จากสวนสยาม สู่ Siam Park เคล็ดลับการส่งไม้ต่อธุรกิจครอบครัว

ถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 40 ปีพอดีสำหรับการเปิดให้บริการในประเทศไทยของ “สวนสยาม” สวนน้ำและสวนสนุกแห่งแรกของประเทศที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ช่วงเวลานี้ถือเป็นจังหวะความเคลื่อนไหวที่สำคัญของสวนสยาม เพราะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ถึง 2 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก คือการเข้ามารับช่วงต่อของทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูล “เหลืองอมรเลิศ”

เรื่องที่ 2  คือการ Re-Branding ครั้งใหญ่จาก “สวนสยาม” เป็น “Siam Amazing Park”

ถือเป็นโอกาสอันดีที่ SME ONE มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณนพกาญจน์ เหลืองอมรเลิศ หรือคุณหญิง ที่เข้ามารับตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ บจก.สยามพาร์คบางกอก เพื่อรับรู้รายละเอียดถึงเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้

ต้องบอกว่าตลอด 1 ชั่วโมงของการสนทนา เคล็ดลับและการบริหารงานของทายาทรุ่นที่ 2 นี้มีอะไรที่น่าติดตามจริงๆ

ไปที่ ประวัติความเป็นมาของธุรกิจสวนสยาม

ไปที่ ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

ไปที่ แนวคิดของ Bangkok World

ไปที่ ความเป็น Entrepreneurship

 

ประวัติความเป็นมาของธุรกิจสวนสยาม

SME ONE : สวนสยามเปิดให้บริการมาแล้วกี่ปี ตลอดระยะเวลาที่เปิดกิจการมามีจุดเปลี่ยนอะไรที่สำคัญบ้าง

คุณนพกาญจน์ : ขึ้นปีที่ 40 พอดี เราเปิดให้บริการวันที่ 29 พฤศจิกายน 2523 แต่ว่าใช้เวลาเตรียมตัวก่อนหน้านั้น 2-3 ปี สวนสยามเป็นทั้งสวนน้ำและสวนสนุก ก่อตั้งโดยคุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ท่านประสบความสำเร็จมาจากการที่เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก่อนที่จะมาทำโครงการนี้ คุณไชยวัฒน์ทำโครงการหมู่บ้านมาแล้วประมาณ 30-40 โครงการเรียกว่าเป็นยุคบุกเบิกของประเทศไทยที่ทำระบบธุรกิจบ้านจัดสรร 

สำหรับสวนสยามเกิดจากความตั้งใจหลังจากที่คุณไชยวัฒน์ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ แล้วเห็นว่าทำไมประเทศญี่ปุ่นที่เป็นเกาะแต่สามารถมีสวนน้ำมากมาย และมีโอกาสได้ไปดิสนีย์แลนด์ก็อยากจะเห็นประเทศไทยมีสวนสนุกขนาดใหญ่ เมื่อกลับมาจึงมีความคิดที่จะทำสวนน้ำและสวนสนุกที่เป็นแหล่งพักผ่อนของคนในเมือง และให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่คู่กับคนไทยในราคาที่คนไทยรับได้

คุณไชยวัฒน์เคยกล่าวว่า ธุรกิจนี้คนที่คิดจะทำมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน คนแรก คือรัฐบาลที่ทำให้กับประชาชน คนที่สองต้องเป็นมหาเศรษฐีที่รวยจนไม่ต้องไปคิดแล้วว่าเงินจะเอาต่อยอดยังไง คนที่สาม คือคนบ้า ซึ่งท่านก็บอกว่าท่านก็ไม่ใช่รัฐบาล เศรษฐีก็อาจจะยังไม่ถึงขั้นนั้น ก็คงต้องเป็นคนประเภทสามที่ทำธุรกิจนี้ เพราะมันเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูงมาก ในขณะที่ระยะเวลากว่าจะคืนทุนยาวนานมาก เรียกได้ว่าเอาไปฝากธนาคารอาจจะรวยกว่านี้ แต่มันก็มีเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้ธุรกิจนี้อยู่ได้จนถึง ณ วันนี้ แล้วก็ยังมีผู้ที่สนใจที่กระโจนเข้ามาในธุรกิจนี้อยู่เรื่อย ๆ สวนสนุกอาจจะไม่เยอะเพราะใช้เงินลงทุนสูงมาก แต่จะเห็นว่ามีสวนน้ำเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีหลัง ไม่ว่าจะเป็นหัวเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ ซึ่งอาจจะอยู่ใกล้ชายแดนบ้าง หรือว่าเป็นแหล่งที่คนไทยเองนิยมไปท่องเที่ยว

ถ้ามองจากภายนอกธุรกิจนี้เหมือนกับเป็นธุรกิจที่ลงทุนครั้งเดียวแล้วคุณเก็บเกี่ยว แล้วคุณได้ประโยชน์จากการที่พัฒนาที่ดินให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น แต่เราก็จะได้เห็นว่าในช่วงที่วิกฤตนี้มันก็ได้พิสูจน์ว่าธุรกิจนี้ก็ไม่ได้ง่าย ต้องอาศัยสายป่านที่ยาว แล้วก็ต้องอาศัยความอดทนจริง ๆ ถึงจะสามารถประคองธุรกิจนี้ไปได้ ที่สำคัญคือต้องทุ่มเทกับมันมาก ๆ 



ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

SME ONE : ช่วงแรก ๆ กับปัจจุบัน พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปขนาดไหน

คุณนพกาญจน์ : เปลี่ยนไปมาก คือช่วงแรก ๆ คนไทยตื่นเต้นว่าเรามีทะเลกรุงเทพ คุณไชยวัฒน์เล่าว่า ณ วันนั้นแม้จะบอกให้คนไม่ลงไปตีโป่งในน้ำวนก็ทำความเข้าใจกับคนมาเที่ยวยาก เพราะว่าเขาเคยชินกับการเล่นน้ำแบบนั้น ถามว่าทำไมถึงต้องใส่ชุดว่ายน้ำ เพราะว่าเล่นน้ำแถวบ้านไม่เห็นต้องใส่เลย แต่มันเป็นเรื่องของ Hygienic เรื่องป้องกันเชื้อโรค ความปลอดภัย ความสะอาด รวมถึงความสะดวกในการที่จะกู้ภัยคุณขึ้นมาด้วย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกคนต้องใส่ชุดว่ายน้ำ พอมาระยะหนึ่ง เริ่มมีสไลเดอร์ ทีนี้ก็แตกตื่นเลยเพราะว่าคนไทยไม่รู้จักสไลเดอร์ รู้จักแต่ไม้ลื่น แล้วสไลเดอร์มันสูงมาก ตอนนั้นสูงเป็น Guinness World Records ก็ต้องสอนคนมาเที่ยวว่าเล่นอย่างไรถึงจะปลอดภัย ทำไมถึงต้องตั้งกฎกติกา

  แต่เมื่อเวลาผ่านไป มุมมองคนก็มีเปลี่ยนแปลงไป ส่วนหนึ่งอาจจะได้มาสัมผัสแล้วทั้งสวนสยาม, ดรีมเวิลด์ สวนน้ำต่าง ๆ รวมถึงได้ไปใช้บริการต่างประเทศ ฮ่องกงดิสนีย์แลนด์, Universal Studio สิงคโปร์ คนไทยมีโอกาสได้ไปเห็นสวนสนุกระดับโลกมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มี Player เข้ามาในตลาดเยอะ เพราะฉะนั้นความคาดหวังในสินค้าและบริการจึงสูงขึ้น ประกอบกับสื่อดิจิทัลที่รวดเร็วมาก Comment ของลูกค้าจะเข้ามาเยอะมาก แล้วลูกค้าก็คาดหวังการตอบรับด้วยว่าคุณต้องฟังเรา ในขณะที่เราที่เป็นผู้ประกอบการ เราตั้งใจฟังอยู่แล้ว เราขายสวนสนุก ธุรกิจแบบนี้ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ที่คุณซื้อ เช่น ซื้อผงซักฟอกแล้วซักได้สะอาด หรือมีกลิ่นหอมเหมือนที่โฆษณาไหม ซึ่งค่อนข้างที่จะเป็นรูปธรรม แต่สวนสยามเรา Commit ว่าคุณจะมีความสุข คุณจะหัวเราะ คุณจะได้มีประสบการณ์ดี ๆ กลับไป สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ Subjective มาก ๆ  แล้วก็เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เพราะคุณจะมีความสุขไหมต้องเทียบกับความคาดหวังของคุณว่า คุณคาดหวังว่าคุณจะได้มาเจออะไร แล้วคุณได้รับอะไรกลับไป การที่มีเครื่องเล่นใหม่ ๆ อย่างเดียว ไม่เพียงพอ 

เรารู้ว่าทุกคนที่มาสวนสนุกจะมาเพราะเป็นวันพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ตัดสินใจก้าวมาที่นี่ การที่คุณจะเตรียมตัวเข้ามาสวนสนุก คุณไม่ใช่แค่เช้าวันนี้เราไปสวนสยามกันเถอะ แต่คุณต้องนัดเพื่อนนัดลูก เตรียมตัว เตรียมเสื้อผ้า เตรียมความพร้อมทุกอย่าง เพราะฉะนั้นแปลว่าคุณเตรียมตัวก่อนหน้าอย่างน้อย ๆ 3-4 วัน เฉลี่ยแล้วคือ 2 อาทิตย์ก่อนที่จะตัดสินใจถึงวันเดินทาง นั่นแปลว่าคุณมาด้วยความคาดหวัง วันนี้ออกจากบ้านจะมาเจอความสนุกสนาน เราต้องการให้คุณกลับบ้านไปด้วยความสุขที่มากกว่าตอนที่คุณก้าวเข้ามา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก 

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเราฟังจากลูกค้า เพราะว่าเราคิดเสมอว่า ถ้าเขามาถึงแล้วเขาไม่ชอบ เขาไม่เสียเวลามาต่อว่าเราหรอก คนที่เสียเวลามานั่งอยู่หน้าคอมหรือ Login ไม่ว่าจะสื่ออะไรก็ตามแล้วบอกเรา หมายถึงถ้าเราไม่ได้แย่จริง ๆ เขาต้องการเห็นเราพัฒนา เราก็เอาสิ่งเหล่านี้กลับมาพัฒนา ซึ่งเราทำกันเป็นระบบ ทุกอย่างจะเข้ามาที่ Center แล้วก็จะถูกแจกจ่าย แล้วก็มีการตามผล ว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง แต่ก็ต้องบอกว่าลูกค้าสมัยนี้ก็ไม่เหมือนลูกค้าสมัยก่อน บางสิ่งซึ่งลูกค้าบางคนโอเค ลูกค้าคนนี้อาจจะไม่โอเคก็ได้ ซึ่งสวนสยามเรามีนโยบายอยู่แล้ว เรามี Standard อย่างน้อยที่สุดเราต้องทำให้ได้เท่านี้

SME ONE : สิ่งที่พูดมาทั้งหมด คือ Brand Experience ใช่หรือไม่

คุณนพกาญจน์ : ใช่ ก่อนหน้านี้เราอธิบายด้วยสโลแกนสั้น ๆ ว่า โลกแห่งความสุข สนุกไม่รู้ลืม ทีนี้คำว่าไม่รู้ลืม คืออะไร ก็จับต้องยาก และอย่างที่บอกว่าโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้นวันนี้เราผ่านมา 40 ปี เมื่อเข้าสู่ปีที่ 39 เราตัดสินใจที่จะ Re-Branding อีกครั้ง จากเดิมชื่อ Siam Park City สวนสยาม ทะเลกรุงเทพ ทำให้หลายคนคาดหวังแต่สวนน้ำ เชื่อไหมว่าวันที่เราตัดสินใจเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ว่าจะเอาเครื่องเล่นตัวใหญ่ๆ มาลง พอโฆษณาครั้งแรก ลูกค้าไม่เชื่อว่า คือสวนสยาม เพราะว่าภาพจำ ณ วันนั้น เราคือ ทะเลกรุงเทพ และเราแข็งแรงมากในแง่ความเป็นสวนน้ำ แต่ภาพของสวนสนุกคนไม่ได้อยู่ใน Mindset เลย บางคนคิดไปถึงอีกสถานที่ก็ยังมี

ประเด็นที่สำคัญ คือไม่ใช่แค่ไม่คาดคิด แต่ไม่มั่นใจว่าเราจะสามารถดูแลเครื่องเล่นระดับนี้ได้ เพราะ Expertise เรา ไม่ใช่สวนสนุก เราก็ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ประสบการณ์ที่เรามี ความพร้อมของเรา เราสามารถจัดการ เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าสู่ปีที่ 39 คุณไชยวัฒน์ก็คุยกับทีมงานระดับสูงว่า การทำธุรกิจเมื่อ 40 ปีที่แล้ว นักธุรกิจคนนึงที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องทุ่มทั้งตัว เพราะฉะนั้นภาพลักษณ์ของธุรกิจก็จะสะท้อนความเป็นตัวตนของคนนั้น ชื่อของสวนสยามจึงผูกกับคุณไชยวัฒน์อย่างแน่นมาก ทุกวันนี้คนสมัยใหม่ไม่ได้จำแล้วว่าคุณไชยวัฒน์เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ชื่อไชยวัฒน์ คือสวนสยาม คุณไชยวัฒน์เมื่อ 40 ปีที่แล้วอายุ 40 กำลังเป็นคนไฟแรง ประสบความสำเร็จ ภาพลักษณ์สวนสยามก็เป็นแบบนั้น ไชยวัฒน์จะขึ้นจะลงยังไง มันก็คือสวนสยามที่สะท้อนออกมาแบบนั้น 

แต่ ณ วันนี้ คุณไชยวัฒน์อายุ 80 ปีแล้ว ท่านบอกว่า เราจะให้สวนสยามอายุ 80 หรอ แล้วถ้าวันนึงถ้าไชยวัฒน์ไม่ได้ทำแล้วแล้ว สวนสยามจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นจึงเป็นโจทย์ที่คุยกันเยอะ สวนสยามอยู่ในใจของคนทุกคนเลย เพราะฉะนั้น Brand Value จึงมีรายละเอียดมาก แต่ถามว่าคนคิดถึงในแง่แบบไหน  Value ของแบรนด์คืออะไร Identity ของแบรนด์คืออะไร  ในเมื่อเราตั้งใจที่จะพัฒนาให้เป็น Park ซึ่งต้องมีชีวิตซึ่งสดใส เรามั่นใจว่าสิ่งที่เรามีนั้นมีคุณค่าแต่จะทำยังไงให้สื่อออกไปได้ ก็เลยเห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้อง Re-Branding  ชื่อที่เราใช้ก็คือ Siam Amazing Park คือมีความเป็นสยาม เพราะว่าเราเป็นสวนที่ต้องการให้อยู่คู่กับคนไทยและ Deliver ความ Amazing แต่จะ Amazing แบบไหนก็ต้องมาคุยกัน Amazing ในแง่ของเครื่องเล่น ในแง่ของสวนน้ำ ในแง่ของบริการ ในแง่ของ Experience ที่ลูกค้าจะได้ 

 

SME ONE : การ Re-Branding ครั้งนี้ต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง

คุณนพกาญจน์ : เรามีโครงการใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นชื่อว่า Bangkok World  ซึ่งจะเข้ามาเป็นหนี่งในส่วนสำคัญของ Siam Amazing Park จะเสริมความ Amazing ขึ้นไป ใน Part ของสวนน้ำ-สวนสนุก เราจำกัดความว่าเป็นความ Amazing ของฝั่งโลกตะวันตกคือความทันสมัย สีสัน สนุกสนาน รวมถึงอาจจะเป็น Edutainment ที่เข้ามา แต่ใน Part ของ Bangkok World จะเป็นความ Amazing ของฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะตะวันออกที่เป็นบางกอกของเราในสมัยก่อน เราย้อนกลับไปในสมัยที่เมืองบางกอกสวยงามที่สุด ก็คือสมัยรัชกาลที่ 5 ที่รุ่งเรืองทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปะ วัฒนธรรม ผู้คน ประเพณีต่าง ๆ เราจะจำลองสิ่งเหล่านั้นมาไว้ที่นี่ ทำให้ที่แห่งนี้มีชีวิตขึ้นมา ตึกเก่า ๆ ซึ่งวันนี้คนไม่ได้รู้จักแล้ว ตึกเฉลิมไทยหน้าตาเป็นอย่างไร ทำไมมันถึงโด่งดังมากในสมัยนั้น ตึกอาคารประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ หรือประตูสามยอดเป็นอย่างไร  สะพานหันสมัยก่อนเป็นอย่างไร ทำไมถึงกลายเป็น Landmark ที่ทุกคนรู้จักเราจะย้อนเอากลับมา

ตึกเหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่อาคารเฉย ๆ เราจะรวบรวมสินค้าวิสาหกิจชุมชนจากทั่วประเทศ เข้ามาอยู่ในตึกทั้งหลายเหล่านี้ด้วย Bangkok World  มีทั้งหมด 13 อาคาร แต่ละอาคารจะเป็น Concept ของ Market Place หนึ่งอาคารก็เป็นหนึ่ง Market Place เช่น Bangkok Organic Market ใช้ตึกกรมประชาสัมพันธ์เป็นอาคารที่ขายของ Organic ทั้งหลัง ชั้นล่างอาจจะเป็น Supermarket Organic ชั้น 2 อาจจะเป็นพวกร้านขายผลไม้ ผัก หรือสินค้า Cosmetic ความงามอะไรแบบนี้  ชั้น 3 อาจจะเป็นเรื่องบริการสุขภาพและความงาม Concept แต่ละตึกจะชัดเจน อีกตึกหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องอาหาร ไม่ใช่อาหารที่เห็นตามห้างสรรพสินค้าแต่จะเป็นอาหารที่มาจากย่านต่าง ๆ ทุกวันนี้อยากกินบะหมี่ ทำไมต้องไปที่สะพานเหลือง เราก็ยกสิ่งเหล่านั้นมาอยู่ที่นี่ อยากจะกินเป็ดพะโล้ ก็เป็ดพะโล้เจ้าดัง ภัตตาคารซึ่งอาจจะไม่ต้องไปถึงเยาวราชก็จะมีอยู่ที่นี่ เรารวบรวมสิ่งเหล่านี้เอาเข้ามาให้มันเป็น Concept ที่แข็งแรงขึ้น แล้วก็ประกอบร่วมกันเข้ามาเป็น Siam Amazing Park และพื้นที่ส่วนนี้จะไม่เสียค่าเข้า


แนวคิดของ Bangkok World



SME ONE : แนวคิดของ Bangkok World ค่อนข้างจะเปิดกว้างเพื่อต้อนรับทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มทัวร์ด้วย

คุณนพกาญจน์ : Bangkok World  เป็นสถานที่สำหรับทุกคน เราไม่ได้มองว่า Target เราเป็นแค่ตลาดทัวร์ ไม่ได้มองแค่มาที่นี่แล้วเป็น Last Stop อย่างเดียว ถ้าคุณมาที่นี่คุณใช้เวลาได้ทั้งวัน เรามีตัวเลือกให้เยอะมาก ถ้าเป็น Operator Tour ก็สามารถเลือกได้ว่าจะมาเที่ยวสวนน้ำ-สวนสนุกในภาคกลางวัน และทานข้าวเย็น Shopping ก่อนจะกลับก็ได้ หรือว่าจะมาเที่ยวแต่สวนน้ำ-สวนสนุกและไปที่อื่นต่อก็ได้ หรือจะมา Shopping อย่างเดียว ซื้อของกินข้าวแล้วไปสนามบิน ก็ได้ คือมีความหลากหลาย เพราะ Bangkok World จะเปิดถึง 4 ทุ่ม เรามองว่ามี Flight ดึก ๆ เยอะ แล้วก็นักท่องเที่ยวต้องออกจากโรงแรม ตั้งแต่เช้า คือ กลุ่มทัวร์ไม่มีใครออกเที่ยง เพราะว่าเวลาเที่ยวมันหายไป ก็ต้องออกแต่เช้าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นที่นี่จะสามารถเป็นที่รองรับได้ มา Refresh ตัวเองก่อน ก่อนที่จะเป็น Red Eye Flight กลับไป อนาคตสวนน้ำ-สวนสนุกเองก็จะขยายเวลาเปิดให้บริการไปถึง 4 ทุ่มเช่นเดียวกัน คือกลายเป็น Park ที่เปิดบริการถึงภาคกลางคืนไปด้วย มันก็จะมีตัวเลือกเยอะขึ้น 

กลุ่มครอบครัว เด็ก ๆ อาจจะไม่ได้อยาก Shopping อยากจะเที่ยวสวนสนุก ก็ได้ คุณแม่อาจจะใช้เวลานี้ในการ Shopping ก็ได้ คนไทยเองก็เหมือนกัน ทุกวันนี้เราก็ได้รับ Feedback จากลูกค้าว่า เครื่องเล่นสวนสนุกส่วนใหญ่ปิด 6 โมงเย็น เมืองไทยกว่าแดดจะร่มก็ 4 โมงแล้ว เล่นตอนบ่าย 2 ก็ทรมานเหลือเกิน ก็เลยตั้งใจว่าจะขยายเวลาเปิดบริการออกไป ในแง่ธุรกิจหลังเลิกงานคนก็มาเที่ยวได้ ภาคกลางคืนคนมาเที่ยวได้ ได้ขยาย Operating ออกไป ได้มี Spending Time ที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันภาคกลางคืนของกรุงเทพตอนนี้ คุณจะไปเที่ยวไหน ตอนนี้มีอะไร มีตัวเลือกอะไรบ้างก็ตอบว่ามีไม่มาก

 

SME ONE : Bangkok World  ที่เราจะเปิดใหม่ สามารถรองรับได้กี่ร้านค้า ถ้าผู้ประกอบการรายย่อยสนใจอยากจะเข้ามาขายของต้องทำอย่างไร

คุณนพกาญจน์ :  Bangkok World มีพื้นที่ขายอยู่ที่ 50,000 ตารางเมตร เราชัดเจนว่าเราขายสินค้าวิสาหกิจชุมชน พอเราเริ่มทำโครงการนี้ เราถึงรู้ว่ามีผู้ประกอบการรวมแล้วมากกว่า 90,000 ราย เพราะฉะนั้นถามว่าผู้ประกอบการสนใจต้องทำอย่างไร อย่างแรกคุณต้องมารู้จักโครงการเราก่อน คุณจะได้รู้ว่า เราเหมาะกับคุณจริง ๆ หรือเปล่า

 หนึ่งคือ เราจะมีภาษีกว่าที่อื่น เพราะเราไม่ใช่ Stand Alone เรามี Park ซึ่งแข็งแรงเป็นฐานให้ มีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอยู่แล้ว สองคือ Location ของเราเดินทางสะดวกทั้งสำหรับคนไทย และต่างชาติ จะเป็น First Stop หลังจากลงสนามบินหรือ Last Stop ก่อนขึ้นเครื่องบินกลับประเทศ ทำไมไปเกาหลีถึงมีที่ละลายเงินวอน แล้วทำไมจะมีที่ละลายเงินบาทไม่ได้ แล้วที่นี่ไม่ใช่สินค้าแบรนด์เนมที่คุณหาในห้างไหนก็ได้ แต่เป็นของดีจากทั่วประเทศรวบรวมเอาไว้ นอกเหนือจากนั้นก็มีเรื่องของสถาปัตยกรรมที่ไม่ใช่แค่แหล่ง Shopping แต่เป็น Attraction ซึ่งได้เที่ยวด้วย ได้ถ่ายรูป ได้วิวสวย ๆ ได้กินข้าว ได้ Shopping

ถามว่าผู้ประกอบการสนใจจริงๆ ต้องทำอย่างไร ก็ต้องติดต่อเข้ามา ตอนนี้เราเริ่มให้ข้อมูลแต่ว่าพื้นที่ขายอาจจะยังไม่ได้ Final ว่าจะมีบูธขนาดเท่าไหร่บ้าง อาจจะเป็นใน Step ต่อไป ประมาณสิ้นปีนี้เราจะเริ่มเปิด 2 อาคารจากทั้งหมด 13 อาคาร เป็นอาคารบ้านพระอาทิตย์กับเรือนขนมปังขิง อย่างที่เล่าไปตอนแรกว่า Bangkok World  เป็น Market Place แต่ละตึกก็จะแตกต่างกัน  บ้านพระอาทิตย์จะเป็น Thai Kid’s Cooking Experience ในขณะที่เรือนขนมปังขิงจะเป็น World Kid’s Cooking Experience ก็คือสอนทำอาหาร อาคารนึงสอนทำอาหารไทย อีกอาคารนึงสอนทำอาหารนานาชาติ แต่ไม่ได้เป็นโรงเรียนสอนทำอาหารแบบทางการมาก แต่จะผสม Entertainment เข้าไป คือได้ทำอาหารด้วย ได้สนุกด้วย แล้วก็มีที่จัดเลี้ยงอยู่ในแต่ละตึกด้วย 

 

SME ONE : เห็นคุณค่าของสินค้าวิสาหกิจชุมชนตรงไหน ถึงอยากสนับสนุน

คุณนพกาญจน์ :  พอเราได้สนทนากับคนขายจริง ๆ เรามองว่าสินค้าวิสาหกิจชุมชน คุณค่าไม่ได้อยู่แค่ตัวสินค้าอย่างเดียว เหมือนที่หญิงเห็นตอนแรก เราเห็นปลาตะเพียนที่เขาสานตัวนึง เราก็มองแค่สวยดี แต่คุณค่ามันเพิ่มขึ้นเมื่อเราได้ไปคุยกับคนที่เขาทำว่า โห...ทำไมเขาถึงสานปลาตะเพียนแล้วเขายังสามารถเลี้ยงลูกจนโต ส่งลูกเรียนจบได้ แล้วปลาตะเพียนตัวนี้ ทำไมถึงอยู่ได้ 40 ปี โดยที่ไม่ผุ ไม่เป็นรู ทำไมแข็งแรงอยู่ได้ขนาดนี้ คุณค่าของสินค้าวิสาหกิจชุมชนมันอยู่เบื้องหลังตรงนั้น 

เราอยากให้ผู้ค้าวิสาหกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนทำคุณค่าเหล่านี้ออกมา ทำให้ผลิตภัณฑ์ของคุณจับต้องได้มากขึ้น แล้วก็สิ่งที่จะตอบแทนถึงคุณมันจะได้สมคุณค่าจริง ๆ เพราะอันนี้คุณทำด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย แล้วก็ความเชี่ยวชาญทั้งชีวิตของคุณจริง ๆ

เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถตีค่าได้แค่ทุเรียนกวน ทำไมเจ้านี้กิโลกรัมละเท่านี้ อีกเจ้านึงทำไมถึงกิโลกรัมละเท่านี้ เพราะมันมาจาก Background ซึ่งต่างกันมาก มีเรื่องราวที่ต่างกันมาก แล้วมันก็สะท้อนออกมาในผลิตภัณฑ์ แต่จะทำอย่างไรให้คนได้รับรู้ว่าคุณค่าของมัน สิ่งที่เราตั้งใจทำตรงนี้ขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็คือทำให้คุณมีพื้นที่ในการที่จะได้แสดงคุณค่าเหล่านั้นออกมาจริงๆ


ความเป็น Entrepreneurship

SME ONE : การเข้ามารับช่วงต่อการบริหารธุรกิจ อะไรที่เราต้องสร้าง อะไรที่เราต้องซ่อม อะไรที่เราต้องรักษา

คุณนพกาญจน์ : ขอเริ่มจากรักษาก่อน ต้องบอกว่าส่วนตัวหญิงจบปริญญาโทมาจากต่างประเทศ เรียนมาจาก New York แล้วก็มองโลกมาแบบนึง เรามาจาก Background ที่มีคุณพ่อเป็นหมอ มีคุณแม่เป็นผู้ประกาศข่าวหน้าจอทีวี และเป็นเจ้าของรายการโทรทัศน์ แต่ว่าการที่ได้อยู่ใกล้คุณไชยวัฒน์มันเป็นการปูพื้นให้เราแข็งแรง ให้เราเข้าใจอะไรได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อมาทำงานจริง ๆ คือหญิงทำงานที่อื่นมาก่อน ทำบริษัท International ก็เป็นแบบหนึ่ง มาเจอที่นี่เข้าไป เขาเรียก Culture Shock ได้เห็นว่าการที่มนุษย์คนนึงเอาชีวิตตัวเองทุ่มทั้งชีวิตเพื่อที่จะทำให้ความฝันมันเป็นความจริง และเมื่อวันนึงสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกินความฝันขึ้นไปอีก และเมื่อคนคนนั้นรู้สึกว่ามันเกินแขนตัวเอง 2 ข้างที่มันจะทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเองแล้วจะต้องทำยังไง เราได้เห็นทั้งสิ่งที่ประสบความสำเร็จ ได้เห็นสิ่งที่เป็นปัญหา ได้เห็นวิกฤต ได้เห็นวิธีการแก้ไขปัญหาหลาย ๆ อย่าง ทั้งที่ถูกและที่อาจจะยังไม่ใช่

เพราะฉะนั้นคำถามที่บอกว่าต้องรักษาอะไรไว้มีเยอะมาก แน่นอนธุรกิจเราชัดเจนว่าอยากให้ Siam Amazing Park เดินหน้าไปในทิศทางแบบไหน เพราะเราไม่ได้มองอยู่แค่ตรงนี้ เรามองว่า ณ วันนี้ บทบาทของสวนน้ำ-สวนสนุก หรือสวนพักผ่อนหย่อนใจไม่ใช่แค่การให้คนมามีความสุขที่นี่ ทุกวันนี้สไตล์ของคนก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเราจะไปใกล้กับเขาได้มากขึ้นอย่างไร เราเอาความสุขไปเสิร์ฟให้กับเขา โดยที่ตัวเขาเองอาจจะไม่ต้องมา Experience อยู่ที่นี่ก็ได้ 

เรามองว่า Trend จะไปในทิศทางแบบนั้น แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่เป็น Physical ที่ยังต้องรักษาไว้ ก็ต้องพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานที่ เครื่องเล่น บริการ คือหัวใจสำคัญของการเป็น Park คือต่อให้คนไปมี Virtual อะไรเยอะขึ้น แต่สุดท้ายแล้วคนก็ยังโหยหาการมาสัมผัสกับสิ่งที่ได้ ได้จับต้อง ได้ Experience ด้วยตัวเองจริง ๆ ได้ท่องเที่ยวจริง ๆ ถ้าเกิดว่าเราคิดว่า เราจะรักษาเอาไว้ เราต้องทำให้มันดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เราตั้งใจตั้งแต่วันแรกว่า เราอยากให้สวนแห่งนี้เป็นสวนของคนไทยที่คนไทยใช้บริการได้ แต่มีมาตรฐานสากล ก็ต้อง Keep Concept นี้ให้แข็งแรงมาก ๆ แล้วเราเชื่อมั่นว่าเพราะ Concept นี้ทำให้เรายังอยู่ได้ถึงวันนี้ เราไม่ใช่สวนที่ราคาแพงที่สุด เราไม่ใช่สวนที่ราคาถูกที่สุดนะ แต่ทำไมคนไทยถึงยังคิดถึงเรา แล้วต่อให้เกิดวิกฤตอะไรก็ตาม ทำไมก็ยังมีผู้สนับสนุนเราอยู่ 

 

SME ONE : อะไรคือสิ่งที่คิดว่าต้องปรับเปลี่ยนไปจากเดิมหรือสิ่งที่ต้องแก้ไข ต้องซ่อมมัน

คุณนพกาญจน์ : อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่า คุณมีเงินคุณทำได้สวนสนุก แต่ถ้าคุณทำให้มันเป็นอย่างที่เราตั้งใจ ความ Amazing ที่เราอยากให้ทำไม่ได้อยู่ที่เครื่องเล่นอย่างเดียว คนทั้งหลายเหล่านี้ที่ต้อง Deliver มันออกมา คุณจะทำมันออกมาอย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องซ่อมอย่างมากที่สุดเลย ก็คือคน แต่จะซ่อมด้วยวิธีการแบบไหน ทำอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงที่บริษัทไม่ได้แข็งแรง โดยเฉพาะในช่วงเวลาแบบนี้ บริษัทอาจจะดูแลเขาได้ไม่เต็มที่ แต่เราต้องการ Effort จากเขาเกิน 100% เราจะทำอย่างไร

สิ่งนึงที่คุณไชยวัฒน์บอกก็คือ เราในฐานะผู้นำต้องแข็งแรง ต่อให้ข้างในเราจะเป็นอย่างไรก็ตาม เราต้องแสดงให้เห็นว่าในภาวะแบบนี้คนที่เป็นเจ้าของเขาสู้ยังไง คือเมื่อไหร่ที่ความสามัคคีมันเกิด แรงก็จะมา เมื่อไหร่ที่มันมองไปคนละทิศคนละทางมันก็ไม่ได้

เชื่อว่าปัญหานี้น่าจะเป็นปัญหาเดียวกันในทุก ๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะภาคส่วนบริการ เน้นที่ท่องเที่ยว วิกฤตนี้ทุกคนมองตัวเองก่อนว่าฉันวิกฤตแล้ว ธุรกิจจะเป็นอย่างไรอาจจะเป็นเรื่องระดับรองลงมา แต่เราในฐานะที่ต้องประคองทั้งหมด เรามีพนักงานประมาณ 500 คนที่ต้องดูแล เรามี Commitment กับลูกค้าอีกเยอะแยะมากมายที่จะต้องทำ เพราะฉะนั้นการซ่อมในวันนี้เชื่อว่าจะทำให้เราแข็งแรงขึ้น วิกฤตครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า จุดอ่อนเราอยู่ที่ไหนบ้าง เราทำอะไรที่อาจจะไม่ระมัดระวังมาในช่วงก่อนหน้านี้ แล้วทำให้พอมันเกิดปัญหาขึ้น ทำให้เราเซได้ขนาดนี้ มันก็จะทำให้เราแข็งแรงขึ้นถ้าเราผ่านตรงนี้ไปได้

การซ่อมครั้งนี้ทำให้ธุรกิจแข็งแรงขึ้น วิธีที่เราปฎิบัติในตอนนี้จะเป็นวิถีปฏิบัติในอนาคตอีกยาวไกล

 

SME ONE : เรื่องต่อมาคือ สร้าง

คุณนพกาญจน์ : เรื่องสร้างขอไม่พูดว่าเราจะสร้างนู่นสร้างนี่ เพราะลูกค้าเห็นอยู่แล้วด้วยตาตัวเองว่าเราจะทำอะไรบ้าง แต่สิ่งที่เราตั้งใจจะทำ คือเราจะสร้างให้องค์กรแห่งนี้เป็นมากกว่าองค์กร ให้เป็นเหมือนสถาบันที่มีความแข็งแรงและมีความ(อะไร)รอบด้านมากยิ่งขึ้น

ที่คุณไชยวัฒน์บอกทุกคน ก็คือ วันนี้เราไม่ได้มองแค่สวนน้ำ-สวนสนุก เรามี Bangkok World แล้ว อีกหน่อยเราจะมี 1 2 3 4 ขึ้นมาอีก สุดท้ายเราอยากให้คนมองเราจำภาพเราในลักษณะแบบไหน เมื่อคิดถึง Siam Amazing Park มันต้องเป็นองค์กรสถาบันที่แข็งแรงในอนาคต เชื่อว่า Siam Amazing Park จะอยู่คู่กับคนไทย เหมือนกับความตั้งใจที่เรามีตั้งแต่วันแรกนะคะ แต่เราก็แข็งแรงขึ้น

 

SME ONE : ฟังจากที่เล่ามา คุณไชยวัฒน์ผู้ก่อมีความเป็น Entrepreneurship สูงมาก แต่จะทำอย่างไรให้ทั้งองค์กรมีความเป็น Entrepreneurship ด้วย

คุณนพกาญจน์ : ทุกคนอาจจะไม่ต้องซึมซับไปทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญ คือทุกคนต้องรู้ว่าบทบาทของคุณคืออะไร ขอ ยกตัวอย่าง คุณทำหน้าที่เปิดเครื่องเล่น คือคุณต้องรู้บทบาทของคุณว่า ถ้าบริษัทวางเป้าหมายอีก 20 ปีเป็นอย่างไร ณ วันนี้คุณตัดสินใจมาร่วมงานกับบริษัท คุณมีบทบาทอย่างไรที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายใน 20 ปี เพราะฉะนั้นคุณมีบทบาทในการทำ Operation คุณต้องทำอย่างไร คุณก็ต้องเป็นพนักงานเปิดเครื่องเล่นซึ่ง 1 2 3 4 5 ทำอย่างไรไงให้ Amazing ที่สุด 

เพราะฉะนั้นเมื่อคุณ Deliver Amazing Service, Amazing Mindset ออกมา คุณก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Amazing ได้ แต่ในขณะเดียวกัน คนที่ดูแลพนักงาน เช่น HR คุณจะต้องควบคุมให้พนักงานเหล่านี้ Amazing ได้อย่างไร เรากำลังจะบอกว่าบทบาทของแต่ละคนไม่เหมือนกัน 

 

SME ONE : ทุกวันนี้เราทำงานร่วมกับภาครัฐบ้างหรือไม่

คุณนพกาญจน์ : ก็มีบ้าง เพราะเรามีตลาด MICE ด้วย ถ้าพูดในแง่ท่องเที่ยว Attraction ที่เป็น Man-made ของประเทศ เราก็มั่นใจว่าภาครัฐก็คิดถึงเราเหมือนกัน ไม่ใช่แค่เราฝั่งเดียว เพราะว่ามันเป็น Product หลักของประเทศในการเอาไปขาย หมายถึงว่า การตลาดของประเทศไทยก็เอาสิ่งเหล่านี้ไปขายเหมือนกันว่าเป็น Product ที่ดี  ของประเทศไทย เพราะฉะนั้นภาครัฐเองก็สนับสนุนเราอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันเราก็มีโอกาสเข้าไปให้คำแนะนำกับทางภาครัฐเหมือนเป็น Team Work ที่ Synchronize แล้วต่อยอดกันขึ้นไป เรามองว่าสิ่งที่เรามีสามารถสร้างประโยชน์อะไรให้ได้บ้าง บางครั้งไม่ได้กลับคืนมาเป็นตัวเงินแต่ก็ยินดี เพราะว่าเรามองว่าเมื่อภาพใหญ่มันไปได้ เราเองก็จะแข็งแรงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

อย่างมาตรการสาธารณสุขที่ดูแลเรื่องโควิด-19 เราก็ได้รับเกียรติให้เข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการให้บริการธุรกิจแบบนี้ 


บทสรุป

การรับช่วงต่อกิจการของครอบครัวนั้น บางคนอาจจะมองเป็นเรื่องง่าย แต่บางคนก็เห็นเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้มีเหตุผลมาจากความพร้อมในการทำธุรกิจ และการปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันในปัจจุบันและอนาคต 3 สิ่งที่ ทายาทต้องหาคำตอบให้เจอโดยเร็วที่สุดก็คือ เราจะเลือกซ่อม, สร้าง และรักษาอะไร กับสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำไว้ก่อนหน้านี้


Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

โสดสายเปย์ ตลาดนี้เอสเอ็มอีต้องเกาะติด

หัวข้อ : โสดสายเปย์ ตลาดนี้เอสเอ็มอีต้องเกาะติด
อ่านเพิ่มเติม : www.kasikornbank.com/Single_Saipay.pdf

 

ปัจจุบันจำนวนคนโสดทั่วโลกกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากกลุ่มคนโสดไม่มีภาระเกี่ยวกับครอบครัวทั้งลูกหลาน คู่สมรส จึงมีการตัดสินใจที่รวดเร็วโดยไม่ต้องปรึกษาใคร และมีความกล้าในการใช้จ่ายสูง เพื่อสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ เริ่มมีการนำปัจจัยด้านคนโสดที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น มากำหนดกลยุทธ์การตลาดเพื่อเข้าถึงผู้ซื้อกลุ่มนี้มากขึ้น

 

จากจำนวนคนโสดที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศต่าง ๆ นำปัจจัยดังกล่าว มากำหนดกลยุทธ์การตลาดเพื่อพุ่งเป้ามาที่ตลาดกลุ่มนี้มากขึ้น อาทิ

  • ผู้ประกอบการค้าปลีกต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายโดยอิงกับวันคนโสด ซึ่งเป็นวันที่คนหนุ่มคนสาวออกมาฉลองให้กับความโสดในวันที่ 11 เดือน 11 ของทุกปี
  • ผู้ประกอบการค้าปลีกออนไลน์บางราย มียอดขายเฉพาะวันคนโสดเพียงวันเดียวสูงเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ (รวมยอดขายทั้งกลุ่มคนโสดและคนทั่วไปของเทศกาลปี 2562)
  • ผู้ประกอบการบางรายมีการผลิตสินค้าหรือบริการที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายคนโสดเพิ่มมากขึ้น อาทิ สินค้าสำหรับให้เช่าแทนการซื้อ เช่น ตู้อบเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือให้เช่าอุปกรณ์ปลูกพืชผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาสินค้ากลุ่มนี้จะได้รับความนิยมจากผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันตลาดถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนโสดที่อยู่คนเดียวมากขึ้น

 

สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการไทยเอง ที่ผ่านมาอาจมีบางรายที่เริ่มทำกิจกรรมการตลาดสำหรับคนโสดบ้างแต่ยังมีน้อยหรืออาจยังไม่ชัดเจนนัก ทั้งที่กลุ่มนี้มีกำลังซื้อที่สูงและน่าสนใจ ประเมินว่าคนโสดจำนวน 15.2 ล้านคน มีเม็ดเงินการใช้จ่ายเฉลี่ย 7,584.3 บาทต่อคนต่อเดือน จะมีการใช้จ่ายเพื่อสินค้าและบริการต่างๆ รวมเป็นเม็ดเงินทั้งสิ้นประมาณ 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี โดยแยกเป็น

  • ค่าใช้จ่ายด้านอาหารประมาณร้อยละ 33.7
  • ค่าที่อยู่อาศัยและของใช้ภายในบ้านร้อยละ 20.8
  • ค่าของใช้ส่วนบุคคลร้อยละ 6.0
  • อื่นๆ อาทิ การศึกษา การสื่อสาร ร้อยละ 39.5

 

เหตุผลที่ตลาดคนโสดมีความน่าสนใจ คือ

  • กลุ่มคนโสดมีการตัดสินใจเร็วและกล้าใช้จ่าย แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในช่วงโปรโมชั่นหรือลดราคา หากสินค้าหรือบริการมีความสอดคล้องกับความต้องการ
  • กลุ่มคนโสดมีภาระผูกพันด้านค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับครอบครัวทั้งลูกหลาน คู่สมรส รวมถึงญาติ น้อยกว่ากลุ่มที่แต่งงาน ทำให้การบริหารการใช้จ่ายสำหรับสินค้าและบริการมีความยืดหยุ่นมากกว่า

สำหรับกลุ่มคนโสดในวัยทำงานที่อายุยังไม่สูงมาก

  • จะไม่ต้องแบ่งเวลาในการดูแลครอบครัว จึงสามารถบริหารเวลาในช่วงที่ว่างจากการทำงานได้ดีกว่า
  • จะมีการวางแผนทางด้านการเงินเพื่อความมั่นคงของชีวิตไม่เข้มงวดมากนัก
  • รายได้ส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้จึงถูกใช้ไปในด้านสันทนาการ ช้อปปิ้ง การออกกำลังกายหรือการท่องเที่ยว

สำหรับกลุ่มคนโสดที่เริ่มมีอายุมากขึ้น

  • มีโอกาสที่จะเป็นโสดและไม่แต่งงาน และเป็นไปได้ที่จะไม่มีลูกหลานหรือคู่ครองคอยดูแล
  • ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิต อาทิ ธุรกิจเดลิเวอรี่ หรือแอปพลิเคชันสั่งซื้อสินค้าหรือบริการต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจซักอบรีด ธุรกิจทำความสะอาดที่พัก ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
  • จะเริ่มมีความรอบคอบในการวางแผนการใช้ชีวิต รวมถึงการวางแผนทางการเงินมากขึ้น
  • จะมีการดูแลสุขภาพเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยหรือเป็นโรคร้ายแรง เพราะไม่มีคนดูแล อาทิ การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย เข้าฟิตเนส
  • จะให้ความสนใจซื้อบริการประกันชีวิตหรือการมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนระยะยาว อาทิ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

 

กลุ่มคนโสดที่น่าสนใจและกำลังกลายเป็นเทรนด์สำคัญของตลาดคนโสดทั่วโลก คือ คนโสดที่พักอาศัยอยู่คนเดียว ซึ่งกำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น คนโสดกลุ่มนี้มีความต้องการแตกต่างจากกลุ่มคนโสดทั่วไป ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อจับตลาดได้ค่อนข้างชัดเจนและตรงเป้าหมาย ซึ่งผู้ประกอบการอาจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์การตลาดที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ได้แก่

  • สินค้าอุปโภค-บริโภค อาทิ เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน โต๊ะ เก้าอี้ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม
    • ออกแบบสินค้าให้มีขนาดเล็กลงจากเดิมเพื่อให้ทานหมดในครั้งเดียว หรือมีจำนวนชิ้นต่อหน่วยลดลง
    • โปรโมชั่น 1 แถม 1 อาจไม่สามารถใช้ได้กับคนกลุ่มนี้
    • ขนาดสินค้าที่เล็กลง ยังน่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศซึ่งมีจำนวนคนโสดเพิ่มมากขึ้น ทั้งในยุโรป สหรัฐฯ รวมถึงประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่น หรือจีน
  • ร้านอาหาร ปัจจุบันเริ่มมีร้านอาหารที่ให้บริการแบบนั่งทานคนเดียว (one-person restaurant) เพื่อบริการลูกค้าที่มาคนเดียวในประเทศไทยบ้าง และคาดว่าแนวคิดนี้จะกระจายไปยังผู้ประกอบการร้านอาหารอื่น ๆ เพิ่มขึ้น สำหรับร้านอาหารที่อยากลองปรับร้านเพื่อรองรับกลุ่มคนโสด ดังนี้
    • อาจปรับการออกแบบสถานที่เพื่อรองรับลูกค้าที่มาทานคนเดียว ให้มีจำนวนหรือพื้นที่รองรับเพิ่มขึ้น
    • อาจแบ่งสัดส่วนพื้นที่เพื่อให้มีความเป็นส่วนตัว หรือเพิ่มบาร์ที่นั่งคนเดียว
    • พัฒนาเมนูอาหารสำหรับทานคนเดียว ที่มีอาหารให้เลือกหลากหลายมากขึ้น
  • บริการอาหารเดลิเวอรี่ ได้รับความนิยมสำหรับคนโสดที่อยู่คนเดียว และไม่มีเวลาหรือไม่มีใครซื้ออาหารให้ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวอำนวยความสะดวกให้สามารถสั่งสินค้าทีเดียวได้หลาย ๆ ร้าน อย่างไรก็ตาม หากการสั่งอาหารมีจำนวนน้อย อาจไม่คุ้มต่อราคาค่าจัดส่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการอาหารในกลุ่มนี้อาจต้องพัฒนารูปแบบการปรุงอาหาร หรือพัฒนานำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บหรือถนอมอาหารให้คงคุณภาพหรือรสชาติและเก็บไว้ทานได้นานขึ้น เพื่อที่คนโสดจะได้สามารถสั่งอาหารในปริมาณที่สูงและคุ้มกับค่าขนส่ง
  • ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว กลุ่มคนโสดจำนวนมากมีการวางแผนรูปแบบการเดินทางเอง โดยส่วนใหญ่หาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต หรือใช้บริการทัวร์ ตามไลฟ์สไตล์ความชอบที่เหมือน ๆ กัน ประเด็นที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงค่อนข้างสูงคือ ความปลอดภัย ซึ่งเป็นประเด็นที่คนโสดค่อนข้างกังวล โดยเฉพาะคนโสดที่เป็นผู้หญิงหรือผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มนี้อาจต้องการโปรแกรมท่องเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ หรืออาจไปกับคนรู้จักที่จัดเป็นกลุ่มย่อย ๆ 4-5 คน

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

บทความแนะนำ

6 เทรนด์ที่จะสร้างโอกาส พลิกเกมการตลาดให้เอสเอ็มอี

หัวข้อ : 6 เทรนด์ที่จะสร้างโอกาส พลิกเกมการตลาดให้เอสเอ็มอี
อ่านเพิ่มเติม : www.scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/next-trend-2020content1

 

รวมกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะช่วยเสริมธุรกิจให้ก้าวทันอนาคตด้วย 6 เทรนด์สำคัญที่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้แก่

 

1. เน้นที่ดีไซน์

ดีไซน์จะเป็นตัวนำผลิตภัณฑ์และเป็นตัวที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง สำหรับเอสเอ็มอีอาจไม่ต้องทำเทคโนโลยีที่ดีที่สุด  แต่จำเป็นต้องทำดีไซน์ที่ดี เพื่อสร้าง การมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์ บริษัท พนักงาน และลูกค้า ต้องรวมเอานวัตกรรมและวิถีชีวิตเข้าไว้ด้วยกัน

เพราะยุคนี้เป็นเรื่องของความเร็ว และเทรนด์มีการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น ธุรกิจต้องปรับตัวตามให้ทัน โดยบางแบรนด์อาจทำมาเป็นสิบปี แต่เรื่องของการดีไซน์ถ้ายังใช้เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงธุรกิจก็จะอยู่ยากขึ้น เพราะดีไซน์เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวแบรนด์ ลูกค้า พนักงาน และสังคม ฉะนั้นการดีไซน์จึงเป็นเรื่องสำคัญ และมองข้ามไม่ได้

 

2. ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation)

ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว รวมไปถึงการทำธุรกิจเช่นกัน สำหรับธรุกิจเอาเอ็มอีอาจไม่เลือกทำไปทุกเรื่อง แต่ต้องเป็นบริษัทที่จิ๋วแต่แจ๋ว โดยไม่ต้องทำเยอะ แต่ให้เลือกทำเฉพาะเรื่องที่เหมาะกับบริษัท จุดแข็ง และดีเอ็นเอของตัวเอง

ธุรกิจขนาดเล็กอย่างเอสเอ็มอีที่กำลังมองหาโอกาสจากเทรนด์นี้ แนะนำให้ลองอาศัยการร่วมมือกัน (Collaboration) ระหว่างธุรกิจ โดยใครเก่งอะไรก็เอามาทำด้วยกัน เช่น คนทำเซรามิก จับมือกับคนเก่งทางด้านซอฟต์แวร์ ก็สามารถนำเซรามิกมาเป็นอุปกรณ์ด้านไอทีได้ เป็นต้น

 

3. มัลติ แชนเนล อีคอมเมิร์ซ (Multi-Channel E-Commerce)

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่าออมนิแชนเนล (Omni Channel) การเชื่อมระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์แบบไร้รอยต่อ แต่ร้านค้าในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นการขายหน้าร้านก็หน้าร้าน บนออนไลน์ก็ขายออนไลน์ ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า มัลติ แชนเนล อีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มาระยะหนึ่งแล้วและกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

คำถามคือ ถ้าคุณมีหน้าร้านแล้วจะปรับเข้าสู่อีคอมเมิร์ซแบบไหน ตอบได้ดังนี้

  • อย่างแรกโปรดักต์เราต้องชัดเจนก่อนว่าขายอะไร หากจากเดิมที่ขายอยู่แล้วมีคนขายแบบเรามาก เราต้องปรับเปลี่ยนสินค้า เพื่อให้สามารถไปครองพื้นที่บนอีคอมเมิร์ซได้
  • การทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ควรจะทำสินค้าอะไรไปขายร่วมกับแพลตฟอร์มที่มีอยู่ โดยต้องเข้าใจระบบของแต่ละแพลตฟอร์มว่าทำงานอย่างไร ประเด็นสำคัญคือ เอาลูกค้าเป็นศูนย์กลางให้ได้ ถ้าเราคิดถูกจุดเราก็จะเติบโตได้
  • ต้องมาให้น้ำหนักดูว่าลูกค้าของเราเป็นใคร อยู่ที่ไหน ถ้าสุดท้ายลูกค้าอยู่ออนไลน์มากกว่า เราต้องเททรัพยากรไปที่ออนไลน์มากขึ้น เพราะเราอาจมีทรัพยากรจำกัด มีคน มีเงิน และเวลาจำกัด ฉะนั้น จึงต้องเททรัพยากรไปใช้ให้ถูกด้วย

 

4. การตอบแทนโลกและสังคม

จากการสำรวจพบว่า  65 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคทั่วโลกจะไม่ซื้อสินค้าที่มีประเด็นทางสังคม ทำให้ต่อไปประเด็นทางสังคมจะเป็นเรื่องใหญ่เสมอ ซึ่งนั่นคือโอกาสของเอสเอ็มอีที่ หากสามารถนำเรื่องที่อาจถูกละเลยแต่ถ้าสังคมให้ความสนใจกับมัน และเล่นในประเด็นนั้นได้ จะมีที่ยืนในธุรกิจนับจากนี้

 

5. สร้างเพื่อขายหรือเพื่อให้คงอยู่ตลอดไป (Built to sell/Built to last)

การทำธุรกิจวันนี้ด้วยระบบของทุนนิยมและโครงสร้างของทุนเปลี่ยนไปจึงต้องคิดว่าธุรกิจที่เราสร้างขึ้นมา อยากจะสร้างเพื่อขายหรือสร้างขึ้นเพื่อให้คงอยู่ตลอดไป นี่เป็นประเด็นสำคัญ

ถ้าคุณตั้งธุรกิจมาให้ดีตั้งแต่ต้น การทำธุรกิจต่อไปก็จะง่ายขึ้น ต้องตั้งเป้าหมายก่อนทำธุรกิจ ไม่ใช่อยู่ดี ๆ มันเกิดขึ้นได้ แต่ต้องเกิดจากการที่เราชัดเจนตั้งแต่ต้น แต่ตอนนี้การสร้างเพื่อขาย (Built to sell) กำลังเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยธุรกิจที่สร้างขึ้นมาแล้วขายมีจำนวนสูงขึ้นมาก ๆ นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ช่วยเสริมธุรกิจจากเล็กไปสู่ใหญ่ได้ คำแนะนำคือ คิดเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกว่าเราอยากให้เป็นแบบไหน และทำให้ดีตั้งแต่ต้น

 

6. ปีแห่งความผันผวนและน่าเป็นห่วง

แม้ในปีนี้หลายสำนักจะออกมารายงานดัชนีด้านต่าง ๆ แต่ช่วงเวลาที่ดูแย่ อาจเป็นโอกาสของคนที่ลุกมาทำ โอกาสที่เราจะมีที่ยืนและชนะคนอื่นได้ เช่น เอาเวลาที่อาจไม่ต้องไปดูแลลูกค้ามากนัก ไม่ต้องไปยุ่งวุ่นวายกับการเก็บเงินลูกค้าเพราะเศรษฐกิจอาจจะไม่ดี สามารถเอาเวลามาพัฒนาตัวเอง มาพัฒนาระบบภายในของเราให้ดีขึ้นได้

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

สมอ. สถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ยกระดับมาตรฐานเพิ่มศักยภาพธุรกิจ

ในโลกการแข่งขันทางธุรกิจที่มีผู้ประกอบการมากมาย สิ่งสำคัญหนึ่งที่จะทำให้ SME โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งอื่นก็คือ คุณภาพของสินค้าและบริการ หากสินค้าและบริการมีคุณภาพดีและได้รับการรับรองมาตรฐานย่อมเป็นแต้มต่อในสนามแข่งขัน การมีมาตรฐานจึงเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ SME ไม่อาจละเลยไม่ว่าโลกธุรกิจจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสินค้าและบริการให้เป็นที่ยอมรับและแข่งขันได้ในระดับสากล โดยสมอ. มีภารกิจด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจ สร้างการยอมรับและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตลอดจนคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

มาตรฐานของ สมอ. จึงเป็นเหมือนเครื่องหมายการันตีคุณภาพที่ผู้ประกอบการ SME สามารถนำไปใช้ในทางการตลาด

คุณนฤมล วาณิชย์เจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน สมอ. กล่าวว่า มาตรฐานของสมอ. มีหลายระดับ ตั้งแต่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.), มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส(มอก.เอส), มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) เป็นต้น 

มอก.เอส ทำขึ้นมาสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะโดยมอก.เอส จะอยู่ระหว่าง มผช. กับ มอก. ผู้ประกอบการอาจพัฒนามาจาก มผช. แล้ว แต่ยังไม่ถึง มอก. ก็สามารถขอการรับรองในส่วนของ มอก.เอส ได้ คุณนฤมลกล่าว

มอก.เอส เริ่มประกาศใช้ในปี 2561 ผู้ประกอบการที่เคยได้รับใบรับรองมาตรฐาน มอก.เอส ดำเนินธุรกิจ อาทิ ที่นอนยางพารา, ดอกไม้ประดิษฐ์จากวัสดุแปรรูป, การบริการนวดและสปา, การบริการซักอบรีด, การบริการกำจัดปลวก หนูและแมลง เป็นต้น

คุณนฤมลกล่าวว่า ในส่วนของมอก.เอสเนื่องจากเราเพิ่งดำเนินการมาไม่นาน ก็จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจขอรับบริการส่วนหนึ่ง ซึ่งยังไม่มากนักและเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ SME ก็เหมือนว่ายังไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมของ SME คุณนฤมล กล่าวว่า SME ควรเน้นเรื่องคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะบางครั้งกระบวนการผลิตของ SME ยังเป็นแบบพื้นๆ ทั่วไป และการรักษาคุณภาพยังไม่สม่ำเสมอ 

“SME ยังไม่มีการควบคุมคุณภาพสินค้าในการผลิต เราก็จะเห็นสินค้าบางรุ่นที่ดี ผู้บริโภคถูกใจ แต่พอมาอีกรุ่นหนึ่ง ปรากฏว่าไม่ได้มาตรฐาน ตกลงมา ทำให้สินค้าไม่เป็นที่ยอมรับ, SME บางรายพอได้มาตรฐานระดับหนึ่งแล้วก็หยุดนิ่ง แต่บางครั้งเทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ถ้าหยุดอยู่กับที่ ตอนนี้อาจจะขายได้ดี แต่พอไม่มีการพัฒนาต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ตกได้เหมือนกัน 

คุณนฤมล กล่าวและเสริมว่า SME ควรผลิตสินค้าให้ดีสม่ำเสมอโดยตลอดและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่น พัฒนาจาก มผช. ไปสู่ มอก.เอส พัฒนาต่อให้ได้ มอก. และต่อไปถึงมาตรฐานสากล

ในปัจจุบันเทรนด์ของการมาตรฐานให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักการ BCG Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งยกระดับไปสู่ระบบการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาความมั่นคงทางวัตถุดิบและความสมดุลของสิ่งแวดล้อม

คุณนฤมลกล่าวว่า สมอ.ได้กำหนดมาตรฐานเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว โดย SME ควรปรับตัวเรื่องกระบวนการผลิต เน้นกระบวนการนำวัตถุดิบกลับมาเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปริมาณของเสียให้ได้มากที่สุด รวมถึงเรื่อง Green การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“SME อาจหมุนเวียนใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น กล่อง หรือสิ่งของอื่นๆ หรืออย่างน้อยๆ SME ช่วยในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำกระบวนการให้เป็น Green” คุณนฤมลกล่าว

สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สมอ. กำลังดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีปกติใหม่ (New Normal) จำนวน 27 มาตรฐานได้แก่หน้ากากผ้า, เฟซชิลด์, แว่นตานิรภัยใช้ทางการแพทย์, เสื้อกาวน์ผ่าตัด, ตู้ความดันลบ, เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องฆ่าเชื้อด้วยยูวีซี (UVC), เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบอินฟาเรด, หมวกคลุมผมทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ผลิตใช้เป็นแนวทางในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย

ผู้ประกอบการจึงต้องติดตามเทรนด์การมาตรฐานที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาไม่หยุดนิ่งเพื่อสร้างการยอมรับแก่ผู้บริโภคและสังคม

นอกจากคุณภาพมาตรฐานแล้ว คุณนฤมลกล่าวว่า อีกเรื่องสำคัญสำหรับ SME คือเรื่องการตลาดดิจิตอลและโซเซียล มีเดีย โดย SME ควรเรียนรู้เรื่องสื่อดิจิตอล เพื่อทำให้สินค้าและบริการเป็นที่รู้จักและยอมรับ 

สมอ. มีโครงการต่างๆ เพื่อให้ความรู้และพัฒนาผู้ประกอบการทั้ง OTOP, SME เกี่ยวกับสื่อดิจิตอล การตลาด การขายออนไลน์ เป็นต้น 

คุณภาพและมาตรฐานสินค้าบริการ บวกกับการตลาดในยุคดิจิตอล จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการสร้างความสามารถเชิงแข่งขัน

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ https://www.tisi.go.th/ หรือโทร 0-2354-3266 , 0-2202-3304

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ถึงเวลาเอสเอ็มอี รุกตลาดสมุนไพร

หัวข้อ : ถึงเวลาโกยเงิน SME รุกตลาดสมุนไพร
อ่านเพิ่มเติม : www.kasikornbank.com/Herb_Market.pdf

 

สมุนไพรถือเป็นดาวเด่นในแวดวงธุรกิจเพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งในระยะหลังสามารถพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันการผลิตสมุนไพรในไทยส่วนใหญ่เน้นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก โดยมีผู้ผลิตที่สำคัญคือ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และมีสมุนไพรบางส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในประเทศนั้น ๆ และไม่สามารถผลิตในไทยได้ เพื่อนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร)

เมื่อพิจารณาถึงห่วงโซ่การผลิต จะพบว่าผู้ประกอบการไทย จะกระจุกตัวอยู่ในผลิตภัณฑ์ต้นน้ำและกลางน้ำมากที่สุด กล่าวคือ เป็นการผลิตสมุนไพรสด หรือหากเป็นสมุนไพรแปรรูป ก็จะมีนวัตกรรมที่ไม่สูงมาก เช่น บด อัดเม็ด/แคปซูล มูลค่าที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์จึงไม่สูงนัก ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบด้านเงินทุนและเทคโนโลยี จะเน้นทำตลาดผลิตภัณฑ์กลางน้ำขึ้นไป เน้นนวัตกรรมขั้นสูงขึ้นมาอีกระดับ เช่น การผลิตสมุนไพรออร์แกนิคแปรรูป สารสกัดเข้มข้น ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น

ในระยะข้างหน้าธุรกิจสมุนไพรยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ

  • เทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ โดยมองว่าปลอดภัยและมาจากธรรมชาติ
  • นโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสมุนไพร ผ่านแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรปี 2560-2564 (มีสมุนไพรที่เป็นสินค้าเด่น 4 ชนิด คือ ขมิ้นชัน ใบบัวบก ไพล กระชายดำ)
  • การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่ส่งเสริมให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบันมากขึ้น โดยการเพิ่มรายการสมุนไพรเข้าไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

 

สำหรับเทรนด์การบริโภคสมุนไพรในระยะต่อไป คาดการณ์ว่าธุรกิจด้านการแพทย์และความงามจะมีความต้องการสินค้าสมุนไพรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารเสริมและเวชสำอาง นอกจากนี้อีกกลุ่มตลาดศักยภาพที่น่าจับตาก็คือ

  • กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น ที่มีความชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยที่มีเอกลักษณ์พื้นถิ่น
  • ตลาดส่งออกที่มีอัตราการบริโภคสินค้าสมุนไพรสูง เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เป็นต้น

 

โดยผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่

เมื่อวิเคราะห์ถึงกลุ่มสมุนไพรที่ภาครัฐพยายามผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขมิ้นชัน ถูกมองว่าเป็นสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพและมีโอกาสทางการตลาดสูง

  • สามารถนำมาปรับใช้ในธุรกิจอาหาร จากการใช้เป็นเครื่องเทศ
  • นำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา
  • ปัจจุบันสารสกัดจากขมิ้นชันยังถูกขึ้นทะเบียน อย. สามารถใช้แทนยาแผนปัจจุบันในการบรรเทาปวดจากโรคข้อเสื่อมได้อีกด้วย
  • ความต้องการขมิ้นชันในเชิงทางแพทย์จะมีเพิ่มมาขึ้น เพื่อการรักษาและสามารถแข่งขันในตลาดกับยาแผนปัจจุบันได้มากขึ้น
  • สามารถนำมาผลิตในรูปแบบออร์แกนิค น้ำมันหอมระเหยหรือสารสกัดจากขมิ้นชันที่ได้มาตรฐานรับรองด้านความปลอดภัยซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง

แม้ว่าโอกาสทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะมีอยู่มาก แต่ความท้าทายของผู้ประกอบการที่สำคัญคือ ความน่าเชื่อถือของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ในแง่มุมต่าง ๆ

  • การควบคุมการผลิตให้ได้คุณภาพและมาตรฐานเพียงพอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค/ซัพพลายเออร์ (อาทิ การทราบแหล่งที่มา/กระบวนการผลิตที่ตรวจสอบย้อนหลังได้/การร่วมมือกับสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์)
  • การตามให้เท่าทันเทรนด์การบริโภคของตลาด
  • การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค ผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์
  • การสื่อความไปยังผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์และบริโภคสมุนไพรที่ถูกวิธี ปลอดภัยและเห็นผล จะช่วยยกระดับธุรกิจสมุนไพรของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ