ภาษีสำหรับธุรกิจสุขภาพและความงาม

หัวข้อ : ภาษีสำหรับธุรกิจสุขภาพและความงาม
อ่านเพิ่มเติม : https://sme.ktb.co.th/sme/KNOWLEDGE&cateId=9&itemId=184

 

 

ธุรกิจสุขภาพและความงาม ทั้งฟิตเนส อาหารเสริม สปา นวดหน้า นวดตัว คลีนิกรักษาสิว ดูแลผิว รวมทั้งการทำศัลยกรรมตกแต่ง ซึ่งเปิดดำเนินการโดยผู้ประกอบการที่มีความรู้ทางด้านสุขภาพ การเสริมความงาม และเปิดดำเนินการโดยระบบแฟรนไชส์ ซึ่งมีประเด็นทางภาษีอากรที่เกี่ยวข้อง จึงขอนำมากล่าวดังนี้

 

คลินิกรักษาสิว คลินิกความงาม รวมทั้งศัลยกรรมตกแต่ง

โดยมีแพทย์ประจำที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ เป็นผู้ตรวจและรักษา รวมทั้งสั่งจ่ายยา และมีการจ้างพนักงานผู้ช่วยแพทย์

1. การประกอบกิจการในนามของบุคคลธรรมดา

  1. กรณีผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ‘สถานพยาบาล‘ ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ไม่สามารถยื่นคำขอจดทะเบียน VAT ได้ ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60 ของเงินได้
  2. กรณีประกอบกิจการในนามของบุคคลธรรมดา โดยไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ ‘สถานพยาบาล‘ รายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในกรณี ที่ไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ต้องคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรเท่านั้น

2. การประกอบกิจการในนามของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเช่นเดียวกับกรณีภาษีเงินได้นามบุคคลธรรมดาข้างต้น

3. กรณีมีรายได้เกี่ยวกับศัลยกรรมใบหน้าทั้งหลาย 

  • รายได้จากการฉีดโบท็อกซ์ ร้อยไหม ฉีดสารเติมเต็ม
  • รายได้ขายครีมสำหรับทาหลังจากทำศัลยกรรม 
  • ค่าฉีดบำรุงด้วยวิตามิน ล้างสารพิษ เมโสหน้าใส 
  • รายได้เกี่ยวกับสิว ฉีดสิว ลดรอยสิว แผลเป็นจากสิว ครีมบำรุง และรักษาสิว ฝ้า กระ รอยด่างดำ 
  • รายได้จากค่าอาหารเสริม

หากรายได้เหล่านี้เป็นรายได้จากการประกอบกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล  และอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลกำหนด ถือว่าเป็นรายได้ของสถานพยาบาลทั้งสิ้น ซึ่งอยู่ในข่ายที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มทุกรายการ

แต่ถ้าไม่ได้ประกอบกิจการภายใต้กฎหมายสถานพยาบาล เช่น ขายอาหารเสริม โดยไม่มีข้อแนะนำใดๆ จากแพทย์ผู้รักษาพยาบาล เช่นร้านขายยาทั่วไป ถือเป็นรายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

4. สำหรับแพทย์

ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าทำหน้าที่อะไรในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งนั้น

(1) กรณีเป็นลูกจ้างได้รับเงินเดือนค่าจ้าง เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

(2) กรณีได้รับเงินได้ขั้นต่ำ โดยไม่คำนึงว่าจะทำการรักษาพยาบาลหรือไม่ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

(3) กรณีได้รับเงินได้จากการเปิดคลีนิคในสถานพยาบาล เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ธุรกิจเพื่อสุขภาพและความงามอื่น ๆ

ทั้งฟิตเนส อาหารเสริม นวดหน้า นวดตัว เครื่องสำอางหรือสมุนไพร ไม่ว่าจะประกอบธุรกิจโดยบุคคลธรรมดา หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รายได้ที่ไดัรับจากการประกอบกิจการดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นรายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. กรณีประกอบกิจการในนามของบุคคลธรรมดา

ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง คือ

  1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี ตามแบบ ภ.ง.ด.94 โดยต้องยื่นแบบสตง. รายการและเสียภาษีเงินได้ภายในเดือนกันยายนสำหรับเงินได้ในเดือน มกราคม-มิถุนายน ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60 ของเงินได้ หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรก็ได้
  2. ภาษีเงินได้บุคคลลธรรมดาประจำภาษี ตามแบบ ภ.ง.ด.90 โดยต้องยื่นแบบสตง. รายการและเสียภาษีเงินได้ภายในนิติบุคคลภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปสำหรับเงินได้ในเดือนมกราคม-ธันวาคม โดยนำจำนวนภาษีเงินได้ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ดมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้

2. กรณีประกอบกิจการในนามของบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคคล

ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง คือ

  1. ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับตั้งแต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่รอบระยะเวลาบัญขีปีแรกและปีสุดท้ายที่มีกำหนดเวลาไม่ถึง 12 เดือน
  2. ภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดย นำภาษีที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด.51 ในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีมา หักออกจากภาษีที่คำนวณได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50

3. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม

รายได้จากการประกอบธุรกิจสุขภาพเป็นรายได้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 

  • ผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อหรือรับบริการ และออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อเมื่อ ส่งมอบสินค้าหรือรับชำระราคา แล้วแต่กรณี
  • ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ สำหรับการขายสินค้ารายงานภาษีขายและรายงานภาษีซื้อ และมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30 ในแต่ละเดือนภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมีรายได้จากการประกอบกิจการหรือไม่

 

 

Published on 25 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

พ.ร.บ. สินค้าและบริการที่ผู้ประกอบต้องใส่ใจ

หัวข้อ :  ข้อกำหนดราคาและสินค้าควบคุมที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจ
อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbanksme.com/en/price-and-regulatory-requirements

 

 

รู้หรือไม่? การตั้งราคาขายสินค้าและบริการ จะตั้งตามใจอยากไม่ได้ เพราะมีข้อกฎหมายบัญญัติไว้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ภายใต้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นต้นมา

กฏหมายนี้ออกมาเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในด้านราคาสินค้าและบริการ ไม่ให้ราคาสินค้า-บริการสูงขึ้นรวดเร็วเกินสมควร และทำให้ปริมาณสินค้ามีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศด้วย

พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 (สำหรับท่านที่ต้องการศึกษา)
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%C753/%C753-20-2542-a0001.pdf

 

สำหรับพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่มีการบังคับใช้มาจนถึงวันนี้ ซึ่งกำกับดูแลราคาสินค้าหรือบริการของประเทศไทยและต่างประเทศนั้น มีรายละเอียดโดยคร่าว ๆ ดังนี้

 

การดำเนินการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการ กำหนดให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการแสดงราคาสินค้าและบริการได้ ซึ่งจะต้องมีการปิดป้ายแสดงราคาสินค้าหรือบริการเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบว่าสินค้ารายการใดยังไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในบัญชีรายการที่จะต้องปิดป้ายแสดงราคา ก็จะต้องมีการออกประกาศเพิ่มเติมเพื่อให้สินค้านั้น ๆ อยู่ในบังคับต้องปิดป้ายแสดงราคา

 

การกำหนดราคาสินค้าหรือบริการ : ตามข้อกำหนดในมาตรา 29 ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการใด ๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาต่ำเกินสมควรหรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด

 

าตรการการกำกับดูแลสินค้าควบคุม : ตามข้อกำหนดในมาตรา 30 ได้กำหนดห้ามมิให้บุคคลใดกักตุนสินค้าควบคุม หรือไม่นำสินค้าควบคุมที่มีไว้เพื่อจำหน่ายออกจำหน่ายหรือเสนอขายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่าย หรือประวิงการจำหน่ายหรือการส่งมอบสินค้าควบคุม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

 

มาตรการกำกับดูแลธุรกิจบริการควบคุม : ตามข้อกำหนดในมาตรา 31 ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการควบคุมหยุดการให้บริการตามปกติ หรือปฏิเสธการให้บริการ หรือประวิงการให้บริการ โดยไม่มีเหตุอันสมควร

เนื่องจากปัจจุบันมีการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์กันเยอะมากขึ้น จึงได้มีการประกาศบังคับใช้ ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฉบับที่ 49 พ.ศ. 2561 เรื่องการแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจําหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ ประกาศ ณ วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนให้ผู้ที่ค้าขายทางออนไลน์ต้องแสดงสิ่งเหล่านี้

  1. ราคาสินค้า
  2. ค่าบริการ เช่น ค่าจัดส่งทางไปรษณีย์
  3. ประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนักของสินค้าหรือบริการ
  4. รายละเอียดของสินค้าหรือบริการ
  5. กรณีมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากราคาจำหน่วยสินค้าหรือบริการข้อ 1- 4 ต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจน

 

โดยวิธีการแจ้งราคาสินค้าและบริการที่ถูกต้อง คือ 

(1) เขียน พิมพ์ หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่นใดในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ของผู้ประกอบธุรกิจ

(2) ในลักษณะชัดเจน ครบถ้วน เปิดเผย และสามารถอ่านได้โดยง่าย

(3) ให้แสดงราคาต่อหน่วย

(4) ราคาหรือค่าบริการนั้น จะมีตัวเลขภาษาใดก็ได้ แต่ต้องมีตัวเลขอารบิคอยู่ด้วย

(5) ข้อความหรือรายการที่แสดงควบคู่กับราคาจำหน่ายหรือค่าบริการต้องเป็นภาษาไทยแต่จะมีภาษาอื่นด้วยก็ได้

 

ดูรายละเอียดรายการสินค้าควบคุมตามประกาศกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ วันที่ 3 กรกฎาคม 2562
เพิ่มเติมได้ที่ www.dit.go.th

 

Published on 25 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

Facebook Group ช่องทางเพิ่มยอดขาย เข้าถึงง่ายขึ้น

หัวข้อ : 7 ข้อดีเพิ่มยอดขายด้วย Facebook group
อ่านเพิ่มเติม : https://www.dbd.go.th/download/article/article_20190419113208.pdf

 

 

เฟซบุ๊ก กรุ๊ป (Facebook Group) อีกหนึ่งช่องทางการกระตุ้นยอดขายที่หลาย ๆ คนมองข้าม รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้วช่องทางนี้มีอัตราความสำเร็จในการปิดการขายสูงกว่า เฟซบุ๊ก แฟนเพจ (Facebook Fanpage) และยังสามารถรักษากลุ่มลูกค้าเก่าได้อย่างเหนียวแน่นอีกด้วย

เฟซบุ๊ก กรุ๊ป ไม่ได้เป็นเพียงชุมชนออนไลน์ที่มีเพียงการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสิ่งที่ชื่นชอบเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำมาช่วยเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ให้สินค้าหรือบริการได้มากขึ้น และยังช่วยสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ได้จากการแนะนำสินค้าให้กับสมาชิกภายในกรุ๊ป รวมถึงการรับฟังปัญหาต่าง ๆ จากลูกค้าโดยตรง เพื่อนำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และการบริการในอนาคต 

 

วิธีเพิ่มยอดขายด้วยเฟซบุ๊ก กรุ๊ป

 

1. ทำให้กลุ่มเป้าหมายแคบลง 

เพราะผู้ที่เข้าร่วมเฟซบุ๊ก กรุ๊ป ในกรุ๊ปเดียวกันมักเป็นคนที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน มีการติดตามความเคลื่อนไหวกันอย่างเหนียวแน่น ซึ่งเราเองก็สามารถสร้างกรุ๊ปหรือเข้าร่วมกรุ๊ป ที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของเรา นอกจากจะได้ลูกค้าเพิ่มแล้ว ยังมีโอกาสสูงที่จะสามารถปิดการขายกับเหล่าสมาชิกในกรุ๊ปได้ เพราะสิ่งเขาสนใจคือสินค้าที่เรามีอยู่ในมือนั่นเอง

 

2. สามารถส่งคำเชิญเข้าร่วมกิจกรรมที่ร้านจัดขึ้นได้

ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขาย กิจกรรมเพื่อการกุศลโดยการสนับสนุนจากแบรนด์สินค้าของเรา ซึ่งเราสามารถสำรวจจำนวนผู้ที่สนใจและต้องการเข้าร่วมกิจกรรมจากการส่งคำเชิญเข้าร่วมกิจกรรมนั้นๆ ได้อีกด้วย สมาชิกในกรุ๊ปยังสามารถเชิญเพื่อนนอกกรุ๊ปให้เข้าร่วมกิจกรรมของเราเพิ่มขึ้น ช่วยกระจายแบรนด์สินค้าของเราให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

 

3. กูรูในกรุ๊ปช่วยสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ได้

ในแต่ละกรุ๊ปมักจะมีกูรูที่ช่วยให้คำแนะนำปรึกษาและให้ความรู้ รวมไปถึงวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่สมาชิกในเข้ามาตั้งคำถาม เราก็สามารถเป็นหนึ่งในกูรูในกร๊ปได้เช่นกัน ด้วยการให้ความรู้คำแนะนำต่าง ๆ นอกจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวตนของเราแล้ว สินค้าที่แนะนำให้กับสมาชิกก็จะมีความน่าเชื่อถือตามไปด้วย

 

4. เชื่อมโยงเฟซบุ๊ก กรุ๊ปและแฟนเพจ

หากเราเป็นแอดมินในกรุ๊ป จะสามารถเชื่อมโยงแฟนเพจที่ใช้ขายสินค้าเข้ากับกรุ๊ปได้ เท่ากับสามารถแสดงตนได้ถึง 2 สถานะ คือแอดมินกรุ้ป กูรูผู้ให้คำแนะนำที่น่าเชื่อถือ และแอดมินแฟนเพจ เจ้าของสินค้าที่พร้อมให้ข้อมูลสินค้าและบริการ แต่ไม่ควรโพสต์ขายสินค้าในกรึ๊ปมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้สมาชิกรู้สึกเสียบรรยากาศได้

 

5. สร้างการมีส่วนร่วม ไม่เน้นขายของเยอะ

ต้องไม่ลืมว่าเฟซบุ๊ก กรุ๊ป คือชุมชมออนไลน์ของผู้ที่มีความสนใจเหมือนกัน เข้ามาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่สนใจ ไม่ใช่กลุ่มค้าขาย (หากไม่ได้ตั้งเป็นกลุ่มค้าขายตั้งแต่แรก) การโพสต์ขายสินค้าแต่เพียงอย่างเดียวนั้นอาจทำให้เกิดผลเสียแทนได้ การสร้างคอนเทนต์ที่ให้ความรู้ น่าสนใจ และสดใหม่ พร้อมแทรกข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เราอยากนำเสนอ จึงมีความน่าสนใจมากกว่าการโพสต์ขายสินค้าตรง ๆ 

 

6. สิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าเก่า

ใช้เฟซบุ๊ก กรุ๊ป บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าหลังการขาย โดยการเชิญชวนให้ลูกค้าของเราเข้าร่วมกรุ๊ป เพื่อพูดคุยและแชร์ประสบการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการบริการ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และทริกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น มอบส่วนลดพิเศษเฉพาะสมาชิกในกรุ๊ปเท่านั้น

 

 

Published on 25 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

ข้อดีและข้อเสีย คิดก่อนลงทุนแฟรนไชส์

หัวข้อ : จุดเด่น VS จุดด้อย “คิดก่อนลงทุน  FRANCHISE”
อ่านเพิ่มเติม : https://www.flathailand.com/news_franchise_detail.asp?topicid=242

 

 

ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) ก็เช่นกัน แม้จะเหมือนเป็นการซื้อระบบ ซื้อความสำเร็จของแบรนด์นั้นมาบริการจัดการ แต่ก็ใช่ว่าจะได้ผลลัพธ์เหมือนกันทุกคน สำหรับคนที่สนใจที่กำลังอยากลงทุน หรือกำลังมองหาธุรกิจแฟรนไชส์สักแบรนด์ นี่คือข้อดีและข้อเสียของระบบธุรกิจแฟรนไชส์ ให้คุณได้ลองเช็กดูว่าเหมาะสมกับตัวคุณเองหรือไม่

 

ข้อดีของระบบธุรกิจแฟรนไชส์

  1. ลดความเสี่ยง : เพราะเหมือนเป็นการซื้อความสำเร็จจากเจ้าของธุรกิจนำมาบริหารให้เหมือนกับต้นแบบ หากคุณศึกษาระบบและรู้ักแบรนด์อย่างดีแล้ว จะช่วยลดความเสี่ยงได้อีกมาก
  2. ได้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้า : คือ การได้สิทธิ์ใช้ตราสัญลักษณ์ โลโก้แบรนด์แฟรนไชส์นั้น ๆ หรือแม้แต่หนังสือรับรองมาตรฐานต่าง ๆ สร้างความเชื่อมั่นและน่าเชื่อถือให้กับกลุ่มลูกค้าของคุณได้ทันที
  3. ประหยัดเงินและเวลา : เป็นการลงทุนซื้อแฟรนไชส์ครั้งเดียวจบ ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง และยังช่วยลดต้นทุนในการทดลองวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ 
  4. เส้นทางลัดของความสำเร็จ : การซื้อแฟรนไชส์จะมีการสอนงานและความรู้ในด้านต่าง ๆ ให้แก่คุณ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติโดยตรงกับเจ้าของแบรนด์หรือทีมงานผู้ฝึกสอนมืออาชีพ โดยใช้เวลาไม่นาน
  5. ได้รับสิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ : เช่น การได้รับการสนับสนุนสินค้าตัวใหม่ หรือ โปรโมชั่นใหม่ ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขายให้หน้าร้านของคุณ โดยที่คุณไม่ต้องมานั่งคิดสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้ตลอดเวลา

 

ข้อเสียของระบบธุรกิจแฟรนไชส์

  1. มีขีดจำกัด ขาดความอิสระ : เพราะจะต้องปฏิบัติตามเอกสารสัญญา และคู่มือการปฏิบัติงาน เพื่อให้เป็นมาตรฐานและเป็นไปในทิศทางเดียวกันที่เจ้าของแบรนด์กำหนดไว้แต่ต้น
  2. มีค่าใช้จ่ายอื่น นอกเหนือจากค่าซื้อแฟรนไชส์ : เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Franchise Fee)  ค่าเก็บส่วนแบ่งทางการตลาดหรือยอดขายต่อเดือนหรือต่อปี (Royalty Fee) ฯลฯ
  3. มีโอกาสถูกยกเลิกสัญญา : หากไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบในเอกสารสัญญาที่ตกลงกันระหว่างไว้ อาจมีสิทธิ์ที่จะถูกบอกยกเลิกสัญญา และปิดกิจการสาขาแฟรนไชส์นั้นได้

 

Published on 25 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

คามุ คามุ นวัตกรรมความสุข ผ่านเครื่องดื่มประเภทชาคุณภาพเกิน 100

ธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารทานเล่นเครื่องดื่มประเภทที่มีสีสันรสชาติตามเทรนด์ตามกระแส มักถูกมองเป็นสินค้าแฟชั่น มีช่วงระยะเวลาในการเติบโตและดำรงอยู่ค่อนข้างสั้น แต่นั่นไม่สามารถใช้ได้กับแบรนด์ เครื่องดื่ม อย่าง คามุ คามุ ที่ถือกำเนิดขึ้น ภายใต้การบริหารโดย คุณแทน-ทินกฤต สินทัตตโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คามุ คามุ จำกัด และเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ Kamu Tea ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงที่เคยมีประสบการณ์การทำงานสายไอทีจากต่างประเทศ และการ บริหารงานบริษัท ซอร์ฟแวร์ ที่มีลูกทีมหลายร้อยชีวิตในเมืองไทย ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกสร้างอาณาจักรธุรกิจของตนเอง 

ย้อนกลับไปเกือบ 10 ปีที่แล้ว ตลาดอาหารทานเล่นเครื่องดื่มประเภทที่มีสีสันรสชาติตามเทรนด์ตามกระแส กำลังเป็นที่โด่งดัง เรียกได้ว่ามีแบรนด์ใหม่ๆ แจ้งเกิดขึ้นมาทุกสัปดาห์และพร้อมที่จะจากลาไปในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี หากแต่ ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่ดุเดือดรุนแรงนั้น ยังมีแบรนด์ แบรนด์หนึ่งที่มีความมุ่งมั่น มีเป้าหมายทางธุรกิจที่ชัดเจน และมีการเตรียมการวางแผนเป็นอย่างดี จนทำให้แบรนด์ชานมไข่มุกที่ชื่อว่า คามุ คามุ นี้มีวิวัฒนาการตามตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างสอดคล้องลงตัว จนเติบใหญ่กลายเป็นธุรกิจเครื่องดื่มชา ที่มีสาขามากมาย และผู้ติดต่อขอร่วมลงทุนเปิดเฟรนด์ไซน์อีกเพียบ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คามุ คามุ ได้ยึดถือหลักสำคัญในการวางรากฐานธุรกิจ ทั้งในด้านการพัฒนานวัตกรรมของสินค้าและบริการ การศึกษาและทำความเข้าใจทิศทางของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมถึงด้านการฝึกอบรมพนักงานบุคลากร ทำให้แบรนด์ คามุ คามุ ยังคงความสดใหม่และมีเสน่ห์เย้ายวนใจแฟนคลับลูกค้าที่พร้อมเต็มใจจะเป็นผู้บอกต่อเชิญชวนคนให้มาเป็นลูกค้า ตามๆ กันไป ด้วยความที่ติดใจในรสชาติและมั่นใจในคุณภาพของแบรนด์ ที่เจ้าของใส่ใจและมีความละเมียดละไมในการคิดสรรอยู่อย่างตลอดเวลา


ไปที่ จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

ไปที่ ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

ไปที่ Key Success ของธุรกิจ

ไปที่ คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้


 

จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

 

SME ONE : ช่วยเล่าประวัติความเป็นมา กว่าจะมาเป็นแบรนด์ คามุ คามุ ทุกวันนี้ ให้ฟังได้ไหมครับ

คุณแทน-ทินกฤต : ผมเองเรียนสายวิศวะจบวิศวะจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และก็ไปศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาตร์คอมพิวเตอร์ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งในระหว่างนั้นก็เรียนไปด้วยทำงานหารายได้เสริมไปด้วยจนกระทั่งได้รับโอกาสทาบทามจากบริษัท อีคอมเมริซ ซอฟต์แวร์ สัญชาติอังกฤษ ให้กลับมาบริหารงานที่เมืองไทยได้ร่วมบุกเบิกงานด้าน ซอฟต์แวร์ อี-คอมเมิร์ซ และสร้างทีมจนมีทีมงานกว่า 200 ชีวิต จนเริ่มรู้สึกว่าถึงจุดอิ่มตัวของสายงานที่เราดูแลมาตลอดเกือบ 10 ปีแล้ว จึงคิดว่าคงถึงเวลาแล้วที่เราน่าจะหาความท้าทายใหม่ๆ ให้กับตนเองโดยการมีธุรกิจเล็กๆ อารมณ์เหมือนงานอดิเรก ที่เริ่มต้นจากตัวตน น้ำพักน้ำแรงของเราเองจริงๆ  จึงได้เริ่มปรึกษากับครอบครัวเพื่อมองหาธุรกิจที่จะทำ ซึ่งผมเองก็มีญาติ มีเพื่อนสนิทหลายๆ คนที่พักอาศัยอยู่ละแวกประเทศแถบๆ เอเชีย ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ก็เลยติดต่อพูดคุยกับเขาไปและก็ได้รับคำแนะนำจากญาติๆเกี่ยวกับสินค้าพวกชาของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต้องขอเรียนตามตรงว่า ตัวผมเองไม่ได้เป็นคนที่ชอบดื่มชานมไข่มุก แต่ในมุมมองของผม เราไม่ต้องจำเป็นต้องชอบอะไรแล้วทำแบบนั้น เพราะถ้าสิ่งที่เราชอบมันไม่ได้ตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าได้ มันก็อาจจะไม่ได้กลายมาเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ เพราะมันจะมีคนที่ทั้งชอบเหมือนเราและก็ชอบไม่เหมือนเรา “ดังนั้นเป้าหมายของผมเองคือไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ แต่ต้องทำในสิ่งที่ลูกค้าชอบ เพราะถ้าเราจับสิ่งที่คนทั่วไปชอบหรือคนทั้งโลกชอบได้ แน่นอนว่ามันก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง”



SME ONE : เรามีวิธีการอย่างไรทำให้ สินค้าได้รับการตอบรับที่ดีอยู่คู่กับตลาดมาได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

คุณแทน-ทินกฤต : ตั้งแต่เริ่มแรกเลยผมก็ตั้งใจไว้ว่าจะไม่มองการทำธุรกิจชานมไข่มุกนี้เป็นทางธุรกิจแฟชั่น คือไม่ต้องการทำธุรกิจที่มาไวไปไว เพราะผมเชื่อว่าเสน่ห์ของชาและการดื่มชาที่เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่อายุเป็น 1000 ปีนั้น มีคุณค่าสิ่งดีๆ แฝงไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าทางสุขภาพ ลดไขมัน ช่วยเรื่องการหมุนเวียนของระบบเลือด รวมถึงการตอบสนองความรู้สึกทางอารมณ์ ช่วยสร้างความผ่อนคลายและเพลิดเพลินให้กับคนได้ 

แรกเริ่มเลยที่เปิดร้าน เราได้พื้นที่มาแค่ 2x2 เมตรเท่านั้นเองซึ่งถือว่าเล็กมาก ต้องทำทุกอย่างเองหมด ต้มชาและวัตถุดิบเอง คั้นน้ำผลไม้เอง ขนของเอง ชงเอง ขายเอง โดยเราใช้ชื่อว่า คามุ มาโดยตลอดตั้งแต่วันแรก ด้วยเหตุผลที่เราต้องการให้คนจนจำชื่อเราได้ง่ายและมีความหมายสื่อถึงอัตลักษณ์ของสินค้าเราได้อย่างชัดเจน ซึ่งคามุ ในภาษา ญี่ปุ่นแปลว่า การเคี้ยว โดยใช้สัญลักษณ์เป็นมาสคอตน้องคามุซัง ที่เป็นรูปกลมๆ แทนตัวท๊อปปิ้งต่าง ๆ ที่เราใส่ผสมในเครื่องดื่มชา ที่ให้สัมผัสการดื่มชาที่แตกต่างสร้างความรู้สึกเพลิดเพลินสนุกสนาน ช่วยผ่อนคลาย ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะเราต้องการทำให้แบรนด์เครื่องดื่มชาของเรามีความเฟรนลี่เข้าถึงได้ง่ายและไม่น่าเบื่อ เพื่อเป็นสื่อเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมเก่าแก่ของญี่ปุ่นให้เขากับกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ง่ายและลงตัว

ประกอบกับผมเองเป็นคนที่ชื่นชอบในวัฒนธรรมการคิดของคนญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่น เวลาเขาคิดสิ่งใดหรือทำอะไรก็ตามมักพิถีพิถัน ละเมียดละไมในการทำสิ่งต่างๆ มีความน้อยแต่ให้คุณค่ามาก อย่างพวกแพคเกจจิ้งต่าง ๆ นี่เขาสุดยอดมาก มีการเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญของสินค้า เพราะชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าอุดมคติของความสวยงามคือความสวยงามโดยธรรมชาติ ผมจึงอยากให้แบรนด์ ของผมมีกลิ่นอาย วัฒนธรรมแนวคิดนี้ผสมผสานลงไปด้วย 

ประการที่สองเลย แบรนด์ คามุ เราให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าเรามีการพัฒนาสูตร คิดค้น รสชาติ ส่วนผสมแปลก ใหม่ ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลาตามวิธีทางของตลาดและกระแสความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ที่คามุ จะมีสินค้าประจำที่ขายดีติดอันดับยอดฮิตตลอดกาลอยู่ประมาณ 10-12 เมนู และจะมีการเสริมเมนู ที่เป็น seasonal เข้าไปอยู่ในเมนูหลัก ทุกๆ 3-4 เดือน เพื่อกระตุ้นตลาดและสร้างความรู้สึกใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในใจผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา

อย่าง ชานมรสชีส เราเองก็เป็นแบรนด์แรก ๆ ที่นำมาเปิดตัวให้คนไทยได้ลองกัน เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์เลย ณ ขณะนั้น ร้านไหน ๆ ก็ต้องทำ ชาชีส ที่เรานำเสนอกันแทบทั้งสิ้น รสชาติไมโลไดโนเสาร์ ก็เป็นอะไรที่สร้างสีสันและเสียงตอบรับได้ดีจากกลุ่มลูกค้า ซึ่งรสนี้เอง เราก็ได้แรงบันดาลใจมาจากที่เราได้เห็นคนพูดถึงรสไมโลเราว่ามีความอร่อยไม่แพ้นมไมโลที่เคยทานตอนเด็ก ๆ เราเลยเกิดปิ้งไอเดียอยากจะทำ seasonal product เพื่อให้คนได้รำลึกถึงความสุขในการทานไมโลตอนเด็ก ๆ ขึ้นมา

อย่างกลุ่มสินค้าชาผลไม้ของเรา Secret of Orchard เราก็มีวิธีการคิดที่แตกต่าง คือต้องการมอบประสบการณ์สัมผัสทั้ง 5 ให้กับผู้บริโภคได้อย่างลงตัว เริ่มจากรสชาติเราใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติเรียกได้ว่าถ้าไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ก็เรียกว่าใกล้เคียงมาก มีการทำรูปแบบแพคเกจจิ้งให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย มีลูกเล่นสามารถเลื่อนกระดาษที่หุ้มตรงแก้วเพื่อเปลี่ยนภาพที่ปรากฎให้ได้ตามรสขาติของเครื่องดื่ม ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี เพราะทั้งรูปรสกลิ่นสีสัมผัส และวิธีการนำเสนอเป็นประสบการณ์รวม ๆ ที่ทำให้คนรู้สึกประหลาดใจและอยากทดลองจนเกิดการบอกต่อ ซึ่งนวัตกรรมการคิดค้นสินค้าใหม่ ดังตัวอย่างที่ว่ามานี้ ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์เติบโตและมีการพูดถึงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดแม้ปัจจุบันจะมีอายุเกือบ 10 ปีแล้วก็ตาม

หรือแม้แต่ในแง่การทำการตลาดประชาสัมพันธ์ เราก็ได้มีการคิดรูปแบบโปรโมชั่นที่เข้าใจความต้องการของกลุ่มแฟนๆ ฐานลูกค้าของเราเสมอมา มีการใช้กลยุทธ์ทั้งในส่วนของ Online การสร้าง Brand Awareness และการแจ้งข่าวสินค้าใหม่รวมถึงโปรโมชั่นต่างๆ และ offline การมีกิจกรรมส่งเสริมการขายหน้าร้าน ที่อยู่ตามตึกอาคารสำนักงานที่มีสาขาของเราอยู่ (Point of Purchase) ควบคู่กัน เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์และเพื่อกระตุ้นความรู้สึกอยากทดลองชิม ในรสชาติ ใหม่ๆ ที่เรามีมานำเสนอให้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 

โดยส่วนตัวผมเองมีความเชื่อว่าทุกๆ ธุรกิจมันจะมีวงจรอายุของมัน อย่างชานมไข่มุก ที่ผมเริ่มทำเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เราเข้ามาในช่วงที่ตลาดกำลังได้รับความนิยม มีแบรนด์ชานมไข่มุก เข้ามาร่วมในตลาดอีกมากมาย และมันก็ค่อยๆ ดร๊อปลง มีสินค้าอาหารทานเล่นเครื่องดื่มอื่นๆ เกิดขึ้นมา มีวัฒนธรรมคาเฟ่เกิดขึ้น และมีสินค้าแฟชั่นอื่นๆ ทั้งบิงซู เบเกอรี่ และพวกชีสต่างๆ ทำให้บางสินค้าบางแบรนด์ก็หายไปจากตลาดโดยที่ไม่หวนกลับมาอีกเลยก็มีมาก  แต่สำหรับชานมไข่มุก อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่า ผมเชื่อว่ามันมีคุณค่าที่ตอบสนองผู้บริโภคได้มากกว่าการเป็นสินค้าแฟชั่น และสิ่งที่สำคัญเลยคือเรามีวิวัฒนาการที่ปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้สูงตามเทรนด์ตามความต้องการของลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าให้เรามีพื้นที่ในตลาดได้อย่างยาวนาน


 

ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ


SME ONE : อยากให้เล่าถึงอุปสรรค ปัญหา ที่พบเจอระหว่างการดำเนินธุรกิจนี้

คุณแทน-ทินกฤต : ช่วง 3 ปีแรก ช่วงวันแรกเลยที่เปิดขาย คือ สิ่งที่ท้าท้ายที่สุดของเรา เราจะทำอย่างไรเพื่อทำให้แบรนด์เราเป็นที่รู้จักคุ้นเคยของผู้คน และรสชาติเหมาะกับคนไทย เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของสินค้า ถ้ารสชาติเราไม่ผ่าน บริการไม่ดี เราก็จบเลย ซึ่งผมมองโดยส่วนตัวว่าเรื่องรสชาติกับบริการนี้ต้องถือเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของทุกแบรนด์ไม่ใช่จุดต่างจุดเด่นด้วยซ้ำ ซึ่งในเรื่องของรสชาติหรือคุณลักษณะของสินค้าเองก็เป็นความท้าทาย

ในช่วงเริ่มต้นของเราที่จะสร้างมาตรฐานให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อดีของการเป็นแบรนด์ที่เลือกสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ มีความสดใหม่ ใช้ส่วนผสมที่เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติอย่างแท้จริง และที่สำคัญคำนึงถึงรสชาติมากกว่ากำไร อย่างรสไมโลไดโนเสาร์ เราใช้ผงไมโล ถึง 4-5 ช้อน ต่อ ขนาด 1 แก้ว ซึ่งทำให้ต้นทุนเราสูงขึ้น เพราะเราเชื่อว่า ถ้ารสชาติดี ลูกค้าจะบอกต่อ ๆ กัน ปากต่อปาก ทำให้เกิดการมาทดลองจากลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในช่วงเริ่มแรกสำหรับธุรกิจเครื่องดื่มอย่างเรา 

ในระยะต่อมาเมื่อแบรนด์เราเริ่มตั้งไข่ได้แล้ว เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้นและเราต้องการขยายธุรกิจ โดยการหาพื้นที่วางขายเพิ่มขึ้น เราก็ได้พบกับอุปสรรคถัดมาคือการทำให้ พันธมิตรทางธุรกิจเจ้าของพื้นที่ในห้างร้านต่าง ๆ เชื่อมั่นในแบรนด์ของเรา ซึ่งต้องเรียกว่าเป็นช่วงที่ผ่านประสบการณ์หนักหนาสาหัสมาไม่น้อย เพราะทุก ๆ คนมักจะตั้งคำถามกับตัวเรา ด้วยความที่อาจจะยังไม่เข้าถึงหรือเข้าใจความเป็นตัวเราได้ดีนัก ชื่ออาจจะยังไม่คุ้นหูพอ พอเราบอกว่าเราเป็นแบรนด์สัญชาติไทยแท้ เขาก็มักจะปิดประตูทันที

เคยมีอยู่เหตุการณ์ครั้งหนึ่งผมไปรอพบกับทางห้างสรรพสินค้าอยู่แห่งหนึ่ง โดยรอพบเพื่อคุณเจรจาขอพื้นที่เช่าเปิดร้าน ผมรออยู่เกือบสองชั่วโมง เตรียมตัวไปอย่างดี ชงชาไปอย่างตั้งใจเพื่อสร้างความประทับใจแต่ก็ได้รับคำปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่ารสชาติยังไม่ถูกใจ ซึ่งไปเป็น 10 แห่งแต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ได้ทำให้ผมท้อถอย  แต่ทำให้เรายิ่งเพิ่มความมุมานะพยายามมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยเราได้ปรับกลยุทธ์ใหม่โดยวิธีการขยายตลาดเข้าไปยังพื้นที่เช่าสำนักงานตามตึกต่าง ๆ และพื้นที่รอบนอกก่อน เพราะเห็นแล้วว่าทางห้างยังไม่สนใจแบรนด์ไทยอย่างเรามากนัก 

ซึ่งในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ เราได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีมาก แม้ในความเป็นจริง การทำแบรนด์กับกลุ่มพนักงานออฟฟิศจะค่อนข้างมีความยากลำบาก เพราะถ้าลูกค้าตามตึกออฟฟิศเหล่านั้นไปทดลองแล้วเกิดไม่ได้ประทับใจขึ้นมา พูดต่อๆ กันไปว่าไม่อร่อย โอกาสที่เราจะเติบโตในแถบนั้นต่อไปแทบเป็นศูนย์ในทันที ซึ่งสำหรับ คามุ เราเองถือว่าได้รับเสียงตอบรับตั้งแต่แรกเป็นอย่างดี มีคนพูดถึงและแนะนำแบรนด์เราแบบปากต่อปาก จนทำให้เกิดการทดลองและการกลับมาใช้บริการซ้ำอย่างต่อเนื่อง 


 

Key Success ของธุรกิจ

SME ONE : ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านอุปสรรคความผันผวนมามากมาย อะไรทำให้ คามุ ยังอยู่ได้และกลายเป็นแบรนด์ที่มีแฟนคลับเหนียวแน่นดังทุกวันนี้ 

คุณแทน-ทินกฤต : เรามีหลักวิธีคิดในการสร้างแบรนด์ อยู่ 4 ประการ หลักการแรกคือ ปรัชญาการมองชีวิต การทำธุรกิจแบบคนญี่ปุ่น โดยที่ให้ความสำคัญกับการใส่ใจ และต้องการที่จะเป็นเลิศในสิ่งที่ทำ การคิดให้มากแต่ทำให้เรียบง่าย และตอบโจทย์การใช้งานอย่างแท้จริง อย่างปัจจุบันทางแบรนด์ คามุ ของเราเองได้ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเริ่มเปลี่ยนหรือลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติดไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งยังคงไว้ซึ่งรูปแบบที่ดึงดูด สนุกสนานทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย อย่างกลุ่มสินค้าที่เป็นชาผลไม้ของทางร้าน ซึ่งจะมีการเลือกรสชาติที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ มาผลัดเปลี่ยนนำเสนออยู่ตลอดเวลา เรามีการออกแบบแพคเกจจิ้งให้มีลูกเล่นและสีสันสนุกสนานชวนให้คนซื้อได้ถ่ายภาพไปเล่าเรื่องแบ่งปันประสบการณ์ความรู้สึกดี ๆ ของตนเองผ่านแก้วชาและรสชาติ 

ประการที่สอง คือ เรื่องของวัตถุดิบที่เราใช้ต้องมาจากธรรมชาติ ชนิดที่เรียกว่าถ้าไม่ได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องให้ได้ในระดับ 90 เปอร์เซ็นต์ หรือเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด อย่างเลมอนที่เราใช้เราก็เลือกแบบที่คั้นสด ชนิดที่ครั้งหนึ่งเราเคยให้พนักงานหน้าร้านคั้นสดๆ ตอนที่ลูกค้าสั่งสินค้าเลยเพื่อรับประกันว่า เราใช้เลมอนจริง ๆ ไม่มีผสม เพื่อให้ได้สัมผัสในรูป รส กลิ่น เสียง กันได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจุดนี้เองก็คือการคงไว้ซึ่งมาตรฐานและคุณภาพของรสชาติของสินค้าเรา  

ประการที่สามคือในเรื่องของนวัตกรรม หรือการครีเอทสิ่งแปลกใหม่ โดยในยุคแรกเริ่มเลยเราคิดสูตรใหม่ตลอดเวลา มีเกือบ 100 เมนู ซึ่งก็สร้างภาระให้กับแบรนด์ไม่น้อย จนท้ายที่สุดเราก็ได้มีการศึกษาและค้นพบว่าลูกค้าที่มาใช้บริการส่วนใหญ่มักจะเลือกเมนูเดิม ๆ ที่เขาชื่นชอบ ซึ่งจะอยู่ในกลุ่ม 10-20 เมนูยอดฮิตตลอดกาลของทางร้าน เราจึงมีการปรับเปลี่ยน ลดทอนจนกระทั่งกลายเป็นเมนูมาตรฐานของทางร้านที่มีขายประจำทุกสาขาตลอดทั้งปี โดยที่ยังมีการเพิ่มเมนูที่เป็น Special เข้าไปเป็น seasonal เพื่อคงไว้ซึ่งความรู้สึกแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราถือได้ว่าเป็นแบรนด์เครื่องดื่มชานมไข่มุกที่ ใช้กลวิธีในการสร้างแบรนด์ awareness ผ่านนวัตกรรมสินค้า product innovation เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งสถานะความเป็นผู้นำหรือ trend setter แทนที่จะเป็นผู้ตาม

ประการสุดท้าย คือการเล็งเห็นในคุณค่าในบทบาทการเป็นผู้สร้างความสุข ความเพลิดเพลินสบายใจ ให้กับคนไทย อย่างที่เรามองตัวเราเองเป็นเครื่องดื่มสำหรับ Every day inspiration ที่พร้อมมอบความสุข รอยยิ้มและสีสันให้กับลูกค้าในทุกวัน ผมบอกน้องน้องทีมงานในบริษัทเสมอว่า เราไม่ได้ขายแค่เครื่องดื่มชานมเท่านั้น แต่เราขายความรู้สึกดีๆ อารมณ์ดี ๆ ความประทับใจดี ๆ ให้กับลูกค้า ดังนั้นบริการที่เราส่งมอบไปสู่ลูกค้าต้องสร้างรอยยิ้มและความประทับใจอยู่เสมอ


 

คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

 

คุณแทน-ทินกฤต : เมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดจะทำธุรกิจ ปัญหาคือสิ่งที่มาคู่กัน มันมาพร้อมกันเป็นแพ็กเกจ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศ อย่างบ้านเราถ้าวันใดฝนตกยอดขายก็ตก ช่วงน้ำท่วมก็จะเจอกับปัญหาการบริหารจัดการคลังสินค้า ช่วงการปิดพื้นที่ในเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ซึ่งต่างต้องอาศัยความอดทน ไม่ท้อถอย และพยายามเข้าไปจัดการปัญหาให้ดีที่สุดอย่างทันท่วงที ไม่ปล่อยค้างสะสมไว้

รวมถึงปัญหาที่เกิดจากการแข่งขันของคู่แข่งต่าง ๆ ในตลาด แต่สิ่งหนึ่งเลยที่อยากจะบอกคือเราต้องมีความหนักแน่นและชัดเจนในบทบาทที่เราทำ ซึ่งอย่างแบรนด์คามุ หัวใจสำคัญของแบรนด์คือในเรื่องของนวัตกรรม innovation จุดนี้เองที่ทำให้เราไม่ได้เป็นผู้ตาม

สิ่งที่คามุทำมาเสมอคือ คิดล่วงหน้าก่อนที่ตลาดจะเป็น เพราะความสำเร็จในวันนี้ไม่อาจการันตีความสำเร็จในวันข้างหน้าได้ตลอดไป เราจึงมุ่งคิดค้นสิ่งต่างต่าง ๆ ผ่านทีมงานที่มีหน้าที่ศึกษาและสร้างนวัตกรรมสำหรับเครื่องดื่มที่เราทำ มีการทำโปรดักส์เทสติ้ง อยู่ตลอดเวลา โดยที่ตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่คิดค้นและหาไอเดียสินค้าต่าง ๆ เหล่านั้นร่วมกับทีมงาน ดังนั้นการที่เราเป็น Trend setter นี่แหละที่จะทำให้เราไม่ได้มองคู่แข่งเป็นคู่แข่ง แต่เรามองคู่แข่งเป็นเพื่อนบ้าน โดยที่เรามีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนของเราเองมาอยู่ในน่านน้ำของบลูโอเชี่ยน ที่ไม่ได้ต้องไปฟาดฟันแข่งขันในเรื่องของราคาเป็นหลัก แต่เราเลือกที่จะแข่งขันในด้านนวัตกรรมเป็นสำคัญ

สำหรับคนที่สนใจธุรกิจประเภทเครื่องดื่มหรืออาหารทานเล่น ผมมองว่าอยากให้ใส่ใจในเรื่องของรสชาติและคุณภาพมาเป็นอันดับต้น ๆ ก่อน พยายามทำเครื่องดื่มที่มีรสชาติที่ดี อร่อยถูกปากได้คุณภาพ เพราะสำหรับผมแล้วเชื่อว่าคุณภาพและบริการเป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะถ้าคุณภาพและรสชาติคุณไม่ผ่านคุณก็ตายตั้งแต่ต้น ควบคู่ไปกับการรักษาและคงไว้ซึ่งมาตรฐานของตนเองให้ลูกค้าได้รับสินค้าบริการที่ดีเช่นเดิมอยู่ตลอดเวลา ส่วนสิ่งที่จะมาต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตก้าวหน้าต่อไป ก็คือการพัฒนาแบรนด์และการทำการตลาดอย่างจริงใจ และคำนึงถึงสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับเป็นสำคัญ เพื่อที่จะสร้างคุณค่าที่เรามีให้ยั่งยืนสืบทอดต่อไป 

สิ่งสำคัญประการสุดท้ายที่อยากทิ้งท้ายไว้ หากแต่ความหมายและความสำคัญไม่ได้น้อยเลย คือการเชื่อมั่นในพลังของทีมงาน สำหรับผมทุกๆ คนในครอบครัว คามุ ส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ทีมงานทุกคนคือเจ้าของแบรนด์ เจ้าของความสำเร็จตัวจริงของคามุ ไม่ใช่ผมเพียงคนเดียว ดังนั้นธุรกิจจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ ต้องเกิดจากพลังความสามัคคีของคนในองค์กร



บทสรุป


คามุ คามุ เริ่มต้นจากความคิดของหนุ่มวิศวกรที่รักที่อยากมีธุรกิจเป็นงานอดิเรก ตั้งใจจะทำสินค้าให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่ดีที่สุด โดยมีเป้าหมายเป็นความสุข รอยยิ้มและความประทับใจของลูกค้าเป็นหลัก ใช้เวลาในการบ่มเพาะและฟูมฟักให้แบรนด์ค่อยๆ เติบโตอย่างแข็งแรงและมั่นคง จนสวนกระแสกลายเป็นแบรนด์เครื่องดื่มสัญชาติไทยแท้ ที่กล้านำเสนอแนวคิดแปลกใหม่ เพื่อพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ทั้งในด้านคุณภาพและความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ ทำให้ คามุคามุ สามารถที่จะยืนหยัดอย่างมั่นคง อยู่ในตลาดเครื่องดื่มและอาหารทานเล่นได้อย่างยาวนาน


 

Published on 25 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ