
หัวข้อ : ขายสินค้าให้ยอดพุ่ง บน Facebook Marketplace
อ่านเพิ่มเติม : https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/sme-facebook-marketplace.html
เฟซบุ๊กมาเก็ตเพลส (Facebook Marketplace) อีกหนึ่งช่องทางขายที่เฟซบุ๊กสร้างมาเพื่อช่วยให้การขายของทำได้ง่ายยิ่งขึ้นและเข้าถึงลูกค้าได้เร็วที่สุด เพียงไม่กี่ขั้นตอนสินค้าของคุณก็จะถูกส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายนับล้านทั่วโลกแล้ว อีกทั้งผู้ซื้อยังสามารถค้นหาสินค้าที่ต้องการได้สะดวกมากขึ้นเช่นกัน
ทำไมต้องขายของบนเฟซบุ๊กมาเก็ตเพลส
เฟซบุ๊กมาเก็ตเพลสเปิดให้ใช้งานมากว่า 2 ปี ใช้งานง่าย และมีจำนวนของผู้คนที่เข้าถึงมาก ตลอดสองปีที่ผ่านมาความนิยมของช่องทางนี้ไม่ได้ลดน้อยลง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบที่ช่วยทำให้การขายของเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เร็วขึ้นอีกด้วย
จุดเด่นของเฟซบุ๊กมาเก็ตเพลส
เทคนิคปิดการขายบนเฟซบุ๊กมาเก็ตเพลส
เฟซบุ๊กมาเก็ตเพลสคือตลาดที่เปิดกว้างสำหรับใครก็ตามที่ต้องการเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดออนไลน์ หรือขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ช่องทางนี้ถือว่าสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องทำการสมัครเปิดหน้าร้านให้ยุ่งยาก เพียงแค่มีข้อมูลสินค้าก็เริ่มต้นขายของกันได้เลย ที่นี่คุณยังสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างหลากหลาย เพราะมีลูกค้าจำนวนมากรวมตัวกันอยู่แล้ว หากคิดจะเริ่มธุรกิจออนไลน์ ช่องทางนี้เป็นทางเลือกที่ดีที่จะเริ่มต้น ใครที่จะโพสต์ขายของให้ใส่ข้อมูลให้ครบถ้วน จะได้เป็นประโยชน์ต่อทั้งคนขายเองและคนซื้อ
Published on 17 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
จากตัวเลขเชิงสถิติของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่าในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา มีธุรกิจเกิดใหม่กว่า 70,000 รายต่อปี ในจำนวนทั้งหมดนี้มีเพียง 50% ที่ก้าวผ่านปีแรกไปได้ และ 10% ต้องปิดกิจการลงในที่สุด
ปัญหาหลักสำคัญที่ทำให้ SME รายย่อยไปต่อไม่ได้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงิน เนื่องจาก การปล่อยสินเชื่อที่อิงกับหลักทรัพย์ค้ำประกันและเงื่อนไขของ SME ผู้กู้จะต้องเดินบัญชีธนาคารรวมถึงมีการจดทะเบียนการค้าอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี ตลอดจนมีการตรวจสอบประวัติค้างชำระหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆ
ด้วยระยะเวลา ขั้นตอน และกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม SME ส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้สอดคล้องกับผลวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ในปี 2561 ที่พบว่า ผู้ประกอบการ SME ที่มีอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3 ล้านราย มีเพียงหมื่นกว่ารายเท่านั้นที่ได้รับสินเชื่อ SME จากสถาบันการเงิน
เมื่อไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำอย่างสถาบันการเงินได้ SME ส่วนใหญ่จึงหันไปพึ่งพาการกู้เงินนอกระบบ แม้ว่าจะกู้ง่ายก็จริง แต่ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงจุดนี้ก็ยิ่งทำให้ SME ต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงมากขึ้น กลายเป็นการซ้ำเติมที่ทำให้ธุรกิจอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เสียที
แต่จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ก็ทำให้ SME รายย่อยมีทางเลือกในการที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้นเช่นกัน และ Credit OK ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกดังกล่าว
ทั้งนี้ Credit OK เป็นสตาร์ทอัพ FinTech ที่แจ้งเกิดเมื่อกลางปีที่ผ่านมา โดยตั้งใจเข้ามาลบ Pain point ของ SMEในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้หมดไป ด้วยการใช้เทคโนโลยี Big Data จัดระบบข้อมูล และนำ Machine Learning วิเคราะห์ความเสี่ยง ประมวลผลออกมาเป็น Credit Scoring เพื่อประเมินผล และอนุมัติวงเงินการกู้ให้กับ SMEคุณยิ่งยง ตันธนพงศ์พันธุ์ CEO Credit OK กล่าวว่า Credit OK วางกลุ่มเป้าหมายไปที่ SME รายย่อยที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 50 ล้านบาท รวมไปถึง SME ในระดับบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบการทั้งที่จดและไม่จดทะเบียนการค้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นก้อนใหญ่ที่สุดของธุรกิจ SME ในประเทศและยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงกว่าที่เคย นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โรคระบาด COVID-19 เป็นต้นมา
วิธีการเก็บข้อมูลของ Credit OK มาจากการศึกษาเส้นทางการสร้างรายได้ และพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าของ SME ที่ทำร่วมกับคู่ค้าที่อยู่ใน Ecosystem ของธุรกิจที่ SME ดำเนินการอยู่ ประกอบกับการเก็บข้อมูลจาก Data Source ใหม่ๆ อย่าง Psychometric data เป็นประเภทข้อมูลทางจิตวิทยาถึงลักษณะนิสัย และด้านการจับจ่ายใช้สอยของผู้กู้ เพื่อนำมาประมวลผลให้แม่นยำมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าแต่ละธุรกิจล้วนมีเส้นทางในการสร้างรายได้ที่แตกต่างกัน ดังนั้น Credit OK จำเป็นต้องเลือกกลุ่มธุรกิจเพื่อทำ Credit Scoring สำหรับปล่อยกู้
กลุ่มแรกที่ Credit OK เข้าไปดำเนินการก็คือ กลุ่ม SME ที่เป็นช่างผู้รับเหมา โดยจับมือกับ SCG ซึ่งมีเครือข่ายร้านค้าวัสดุก่อสร้างอยู่ทั่วประเทศและมีฐานลูกค้าช่างผู้รับเหมาประมาณหนึ่งแสนรายที่เข้าไปใช้บริการ
“เราจับมือกับ SCG เพื่อนำข้อมูลประวัติการซื้อวัสดุหรืออุปกรณ์ก่อสร้างของช่างผู้รับเหมาจากร้านค้าในเครือข่ายSCG มาจัดเก็บในระบบข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของช่างหรือผู้รับเหมารายย่อยว่า คนกลุ่มนี้มีประมาณเท่าไหร่ มีระดับเครดิตอยู่ในระดับไหน และเราควรจะปล่อยเครดิตได้ในระดับใด จากนั้นจึงนำมาใช้กำหนดวงเงินเครดิตการค้า โดยช่างสามารถใช้เครดิตดังกล่าวนำมาซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างไปก่อนในระยะเวลาเครดิตเทอม 30-45 วัน โดยไม่คิดดอกเบี้ย หลังจากนั้นค่อยมาชำระเงินคืน ด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีเงินหมุนเวียนตลอด ส่งผลให้เขาสามารถขยายขนาดโปรเจ็กท์ หรือรับโปรเจ็กท์ก่อสร้างเพิ่มขึ้นได้”
ข้อดีของการใช้ Credit Scoring เป็นข้อมูลในการกู้ของ Credit OK นั้นมีหลายอย่างด้วยกัน อย่างแรกคือลดขั้นตอนและระยะเวลาการทำเรื่องขอกู้ สำหรับผู้รับเหมาและช่างที่สนใจสามารถสมัครบริการได้ง่ายผ่านร้านผู้แทนจำหน่ายของ SCG ทั่วประเทศ รู้ผลอนุมัติรวดเร็วภายใน 3 วันทำการ โดยไม่ต้องตรวจสอบเครดิตบูโร และมีอัตราการดอกเบี้ยเพียง 15% ต่อปีเท่านั้น โดยที่ผ่านมา Credit OK สามารถปล่อยกู้เป็นสินค้าให้กับช่างผู้รับเหมาหลายร้อยรายแล้ว และได้รับการตอบรับที่ดี เมื่อวัดจากความถี่การเข้ามาใช้บริการซ้ำ 2-3 รอบต่อคน และอัตรา NPL ที่ต่ำกว่า 1%
ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ Credit OK เดินหน้าขยายกลุ่มเป้าหมาย SME ในกลุ่มเกษตรกร โดยเริ่มจากกลุ่มเกษตรผู้ปลูกต้นไม้ยูคาลิปตัสเพื่อส่งขายเข้าโรงงานทำกระดาษ โดยครั้งนี้ Credit OK ได้จับมือกับ SCG อีกเช่นกัน ซึ่งยอดการส่งไม้เข้าไปแปรรูปเป็นแพ็กเกจจิ้งกระดาษจะถูกเก็บไว้ในประวัติ และนำมาวิเคราะห์ออกมาเป็นวงเงินปล่อยกู้ให้เกษตรกรอีกทีหนึ่ง
ล่าสุด Credit OK เข้าไปจับมือกับผู้ค้าส่งรายใหญ่ของไทย เพื่อปล่อยกู้เป็นสินค้าให้ SME ผู้ประกอบการร้านอาหารเครื่องดื่ม และร้านขายของชำ
“เช่นเดียวกัน เราก็ใช้วิธีเก็บข้อมูลจากประวัติการซื้อสินค้าของกลุ่ม SME ดังกล่าวในร้านคาส่งที่เราเป็นพันธมิตรทั้งช่องทางที่เป็นออนไลน์ และออฟไลน์ว่ามีปริมาณแค่ไหน และมีความถี่ในการซื้อเท่าไหร่ จากนั้นเราก็นำมาวิเคราะห์เป็นวงเงินกู้เป็นสินค้า หรือวัตถุดิบเพื่อนำมาขายในร้านของเขา”
คุณยิ่งยงกล่าวถึงแผนการทำงาน ว่า Credit OK ยังโฟกัส SME ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ช่างผู้รับเหมา เกษตรกร และผู้ประกอบการร้านอาหาร/ร้านชำ เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่มากในระบบ SME และมีศักยภาพในการเติบโตต่อไปได้อีก
แต่สิ่งที่ทำเพิ่มเติมก็คือ การหาพาร์ทเนอร์ที่เป็นแหล่งเงินทุน โดยในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะจับมือกับสถาบันการเงินเข้ามาปล่อยกู้เงินเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่จับมือกับ Grab Financial Group เพียงรายเดียวในยอดวงเงินกู้ 100 ล้านบาท
“ผมหวังว่า Credit OK จะเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับ SME อย่างน้อยก็ให้เขาได้มีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้ธุรกิจของเขาหมุนต่อไปได้ และกลายเป็น SME ที่เติบโตอย่างแข็งแรง”
Published on 17 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
ทุ่มทั้งทุนลงทั้งแรงแทบตาย แต่สุดท้ายคนที่สบายคือ พ่อค้าคนกลาง “สวนบ้านแม่” จึงแก้ปัญหาที่ต้นตอ ออกแบบวิธีขายมังคุดผ่านเฟซบุ๊ก เสริมกลยุทธ์วิธีส่งมังคุดทำให้ผู้บริโภคทานได้นาน สร้างสัมพันธ์ที่ดีรับกระแสการช้อปออนไลน์บูม ปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรหรือชาวสวนไทยไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ เพราะส่วนใหญ่ไม่ถนัดการตลาด แม้จะมีผลผลิตออกมามากมายแค่ไหนแต่สุดท้ายคนที่ได้กำไรหรือคนที่ร่ำรวยคือคนที่ชื่อ “พ่อค้าคนกลาง” นี่คือเหตุผลทำให้หนุ่มสถาปัตย์ ปอ-ธนวัฒน์ มโนวชิรสรรค์ หันหลังให้กับตึกขนาดสูงที่เมืองกรุงกลับมา ‘สวนบ้านแม่’ จังหวัดพังงา เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นหลุมดำของการทำเกษตรจากที่เคยขายได้เพียงหลักหมื่นบาท จากมังคุดที่มีกว่า 400 ต้น ให้สามารถกลับมาสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น เลี้ยงทั้งครอบครัวและพนักงานสวนบ้านแม่ได้อีกครั้ง....
รุกออนไลน์บ๊ายบายพ่อค้าคนกลาง
ข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางคือไม่มีตลาดรองรับสินค้าโดยเฉพาะการเข้าถึงผู้บริโภคที่ห่างไกลที่ไม่สามารถปลูกผลไม้ทานเองได้ เช่น ญาติของธนวัฒน์ที่อาศัยในกรุงเทพฯ ด้วยความหวังดีเขาจึงส่งมังคุดจำนวน 2 กิโลกรัมไปให้ทางไปรษณีย์ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า
“หากระบบขนส่งโลจิสติกส์ดี การส่งผลไม้ด้วยวิธีนี้ก็น่าจะทำให้การค้าขายดีไปด้วย”
จากสมมุติฐานดังกล่าวเข้าใกล้ความเป็นจริงเมื่อญาติที่กรุงเทพได้ลิ้มรสมังคุดในสภาพปรกติดี ทำให้เขาเริ่มทดลองส่งมังคุดเป็นระยะทางไกลขึ้นไปถึงเชียงใหม่ที่กินเวลาเพียงสองวันถึงปลายทาง เมื่อทราบระยะเวลาในแต่ละเส้นทางแล้วเขาก็เริ่มคำนวณต่อไปว่าควรจะเก็บผลมังคุดช่วงไหนเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถทานได้ทั้งกล่องคุ้มกับค่าเงินที่เสียไป
“ปกติผู้บริโภคมักสั่งซื้อมังคุดครั้งหนึ่งหลายกิโลกรัมซึ่งคงทานไม่หมดภายในครั้งเดียว ผมจึงเลือกเก็บผลมังคุดที่มีความสุกหลายระดับ เช่น เปลือกสีเขียวแต้มแดงนิดหนึ่งพอไปถึงเชียงใหม่จะทานได้ทันที พร้อมกับโบร์ชัวร์แจกไปให้ในกล่องว่าถ้ามังคุดสีประมาณนี้ควรกินได้ตอนไหน เพื่อให้ลูกค้าสามารถทานมังคุดได้เต็มจำนวนโดยไม่เน่าเสีย”
ไม่เพียงการเลือกเก็บผลไม้เท่านั้น แม้แต่ขั้นตอนการส่งเขายังได้นำภูมิปัญญาชาวบ้านคือ นำใบตองมาใส่ในกล่องเพื่อเพิ่มความเย็น ความสดให้กับผลไม้ตลอดการขนส่ง พร้อมเปลี่ยนวิธีการขายสร้างระบบให้ลูกค้าจองออร์เดอร์และชำระเงินขณะที่มังคุดอยู่บนต้น
กลไกให้ลูกค้าจองพร้อมจ่ายเงินก่อน
เมื่อไร้คนกลางช่องทางที่จะทำให้คนเห็นมังคุดและสั่งจองได้ของปอ คือการใช้เฟซบุ๊ก โดยมีกลยุทธ์คือ
“ขายของในโลกโซเชียล ต้องระวัง ถ้าเกิดมีปัญหาความเชื่อใจลดลงไปเรื่อยๆ ฉะนั้นบางเรื่องที่ลูกค้า complain อาจไม่ใช่ความผิดเพราะเขาไม่เข้าใจ เช่น บางคนได้รับมังคุดที่เป็นเนื้อแก้วคิดว่าเสียทานไม่ได้ เราก็ต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ หาข้อมูลวิจัยมายืนยันว่ามังคุดเนื้อแก้วไม่ได้เสียทานได้แถมยังช่วยต้านอนุมูลอิสระ พอเราทำเป็นรูปภาพอธิบายในเพจคนก็เริ่มเข้าใจแก้ปัญหาตรงนี้ไปได้”
ออนไลน์ทางออก แบรนด์ดิ้ง คือความยั่งยืน
ตลอดเวลาที่สวนบ้านแม่ทำตลาดออนไลน์มากว่า 5 ปี เรียกว่าเป็นการปลดล็อกเรื่องคนกลางไปได้ แต่อย่างไรก็ดี หนุ่มพังงาคนนี้ยอมรับว่าการทำสวนผลไม้ก็ยังมีปัญหาหลักๆ สองส่วนคือ หนึ่ง ธรรมชาติที่เหนือการควบคุม เช่น พายุ ฝน สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทำให้กระทบไปถึงผู้บริโภค สอง ปัญหาเรื่องคน ต้องมีความซื่อสัตย์ ไม่เก็บผลมังคุดที่หล่นกับพื้นมาขาย เพราะมังคุดที่หล่นพื้นมันจะเสียไว วิธีแก้ปัญหานี้คือ ให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมเพื่อให้คนเก็บมังคุดมีคุณภาพชีวิตดีไปด้วย
“สำหรับผมออนไลน์ช่วยการเกษตรได้ 100% แต่ต้องผสมผสานกับกระบวนการวิธีคิดหลายๆ อย่าง อาทิ การออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้อิงกับความเป็นสวนผลไม้ไทย เหมือนเป็นการสร้างแบรนด์ดิ้งขึ้นมา ให้เป็นภาพจำของสวนบ้านแม่ที่ไม่ใช่จะจบแค่รุ่นผม แต่เป็นการส่งต่อของธุรกิจครอบครัวไปถึงอีกรุ่น สร้างความยั่งยืนในการทำสวนผลไม้ต่อไป”
สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่มีความพร้อมเรื่องการทำตลาดออนไลน์ เขาแนะนำว่าอาจเริ่มจากค่อยๆ แบ่งสัดส่วนจากที่ขายปกติ แบ่งมาขายทางออนไลน์ 10-20% หยั่งเชิงไปทีละนิด สร้างฐานลูกค้าไว้เป็นภูมิคุ้มกัน หรือเป็นอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง
“อนาคตคนสนใจซื้อของออนไลน์มากขึ้น แต่พวกเขาจะเลือกซื้อสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าใครตอบโจทย์ตรงนี้ได้ก็ย่อมมีโอกาส เพราะในโลกของการค้าออนไลน์เพียงแค่ 1 นาทีอาจมีออเดอร์เป็นตัน” คุณปอ กล่าวทิ้งท้าย
ไม่เพียงแต่ช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เท่านั้นที่เกษตรกรสามารถใช้เป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ได้ เพราะปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการจัดทำเว็บไซต์ ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ขึ้นมา เพื่อเป็นสื่อกลางในการนำสินค้าเกษตรคุณภาพดีจากเกษตรกรตัวจริงทั่วประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งตรงถึงมือผู้บริโภค ภายใต้สโลแกน “เกษตรกรจริงจริง ทุกสิ่งปลอดภัย เพียงคุณสั่ง เราพร้อมส่ง”
Quote
“อนาคตคนสนใจซื้อของออนไลน์มากขึ้น แต่พวกเขาจะเลือกซื้อสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าใครตอบโจทย์ตรงนี้ได้ก็ย่อมมีโอกาส เพราะในโลกของการค้าออนไลน์เพียงแค่ 1 นาทีอาจมีออเดอร์เป็นตัน”
Published on 17 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
ข่าวการล้มหายของเอสเอ็มอีขนาดเล็กไปจนถึงบริษัทระดับมหาชนในช่วงวิกฤตโควิด ตอกย้ำถึงทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน “ผู้ที่อยู่รอดไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด แต่คือผู้ที่ปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด”
การ Work From Home ที่หลายคนกังวลและคิดว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ แต่กลับกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นแค่ชั่วข้ามคืนในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา นับเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจ จากบทเรียนนี้ตอกย้ำว่าธุรกิจจะอยู่ต่อไปได้ในอนาคตไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดองค์กร แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดได้ คือ การพัฒนาความรู้ในทักษะเดิม (Upskill) และการพัฒนาทักษะใหม่ (Reskill) ให้กับพนักงานของตัวเอง เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่อเหตุการณ์ต่างๆ
อภิชาติ ขันธวิธิ เจ้าของเพจ HR - The Next Gen และ Co-Founder QGEN - HR Practice Provider บริษัทให้คำปรึกษาทางด้าน People Management & Human Resources Strategy ที่โลดแล่นอยู่ในวงการ HR มากว่า 16 ปี ให้คำแนะนำว่า ถ้าพูดถึงทักษะในการทำงานของทุกอาชีพที่ต้องมีนอกจากทักษะเชิงเทคนิคัลของอาชีพตัวเองแล้ว ทักษะที่จำเป็นสำหรับพนักงานทุกคนในทุกองค์กรต้องมีคือ
1. Design
รู้จักวิธีออกแบบกระบวนการทำงานแบบใหม่ แต่ได้เป้าหมายที่ดีกว่าเดิมหรืออย่างน้อยเท่าเดิม เช่น วิกฤตโควิดที่ผ่านมาทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานหันไปใช้วิธีการทำงาน Work From Home แต่หลังจากนี้หากเกิดวิกฤตโควิดรอบสองวิธีการทำงาน Work From Home ที่เคยใช้ได้ผลกับวิกฤตโควิดเวอร์ชัน 1 ก็อาจใช้ไม่ได้แล้ว ฉะนั้นทักษะที่พนักงานคุณต้องมีคือ รู้จักการดีไซน์วิธีการทำงานแบบใหม่ๆ เพื่อให้รองรับทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
2. Data
ข้อมูล เป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการทำงานในปัจจุบันและอนาคต เพราะจะมาช่วยสนับสนุนความคิดและการตัดสินใจให้ผิดพลาดน้อยลง แม่นยำได้มากขึ้น ดังนั้นทักษะอีกหนึ่งอย่างที่พนักงานทุกคนต้องมีคือ ทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน
3. Digital
เมื่อ Speed กับ Quality คือ สิ่งที่ลูกค้าทั้งลูกค้าภายในองค์กรและลูกค้าภายนอกองค์กรต้องการ ดังนั้น ดิจิทัลจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะมาช่วยตอบโจทย์ให้การทำงานรวดเร็วและมีคุณภาพ คนทำงานทั้งหลายจึงไม่อาจปฏิเสธทักษะทางด้านนี้ หากแต่ต้องทำความเข้าใจทำความคุ้นเคยเพื่อนำดิจิทัลมาปรับใช้ในองค์กร ซึ่งองค์กรที่สามารถจะเอาชนะคู่แข่งได้ต้องเป็นองค์กรที่ Go to Digital
เมื่อองค์กรรู้แล้วว่าทักษะแบบไหนที่พนักงานจำเป็นต้องมี ดังนั้นขั้นตอนต่อไปคือ การหาวิธีพัฒนาให้พนักงานในองค์กรมี 3 ทักษะดังกล่าว ซึ่งคุณอภิชาติ แนะนำว่าให้เริ่มจาก 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
ในเบื้องต้นคือ ควรให้ความสำคัญตั้งแต่เลือกคนที่มี Digital Mindset มาทำงานร่วมกัน และถ้าอยากเป็นองค์กรดิจิทัล ผู้นำองค์กรเองต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดิจิทัล ทำให้พนักงานเห็นเป็นตัวอย่าง ใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจังจะช่วยทำให้พนักงานหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นองค์กรต้องให้เวลากับพนักงานในการปรับตัวด้วย
ที่ผ่านมาการทำงานมักใช้ sense ในการตัดสินใจ แต่มาถึงยุคที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาและคู่แข่งรอบด้านที่มากขึ้น ทำให้การตัดสินใจอย่างแม่นยำเป็นเรื่องจำเป็น ในเรื่องนี้อาจเริ่มต้นจากการฝึกให้พนักงานทุกคนนำข้อมูลมาเป็นองค์ประกอบในการทำงานทุกๆ กระบวนการ โดยชี้ให้เห็นว่าการมีข้อมูลมันส่งผลดีอย่างไรต่องาน ผ่านไปสักระยะพนักงานเริ่มเห็นภาพก็จะนำ Data มาใช้กับการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม
ว่ากันว่าในช่วงที่เกิดสถานการณ์คับขันเช่นโควิดนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้มนุษย์เกิดความครีเอทได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าหากมัวรอให้สถานการณ์บีบคั้นค่อยคิดแก้ปัญหาอาจสายเกินไป ฉะนั้นทางที่ดีองค์กรต้องมีการทดลอง โดยหลักการทำการทดลองที่ง่ายที่สุดคือ การท้าทายให้ทำงานชิ้นเดิมภายใต้เงื่อนไขเดิมทั้งหมด แต่อาจลดชั่วโมงการทำงานหรือจำนวนคนให้น้อยลงเพื่อที่จะได้ครีเอทวิธีการทำงานใหม่ๆ ออกมาได้
แน่นอนว่าการแข่งขันจะทำให้ทุกองค์กรต้องปรับตัวอยู่เสมอ ฉะนั้นสิ่งที่พนักงานต้องทำเพื่อเพิ่มทักษะของตัวเองคือ การติดตามนโยบายต่างๆ ขององค์กรว่ากำลังไปในทิศทางใด และในการดำเนินงานนั้นจำเป็นต้องใช้ทักษะใดบ้าง หากตนไม่ทีทักษะนั้นก็ควรขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถก้าวไปพร้อมกับองค์ได้โดยไม่เป็นภาระ แต่ต้องเป็นบุคคลที่มีประโยชน์สำหรับองค์กร
“ตอนนี้ Speed เป็นเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจ แต่ละองค์กรคงมีเวลาไม่มากให้คนพัฒนาตัวเอง ถ้าคุณมีของอยู่แล้วโชว์ออกมาเลย สิ่งไหนที่ไม่รู้ต้องขวนขวาย Reskill Upskill ตัวเองอยู่เป็นระยะๆ อยากให้พนักงานลองมองในมุมว่าเขาคือ คนทำธุรกิจคนหนึ่ง สิ่งที่เขาขายของให้บริษัทได้คือ ความรู้ ความสามารถ อย่ารอให้คนอื่นมาบอกว่าคุณต้องพัฒนาเรื่องใด เพราะถ้ารอให้คนอื่นมาบอกอาจมีแนวโน้มว่ามันจะสายเกินไปแล้ว”
อย่างไรก็ตาม เจ้าของเพจ ‘HR The NextGen’ ฝากถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า โลกของการทำธุรกิจวันนี้มีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายตลอดเวลา ทำให้เกิดการแข่งขันสูงมาก ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้องค์กรแข่งขันบนเวทีการค้าได้คือเรื่องของ คน
“ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการจะลงทุนเรื่องเทคโนโลยีพัฒนาสินค้าดีๆ แต่ถ้าวางระบบคนไม่ดี หรือไม่ได้เลือกคนที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น ก็คงไม่สามารถดึงศักยภาพที่ดีที่สุดการทำงานในองค์กรให้ออกมาได้ อยากให้เอสเอ็มอีกลับมาพิจารณาเรื่องบริหารคนให้มากขึ้นกว่าเดิม เมื่อคนเก่งขึ้นองค์กรแข่งขันได้อย่างยั่งยืน” คุณอภิชาติ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเสริมศักยภาพด้านอื่นๆ ให้กับพนักงานในองค์กร สามารถที่จะเข้าไปปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพราะจากนี้ไป การจะอยู่แบบเดิมๆ ไม่ปรับตัวอาจทำให้ธุรกิจของคุณเจอทางตันก็ได้
Published on 17 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
ใครจะคาดฝันว่าอาชีพกัปตันที่ไม่น่าจะมีวันได้ตกงาน ต้องมาตกอยู่ในสถานการณ์ว่างงานฉับพลัน แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ เดชพนต์ พูลพรรณ กัปตันการบินไทยได้หยิบเอางานอดิเรกมาสร้างแบรนด์ขนมบราวนี่ที่มียอดขายทะลุแสนตั้งแต่เดือนแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ
เดชพนต์เล่าว่า เขาเรียนทำขนมบราวนี่ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิดแล้ว เนื่องจากเป็นคนชอบซื้อขนมฝากผู้ร่วมงานเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน เมื่อซื้อบ่อยเข้าก็รู้สึกอยากหาอะไรที่เป็นของตัวเองแจกแทนการซื้อ จึงตัดสินใจไปเรียน และทำแจกมาเรื่อย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากเพื่อนร่วมงาน หลายคนยุให้ทำขาย เมื่อประจวบเหมาะกับช่วงโควิด ต้องหยุดบิน ทำให้มีเวลาว่างเยอะ เขาจึงตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจของตน
“เรียนเสร็จแล้วเราก็เอามาปรับสูตรไปเรื่อย โดยการหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต แล้วเอามาลองปรับ ลองชิม ฟังคอมเมนต์จากคนที่เราให้เขาไปชิม แจกมาเรื่อยจนช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ซึ่งโควิดยังระบาดอยู่แค่ในจีน เห็นว่าคนเริ่มชอบ ก็คิดอยากมีงานอดิเรก ตอนนั้นยังไม่ได้หยุดบินเลยนะ ก็คิดว่าลองขายเล่นๆ ดู ก็เริ่มสร้างแบรนด์เลย ซึ่งเป็นความโชคดีที่ทำให้พอหยุดบินปุ๊บ ก็เริ่มขายของได้เลย คือตอนที่วางแผนเรื่องการตลาดอยู่นั้น ยังบินปกติอยู่เลยนะ พอคิดชื่อยี่ห้อ ช่องทางการขาย เสร็จก็เป็นจังหวะพอดีกับที่เราต้องหยุดบินพอดี”
กัปตันเดชบอกว่าขนมจะขายดี รสชาติต้องอร่อย และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า จุดเด่นของบราวนี่ Flying Sweets เน้นรสเข้มหวานน้อย และมีหลากรสชาติ ให้ลูกค้าได้เลือกได้ลองของใหม่ๆ ส่วนช่องทางการขายสำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นหนีไม่พ้นออนไลน์ โดยเขาเลือกที่จะใช้ไลน์ออฟฟิศเชียลเป็นช่องทางแรกสำหรับธุรกิจของตัวเอง
“จริงๆ การทำตลาดบนออนไลน์แต่ละแพลตฟอร์มมีจุดเด่นในการใช้งานแตกต่างกันไป ตัวผมเองถนัดใช้ไลน์มากกว่า เพราะเคยใช้ในการทำกิจกรรมสมัยอยู่สาธิตเกษตรมาก่อน มีความคุ้นเคยมากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ สามารถโหลดแอพฯมาแล้วเปิดร้านได้เลย ตัวเองก็มีกลุ่มลูกค้าอยู่ในมือแล้วด้วย ซึ่งก็เป็นเพื่อนๆ และคนใกล้ตัวนี่แหละ เราก็ขอให้เขามาแอดไลน์ร้านเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร เมื่อขนมเราอร่อยเขาก็ช่วยกระจายข่าวให้อีกทีหนึ่ง แต่จุดที่สร้างความรู้จักให้กับ Flying Sweets จนมามียอดขายทะลุแสนเลยจริงๆ คือตอนผมเอาขนมไปโพสต์บนเพจจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส พอลงเพจนี้คนสนใจเยอะมาก จำได้ว่าตอนนั้นรับออร์เดอร์อย่างเดียวทั้งวัน ทั้งทางโทรศัพท์ และไลน์ มีทั้งคนเข้ามาสั่งขนม มีทั้งสื่อติดต่อเข้ามาขอสัมภาษณ์ ทำให้คนรู้จักมากขึ้น แรกๆ อาจเป็นกลุ่มคนที่แค่อยากลองว่าขนมที่กัปตันทำเป็นยังไงบ้าง หลังๆ กลุ่มคนเหล่านี้ก็กลับมาเป็นลูกค้าประจำกันเยอะขึ้น และพาลูกค้าใหม่ๆ มารู้จักเรามากขึ้น”
จากเริ่มทำเป็นมือสมัครเล่นในช่วงโควิดปัจจุบัน Flying Sweets มีออร์เดอร์ที่เข้ามาในแต่ละวันจำนวนมาก กัปตันเดชยังคงลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง แม้จะเป็นการงานที่ทำในบ้านและจัดส่งออนไลด์ตามออร์เดอร์ลูกค้า แต่กัปตันเดชยอมรับว่าไม่ง่าย และต้องใช้เรื่องการบริหารจัดการเข้ามาช่วยทำให้งานเป็นระบบ ง่ายและสะดวกขึ้น
“จากประสบการณ์ในงานสายการบิน ทำให้เราคุ้นเคยกับการวางแผนก่อนการทำงาน ทำขนมก็เหมือนกัน ก็ต้องวางแผน ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบ การรับออร์เดอร์ การส่ง ไปจนถึงการตลาด และการขาย พอมีระบบที่ดีขึ้นก็ทำได้เยอะขึ้น ทุกวันนี้ เราทำกันแค่ 3-4 คน ผมกับภรรยา ลูกสาว และแม่บ้าน ส่วนใหญ่ผมจะทำขนมตอนกลางคืน เริ่มทำช่วงประมาณ 2 ทุ่ม จนถึงเกือบประมาณเที่ยงคืน พอตอนเช้า เราจะจัดส่งขนมที่แพคไว้ตั้งแต่เมื่อเย็นวันก่อน โดยส่วนหนึ่งจะจ้างแมสเซนเจอร์ส่งเองในรัศมีไม่ไกลที่พักจนเกินไปนัก อีกส่วนหนึ่งจะจัดส่งทางอีเอ็มเอส เพื่อให้ลูกค้าในกรุงเทพได้รับขนมในวันนั้นเลย แต่หากเป็นต่างจังหวัดก็จะได้รับในวันรุ่งขึ้น”
กัปตันเดชบอกว่าอีกหนึ่งเคล็ดลับความสำเร็จของเขาก็คือ การเลือกที่จะตอบไลน์ลูกค้าด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าแล้ว ยังทำให้รู้ถึงปัญหา และความต้องการของลูกค้า และสามารถนำเอาไปปรับปรุงพัฒนาสินค้า และการบริการให้ตอบโจทย์ตลาดได้ดียิ่งขึ้นด้วย ซึ่งจะต่างจากธุรกิจทั่วไปที่มักหาให้คนอื่นมาทำหน้าที่นี้แทน ทำให้ข้อมูลที่ได้ขาดความแม่นยำ การพัฒนาจึงล่าช้าไม่ทันกับความต้องการของลูกค้าในตลาด โดยเขาตั้งเป้าเอาไว้ว่า เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น เขาจะเปิดหน้าร้าน เพื่อเป็นแหล่งพบปะกับลูกค้าของตัวเอง
ต้องการเริ่มต้นธุรกิจเช็คข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
" www.dbd.go.th "
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม https://www.ismed.or.th/
Quote
“จากประสบการณ์ในงานสายการบิน ทำให้เราคุ้นเคยกับการวางแผนก่อนการทำงาน ทำขนมก็เหมือนกัน ก็ต้องวางแผน ทุกขั้นตอน”
Published on 17 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย