
นับตั้งแต่โลกต้องเผชิญกับโรคระบาด COVID-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่หายไปจากระบบแล้ว 35% จากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด 3 ล้านราย ส่วนจำนวนที่เหลือในระบบส่วนใหญ่ก็ล้วนอยู่ในความเปราะบางท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
คุณโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์ SME ไทย กล่าวว่ากลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและค้าปลีกเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ 100% ในช่วง 2 เดือนแรก แม้หลังคลายล็อค มีกระแสเงินสดเข้ามามากขึ้นก็ตาม แต่แค่พอหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอดเท่านั้น ในขณะเอสเอ็มอีกลุ่มอื่นๆ ก็มีอาการอ่อนล้าไม่ต่างกัน หากภาครัฐไม่ต่อมาตรการพักชำระหนี้อีกครั้ง และสถานการณ์ยังคงลากยาวต่อไป เชื่อว่าเอสเอ็มอีที่เหลืออยู่ในวันนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเลิกกิจการไปอีกจำนวนมากในปีหน้า
“ธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ได้ด้วยกระแสเงินสด และไม่มีการบริหารความเสี่ยงด้านเงินทุนที่ดีพอ เมื่อยิ่งเจอกับวิกฤต COVID-19 ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งเกิดจากหลายๆ สาเหตุ เช่น เอสเอ็มอีต้องจ่ายค่าผลิตไปก่อนแต่ไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้ทันที เนื่องจากติดกับกับเครดิตเทอมที่มีระยะเวลายาวนาน แต่ต้องรับภาระในการจ่ายภาษีไปก่อน เมื่อเป็นอย่างนี้หลายๆ รายจึงเกิดการสะสมให้เงินลงทุนจมไปเรื่อยๆ อีกปัจจัยหนึ่งมาจากธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีระบบออโตเมท จึงจำเป็นต้องใช้แรงงาน เมื่อไม่มีเงินมาหมุน แต่ต้องจ่ายค่าแรง ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล เป็นต้น ทุกอย่างล้วนเป็นปัญหาลูกโซ่ที่ทำให้เอสเอ็มอีมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจมากขึ้น”
คุณโชนรังสี สะท้อนถึงมาตรการภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมาว่า ยังไม่เพียงพอต่อความเสียหาย ไม่ครอบคลุมในทุกกลุ่มผู้ประกอบการ ที่สำคัญยังไม่ทันต่อสถานการณ์ ดังนั้นทางสมาพันธ์ SME ไทยจึงได้มีการยื่นข้อเสนอไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้ข้อเสนอ “2 ลด 2 เพิ่ม”
เริ่มจาก “2 ลด” ได้แก่ การลดภาระหนี้ให้กับผู้ประกอบการ ผ่านการรวมหนี้จากหลายๆ สถาบันการเงินที่ผู้ประกอบการขอสินเชื่อให้มาอยู่ในสถาบันการเงินเดียว เพื่อเกิดความคล่องตัวในการปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นกรณีพิเศษ และไม่เป็นแบล็กลิสต์ ส่วนผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเอ็นพีแอล หรือที่เป็นแล้ว ภาครัฐควรมีวิธีการพิจารณาคัดแยกเกรดใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่พอมีศักยภาพในการฟื้นตัวสามารถกลับเข้ามาอยู่ในสนามรบได้อีกครั้ง
“ที่ผ่านมาการช่วยเหลือด้านแหล่งเงินทุนที่เป็นสินเชื่อจากทางภาครัฐมีความล่าช้า เนื่องจากมีกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาที่ไม่เอื้อต่อสถานการณ์โรคระบาดที่เปลี่ยนไปเร็ว ทั้งยังมีเงื่อนไขที่ไม่ยืดหยุ่น ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ จนต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ส่วนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติในการยื่นขอสินเชื่อ ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะผ่านขั้นตอนการพิจารณา เราจึงคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ควรเปิดช่องทางให้สถาบันการเงินแบ่งสินเชื่อที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีออกเป็น 2 ขยัก โดยปล่อยเม็ดเงินบางส่วนออกมาก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินตรงนั้นมาหยุดเลือด หรือรันให้ธุรกิจพอหายใจได้ ส่วนขยักที่ 2 ก็ว่ากันไปตามขั้นตอน แต่ต้องก็มีความยืดหยุ่นด้วย”
ต่อมาคือ การลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ ด้วยการยืดมาตรการที่ภาครัฐทำอยู่แล้ว อาทิ ลดหย่อนอัตราการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ลดอัตราค่าสาธารณูปโภคอย่างค่าน้ำค่าไฟ หรือแม้กระทั่งค่าจัดส่งของไปรษณีย์ไทย เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ให้ได้มากที่สุด
ส่วน “2 เพิ่ม” ได้แก่ การเพิ่มสภาพคล่อง ผ่านการให้สินเชื่อที่มีกลไกเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ดีกว่าที่ผ่านมา , สร้างกองทุนเอสเอ็มอี และมาตรการลดหย่อนทางภาษี หรือลดสัดส่วนเปอร์เซ็นต์การหักภาษี โดยเฉพาะภาษีนิติลบุคคลประจำปี เพื่อต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องต่อไปในปีหน้าได้
อีกหนึ่งเพิ่ม คือ เพิ่มโอกาสการค้าทางการตลาด โดยเฉพาะในยามที่สินค้ายังไม่สามารถส่งออกได้ตามปกติ ทางภาครัฐควรสร้างกลไกให้เกิดช่องทางตลาดในประเทศมากขึ้น
คุณโชนรังสี กล่าวว่า ข้อเสนอ “2 ลด 2 เพิ่ม” ดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวภาครัฐต้องสร้างความแข็งแรง และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอี ด้วยการสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจทั้งปัจจัยภายนอกภายในให้เอสเอ็มอีทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น และสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ระดับสากล
ในเวลาเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องช่วยตัวเอง ด้วยการต้องทรานส์ฟอร์มองค์กรให้ทันกับยุคดิจิตัล โดยเพิ่มทักษะทางด้านดิจิตัลให้กับคนรุ่นเก่าที่ทำงานอยู่ในองค์กร และเติมพนักงานรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ในอนาคตมีแนวโน้มความไม่แน่นอนสูง ผู้ประกอบการต้องมีสติ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนโมเดลการทำงานแบบ Agility เพื่อปรับตัวได้เร็ว ที่สำคัญต้องวางแผนกระแสเงินสด ประเมินตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ปีละครั้งเหมือนในอดีต
“ในฐานะตัวแทนสมาพันธ์ SME ไทย เราอยากให้เอสเอ็มอีมี Mindset ของการเป็นนักสู้ซึ่งเป็นนักสู้อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเราเป็นนักสู้แบบมวยวัด ดังนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นมวยสากลให้ได้ อย่างไรก็ดีท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก อยากเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกคนพยายามมีความหวัง โดยสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธ์ SME ไทย ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ทุกคนหาทางออกหรือเพิ่มโอกาสทางธุรกิจต่อไปได้ จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นระหว่างสมาชิกด้วยกัน ตามสโลแกนของสมาพันธ์ SME ไทยที่ว่า “เพื่อนช่วยเพื่อน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
“หมูปิ้ง” เป็นหนึ่งในอาหารมื้อด่วนที่คนไทยนิยมและคุ้นเคย มีกลุ่มเป้าหมายหลากหลายวัยตั้งแต่เด็กนักเรียนไปจนคนทำงานออฟฟิศ เป็นหนึ่งในสินค้า Street Food ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป และขายได้ตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนพลบค่ำ แต่ใครจะคิดว่า แค่หมูปิ้งเสียบไม้ก็สามารถทำให้ชีวิตคนๆ หนึ่งให้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมากมาย
จากที่เคยเป็นคนหาเช้ากินค่ำ มีรายได้วันละไม่กี่ร้อยบาทได้กลายเป็นเจ้าของธุรกิจระดับร้อยล้าน จากยอดขายหมูปิ้งเสียบไม้ที่มากถึง 1.2 แสนไม้ต่อวัน และจากหมูปิ้งข้างถนนแต่วันนี้สามารถต่อยอดให้คนอีกจำนวนไม่น้อย ได้มีรายได้เสริม หรือทำเป็นอาชีพหลักจากการขายหมูปิ้งนมสด (พร้อมปิ้ง) ของเขา
คุณชวพจน์ ชูหิรัญ หรือ “เฮียนพ” คือบุคคลที่เรากำลังกล่าวถึง ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของ บริษัท หมูนุ่ม จำกัด ซึ่งได้เริ่มทำธุรกิจหมูปิ้งมาตั้งแต่ปี 2550 และเริ่มจดทะเบียนบริษัทปี 2556 จนกลายเป็นธุรกิจอาหารอุตสาหกรรม แบบขายส่ง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่เฮียนพได้สูตรเด็ดหมักหมูปิ้งมาจาก “คุณอั้ว อักษร” แม่ค้าหมูปิ้งหน้าสถานีตำรวจ อำเภอปากเกร็ด ก็ได้เริ่มขายหมูปิ้งกับน้องสาวควบคู่ไปกับการขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และเริ่มหาตลาดด้วยการขายส่งหมูหมักที่ยังไม่ได้ปิ้งให้กับคนที่สนใจอยากขายหมูปิ้ง กระทั่งวันหนึ่งก็มีคนมาติดต่อให้ผลิตหมูปิ้งเสียบไม้ด้วยยอดการสั่งซื้อวันละ 20,000 ไม้ แต่ตอนนั้นมีกำลังการผลิตประมาณ 10,000 ไม้ต่อวัน
ตอนนั้นกำลังการผลิตไม่เพียงพอเพราะเพิ่มขึ้นถึง 100% เขาจึงขอแบ่งส่งวันละ 2 รอบ และเริ่มขยายกำลังการผลิต จนในที่สุดก็สามารถตั้งโรงงานผลิตและส่งออก ที่มีกำลังการผลิตหมูปิ้งเสียบไม้เฉลี่ย 1 – 1.2 แสนไม้ต่อวัน พร้อมการสร้างแบรนด์ “เฮียนพหมูนุ่ม” ที่ทำให้คนเริ่มรู้จักมากขึ้น
จุดเด่นหมูปิ้งของเฮียนพ คือ การเป็นหมูนุ่มที่ผ่านการหมักด้วยส่วนผสมของเครื่องปรุงที่หลากหลาย ซึ่งสูตรการหมักอาจเหมือนหมูปิ้งนมสดทั่วไป แต่จุดที่ทำให้หมูปิ้งเฮียนพมีความพิเศษมากขึ้น นั่นคือการเลือกใช้เนื้อหมูคุณภาพดีที่มีแหล่งซื้อประจำจากเบทาโกร ซีพี และวีซี มีท พร้อมสร้างมาตรฐานการผลิตด้วยโรงงานที่ได้มาตรฐาน อย. และ GMP ซึ่งในหมูปิ้ง 1 ไม้ จะประกอบด้วยส่วนของเนื้อ 80% และมันหมู 20% เพื่อให้ได้รสชาติที่กลมกล่อมยิ่งขึ้น
ต่อมา เฮียนพ ได้เพิ่มความหลากหลายของสินค้า ด้วยเมนูเด็ดยอดนิยมอย่างไก่ย่างโบราณ ไส้กรอกโบราณ ไส้อั่วสมุนไพร และหมูพวง โดยมีการทำตลาดทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ ซึ่งมีการขายส่งในแบบที่เป็นวัตถุดิบพร้อมปิ้งสำหรับนำไปขายต่อ โดยสินค้าบางชนิดมีจำหน่ายในแมคโคร และแมคแวลู ส่วนสินค้าพร้อมทานสำหรับลูกค้าทั่วไปสามารถสั่งผ่าน Delivery Food App ต่างๆ เช่น ไลน์แมน แกร็บฟู้ด ฟู้ดแพนด้า เป็นต้น
สำหรับวัตถุดิบพร้อมปิ้งจะอยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบสุญญากาศอย่างดี มีให้เลือกหลายรูปแบบ เช่น หมูนุ่ม แพคละ 10 ไม้ แบบไม้กลมราคา 55 บาท ไม้พายราคา 65 บาท หมูไอติม แพคละ 10 ไม้ ราคา 55 บาท แบบบรรจุกล่อง 80 ไม้ ราคา 440 บาท ไก่ย่างโบราณ แพคละ 10 ไม้ ราคา 65 บาท แบบบรรจุกล่อง 100 ไม้ ราคา 650 บาท ไส้กรอกโบราณ แพคละ 10 ไม้ ราคา 60 บาท ไส้อั่วสมุนไพร แพคละ 10 ชิ้น ราคา 70 บาท และหมูพวง แพคละ 10 ไม้ ราคา 70 บาท
โดยแนวทางการทำตลาดของ เฮียนพ จะมีการขยายตลาดที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายถึง 4 กลุ่มหลัก คือ
1) กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ที่ซื้อสินค้าพร้อมปิ้งเพื่อไปขายต่อ
2) กลุ่มตัวแทนจำหน่าย ที่จำสินค้าไปกระจายต่อในจังหวัดต่างๆ ?
3) กลุ่มจ้างผลิต (OEM) เพื่อนำไปจำหน่ายและสร้างแบรนด์ และ
4) กลุ่มโมเดิร์นเทรด ที่จำหน่ายสินค้าบางชนิด
“ถ้ากำลังการผลิตไม่เพียงพอ คุณก็ต้องจ้างผลิต เพราะการทำธุรกิจเรื่องของกำลังการผลิตเป็นเรื่องสำคัญ” เฮียนพ กล่าว พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
ปัจจุบัน ได้ขยายธุรกิจไปในรูปแบบแฟรนไชส์ เพื่อสร้างโอกาสให้กับคนที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจแต่มีเงินทุนไม่มาก ซึ่งผู้ซื้อจะได้ชุดอุปกรณ์การขาย และสิทธิ์ในการใช้แบรนด์ “เฮียนพหมูนุ่ม” โดยไม่เสียค่าแฟรนไชส์ และค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงต้นทุนค่าอุปกรณ์เริ่มต้นที่มีตัวเลือก 2 รูปแบบ คือ
ชุดแจ้งเกิด ราคา 4,900 บาท ในรูปแบบคีออสแบบน็อคดาวน์ พร้อมด้วยอุปกรณ์สำคัญสำหรับการขายหมูปิ้ง
ชุดตั้งหลัก ราคา 19,900 บาท ในรูปแบบรถเข็น พร้อมด้วยอุปกรณ์สำคัญ และวัตถุดิบหมูนุ่มอีก 100 ไม้
โดยมีข้อตกลงกันว่า ผู้ขายจะต้องขายแต่หมูปิ้ง หรือสินค้าของ “เฮียนพหมูนุ่ม” เท่านั้น ยกเว้นข้าวเหนียวที่ผู้ขายสามารถจัดหามาขายคู่กับหมูปิ้งได้เพราะจะทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น หรือถุงหิ้วที่มีโลโก้แบรนด์เฮียนพก็ไม่จำเป็นต้องซื้อกับทางบริษัท แต่สามารถใช้ถุงพลาสติกทั่วไปได้ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการจัดหามากขึ้น
สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ข้อบังคับแต่ เฮียนพ จะให้คำแนะนำควบคู่ไปกับการสอนเรื่องปิ้งหมู และนึ่งข้าวเหนียวอย่างไรให้น่ารับประทาน ส่วนบทลงโทษสำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่ละเมิดข้อตกลงก็มีตั้งแต่การตักเตือน ไปจนถึงการปลดป้าย
“วันนี้ผมขายแฟรนไชส์ไปแล้วกว่า 1,000 ราย บางคนซื้ออุปกรณ์ไปหลายชุดเพื่อเอาไปจ้างคนขาย บางคนก็ขายเองในช่วงเย็น เพราะทำเป็นอาชีพเสริม แต่บางคนก็ประสบความสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง หรือบางคนก็ซื้อแค่หมูเราไปขายโดยไม่ได้ซื้อแฟรนไชส์ เพราะมีแค่โต๊ะตั้ง 1 ตัว ก็ขายได้แล้ว แต่บางคนต้องการซื้อแฟรนไชส์เพราะการเข้าไปขายในบางพื้นที่ต้องมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน เช่น หน้าร้านสะดวกซื้อ หรือในปั๊มน้ำมัน”
เฮียนพ ยังมองว่า การทำธุรกิจเมื่อมาถึงระดับหนึ่ง หลายๆ ธุรกิจต้องการเติบโตด้วยการขยายตลาดในรูปแบบแฟรนไชส์เช่นเดียวกับแบรนด์ “เฮียนพหมูนุ่ม” แต่สิ่งสำคัญต้องมีการวางแผนการตลาดที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องของ 4P คือ Product, Price, Place และ Promotion เพราะมีความสำคัญด้วยกันทั้งหมด
ในโลกความเป็นจริงของการทำธุรกิจ แฟรนไชส์อาจไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จกับการทำธุรกิจ เนื่องจากแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ต้องใช้หลักพิจารณาค่อนข้างมาก เพราะคนทำธุรกิจ และพ่อค้าแม่ค้าบางรายมักมีเล่ห์เหลี่ยม และเป็นรูปแบบธุรกิจที่สร้างความเสียหายได้ง่าย
หลายๆ ครั้ง คนที่อยากซื้อแฟรนไชส์ก็มีเงินลงทุนเพียงก้อนเดียว และหากเกิดความผิดพลาดก็ถือว่าหมดตัวได้ หรือผู้ขายแฟรนไชส์ที่ขาดความรอบคอบ และไม่ติดตามผล ก็อาจถูกผู้ซื้อแฟรนไชส์เอาเปรียบได้เช่นกัน
วันนี้ เฮียนพ จึงมีคำแนะนำถึงหลักการพิจารณาในการทำธุรกิจด้วยแฟรนไชส์ทั้งฝั่งผู้ขายและผู้ซื้อ ดังนี้
“คนที่อยากนำธุรกิจของตัวเองเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี เพราะการทำแฟรนไชส์เท่ากับว่า ต้องมีความรับผิดชอบต่อธุรกิจ และสังคมมากขึ้น เพราะคนที่นำเงินมาลงทุนอาจมีเงินเพียงก้อนเดียว แต่ถ้าเราทำธุรกิจโดยขาดความรับผิดชอบจึงอาจเกิดความเสียหายกับคนที่นำเงินมาลงทุน และเงินที่มีอยู่อาจหมดไปกับการลงทุนซื้อแฟรนไชส์
ดังนั้นเมื่อจะทำแฟรนไชส์ ต้องวางแผนด้วยว่า ถ้าขายได้แล้วจะทำต่อไปอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไป มีการติดตามผลอย่างไร ต้องช่วยกันทำตลาดด้านไหนอีกบ้าง เมื่อเขาซื้อแฟรนไชส์ไปแล้ว ขายได้ไหม มีการเติบโตไหม ที่สำคัญต้องประเมินคนซื้อด้วยว่า ซื้อไปแล้วทำต่อได้ไหม มีความตั้งใจหรือเปล่า ซึ่งการตั้งราคาแฟรนไชส์ที่ถูกเกินไปอาจทำให้คนซื้อไม่ตั้งใจขาย อาจเป็นสาเหตุให้เลิกขาย และนำรถเข็นไปจอดทิ้งไว้ริมรั้วปล่อยให้หญ้าขึ้นอาจส่งผลเสียกับแบรนด์ได้”
“ทุกครั้งที่มีโอกาสไปบรรยาย คำแนะนำอย่างหนึ่งที่มักจะบอกกับคนที่คิดจะซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ คือ อย่าเชื่อกระแส แฟรนไชส์บางเจ้าอาจขายดีเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ แต่วันธรรมดาต้องนั่งตบยุง แต่เราไปเห็นเฉพาะวันที่เขาขายดี รวมถึงเรื่องระยะเวลาการคืนทุน ได้คืนทุนจริงหรือไม่ ซึ่งแฟรนไชส์ใหญ่ๆ อย่างร้านสะดวกซื้ออาจมีการกำหนดระยะเวลาการคืนทุนไว้อย่างชัดเจน”
นอกจากนี้ ยังต้องเลือกดูจากการรีวิวของผู้มีประสบการณ์เป็นส่วนประกอบ เพราะแม้ว่าการทำธุรกิจต้องมีการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่การรีวิวกลับมีความสำคัญมากกว่า เพราะเป็นการสื่อสารที่เป็นข้อเท็จจริงมาจากฝั่งผู้บริโภค หรือผู้ใช้จริง ควรพิจารณาเลือกลงทุนกับผู้ขายที่มีจิตสำนักในการเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ดี และให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาของผู้ซื้อแฟรนไชส์อย่างจริงจัง
เฮียนพ ทิ้งท้ายไว้ว่า การนำเอาธุรกิจเข้าระบบแฟรนไชส์เป็นเรื่องที่ดี เพราะการทำธุรกิจลำพังเพียงคนเดียวเติบโตได้ยาก คุณจึงต้องหาคนมาช่วยขาย การหาคนมาช่วยขายนั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่า แฟรนไชส์ เป็นระบบธุรกิจที่เป็นมาตรฐานระดับโลกไม่ใช่แค่มาตรฐานของประเทศไทย แม้แต่แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง STARBUCKS หรือ KFC ก็ผ่านการขายแฟรนไชส์มาแล้วเช่นกัน
Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อ เศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 การสั่งปิด สถานที่เป็นการชั่วคราว เช่น ห้างสรรพสินค้า การระงับการให้บริการของสถานบริการต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล และในอีกหลายพื้นที่ การงดกิจกรรม อาทิ การแข่งขันกีฬา งานบันเทิง งานอบรมสัมมนา การแสดงสินค้า เป็นต้น ซึ่งส่งผลกับการดำเนินชีวิตของประชาชน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบ เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.1 มาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) เพื่อช่วยเหลือเยียวยา ให้กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่เชื้อ เช่น สนามมวย สนาม กีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่น ๆ เป็นต้น หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ
ทั้งนี้ ไม่รวมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจาก สำนักงานประกันสังคม ไม่รวมข้าราชการและข้าราชการบำนาญ และไม่รวมเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกรได้รับความ ช่วยเหลืออื่น ๆ จากรัฐบาลอยู่แล้ว)
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 3 ล้านคน โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) ผ่านการลงทะเบียนแสดงความจำนงตรวจสอบคุณสมบัติและการโอนเงินผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน โอนเข้าบัญชีธนาคาร กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนวิธีการขอรับความช่วยเหลือจะเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด
1.2 โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับ ผลกระทบจากไวรัส COVID-19 โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
1.3 โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชน ที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
1.4 โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัส COVID-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชน ฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โดยคิด ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี
1.5 มาตรการเสริมความรู้ พิจารณาดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพ เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หรือผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งจัดทำ กิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)
1.6 มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น
1.7 มาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ โดยเพิ่มวงเงินหักลดหย่อน ค่าเบี้ยประกันสุขภาพจากเดิมตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหัก ลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นและมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพลดลง และรัฐสามารถ นำรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่ลดลงจากการทำประกันสุขภาพของประชาชนไปช่วยเหลือประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งในด้านสาธารณสุขและด้านอื่น ๆ ได้มากขึ้น
1.8 มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากร ทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ (1) ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยจากไวรัส COVID-19 (2) ค่าตอบแทนบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการ ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรับมือกับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่ ได้รับในปีภาษี 2563 เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไม่มีภาระภาษีสำหรับค่าตอบแทนพิเศษจากการปฏิบัติงานดังกล่าวและมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น
2.1 โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของไวรัส COVID-19 เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจของ ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่ เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร โดยธนาคาร พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินต่อ รายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึง วันที่ 30 ธันวาคม 2563
สำหรับมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้ง ทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ภายใต้มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัส COVID -19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 นั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ คณะรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นผู้นำหลักในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยเร็ว เพื่อประคองให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดในภาวะเช่นนี้
2.2 มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้ นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้
(1) รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 (2) รอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 50 ประมาณ 120,000 ล้านบาท และจาก การเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 51 ประมาณ 30,000 ล้านบาท
2.3 มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี โดยเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีทุกประเภทที่กรมสรรพากรจัดเก็บ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ (1) ผู้ประกอบการที่ต้องปิดสถานประกอบการตามคำสั่งของทางราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น (2) ผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เฉพาะที่มีเหตุอันสมควรให้เลื่อนเวลาออกไป โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณา เป็นรายกรณี เพื่อเป็นการลดภาระในการจัดทำเอกสารและการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ดังกล่าว
2.4 มาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและ ผลิตภัณฑ์น้ำมัน เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้เสียภาษีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาด ไวรัส COVID กรมสรรพสามิตให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากเดิมยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วันเป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยให้ ดำเนินการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)
2.5 มาตรการขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการที่จัดเป็นบริการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้ประกอบกิจการ สถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากการให้ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่ เชื้อไวรัส COVID-19 เป็นการชั่วคราว กรมสรรพสามิตขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการ ประกอบกิจการสถานบริการ ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ โดยรวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา และสถานอาบน้ำหรืออบตัว และนวด ตลอดจนกิจการเสี่ยงโชคประเภทสนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟ ให้ยื่น แบบรายการและชำระภาษีภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563
2.6 มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรค ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามรายการ ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้มากขึ้น
2.7 มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
2.7.1 (1) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้สำหรับ เงินได้ที่ได้จากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้
(2) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือ การให้บริการ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
(3) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์ ที่จำนองเป็นประกันหนี้ของเจ้าหนี้ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ ดังกล่าว โดยลูกหนี้ต้องนำเงินนั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระหรือมีภาระผูกพันตาม สัญญาประกันหนี้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดี
(4) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การ จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับหนี้ที่เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ
2.7.2 ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนอง อสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน และห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการปรับปรุง โครงสร้างหนี้ตามกรณีที่กำหนด ซึ่งกรมที่ดินจะดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าว ร้อยละ 0.01 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
ทั้งนี้ การดำเนินการข้างต้นเป็นการขยายหลักเกณฑ์จากมาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียมภายใต้มาตรการ ต่อเติม เสริมทุน SME สร้างไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 เพื่อให้ครอบคลุมการปรับปรุง โครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นและสามารถฟื้นฟูฐานะและกิจการ แล้วประกอบอาชีพและธุรกิจต่อไปได้ และเจ้าหนี้และระบบสถาบันการเงินในภาพรวมมีต้นทุนลดลงและสามารถให้ สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มเติมได้
นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ รวมถึงองค์ความรู้ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถรับมือในสถานการณ์นี้ได้
Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
1. ทำความเข้าใจลูกค้า
ในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญที่มากกว่าการขาย คือ การรู้จักเอาใจลูกค้ามาใส่ใจเรา ดังนั้น เมื่อถูกลูกค้า Complain สิ่งที่เจ้าของกิจการควรทำคือ การแสดงถึงความเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าได้เจอ ลองคิดในมุมกลับกันว่า ถ้าเราได้รับบริการแบบนี้ เราจะบ่นแบบเดียวกันหรือไม่
2. รับฟัง
เมื่อถูกลูกค้าต่อว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการรับฟัง อย่าเพิ่งไปขัดจังหวะ และควรใช้สายตาที่แสดงถึงการตั้งใจฟัง เพื่อทำให้ลูกค้ารู้ว่า คุณพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ
3. ประเมินสถานการณ์
หากการ Complain ยังคงดำเนินต่อไป คุณควรทำการประเมินสถานการณ์ พยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกค้าใจเย็นลง และหากจำเป็นควรทำการจำกัดบริเวณ เพื่อไม่ให้กระทบไปยังลูกค้าคนอื่น เช่น หากลูกค้ามีอารมณ์ฉุนเฉียวมาก พูดจาเสียงดัง คุณควรพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลอย่างช้าๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้วคนมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่น วิธีนี้จะช่วยให้ลูกค้าใจเย็นลง หรืออาจจะถามเขาว่าต้องการที่จะรับน้ำดื่มไหม หรือต้องการที่จะไปคุยกันในที่เงียบๆ กว่านี้ไหม
4. ระวังการใช้คำพูด
อย่าใช้คำพูดที่จะทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่แย่ลงไปกว่าเดิม เช่น “ไม่” หรือ “ทำไม่ได้” โดยเฉพาะอย่าบอกว่า “ไม่มีปัญหา” เพราะว่าปัญหาได้เกิดขึ้นมาแล้วและลูกค้าก็ไม่พอใจ หรืออาจเป็นคำพูดอื่นๆ ที่จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง เช่น ทางเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบ หรือในส่วนนี้ลูกค้าต้องเป็นคนรับผิดชอบเอง เป็นต้น
5. รับทราบข้อร้องเรียน
เพราะคุณไม่สามารถให้ในสิ่งที่ทุกคนต้องการได้ ดังนั้น หากเกิดกรณีคอมเพลนขึ้น อย่างน้อยที่สุดที่ต้องทำคือ การรับทราบในข้อร้องเรียนของลูกค้า โดยเฉพาะถ้าเรื่องที่ถูกคอมเพลนนั้นถูกโพสต์บนโลกออนไลน์ ลูกค้าก็ยิ่งต้องการให้ทางเจ้าของยอมรับให้เร็วที่สุด
6. ย้ำให้เห็นว่ารับทราบ
เมื่อได้รับทราบข้อร้องเรียนแล้ว เจ้าของกิจการควรแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าทางร้านรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์บานปลายมากกว่าเดิม
7. ตอบกลับพร้อมวิธีจัดการปัญหา
ทุกครั้งในการพูดคุย ทางร้านต้องมีความชัดเจน ต้องบอกให้เคลียร์ว่าจะมีวิธีการจัดการกับปัญหาอย่างไร เมื่อไรที่จะแก้ปัญหานั้นได้ เช่น ในกรณีที่ทางร้านให้รองเท้าลูกค้าผิดไซส์ เมื่อเกิดการ Complain ต้องมีการจัดการ ซึ่งอาจทำการเปลี่ยนรองเท้าที่ถูกต้องให้ทันทีหากลูกค้าอยู่ที่ร้าน หรืออาจทำการจัดส่งให้ในเวลาต่อไป ซึ่งทางร้านต้องทำการแจ้งให้ลูกทราบอย่างชัดเจน
8. ติดตามผล
หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกันแล้ว ทางร้านควรมีการติดตามผล เช่น ถ้าลูกค้า Complain เรื่องไม่ได้รับสินค้าหรือได้รับสินค้าไม่ถูกต้อง ซึ่งทางร้านได้มีการเปลี่ยนให้แล้ว ควรตรวจสอบให้แน่ใจอีกทีว่า ลูกค้าได้รับสิ่งที่ต้องการแล้ว เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกดีขึ้น มีทัศนคติต่อร้านไปในทางบวกมากขึ้น เพราะเห็นว่าทางร้านให้ความสำคัญ
9. กล่าวคำขอบคุณ
สุดท้ายการกล่าวคำขอบคุณออกไป จะช่วยให้อารมณ์ขุ่นหมองที่มีอยู่ในใจของลูกค้าลดลงไปได้ อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่าทางร้านยังให้เกียรติกันอยู่ แม้บางร้านอาจจะไม่ได้ยึดคติที่ว่าลูกค้าคือพระเจ้า แต่ยังไงก็ต้องถือว่าผู้บริโภคเหล่านี้คือคนสำคัญต่อการทำกิจการ นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดว่า การคอมเพลนครั้งนี้เกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีก หรือถ้าเกิดขึ้นอีก ทางร้านจะได้มีวิธีในการรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น
Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
สิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภคหรือลูกค้าในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า คือความมั่นใจว่าสินค้านั้นมีคุณภาพจริง ๆ และสิ่งที่จะทำให้เกิดความั่นใจได้ นั่นคือการได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ ฉลากสินค้าจึงมีความสำคัญกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตโดยโรงงาน หรือนำเข้ามาจำหน่าย ถือเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมฉลาก
โดย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กำหนดว่า “ฉลาก” หมายถึง รูป รอยประดิษฐ์ กระดาษหรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้า ซึ่งแสดงไว้ที่สินค้า หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุสินค้า หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับสินค้า และยังรวมถึงเอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้นด้วย
ดังนั้นมาดูกันว่า ฉลากสินค้าที่ดีควรเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) บอกไว้ว่า ในการจัดทำฉลากสินค้า ผู้ประกอบการต้องบอกรายละเอียดที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจซื้อและใช้งาน
โดยฉลากสินค้าต้องระบุข้อความดังนี้
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรรู้เพิ่มเติมสำหรับลักษณะของฉลากสินค้า นั่นคือ
1. ข้อมูลในฉลากต้องตรงกับความเป็นจริง ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาระสำคัญของสินค้า
2. ต้องเป็นภาษาไทย หรือภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศ ซึ่งสามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน
3. ต้องแสดงไว้ที่ตัวสินค้า ภาชนะบรรจุ หีบห่อ หรือสอดแทรกรวมไว้กับสินค้า รวมไปถึงคู่มือ เอกสารประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้า
ที่มา
http://www.ocpb.go.th/images/banner/Info/1544200783703.jpg
http://www.ocpb.go.th/images/banner/Info/1544200781027.jpg
Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย