สร้างรายได้เสริมง่ายๆ ด้วยการขายเสื้อผ้าแฟชั่นออนไลน์

หนึ่งในรูปแบบของงานพิเศษที่ช่วยสร้างรายได้เสริม หรือทำเป็นอาชีพหลักที่คนนิยมทำกันเป็นอันดับต้นๆ คือ การขายของออนไลน์ และสินค้าออนไลน์ยอดนิยมก็คือเสื้อผ้าแฟชั่นหลากหลายสไตล์

บางคนทำกันเป็นธุรกิจได้ง่ายๆ เพียงแค่มีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อได้ เช่น คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค และกล้องถ่ายรูป หรือง่ายๆ เลย มีแค่สมาร์ทโฟนที่สามารถถ่ายรูปได้สวยๆ สักเครื่อง ก็สามารถเปิดร้านค้าบนโลกออนไลน์ได้ทันที ด้วยช่องทางการขายที่หลากหลาย อาทิ Facebook, Instagram, Line@ และ Twitter เป็นต้น

การขายเสื้อผ้าออน์ไลน์ในวันนี้ ยังสามารถทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีแหล่งขายส่งเสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูกเกิดขึ้นมากมายทั้งแบบร้านค้าดั้งเดิมบนช่องทาง Offline และร้านขายส่งเสื้อผ้าแฟชั่นที่อยู่บน Online ส่งผลให้คนที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจขายเสื้อผ้าแฟชั่นสามารถเริ่มต้นได้เร็วยิ่งขึ้น 

แต่คนที่เพิ่งเริ่มทำ หรือที่เรียกว่า “มือใหม่” อาจจะยังไม่เข้าใจ และจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าควรจะเริ่มตรงไหน วันนี้เราจึงมีคำแนะนำดีๆ ว่าควรจะเริ่มต้นธุรกิจนี้อย่างไร ไปจนถึงการให้ข้อมูลของแหล่งขายส่งเสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูก เพื่อให้สามารถสร้างกำไรได้ดีเมื่อนำมาขายต่อ

 

ขายเสื้อผ้าออนไลน์ง่ายกว่าที่คิด

การขายเสื้อผ้าออนไลน์เพื่อสร้างรายได้เสริม หรือเป็นรายได้หลัก ทำได้ไม่ยาก และทำได้ทุกที่ทุกเวลาแม้จะยังนอนอยู่บนที่นอนก็ยังสามารถโพสต์สินค้าเพื่อขายได้ แต่ทั้งนี้การที่จะประสบความสำเร็จกับการขายออนไลน์ก็ยังต้องมีองค์ประกอบสำคัญอีกหลายเรื่อง คือ

1) สร้างร้านค้าออนไลน์ สำหรับหน้าร้าน หรือช่องทางเพื่อขาย อาจเป็นเว็บสำเร็จรูป หรืออย่างน้อย ก็ต้องมี Facebook, IG สำหรับลงขายสินค้า อัพเดทสินค้า หรือให้ลูกค้าเข้ามาติดตาม และมองเห็นความเคลื่อนไหวของทางร้านค้า 

2) กำหนดกลุ่มเป้าหมาย แต่ก่อนอื่นต้องกำหนดรูปแบบของสินค้าของตัวเองก่อนว่า จะขายเสื้อผ้าสไตล์ไหน เพื่อให้สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนว่า เสื้อผ้าของเราเหมาะกับใครบ้าง เช่น นักศึกษา หรือสาวออฟฟิศ 

3) หาแหล่งสินค้าขายส่ง ซึ่งมีทั้งแบบไปเดินเลือกซื้อกันเองตามตลาดขายส่งยอดนิยม เช่น ห้างแพลตินัม ประตูน้ำ ตลาดจัตุจักร โบ๊เบ๊ ซึ่งก็มีทั้งแบบตลาดเปิดกลางวัน และกลางคืน นอกจากนี้ ยังมีตลาดขายส่งบนออนไลน์ที่มีหลากหลายรูปแบบ

4) โพสต์ขายสินค้า หรือสร้างอัลบั้มเพื่อบอกรายละเอียดของสินค้า และสร้างรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่าง เช่น สไตล์การถ่ายภาพ ที่สามารถดึงดูดความน่าสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งภาพควรเป็นภาพถ่ายจากสินค้าจริง ที่ไม่มีการปรับแต่ง เพราะอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือภาพไม่ตรงกับสินค้าที่ขาย

5) สร้างความน่าเชื่อถือ ให้กับร้านค้าของตนเอง ด้วยการอัพเดทสินค้า หรือข่าวสารอยู่เสมอ อาจไม่ใช่การโพสต์เพื่อขายสินค้า แต่อาจเป็นการอัพเดทการส่งของ หรือนำเสนอเนื้อหาในเรื่องที่เกี่ยวข้อง หรือสามารถเชื่อมโยงกับตัวสินค้าได้ เช่น บทความเรื่องการแต่งตัว การเลือกซื้อเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในแต่ฤดูกาล เป็นต้น

6) สร้างกิจกรรมหน้าร้านออนไลน์ อาจเป็นการทำกิจกรรมกับกลุ่มลูกค้าเก่าด้วยการให้ลูกค้ากลับมารีวิวสินค้าที่ซื้อไปพร้อมมอบส่วนลดสำหรับการซื้อในครั้งต่อไป ปัจจุบันการทำ Facebook Live ก็ยังเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยม เพราะสามารถสร้างยอดขาย และช่วยปิดการขายได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย 

 

4 ตลาดขายส่งเสื้อผ้าแฟชั่น

แม้ว่าเสื้อผ้าจะเป็นสินค้าที่ขายได้ง่าย แต่ก็เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้นการรู้แหล่งขายส่งเสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูกทั้งมือ 1 และมือ 2 จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญอันดับต้นๆ ที่จะช่วยให้การขายเสื้อผ้าเป็นอาชีพเสริมประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เพราะจะช่วยลดต้นทุน และไม่ทำให้ทุนไปจมอยู่กับการซื้อเสื้อผ้ามาเพื่อขายในแต่ละครั้ง

สำหรับแหล่งขายส่งเสื้อผ้าแฟชั่น มีทั้งแบบร้านดั้งเดิมที่อยู่ตามตลาดขายส่งใหญ่ๆ ส่วนใครที่ไม่อยากเหนื่อยเรื่องการเดินทาง ก็ยังมีร้านขายส่งบนโลกออนไลน์อีกจำนวนมาก ที่มาตอบโจทย์ความต้องการของแม่ค้าพ่อค้าออนไลน์ด้วยสินค้ามากมายหลายประเภท 

เริ่มต้นกันที่ตลาดขายส่งใหญ่ ที่มีช่วงเวลาทำการทั้งแบบกลางวัน และกลางคืน ได้แก่

1) ตลาดประตูน้ำ นับเป็นแหล่งขายส่งเสื้อผ้าแฟชั่นอันดับต้นๆ ที่พ่อค้าแม่ค้ารู้จักกันดี เป็นตลาดที่มีสินค้าหลากหลาย หากใครอยากมีโอกาสได้เลือกเสื้อผ้าแบบสวยๆ ก่อนใครก็ต้องไปในช่วงของตลาดเช้า บริเวณหน้าตึกใบหยก และบริเวณโดยรอบ จะเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.00-09.00 น. (ร้านค้าเริ่มตั้งแผงเวลา 4.00 น) ส่วนตลาดเย็น หน้าตึกใบหยก และบริเวณโดยรอบ เปิดให้บริการเวลา 17.00-21.00 น. 

ว่ากันว่า ในช่วงตลาดเช้าที่อยู่บริเวณหน้าตึกใบหยก 2 นอกจากตลาดจะเต็มไปด้วยเสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูก ที่มีทุกแบบทุกสไตล์ ในเรื่องของราคา บางร้านก็ยังให้ราคาส่งที่ถูกกว่าตลาดประตูน้ำในเวลาปกติอีกด้วย

สำหรับตลาดปกติจะเปิดในช่วงเวลาตั้งแต่ 08.00-15.00 น. และตลาดในตึกใบหยก เปิดให้บริการเวลา 11.00-16.00 น. คนที่มาในย่านนี้เป็นครั้งแรก หากไม่รู้จะเริ่มต้นเดินอย่างไร ก็สามารถตั้งต้นเดินมาจากต้นซอยเพชรบุรี 21 (พิกัด: อยู่ตรงข้ามกับศูนย์การค้าแพลตตินั่ม) แม้ว่าจะเป็นซอยเล็กๆ แต่ก็มีร้านขายเสื้อตลอดทั้งซอย ซึ่งซอยนี้สามารถเดินทะลุออกไปยังตึกใบหยกได้ 

  2) ตลาดจตุจักร Night Market เป็นตลาดขายส่งอีกแห่งหนึ่งที่เปิดให้บริการในหลายช่วงเวลา

ส่วนตลาดนัดจตุจักรกลางคืน ในโซนที่จำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นราคาปลีก-ส่ง จะอยู่บริเวณโครงการที่ 8-26 เปิดบริการเฉพาะคืนวันศุกร์ เริ่มตั้งแต่เวลา 22.00 – 7.00 น. มีพื้นที่ขายทั้งภายใน และภายนอกอาคาร บางร้านจะมีราคาทั้งแบบขายปลีก และขายส่ง หากเน้นเสื้อผ้าราคาส่งก็เดินตรงไปที่โครงการ 20 เป็นต้นไป (ฝั่งเดียวกับ MRT กำแพงเพชร) โดยเสื้อผ้าแฟชั่นราคาส่งขั้นต่ำต้องซื้อ 3 ตัวขึ้นไป

สำหรับพิกัดของตลาดจตุจักรกลางคืน จะอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT หากเดินทางมาในช่วงที่รถไฟใต้ดินยังไม่ปิดการให้บริการ ก็สามารถเดินทางมาที่สถานีกำแพงเพชร ใช้ทางออกที่ 2 เดินออกมาก็จะเจอโครงการ หรือสามารถเดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS มาที่สถานีหมอชิต ใช้ทางออกประตู 1 เดินเรียบรั้วสวนจตุจักรมาเข้าประตู 3 ของตลาดนัดจตุจักร ก็สามารถหาโครงการเจอได้ไม่ยาก

3) ตลาดโบ๊เบ๊กลางคืน เป็นแหล่งขายส่งเสื้อผ้าที่มีขนาดใหญ่ และราคาถูกที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ตั้งอยู่ในบริเวณคลองผดุงกรุงเกษม สไตล์เสื้อผ้าแฟชั่นของโบ๊เบ๊จะมีทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะเน้นแบบเรียบที่สวมใส่กันได้ตลอดเวลา มีทั้งแบบขายปลีก และขายส่ง หรือขายแบบยกโหล โดยเสื้อยืดเปล่า เสื้อยืดพิมพ์ลาย จะมีให้เลือกเยอะมากๆ

ตลาดโบ๊เบ๊ขายส่งกลางคืน จะอยู่บริเวณด้านนอกของตลาดโบ๊เบ๊จะเริ่มขายกันตั้งแต่เวลา 01.00 – 05.00 น. ลูกค้าส่วนใหญ่ก็คือพ่อค้าแม่ค้าที่มาซื้อเสื้อผ้า และสินค้าอื่นเพื่อไปขายต่อ

สำหรับตลาดโบ๊เบ๊แผงลอย โบ๊เบ๊เซ็นเตอร์ เปิดขายทุกวันในช่วงเวลา 03.00-16.00 น. ส่วนตลาดทั่วไป จะเปิดขายทุกวันในช่วงเวลา 11.00น.-18.00 น. (วันเสาร์-อาทิตย์ เปิดขายถึง 12.00 น.)

4) แพลทตินัม (The Platinum Fashion Mall) แหล่งเสื้อผ้าแฟชั่นขายปลีกและขายส่ง ขวัญใจพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และสวรรค์แห่งการช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ถือเป็นแหล่งรวมเสื้อผ้าแฟชั่นขายส่งที่สินค้าดูดีมีสไตล์  จึงอาจมีราคาที่สูงกว่าเสื้อผ้าแฟชั่นในย่านอื่นๆ อยู่เล็กน้อย โดยแพลทตินัม เปิดให้บริการทุกวันเวลา 9:00 – 20:00 น. ส่วนวันพุธ วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะเปิดให้บริการเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง คือ เวลา 8:00 – 20:00 น.

นอกจากนี้ ตลาดสำเพ็ง และพาหุรัด ก็เป็นแหล่งขายส่งเสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูก ซึ่งในพาหุรัดยังมีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าตามสั่ง ส่วนตลาดสำเพ็งจะมีเฉพาะเสื้อผ้าเด็กผู้ชายลายการ์ตูนอยู่บ้าง ซึ่งความหลากหลายอาจมีไม่มากเท่ากับตลาดขายส่งแหล่งอื่นๆ ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ 

 

แหล่งรวมขายส่งออนไลน์

เริ่มต้นขายง่ายๆ สำหรับมือใหม่

สำหรับคนที่คิดอยากสร้างรายได้เสริมจากการขายเสื้อผ้าออนไลน์ แม้ว่าจะมีพลัง และแรงบันดาลใจอย่างเต็มเปี่ยม แต่บางครั้งก็ไม่สามารถเริ่มต้นขายได้ทันทีเพราะขาดเงินทุนหมุนเวียนในการไปซื้อเสื้อผ้ามาขายต่อ แต่วันนี้ฝันของสาวๆ หรือคนที่อยากขายเสื้อผ้าแฟชั่นจะเป็นจริงได้เร็วยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องไปเดินเหนื่อยเพื่อหาซื้อเสื้อผ้า และไม่ต้องใช้เงินลงทุนเพื่อสต๊อกสินค้าอีกด้วย 

ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มในรูปแบบเว็บไซต์ที่ชื่อว่า Sales Matchup ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมร้านค้าต่างๆ ที่มีการเปิดรับสมัครตัวแทนจำหน่ายเพื่อขายสินค้าของทางร้าน ที่น่าสนใจ คือ ตัวแทนจำหน่ายสามารถขายสินค้าของทางร้านได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุน ไม่ต้องเปิดบิล ไม่ต้องสต๊อคสินค้า และไม่ต้องแพ็คสินค้าส่งเองให้เสียเวลา

โดย Sales Matchup จะช่วยเสิร์ฟสินค้าให้ผู้ที่สนใจเลือกผ่านหน้าจอ ช่วยสร้างรายได้เสริมแบบง่ายๆ จากการสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายอิสระกับทางร้านค้าที่มีให้เลือกหลากหลายประเภท อาทิ เครื่องสำอาง อาหารเสริม สินค้าเด็ก สินค้าแฟชั่น รถยนต์ สัตว์เลี้ยง ประกัน คอร์สเรียนสัมมนา และอื่นๆ อีกมากมาย  

Sales Matchup เป็นแพตลฟอร์มเจ้าแรกเจ้าเดียวที่บริการโดยระบบเปิด ตัวแทนจำหน่ายสมัครใช้งานระบบ แบบฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ตลอดชีพ เพียงลงทะเบียนเพื่อรับข้อมูลร้านค้าที่เปิดรับสมัครตัวแทนจำหน่าย ด้วยการเลือกหมวดหมู่สินค้าที่ต้องการจะขาย และเลือกได้ว่าต้องการหรือไม่ต้องการสต๊อกสินค้า ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดกับร้านค้าได้โดยตรง โดยคลิกปุ่ม “Line Facebook IG Website Email Tel” ของร้านค้าเพื่อสอบถามรายละเอียดได้โดยตรงในทุกช่องทาง

หลังการลงทะเบียนเป็นตัวแทนจำหน่ายกับทางร้านค้า เมื่อเข้าสู่ระบบจะสามารถเห็นเบอร์โทรศัพท์, ID LINE,  Facebook, Instagram, Website, E-mail ของร้านค้า เพื่อใช้เป็นช่องทางการติดต่อกับร้านค้า ภายในแพลตฟอร์มยังมีระบบจัดเก็บประกาศที่น่าสนใจ และมีอีเมลแนะนำสินค้าใหม่ทุก 15 วัน ซึ่งผู้สนใจสามารถเลือกรับประกาศที่ตรงตามความต้องการของตัวเองมากที่สุด 

สำหรับกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่น สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.salesmatchup.com/category/women มีร้านค้าให้เลือกเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่กว่า 200 ร้านค้า ซึ่งร้านค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มขายส่งที่มีหน้าร้านอยู่ที่แพลทตินัม หรือตลาดขายส่งประตูน้ำเป็นหลัก 

โดยวิธีการขายหลังจากสมัครเป็นตัวแทนจำหน่าย ทางร้านค้าจะให้สิทธิ์ตัวแทนจำหน่ายในการนำภาพสินค้าของทางร้านไปประกาศขาย โดยสามารถบวกกำไรเพิ่มได้ตามต้องการจากราคาที่ร้านค้าแจ้งไว้ และเมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อก็แจ้งร้านค้าให้จัดส่ง ซึ่งร้านค้าจะจัดส่งสินค้าในชื่อของตัวแทนจำหน่ายนั้นๆ 

ดังนั้นหากเราต้องการขายเสื้อผ้าแฟชั่นที่มีความหลากหลายมากขึ้น ก็ต้องสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายหลายๆ ร้านค้า เนื่องจากแต่ละร้านจะมีสินค้าที่แตกต่างไม่เหมือนกัน เพราะเมื่อเรามีสินค้าที่หลากหลายก็จะสามารถนำเสนอสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า หรือกลุ่มเป้าหมายของเราได้มากที่สุด

 

ประสบความสำเร็จง่ายขึ้น

ต้องมีระบบ และสร้างทีมงาน

การสร้างธุรกิจในรูปแบบร้านค้าออนไลน์ แม้จะเป็นรูปแบบที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่การจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาวนั้น อาจต้องอาศัยระบบการบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำธุรกิจ ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น  

ระบบจัดการออเดอร์ เช่น การใช้ระบบตอบรับคำสั่งซื้ออัตโนมัติ ระบบตะกร้าร้าน หรือระบบการแจ้งสถานการณ์จัดส่ง เป็นต้น

การสต๊อกสินค้า ที่เพียงพอต่อการขายในแต่ละรอบ เพราะหากสต๊อกสินค้ามากเกินไปอาจทำให้เกิดต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และเกิดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้าตามมา

ช่องทางการขาย การทำร้านค้าออนไลน์ นอกจากจะสร้างหน้าร้านไว้บนเฟสบุ๊ค หรือแฟนเพจ และไลน์แอด ก็ยังสามารถนำสินค้นไปฝากขายบนแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Marketplace อย่าง Shopee และ Lazada ได้อีกด้วย

การจัดส่งสินค้า ด้วยระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีทั้งเรื่องความถูกต้อง รวดเร็ว และตรวจสอบได้

การจัดทำบัญชี จะทำให้ร้านค้ามองเห็นตัวเลขการขายว่าสินค้าไหนขายดีหรือไม่ดี อีกทั้งยังเป็นการบริหารสต็อกไปด้วยในเวลาเดียวกัน

แผนการตลาด สำหรับธุรกิจซื้อมาขายไปนอกจากจะต้องขยันหาสินค้าใหม่ๆ มาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา และยังต้องมีการทำตลาดอย่างต่อเนื่องซึ่งไม่ใช่แค่การจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม หรือแค่ยิงโฆษณาอย่างเดียว

ความจริงแล้ว การบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าหากเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการขาดทักษะความเชี่ยวชาญ ก็ยังมีตัวช่วยที่เป็นโปรแกรมสำเร็จรูปที่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของการบริหารจัดการได้ดี ไม่ว่าจะเป็นออเดอร์ สต็อกสินค้า การเรียกดูยอดขาย การวิเคราะห์ยอดขาย สรุปยอดขาย หรือรายงานตัวเลขทางบัญชี เป็นต้น

สำหรับมือใหม่ ยังมีระบบร้านค้าออนไลน์ให้เลือกใช้บริการ เพราะจะช่วยให้การเปิดร้านทำได้ง่ายขึ้น จัดการง่ายขึ้น ต้นทุนลดลง จึงควรเลือกใช้ร้านค้าออนไลน์สำเร็จรูปจากผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ มีระบบบริหารจัดการร้านค้าที่มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขายที่เหมาะสม มีระบบชำระเงินที่ปลอดภัย สะดวก มีการการันตีเพื่อเพิ่มความมั่นใจต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มีการดูแลผู้ขายอย่างใกล้ชิด และสามารถติดต่อสอบถามตอบข้อสงสัย หรือช่วยแก้ไขปัญหาได้ตลอดเวลา 

ในอนาคตเมื่อธุรกิจมีการเติบโต และมียอดการสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการนำระบบการจัดการร้านค้ามาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เจ้าของธุรกิจอาจต้องมีการสร้างทีมงานขึ้นใหม่ เพราะเมื่อธุรกิจเติบโตการทำงานคนเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไป จึงจำเป็นต้องมีคนมาช่วยตอบข้อความในอินบ็อกซ์ ช่วยแพ็คสินค้า หรือเตรียมจัดส่งสินค้า ไปจนถึงการเรียนรู้ หรือต้องสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องของการยิงโฆษณาบนเฟสบุ๊ค หรือช่วยทำ Facebook Live เพื่อกระตุ้นยอดขาย เป็นต้น

หากผู้ประกอบการมีความพร้อมในเรื่องเหล่านี้ ย่อมจะส่งผลให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น สามารถสร้างยอดขายได้มากขึ้น และเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

Published on 17 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

เปิด 7 โหมดอารมณ์นักช้อป จับถูกจุด! หยุดลูกค้าให้ซื้อได้

หลายคนอาจคิดว่าในการตัดสินใจซื้อสินค้าแต่ละอย่างหรือของแต่ละชิ้น มักเกิดจากการประมวลผลเชิงตรรกะหรือการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แต่รู้หรือไม่ว่า “อารมณ์” ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการตัดสินใจเช่นกัน พูดง่ายๆ ว่า ในวันหนึ่งๆ คนเราตัดสินใจโดยใช้อารมณ์เป็นพื้นฐานไปแล้วถึง 80% และนี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมการรับมือกับลูกค้าแต่ละครั้งถึงเป็นเรื่องที่แสนท้าทายไปจนถึงช่างยากเย็นนักสำหรับบรรดาผู้ประกอบการ

สิ่งที่ช่วยยืนยันในเรื่องนี้ได้ดีมาจากการศึกษาของ Antonio Damasio หนึ่งในนักประสาทวิทยาชั้นนำของโลกที่ได้ค้นพบว่า อารมณ์เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเลือกหรือตัดสินใจของมนุษย์ โดยทำการเฝ้าสังเกตผู้ป่วยที่สมองไม่สามารถสร้างอารมณ์ได้ อันเป็นผลมาจากการผ่าตัดสมองหรือภาวะของโรคและความเจ็บป่วยต่างๆ ซึ่งแม้ว่าคนเหล่านี้จะสามารถประมวลผลข้อมูลได้โดยไม่มีปัญหา แต่กลับไม่สามารถรู้สึกได้ถึงอารมณ์ต่างๆ และมีปัญหาในการตัดสินใจอย่างรุนแรง จุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การตัดสินใจไม่ใช่เรื่องของเหตุผลแต่เป็นเรื่องของอารมณ์

ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาโดย SMITH เอเจนซี่ที่มีประสบการณ์ทางด้านการค้า ยังชี้ให้เห็นว่า อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันมีอิทธิพลต่อวิธีการที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อ ซึ่งมีตั้งแต่ผู้ซื้อบางคนอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกเดียวตลอดเส้นทางการซื้อ บางคนกลับมีการปรับเปลี่ยนอารมณ์หลายครั้งขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า ดังนั้น เพื่อสร้างประสบการณ์การจับจ่ายให้ถูกใจและตอบสนองความรู้สึกของลูกค้าได้อย่างตรงจุด ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจถึงสภาวะทางอารมณ์ ตัวขับเคลื่อนและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อความต้องการและพฤติกรรมของผู้ซื้อ

เปิด 7 โหมดทางอารมณ์ของขาช้อปที่มีผลต่อการซื้อ!! 

  1. ต้องการตรวจสอบ

ความรู้สึกต้องการที่จะตรวจสอบสิ่งต่างๆ ถือเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่พบบ่อยที่สุด โดยลูกค้าหรือนักช้อปกลุ่มนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการที่จะตรวจสอบการตัดสินใจต่างๆ เพราะเป็นกลุ่มที่ขี้สงสัยและกลัวที่จะทำผิดพลาด ส่งผลให้พยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะตัดสินใจไม่ผิดได้อย่างสบายใจ สภาวะเช่นนี้ นักช้อปจะมองหาความคิดเห็นของคนอื่นเกี่ยวกับการซื้อ อีกทั้งยังเปิดใจและยอมรับฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

เทคนิคจับอารมณ์ให้ถูก: รีวิวจากผู้ใช้จริง บทสนทนาบนโซเชียลมีเดีย และที่สำคัญที่สุด คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงของทางแบรนด์ ถือว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในกระบวนการตัดสินใจของคนกลุ่มนี้ ดังนั้น การนำสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือและตัวช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของพนักงานที่สามารถทำการพูดคุยกันได้ หรือว่าใช้เทคโนโลยีช่วยโต้ตอบ ซื่งอาจติดตั้งในจุดสำคัญของเส้นทางการซื้อ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ได้

  1. วิตกกังวลในการตัดสินใจ

ลูกค้ากลุ่มนี้จะรู้สึกสับสนเมื่อต้องซื้อสินค้า เป็นพวกที่ได้รับผลกระทบจากการมีตัวเลือกที่มากเกินไป และต้องใช้เวลาในการพิจารณาเพื่อตัดสินใจ ในสภาวะวิตกกังวลเช่นนี้ แม้พวกเขารู้ว่าควรทำการเลือก แต่ก็ไม่สามารถรวบรวมและประเมินตัวเลือกที่มีอยู่ในระดับที่ทำให้รู้สึกมั่นใจได้ ดังนั้น พวกเขาจึงเลือกที่จะไม่ตัดสินใจเลยหรือตัดสินใจลงไปด้วยความเร่งรีบ

เทคนิคจับอารมณ์ให้ถูกอย่ายัดเยียดข้อมูลที่มากเกินไปให้ลูกค้ากลุ่มนี้ เพราะจะยิ่งเพิ่มความสับสนให้พวกเขามากขึ้น ผู้ซื้อที่มีความกังวลเวลาที่ต้องตัดสินใจ ต้องการความช่วยเหลือที่สามารถขจัดความกังวลและความว้าวุ่นใจต่างๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความช่วยเหลือในการเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของตัวเลือกต่างๆ ที่มี หรือ นำเสนอขั้นตอนต่างๆ ในการจับจ่ายที่ง่าย สะดวก ไม่ยุ่งยาก ให้เวลาพวกเขาในการตัดสินใจ และอย่าไปเร่งเร้าหรือกดดันให้ต้องซื้อหรือตอบตกลงในทันที

  1. ฉันคือคนพิเศษ

ผู้ซื้อกลุ่มนี้ชื่นชอบที่จะรู้สึกถึงการเป็นคนพิเศษและไม่เหมือนใคร กระหายประสบการณ์การช็อปปิ้งชั้นเลิศที่เหมาะสมกับความชอบและนิสัยการซื้อของตัวเอง อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ประกอบการหรือแบรนด์มองมาที่ความต้องการของพวกเขาเป็นอันดับแรก ลูกค้ากลุ่มนี้มักจะติดตามแบรนด์บนโลกโซเชียลมีเดีย และทำการแชร์เมื่อได้ซื้อสินค้ามาแล้ว ที่สำคัญ สามารถเป็น Early Adopter หรือ กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มแรกที่ใช้สินค้าและแชร์ประสบการณ์การใช้งาน รีวิวสินค้านั้นๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งแน่นอนว่า คนกลุ่มนี้สามารถเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencers) ช่วยกระจายเสียงและขยายฐานลูกค้าให้กับแบรนด์ได้

เทคนิคจับอารมณ์ให้ถูก: ถ้าอยากมัดใจคนกลุ่มนี้ให้ได้ ผู้ประกอบการต้องทำให้พวกเขารู้สึกพิเศษและไม่เหมือนใคร ลูกค้าประเภทนี้คาดหวังที่จะได้รับประสบการณ์ส่วนตัวที่ยอดเยี่ยม การเป็นสมาชิกสุดพิเศษ มีสินค้า Limited Edition ไว้ในครอบครอง และได้โปรโมชั่นที่ไม่มีใครเหมือนหรือมีแค่ครั้งนี้ครั้งเดียว การได้รับสิ่งเหล่านี้จะช่วยเติมเต็มความรู้สึกและอารมณ์ของการเป็นคนพิเศษและเป็นคนสำคัญให้พวกเขาได้ รวมถึงการให้ของฟรีอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ บริการ หรือสินค้าตัวอย่าง จะช่วยทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์ใส่ใจและให้ความสำคัญกับพวกเขา

  1. ต้องเป็นคนแรก

ผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้รับแรงผลักดันจากความต้องการที่จะรู้สึกเหนือกว่า โดดเด่นกว่า และไม่ตกเทรนด์ ซึ่งแม้ว่าคุณสมบัติและสไตล์ของสินค้าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในระดับหนึ่ง แต่การตัดสินใจซื้อสุดท้ายอยู่ที่ว่า ผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะนำพวกเขาเข้าใกล้ตัวเองในอุดมคติ และช่วยให้สามารถแสดงตัวตนและค่านิยมของพวกเขาได้หรือไม่

เทคนิคจับอารมณ์ให้ถูก: เพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ ผู้ประกอบการต้องคิดและมองให้ออกว่า สินค้าหรือบริการที่มีนั้นจะทำให้ลูกค้ารู้สึกอย่างไร การดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่ต่างอะไรกับการคิดผลิตสินค้าขึ้นมาสักชิ้น เพราะเป็นเรื่องของเทคนิคและกลยุทธ์ที่ต้องมาว่ากันให้ดีว่าจะทำอย่างไรถึงจะขายสินค้าได้ ทางที่ดี อย่าทำการตลาดด้วยการใช้ศัพท์เชิงเทคนิค หรืออะไรที่ดูเข้าถึงยาก แต่ให้ดึงตัวตนและสไตล์ของสินค้าออกมาเป็นจุดขายว่า หากได้ใช้เป็นคนแรกแล้วจะดีอย่างไร

  1. อยากรู้ทุกอย่าง ถามได้ทุกเรื่อง

ในสภาวะทางอารมณ์แบบนี้ ผู้บริโภคก็คือ นักล่างานวิจัยดีๆ นี่เอง เป็นกลุ่มลูกค้าที่รู้สึกสนุกกับการวิจัยค้นคว้า ซึ่งได้รับแรงหนุนจากความปรารถนาและความต้องการที่จะเป็นผู้นำและผู้เชี่ยวชาญที่เพื่อนๆ สามารถหันมาขอคำแนะนำได้ ดังนั้น พวกเขาต้องการที่จะรู้ทุกอย่าง ทำการค้นหาและเยี่ยมชมเว็บไซต์หรือช่องทางต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด แม้ว่าไม่ต้องการที่จะซื้อจริงๆก็ตาม

เทคนิคจับอารมณ์ให้ถูกลูกค้าประเภทที่ต้องการรู้ทุกอย่างนั้น มักใช้เวลาส่วนมากบนเว็บไซต์ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรตรวจสอบให้ดีว่า เว็บไซต์ที่มีอยู่นั้นใช้งานง่าย สะดวก โหลดเร็ว และมีข้อมูลที่ครบถ้วนหรือไม่ รวมถึงมีคอนเทนต์เนื้อหาสาระดีๆ ให้อ่าน เพื่อที่จะเติมเต็มความต้องการที่จะรู้และการไม่หยุดเรียนรู้ของคนกลุ่มนี้

  1. ซื้อให้เสร็จไป

ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นประเภทหงุดหงิดง่ายเวลาซื้อสินค้า และสามารถรู้สึกถึงผลกระทบของการที่มีตัวเลือกมากเกินไปหรือสินค้ามากเกินไปได้ ในสภาวะเช่นนี้ ผู้ซื้อต้องการใช้เวลาน้อยที่สุดในการช็อปปิ้งและไม่สนุกกับการได้รับประสบการณ์แบบพิเศษ

เทคนิคจับอารมณ์ให้ถูก: แน่นอนว่า ความเร็วและความสะดวกเป็นหัวใจสำคัญที่จะจับลูกค้าขี้หงุดหงิดให้อยู่มือ เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการต้องช่วยให้การซื้อนั้นใช้เวลาน้อยที่สุดและง่ายที่สุด เพื่อประหยัดเวลาและลดความคับข้องใจของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการมีพนักงานคอยให้บริการแนะนำว่าสินค้าอยู่ตรงไหน หรือให้ลูกค้าสามารถบริการตัวเองได้ทั้งในร้านค้าหรือร้านออนไลน์ เพื่อช่วยให้ผู้ซื้อสามารถค้นหาข้อมูลหรือโซลูชั่นที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอให้พนักงานฝ่ายขายมาช่วย

  1. อยากได้ความสนุก

ในสภาวะนี้ นักช้อปจะเข้าตามเว็บไซต์หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ และเลือกซื้อสินค้าเพื่อความสนุกสนาน ลูกค้ากลุ่มนี้มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี และมองว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในร้านออฟไลน์และออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และมือถือ เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การช็อปปิ้งที่สมบูรณ์แบบ ที่สำคัญ คนกลุ่มนี้ไม่ได้แค่ชอบที่จะจับจ่าย แต่การช็อปปิ้งคือสิ่งที่พวกเขารัก เรียกได้ว่าเป็นงานอดิเรก ความบันเทิงเลยทีเดียว

เทคนิคจับอารมณ์ให้ถูก: ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์และคาดหวังความพึงพอใจในทันที รวมถึงยังมองหาความสนุกสนานและความบันเทิง เพลิดเพลินไปกับการค้นหาสินค้าด้วยตนเอง ดังนั้น การมอบประสบการณ์การช็อปปิ้งแบบเป็นส่วนตัวที่ไม่ซ้ำใครและมีความสะดวกรวดเร็ว เช่น บริการจัดส่งสินค้าภายในวันเดียว ขั้นตอนการชำระเงินที่ไม่ซับซ้อน มีจุดหรือสินค้าที่ลูกค้าสามารถบริการตัวเองได้ จะช่วยให้คนเหล่านี้สนุกในการช้อปได้อย่างไม่สะดุด

ถึงตรงนี้คงเห็นแล้วว่า อารมณ์เป็นแรงขับเคลื่อนของมนุษย์ตามธรรมชาติที่กำหนดพฤติกรรม และมีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อสินค้าและสิ่งที่เราจะซื้อ การนำโหมดทางอารมณ์ 7 แบบนี้ไปปรับใช้ในกลยุทธ์การขายและการตลาด จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเจาะลึกถึงเหตุผลที่แท้จริงว่า ทำไมลูกค้าถึงซื้อสินค้า และช่วยให้แบรนด์ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของพวกเขาได้

 

ที่มา:

https://www.deloittedigital.com/us/en/offerings/customer-led-marketing/advertising–marketing-and-commerce/hux/exploring-the-value-of-emotion-driven-engagement.html

https://zoovu.com/blog/8-emotional-states-that-influence-purchase-decisions/

https://smith.co/assets/docs/SMITH-POV-8-modes-of-shopping-report.pdf

https://www.deloittedigital.com/content/dam/deloittedigital/us/documents/offerings/offerings-20190521-exploring-the-value-of-emotion-driven-engagement-2.pdf

Published on 17 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

SME ส่งออกต้องรู้! ลุยตลาดโลกด้วย “3 ร” และ “5 รู้จัก”

แม้สถานการณ์การส่งออกในปัจจุบันจะมีทิศทางหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและผลพวงจากสงครามการค้า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคการส่งออก ยังคงเป็นธุรกิจที่หอมหวลและน่าดึงดูดใจสำหรับผู้ประกอบการหลายราย โดย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2563 น่าจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่ 0 – 2%

ดังนั้น ก้าวแรกก่อนลุยส่งออกรับปีหนู 2020 เพื่อบุกตลาดโลก ผู้ประกอบการต้อง…

  1. “รุก”

เช่นเดียวกับหนูที่มีประสาทสัมผัสไวในการหาอาหาร ธุรกิจในยุคปัจจุบันต้องมีความรวดเร็วในการแสวงหาโอกาสและตลาดใหม่ๆ ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 3.6% ต่อปี อย่างเอเชียใต้ เช่น อินเดียและบังกลาเทศ ซึ่งคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปี อาเซียนขยายตัว 5% ต่อปี และแอฟริกาเหนือขยายตัว 4.4% ต่อปี

  1. “รวดเร็ว”

อย่างที่เห็น หนูสามารถปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ซึ่งถือเป็นลักษณะสำคัญในโลกธุรกิจปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับ Disruption มากมาย จนหลายธุรกิจต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจได้ ดังนั้น การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ทัน จะเป็นเหมือนเกราะป้องกันให้ธุรกิจ SME ไปต่อได้

  1. “รู้ทัน”

เพราะหนูจะตื่นตัวและระแวดระวังภัยอยู่เสมอ ทำให้รับมือกับความเสี่ยงต่างๆได้ ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกก็เช่นเดียวกัน ต้องก้าวให้ทันความเคลื่อนไหวและปัจจัยเสี่ยงในโลกปัจจุบันอย่างทันการณ์ อาทิ ปัญหาการชุมนุมประท้วงในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ฮ่องกง เลบานอน อิรัก อิหร่าน ฝรั่งเศส สเปน โบลิเวีย และชิลี ทั้งสงครามการค้า และ การถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงที่ต้องระวัง เช่น การประท้วงที่เลบานอนส่งผลให้ธนาคารในประเทศหยุดทำการ ทำให้การโอนเงินค่าสินค้าระหว่างประเทศต้องหยุดชะงักไปในทันที เป็นต้น

ที่สำคัญ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน ก่อนทำการส่งออกทุกครั้ง SME ต้องคำนึงถึง 5 เรื่องพื้นฐานที่เป็นปัจจัยหลัก ดังนี้

  1. รู้จักสินค้า

เริ่มตั้งแต่ความรู้ ความเข้าใจในตัวสินค้า รู้ลึกถึงจุดเด่นและจุดด้อย ทั้งสินค้าของตัวเองและสินค้าของคู่แข่ง ไปจนถึงรายละเอียดโครงสร้างต้นทุนของสินค้าแต่ละส่วนทั้งหมด เพื่อใช้ตั้งราคาขาย โดยที่จะต้องมองไปถึงว่า ต้องการกำไรกี่เปอร์เซ็นต์ ราคาขายควรจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งราคาที่จะคิด จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการเจรจาว่า ภาระหน้าที่ของผู้ขายต้องส่งสินค้าไปยังจุดใดและเป็นผู้รับผิดชอบจนถึงจุดใด หากสินค้าได้รับความเสียหาย 

  1. รู้จักลูกค้า

รู้ว่าสินค้าที่ผลิตหรือกำลังจะผลิต เป็นสินค้าที่เหมาะสมกับคนกลุ่มไหน เช่น กลุ่มคนรวย หรือกลุ่มคนทั่วไป เนื่องจากทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีความสนใจที่ต่างกันในแง่ของคุณภาพและราคา ซึ่งจะส่งผลต่อวัตถุดิบในการผลิตและการตั้งราคาขาย เพื่อพัฒนาการผลิตและตอบโจทย์การส่งออกสินค้าได้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

  1. รู้จักเอกสารที่ต้องใช้

ในการส่งออกสินค้านั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและประกาศที่กรมศุลกากรและหน่วยงานต่างๆ กำหนด และต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้ให้พร้อมอย่างครบถ้วน เช่น ประเภทใบขนสินค้าออก บัญชีราคาสินค้า แบบธุรกิจต่างประเทศ ใบอนุญาตส่งออก หรือเอกสารอื่นๆ สำหรับสินค้าควบคุมการส่งออก เป็นต้น โดยรายละเอียดขั้นตอนเอกสารมีปลีกย่อยเฉพาะอีกมาก ซึ่งควรศึกษาและทำความเข้าใจให้ดี เพื่อจะได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและไม่เสียเวลา

  1. รู้จักการทำสัญญาซื้อขาย

การตกลงซื้อขายระหว่างประเทศเป็นขั้นตอนสำคัญ โดยจะต้องมีการทำสัญญาซื้อขาย เงื่อนไขการชำระเงินและระยะเวลาส่งของอย่างรัดกุม ซึ่งใช้สำหรับเป็นหลักฐานร่วมกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และใช้ในการฟ้องร้องหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น นอกจากนี้ ยังใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอสินเชื่อเพื่อการส่งออกอีกด้วย

  1. รู้จักเลือกชิปปิ้ง

ชิปปิ้ง คือ ผู้ทำหน้าที่คอยดำเนินงานพิธีการศุลกากรแทน โดยชิปปิ้งที่ดี ต้องมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องพิธีการศุลกากรและระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อช่วยประสานงานให้เกิดความสะดวก เรียบร้อย รวดเร็ว และลดปัญหาความยุ่งยากต่างๆ อันเกิดจากการไม่รู้ระเบียบพิธีการ อีกทั้งยังช่วยในการจัดเก็บภาษีอากรของกรมศุลกากรให้มีความถูกต้องอีกด้วย โดยอาจมองหาชิปปิ้งเพื่อเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ

อยากส่งออกตลาดต่างประเทศ ศึกษาข้อมูลจากไหนได้บ้าง?

  • กรมศุลกากร (customs.go.th)
  • กรมการค้าต่างประเทศ (http://www.dft.go.th)
  • กระทรวงพาณิชย์ (moc.go.th)
  • สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (tiffathai.org)
  • บริการตรวจสอบตารางการเข้า-ออกเรือสินค้า ท่าเรือแหลมฉบัง (laemchabangport.com)
  • สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย (ctat.or.th)
  • EXIM BANK (exim.go.th)

ที่มา: EXIM BANK (1)(2)

Published on 17 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

เริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารแบบต้นทุนต่ำ ด้วยโมเดล Ghost Kitchen

เริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารแบบต้นทุนต่ำ ด้วยโมเดล Ghost Kitchen

การเริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหารในปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องง่ายที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ เพราะยุคนี้ไม่ต้องลงทุนเช่าสถานที่ แต่ก็สามารถขายอาหารให้ผู้บริโภคได้ เพราะด้วยรูปแบบใหม่ของการทำธุรกิจร้านอาหาร ที่เรียกว่า Ghost Kitchen ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยถึงโมเดลของการทำธุรกิจร้านอาหารแบบที่ไม่มีหน้าร้านไว้สำหรับลูกค้ามานั่งรับประทาน จะมีก็เพียงแต่ครัวที่ใช้ประกอบอาหาร และทำการขายแบบเดลิเวอรี่เท่านั้น

เริ่มต้นร้านอาหารง่ายๆ แบบไม่ต้องมีหน้าร้าน

Ghost Kitchen การทำธุรกิจร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้าน มีเพียงแค่ครัวที่ใช้ประกอบอาหาร กลายเป็นทางเลือกในการเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารของคนยุคนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนเลือกที่จะอยู่บ้านและสั่งอาหารให้มาเสิร์ฟถึงหน้าประตูส่งผลให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) เติบโตเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่อยากจะเริ่มต้นขายอาหารออนไลน์แบบที่ไม่มีหน้าร้านเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ข้อดีของ Ghost Kitchen คือ เป็นโมเดลธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำกว่าร้านอาหารทั่วไป เพราะไม่ต้องเช่าสถานที่ขนาดใหญ่ ไม่ต้องมีค่าตกแต่งร้าน แต่อาจจะใช้เป็นสถานที่ภายในบ้านหรือที่พักของตัวเอง ทำเป็นครัวกลางขึ้นมา จากนั้นทำการเชื่อมต่อร้านกับแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ต่างๆ หรือจะทำการรับออเดอร์สั่งซื้อของลูกค้าผ่านโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์แล้วทำการจัดส่งเองก็ได้ ดังนั้น Ghost Kitchen จึงเป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง หรืออาจมีทีมงานเพียงไม่กี่คนก็ออกสตาร์ทธุรกิจได้แล้ว 

ส่วนข้อควรระวังสำหรับคนที่อยากจะชิมลางเปิดครัวในรูปแบบนี้ คือ การไม่มีหน้าร้าน อาจทำให้ลูกค้ามีความกังวลใจในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องความสะอาดและถูกหลักอนามัย ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำ ก็คือ การปฎิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ที่ทางสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเอาไว้ เช่น สถานที่เตรียม – ปรุง – ประกอบอาหาร ต้องสะอาดเป็นระเบียบและจัดเป็นสัดส่วน ไม่เตรียมหรือปรุงอาหารบนพื้นและบริเวณหน้าหรือในห้องน้ำ ห้องส้วม และต้องเตรียมปรุงอาหารบนโต๊ะที่สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม. และผู้สัมผัสอาหารต้องแต่งกายเรียบร้อย ล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมปรุง ประกอบ และจำหน่ายอาหารทุกครั้ง เป็นต้น 

ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อกำหนดมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหาร เพิ่มเติมได้ที่ สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ เรื่องของความเชื่อมั่น ยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ โดยอาหารที่ลูกค้าจะได้รับนั้นต้อง “ตรงปก” หรือตรงตามภาพเมนูอาหารที่แสดงไว้บนแอปพลิเคชัน โซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ เนื่องจากการที่ไม่มีหน้าร้าน ทำให้ลูกค้าไม่สามารถได้เห็นของจริงได้

อีกทั้ง ทางร้านยังต้องหมั่นทำการประชาสัมพันธ์และทำการตลาดออนไลน์ให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพอาหารให้สวยงามน่ารับประทาน เผยภาพขั้นตอนการปรุงอาหาร ทำคอนเทนต์ที่มาของวัตถุดิบวิธีการคัดสรรและการนำมาใช้  ไปจนถึงการนำคอมเมนต์หรือรีวิวต่างๆ จากปากลูกค้าตัวจริงมาบอกต่อ เพื่อสร้างบรรยากาศของความเชื่อมั่นให้คนที่อยากจะลิ้มลองรสชาติและคนที่ร่วมรับประทานจากครัวเดียวกันให้เกิดขึ้นได้  

ทางเลือกใช้บริการ Ghost Kitchen แบบไม่ต้องลงทุนเอง 

นอกจากผู้ประกอบการจะใช้โมเดล Ghost Kitchen ในการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเองแล้ว หากใครที่ยังไม่พร้อมจะลงมือสร้างระบบครัวกลางของตัวเองขึ้นมา อาจจะไปใช้บริการเช่าครัวกลางเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจก็ได้เช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันนี้ มีธุรกิจต่างๆ ที่พากันเปิดให้บริการ Ghost Kitchen สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นในธุรกิจอาหาร สามารถมาใช้บริการเป็นรายเดือนได้ ยกตัวอย่างเช่น

Grabfood ที่ออกตัวก่อนใครในเรื่องนี้ ด้วยการเปิด GrabKitchen ในพื้นที่ชั้น 2 ของตลาดสามย่าน ทำเป็นครัวกลางเปิดให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมาเช่าสำหรับทำอาหาร เพื่อจัดส่งผ่าน GrabFood โดยเฉพาะ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบร้านอาหารได้มีโอกาสขยายธุรกิจโดยไม่ต้องลงทุนมาก และช่วยลดค่าใช้จ่าย เพราะทาง Grab จะมีผู้ช่วยคอยจัดการรับ-ส่งออเดอร์ให้

กับผู้ขับโดยตรง อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้กับร้านอาหารที่อยู่ไกลเกินระยะจัดส่งให้มารวมตัวกันในที่เดียวย่านใจกลางเมือง ซึ่งจะทำให้ค่าจัดส่งถูกลงด้วย จึงทำให้ลูกค้ามีโอกาสสั่งได้บ่อยขึ้นนั่นเอง

เช่นเดียวกับ LINE MAN ได้เปิดให้บริการ LINE MAN Kitchen โดยปักหมุดอยู่ในย่านปุณณวิถี เปิดให้บริการทุกวันในรัศมี 25 กม. ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. เพื่อช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถเข้ามาขยายฐานลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก 

นอกจากนี้ ยังมี Food Panda ที่เปิดประตูครัวกลางอย่าง Krua by Foodpanda ณ โครงการ The Curve อ่อนนุช ซอย 17 เพื่อให้บริการและแบ่งปันพื้นที่ทำครัวในลักษณะเดียวกัน เรียกว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ร้านต่างๆ ที่ต้องการทำ Ghost Kitchen สามารถจับมือทำครัวร่วมขายอาหารผ่านทางแอปพลิเคชัน เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น 

ไม่เพียงแต่แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เท่านั้นที่เปิดให้บริการ Ghost Kitchen แม้แต่โฮสเทลสุดชิคใจกลางเมือง ที่ตั้งอยู่ ณ ตึกนานาสแควร์ สุขุมวิท 3 อย่าง Hom Hostel & Cooking Club ก็ได้เปิดพื้นที่ครัวให้เช่า ในรูปแบบการเช่าครัวรายเดือนพร้อมที่พักพ่อครัว เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ร้านอาหารที่อยากมีสาขาในเมือง เน้นขายเดลิเวอรี่ และไม่อยากให้ลูกค้าต้องเสียค่าส่งแพงได้เข้ามาทำธุรกิจ โดยทางโฮสเทลจะจัดให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำการตลาดแบบกลุ่ม และทำให้การจัดส่งมีค่าบริการที่ถูกลง และหากลูกค้าทำการสั่งล่วงหน้า ก็จะไม่ต้องเสียค่าส่ง หรือ ค่า GP ให้กับเดลิเวอรี่ต่างๆ ที่มีราคาแพง ดังนั้น การเช่าพื้นที่ครัวกลางจากผู้ให้บริการแบบนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่อยากจะเริ่มต้นทำร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านที่นับวันจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการธุรกิจอาหาร  

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือคนที่อยากจะหยิบจับธุรกิจด้านนี้ไม่ควรรอช้าที่จะใช้โมเดล Ghost Kitchen เป็นหมากเดินเกมรุก เพื่อลดต้นทุน ลดความเสี่ยง และเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าที่วันนี้นิยมและมีความคุ้นชินกับการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันหรือออนไลน์ และการจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ส่งตรงถึงบ้านมากขึ้น

เรียกว่าเป็นโอกาสทองของเจ้าของร้านอาหารที่ต้องจับทางให้ได้ และอย่าปล่อยให้ช่วงเวลาของการ “ไม่มีหน้าร้านแต่ก็ขายได้” ต้องหลุดลอยไป  

Published on 16 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

Eatable แพล็ตฟอร์มสั่งอาหารดิจิตอล ติดอาวุธเทคโนโลยีให้ร้านอาหาร

ร้านอาหารในยุค Covid-19 และหลังจากนี้ ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ Social distancing มาตรการด้านสุขอนามัย และความปลอดภัยต่างๆ

ความท้าทายเหล่านี้บวกเสริมเข้ามาในธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ต้องเผชิญปัญหาด้านอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว เช่น เรื่องพนักงาน การปรับตัวในยุคดิจิตอล เป็นต้น ผู้ประกอบการ SME ที่ดำเนินธุรกิจร้านอาหาร จึงต้องเร่งปรับตัว เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มโซลูชั่นด้านเทคโนโลยี และตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคบางส่วนที่เปลี่ยนไป

กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ได้พัฒนา Eatable (อีทเทเบิล) แพล็ตฟอร์มสั่งอาหารแบบดิจิตอล นับเป็นโซลูชั่นหนึ่งที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยธุรกิจร้านอาหาร โดยขณะนี้อยู่ในช่วงทดสอบ (Public Beta) และเตรียมเปิดตัวในเดือนตุลาคมนี้ 



Eatable เป็นบริการสั่งอาหารออนไลน์ ทั้งสำหรับลูกค้าทานที่ร้าน สั่งล่วงหน้าเพื่อไปรับที่ร้าน และให้จัดส่งเดลิเวอรี่ (Dine-in, Dine-Out & Delivery) โดยอีทเทเบิลจะช่วยร้านอาหารสร้างเมนูดิจิตอลบนเว็บไซต์ของอีทเทเบิล ร้านอาหารสามารถพรินต์ QR Code มาไว้ที่โต๊ะ ลูกค้าที่มาที่ร้านไม่ต้องสัมผัสตัวเมนู ไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชั่น เพียงสแกน QR Code ก็สั่งอาหารผ่านเมนูออนไลน์ได้เลย จึงปลอดภัยและไม่ต้องรอให้พนักงานมารับออเดอร์ ทั้งการเลือกทานในร้านทันที หรือสั่งอาหารล่วงหน้า 

  ดร.สุรศักดิ์ จันทศิริโชติ Advanced Partnership Engineer, KBTG กล่าวว่า ร้านอาหารจำนวนมากเจอปัญหาเรื่องพนักงาน โดยยกตัวอย่างร้านอาหารขนาดเล็กที่มีพนักงาน 3 คน พนักงานอาจเป็นนักศึกษาที่รับงานพาร์ทไทม์ หรือชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งบางครั้งพนักงานชาวต่างชาติก็กลับประเทศของตนและไม่กลับมาอีก

ถ้าร้านอาหารมีปัญหาเรื่องพนักงาน มีพนักงานใหม่ ต้องมานั่งเทรนพนักงานต่างๆ แล้วต้องบอกว่า การที่เขาต้องมีพนักงานเยอะ เพราะงานของพนักงานเริ่มต้นตั้งแต่ พาลูกค้าไปที่โต๊ะ เอาเมนูไปให้ คอยจดออเดอร์ จนถึงการเสิร์ฟ และเก็บโต๊ะ เราก็มองว่าในอนาคต มีส่วนที่ดิจิตอลสามารถเข้ามาช่วยได้ แล้วลดภาระของพนักงาน ยกตัวอย่าง ลูกค้ามาที่โต๊ะก็สั่งอาหารเองได้เลย และพนักงานก็ไปโฟกัสในการให้บริการในส่วนอื่น ตรงนี้อาจช่วยในมุมผู้ประกอบการ สมมติวันหนึ่งพนักงานออก แทนที่เขาต้องหาพนักงานมาเสริมโดยเร็ว หรือวันหนึ่ง manpower เขาอาจลดลงได้ดร.สุรศักดิ์ กล่าว

โซลูชั่นของ Eatable จึงมีส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพให้ธุรกิจร้านอาหาร และพัฒนาคุณภาพการบริการ 

ในส่วนของการสั่งอาหารล่วงหน้าหรือให้จัดส่งเดลิเวอรี่ SME หลายรายใช้โซเชียล มีเดีย ในการรับออเดอร์ลูกค้า แต่ก็ยังไม่สะดวกและยังไม่ตอบโจทย์

ดร.เจริญชัย บวรธรรมรัตน์ Senior Principal Visionary Architect, KBTG กล่าวว่า ร้านอาหาร SME ที่ไม่ได้มีทุนหนา และไม่ใช่เป็นเชนใหญ่ มีการใช้ช่องทาง เช่น Line Facebook Messenger ในการรับออเดอร์จากลูกค้า หลายครั้งต้องใช้เวลานานในการรับออเดอร์ และร้านอาหารต้องมารวบรวมเองเราจึงนำอีทเทเบิลเข้าไปตอบโจทย์ โดยมีเมนูออนไลน์ ลูกค้ากดสั่งอาหารจากเมนูออนไลน์ได้เลย” 

สำหรับลูกค้าเดลิเวอรี สามารถกดลิงก์ที่ร้านอาหารลงไว้ในทุก ๆ ช่องทาง แล้วสั่งอาหารผ่านเมนูออนไลน์ พร้อมตัวเลือกในการส่งเดลิเวอรีที่เปิดกว้าง ไม่ว่าจะให้คนของร้านไปส่งเอง หรือให้ร้านอาหารเป็นผู้เลือกผู้ให้บริการจัดส่งเจ้าที่คุ้มค่าที่สุด โดย Eatable จัดทำระบบที่ช่วยแนะนำส่วนลดค่าจัดส่งที่เหมาะสม สำหรับให้ร้านอาหารใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อมอบส่วนลดค่าบริการจัดส่งแก่ลูกค้าที่สั่งอาหารโดยตรงกับทางร้าน ดร.เจริญชัย กล่าวว่า เราแนะนำเรื่องส่วนลดให้ แต่ร้านค้าจะเลือกของเดลิเวอรี่เจ้าไหน หรือว่ายังไง ร้านค้าเป็นคนตัดสินใจเอง”

Eatable ไม่คิดค่าธรรมเนียมใดๆ ร้านค้าใช้ได้ฟรี และเป็นระบบที่ทำงานผ่าน QR Code และเว็บแพล็ตฟอร์ม ร้านค้าจึงไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่เพิ่มเติม นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังสามารถจัดการหน้าร้านออนไลน์ สร้างหรือปรับเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ได้เองทันที เช่น เมนูอาหาร ราคา รูปภาพ และข้อมูลของร้าน  

Eatable วางแผนจะเชื่อมเข้าสู่บริการรับชำระเงินแบบออนไลน์ โดยจะเชื่อมกับการชำระเงินในบางช่องทางในเดือนกันยายนนี้ ก่อนที่จะพัฒนาให้ครอบคลุมทุกช่องทางในอนาคต นอกจากนั้น Eatable ยังเล็งเปิดตัวมินิโปรแกรมไคไท่เตี่ยนไช่ (Kai Tai Dian Cai) บริการสั่งอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวจีนผ่านแอปวีแชทในช่วงปลายปีนี้

ดร.เจริญชัย เชื่อมั่นว่า สุดท้ายโควิดจะมีวันที่สถานการณ์คลี่คลายขึ้น นักท่องเที่ยวจะกลับมา เพราะเศรษฐกิจเมืองไทย สัดส่วนใหญ่ รายได้มาจากนักท่องเที่ยว ในมุมของเตี่ยนไช่ เราคิดกันว่าฟังก์ชั่นนี้ยังไงก็ต้องมีแน่นอน เพราะรองรับการท่องเที่ยวเป็นหลัก ยังไงต้องเกิด แต่จะเกิดเร็วเกิดช้าขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ในมุมของ KBTG และผู้บริหารเคแบงก์ทั้งหมด มองว่า เราอยากเตรียมความพร้อมตรงนี้ไว้”

มีการวิเคราะห์กันว่า ในอนาคต KBTG จะมีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่วิ่งบนแพล็ตฟอร์ม Eatable และอาจต่อยอดธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย อาทิ การปล่อยสินเชื่อให้กับร้านอาหาร ในประเด็นนี้ ดร.เจริญชัยและดร.สุรศักดิ์ ตอบตรงกันว่า ตอนนี้ไม่ได้คิดไปถึงมุมนั้น เพราะเรื่องสินเชื่อ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่าเห็นโอกาสทางธุรกิจหรือไม่อย่างไร 

ยกตัวอย่าง เจ้าของร้านข้าวมันไก่ อยู่ข้างทาง ทำกันเอง 3-4 คนในครอบครัว อาจไม่มีความจำเป็นที่ต้องการกู้เลยก็ได้ เพราะเขาพอมีของเขาอยู่แล้ว ถ้าเป็นผู้ประกอบการที่ไซต์โตขึ้นมานิดหนึ่ง สร้างแบรนด์ เริ่มมีประมาณ 1-2 สาขา ตรงนี้เขาอาจต้องการข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น แล้ววันหนึ่งเวลาที่เขาเดินไปหาแบงก์ อาจเดินไปแบงก์ด้วยความภาคภูมิว่า คิดว่าสำเร็จ ขอขยายสาขา 3 สาขา 4 ซึ่งตรงนี้อาจไปตอบโจทย์ได้ แต่ถ้าเป็นเชนใหญ่ไปเลย ต่อให้ไม่มี Eatable เขาก็กู้ได้อยู่แล้ว เราจึงมองว่า Eatable อยากไปช่วยให้ผู้ประกอบการรู้ตัวเองว่า ธุรกิจของเขาดีหรือไม่ดี ดำเนินไปทางไหน พูดในมุมของ Data ตรงนี้สำคัญมากกว่าดร.สุรศักดิ์ กล่าว

นอกจากร้านอาหารแล้ว มีการคาดการณ์ว่า Eatable อาจต่อยอดขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆในอนาคต เช่น มินิมาร์ท เป็นต้น ในเรื่องนี้ ดร.สุรศักดิ์ อธิบายว่า Eatable เหมาะกับผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพราะระบบถูกออกแบบมาเพื่อร้านอาหาร  

มีหลายเจ้าถามเข้ามาว่า เอา Eatable ไปขายอย่างอื่นได้ไหม ผมจะอธิบายว่า ถ้าสมมติว่ามีโอกาสแบบนั้นเข้ามา และคนที่เข้ามาประสาน สมมติว่าเป็นเป็นองค์กรใหญ่ ดูแล้วบอกว่าแพล็ตฟอร์มหน้าตาประมาณนี้ น่าจะไปตอบโจทย์อุตสาหกรรมอื่นได้ด้วย ผมคิดว่า เราอาจจะมา Co-Work ร่วมกันดีกว่า เพราะตอนนี้ผมอาจจะรู้ในมุมของร้านอาหาร รับออเดอร์ Flow เป็นอย่างไร แต่สำหรับธุรกิจอื่น เราอาจจะต้องเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค

สำหรับธุรกิจร้านอาหาร แน่นอนว่าต้องปรับตัวในหลายมิติ เพื่อให้อยู่รอดและเติบโต เทคโนโลยีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ Eatable ก็เป็นหนึ่งในโซลูชั่นที่เข้ามาตอบสนองร้านอาหารในยุคดิจิตอล 

Published on 16 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ