร ปรับเมนู และปรับแพ็กเกจจิ้งสินค้าทำสไตล์ให้สวยขึ้นเท่านั้นเอง”
รู้จักเพิ่มมูลค่า และคว้าโอกาสในวิกฤต
Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
ในสหรัฐอเมริกา เนื้อที่ทำจากพืช (plant-based meat) ได้ถูกผลิตขึ้นในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา และค่อยๆเติบโตเป็นทางเลือกให้กับผู้รักสุขภาพ และในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ แนวโน้มการเติบโตของเนื้อจากพืช เบอร์เกอร์เนื้อจากพืช พุ่งสูงขึ้น และเป็นเทรนด์อาหารในหลายประเทศทั่วโลก
ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเนื้อจากพืช หรือโปรตีนพืช มีหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมถึงการตลาดและการประชาสัมพันธ์ โดยกระบวนการเลี้ยงปศุสัตว์มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ฟาร์มบางแห่งมีประเด็นเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ และยังมีจริยธรรมเรื่องการฆ่าสัตว์ ผู้บริโภคบางกลุ่มจึงมองว่า การบริโภคเนื้อจากพืชมีส่วนช่วยในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ต้องฆ่าสัตว์ และเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ในประเทศไทย Meat Avatar คือหนึ่งในบริษัทที่เห็นโอกาสธุรกิจเนื้อจากพืช และได้สร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองคนไทยและคนเอเชีย ด้วยเมนูแรก “หมูกรอบจำแลง” พร้อมปรุง ซึ่งมีส่วนประกอบโปรตีนสกัดจากธัญพืช เช่น ถั่วเหลือง เห็ด ข้าวเจ้า ข้าวสาลี รวมถึงสีธรรมชาติจากบีทรูทและทับทิม โดยเล็งกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มคนที่กินเนื้อสัตว์ รวมถึงคนที่กินมังสวิรัติ
คุณวิภู เลิศสุรพิบูล ผู้ร่วมก่อตั้ง Meat Avatar กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า ตอนเรียนปริญญาโท อยู่ที่สหรัฐอเมริกาช่วงปี 2551-2552 ได้เห็นเทรนด์อาหารสุขภาพที่พัฒนาขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นอาหารมังสวิรัติ อาหารวีแกน เป็นต้น พอกลับมาเมืองไทย ได้ทำงานเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกอาหาร จึงคลุกคลีอยู่ในวงการธุรกิจอาหาร และมีโอกาสไปเดินงานแสดงสินค้าที่ต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง จึงเห็นเทรนด์อาหารในระดับโลก
คุณวิภู เล่าว่า ได้มีโอกาสกลับไปสหรัฐ และเข้าร่วมงาน Exhibition “ไปเจอ Beyond Meat (บริษัทสัญชาติอเมริกันที่ผลิตเนื้อจากพืช) คิดว่าน่าสนใจ ลองชิมแล้วว่าอร่อย จากนั้นก็ลองพยายามดูว่า จะนำเข้ามาที่ไทยได้ไหม”
ในตอนแรกที่ Beyond Meat วางตลาดในสหรัฐ ราคาผลิตภัณฑ์แพงกว่าเนื้อสัตว์ถึง 2 เท่า พอคุณวิภูลองคำนวณต้นทุนในการนำเข้าเนื้อจากพืชของ Beyond Meat ทั้งค่าขนส่ง ภาษีนำเข้า รวมถึงการแบ่งกำไรให้กับห้างสรรพสินค้า จึงได้ข้อสรุปว่า “แทบเป็นไปไม่ได้ที่ออกตลาด Mass ในไทย จับกลุ่มได้แต่ผู้บริโภคระดับบนเท่านั้น เนื่องจากมีราคาแพงมาก”
เมื่อการนำเข้า Beyond Meat มาวางขายในไทยไม่ตอบโจทย์ คุณวิภูจึงคิดต่อว่า ทำไมถึงไม่ทำเองในไทย ซึ่งเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และมีเทคโนโลยีอาหารที่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากนั้นจึงได้เริ่มฟอร์มทีมทำโปรเจ็คส์เนื้อจากพืชเมื่อปี 2558 พร้อมกับทำธุรกิจอื่นควบคู่กันไปด้วย โดยมีคุณวรุตม์ จันทร์โพธิ์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Meat Avatar โดยคุณวรุตม์ กล่าวว่า ทางทีมงานเริ่มมาทำจริงจังเต็มตัวเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (prototype) ในช่วงปลายปีที่แล้ว ก่อนจะมีสินค้าออกจำหน่ายในปี 2563
หากเปรียบเทียบบริบทธุรกิจระหว่างสหรัฐและไทย คุณวิภู กล่าวว่า ในปัจุบัน บริษัทที่ผลิตเนื้อจากพืชในสหรัฐ ชูประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าสุขภาพ แต่ในประเทศไทย ความห่วงกังวลด้านสิ่งแวดล้อมยังมีดีกรีน้อยกว่าโลกตะวันตก Meat Avatar จึงชูเรื่องสุขภาพและจริยธรรมการฆ่าสัตว์ “พื้นฐานประเทศไทยมีเรื่องการกินเจ กินมังสวิรัติที่ดีอยู่แล้ว คนไทยเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเอง และร้านอาหารมังสวิรัติ ร้านอาหารวีแกนเปิดขึ้นมาเยอะ โดยเฉพาะในโซนกลางเมือง”
คุณวรุตม์ กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมองเรื่องสุขภาพ การออกกำลังกายมาควบคู่กับอาหารคลีน และมีโปรตีนทางเลือกมากขึ้น ทำให้มองเห็นโอกาสธุรกิจเนื้อจากพืชในไทย แต่คุณวิภูเสริมว่า หนึ่งในปัญหาที่พบคือ คนยังไม่รู้จักว่าเนื้อจากพืชคืออะไร บริษัทจึงต้องทำการตลาดและให้ความรู้ว่า เนื้อจากพืชต่างจากอาหารเจ-มังสวิรัติอย่างไร
“อาหารเจมังสวิรัติรูปแบบเดิม ส่วนมากจะเป็นการเอาแป้ง คาร์โบไฮเดรต โปรตีนเกษตร มาขึ้นรูปให้เหมือนเนื้อสัตว์จริง โดยที่คุณสมบัติยังไม่ได้ เช่น โปรตีนเกษตรยุคเก่ามีกลิ่นค่อนข้างแรง กลิ่นถั่ว กลิ่นผักค่อนข้างแรง คุณค่าทางโภชนาการก็ยังไม่ครบถ้วน ส่วนมากมีคาร์โบไฮเดรตสูง และรสชาติอาจยังไม่อร่อยถูกปากนัก สิ่งที่เรานำเสนอ plant-based ของเรา คือ เนื้อที่ทำจากพืชและทดแทนเนื้อสัตว์ ดังนั้นจึงมีคุณสมบัติคล้ายเนื้อสัตว์จริงมากที่สุด และต้องมีโปรตีนมากกว่าคาร์โบไฮเดรต” คุณวิภู กล่าวว่า Meat Avatar มีคุณสมบัติของเนื้อจากพืช 5 ประการได้แก่ รูปลักษณ์ รสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัส และคุณค่าทางโภชนาการ
กว่าจะมาเป็น “หมูกรอบจำแลง” ที่วางจำหน่าย ทางทีมงานใช้เวลาหลายปีในการคิดค้นสูตร อาทิ การคัดเลือกธัญพืช คิดหาวิธีดึงกลิ่นออกจากพืชผักที่นำมาเป็นส่วนประกอบ และการทำให้เนื้อสัมผัสมีความใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์
คุณวิภูและคุณวรุตม์ กล่าวว่า การคิดค้นพัฒนาสูตรอาหารเนื้อจากพืชในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องของความพยายามและตั้งใจในกระบวนการทดลอง ได้ทิ้งผลิตภัณฑ์ต้นแบบไปจำนวนมาก โดยทางทีมงานมีการวิจัยพัฒนา ดูข้อมูลจากต่างประเทศ รวมถึงขอความช่วยเหลือจากภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สถาบันอาหาร อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่ง
“เราไม่ได้ปิดว่า ทุกอย่างต้องเป็น in-house ของเรา เราสามารถที่จะออกไปปรึกษาเขาได้ เพื่อจะได้มีองค์ความรู้ และเปิดโลกมากขึ้น เราไม่ได้ปิดว่า ฉันรู้อยู่แค่นี้ ฉันก็จะทำของฉันอยู่แค่นี้ บางทีมันจะไปไม่ได้ เราจะต้องยอมรับความคิดของคนอื่นเข้ามาเพื่อให้ก้าวหน้าไปได้ และทำให้เร็วขึ้น” คุณวิภู ยกตัวอย่างว่า ได้ปรึกษาเรื่องเทคนิคกับทางสถาบันอาหาร เพราะเป็นองค์กรที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร
ในเรื่องปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจเนื้อจากพืช คุณวิภู มองว่ามี 2 เรื่องหลัก คือ การตลาดและรสชาติของผลิตภัณฑ์ การตลาดต้องทำให้ผู้บริโภครับรู้และเห็นความแตกต่างของเนื้อจากพืช ส่วนเรื่องรสชาติ “อาหารที่จะขายได้ ต้องอร่อย และราคาต้องอยู่ในช่วงราคาที่จับต้องได้ ไม่แพงเกินไป”
สำหรับอาหารพร้อมปรุง นอกจากตลาดรีเทล-ซูเปอร์มาร์เก็ต Meat Avatar มีแผนที่จะเข้ากลุ่มฟู้ดเซอร์วิส โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง ส่งวัตถุดิบให้เชฟรังสรรค์เมนูให้ลูกค้าได้ชิม ถ้าลูกค้าติดใจก็อาจซื้อกลับไปทำเองที่บ้าน
นอกจากหมูกรอบแล้ว Meat Avatar ยังเตรียมเปิดตัว “หมูสับ” เป็นผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชตัวต่อไป และบริษัทยังมีแผนที่จะหาพันธมิตร โดยจะร่วมมือกับโรงงานผลิตอาหารพร้อมทาน รวมถึงวางแผนส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศในกลุ่มอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เป็นต้น
ในสนามแข่งขันธุรกิจเนื้อจากพืชในประเทศไทย นอกจาก Meat Avatar ยังมีแบรนด์ Let's Plant Meat เบอร์เกอร์เนื้อจากพืช รวมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายก็หมายตาธุรกิจนี้ไว้ด้วยเช่นกัน คุณวิภู กล่าวว่า “ทุกคนกลัวเจ้าใหญ่ เพราะเขามีทุกอย่างในมือ แต่ผมมองว่าตอนนี้ไม่ใช่เรื่องปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นเรื่องปลาเร็วกินปลาช้า เรามาก่อนเขา ทุกคนรู้จักเราก่อน เราทำให้คนติดใจเรื่องรสชาติ คุณค่าทางโภชนาการ และราคา ผมเชื่อว่าจะทำให้เราแข่งกับเจ้าใหญ่ได้เหมือนกัน”
Meat Avatar ยังมองหาความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อมาช่วยเรื่องการขยายและพัฒนาธุรกิจเนื้อจากพืช ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่
ในโลกการแข่งขันทางธุรกิจ ปลาใหญ่อาจไม่ได้กินปลาเล็กเสมอไป หาก SME มีไอเดีย มองเห็นโอกาส และสามารถเปลี่ยนไอเดียเป็นธุรกิจด้วยความรวดเร็วว่องไว
Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
Sackitem แปลงขยะเป็นแฟชั่นให้ดังไกลไปต่างแดน
SACKITEM ไม่ได้เป็นเพียงแค่แบรนด์กระเป๋าแฟชั่นที่มีดีไซน์สวยสะดุดตา แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในทุกไอเท็มที่ผลิตออกมาคือการสร้างจิตสำนึกให้คนมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียกว่า “ขยะ”
กว่า 10 ปีแล้วที่ คุณธนารักษ์ วรฤทธานนท์ ผู้ก่อตั้งแบรน์ SACKITEM คิดค้นและออกแบบกระเป๋าแฟชั่นจากวัสดุเหลือทิ้งอย่างกระสอบจนทำให้ SACKITEM กลายเป็นแบรนด์อัพไซเคิลเจ้าแรกๆในเมืองไทยที่วันนี้ไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในประเทศแต่ยังดังไกลไปถึงต่างแดน ซึ่งปัจจุบันสินค้าแฟชั่นของ SACKITEM เป็นที่สนใจจากลูกค้าชาวจีน เกาหลี ญี่ปุ่น โดยที่ญี่ปุ่นมีการเซ็นสัญญาเป็นตัวแทนขายสินค้าของ SACKITEM อย่างเป็นทางการและดูแลเรื่องของการขายผ่านช่องทางออนไลน์ทั่วโลก นอกจากนี้สินค้าของ SACKITEM ยังกระจายออกไปยังประเทศต่างๆไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เยอรมัน เป็นต้น
“ผมเคยทำแบรนด์เสื้อผ้ามาก่อนหน้านี้ พอวันหนึ่งถึงจุดอิ่มตัวก็เป็นจังหวะที่เรามองเห็นว่ามีวัสดุเหลือทิ้งอยู่ในบ้านคือกระสอบข้าวที่คุณแม่และคุณยายแยกเก็บเอาไว้ ซึ่งเรามองว่าวัสดุเหล่านี้น่าจะนำมาทำอะไรได้ จึงลองนำมาเย็บเป็นกระเป๋าแล้ววางขายกับเสื้อผ้าของเรา ปรากฏว่ามีชาวต่างชาติมาเห็นแล้วชอบจึงซื้อกลับไปในราคาประมาณ 200 บาท จากนั้นเราก็เลยมีไอเดียว่ากระเป๋าที่เราทำมีคนสนใจและสามารถขายได้ ดังนั้นเราควรจะศึกษาเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น”
หลังจากกระเป๋าใบแรกถูกขายออกไป คุณธนารักษ์ ใช้เวลาในการเสาะหาข้อมูล เรียนรู้ ทดลองทำ และพัฒนารูปแบบของกระเป๋ามาเรื่อยๆ โดยเน้นใช้วัสดุอย่างขยะมาเป็นวัสดุหลักในการทำกระเป๋า คุณธนารักษ์ พบว่า ปกติวัสดุกระสอบที่นำมาใช้ในบ้านเรามีหลายประเภท มีทั้งกระสอบอาหารสัตว์ ถุงปุ๋ย ถุงข้าว ถุงแป้ง ถุงน้ำตาล แต่วัสดุหลักที่ SACKITEM ใช้จะเป็นกระสอบเม็ดพลาสติก รองลงมาเป็นกระสอบข้าว และกระสอบอาหารสัตว์
“เรามามองดูว่าตอนนั้นเรามีคอนเนคชั่นอะไรบ้าง ปรากฏว่าเรารู้จักโรงงานรีไซเคิล โรงงานผลิตกระสอบ โรงงานขยะ ดังนั้นเราจึงมาลองศึกษาดูว่ากระสอบที่โดนทิ้งแล้วจะไปที่ไหนได้บ้าง ก็พบว่าส่วนมากจะถูกนำไปหลอมเป็นพลาสติกเกรดต่ำ ซึ่งเรามองว่าจะดีกว่าไหมถ้าเรานำมาทำกระเป๋าเพิ่มมูลค่าให้เป็นสินค้าที่มีราคามากกว่านั้น ตอนแรกเราเย็บกระเป๋ากระสอบโดยใส่ดีไซน์เข้าไป ซึ่งแต่ละใบจะมีการรับน้ำหนักที่แตกต่างกัน จนในที่สุดเราเจอรุ่นพี่ที่มีกระสอบเม็ดพลาสติกมือหนึ่งซึ่งมีความสะอาด ในโรงงานเขาจะมีเศษพลาสติกที่เหลือทิ้งเหล่านี้เราจึงลองนำมาเย็บเป็นกระเป๋าซึ่งปรากฏว่าสามารถที่จะรับน้ำหนักได้ถึง 50 กิโล”
ในแง่ของฟังก์ชั่นกระเป๋ากระสอบซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาสามารถตอบโจทย์การใช้งานและรับน้ำหนักได้เป็นที่น่าพอใจ แต่สิ่งสำคัญอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือทำอย่างไรที่จะไม่ให้ลูกค้ารู้สึกว่ากระเป๋าที่พัฒนาขึ้นมาทำมาจากขยะ
“เราใส่ดีไซน์เข้าไปเพื่อไม่ให้ลูกค้ารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้คือขยะ หลังจากนั้นเรามาเจอโรงงานพีวีซีซึ่งในกระบวนการผลิตจะมีส่วนที่เหลือทิ้งเรานำตรงนั้นมาหุ้มกระเป๋าของเรา ซึ่งมันช่วยในเรื่องของสีสัน ความทนทาน รวมกับแบบที่เราพัฒนาขึ้นเรื่อยๆทำให้ลูกค้าเริ่มสนใจสินค้าของเรา เราเริ่มได้รับการติดต่อให้ออกสื่อมากขึ้น มีคนสนใจเรามากขึ้น” ปัจจุบัน SACKITEM มีทั้งสินค้าหลากหลายแบบไม่ว่าจะเป็น กระเป๋าแฟชั่นรูปแบบต่างๆ ชุดเอี๊ยมสำหรับใส่วาดภาพหรือตัดผม ชุดกันเปื้อนสำหรับทำอาหาร พวงกุญแจ ซองใส่บัตร เป็นต้น และด้วยความโดดเด่นของดีไซน์รวมถึงเอกลักษณ์ของวัสดุที่ทำจากขยะทำให้สื่อต่างประเทศเก็บภาพไปลงทั้งในนิตยสารและช่องทางอื่นๆซึ่งนั่นทำให้ SACKITEM ได้รับความนิยมจากลูกค้าต่างชาติซึ่งสนใจสินค้าอัพไซเคิลเป็นจำนวนมาก
“สิ่งที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักทั้งจากคนไทยและต่างชาติเรามองว่าเป็นเพราะเราซื่อสัตย์กับตัวเองว่าสิ่งที่เราทำเราทำอย่างจริงจัง เราสามารถตอบลูกค้าได้ว่าสินค้าของเราแต่ละชิ้นทำมาจากขยะจริงๆและเราสามารถลดปริมาณขยะประเภทกระสอบได้ปีหนึ่งประมาณ 5-6 ตัน นอกจากนี้เรายังช่วยตัดขั้นตอนในการใช้พลังงานที่จะนำขยะเหล่านั้นไปกำจัดด้วย”
นอกเหนือจากสินค้าของ SACKITEM จะโดดเด่นในแง่ของการช่วยลดขยะ คุณธนารักษ์เสริมว่าในกระบวนการผลิตสินค้า SACKITEM ยังช่วยสร้างรายได้ให้กระจายไปสู่ชุมชนบางส่วนด้วย
“เราให้ชุมชนเข้ามามีส่วนในการตัดเย็บสินค้าของเราโดยโรงงานหลักที่เราส่งให้เย็บคือโรงงานที่พระประแดงและชุมชนหนองแขม ตอนนี้ตลาดอัพไซเคิลเริ่มมีคนสนใจมากขึ้น เราอยากให้แบรนด์เราเติบโตเพื่อต่อยอดให้ทั้งสินค้าของเราและการสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย รวมถึงเราต้องการเห็นสินค้าของเราเป็นภาพจำหนึ่งซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวแล้วอยากซื้อกลับไปเป็นของฝาก หรือนึกถึงประเทศไทยในแง่ของการเป็นประเทศที่ใส่ใจเรื่องของการลดขยะด้วย”
แน่นอนว่าการทำธุรกิจก่อนที่จะประสบความสำเร็จจนถึงวันนี้ SACKITEM ก็พบอุปสรรคมาแล้วเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น แต่สิ่งที่ทำให้ผ่านอุปสรรคต่างๆมาได้ก็คือความมุ่งมั่น จริงใจ และเดินหน้าเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
“อุปสรรคในธุรกิจที่เราเจอเรื่องแรกก็คือเรื่องของวัสดุที่มีข้อจำกัดเพราะเราทำจากขยะดังนั้นเราจึงไม่สามารถหาวัสดุซึ่งตรงใจลูกค้าได้ทุกอย่าง เราก็ต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่าวัสดุที่ใช้ไม่สามารถกะเกณฑ์ได้ตามความต้องการของเขาเพื่อให้เขายอมรับในความเป็นเรา อุปสรรคเรื่องที่สองก็คือการก๊อปปี้แบบของเราแต่คุณภาพด้อยกว่าเราซึ่งหลายครั้งเมื่อลูกค้าซื้อของก๊อปปี้ไปใช้แล้วไม่มีคุณภาพเขาก็จะรู้สึกแย่กับแบรนด์ของเรา สิ่งที่เราทำได้ก็คือมองข้ามแล้ววิ่งไปข้างหน้า พัฒนาทั้งคุณภาพและดีไซน์ของเราให้ดียิ่งขึ้น อุปสรรคข้อสุดท้ายเป็นเรื่องที่เราเจอตอนนี้คือโควิด-19 ทำให้สินค้าของเราซึ่งขายต่างประเทศนำออกไปขายไม่ได้ ตรงนี้เราก็ได้แต่หวังว่าอีกไม่นานสถานการณ์น่าจะคลี่คลาย ตรงนี้ก็เป็นบททดสอบว่าเราจะอยู่สู้กับมันได้แค่ไหน”
เป้าหมายของ SACKITEM ในวันนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องของการทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำแต่คือการสร้างการรับรู้ใหม่ๆให้คนทั่วไปกล้าใช้ขยะในรูปแบบของแฟชั่น กล้าใส่ กล้าถือ รวมถึงต้องการเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่หยิบจับขยะมาทำให้เกิดประโยชน์ให้มากกว่าที่เป็นในวันนี้
“ตอนนี้เราทำได้เท่านี้ แต่คนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นมาในอนาคตเขาอาจจะหยิบจับขยะหรือหาขยะประเภทอื่นมาทำให้เป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าเราก็ได้” คุณธนารักษ์กล่าวปิดท้าย
Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย