สมอ. สถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ยกระดับมาตรฐานเพิ่มศักยภาพธุรกิจ

ในโลกการแข่งขันทางธุรกิจที่มีผู้ประกอบการมากมาย สิ่งสำคัญหนึ่งที่จะทำให้ SME โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งอื่นก็คือ คุณภาพของสินค้าและบริการ หากสินค้าและบริการมีคุณภาพดีและได้รับการรับรองมาตรฐานย่อมเป็นแต้มต่อในสนามแข่งขัน การมีมาตรฐานจึงเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ SME ไม่อาจละเลยไม่ว่าโลกธุรกิจจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสินค้าและบริการให้เป็นที่ยอมรับและแข่งขันได้ในระดับสากล โดยสมอ. มีภารกิจด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจ สร้างการยอมรับและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตลอดจนคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

มาตรฐานของ สมอ. จึงเป็นเหมือนเครื่องหมายการันตีคุณภาพที่ผู้ประกอบการ SME สามารถนำไปใช้ในทางการตลาด

คุณนฤมล วาณิชย์เจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน สมอ. กล่าวว่า มาตรฐานของสมอ. มีหลายระดับ ตั้งแต่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.), มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส(มอก.เอส), มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) เป็นต้น 

มอก.เอส ทำขึ้นมาสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะโดยมอก.เอส จะอยู่ระหว่าง มผช. กับ มอก. ผู้ประกอบการอาจพัฒนามาจาก มผช. แล้ว แต่ยังไม่ถึง มอก. ก็สามารถขอการรับรองในส่วนของ มอก.เอส ได้ คุณนฤมลกล่าว

มอก.เอส เริ่มประกาศใช้ในปี 2561 ผู้ประกอบการที่เคยได้รับใบรับรองมาตรฐาน มอก.เอส ดำเนินธุรกิจ อาทิ ที่นอนยางพารา, ดอกไม้ประดิษฐ์จากวัสดุแปรรูป, การบริการนวดและสปา, การบริการซักอบรีด, การบริการกำจัดปลวก หนูและแมลง เป็นต้น

คุณนฤมลกล่าวว่า ในส่วนของมอก.เอสเนื่องจากเราเพิ่งดำเนินการมาไม่นาน ก็จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจขอรับบริการส่วนหนึ่ง ซึ่งยังไม่มากนักและเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ SME ก็เหมือนว่ายังไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมของ SME คุณนฤมล กล่าวว่า SME ควรเน้นเรื่องคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะบางครั้งกระบวนการผลิตของ SME ยังเป็นแบบพื้นๆ ทั่วไป และการรักษาคุณภาพยังไม่สม่ำเสมอ 

“SME ยังไม่มีการควบคุมคุณภาพสินค้าในการผลิต เราก็จะเห็นสินค้าบางรุ่นที่ดี ผู้บริโภคถูกใจ แต่พอมาอีกรุ่นหนึ่ง ปรากฏว่าไม่ได้มาตรฐาน ตกลงมา ทำให้สินค้าไม่เป็นที่ยอมรับ, SME บางรายพอได้มาตรฐานระดับหนึ่งแล้วก็หยุดนิ่ง แต่บางครั้งเทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ถ้าหยุดอยู่กับที่ ตอนนี้อาจจะขายได้ดี แต่พอไม่มีการพัฒนาต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ตกได้เหมือนกัน 

คุณนฤมล กล่าวและเสริมว่า SME ควรผลิตสินค้าให้ดีสม่ำเสมอโดยตลอดและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่น พัฒนาจาก มผช. ไปสู่ มอก.เอส พัฒนาต่อให้ได้ มอก. และต่อไปถึงมาตรฐานสากล

ในปัจจุบันเทรนด์ของการมาตรฐานให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักการ BCG Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งยกระดับไปสู่ระบบการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาความมั่นคงทางวัตถุดิบและความสมดุลของสิ่งแวดล้อม

คุณนฤมลกล่าวว่า สมอ.ได้กำหนดมาตรฐานเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว โดย SME ควรปรับตัวเรื่องกระบวนการผลิต เน้นกระบวนการนำวัตถุดิบกลับมาเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปริมาณของเสียให้ได้มากที่สุด รวมถึงเรื่อง Green การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“SME อาจหมุนเวียนใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น กล่อง หรือสิ่งของอื่นๆ หรืออย่างน้อยๆ SME ช่วยในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำกระบวนการให้เป็น Green” คุณนฤมลกล่าว

สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สมอ. กำลังดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีปกติใหม่ (New Normal) จำนวน 27 มาตรฐานได้แก่หน้ากากผ้า, เฟซชิลด์, แว่นตานิรภัยใช้ทางการแพทย์, เสื้อกาวน์ผ่าตัด, ตู้ความดันลบ, เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องฆ่าเชื้อด้วยยูวีซี (UVC), เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบอินฟาเรด, หมวกคลุมผมทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ผลิตใช้เป็นแนวทางในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย

ผู้ประกอบการจึงต้องติดตามเทรนด์การมาตรฐานที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาไม่หยุดนิ่งเพื่อสร้างการยอมรับแก่ผู้บริโภคและสังคม

นอกจากคุณภาพมาตรฐานแล้ว คุณนฤมลกล่าวว่า อีกเรื่องสำคัญสำหรับ SME คือเรื่องการตลาดดิจิตอลและโซเซียล มีเดีย โดย SME ควรเรียนรู้เรื่องสื่อดิจิตอล เพื่อทำให้สินค้าและบริการเป็นที่รู้จักและยอมรับ 

สมอ. มีโครงการต่างๆ เพื่อให้ความรู้และพัฒนาผู้ประกอบการทั้ง OTOP, SME เกี่ยวกับสื่อดิจิตอล การตลาด การขายออนไลน์ เป็นต้น 

คุณภาพและมาตรฐานสินค้าบริการ บวกกับการตลาดในยุคดิจิตอล จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการสร้างความสามารถเชิงแข่งขัน

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ https://www.tisi.go.th/ หรือโทร 0-2354-3266 , 0-2202-3304

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ถึงเวลาเอสเอ็มอี รุกตลาดสมุนไพร

หัวข้อ : ถึงเวลาโกยเงิน SME รุกตลาดสมุนไพร
อ่านเพิ่มเติม : www.kasikornbank.com/Herb_Market.pdf

 

สมุนไพรถือเป็นดาวเด่นในแวดวงธุรกิจเพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งในระยะหลังสามารถพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันการผลิตสมุนไพรในไทยส่วนใหญ่เน้นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก โดยมีผู้ผลิตที่สำคัญคือ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และมีสมุนไพรบางส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในประเทศนั้น ๆ และไม่สามารถผลิตในไทยได้ เพื่อนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร)

เมื่อพิจารณาถึงห่วงโซ่การผลิต จะพบว่าผู้ประกอบการไทย จะกระจุกตัวอยู่ในผลิตภัณฑ์ต้นน้ำและกลางน้ำมากที่สุด กล่าวคือ เป็นการผลิตสมุนไพรสด หรือหากเป็นสมุนไพรแปรรูป ก็จะมีนวัตกรรมที่ไม่สูงมาก เช่น บด อัดเม็ด/แคปซูล มูลค่าที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์จึงไม่สูงนัก ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบด้านเงินทุนและเทคโนโลยี จะเน้นทำตลาดผลิตภัณฑ์กลางน้ำขึ้นไป เน้นนวัตกรรมขั้นสูงขึ้นมาอีกระดับ เช่น การผลิตสมุนไพรออร์แกนิคแปรรูป สารสกัดเข้มข้น ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น

ในระยะข้างหน้าธุรกิจสมุนไพรยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ

  • เทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ โดยมองว่าปลอดภัยและมาจากธรรมชาติ
  • นโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสมุนไพร ผ่านแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรปี 2560-2564 (มีสมุนไพรที่เป็นสินค้าเด่น 4 ชนิด คือ ขมิ้นชัน ใบบัวบก ไพล กระชายดำ)
  • การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่ส่งเสริมให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบันมากขึ้น โดยการเพิ่มรายการสมุนไพรเข้าไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

 

สำหรับเทรนด์การบริโภคสมุนไพรในระยะต่อไป คาดการณ์ว่าธุรกิจด้านการแพทย์และความงามจะมีความต้องการสินค้าสมุนไพรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารเสริมและเวชสำอาง นอกจากนี้อีกกลุ่มตลาดศักยภาพที่น่าจับตาก็คือ

  • กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น ที่มีความชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยที่มีเอกลักษณ์พื้นถิ่น
  • ตลาดส่งออกที่มีอัตราการบริโภคสินค้าสมุนไพรสูง เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เป็นต้น

 

โดยผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่

เมื่อวิเคราะห์ถึงกลุ่มสมุนไพรที่ภาครัฐพยายามผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขมิ้นชัน ถูกมองว่าเป็นสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพและมีโอกาสทางการตลาดสูง

  • สามารถนำมาปรับใช้ในธุรกิจอาหาร จากการใช้เป็นเครื่องเทศ
  • นำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา
  • ปัจจุบันสารสกัดจากขมิ้นชันยังถูกขึ้นทะเบียน อย. สามารถใช้แทนยาแผนปัจจุบันในการบรรเทาปวดจากโรคข้อเสื่อมได้อีกด้วย
  • ความต้องการขมิ้นชันในเชิงทางแพทย์จะมีเพิ่มมาขึ้น เพื่อการรักษาและสามารถแข่งขันในตลาดกับยาแผนปัจจุบันได้มากขึ้น
  • สามารถนำมาผลิตในรูปแบบออร์แกนิค น้ำมันหอมระเหยหรือสารสกัดจากขมิ้นชันที่ได้มาตรฐานรับรองด้านความปลอดภัยซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง

แม้ว่าโอกาสทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะมีอยู่มาก แต่ความท้าทายของผู้ประกอบการที่สำคัญคือ ความน่าเชื่อถือของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ในแง่มุมต่าง ๆ

  • การควบคุมการผลิตให้ได้คุณภาพและมาตรฐานเพียงพอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค/ซัพพลายเออร์ (อาทิ การทราบแหล่งที่มา/กระบวนการผลิตที่ตรวจสอบย้อนหลังได้/การร่วมมือกับสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์)
  • การตามให้เท่าทันเทรนด์การบริโภคของตลาด
  • การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค ผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์
  • การสื่อความไปยังผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์และบริโภคสมุนไพรที่ถูกวิธี ปลอดภัยและเห็นผล จะช่วยยกระดับธุรกิจสมุนไพรของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ เพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอีไทยให้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ เพื่อให้องค์กรมีความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืน สามารถเผชิญกับความท้าทายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในองค์กร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก สิ่งที่ผู้ประกอบต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจคือการสร้างมาตรฐานองค์กร และเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจภายใต้ภาวะความไม่แน่นอนให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือสรอ. ก่อตั้งขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2541 เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทในการให้บริการรับรองตามมาตรฐานไอเอสโอ และมาตรฐานระบบอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและคุณภาพของอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถด้านการรับรองของประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ 

“องค์กรของเรามีฐานะเป็นสถาบันอิสระภายใต้อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ โดยการดำเนินงานของเราเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งบทบาทของเราแบ่งออกเป็น 4 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกคือการรับรองมาตรฐานไอเอสโอหรือมาตรฐานระบบอื่น เรื่องที่สองคือการสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพให้ภาคอุตสาหกรรม เรื่องที่สามคือการพัฒนาคนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานไอเอสโอทั้งหมดให้มีความสามารถเทียบเท่ากับสากลและสามารถรองรับตลาดในประเทศไทยและตลาดสากลได้ ข้อนี้เราจึงจำเป็นต้องนำมาตรฐานสากลมาเป็นหลักในการพัฒนาบุคลากรของเรา เรื่องสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากก็คือการสร้างระบบการตรวจสอบรับรองของประเทศให้เกิดความเชื่อมั่นและเทียบเท่ากับระดับสากล นี่คือบทบาทหลักซึ่งเราต้องดำเนินงานโดยต้องไม่แสวงหาผลกำไรเนื่องจากเราทำงานเราอยู่ภายใต้มูลนิธิ” คุณพรรณี อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อธิบายถึงบทบาทของสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอต่อการพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมซึ่งครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมด้านการผลิต การค้า การเกษตร และภาคบริการ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กและรายที่มีขนาดเล็กมากอย่างไมโครเอสเอ็มอี

แม้ว่าข้อได้เปรียบของเอสเอ็มอีไทยคือความหลายหลากที่สามารถรองรับได้ในทุกธุรกิจทำให้สามารถสร้างอาชีพได้จำนวนมากในซัพพลายเชน มีธุรกิจใหม่ๆที่สร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่จุดหนึ่งที่สำคัญและเอสเอ็มอีไทยควรได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมก็คือเรื่องของการบริหารจัดการที่เป็นระบบซึ่งตรงนี้ คุณพรรณี มองว่าคือหน้าที่ของสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ซึ่งต้องเข้าไปช่วยตามพันธกิจขององค์กรในเรื่องของมาตรฐาน คุณภาพ การจัดการ แม้กระทั่งเรื่องของการมองไปข้างหน้าเพื่อให้เอสเอ็มอีไทยสามารถอยู่รอดได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงโอกาสในการพัฒนาการทำการตลาดแบบดิจิทัลซึ่งเข้ามามีบทบาทมากในปัจจุบัน

“ถ้ามองถึงสิ่งที่เอสเอ็มอีไทยต้องให้ความสำคัญก็คือเรื่องของการบริหารจัดการกับเรื่องของคุณภาพเพราะฉะนั้นเรื่องของการรับรองมาตรฐานที่เราทำจะเข้าไปช่วยได้ โดยถ้าเอสเอ็มอีไทยนำเรื่องของมาตรฐานมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับคู่ค้า เช่น หากผู้ประกอบการต้องค้าขายกับทางภาครัฐ หรือผู้ประกอบการต้องการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค แม้กระทั่งการมองเรื่องของสิ่งแวดล้อม ชุมชน เรื่องของมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับแบรนด์ทั้งหมด ยิ่งถ้าต้องการจะอยู่ให้ยาวนานในธุรกิจเรื่องของคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ชุมชน เป็น 3 เรื่องที่ต้องมีควบคู่กัน มาตรฐานจะทำให้ธุรกิจเป็นระบบ และเป็นตัวกำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องการมุ่งเน้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ความปลอดภัย” 

ปัจจุบันสรอ.ให้บริการที่มีคุณภาพเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและองค์กรต่างๆ โดยบริการของสรอ.แบ่งออกเป็น

การรับรอง (Certification) ทำหน้าที่เป็นหน่วยรับรอง หรือ Certification Body ให้บริการด้านการรับรองระบบการบริหารจัดการด้วยความโปร่งใสและมีคุณภาพ มีการพัฒนากระบวนการตรวจประเมิน และการรับรองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาคุณภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติของสากล อาทิ ระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO 9001) ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (TIS/OHSAS 18001,ISO 45001) ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของอาหาร (GMP,HACCP,ISO 22000) ระบบการบริหารความมั่นคงปลอดภัย (ISO 22301,ISO 27001,ISO 28001)

การตรวจและการพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์ต่างๆ (Inspection and Standards development) ให้บริการการตรวจตามมาตรฐาน เกณฑ์ และข้อกำหนดต่างๆตลอดห่วงโซ่แห่งคุณค่า ทั้งในระดับหน่วยงาน ระดับสมาคม ระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศ อาทิ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานตราสัญลักษณ์ Q-Mark มาตรฐานแรงงานไทย (TLS 8001) และให้บริการจัดทำ ทบทวนเกณฑ์และมาตรฐานให้แก่ หน่วยงานและองค์กรต่างๆ

การฝึกอบรม (Training) ให้บริการฝึกอบรมที่หลากหลายสำหรับมาตรฐานระบบ การบริหารจัดการสากล เพื่อรองรับความต้องการในการฝึกอบรมที่แตกต่างกันในแต่ละองค์กรธุรกิจ ด้วยหลักสูตรมาตรฐาน ระบบการบริหารจัดการ หลักสูตรผู้ตรวจประเมิน ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์กรสากล และหลักสูตรเครื่องมือ การบริหารจัดการสมัยใหม่ โดยทีมวิทยากรที่มีความรู้ที่ทันสมัย มีความสามารถในทางปฏิบัติและประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรโดยตรง

การพัฒนาระบบงานด้านการตรวจสอบรับรอง (Conformity Assessment System Development)ให้บริการเป็นพี่เลี้ยงในการจัดทำและพัฒนาระบบงานด้านการตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานสากล

การบริการ ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Service) ให้บริการเป็นพี่เลี้ยง การประเมิน และการฝึกอบรมในการพัฒนาองค์กรระดับประเทศและระดับสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการ ทั้งภาคการผลิต การค้า การบริการ และการเกษตร มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง และนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความได้เปรียบ ในการแข่งขัน อาทิ ความรับผิดชอบต่อสังคม Social Responsibility เศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม Sufficiency Economy for Industries ธรรมาภิบาลองค์กร Corporate Good Governance

การบริการข้อมูลและองค์ความรู้ (Information & Knowledge Service) ให้บริการข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ และการเตือนภัย Business Intelligent ด้านมาตรฐานระบบการบริหารจัดการ ให้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและ การมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ บทความในวารสารออนไลน์ MASCI Innoversity  ด้านต่างๆ อาทิ การมาตรฐาน Standardization การบริหารอนาคต Future Management การบริหารเชิงกลยุทธ์ Strategic Management การบริหารความสามารถ ในการดำเนินการอย่างยั่งยืน Sustainability Management เศรษฐกิจพอเพียง Sufficiency Economy 

ที่ผ่านมาหากมองภาพรวมของมาตรฐานทั่วไปที่ใช้กัน เบื้องต้นเอสเอ็มอีไทยจะเน้นเรื่องของคุณภาพเป็นอันดับแรกเพราะเป็นพื้นฐานของการสร้างความเชื่อมันให้กับสินค้าและบริการ หลังจากนั้นเมื่อผู้ประกอบการเติบโตขึ้นก็จะขยายไปสู่เรื่องของมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและชุมชนเพิ่มขึ้น เรื่องเหล่านี้ทางสรอ.ได้เห็นพัฒนาการของเอสเอ็มอีไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของมาตรฐานต่างๆเพื่อความได้เปรียบเรื่องของการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งโดยหลักแล้วคุณพรรณีอธิบายว่ามาตรฐานที่เอสเอ็มอีไทยควรมีเป็นพื้นฐานก็คือ 

มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 เป็นมาตรฐานสากลที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพ และความมีประสิทธิภาพของการดำเนินงานภายในองค์กร โดยแนวคิดสำคัญของ ISO 9001 คือการจัดวางระบบบริหารงานเพื่อการประกันคุณภาพ ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่ากระบวนการต่างๆ ได้รับการควบคุมและสามารถตรวจสอบได้ โดยผ่านระบบที่ระบุขั้นตอนและวิธีการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรในองค์กรรู้หน้าที่ความรับผิดชอบและขั้นตอนต่างๆ ในการปฏิบัติงาน โดยต้องมีการฝึกอบรมให้ความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน มีการจดบันทึกข้อมูล รวมทั้งการตรวจสอบการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามที่ระบุไว้ในระบบหรือไม่ และมีการแก้ไขข้อผิดพลาดรวมทั้งมีแนวทางในการป้องกันข้อผิดพลาดเดิม

มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 เป็นมาตรฐานสากลสำหรับระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร เพื่อเพิ่มสมรรถนะสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร และเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานสากลฉบับนี้ใช้ได้กับทุกองค์กร ทุกขนาด และทุกประเภท โดยพิจารณาจากประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (environmental aspects) จากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่องค์กรพิจารณาแล้วว่าสามารถควบคุม หรือดำเนินการผลักดันอย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยการพิจารณาทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบริการ ( life cycle perspective) ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับทุกกิจกรรม หรือบางกิจกรรมขององค์กร เพื่อให้เกิดการปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (TIS18001 และ BS OHSAS18001) มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย: มอก.18001 มีเป้าหมายเพื่อลดและควบคุมความเสี่ยงอันตรายของพนักงานและผู้ที่เกี่ยว ข้อง การเพิ่มประสิทธภาพการดำเนินงานของธุรกิจให้เกิดความปลอดภัยและส่งเสริมภาพพจน์ด้านความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อพนักงานและสังคม มาตรฐาน มอก. 18001 และ BS OHSAS 18001 กำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดระบบการตรวจประเมินและการรับรองความสอดคล้องของระบบการจัดการ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

อย่างไรตามมาตรฐานอื่นๆที่ไม่ได้กล่าวถึงก็มีความสำคัญไม่ต่างกันขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการว่าต้องการให้องค์กรเดินไปในทิศทางไหนและประสบความสำเร็จอย่างไร

“เรามองว่าความสำเร็จของผู้ประกอบการในวันนี้อยู่ที่ต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจน มองเห็นว่าองค์กรของตนกำลังจะเดินไปในทิศทางใดเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนการเข้าไปช่วยเหลือ เสริมประสิทธิภาพและศักยภาพตามบทบาทของเราก็จะเข้าไปได้อย่างตรงความต้องการและทำให้ผู้ประกอบการบรรลุตามเป้าหมายได้”

ยุคที่ความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นในโลกธุรกิจได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือแม้กระทั่งเกิดจากวิกฤตโรคระบาดอย่างโควิด-19 ทำให้ความท้าทายของเอสเอ็มอีไทยในวันนี้อยู่ที่ความสามารถในการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ช่วงโควิด-19 ปัญหาของเอสเอ็มอีไทยที่สำคัญคือเรื่องของสภาพคล่องทางการเงิน เรื่องที่สองคือเรื่องของการปรับตัว หลายธุรกิจอาจจะไม่ได้มีแผนรองรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวมากก่อน นอกจากนี้ความท้าทายของผู้ประกอบการยุคนี้คือการต้องวิเคราะห์ตัวเองให้ได้ว่าสินค้าและบริการของเราเป็นเป็นกลุ่มไหน ต้องการขายให้กับใคร เป็นที่สนใจของตลาดหรือไม่ สินค้าหรือบริการที่ทำสู้คู่แข่งได้ไหม หากเกิดความผิดพลาดขึ้นจะมีแผนสอง แผนสามในการจัดการอย่างไร

และเนื่องจากยุคนี้เป็นยุคดิจิทัล เรื่องของเทคโนโลยีจึงเป็นความท้าทายซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อสอดรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น สำคัญที่สุดคือเรื่องของมาตรฐานต่างๆซึ่งจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคน่าจะเปลี่ยนมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มซึ่ง การที่ลูกค้าไม่ได้เห็นสินค้าก่อนซื้อทำให้มาตรฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับสินค้าและบริการ”

การมีมาตรฐานไอเอสโอ และมาตรฐานระบบอื่นๆ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ ยิ่งยุคต่อจากนี้สินค้าและบริการที่มีมาตรฐานการันตีจะยิ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด และถือเป็นใบเบิกทางให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกสินค้าของเรา รวมถึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่แบรนด์เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ เชื่อใจอีกด้วย

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.masci.or.th/

หรือโทร 0-2617-1727-36

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

เริ่มต้นดี ต้องมีแผนกับ 6 สิ่งควรทำก่อนเริ่มธุรกิจ

หัวข้อ : 6 Step สร้างภูมิคุ้มกันความล้มเหลวในช่วงเริ่มต้นกิจการ
อ่านเพิ่มเติม : www.bangkokbanksme.com/en/step-immunity-to-failure-start-business

 

การเริ่มต้นทำธุรกิจโดยไม่มีแผนการรองรับ ขาดการคิดวิเคราะห์ ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน จะทำให้ต้องเผชิญความเสี่ยงหลายรูปแบบ และอาจไปไม่ถึงเป้าหมายที่วาดฝันไว้ ดังนั้นเราจึงมีคำแนะนำสำหรับคนเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัว ด้วยขั้นตอนที่ถอดแบบมาจากการดำเนินธุรกิจของผู้ที่ประสบความสำเร็จ ด้วยทุนที่ไม่ได้มีมากจนปัจจุบันมีมูลค่าความสำเร็จเป็นตัวเลขหลักร้อยล้านไปแล้ว ด้วยการเริ่มต้นทำธุรกิจ จาก 6 ขั้นตอน คือ

 

1. มีความพร้อมในสิ่งที่จะทำ

- จะขายอะไร ให้ใคร รูปแบบสินค้าบริการเป็นแบบไหน งบประมาณเท่าไหร่ มีการดำเนินการอย่างไร ที่ทางทำเล ร้านค้า การตกแต่ง แพ็คเกจจิ้ง ฯลฯ ต้องคิดออกแบบวางแผนให้ครบก่อนถึงจะเริ่มต้นเปิดกิจการได้

- ต้องมีการจัดสรรงบประมาณของเรื่องต่าง ๆ ให้สมดุลและมีขอบเขต ก่อนจะเปิดให้บริการ

- หากยังไม่มีความพร้อมในเรื่องของรูปแบบการดำเนินการ ยังไม่ควรเร่งเปิดกิจการ เพราะอาจจะทำให้เกิดภาพจำในด้านที่ไม่พึงปรารถนาได้

- หากยังไม่พร้อมในเรื่องจำเป็นพื้นฐานที่ต้องมี อาจทำให้ธุรกิจสะดุดกลางคัน จากการที่ต้องบริหารเงินทุนที่ได้รับมาแล้วลงทุนหมุนเวียนต่อไป สุดท้ายจะไปสะดุดกับผลกำไรที่หายไปกับเงินที่ลงทุนไม่จบสิ้น

 

2. แบรนด์ชวนจำ ทำตลาดง่าย

- การจะตั้งชื่อแบรนด์หรือชื่อเรียกกิจการร้านค้า ควรสื่อความหมายถึงในสิ่งที่กำลังทำ

- การเล่นคำให้เกิดการจำง่าย เช่น เครปป้าเฉื่อย, ปังเว้ย...เฮ้ย, ตำสะท้านครก ฯลฯ ชื่อแปลกแหวกแนวแบบมีเอกลักษณ์ จะไปสะดุดทำให้คนจำได้ง่ายกว่าคำสามัญทั่วไปที่ใครๆ ใช้กัน

- หากสินค้าบริการปังติดตลาดขึ้นมา ชื่อที่ติดหูก็จะช่วยกระพือให้บินสูงได้ง่ายขึ้นไปด้วย

 

3. สินค้าและบริการโดดเด่นราคาเหมาะสม

เช่น ยำใหญ่ใส่กุ้งไซส์ยักษ์ สด ใหม่, ปังไส้ทะลักบริการขนส่งรวดเร็วภายใน 24 ชม., กาแฟสด No Fat, ขนมปังปิ้งเตาถ่าน (ทำให้หอม หวาน รอนานไปอีก) ล้วนเป็นการสร้างสินค้าให้โดดเด่น ด้วยลูกเล่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่กลายเป็นจุดขาย ทำให้สินค้าติดตลาดง่าย ชวนจำ ด้วยราคาที่เหมาะสม จะทำตลาดได้ง่ายกว่า

 

4. มีความเชื่อมั่น มุ่งมั่น และมั่นใจในสิ่งที่ทำ

หัวใจของความสำเร็จในการเริ่มต้นกิจการ ต้องเชื่อมั่นก่อนว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นเรื่องที่ดี ทั้งต่อตัวเอง ต่อลูกค้าและสังคม และมุ่งมั่นเดินหน้าทุ่มพลังเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคอะไรขึ้นก็ไม่ล้มเลิก

  • หากยังไม่มั่นใจต้องรู้จักพัฒนา อะไรที่ไม่รู้ต้องถามผู้รู้ อะไรที่ไม่เก่งต้องรู้จักฝึกฝน อะไรที่ไม่ถนัดต้องหาผู้ช่วย
  • ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ทำนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จตามภาพที่อยู่ในหัวที่ชัดเจน เพราะคนที่ทำสำเร็จส่วนใหญ่มักเชื่อมั่นในตัวเองและมั่นใจว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีแน่นอน

 

5. วางที่ตั้งบนทำเลเหมาะสม

ทำเลเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะประเภทร้านค้าจำเป็นต้องมีที่ตั้งที่เหมาะสมกับธุรกิจที่ทำ ควรเลือกทำเลที่จะทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย มองเห็นชัด และวางพิกัดให้สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ เช่น

อาจวางร้านสาขาในโซนถนนเส้นเดียวกันไว้ 2-3 ร้าน โดยเว้นช่วงห่างตามสมควร เพื่อให้คนที่ผ่านไปมาสามารถมองเห็นได้ง่ายจนติดตา เพราะการที่เขาไม่รู้จักย่อมเกิดความลังเลเมื่อแรกเห็น หากขับรถผ่านไปสักพักเกิดสนใจก็มีสาขาข้างหน้าคอยดักทางอยู่ โดยที่ไม่ต้องวนรถกลับมา เป็นการทำตลาดที่ให้ผลดี อีกทั้งยังช่วยการันตีด้วยว่า สินค้าและบริการนี้ดีเพราะมีหลายสาขา

 

6. สร้างจุดแข็ง ด้วยจุดอ่อนของคู่แข่ง

การศึกษาคู่แข่งที่มีอยู่ก่อนหน้าในตลาดจะทำให้เห็นถึงจุดอ่อนที่มี และนำมาปรับใช้ในธุรกิจของคุณเองได้

  • สามารถนำมาพัฒนาเป็นจุดแข็งให้กับสินค้าหรือบริการของตัวเอง
  • ในวิกฤติสถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น เช่น ต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นแต่ยังคงให้บริการได้ในราคาเท่าเดิม ไม่ปรับปรุงเพิ่มเติมราคา ทำให้แบรนด์หรือสินค้ามีจุดแข็งที่สามารถเอาชนะคู่แข่งและครองใจผู้บริโภคในท้องตลาดได้

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

10 พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้าชอปปิงออนไลน์

หัวข้อ : 10 พฤติกรรมออนไลน์ของผู้บริโภคช่วงโควิด 19
อ่านเพิ่มเติม : www.bangkokbanksme.com/en/consumer-behavior-covid-19

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนไปในหลายด้านอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมในการใช้จ่ายการค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส ตลอดจนโซเชียล คอมเมิร์ซ เป็นโจทย์ที่ท้าทายทุกธุรกิจให้รีบศึกษาและปรับธุรกิจให้ก้าวทันตามกระแสที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วย 10 พฤติกรรมการใช้จ่ายในปัจจุบัน ดังนี้

 

1. คนนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าหน้าร้าน

เรื่องนี้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องก่อนจะมีการแพร่ระราดของโควิด หากแต่ก่อนหน้ามีการคาดการณ์ว่าจะเป็นการซื้อขายในรูปแบบการให้บริการครบวงจร แต่เมื่อสถานการณ์ของโรคเริ่มลุกลามบานปลาย ทำให้พฤติกรรมผู้คนเข้าสู่ตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดการซื้อขายออนไลน์ได้ทุกสิ่ง จนทำให้หน้าร้านเงียบเหงา ยอดขายไม่เดิน

  • มีรายงานว่าการชอปปิงสินค้าออนไลน์ได้กลายเป็นพฤติกรรมปกติ
  • ในประเทศไทยพบว่า 35% ของคนไทยนิยมสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มทางระบบออนไลน์
  • ตลาดสินค้าออนไลน์ขยายตัวเพิ่มมากถึง 80%

 

2. คนซื้อของใช้เข้าบ้านอายุน้อยลง

ปัจจุบันพบว่าหน้าที่การซื้อของเข้าบ้านเป็นของคนที่มีอายุน้อยลง โดยคนที่ทำหน้าที่จ่ายตลาดซื้อสินค้าเข้าบ้านนับตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นมา มีอายุน้อยกว่า 25 ปีมากถึง 75% ซึ่งมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของใช้ให้เพียงตัวเองเป็นการซื้อให้คนทั้งครอบครัว

 

3. คนสั่งซื้อของผ่านไลฟ์มากขึ้น

การไลฟ์ขายของยังเป็นกลยุทธ์การขายที่ใช้ได้ผลดี จากพฤติกรรมการหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น

  • การซื้อของผ่านไลฟ์นั้นทำให้สามารถตอบโต้สอบ-ถามข้อมูลได้โดยตรงและได้รับคำตอบในทันที
  • สามารถเห็นคุณสมบัติหรือคุณประโยชน์ของสินค้าได้ครบมิติ เสมือนมีคนมารีวิวไปพร้อมกับการเสนอขาย
  • มีการจัดส่งให้ถึงบ้านด้วยจึงสะดวกสบาย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

4. ลูกค้าต้องการความพิเศษเฉพาะตัว

ลิมิตเต็ด อีดิชั่น (Limited Edition) ยังเป็นรูปแบบการทำตลาดที่ให้ผลดีเสมอ ในการสร้างความแตกต่างในระดับพรีเมียม ที่สามารถนำมาปรับใช้รับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มองหาสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการส่วนตัว

  • สินค้าที่ตอบโจทย์ใช้งานได้ตรงจุด แก้ปัญหาในแบบที่ตัวเองเจอได้ด้วยคุณภาพ ราคาของสินค้าและบริการที่สมเหตุผล
  • สินค้าที่เปิดโอกาสให้ลูกค้ากำหนดหรือปรับคุณลักษณะผลิตภัณฑ์ได้ มียอดขายดีขึ้น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่ลูกค้าสามารถเลือกสเป็คได้มียอดขายเพิ่มขึ้น 141

 

5. มีการลงทุนเพื่อสร้างบรรยากาศบ้านให้น่าอยู่

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้มีการหันมาชีวิตติดบ้านกันมากขึ้นและไม่ปล่อยให้บ้านแค่ที่พักสำหรับการนอนยามค่ำคืนเพียงอย่างเดียว บ้านจึงกลายเป็นทั้งที่ทำงานและการพักผ่อนที่คนหันมาให้ความสำคัญในการจัดระเบียบ ตกแต่งบรรยากาศภายในบ้านให้น่าอยู่อาศัยและเป็นได้ทุกมิติของครอบครัวมากขึ้น โดยสามารถดูได้จากยอดขายสินค้าตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์เกี่ยวกับที่พักอาศัยที่เติบโตขึ้น

 

6. สินค้าที่สนับสนุนการใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ขายดี

ชีวิตแบบปกติใหม่ (New Normal) ไม่ได้มาพร้อมกับความนิยมในการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ หรืออุปกรณ์สนับสนุนการทำงานที่บ้านเพียงเท่านั้น แต่มาพร้อมกับการปรับใช้ชีวิตให้มีความสมดุล มีการหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและการออกกำลังกายกันมากขึ้น

 

7. ลูกค้าต้องการสินค้าที่มูลค่าไม่ด้อยลงนัก

ของถูกหรือสินค้าราคาต่ำกลับไม่ใช่ทางเลือกที่ผู้บริโภคยุคนี้จะให้การตอบรับดีเสมอไป สิของดี ราคาไม่แรง ราคาสามารถเข้าถึงได้ ภายใต้คุณภาพที่คาดหวังได้ว่าจะดีในระดับหนึ่งกลับกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนให้การตอบรับดี คุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้ ความคุมค่าในการใช้งานไป จนถึงการให้ผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการได้ครอบครองหรือขายต่อในตลาดได้ในส่วนของสินค้าที่มีราคา เช่น เครื่องประดับ ทองคำ รถยนต์

 

8. ต้องได้อะไรทันใจ แค่ปลายนิ้ว

พฤติกรรมนี้อาจเป็นความเคยชินของการใช้ชีวิตท่ามกลางกระแสเทคโนโลยี และการใช้ชีวิตที่ต้องแข่งกับเวลา ทำให้ผู้คนยุคนี้มีความอดทนต่อการรอคอยอะไรที่ใช้เวลาไปอย่างสิ้นเปลืองได้น้อยลง

 

9. สินค้าให้พลังบวกกระตุ้นความต้องการซื้อได้มากกว่า

การเสพพลังบวกทำให้คนเข้าถึงคุณค่าของการมีตัวตนอยู่บนโลกนี้ได้

  • อาจให้พลังในแง่ของการรักษ์โลก กู้ชีพ ช่วยเพื่อนมนุษย์
  • การเสริมสร้างกำลังใจ ดึงความปรารถนาเข้าสู่ตัว

เห็นได้จากสินค้าด้านความเชื่อหรือออกแนววัตถุมงคล ได้รับการตอบรับดีเป็นกระแสฮิตที่เข้าถึงคนทุกวงการได้ภายในเวลาไม่นาน ท่ามกลางโลกเทคโนโลยี

 

10. เท่าเทียมไม่เหลื่อมล้ำได้ใจกว่า

ในยุคที่โลกและสังคมเปิดกว้างให้กับรสนิยมทางเพศ หรือค่านิยมทางเพศที่มีมากกว่าแค่หญิงชาย จนกลายเป็นพฤติกรรมความเคยชินอย่างเป็นธรรมชาติที่จะเห็นผู้ชายเดินจับมือกับผู้ชาย หรือผู้หญิงควงกับผู้หญิง การให้คุณค่าของการมีตัวตนในเพศอันหลากหลาย หรือไม่ระบุชัดในเพศใดเพศหนึ่งในสินค้าหรือบริการ มีแนวโน้มที่จะได้รับการตอบรับอันดีจากผู้บริโภคในยุคนี้

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ