3 ขั้นตอนจดทะเบียนบริษัทได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสำหรับผู้ประกอบการหลายๆ คนมองมักว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบาก เพราะต้องมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและต้องเตรียมเอกสารมากมาย แต่ปัจจุบันกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการพัฒนาระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ผ่านทาง www.dbd.go.th เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ สามารถดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ดังนั้น มาดูกันว่าหากผู้ประกอบการจะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยตนเองต้องทำอย่างไรบ้าง   1. จองชื่อบริษัท สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ คือ จองชื่อบริษัท ด้วยการเข้าไปยื่นจองชื่อนิติบุคคลผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th คลิกที่เมนู จองชื่อนิติบุคคล ซึ่งชื่อที่จะใช้นั้นต้องไม่ซ้ำ หรือใกล้เคียงกับบริษัทที่เคยจดทะเบียนไปแล้ว โดยจะทำการจองได้ครั้งละ 1 ชื่อเท่านั้น จากนั้นให้ดำเนินการจองชื่อและนายทะเบียนจะทำการตรวจสอบ เมื่อจองชื่อได้แล้วจะต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นต้องทำการจองชื่อใหม่ 2. จัดเตรียมข้อมูลให้พร้อม ในการจดทะเบียนบริษัท ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลสำหรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและการจดจัดตั้งบริษัท ซึ่งหนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือที่แสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท มีไว้เพื่อระบุขอบเขตต่างๆ ของธุรกิจ โดยผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิไปในคราวเดียวกันได้ แต่จะต้องมีการเตรียมข้อมูลให้พร้อมเพื่อความถูกต้องและรวดเร็ว สำหรับข้อมูลที่ต้องเตรียมไว้ให้พร้อมมีดังนี้
  1. ชื่อบริษัทตามที่ได้จองไว้
  2. รายละเอียดที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หากไม่ได้เป็นเจ้าของสถานที่เอง ต้องมีหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่
  3. วัตถุประสงค์ของบริษัทต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม
  4. ทุนจดทะเบียน เป็นการจำกัดความรับผิดชอบความเสียหายที่บริษัทอาจก่อขึ้น ส่วนใหญ่นิยมจดกันที่ 1 ล้านบาท
  5. ข้อมูลผู้เริ่มก่อการ หากอธิบายง่ายๆ ก็คือ ผู้ก่อตั้งธุรกิจนั่นเอง จะต้องมีอย่างน้อย 3 คน และต้องจองซื้อหุ้นอย่างน้อยคนละ 1 หุ้น
  6. ข้อมูลผู้ถือหุ้น ชื่อ-สกุล ที่อยู่ สัญชาติ และจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน
  7. ข้อมูลพยาน ต้องมี 2 คน โดยกรอก ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน วันเกิด ที่อยู่ อาชีพ
  8. รายละเอียดการประชุมจัดตั้งบริษัท เช่น ข้อมูลกรรมการบริษัท ชื่อ-สกุล ที่อยู่ และวันเกิดของกรรมการบริษัทแต่ละคน ข้อมูลผู้สอบบัญชี โดยกรอกชื่อ-นามสกุล เลขทะเบียนผู้สอบบัญชี และค่าตอบแทน และอำนาจกรรมการ ระบุจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท และระบุว่าต้องมีตราประทับหรือไม่ ถ้าเลือกต้องมีตราประทับก็จะต้องจัดทำตรายางด้วย เป็นต้น
3. ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านระบบออนไลน์ การยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท สามารถดำเนินการผ่าน ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยสามารถยื่นจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทั้งในรูปแบบของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัด เริ่มจากลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว เพื่อขอรับ Username และ Password สำหรับใช้งานระบบ e-Registration ได้ที่ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1-6 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการต้องไปแสดงตัวตนต่อหน้านายทะเบียน หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนก็ได้ เท่านี้ก็จะมีรายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว จากนั้นให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ e-Registration เพื่อยื่นคำขอจดทะเบียน และชำระค่าธรรมเนียม หากผู้ประกอบการชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัทครบถ้วนแล้ว นายทะเบียนจะทำการรับเรื่องจดทะเบียน และแจ้งผลการจดทะเบียนผ่านอีเมล์  เมื่อท่านได้รับอีเมล์ ถือเป็นที่สิ้นสุดการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ จากนั้นรอรับหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งจะถูกจัดส่งให้กับท่านทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ ซึ่งได้ระบุไว้ในระบบการลงทะเบียน e-Registration นั่นเอง   Published on 30 July 2019 SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"  

บทความแนะนำ

ผลสำรวจชี้! 9 ใน 10 ของคนไทย อยากเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง

เฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น เผยผลสำรวจ “ความเป็นผู้ประกอบการในเอเชียแปซิฟิค ประจำปี 2562” ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ปี 2562 ครอบคลุมประเทศออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไทย ผลสำรวจพบ ไทยจัดอยู่ในอันดับต้นๆ สำหรับประเทศที่ผู้คนต้องการจะเป็นผู้ประกอบการ โดยเกือบ 9 ใน 10 ของคนไทย (ร้อยละ 89) พวกเขาอยากเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง ตามหลังอินโดนีเซีย (ร้อยละ 96) และฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 92) ตามลำดับ นอกจากนี้ คนไทยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 69) มองว่า “การได้เป็นนายตัวเอง” เป็นข้อดีที่จูงใจทำให้อยากมีธุรกิจของตัวเองมากที่สุด ส่วนข้อดีอื่น ๆ ได้แก่ “อยากมีรายได้เพิ่มขึ้น” (ร้อยละ 65) และ “มีความยืดหยุ่นในการจัดสรรเวลาทำงาน/ชีวิต” (ร้อยละ 59)  ร้อยละ 93 ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยที่มีธุรกิจของตัวเองแล้ว เชื่อว่ามันช่วยสร้างความสุขให้กับพวกเขาได้มากกว่า แสดงให้เห็นว่าการได้เป็นผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับผู้คน และความรู้สึกเช่นนี้พบมากที่สุดในอินโดนีเซียและฟิลลิปปินส์ (ร้อยละ 94) ในขณะที่ไทยมาเป็นอันดับสาม ความต้องการที่จะเติมเต็มความฝัน เป็นแรงผลักดันให้คนเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง เมื่อถูกถามถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง ผู้ประกอบการชาวไทยให้เหตุผลว่า “ต้องการทำตามความฝัน” ซึ่งร้อยละ 63 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีธุรกิจของตนเองแล้วเห็นด้วยกับเหตุผลดังกล่าว ตามมาด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้
  • อยากมีรายได้เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 59)
  • ครอบครัวให้การสนับสนุน (ร้อยละ 43)
  • ทำตามเสียงเรียกร้องในใจ/สัญชาตญาณ (ร้อยละ 32)
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มีความมุ่งมั่นหรือผู้ที่กำลังเป็นเจ้าของธุรกิจในไทยได้ตอบคำถามว่าต้องการเน้นหารายได้หรือทำตามความฝันของตนเองมากกว่ากัน ดังนี้
  • เน้นทั้งหารายได้และทำตามความฝัน (ร้อยละ 44)
  • เน้นหารายได้เป็นหลัก (ร้อยละ 42)
  • ทำตามความฝัน (ร้อยละ 11)
ร้อยละ 74 ของผู้ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง กล่าวว่าพวกเขาใฝ่ฝันถึงวันที่สามารถบอกเจ้านายได้ว่าขอลาออก และด้วยเหตุผลที่ดี ก็มีคนจำนวนเท่ากันที่เชื่อว่าไอเดียธุรกิจของตนเองมีความล้ำหน้ากว่าใครๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการมีธุรกิจของตัวเองจะเป็นสิ่งที่พวกเขาปรารถนา ร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสอบถามบางครั้งก็รู้สึกว่าพวกเขาอาจไม่มีวันมีโอกาสได้เป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง เงินทุนเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเจ้าของธุรกิจในไทย เมื่อถูกถามเกี่ยวกับอุปสรรคของการเป็นผู้ประกอบการ ร้อยละ 51 ของคนไทยที่ต้องการมีธุรกิจของตนเองยกเหตุผลด้านเงินทุนในการเริ่มต้นธุรกิจเป็นอุปสรรคอันดับหนึ่งที่ทำให้ไม่อาจมีธุรกิจของตัวเองได้ ตามมาด้วยปัจจัยอื่นๆ ดังนี้
  • กังวลว่าธุรกิจจะไม่ประสบความสำเร็จ (ร้อยละ 37)
  • ไม่มีความรู้เรื่องการเงินและการตลาดอย่างเพียงพอ (ร้อยละ 34)
  • กังวลว่าธุรกิจจะไม่ทำกำไร (ร้อยละ 33)
สำหรับเงินทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจ ร้อยละ 78 ของคนไทยกล่าวว่าจะใช้เงินของตัวเองในการลงทุน ขณะที่ร้อยละ 33 จะขอกู้ยืมสำหรับธุรกิจขนาดย่อม และร้อยละ 32 จะใช้เงินจากครอบครัว อย่างไรก็ดี คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 73 ระบุว่า จะมีความมั่นใจเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองมากขึ้นหากมีหุ้นส่วนร่วมด้วย และร้อยละ 83 เห็นว่า การเริ่มประกอบธุรกิจในประเทศไทยนั้นง่ายกว่าประเทศอื่น   Published on 26 July 2019 SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"

บทความแนะนำ

Wongnai เปิด Co - Cooking Space คอมมูนิตี้ของคนรักการทำอาหาร

เกิดขึ้นแล้ว! คอมมูนิตี้ สำหรับคนรักการทำอาหารแห่งแรกของไทย ภายใต้ชื่อ “Wongnai Co - Cooking Space” โดยเปิดบริการให้ทุกคนเข้ามาร่วมสร้างประสบการณ์การทำอาหาร กับทีมเชฟมืออาชีพจาก Wongnai ที่รวบรวมสูตรเด็ดจาก Wongnai Cooking กว่า 16,000 สูตร ให้ทุกคนได้มาสร้างประสบการณ์การทำอาหารร่วมกัน คุณยอด ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด กล่าวถึงที่มาในการเปิด “Wongnai Co - Cooking Space” ในครั้งนี้ว่า พื้นที่นี้เป็น good space ที่เชื่อมต่อ คนที่ชื่นชอบในการทำอาหารมาพบปะและแชร์ความรู้ ซึ่งปัจจุบัน “การทำอาหาร” เป็นอีกหนึ่ง Lifestyle ของคนยุคใหม่ ดูได้จากการที่มีคนเข้ามาค้นหาสูตรอาหารบน Wongnai Cooking มากกว่า 1,500,000 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีสูตรอาหารที่ถูก submit เข้ามาบน Wongnai มากกว่า 16,000 สูตร ด้วยเหตุนี้ จึงอยากดึง Lifestyle บน online มาสู่ offline เป็นอีกหนึ่งการเชื่อมต่อสิ่งดีๆ ให้กับทุกคน ที่สามารถเข้าถึงสามารถได้ลงมือทำจริง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนที่ชื่นชอบการทำกิจกรรมนอกบ้าน รักการทำอาหาร อยากเรียนรู้การทำอาหาร รวมไปถึงแม่บ้านยุคใหม่ที่มีเวลาว่างและอยากหาความรู้เพิ่มเติม โดยคาดการณ์ว่าจะมีคนมาใช้ Co - Cooking Space จำนวน 200-300 คน ต่อเดือน นอกจากนั้น เรายังมีพันธมิตรอย่าง Electrolux, Geoluxe และ True Digital Park เข้ามาร่วมสนับสนุน Wongnai Co - Cooking Space อีกด้วย Wongnai Co - Cooking Space พร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ มีกิจกรรมการเรียนการสอนทำอาหาร กับทีมเชฟจาก Wongnai และยังมีพื้นที่รองรับการจัดกิจกรรมต่างๆสำหรับเหล่าคนรักการทำอาหาร ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเชื่อมต่อคนไทยเข้าสู่กิจกรรมไลฟ์สไตล์ดีๆ ตามวิสัยทัศน์“Connect People to Good Stuff” ของ Wongnai อีกด้วย สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/wongnaicocooking หรือโทร 098-994-6567   Published on 12 July 2019 SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"  

บทความแนะนำ

สมาพันธ์ SME กับมุมมองทางรอดเอสเอ็มอียุคโควิด

นับตั้งแต่โลกต้องเผชิญกับโรคระบาด COVID-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่หายไปจากระบบแล้ว 35% จากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด  3 ล้านราย ส่วนจำนวนที่เหลือในระบบส่วนใหญ่ก็ล้วนอยู่ในความเปราะบางท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

คุณโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์ SME ไทย กล่าวว่ากลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและค้าปลีกเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ 100% ในช่วง 2 เดือนแรก แม้หลังคลายล็อค มีกระแสเงินสดเข้ามามากขึ้นก็ตาม แต่แค่พอหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอดเท่านั้น ในขณะเอสเอ็มอีกลุ่มอื่นๆ ก็มีอาการอ่อนล้าไม่ต่างกัน หากภาครัฐไม่ต่อมาตรการพักชำระหนี้อีกครั้ง และสถานการณ์ยังคงลากยาวต่อไป เชื่อว่าเอสเอ็มอีที่เหลืออยู่ในวันนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเลิกกิจการไปอีกจำนวนมากในปีหน้า

“ธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ได้ด้วยกระแสเงินสด และไม่มีการบริหารความเสี่ยงด้านเงินทุนที่ดีพอ เมื่อยิ่งเจอกับวิกฤต COVID-19 ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งเกิดจากหลายๆ สาเหตุ เช่น เอสเอ็มอีต้องจ่ายค่าผลิตไปก่อนแต่ไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้ทันที เนื่องจากติดกับกับเครดิตเทอมที่มีระยะเวลายาวนาน แต่ต้องรับภาระในการจ่ายภาษีไปก่อน เมื่อเป็นอย่างนี้หลายๆ รายจึงเกิดการสะสมให้เงินลงทุนจมไปเรื่อยๆ อีกปัจจัยหนึ่งมาจากธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีระบบออโตเมท จึงจำเป็นต้องใช้แรงงาน เมื่อไม่มีเงินมาหมุน แต่ต้องจ่ายค่าแรง ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล เป็นต้น ทุกอย่างล้วนเป็นปัญหาลูกโซ่ที่ทำให้เอสเอ็มอีมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจมากขึ้น”

คุณโชนรังสี สะท้อนถึงมาตรการภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมาว่า ยังไม่เพียงพอต่อความเสียหาย ไม่ครอบคลุมในทุกกลุ่มผู้ประกอบการ ที่สำคัญยังไม่ทันต่อสถานการณ์ ดังนั้นทางสมาพันธ์ SME ไทยจึงได้มีการยื่นข้อเสนอไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้ข้อเสนอ “2 ลด 2 เพิ่ม” 

เริ่มจาก “2 ลด” ได้แก่ การลดภาระหนี้ให้กับผู้ประกอบการ ผ่านการรวมหนี้จากหลายๆ สถาบันการเงินที่ผู้ประกอบการขอสินเชื่อให้มาอยู่ในสถาบันการเงินเดียว เพื่อเกิดความคล่องตัวในการปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นกรณีพิเศษ และไม่เป็นแบล็กลิสต์ ส่วนผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเอ็นพีแอล หรือที่เป็นแล้ว ภาครัฐควรมีวิธีการพิจารณาคัดแยกเกรดใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่พอมีศักยภาพในการฟื้นตัวสามารถกลับเข้ามาอยู่ในสนามรบได้อีกครั้ง 

“ที่ผ่านมาการช่วยเหลือด้านแหล่งเงินทุนที่เป็นสินเชื่อจากทางภาครัฐมีความล่าช้า เนื่องจากมีกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาที่ไม่เอื้อต่อสถานการณ์โรคระบาดที่เปลี่ยนไปเร็ว ทั้งยังมีเงื่อนไขที่ไม่ยืดหยุ่น ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ จนต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ส่วนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติในการยื่นขอสินเชื่อ ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะผ่านขั้นตอนการพิจารณา เราจึงคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ควรเปิดช่องทางให้สถาบันการเงินแบ่งสินเชื่อที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีออกเป็น 2 ขยัก โดยปล่อยเม็ดเงินบางส่วนออกมาก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินตรงนั้นมาหยุดเลือด หรือรันให้ธุรกิจพอหายใจได้ ส่วนขยักที่ 2 ก็ว่ากันไปตามขั้นตอน แต่ต้องก็มีความยืดหยุ่นด้วย”    

ต่อมาคือ การลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ ด้วยการยืดมาตรการที่ภาครัฐทำอยู่แล้ว อาทิ ลดหย่อนอัตราการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ลดอัตราค่าสาธารณูปโภคอย่างค่าน้ำค่าไฟ หรือแม้กระทั่งค่าจัดส่งของไปรษณีย์ไทย เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ให้ได้มากที่สุด    

ส่วน “2 เพิ่ม” ได้แก่ การเพิ่มสภาพคล่อง ผ่านการให้สินเชื่อที่มีกลไกเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ดีกว่าที่ผ่านมา , สร้างกองทุนเอสเอ็มอี และมาตรการลดหย่อนทางภาษี หรือลดสัดส่วนเปอร์เซ็นต์การหักภาษี โดยเฉพาะภาษีนิติลบุคคลประจำปี เพื่อต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องต่อไปในปีหน้าได้ 

อีกหนึ่งเพิ่ม คือ เพิ่มโอกาสการค้าทางการตลาด โดยเฉพาะในยามที่สินค้ายังไม่สามารถส่งออกได้ตามปกติ ทางภาครัฐควรสร้างกลไกให้เกิดช่องทางตลาดในประเทศมากขึ้น

คุณโชนรังสี กล่าวว่า ข้อเสนอ “2 ลด 2 เพิ่ม” ดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวภาครัฐต้องสร้างความแข็งแรง และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอี ด้วยการสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจทั้งปัจจัยภายนอกภายในให้เอสเอ็มอีทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น และสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ระดับสากล

ในเวลาเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องช่วยตัวเอง ด้วยการต้องทรานส์ฟอร์มองค์กรให้ทันกับยุคดิจิตัล โดยเพิ่มทักษะทางด้านดิจิตัลให้กับคนรุ่นเก่าที่ทำงานอยู่ในองค์กร และเติมพนักงานรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ในอนาคตมีแนวโน้มความไม่แน่นอนสูง ผู้ประกอบการต้องมีสติ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนโมเดลการทำงานแบบ Agility เพื่อปรับตัวได้เร็ว ที่สำคัญต้องวางแผนกระแสเงินสด ประเมินตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ปีละครั้งเหมือนในอดีต

“ในฐานะตัวแทนสมาพันธ์ SME ไทย เราอยากให้เอสเอ็มอีมี Mindset ของการเป็นนักสู้ซึ่งเป็นนักสู้อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเราเป็นนักสู้แบบมวยวัด ดังนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นมวยสากลให้ได้ อย่างไรก็ดีท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก อยากเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกคนพยายามมีความหวัง โดยสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธ์ SME ไทย ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ทุกคนหาทางออกหรือเพิ่มโอกาสทางธุรกิจต่อไปได้ จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นระหว่างสมาชิกด้วยกัน ตามสโลแกนของสมาพันธ์ SME ไทยที่ว่า “เพื่อนช่วยเพื่อน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” 


Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

9 ขั้นตอนแก้ปัญหา เมื่อถูกลูกค้า Complain

1. ทำความเข้าใจลูกค้า

ในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญที่มากกว่าการขาย คือ การรู้จักเอาใจลูกค้ามาใส่ใจเรา ดังนั้น เมื่อถูกลูกค้า Complain สิ่งที่เจ้าของกิจการควรทำคือ การแสดงถึงความเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าได้เจอ ลองคิดในมุมกลับกันว่า ถ้าเราได้รับบริการแบบนี้ เราจะบ่นแบบเดียวกันหรือไม่

 

2. รับฟัง

เมื่อถูกลูกค้าต่อว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการรับฟัง อย่าเพิ่งไปขัดจังหวะ และควรใช้สายตาที่แสดงถึงการตั้งใจฟัง เพื่อทำให้ลูกค้ารู้ว่า คุณพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ

 

3. ประเมินสถานการณ์

หากการ Complain ยังคงดำเนินต่อไป คุณควรทำการประเมินสถานการณ์ พยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกค้าใจเย็นลง และหากจำเป็นควรทำการจำกัดบริเวณ เพื่อไม่ให้กระทบไปยังลูกค้าคนอื่น เช่น หากลูกค้ามีอารมณ์ฉุนเฉียวมาก พูดจาเสียงดัง คุณควรพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลอย่างช้าๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้วคนมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่น วิธีนี้จะช่วยให้ลูกค้าใจเย็นลง หรืออาจจะถามเขาว่าต้องการที่จะรับน้ำดื่มไหม หรือต้องการที่จะไปคุยกันในที่เงียบๆ กว่านี้ไหม

 

4. ระวังการใช้คำพูด

อย่าใช้คำพูดที่จะทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่แย่ลงไปกว่าเดิม เช่น “ไม่” หรือ “ทำไม่ได้” โดยเฉพาะอย่าบอกว่า “ไม่มีปัญหา” เพราะว่าปัญหาได้เกิดขึ้นมาแล้วและลูกค้าก็ไม่พอใจ หรืออาจเป็นคำพูดอื่นๆ ที่จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง เช่น ทางเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบ หรือในส่วนนี้ลูกค้าต้องเป็นคนรับผิดชอบเอง เป็นต้น

 

5. รับทราบข้อร้องเรียน

เพราะคุณไม่สามารถให้ในสิ่งที่ทุกคนต้องการได้ ดังนั้น หากเกิดกรณีคอมเพลนขึ้น อย่างน้อยที่สุดที่ต้องทำคือ การรับทราบในข้อร้องเรียนของลูกค้า โดยเฉพาะถ้าเรื่องที่ถูกคอมเพลนนั้นถูกโพสต์บนโลกออนไลน์ ลูกค้าก็ยิ่งต้องการให้ทางเจ้าของยอมรับให้เร็วที่สุด

 

6. ย้ำให้เห็นว่ารับทราบ

เมื่อได้รับทราบข้อร้องเรียนแล้ว เจ้าของกิจการควรแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าทางร้านรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์บานปลายมากกว่าเดิม

 

7. ตอบกลับพร้อมวิธีจัดการปัญหา

ทุกครั้งในการพูดคุย ทางร้านต้องมีความชัดเจน ต้องบอกให้เคลียร์ว่าจะมีวิธีการจัดการกับปัญหาอย่างไร เมื่อไรที่จะแก้ปัญหานั้นได้ เช่น ในกรณีที่ทางร้านให้รองเท้าลูกค้าผิดไซส์ เมื่อเกิดการ Complain ต้องมีการจัดการ ซึ่งอาจทำการเปลี่ยนรองเท้าที่ถูกต้องให้ทันทีหากลูกค้าอยู่ที่ร้าน หรืออาจทำการจัดส่งให้ในเวลาต่อไป ซึ่งทางร้านต้องทำการแจ้งให้ลูกทราบอย่างชัดเจน

 

8. ติดตามผล

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกันแล้ว ทางร้านควรมีการติดตามผล เช่น ถ้าลูกค้า Complain เรื่องไม่ได้รับสินค้าหรือได้รับสินค้าไม่ถูกต้อง ซึ่งทางร้านได้มีการเปลี่ยนให้แล้ว ควรตรวจสอบให้แน่ใจอีกทีว่า ลูกค้าได้รับสิ่งที่ต้องการแล้ว เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกดีขึ้น มีทัศนคติต่อร้านไปในทางบวกมากขึ้น เพราะเห็นว่าทางร้านให้ความสำคัญ

 

9. กล่าวคำขอบคุณ

สุดท้ายการกล่าวคำขอบคุณออกไป จะช่วยให้อารมณ์ขุ่นหมองที่มีอยู่ในใจของลูกค้าลดลงไปได้ อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่าทางร้านยังให้เกียรติกันอยู่ แม้บางร้านอาจจะไม่ได้ยึดคติที่ว่าลูกค้าคือพระเจ้า แต่ยังไงก็ต้องถือว่าผู้บริโภคเหล่านี้คือคนสำคัญต่อการทำกิจการ นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดว่า การคอมเพลนครั้งนี้เกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีก หรือถ้าเกิดขึ้นอีก ทางร้านจะได้มีวิธีในการรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

บทความแนะนำ