ส้มตำไทยอบกรอบแม่ตุ๊ก อาหารไทยพื้นบ้านผสมผสานเทคโนโลยี

ส้มตำไทยอบกรอบแม่ตุ๊ก อาหารไทยพื้นบ้านผสมผสานเทคโนโลยี

เมื่อ “ส้มตำ” อาหารไทยพื้นบ้าน ถูกนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยีเพื่อความสะดวกสบาย ต่อยอดไอเดียให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้นาน และง่ายต่อการรับประทาน ก็สามารถขยายความเป็นไปได้ใหม่ ๆ  ออกไปสู่ตลาดโลก 

.

พลิกความคิด พร้อมสร้างโอกาสใหม่

ก่อนที่จะมาเป็นส้มตำและอาหารไทยกึ่งสำเร็จรูป ธุรกิจแรกเริ่มของแม่ตุ๊ก เป็นการขาย วัตถุดิบด้านการปรุงอาหารแบบค้าส่งและค้าปลีกที่ตลาดสี่มุมเมือง จำพวกปลาร้า หน่อไม้ และของดองต่าง ๆ แต่แม่ตุ๊กได้เล็งเห็นโอกาสที่จะขยายตลาดไปสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่นอกจากลูกค้าประจำ โดยการเปลี่ยนภาชนะบรรจุจากเดิมที่เป็นเพียงการใส่ถุง คิดใหม่ให้ดูสะอาด น่ารับประทานมากขึ้น พร้อมกันนั้นได้เริ่มทำปลาร้าต้มสุกบรรจุใส่ขวดเป็นเจ้าแรก ๆ ในประเทศไทย แล้วตามด้วยสินค้าอื่น ๆ เช่น หน่อไม้ดอง ที่ถูกพัฒนาสูตรขึ้นมาเป็นหน่อไม้ในน้ำใบย่านาง ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี ทำเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีความต้องการสั่งสินค้าเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

.

เพิ่มมูลค่าการตลาดด้วยเทคโนโลยี

เมื่อธุรกิจได้รับผลตอบรับที่ดี ก็เริ่มได้รับการติดต่อสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปวางจำหน่าย ในห้างสรรพสินค้าและส่งออกต่างประเทศ  แม่ตุ๊กจึงมีความตั้งใจที่จะหันมาสร้างธุรกิจแปรรูปอาหาร เพื่อช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้ได้มาตรฐานสากล และสามารถส่งออกได้ โดยเปิดเป็นโรงงานแปรรูปสินค้าการเกษตรขนาดย่อมในปี พ.ศ. 2557 มีเป้าหมายแรกจากการเริ่มทำน้ำปลาร้าสดบรรจุขวดเพื่อจำหน่าย 

.

เปลี่ยนสิ่งที่พบเจอ เป็นช่องทางต่อยอดธุรกิจ

ด้วยพื้นฐานธุรกิจจากผลิตภัณฑ์วัตถุดิบทำอาหารและปรุงรส แม่ตุ๊กเริ่มเล็งเห็นช่องทางที่น่าสนใจ ในธุรกิจอาหารไทย จากการที่ต้องไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ และต้องออกไปเดินหาซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารไทย ในระหว่างนั้นได้สังเกตเห็นว่าไม่มีอาหารไทยรูปแบบกึ่งสำเร็จรูปมาวางขาย จึงทดลอง ทำสูตรออกมาให้ได้สินค้าที่ทานง่าย สะดวก รองรับกับวิถีชีวิตคนในปัจจุบัน และตอบโจทย์คนไทยในต่างประเทศ นักท่องเที่ยว รวมถึงทำให้สามารถซื้อหาเป็นของฝากได้

 เมื่อมีโจทย์ตั้งต้นแล้ว จึงได้เริ่มพัฒนาสูตร โดยคิดถึงสินค้าที่สามารถต่อยอดได้ เช่น ส้มตำไทยอบกรอบที่นอกจากจะเป็นอาหารที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายแล้ว ยังหวังให้สินค้าเกษตรไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ เพราะในส้มตำประกอบไปด้วยผลผลิตทางการเกษตรหลายอย่าง น่าจะช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรได้ 

แต่ด้วยทักษะความรู้ในช่วงแรกที่ยังไม่พร้อม จึงต้องมีการศึกษาหาเทคโนโลยีที่จะสามารถผลิต สินค้าขึ้นมาได้ ลงเอยที่เทคโนโลยีฟรีซดราย (Freeze Dry) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้วิธีการระเหิดเอาความชื้นออกจาก ตัวอาหาร จนได้เป็นลักษณะที่กรอบ และเมื่อได้รับความชื้นก็จะคืนรูปกลับมาได้ จึงได้นำมาทดลองกับส้มตำ ต้มยำกุ้ง และผัดไทย จนสำเร็จ

.

อดทนและพัฒนา คือสูตรสำเร็จสู่ความสำเร็จ

สิ่งที่ทางแม่ตุ๊กยึดมั่นเสมอมาคือการผลิตสินค้าที่ผู้บริโภคให้การยอมรับ หลังจากทดลองจนได้สูตรที่ต้องการ ต้องให้ตัวอย่างทดลองแก่ลูกค้าไปชิมเพื่อรับข้อติชม เสนอแนะและแก้ไขไปตามจุด หากสินค้าตัวนั้นไปต่อได้ ก็ทำการพัฒนาต่อให้อยู่ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดีขึ้น สวยงามขึ้นและทำง่ายขึ้น 

ทางด้านการทำการตลาดแม่ตุ๊กได้ปล่อยผลิตภัณฑ์ส้มตำออกมาก่อนเพราะตอบโจทย์ความง่ายในการรับประทาน เพียงแค่ใช้น้ำเปล่าเทลงไป รอจนส้มตำคืนรูปก็สามารถทานได้เลย  ในอนาคตทางแบรนด์จะวางขาย ต้มยำกุ้ง ผัดไทย ที่พัฒนาสูตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยใช้การเติมน้ำร้อนในการรับประทาน 

 

สินค้าในแบรนด์ต่าง ๆ มีดังนี้

 

  • แม่ตุ๊ก 

 

  1. ส้มตำแบบอบกรอบบรรจุซอง มีให้เลือกทาน 3 สูตร ได้แก่ ส้มตำไทยอบกรอบ, ส้มตำปลาร้าอบกรอบ และ ส้มตำเจอบกรอบ 
  2. ผลไม้อบกรอบ ได้แก่ ข้าวเหนียวมะม่วงอบกรอบ, ข้าวเหนียวทุเรียนอบกรอบ, ลำไยไส้ทุเรียนอบกรอบ และ ทุเรียนอบกรอบ
  • PK ผลิตภัณฑ์วัตถุดิบในการปรุงอาหาร เช่น น้ำปลาร้า กระเทียมดอง เป็นต้น
  • MT ผลิตภัณฑ์พื้นเมือง เช่น ผักกาด หน่อไม้ เป็นต้น
  • MT by แม่ตุ๊ก  เป็นแบรนด์ใหม่ที่จะผลิตสินค้าขึ้นมาใหม่ อาทิ น้ำมะนาวพร้อมปรุงและหน่อไม้ในซุปใบย่านาง เพื่อให้กระจายไปในโมเดิร์นเทรดมากขึ้น เป็นต้น

ด้วยความคิดสร้างสรรค์และความใส่ใจในความสะอาดและปลอดภัยในอาหาร  ยึดมั่นในความพึงพอใจของลูกค้า แม่ตุ๊กจึงพัฒนาอย่างไม่หยุด โดยมีเป้าหมายคือการทำสินค้าที่ให้ทุกคนสามารถทำอาหารทานเองได้ 

.

ข้อมูลติดต่อธุรกิจส้มตำไทยอบกรอบแม่ตุ๊ก

ที่อยู่ : 91 หมู่ 3 ต.นพรัตน์ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี 12170

โทรศัพท์ : 02-150-1688, 089-5065003 (ผู้จัดการ), 081-8095299 (ที่ปรึกษาผู้อาวุโส)

Fax : 02-150-1689

Email : maetuk.mt@gmail.com

Website : http://www.maetuk.com

Facebook : www.facebook.com/MAETUK.TH

.

ช่องทางติดต่อบริษัท เอ็ม ที เกษตรแปรรูป จำกัด 

2/1 หมู่ 8 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120

โทรศัพท์ :  +66 (0)2-9026322

Fax   :  +66 (0)2-9026326

อีเมล :  info@maetuk.com

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

บัวลอยกลมเกลียว เสน่ห์ในรสชาติและสุขภาพ

บัวลอยกลมเกลียว เสน่ห์ในรสชาติและสุขภาพ

บัวลอยไทยเชื้อสายจีนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ พิถีพิถันในทุกขั้นตอนการทำ และเคารพในวัตถุดิบ  เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของ คุณแม่แกว เอมรอินทร์ ชีรนรวนิชย์ ที่ได้ดูสารคดีเรื่องกะทิสดสามารถบำรุงหลอดเลือดหัวใจได้ หากบริโภคด้วยอุณหภูมิที่ถูกต้อง จึงนำมาคิดค้นเป็นสูตรบัวลอยกะทิสดที่ผ่านความร้อนน้อย ตัวแป้งทำเป็นบัวลอยแบบไทยเชื้อสายจีน ที่ผสมทั้งเผือก ฟักทอง มัน กับทรงเครื่องแบบจีนด้วยแปะก๊วย รากบัว พุทราจีน เป็นเสน่ห์ที่รวมทั้ง 2 วัฒนธรรมเข้ากันได้อย่างลงตัว และให้โภชนาการที่ดีสำหรับผู้คนหลากหลายวัย

.

พัฒนามรดกทางวิชาชีพ อย่างคงเอกลักษณ์

ช่วง 10 ปีแรกที่บัวลอยกะทิสดสูตรแม่แกวประสบความสำเร็จ นั้นยังไม่มีการบริหารจัดการใด ๆ แม้กระทั่งชื่อร้าน จนเมื่อคุณนก ปภัสพรรณ์ ชีรนรวนิชย์ ทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาสืบทอดเจตนารมณ์ดั้งเดิมของคุณแม่ที่จะส่งต่อวิชาชีพนี้เพื่อที่เป็นมรดกให้กับลูกหลาน ด้วยความเชื่อมั่นว่าวิชาชีพนี้จะสามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้รอดพ้นหากเกิดวิกฤตด้านการเงินขึ้น เหมือนกับที่แม่แกวปรับเปลี่ยนอาชีพจากร้านโชห่วยที่กำลังประสบปัญหา และพลิกฟื้นสถานการณ์จนรอดพ้นมาได้ด้วยบัวลอยกะทิสด

โจทย์ในการสืบทอดกิจการของรุ่นที่ 2 จึงมุ่งเน้นในการทำแผนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ โดยโฟกัสเรื่องต้นทุนและความยั่งยืน ไม่ได้คิดเรื่องการทำกำไรให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทำอย่างไรให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำและคงเอกลักษณ์ของบัวลอยให้คงอยู่ต่อไปได้ คุณนกต้องศึกษาจากจุดเริ่มต้นที่ไม่เคยมีความรู้ด้านธุรกิจหรือด้านอาหารมาก่อน  จึงเลือกที่จะเข้าร่วมในโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อศึกษาหาความรู้เพื่มเติม รวมทั้งจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่พบเจอในห้องเรียน ทำให้ได้รับความช่วยเหลือเรื่องข้อมูล ไอเดีย รวมไปถึงมีการแบ่งปัน Supplier และลูกค้าให้แก่กัน เป็นความสัมพันธ์เกื้อกูลที่คุณนกคิดว่าทุก ๆ ธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กควรสร้างสิ่งเหล่านี้ไว้  

หลังจากได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครอบครัว จึงทำการตั้งแบรนด์ “บัวลอยกลมเกลียว” ขึ้น เป็นชื่อที่แฝงไว้ด้วย 2 ความหมาย คือ บัวลอยธุรกิจของครอบครัวที่ทุกคนทุ่มเทร่วมกันอย่างกลมเกลียว และความหมายที่สองคือ ตัวขนมบัวลอยเม็ดกลมที่เหนียวแน่น สื่อถึงความกลมเกลียวของครอบครัวและองค์กร เป็นสิ่งที่ที่คนไทยเชื้อสายจีนใช้ไหว้เป็นสิ่งมงคลในวาระสำหรับเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ

.

เริ่มแนวทางธุรกิจ จากจุดแข็งที่มี

หัวใจหลักที่ทำให้บัวลอยกลมเกลียวไม่เหมือนใคร คือ เรื่องของสินค้า บริการ และการต่อยอดธุรกิจ 

เมื่อต้องก้าวเข้ามารับช่วงต่อในกิจการครอบครัว จุดแข็งที่คุณนกมุ่งมั่นจะเก็บรักษาและพัฒนาต่อ คือสูตรขนมและรสชาติที่คนรุ่นแรกปูทางไว้ให้แล้ว นำมาเพิ่มเติมต่อยอดในส่วนที่ขาด คือเรื่องการวางโครงสร้างเพื่อขยายแบรนด์  เนื่องจากในช่วงแรก แม่แกวเจ้าของสูตรต้องการที่จะให้ตนและคนในครอบครัวเป็นผู้ผลิตบัวลอยด้วยตัวเองเท่านั้น เพื่อรักษาคุณภาพ จึงทำให้ไม่มีเวลาในการบริหารงานและส่งผลให้การขยายธุรกิจเป็นไปได้ยาก เมื่อคุณนกเข้ามาดูแล ได้นำกระบวนการ Trial and Error เข้ามาใช้ คือทดลองทำเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ถามความคิดเห็นจากผู้มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจครอบครัว และดูผลลัพธ์ไปด้วยกัน ค่อย ๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น โดยสามารถเลี่ยงเรื่องความคิดที่ไม่ตรงกันที่มักจะพบในการรับช่วงต่อและพัฒนาธุรกิจของครอบครัวไปได้ ขั้นตอนต่อไปจึงมาดูแลในเรื่องของเป้าหมายและช่องทางการจัดจำหน่าย ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มในการเก็บข้อมูลจากลูกค้า จนแตกไลน์มาเป็นบัวลอยมงคล คือขนมอี๋ ในส่วนหนึ่งจับตลาดเทศกาลงานมงคลต่าง ๆ และอีกส่วนหนึ่งไปเน้นทำตลาดลูกค้าองค์กร โดยเฉพาะงานประชุมและสัมมนา โดยพยายามพัฒนาด้าน packaging ให้สะดวกสบายต่อการใช้งานมากที่สุด  เช่น เปลี่ยนถ้วยใส่ขนมให้เป็นแบบที่ปลอดภัยกับไมโครเวฟ เพื่อตอบโจทย์คนทำงานที่สามารถนำขนมมาอุ่นทานภายหลังได้ รวมทั้งหาพันธมิตรเพิ่มเติมจากเพื่อน ๆ เพื่อขยายกลุ่มลูกค้า จากที่ขายอยู่ตามตลาดนัด ก็ทำการปรับมาเปิดสาขาถาวรที่เยาวราช นอกจากนี้ยังเปิดช่องทางให้สามารถเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่าง ๆ วิธีการขยายฐานลูกค้าเช่นนี้ ทำให้แบรนด์เกิดการเรียนรู้ในเรื่องการปรับปรุงยกระดับการให้บริการ สร้างความเสถียรในกำลังการผลิตและการบริหารระบบขนส่งให้ราบรื่น รวมถึงหมั่นสังเกตและนำคำแนะนำจากลูกค้ามาพัฒนาบริการเสมอมา 

.

ปัจจุบันบัวลอยกลมเกลียวมีสินค้าและบริการดังนี้

  • บัวลอยกะทิสดใส่ไข่หวานและไข่เค็ม เต้าทึงธัญพืช และน้ำสมุนไพร น้ำขิงเสริมภูมิต้านทาน

และในอนาคตจะมีน้ำสมุนไพร มาเสริมยอดขายเพิ่มขึ้น  

  • บริการ "รักกัน...ให้กลมเกลียว” รับจัดบัวลอยงานมงคล ทั้งงานเลี้ยง งานแต่ง งานสัมมนา และเทศกาลไหว้ขนมบัวลอย

 

ยังมีผลิตภัณฑ์ที่กำลังอยู่ในช่วงวิจัยพัฒนาคือ ชุดบัวลอยพร้อมปรุง เพื่อจำหน่ายในช่องทางออนไลน์หรือในพื้นที่นอกเขตกทม. ด้วยแนวคิดที่ต้องการจะกระจายสินค้า โดยคิดวิธีการถนอมอาหารให้ยังคงรักษารสชาติดั้งเดิม จึงใช้ช่วงเวลาขณะนี้สำรวจตลาดและเก็บข้อมูลเพื่อดำเนินงานวิจัยต่อไป นอกจากนั้นได้มีการวางแผนต่อเนื่องไปถึงรุ่นต่อไปหลังจากนี้ ว่าจะมีแนวทางต่อยอดอย่างไรให้เท่าทันไปกับโลก และยังคงรักษาเสน่ห์ที่เป็นมรดกไว้ได้ เพราะเชื่อว่าหลังจากนี้ ไปผู้คนจะให้ความสำคัญกันมากในเรื่องของสุขภาพ

 .

ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์และบริการของบัวลอยกลมเกลียว สามารถติดต่อได้ที่

Facebook: บัวลอยกลมเกลียว by แม่แกว 

โทร: 099-592-2636, 085-933-6664, 086-644-9951

สาขาต่าง ๆ :

1.สาขาเยาวราช 

ขายเวลา 20.00-24.00 น. หยุดวันอาทิตย์

ถนนเยาวราชซอย 4 ตรงข้ามโรงหนังไชน่ารามา, ก๋วยจั๊บนายอ้วน

 

  1. สาขาเพลินจิต

ขายวันพฤหัส เวลา 11.00-14.00 น.

ตลาดเจ๊วารี สมาคมเทควันโด แยกเพลินจิต ข้าง ธ.กรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ 

สามารถสั่งจองได้ โทร 085-933-6664
โดยสั่งจองก่อน 11.00 น.และมารับบัวลอยได้ถึง 14.00 น.

 

  1. สาขามหาชัย
    ขายวันพุธ พฤหัส ศุกร์ สัปดาห์แรกของเดือน
    เวลา 11.00-17.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร

 

  1. สาขาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

ขายทุกวันพุธสิ้นเดือน
เวลา 08.00-15.00 น.ที่ตลาดนัดตึกกลมคณะวิทยาศาสตร์

 

  1. สาขาเปิดท้ายโลตัสพระราม 2

ขายเวลา 16.30-20.30 น. หยุดวันอาทิตย์ และวันพุธ

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

AIS The StartUp ตัวช่วยสตาร์ทอัพไทย ต่อยอด เร่งโต หาตลาด เข้าถึงเครือข่ายแหล่งทุน

จากผลการสำรวจของ Nielsen พบว่า 54% ของคน Gen Z มีความฝันตั้งมั่นอยากเป็นเจ้าของกิจการ ปราศจากหนี้ มีเป้าหมายในการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง และอาชีพในฝันของคนกลุ่มนี้ก็คือ การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังตีโจทย์ธุรกิจไม่แตก ไม่รู้ว่าจะเข้าไปอยู่ใน Startup Ecosystem อย่างไร และอาจเข้าไม่ถึงเครือข่ายแหล่งทุนที่จะทำให้สเกลอัพได้ 

วันนี้เรามีหน่วยงานสนับสนุนสตาร์ทอัพในทุกๆ มิติมานำเสนอ นั่นคือ AIS The StartUp ตัวช่วยที่จะทำให้สตาร์ทอัพไทยเดินไปสู่ฝันที่เป็นจริงได้ ดร.ศรีหทัย พราหมณี ผู้จัดการด้านเอไอเอส สตาร์อัพ บริษัท แอดว๊านซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า AIS The StartUp เป็นหน่วยงานของเอไอเอสที่เข้ามาเติมเต็มศักยภาพ ต่อยอด และให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพในเมืองไทยให้มีความแข็งแกร่งเติบโต และพัฒนาไปสู่ระดับโลก โดยเปิดกว้างสตาร์ทอัพในทุกๆ สเตจ 

เริ่มจากระยะเริ่มต้น Early Stage หรือ Idea Stage เพิ่งเริ่มสร้างธุรกิจยังไม่มี Business Model ชัดเจน ส่วนใหญ่กลุ่มนี้มาด้วยไอเดียและ Passion ดังนั้น AIS The StartUp จะเข้ามาสร้างความรู้ความเข้าใจของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ และให้มุมมองการพัฒนาไปสู่โมเดลการสร้างรายได้ 

Growth Stage ระยะการเติบโตซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่มี Business Model แล้ว แต่ต้องการทดสอบตลาด ทาง AIS The StartUp จะมีโปรแกรม  Go to Market Program เพื่อร่วมทำกิจกรรมการตลาดด้วยกัน โดยจะได้รับสิทธิ์เข้าถึงลูกค้าทั้งหมดของเอไอเอสที่มีกว่า 34 ล้านรายในปัจจุบัน โดยการเชื่อมต่อ API อาทิ การชำระเงิน ยืนยันตัวตน หรือทำโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อเป็นการทดสอบตลาดกับลูกค้าโดยตรง และหากกลุ่มนี้ต้องการสเกลอัพไปอีกเลเวลหนึ่ง AIS The StartUp จะยิ่งเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อช่วยธุรกิจของสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้เติบโตได้ ผ่านการจัดหา (Provide) โซลูชั่นต่างๆ ได้ อาทิ โซลูชั่นทางด้านเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายโทรคมนาคมของเอไอเอส เพื่อเพิ่มศักยภาพของผลิตภัณฑ์,  การจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์  , เทคโนโลยี IoT และระบบรักษาความปลอดภัย (Cyber Security) ซึ่งจะมีความสำคัญมากขึ้นหลังจากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562  จะเริ่มมีผลบังคับใช้เต็มฉบับในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นอกจากนี้สิ่งที่สตาร์ทอัพจะได้รับยังเป็นเรื่องเงินทุนสนับสนุน การฝึกอบรมกลยุทธ์และเทคนิคการทำตลาด ให้คำปรึกษาด้านการเงิน และโอกาสการเข้าพบนักลงทุนต่างประเทศ และเข้าถึงเครือข่าย VC ชั้นนำทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีความสนใจลงทุนในธุรกิจ Digital อย่างไม่จำกัด

 ดร.ศรีหทัย กล่าวว่า AIS The StartUp วางตำแหน่งเป็น Market Gateway หรือแพลตฟอร์มการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพและลูกค้าเอไอเอส ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ จนมาถึง SMEs ตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสตาร์ทอัพในการขยายฐานลูกค้าเช่นกัน

“เมื่อสตาร์ทอัพเข้ามาใช้ Infrastructure ของเอไอเอสแล้ว ก็จะทำให้เรามีความเข้าใจในธุรกิจของเขาเพิ่มเติม พอที่จะเป็นช่องทางการขาย หรือช่องทางการตลาดให้กับสตาร์ทอัพได้เหมือนกัน ทั้งนี้ช่องทางการตลาดและช่องทางการขายมีหลากหลายรูปแบบ อันแรกคือ SAS Service หรือซอฟท์แวร์ที่สามารถซื้อทางออนไลน์ได้ โดยสตาร์ทอัพสามารถขยายฐานลูกค้าผ่านการเรียกเก็บเงินผ่านบิลค่าโทรศัพท์มือถือ ที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพบางรายที่ทำพาร์ทเนอร์ชิพกับเราตรงนี้ แล้วทำให้รายได้ของเขา 20-25% มาจากช่องทางดังกล่าว ช่องทางที่สอง คือ การที่เรามีฐานลูกค้าองค์กรขนาดเล็กใหญ่ และ SMEs ที่มี Requirement แตกต่างกันไป พอเรารู้ความต้องการของเขา และรู้ศักยภาพของสตาร์ทอัพ ก็สามารถนำสองฝั่งนี้มาแมชชิ่งกันได้”

ในเวลาเดียวกัน หากสตาร์ทอัพรายไหนที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจภายในของเอไอเอสได้ ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าการบริการให้ลูกค้า หรือมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ก็จะได้รับการทาบทามให้มาเป็นพันธมิตรกับเอไอเอส ด้วย Business Model ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อกลุ่มสตาร์ทอัพ

และเนื่องจากเอไอเอสเป็นโอเปอร์เรเตอร์เจ้าแรกๆ ที่เข้ามาสนับสนุนสตาร์ทอัพมานานมากกว่า 10 ปี จุดนี้จึงเป็นอีกหนึ่งจุดต่างที่ทำให้สตาร์ทอัพที่เข้ามาร่วมโครงการมีโอกาสในการเข้ามาอยู่ในสังคมสตาร์ทอัพที่มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันจากรุ่นสู่รุ่น 

“เมื่อสตาร์ทอัพเข้ามาอยู่ในโครงการ AIS The StartUp แล้วเราจะดูแลกันไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เข้ามาปีนี้แล้วปีหน้าก็หายกันไป แต่จะจูงมือแล้วโตกันไปในแต่ละสเตจ พอปีนี้สตาร์ทอัพรุ่นพี่เริ่มโต ปีหน้ามีสตาร์ทอัพน้องใหม่เข้ามา มันกลายเป็นคอมมิวนิตี้ และ Ecosystem ที่แข็งแกร่ง เพราะไม่เพียงแต่เอไอเอสจะกรูมมิ่งน้องใหม่ แต่รุ่นพี่ที่เคยได้รับโอกาสจากเรา เขาก็กลับมาแบ่งปับประสบการณ์ หรือช่วยกรูมน้องใหม่อีกทางหนึ่งด้วย” 

มากไปกว่านั้น อีกหนึ่งจุดต่างที่ไม่เหมือนใครก็คือ โอกาสการเข้าไปอยู่ในเครือข่าย Singtel Group ที่มีฐานลูกค้า 400 ล้านราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัพที่ต้องการที่จะเติบโตในต่างประเทศ นี่จะเป็นอีกความได้เปรียบที่สตาร์ทอัพจะได้รับการพิจารณาเป็นเจ้าแรก

มาถึงตรงนี้แล้วหากสตาร์ทอัพรายไหนสนใจที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ AIS The StartUp สามารถส่งผลงานเข้ามาในเว็บไซต์ www.ais.co.th/thestartup หรือ facebook/aisthestartup เพื่อเข้าร่วม Monthly Online Pitching ได้ทุกเดือน และต้องบอกว่า AIS The StartUp ไม่เพียงแต่เปิดกว้างสตาร์ทอัพทุกสเตจเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างสตาร์ทอัพทุกประเภทธุรกิจ และทุกประเภทเทคโนโลยีอีกด้วย 

“สำหรับหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนั้นจะขึ้นอยู่กับสเตจ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาในโครงการนี้ต้องถามตัวเองก่อนว่า วันนี้คุณมีความพร้อมของธุรกิจจริงไหม และมีความพร้อมด้านบุคลากรแค่ไหน เช่น เป็น FinTech หรือ HealthTech ก็ตามคุณมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญตรงนี้จริง นี่คือเกณฑ์การตัดสินอันดับแรกที่เรามอง ต่อมาเราจะมองความพร้อมของคน เพราะเราเชื่อว่าบางครั้งเทคโนโลยีเปลี่ยนธุรกิจเปลี่ยน แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือคน มีสตาร์ทอัพหลายรายเหมือนกันที่เข้ามาอยู่กับเรา จนถึงวันนี้ทิศทางการเติบโตของเขาต่างไปจากเดิมมาก เพราะเขามี Mindset การปรับตัวและมองหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นตอนที่เขาเข้ามาในโครงการ เราจะไม่ได้มองว่าวันนี้เขาเป็นยังไง แต่สิ่งที่เราพยายามมองคือ อีก 3 ปีเขาจะเป็นยังไง ข้อสุดท้ายเราจะมองตลาดว่ามีความพร้อมแค่ไหนในช่วงเวลานี้และอีก 3 ปีข้างหน้า”

อย่างไรก็ตาม AIS The StartUp ถือเป็นอีกช่องทางการแจ้งเกิด เติบโต และขยายธุรกิจในระดับสากลให้กับสตาร์ทอัพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศด้วยดิจิตัล 

 

บทความแนะนำ

รู้จัก PayZave แพลตฟอร์มรับ-จ่ายไม่ต้องรอเครดิตเทอม อีกหนึ่งทางรอดเสริมสภาพคล่องให้ SMEs

ยิ่งสถานการณ์ COVID-19 ลากยาวมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ SMEs หมดแรงมากเท่านั้น SMEs จำนวนไม่น้อยทยอยปิดตัว ส่วนที่เหลือ 70-80% ขาดสภาพคล่องประสบปัญหาด้านยอดขาย หรือเมื่อนำส่งสินค้าหรือบริการไปแล้วก็ยังต้องมาเจอกับเครดิตเทอม 45-60 วัน กว่าจะได้เงินมาหมุนยิ่งซ้ำเติมปัญหาสภาพคล่องเข้าไปอีก เมื่อ SMEs อ่อนแอจนไม่สามารถผลิตและส่งสินค้าหรือบริการให้ได้ตามข้อตกลง ก็ย่อมส่งผลกระทบลูกโซ่ไปยังคู่ค้ารายใหญ่ที่ทำธุรกิจกับSMEs รายย่อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ที่ผ่านมารัฐบาลจึงออกมาตรการอนุมัติสินเชื่อซอฟท์โลนหวังเป็นออกซิเจนที่จะหล่อเลี้ยง SMEs เพื่อป้องกันไม่ให้ SMEs ต้องหันมากู้เงินนอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงลิบลิ่ว แต่วันนี้ SMEs กำลังจะมีช่องทางเสริมของแหล่งเงินทุนอีกช่องทางหนึ่ง หลังจากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ผนึกกำลังดิจิทัลเวนเจอร์สพัฒนาแพลตฟอร์ม PayZave มาตรฐานใหม่ในการชำระเงินระหว่างคู่ค้าให้รับ-จ่ายทันทีแบบไม่ต้องมีเครดิตเทอม อีกหนึ่งทางรอดที่จะช่วยให้ SMEs มีสภาพคล่องมากขึ้น และไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ

ทั้งนี้แพลตฟอร์ม PayZave ที่พัฒนาขึ้นโดยดิจิทัลเวนเจอร์ส จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้คู่ค้าระหว่างบายเออร์และซัพพลายเออร์ได้มาเจอกัน และดำเนินการรับ-จ่ายค่าสินค้าระหว่างกันทันทีโดยไม่ต้องรอเครดิตเทอม โดยทั้งสองฝ่ายจะทำข้อตกลงให้ส่วนลดการขายในลักษณะเปอร์เซ็นต์ส่วนลดตามความพอใจของทั้งสองฝ่าย เพื่อแลกกับการได้รับชำระค่าสินค้าก่อนครบรอบบิล ในกรณีที่บายเออร์บางรายอยากเก็บเงินสดไว้มากกว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ก็ยังมีออพชั่นเพิ่มโดยให้การสนับสนุนทางการเงินกับบายเออร์ในการชำระเงินให้คู่ค้าได้เร็วขึ้นด้วยการปล่อยวงเงินโอดี ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 

เท่ากับว่า PayZave เป็นโมลเดล Win-Win เพราะทำให้บายเออร์ได้สินค้าที่มีต้นทุนถูกลง และลดภาระในการตอบคำถามเรื่องรอบชำระเงิน ในขณะที่ซัพพลายเออร์หรือผู้ขายก็ได้เงินค่าสินค้าทันทีโดยไม่ต้องไปหากู้จากแหล่งเงินทุนอื่น จึงเป็นการบริหารสภาพคล่องที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับประโยชน์อย่างลงตัว

ธนวัฒน์ กิตติสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน GTS and Ecosystems ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึงแพลตฟอร์ม PayZave ว่าเป็นการต่อยอดแนวคิด “รายใหญ่ช่วยรายเล็ก" ของธนาคาร โดยพลิกไอเดียจากระบบซื้อก่อนจ่ายทีหลังสู่ทางเลือกใหม่ “จ่ายก่อนเซฟกว่า” ด้วยข้อตกลงส่วนลดการขายเมื่อจ่ายเงินทันทีผู้ซื้อเซฟต้นทุนค่าใช้จ่าย ผู้ขายได้เงินเร็ว สามารถทำธุรกิจต่อได้โดยไม่ต้องพึ่งสินเชื่อนอกระบบสร้างสมดุลสภาพคล่องแบบวินวินสำหรับทุกคู่ค้า

ในขณะที่อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัลเวนเจอร์ส จำกัด กล่าวเสริมว่าแพลตฟอร์ม PayZave เกิดจากความต้องการช่วยเหลือซัพพลายเชนในช่วง COVID-19 ด้วยโจทย์ว่าทำอย่างไรจึงจะลดปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับซัพพลายเออร์รายเล็กๆ แล้วคนที่รู้จักซัพพลายเออร์ที่ดีสุดคือบายเออร์ ในขณะที่ซัพพลายเออร์ก็อยากรักษาลูกค้า ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ที่คุ้มค่าเปลี่ยนแนวคิดจากระบบ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” เป็น “จ่ายก่อนเซฟกว่า” นำผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันโดยตรงเพื่อสร้างข้อตกลงการชำระเงินโดยไม่ต้องมีข้อจำกัดทางด้านเครดิตเทอม 45-60 วัน 

เมื่อไม่มีเครดิตเทอมจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งคนกลางหรือสถาบันทางการเงินจึงช่วยให้ประหยัดต้นทุนทางธุรกิจได้ทั้งสองฝ่ายผู้ซื้อได้ส่วนลดของสินค้า ผู้ขายได้รับเงินทันทีประหยัดเวลาด้วยขั้นตอนที่รวดเร็วสะดวกทำรายการออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ลดปัญหาการติดตามเอกสารแบบเดิมๆ และทันสมัยด้วยระบบ Reconciliation (กระทบยอด) อัตโนมัติแบบเรียลไทม์

สำหรับขั้นตอนการสมัครแพลตฟอร์ม Payzave ในฝั่งของบายเออร์หรือผู้ซื้อ 

  1. สมัครใช้บริการ
  2. นำข้อมูลใบแจ้งหนี้เข้าระบบ
  3. ตั้งค่าส่วนลดทางการค้า
  4. เริ่มใช้งาน 

 

ส่วนขั้นตอนการสมัครของซัพพลายเออร์หรือผู้ขาย จะเกิดขึ้นได้หลังจากผู้ซื้อส่งอีเมลเชิญใช้บริการ PayZave จากนั้น

1 . สมัคร 

- กดที่ไอคอน Payzave เพื่อเปิดแอป 

- กรอกเบอร์มือถือเพื่อเริ่มต้นการใช้งาน

  1. ยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการ 

- อ่านและยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการและนโยบายความเป็นส่วนตัว 

- ใส่รหัส OTP ที่ได้รับใน SMS จาก Payzave

  1. เริ่มลงทะเบียน 

- กรอกชื่อและนามสกุลให้ถูกต้อง 

- กดปุ่มลงทะเบียนเพื่อไปหน้าต่อไป

  1. ตั้งค่ารหัส PIN เข้าใช้งาน 

- ตั้งรหัส PIN 6 หลัก

- ใส่รหัส PIN 6 หลักอีกครั้ง ให้เหมือนครั้งแรก

- กดปุ่ม บันทึก เพื่อเริ่มต้นใช้งาน

  1. ขั้นตอนการขอรับเงินล่วงหน้า

 - เลือกใบแจ้งหนี้ที่ต้องการขอรับเงินล่วงหน้า พร้อมให้ส่วนลดกับผู้ซื้อ 

- รับเงินล่วงหน้าผ่านบัญชีที่ได้ลงทะเบียนไว้

 

นอกจาก PayZave ถูกออกแบบมาให้มีจุดเด่นในเรื่องใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็วแล้ว ยังเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้บริการสำหรับคู่ค้าซัพพลายเชนทุกรายในประเทศไทยเข้าใช้งานได้แม้ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อธนาคารไทยพาณิชย์ เพียงแค่มีบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมามีคู่ค้าในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจค้าปลีกเข้ามาใช้บริการแล้วจำนวนมาก และเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระในช่วงวิกฤต COVID-19 ทางธนาคารเปิดให้ใช้บริการฟรีโดยไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์มจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

และนี่จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ซัพพลายเออร์มีสภาพคล่องสามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ เมื่อซัพพลายเออร์แข็งแรง ก็จะเป็นรากฐานสำคัญให้ระบบซัพพลายเชนแข็งแกร่งทั้งระบบ 

บทความแนะนำ

Tellscore ติดอาวุธเสริมแกร่ง SMEs ด้วย Influencer Marketing

Influencer Marketing เป็นหนึ่งในการตลาดออนไลน์ที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเพราะเป็นรูปแบบการสื่อสารในช่องทางใหม่ๆ ที่ผู้คนในยุคดิจิทัลให้ความสนใจ ยิ่งไปกว่านั้น Influencer Marketing ยังเป็นช่องทางการสื่อสารที่สามารถช่วยในเรื่องการโปรโมทได้ดี และสร้างยอดขายได้จริง ในลักษณะการสื่อสารที่เรียกกันว่า "ปากต่อปาก"

กลไกสำคัญของ Influencer Marketing ก็คือ Influencer… แล้ว Influencer คือใคร? …

อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คือ ผู้มีอิทธิพลทางความคิดบนโซเชียลมีเดีย ทำคอนเทนท์อยู่บนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook, Instagram, YouTube และ Blog และมีคนสนใจติดตามเป็นแฟนคลับ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยทำงาน และมักคล้อยตามเนื้อหาที่อินฟลูเอนเซอร์นำเสนอ เพราะรู้สึกถึงความใกล้ชิด เหมือนเป็นเพื่อน 

เทลสกอร์ (Tellscore) คือ ผู้ให้บริการ Influencer Marketing Automation Platform ที่เชื่อมต่ออินฟลูเอนเซอร์เข้ากับแบรนด์ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยอินฟลูเอนเซอร์ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่มีส่วนช่วยส่งต่อเรื่องราวข่าวสารให้ทันเหตุการณ์ และตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันเทลสกอร์มีอินฟลูเอนเซอร์อยู่ในเครือข่ายกว่า 65,000 คน ซึ่งหากนับรวมผู้ติดตามของอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหมดรวมกัน อาจมีจำนวนไม่น้อยกว่า 200 ล้านผู้ติดตาม

ที่ผ่านมา เทลสกอร์ ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำโครงการที่เกี่ยวกับ SMEs มากมาย เพื่อเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์ พร้อมให้ความรู้ และเคล็ดลับกับผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยให้ได้เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการเข้าร่วมมาตรการขยายโอกาสทางธุรกิจของสสว. 

สุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore กล่าวว่า ทางบริษัทร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ในการผลักดัน SMEs โดยได้นำทีมอินฟลูเอนเซอร์ผู้คร่ำหวอดในสายการตลาด และการทำธุรกิจร่วมโปรโมท และเผยแพร่ข้อมูลเพื่อเชิญชวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ลงทะเบียนเพื่อให้ได้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ผ่านเว็บไซต์ www.thaismegp.com เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น 

“ในแต่ละปีภาครัฐจะมีงบจัดซื้อจัดจ้างอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ SMEs ทั่วไปไม่รู้ข้อมูล และไม่รู้วิธีการที่จะเข้าถึงงบดังกล่าว บางคนเข้าใจว่า ต้องเป็น SMEs ระดับโรงงานเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ ในขณะที่ภาครัฐมีงบประมาณในส่วนนี้มากถึง 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเงินที่ถูกกันไว้เพื่อมาอุดหนุน SMEs อยู่แล้ว แต่ SMEs ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบข่าว เราจึงเข้ามาช่วยโปรโมท โดยทำผ่านอินฟลูเอนเซอร์ และเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นผู้ประกอบการ เพื่อทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการขยายการรับรู้”

ก่อนหน้านี้ ทางเทลสกอร์ ยังได้ร่วมมือกับสสว. และอินฟลูเอนเซอร์ที่มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจ มาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำการตลาดโดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ เพื่อเป็นส่วนช่วยในการเติมเต็ม และทำให้การสื่อสารทางการตลาดมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น 

“โครงการดังกล่าวเป็นการโปรโมท SMEs ที่เป็นสินค้า OTOP 5 ดาว บางรายเป็นสินค้าที่รางวัลจากต่างประเทศมากมาย แต่ยังขาดเรื่องราวในประเทศ เราจึงอาสาด้วยการนำอินฟลูเอนเซอร์มาช่วยโปรโมท แต่ก่อนอื่นเราต้องติดอาวุธในเรื่องการตลาดออนไลน์ให้เขาก่อน เพราะเราเคยให้แพ็คเกจอินฟลูเอนเซอร์กับเขาแล้วแต่ใช้ไม่เป็น เลยต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ให้เขาสร้างอินสตาแกรม จัดเป็นคลาสที่เริ่มจากความรู้เบื้องต้น ซึ่งทางเทลสกอร์ได้มีการเซ็น MOU กับทางสสว.โดยจะมีสิทธิพิเศษให้กับทางสสว. 2-3 เรื่อง คือ การร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้กับผู้ประกอบการ การให้แพ็คเกจอินฟลูเอนเซอร์ราคาพิเศษแก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในความดูแลของสสว.เป็นต้น” 

นอกจากนี้ เทลสกอร์ ยังเดินหน้าสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจ SMEs ด้วยการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านทางความร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือการมุ่งฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยวให้กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง อาทิ โครงการ TAT GYM 2020 ยิมเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท แอร์เอเชีย จำกัด โครงการ SCB IEP BOOTCAMP The Hospitality Survival โดยธนาคารไทยพาณิชย์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โครงการ The FinLab โดยธนาคารยูโอบี และโครงการ Cherish Krabi ที่ร่วมกับจังหวัดกระบี่ มูลนิธิเอ็นไลฟ มูลนิธิเพื่อคนไทย ชุมชน และสมาคมผู้ประกอบการโรงแรมจังหวัดกระบี่ 

การได้ลงพื้นที่หลังการล็อกดาวน์ช่วงแรกๆ เพื่อไปให้ความรู้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ทำให้สุวิตา ได้รับทราบข้อมูลว่า ผู้ประกอบการบางรายไม่ได้มองกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่เป็นคนไทย หรือคนในท้องถิ่นเดียวกันเลย และเมื่อนำกลยุทธ์การสื่อสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์ไปปรับใช้ ผู้ประกอบการก็เริ่มให้ความสนใจ และเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการให้คนรอบข้าง หรือพนักงานของตัวเองทำหน้าที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์เพื่อโพสต์เรื่องราวของทางโรงแรม ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดีเพราะจากเดิมที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพัก ก็กลายเป็นว่าห้องพักเต็มทุกคืนในช่วงเวลานั้น 

สำหรับแผนงานในปีนี้ เทลสกอร์จะมุ่งเน้นในลักษณะของงาน In Process มากขึ้น เช่น การออกแพ็คเกจอินฟลูเอนเซอร์ราคาพิเศษเพื่อช่วยเหลือ SMEs เพราะมองว่า การอบรมให้ความรู้ทำได้เพียงบางครั้งคราว ไม่ต่อเนื่องจึงขยายต่อได้ยาก และไม่เกิดความยั่งยืน ขณะที่การจัดอบรมก็ไม่สามารถทำในจำนวนมากๆ ได้ภายในครั้งเดียว

“ในมุมมองของเราก็อยากจะขยาย แต่ถ้ามาจำนวนมากๆ ก็รับไม่ไหว วิธีการที่ดีที่สุด คือการเตรียมแพ็คเกจอินฟลูเอนเซอร์ราคาพิเศษให้กับ SMEs ได้มีโอกาสเข้ามาทดลองใช้งานจริงจะเห็นภาพมากกว่า ตอนนี้เริ่มทำแพ็คเกจร่วมกับบางหน่วยงานไปบ้างแล้ว เพราะมองว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการตั้งแคมเปญเลย และเราทำให้ในราคาไม่แพง เช่น ราคา 1 หมื่นบาท จะได้อินฟลูเอนเซอร์ 5 คน จะทำให้เขามีประสบการณ์ว่า การเป็นกระบอกเสียงของอินฟลูเอนเซอร์ทำอย่างไร หรือมีกระบวนการใช้งานในแพลตฟอร์มอย่างไรบ้าง ความรู้เหล่านี้มองไม่เห็นภาพถ้าเราไปพูดให้ฟังเพียงอย่างเดียว”

การสร้างโอกาสให้ SMEs ได้เข้ามาใช้แพลตฟอร์ม Influencer Marketing ยังเสมือนเป็นทางลัดให้กับผู้เริ่มทำธุรกิจได้มีโอกาสเรียนรู้การตลาดออนไลน์ในมุมมองใหม่ๆ เพราะหากไม่ใช่คนในแวดวงมีเดียก็จะไม่รู้จัก และไม่เข้าใจว่าจะใช้งานอินฟลูเอนเซอร์ได้อย่างไร และเลือกใช้ใครดี แต่เมื่อได้เข้าไปในแพลตฟอร์มจะได้เห็นว่ามีใครบ้าง และใครมีผลงานในเรื่องใดบ้าง ทำให้สามารถเลือกใช้งานอินฟลูเอนเซอร์ได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของสินค้า หรือแบรนด์ที่ทำอยู่

สุวิตา อธิบายเพิ่มเติมให้ฟังว่า นอกจากอินฟลูเอนเซอร์จะช่วยเพิ่มยอดขาย ยังสามารถช่วยลดต้นทุนค่าโฆษณาได้อีกด้วย ซึ่งโดยปกติเจ้าของสินค้าสามารถจ้างงานอินฟลูเอนเซอร์ได้โดยตรง แต่ข้อแตกต่างของการที่มีเทลสกอร์เข้ามาช่วย คือ 

1) การใช้งานอินฟลูเอนเซอร์ผ่านแพลตฟอร์มของเทลสกอร์จะได้ในราคาที่ถูก เนื่องจากทางเทลสกอร์มีการดีลงานมาเป็นวอลุ่มใหญ่ เช่น อินฟลูเอนเซอร์ 5 คน ในราคา 10,000- 15,000 บาท แต่ถ้าไปติดต่อเองเป็นรายบุคคลจะใช้งบมากกว่า เพราะราคาต่อคนประมาณ 5,000 บาท ถ้าใช้งาน 5 คน ต้องใช้งบถึง 25,000 บาท 

2) เทลสกอร์มีระบบการทำงานแบบพี่เลี้ยงที่ช่วยบรีฟงาน และดูแลงานอินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนให้สื่อสารออกไปแนวทางที่ลูกค้าต้องการได้ 

3) แพลตฟอร์มของเทลสกอร์สามารถเก็บผลงานให้ลูกค้าได้ทันที มีความถูกต้อง แม่นยำ ไม่สามารถโกงสถิติได้ ทำให้ผู้ประกอบการหมดความกังวลเรื่องการวัดผล 

การใช้งานอินฟลูเอนเซอร์ ยังสามารถช่วยประหยัดงบโฆษณา หรือการยิงแอดบนเฟสบุ๊ค เพราะจากงานวิจัยยังพบว่า โดยปกติผู้ประกอบการมีจะใช้งบการตลาดประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน หรือ 360,000 บาทต่อปี แต่ปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการโยกงบการตลาดบางส่วนมาใช้งานอินฟลูเอนเซอร์
วันนี้ถ้าหากผู้ประกอบการอยากลดต้นทุนจะเข้ามาหาเทลสกอร์ และแบ่งงบการตลาดบางส่วนมาใช้กับอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเดือนถัดมางบการตลาดที่เคยจ่ายเป็นค่าโฆษณา 300,000 บาท จะลดลงมาเหลือ 200,000 บาท เพราะการทำตลาดแบบ Influencer Marketing สามารถช่วยขายของได้ ทำให้โฆษณาในช่องทางอื่นๆ น้อยลง ซึ่งมีนัยสำคัญของเทลสกอร์ คือการสร้างการบอกต่อ ดังนั้น Influencer Marketing เป็นลูกครึ่งระหว่างการตลาดกับการโฆษณา

“โดย 0.5-1% ของจำนวนคนที่คลิก/ไลท์/คอมเมนท์/แชร์ จากการ Engagement จะเทิร์นเป็นยอดขาย เพราะทุกคลิก/ไลท์/คอมเมนท์/แชร์ ก็คือคนที่ไม่ได้แค่เห็นโฆษณา ไม่ได้แค่เห็นรีวิว แต่เห็นแล้วเกิดความสนใจติดตามไปอ่านอะไรบางอย่างต่อ ดังนั้นคนกลุ่มนี้เตรียมที่จะเปิดกระเป๋าตังค์อยู่แล้ว หน้าที่เราคือหาคนที่จะแง้มกระเป๋าตังค์ให้กับลูกค้า แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะแง้มกระเป๋าตังค์ง่ายๆ ซึ่งสถิติที่เราเก็บได้จะเป็นตัววัดค่าความสำเร็จ” สุวิตา กล่าวทิ้งท้าย

บทความแนะนำ