Wongnai เปิด Co - Cooking Space คอมมูนิตี้ของคนรักการทำอาหาร

เกิดขึ้นแล้ว! คอมมูนิตี้ สำหรับคนรักการทำอาหารแห่งแรกของไทย ภายใต้ชื่อ “Wongnai Co - Cooking Space” โดยเปิดบริการให้ทุกคนเข้ามาร่วมสร้างประสบการณ์การทำอาหาร กับทีมเชฟมืออาชีพจาก Wongnai ที่รวบรวมสูตรเด็ดจาก Wongnai Cooking กว่า 16,000 สูตร ให้ทุกคนได้มาสร้างประสบการณ์การทำอาหารร่วมกัน คุณยอด ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด กล่าวถึงที่มาในการเปิด “Wongnai Co - Cooking Space” ในครั้งนี้ว่า พื้นที่นี้เป็น good space ที่เชื่อมต่อ คนที่ชื่นชอบในการทำอาหารมาพบปะและแชร์ความรู้ ซึ่งปัจจุบัน “การทำอาหาร” เป็นอีกหนึ่ง Lifestyle ของคนยุคใหม่ ดูได้จากการที่มีคนเข้ามาค้นหาสูตรอาหารบน Wongnai Cooking มากกว่า 1,500,000 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีสูตรอาหารที่ถูก submit เข้ามาบน Wongnai มากกว่า 16,000 สูตร ด้วยเหตุนี้ จึงอยากดึง Lifestyle บน online มาสู่ offline เป็นอีกหนึ่งการเชื่อมต่อสิ่งดีๆ ให้กับทุกคน ที่สามารถเข้าถึงสามารถได้ลงมือทำจริง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนที่ชื่นชอบการทำกิจกรรมนอกบ้าน รักการทำอาหาร อยากเรียนรู้การทำอาหาร รวมไปถึงแม่บ้านยุคใหม่ที่มีเวลาว่างและอยากหาความรู้เพิ่มเติม โดยคาดการณ์ว่าจะมีคนมาใช้ Co - Cooking Space จำนวน 200-300 คน ต่อเดือน นอกจากนั้น เรายังมีพันธมิตรอย่าง Electrolux, Geoluxe และ True Digital Park เข้ามาร่วมสนับสนุน Wongnai Co - Cooking Space อีกด้วย Wongnai Co - Cooking Space พร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ มีกิจกรรมการเรียนการสอนทำอาหาร กับทีมเชฟจาก Wongnai และยังมีพื้นที่รองรับการจัดกิจกรรมต่างๆสำหรับเหล่าคนรักการทำอาหาร ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเชื่อมต่อคนไทยเข้าสู่กิจกรรมไลฟ์สไตล์ดีๆ ตามวิสัยทัศน์“Connect People to Good Stuff” ของ Wongnai อีกด้วย สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/wongnaicocooking หรือโทร 098-994-6567   Published on 12 July 2019 SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"  

บทความแนะนำ

สมาพันธ์ SME กับมุมมองทางรอดเอสเอ็มอียุคโควิด

นับตั้งแต่โลกต้องเผชิญกับโรคระบาด COVID-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่หายไปจากระบบแล้ว 35% จากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด  3 ล้านราย ส่วนจำนวนที่เหลือในระบบส่วนใหญ่ก็ล้วนอยู่ในความเปราะบางท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

คุณโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์ SME ไทย กล่าวว่ากลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและค้าปลีกเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ 100% ในช่วง 2 เดือนแรก แม้หลังคลายล็อค มีกระแสเงินสดเข้ามามากขึ้นก็ตาม แต่แค่พอหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอดเท่านั้น ในขณะเอสเอ็มอีกลุ่มอื่นๆ ก็มีอาการอ่อนล้าไม่ต่างกัน หากภาครัฐไม่ต่อมาตรการพักชำระหนี้อีกครั้ง และสถานการณ์ยังคงลากยาวต่อไป เชื่อว่าเอสเอ็มอีที่เหลืออยู่ในวันนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเลิกกิจการไปอีกจำนวนมากในปีหน้า

“ธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ได้ด้วยกระแสเงินสด และไม่มีการบริหารความเสี่ยงด้านเงินทุนที่ดีพอ เมื่อยิ่งเจอกับวิกฤต COVID-19 ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งเกิดจากหลายๆ สาเหตุ เช่น เอสเอ็มอีต้องจ่ายค่าผลิตไปก่อนแต่ไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้ทันที เนื่องจากติดกับกับเครดิตเทอมที่มีระยะเวลายาวนาน แต่ต้องรับภาระในการจ่ายภาษีไปก่อน เมื่อเป็นอย่างนี้หลายๆ รายจึงเกิดการสะสมให้เงินลงทุนจมไปเรื่อยๆ อีกปัจจัยหนึ่งมาจากธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีระบบออโตเมท จึงจำเป็นต้องใช้แรงงาน เมื่อไม่มีเงินมาหมุน แต่ต้องจ่ายค่าแรง ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล เป็นต้น ทุกอย่างล้วนเป็นปัญหาลูกโซ่ที่ทำให้เอสเอ็มอีมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจมากขึ้น”

คุณโชนรังสี สะท้อนถึงมาตรการภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมาว่า ยังไม่เพียงพอต่อความเสียหาย ไม่ครอบคลุมในทุกกลุ่มผู้ประกอบการ ที่สำคัญยังไม่ทันต่อสถานการณ์ ดังนั้นทางสมาพันธ์ SME ไทยจึงได้มีการยื่นข้อเสนอไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้ข้อเสนอ “2 ลด 2 เพิ่ม” 

เริ่มจาก “2 ลด” ได้แก่ การลดภาระหนี้ให้กับผู้ประกอบการ ผ่านการรวมหนี้จากหลายๆ สถาบันการเงินที่ผู้ประกอบการขอสินเชื่อให้มาอยู่ในสถาบันการเงินเดียว เพื่อเกิดความคล่องตัวในการปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นกรณีพิเศษ และไม่เป็นแบล็กลิสต์ ส่วนผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเอ็นพีแอล หรือที่เป็นแล้ว ภาครัฐควรมีวิธีการพิจารณาคัดแยกเกรดใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่พอมีศักยภาพในการฟื้นตัวสามารถกลับเข้ามาอยู่ในสนามรบได้อีกครั้ง 

“ที่ผ่านมาการช่วยเหลือด้านแหล่งเงินทุนที่เป็นสินเชื่อจากทางภาครัฐมีความล่าช้า เนื่องจากมีกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาที่ไม่เอื้อต่อสถานการณ์โรคระบาดที่เปลี่ยนไปเร็ว ทั้งยังมีเงื่อนไขที่ไม่ยืดหยุ่น ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ จนต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ส่วนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติในการยื่นขอสินเชื่อ ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะผ่านขั้นตอนการพิจารณา เราจึงคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ควรเปิดช่องทางให้สถาบันการเงินแบ่งสินเชื่อที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีออกเป็น 2 ขยัก โดยปล่อยเม็ดเงินบางส่วนออกมาก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินตรงนั้นมาหยุดเลือด หรือรันให้ธุรกิจพอหายใจได้ ส่วนขยักที่ 2 ก็ว่ากันไปตามขั้นตอน แต่ต้องก็มีความยืดหยุ่นด้วย”    

ต่อมาคือ การลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ ด้วยการยืดมาตรการที่ภาครัฐทำอยู่แล้ว อาทิ ลดหย่อนอัตราการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ลดอัตราค่าสาธารณูปโภคอย่างค่าน้ำค่าไฟ หรือแม้กระทั่งค่าจัดส่งของไปรษณีย์ไทย เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ให้ได้มากที่สุด    

ส่วน “2 เพิ่ม” ได้แก่ การเพิ่มสภาพคล่อง ผ่านการให้สินเชื่อที่มีกลไกเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ดีกว่าที่ผ่านมา , สร้างกองทุนเอสเอ็มอี และมาตรการลดหย่อนทางภาษี หรือลดสัดส่วนเปอร์เซ็นต์การหักภาษี โดยเฉพาะภาษีนิติลบุคคลประจำปี เพื่อต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องต่อไปในปีหน้าได้ 

อีกหนึ่งเพิ่ม คือ เพิ่มโอกาสการค้าทางการตลาด โดยเฉพาะในยามที่สินค้ายังไม่สามารถส่งออกได้ตามปกติ ทางภาครัฐควรสร้างกลไกให้เกิดช่องทางตลาดในประเทศมากขึ้น

คุณโชนรังสี กล่าวว่า ข้อเสนอ “2 ลด 2 เพิ่ม” ดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวภาครัฐต้องสร้างความแข็งแรง และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอี ด้วยการสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจทั้งปัจจัยภายนอกภายในให้เอสเอ็มอีทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น และสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ระดับสากล

ในเวลาเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องช่วยตัวเอง ด้วยการต้องทรานส์ฟอร์มองค์กรให้ทันกับยุคดิจิตัล โดยเพิ่มทักษะทางด้านดิจิตัลให้กับคนรุ่นเก่าที่ทำงานอยู่ในองค์กร และเติมพนักงานรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ในอนาคตมีแนวโน้มความไม่แน่นอนสูง ผู้ประกอบการต้องมีสติ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนโมเดลการทำงานแบบ Agility เพื่อปรับตัวได้เร็ว ที่สำคัญต้องวางแผนกระแสเงินสด ประเมินตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ปีละครั้งเหมือนในอดีต

“ในฐานะตัวแทนสมาพันธ์ SME ไทย เราอยากให้เอสเอ็มอีมี Mindset ของการเป็นนักสู้ซึ่งเป็นนักสู้อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเราเป็นนักสู้แบบมวยวัด ดังนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นมวยสากลให้ได้ อย่างไรก็ดีท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก อยากเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกคนพยายามมีความหวัง โดยสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธ์ SME ไทย ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ทุกคนหาทางออกหรือเพิ่มโอกาสทางธุรกิจต่อไปได้ จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นระหว่างสมาชิกด้วยกัน ตามสโลแกนของสมาพันธ์ SME ไทยที่ว่า “เพื่อนช่วยเพื่อน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” 


Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

9 ขั้นตอนแก้ปัญหา เมื่อถูกลูกค้า Complain

1. ทำความเข้าใจลูกค้า

ในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญที่มากกว่าการขาย คือ การรู้จักเอาใจลูกค้ามาใส่ใจเรา ดังนั้น เมื่อถูกลูกค้า Complain สิ่งที่เจ้าของกิจการควรทำคือ การแสดงถึงความเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าได้เจอ ลองคิดในมุมกลับกันว่า ถ้าเราได้รับบริการแบบนี้ เราจะบ่นแบบเดียวกันหรือไม่

 

2. รับฟัง

เมื่อถูกลูกค้าต่อว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการรับฟัง อย่าเพิ่งไปขัดจังหวะ และควรใช้สายตาที่แสดงถึงการตั้งใจฟัง เพื่อทำให้ลูกค้ารู้ว่า คุณพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ

 

3. ประเมินสถานการณ์

หากการ Complain ยังคงดำเนินต่อไป คุณควรทำการประเมินสถานการณ์ พยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกค้าใจเย็นลง และหากจำเป็นควรทำการจำกัดบริเวณ เพื่อไม่ให้กระทบไปยังลูกค้าคนอื่น เช่น หากลูกค้ามีอารมณ์ฉุนเฉียวมาก พูดจาเสียงดัง คุณควรพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลอย่างช้าๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้วคนมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่น วิธีนี้จะช่วยให้ลูกค้าใจเย็นลง หรืออาจจะถามเขาว่าต้องการที่จะรับน้ำดื่มไหม หรือต้องการที่จะไปคุยกันในที่เงียบๆ กว่านี้ไหม

 

4. ระวังการใช้คำพูด

อย่าใช้คำพูดที่จะทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่แย่ลงไปกว่าเดิม เช่น “ไม่” หรือ “ทำไม่ได้” โดยเฉพาะอย่าบอกว่า “ไม่มีปัญหา” เพราะว่าปัญหาได้เกิดขึ้นมาแล้วและลูกค้าก็ไม่พอใจ หรืออาจเป็นคำพูดอื่นๆ ที่จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง เช่น ทางเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบ หรือในส่วนนี้ลูกค้าต้องเป็นคนรับผิดชอบเอง เป็นต้น

 

5. รับทราบข้อร้องเรียน

เพราะคุณไม่สามารถให้ในสิ่งที่ทุกคนต้องการได้ ดังนั้น หากเกิดกรณีคอมเพลนขึ้น อย่างน้อยที่สุดที่ต้องทำคือ การรับทราบในข้อร้องเรียนของลูกค้า โดยเฉพาะถ้าเรื่องที่ถูกคอมเพลนนั้นถูกโพสต์บนโลกออนไลน์ ลูกค้าก็ยิ่งต้องการให้ทางเจ้าของยอมรับให้เร็วที่สุด

 

6. ย้ำให้เห็นว่ารับทราบ

เมื่อได้รับทราบข้อร้องเรียนแล้ว เจ้าของกิจการควรแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าทางร้านรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์บานปลายมากกว่าเดิม

 

7. ตอบกลับพร้อมวิธีจัดการปัญหา

ทุกครั้งในการพูดคุย ทางร้านต้องมีความชัดเจน ต้องบอกให้เคลียร์ว่าจะมีวิธีการจัดการกับปัญหาอย่างไร เมื่อไรที่จะแก้ปัญหานั้นได้ เช่น ในกรณีที่ทางร้านให้รองเท้าลูกค้าผิดไซส์ เมื่อเกิดการ Complain ต้องมีการจัดการ ซึ่งอาจทำการเปลี่ยนรองเท้าที่ถูกต้องให้ทันทีหากลูกค้าอยู่ที่ร้าน หรืออาจทำการจัดส่งให้ในเวลาต่อไป ซึ่งทางร้านต้องทำการแจ้งให้ลูกทราบอย่างชัดเจน

 

8. ติดตามผล

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกันแล้ว ทางร้านควรมีการติดตามผล เช่น ถ้าลูกค้า Complain เรื่องไม่ได้รับสินค้าหรือได้รับสินค้าไม่ถูกต้อง ซึ่งทางร้านได้มีการเปลี่ยนให้แล้ว ควรตรวจสอบให้แน่ใจอีกทีว่า ลูกค้าได้รับสิ่งที่ต้องการแล้ว เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกดีขึ้น มีทัศนคติต่อร้านไปในทางบวกมากขึ้น เพราะเห็นว่าทางร้านให้ความสำคัญ

 

9. กล่าวคำขอบคุณ

สุดท้ายการกล่าวคำขอบคุณออกไป จะช่วยให้อารมณ์ขุ่นหมองที่มีอยู่ในใจของลูกค้าลดลงไปได้ อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่าทางร้านยังให้เกียรติกันอยู่ แม้บางร้านอาจจะไม่ได้ยึดคติที่ว่าลูกค้าคือพระเจ้า แต่ยังไงก็ต้องถือว่าผู้บริโภคเหล่านี้คือคนสำคัญต่อการทำกิจการ นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดว่า การคอมเพลนครั้งนี้เกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีก หรือถ้าเกิดขึ้นอีก ทางร้านจะได้มีวิธีในการรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

บทความแนะนำ

ข้อควรรู้จาก สคบ. ฉลากสินค้าแบบไหนที่เรียกว่า “ดี”

สิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภคหรือลูกค้าในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า คือความมั่นใจว่าสินค้านั้นมีคุณภาพจริง ๆ และสิ่งที่จะทำให้เกิดความั่นใจได้ นั่นคือการได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ ฉลากสินค้าจึงมีความสำคัญกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตโดยโรงงาน หรือนำเข้ามาจำหน่าย ถือเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมฉลาก

โดย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กำหนดว่า “ฉลาก” หมายถึง รูป รอยประดิษฐ์ กระดาษหรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้า ซึ่งแสดงไว้ที่สินค้า หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุสินค้า หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับสินค้า และยังรวมถึงเอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้นด้วย

ดังนั้นมาดูกันว่า ฉลากสินค้าที่ดีควรเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) บอกไว้ว่า ในการจัดทำฉลากสินค้า ผู้ประกอบการต้องบอกรายละเอียดที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจซื้อและใช้งาน

โดยฉลากสินค้าต้องระบุข้อความดังนี้

  • ยี่ห้อ และประเภทหรือชนิดของสินค้า
  • ชื่อ-ที่อยู่ของผู้จัดจำหน่ายหรือนำเข้าที่สามารถติดต่อได้จริง
  • กรณีสั่ง/นำเข้าให้ระบุประเทศที่ผลิต
  • ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
  • ขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก
  • วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ หรือห้ามใช้ หรือคำเตือน (ถ้ามี)
  • วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือที่ควรใช้ก่อน
  • ราคา พร้อมระบุหน่วยบาท

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรรู้เพิ่มเติมสำหรับลักษณะของฉลากสินค้า นั่นคือ

1. ข้อมูลในฉลากต้องตรงกับความเป็นจริง ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาระสำคัญของสินค้า

2. ต้องเป็นภาษาไทย หรือภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศ ซึ่งสามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน

3. ต้องแสดงไว้ที่ตัวสินค้า ภาชนะบรรจุ หีบห่อ หรือสอดแทรกรวมไว้กับสินค้า รวมไปถึงคู่มือ เอกสารประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้า

 

 

ที่มา

http://www.ocpb.go.th/images/banner/Info/1544200783703.jpg

http://www.ocpb.go.th/images/banner/Info/1544200781027.jpg

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

จดเครื่องหมายการค้าด้วยตัวเอง ทำง่ายใน 3 ขั้นตอน

ในการดำเนินธุรกิจนั้น นอกเหนือจากการจดทะเบียนบริษัทแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรดำเนินการให้ถูกต้อง นั่นก็คือ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

ถามว่า ทำไมผู้ประกอบการควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นั่นเพราะว่า เครื่องหมายการค้าจะมีประโยชน์ทั้งทางธุรกิจและทางกฎหมาย กล่าวคือ ในแง่ประโยชน์ทางธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถใช้เครื่องหมายการค้านี้ช่วยสร้างการจดจำให้แก่ผู้บริโภคได้ รวมถึงใช้เครื่องหมายการค้าเป็นตัวแยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่มีอยู่มากมายในท้องตลาดได้อีกด้วย และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบการ SME และคนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้คือ “เครื่องหมายการค้า” เป็นทรัพย์สินที่สามารถนำไปเป็นหลักประกันสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินได้ ขณะที่ประโยชน์ในทางกฎหมาย ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว จะมีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ ได้เพียงผู้เดียว กรณีที่ถูกผู้อื่นละเมิดสิทธิ์ ผู้ประกอบการสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้

ก่อนที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ควรรู้และเข้าใจถึงขั้นตอนของการจดทะเบียนฯ ทั้งหมด ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 8 ขั้นตอน คือ 1. ผู้ประกอบการตรวจค้นเครื่องหมายการค้า เพื่อตรวจสอบว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกับของผู้อื่นหรือไม่ด้วยตัวเอง 2. ยื่นคำขอจดทะเบียน 3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น 4. นายทะเบียนตรวจสอบเครื่องหมายการค้า 5. การประกาศโฆษณา 6. การคัดค้าน 7. ชำระค่าธรรมเนียม และ 8. กรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดทะเบียนเครื่องหมาย ทั้งนี้ โดยภาพรวมจะใช้ระยะเวลาดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 16 เดือนด้วยกัน

จากขั้นตอนที่กล่าวมา ผู้ประกอบการจะดำเนินการเพียงแค่ 3 ขั้นตอนเท่านั้น คือ 1. การตรวจค้นด้วยตัวเอง 2. การยื่นคำขอจดทะเบียน และ 3. การชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งดำเนินการได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง เริ่มจาก…

 

 

1. ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า

ในขั้นตอนแรกของการตรวจค้น ผู้ประกอบการจะต้องทำการตรวจสอบเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของผู้อื่นที่จดทะเบียนไปแล้วหรือไม่ หรืออยู่ระหว่างการขอจดทะเบียนหรือไม่ ซึ่งการตรวจค้นด้วยตัวเอง สามารถทำได้ 2 ทาง คือ ตรวจค้นที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ชั้น 3 โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจค้น 100 บาทต่อชั่วโมง หรือผู้ประกอบการสามารถตรวจค้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเข้าไปที่เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา (คลิกตรวจสอบเครื่องหมายการค้า) ซึ่งจะไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ การตรวจค้นเครื่องหมายด้วยตนเอง เป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งเครื่องหมายการค้าใดจะได้รับการจดทะเบียนหรือไม่ นายทะเบียนจะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียน เปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว โดยการพิจารณาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า

 

 

2. ยื่นคำขอจดทะเบียน

ขั้นตอนต่อมาที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ คือ การยื่นขอจดทะเบียน โดยผู้ประกอบการจะต้องเตรียมเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมกับกรอกข้อความให้สมบูรณ์ ซึ่งเอกสารที่จะใช้สำหรับการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ประกอบไปด้วย

  • คำขอจดทะเบียน (แบบ ก. 01) ดาวน์โหลด แบบ ก.01 โดยจะต้องกรอกแบบฟอร์มดังกล่าวให้ครบถ้วน พร้อมติดรูปเครื่องหมายการค้าขนาดไม่เกิน 5 X 5 เซนติเมตร ต้นฉบับ 1 ชุด และถ่ายสำเนาอีกจำนวน 5 ชุด
  • รูปเครื่องหมายการค้า ที่เหมือนกับรูปที่ติดในคำขอจดทะเบียน จำนวน 5 รูป
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา) หรือต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลฉบับนายทะเบียนรับรองและออกให้ไม่เกิน 6 เดือน (กรณีเป็นนิติบุคคล) ทั้งนี้ ในกรณีการมอบอำนาจ จะต้องใช้หนังสือมอบอำนาจ (แบบ ก.18) ดาวน์โหลด แบบ ก.18 พร้อมปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ต่อผู้รับมอบอำนาจ 1 คน

สำหรับการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถดำเนินการได้ที่ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือทางเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา (คลิกจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์)

 

 

3. ชำระค่าธรรมเนียม รอรับหนังสือสำคัญ

สำหรับขั้นตอนการชำระค่าธรรมเนียมนั้น จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตอนยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ผู้ประกอบการจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจดทะเบียน รายการสินค้าหรือบริการอย่างละ 500 บาท และกรณีที่รูปเครื่องหมายการค้าเกินกว่าที่กำหนด 5 เซนติเมตร ต้องชำระค่าธรรมเนียมเฉพาะส่วนที่เกิน เซนติเมตรละ 100 บาท

หลังจากยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบและพิจารณา หากเครื่องหมายการค้าของท่านได้รับการจดทะเบียน นายทะเบียนจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมรับจดทะเบียน ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมสินค้าหรือบริการ อย่างละ 300 บาท ตามช่องทางเดียวกันกับตอนยื่นขอจดทะเบียนนั่นเอง

จากนั้นผู้ประกอบการจะได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะจัดส่งให้ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนภายใน 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ได้ชำระค่าธรรมเนียม

เพียงเท่านี้ ผู้ประกอบการจะเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ กับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ และกรณีถ้ามีผู้มาละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จดทะบียนไว้ ท่านสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีและเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากบุคคลนั้นได้

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้ไว้ นั่นคือ เครื่องหมายการค้า จดที่ประเทศไหน คุ้มครองเฉพาะประเทศนั้น หากธุรกิจของท่านมีแผนที่จะขยายไปทำตลาดในประเทศอื่นๆ จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อคุ้มครองสิทธิด้วยเช่นกัน

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ