NEA ปั้นผู้ประกอบการหน้าใหม่ เสริมทัพผู้ส่งออก

สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ภายใต้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อเสริมทัพธุรกิจส่งออกของไทยให้แข็งแกร่ง ซึ่งในสถานการณ์ COVID-19 ครั้งนี้เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของการส่งออกไทย

การส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์เดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ โดยตัวเลขล่าสุด การส่งออกในช่วง 7 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.64) มีมูลค่ารวม 154,985.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.20 ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและจีน ต่างทยอยฟื้นตัว ดังนั้นการขับเคลื่อนการส่งออกจึงเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย ทำให้ NEA ต้องเร่งผลักดันผู้ประกอบการแม้จะมีอุปสรรคมากมายในช่วงโควิดที่เกิดขึ้น

อารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด NEA ต้องมีการปรับตัวอย่างมากในการขับเคลื่อนภารกิจในการนำองค์ความรู้ไปสู่ผู้ประกอบการผ่านโครงการต่าง ๆ ของสถาบันฯ ซึ่งปีนี้ยังคงมีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการตลอดทั้งปี แต่เปลี่ยนมาใช้รูปแบบออนไลน์เป็นหลักในการเข้าถึงผู้ประกอบการทั่วประเทศ

“สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) มีวิสัยทัศน์สำคัญในการสร้างนักธุรกิจระหว่างประเทศที่มีความเข้มแข็ง และพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ทัดเทียมกับระดับนานาชาติ ผ่านยุทธศาสตร์ Sharing Knowledge เป็นการแบ่งปันองค์ความรู้ใหม่ ที่สามารถเสริมภูมิคุ้มกันให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ทันกับบริบทโลก และยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน หรือ Sharing Economy

 

ยกระดับ Tonkla to Goal

สำหรับปีนี้ โครงการสร้าง SMEs ไทยสู่เวทีสากล หรือ Tonkla to Goal ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 10 เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายทุกรูปแบบ สร้างโอกาสในการทำธุรกิจและเรียนรู้เคล็ดลับสู่ความสำเร็จกับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการเรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

“จากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใหม่ของผู้บริโภคที่เกิดจากสถานการณ์โควิด หรือ New Normal ผู้ประกอบการยิ่งต้องเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ ๆ การอัพสกิล รีสกิล เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี ระบบ 5จี คลาวด์ หรือ ไอโอที เพื่อก้าวสู่การทำธุรกิจในยุค NewNormal และ NextNormal ต่อไป” ผู้อำนวยการสถาบัน NEA ระบุ

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องการ คือเครือข่ายธุรกิจ คอนเนคชั่น และการเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งจากภารกิจของต้นกล้า ทู โกล ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2564) มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการระยะแรก 1,510 ราย ผ่านการพัฒนาอย่างครบถ้วนและได้รับวุฒิบัตร จำนวน 234 ราย เข้าร่วมกิจกรรมส่งออกต่างประเทศรวม 111 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าการส่งออกถึง6,053.6 ล้านบาท

 

เน้นพัฒนาธุรกิจ 5 กลุ่ม

โครงการสร้าง SMEs ไทยสู่เวทีการค้าสากล (ต้นกล้า กู โกล) ปี 2564 จัดขึ้นเป็นปีที่ 10 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs ท้องถิ่น ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าและพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานสากล สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ในส่วนภูมิภาคที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า

ทั้งนี้ จะเน้นพัฒนาธุรกิจใน 5 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

  1. สินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูป อาหาร/อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม
  2. สินค้าเครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว สมุนไพร
  3. สินค้าแฟชั่นและสิ่งทอ
  4. สินค้าหัตถกรรม เครื่องใช้และของตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ ของขวัญ และของชำร่วย
  5. สินค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับ

สำหรับในปีนี้ สถาบันฯ ได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 สร้างองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ ระยะที่ 2 สร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์และการจัดทำแผนธุรกิจ ระยะที่ 3 พัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อต่อยอดสินค้านวัตกรรมในเชิงสร้างสรรค์ และระยะที่ 4 จัดกิจกรรมเสวนา / เจรจาการค้า / จัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์

โดยผู้เข้าร่วมโครงการปี 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 725 ราย แบ่งเป็นที่มาจากกลุ่มนิติบุคคล 75 ราย โดย 51 รายอยู่ในกลุ่ม สินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูป อาหาร/อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม 18 รายอยู่ในกลุ่มสินค้าเครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว สมุนไพร 5 รายในกลุ่มสินค้าหัตถกรรม เครื่องใช้และของตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ ของขวัญ และของชำร่วยและสินค้าแฟชั่นและสิ่งทอ 1 ราย โดยจัดให้มีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจรวม 150 คู่

“เราอยากให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในการเจรจากับคู่ค้า เพื่อสร้างให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นทำการค้าให้เข้มแข็งในยุค New Normalซึ่งพอ New Normal มา รูปแบบการค้าเปลี่ยนแปลงไป หลักสูตรของ NEA เน้นการค้าระหว่างประเทศ มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างนักรบทางธุรกิจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างเข้มแข็งในยุค New Normal ต่อไป” อารดากล่าวทิ้งท้าย

สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://nea.ditp.go.th/

บทความแนะนำ

“ทีเส็บ” สร้างความพร้อมผู้ประกอบการไมซ์ รับมือความเปลี่ยนแปลงแบบ New Normal

ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นศูนย์กลางของธุรกิจและอุตสาหกรรมการจัดประชุมและงานแสดงสินค้าในอาเซียน โดยในปี 2562 ประเทศไทย โดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ (Thailand Convention & Exhibition Bureau : TCEB) ได้รับคัดเลือกเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ (Convention and Visitors Bureau หรือ “CVB”) อันดับ 1 และได้คะแนนผลงานการบริหารจัดการจุดหมายปลายทาง (Destination Management Performance) สูงสุดในเอเชียจาก Global Destination Sustainability (GDS) 2019 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นจุดหมายปลายทางของการจัดกิจกรรมไมซ์ อันดับ 2 ของโลก โดย Pacific World - Top Demanded MICE Destination for 2019 และเมื่อมองในด้านเศรษฐกิจ ปี 2562 อุตสาหกรรมไมซ์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศก่อให้เกิดผลประโยชน์ตลอดห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ (Economic Impact) รวมมูลค่าทั้งสิ้น 544,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 

แต่เมื่อเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันจากสถานการณ์โควิด 19 ที่เกิดขึ้น ทีเส็บในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ หรืออุตสาหกรรมการจัดประชุมสัมมนาและงานแสดงสินค้า (MICE - Meetings, Incentives, Conventions and Exhibitions) ได้มีการปรับแผนงานและรูปแบบการทำงานให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้ 

คุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ทีเส็บ กล่าวถึงการดำเนินงานที่ปรับตัวตามความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดตั้งแต่ระลอกที่ 1 ถึงระลอกที่ 3 โดยที่ผ่านมามีการปรับแผนงานและรูปแบบการทำงาน เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยการเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมไมซ์ไทยใน 4 ด้านหลัก ดังนี้

ด้านที่ 1 : การสร้างงาน และการดึงงาน ผ่านการจัดกิจกรรมไมซ์ โดยสนับสนุนการจัดงานในประเทศไทย ในรูปแบบการสนับสนุนกิจกรรม (Event Support) หรือ เงินอุดหนุน (Subsidy) และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด รวมถึงสนับสนุนการประมูลสิทธิ์การจัดงาน โดยทีเส็บร่วมเป็นผู้ให้การสนับสนุนหน่วยงาน และสมาคมต่าง ๆ ในการประมูลสิทธิ์งานนานาชาติให้มาจัดในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ด้านที่ 2 : การส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร มุ่งเน้นแนวทางการสื่อสาร สร้างการรับรู้ และความรู้ความเข้าใจด้านข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ เข้าใจ และรับรู้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้การดำเนินงาน ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร COVID-19 ทีเส็บ หรือ TCEB COVID-19 Information Center เช่น การจัดทำรายงานสถานการณ์ หรือ TCEB Situation Update โดยจัดส่งให้กลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการไมซ์ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารจัดการเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียรายวันเพื่อให้ทันกับสถานการณ์

ด้านที่ 3 : การกระจายรายได้และความเจริญสู่ภูมิภาค โดยจัดตั้งทีมงานสำนักภาคกระจายสู่ภูมิภาค ดำเนินงานร่วมกับจังหวัดหรือไมซ์ซิตี้ รวมถึงภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ภูมิภาค และกระตุ้นให้เกิดการจัดงานไมซ์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า รวมถึงสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าภายในประเทศ ทั้งในรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าแบบเดิม และการจัดงานเป็นแบบผสมผสาน หรือ Hybrid เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ 

ด้านที่ 4 : การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ การใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และช่องทางออนไลน์เข้ามาช่วยในการจัดงาน ทีเส็บ พัฒนามาตรฐานบุคลากรไมซ์ โดยให้ความรู้ด้านการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการศึกษา และการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายภาคการศึกษาไมซ์ใน 5 ภูมิภาค นอกจากนั้นยังพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ อาทิ โครงการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสุขอนามัยและนวัตกรรมการจัดงานเสมือนจริง (Hygiene & Hybrid) แก่สถานที่จัดงานที่ได้มาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (TMVS) และสนับสนุนให้ผู้จัดงานและผู้ประกอบการไมซ์นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดงาน หรือแก้ปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 สนับสนุนการจัดงานแบบ Hybrid หรือ ออนไลน์ ทั้งในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนหรือการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี

“ต้องยอมรับว่าการประชุม การจัดงานแสดงสินค้า และการจัดงานต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้เข้าสู่รูปแบบ Hybrid ซึ่งทีเส็บเริ่มให้ความรู้และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจัดงานไมซ์ตั้งแต่ต้นปี 2563 ผ่านโครงการ Virtual Meeting Space หรือ VMS โดยมีการส่งเสริมให้ความรู้การจัดงานใน 3 รูปแบบ คือ Webinar หรือการประชุมสัมมนาเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ โดยส่งเสริมผู้จัดงานและผู้ประกอบการไมซ์ที่ต้องการจัดประชุมสัมมนากับเครือข่ายธุรกิจของตน O2O (Offline to Online) หรือการจัดงานประชุมและงานแสดงสินค้าผ่านระบบออนไลน์สำหรับผู้จัดงานไมซ์ และ E-Learning Platform หรือศูนย์การเรียนรู้คอร์สฝึกอบรมออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการไมซ์ เพื่อเพิ่มทักษะและทบทวนความรู้ (Upskills and Reskills) ที่จำเป็นทั้งด้านไมซ์และทักษะอื่นๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงานรูปแบบใหม่ได้ทันที และยังเตรียมความพร้อมปูพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีสำหรับผู้ประกอบการไมซ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” 

ทีเส็บ ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Thai MICE Connect https://www.thaimiceconnect.com ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ในปัจจุบันมีข้อมูลผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์เข้าร่วมแล้วกว่าหมื่นราย แบ่งเป็น 12 หมวดหมู่ที่ครอบคลุมทุกด้านในการดำเนินกิจกรรมไมซ์ เป็นแพลตฟอร์มที่ครบ ตอบโจทย์ทุกการจัดงานไมซ์ในประเทศไทย และในปีนี้ได้ผลักดันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้แก้ปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด 19 ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ผ่านโครงการ MICE Winnovation โดยได้มีการพัฒนา “MICE Innovation Catalog” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผู้ให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมไมซ์ มีการจัดแบ่งหมวดหมู่นวัตกรรมไมซ์ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนเริ่มงานจนจบงาน ซึ่งทีเส็บ และพันธมิตรจากทั้งภาครัฐ และสมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ ได้ร่วมพิจารณาคัดเลือกนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะสมนำมาบรรจุไว้ใน https://innocatalog.tceb.or.th เป็นประจำทุกเดือน ปัจจุบันมีนวัตกรรมด้านไมซ์ที่พร้อมให้บริการกว่า 70 นวัตกรรม จาก 50 บริษัท

ทั้งนี้ในระหว่างรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย  คุณจิรุตถ์ แนะนำให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้ออกตัวดำเนินธุรกิจได้ทันทีที่โอกาสมาถึง สำหรับผู้ประกอบการอีเวนต์ออแกไนเซอร์ จำเป็นต้อง Up Skills / Re Skills เรียนรู้เทคโนโลยีในการจัดงาน มองหาโอกาสที่จะเดินหน้า และเตรียมความพร้อมทำการวิจัยลักษณะงานที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด19 ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม สถานที่จัดงานต่างๆ ควรเตรียมความพร้อมในทุกด้านทั้งการพัฒนาความสามารถบุคลากรตลอดจนสถานที่ให้ได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัยและแนวปฏิบัติด้านการจัดงาน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับงานและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทันทีที่สามารถจัดกิจกรรมได้

นอกจากนี้ ผอ.ทีเส็บ ยังเชื่อว่าหลังจากสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย จะทำให้ความต้องการจัดกิจกรรมไมซ์ในประเทศไทยฟื้นตัวกลับมาจำนวนมาก เนื่องจากผู้คนโหยหาการเดินทาง การทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงการประชุมพบปะแบบเห็นหน้า (Face to Face) ซึ่งยังคงเป็นวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่สุด

“ผมคิดว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในการรับมือกับโควิด 19 แต่โดยทั่วไปแล้วเป็นเรื่องของความรวดเร็วในการแก้ปัญหา ความสามารถในการปรับตัวเพื่อให้ยังคงดำเนินงาน ทำธุรกิจต่อไปได้ในสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์รูปแบบใหม่ การเรียนรู้และยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อเดินต่อไปข้างหน้า ในภาพรวมผู้คนยังคงอยากพบปะทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ พิสูจน์ได้จากการคอนเฟิร์มการจัดงานในอนาคตยังเป็นไปตามคิวที่จองไว้ โดยเฉพาะธุรกิจงานแสดงสินค้า เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยการดำเนินงานได้จริง แต่อาจจะไม่ได้หมดทุกมิติของประสาทสัมผัสทั้ง 5  เช่นเรื่อง รส กลิ่น สัมผัส เสน่ห์ของการจัดงานไมซ์คือการพบปะเจอ Face to Face เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างคอนเนคชั่น จึงทำให้ความต้องการในการทำกิจกรรมไมซ์ยังคงมีอยู่ ไม่ได้หายไปไหน รอเวลาที่พร้อมเท่านั้น”

ฉะนั้นผู้ประกอบการสามารถวางใจได้ว่าในปัจจุบันอุตสาหกรรมไมซ์ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ และในอนาคตเมื่อโอกาสมาถึง ขอให้ทุกคนเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด ในขณะที่ ทีเส็บ พร้อมที่จะรับฟัง และสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์อย่างต่อเนื่อง การจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในการจัดงาน การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และงบประมาณสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

บทความแนะนำ

True Incube ผนึกกำลัง True Digital Park ตั้งเป้าดันประเทศไทยเป็น Startup Hub ของอาเซียน

การเข้ามาของนวัตกรรม และเทคโนโลยี ก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด  รวมถึงช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตมีการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศและเศรษฐกิจโดยรวม ทรู อินคิวบ์หนึ่งใน Corporate Venture Capital ของไทยซึ่งก่อตั้งเพื่อบริหารกองทุนและมุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีรองรับการเติบโตและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล หรือ New S-Curveมาตั้งแต่ปี 2010

เราเรียกตัวเองว่า Corporate VC แปลว่านอกจากเงินลงทุนแล้วเรายังมีแพลตฟอร์มที่ให้สตาร์ทอัพมาเวิร์คกับเราในเชิงต่อยอดเพราะฉะนั้นก็เหมือนเป็นสปิงบอร์ดให้กับสตาร์ทอัพด้วยช่วยสตาร์ทอัพลดความเสี่ยงในการที่จะล้มเหลว ปัจจุบัน ทรูลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งในประเทศ รวมถึงสตาร์ทอัพที่อยู่ต่างประเทศ เช่น อเมริกา และอินโดนีเซีย เป็นต้น” ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าว

ดร.ธีระพล กล่าวต่อว่า ทรู อินคิวบ์ เป็น Corporate Venture Capital ภายใต้ บมจ. ทรู คอร์ปปอเรชั่น ทรูอินคิวท์เป็นบริษัทที่บ่มเพาะสตาร์อัพที่มีนวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยทรูจะมีโครงสร้างพื้นฐาน มีเงินลงทุน รวมถึงแพลตฟอร์มสำหรับบ่มเพาะสตาร์ทอัพ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งทุกประเทศในโลกพยายามที่จะทำให้ประเทศของตนเอง มีธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสตาร์อัพ คือนักรบทางเศรษฐกิจรุ่นใหม่ที่ทุกประเทศพยายามจะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในยุค New S-Curve เป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีไม่มีขอบเขตจำกัดแค่ตลาดในประเทศ

“การที่ประเทศไทยจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในอีก 10-20 ปี ข้างหน้า ความท้าทายของประเทศก็คือเราจะก้าวข้ามธุรกิจดั้งเดิมที่เป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่เริ่มใช้การไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบัน เพราะในช่วง 10-20 ปีที่แล้ว ประเทศเราเคยมีความได้เปรียบในเรื่องของแรงงานที่ราคาไม่สูง เราเคยได้เปรียบในเรื่อง Eastern Seaboard เราเคยได้เปรียบในเรื่องบีโอไอแต่ในปัจจุบันทุกประเทศในโลกเค้ามีการปรับตัวค่อนข้างสูง โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ หลักกการด้าน Incentive ในการดึงดูดนักลงทุนเพื่อที่จะมาทำธุรกิจในกลุ่ม New S-Curve หรือธุรกิจที่มีเทคโนโลยี มีบีโอไอ อย่างเดียวก็อาจจะไม่เพียงพอแล้ว เพราะว่าในยุคปัจจุบันการให้ Incentive ต่างๆ” ดร. ธีระพล กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่า

ในยุคปัจจุบันนี้การให้Incentive ต่างๆต้องระบุหรือมีแรงจูงใจ เพื่อดึงดูดบริษัทต่างประเทศนักลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในไทย หากสามารถดึงอุตสาหกรรมหลักๆมาอยู่ที่ประเทศไทย จะนำมาซึ่งโอกาสให้กับสตาร์ทอัพในการทำนวัตกรรมย่อยขึ้นมาได้เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญในขณะนี้คือประเทศไทยต้องมีการปรับตัวในการที่จะต้องเป็นประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย

ดร. ธีระพล กล่าวว่า ในการสนับสนุนระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในประเทศไทยนั้น ทรู อินคิวบ์ ได้เข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดการบ่มเพาะสตาร์ทอัพตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยผ่าน ทรู แล็ป สตาร์ทอัพ แซนบล็อก (True Lab Startup Sandbox) เป็นการสนับสนุนโครงการให้ความรู้และให้เงินทุนสนับสนุนค่าพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบมีการจัดประกวด Hackathon และในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยร่วมเป็นพันธมิตรกับ True Lab ประมาณ 10 มหาวิทยาลัย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น 

กลุ่มทรูเองเรามี ทรู แล็บ ในการลิงก์กับมหาวิทยาลัย มีแล็บอยู่ในมหาลัยและจัดประกวดสตาร์ทอัพในมหาวิทยาลัยได้ง่ายคือเราต้องสร้างที่ที่มีปลาก่อน ปลาเล็กปลาน้อยเราถึงจะค่อยๆ หาปลาใหญ่ขึ้นมาได้เพราะฉะนั้นจำนวนสตาร์ทอัพจริงๆในประเทศไทยมีไม่ได้เยอะ ในปัจจุบันถ้าเราไม่สร้างเด็กรุ่นใหม่มีไอดอลเป็นสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จแล้วเค้าสร้างธุรกิจเราจะมีสตาร์ทอัพใหม่ใหม่มาเติมซิสเต็มได้”

ดร.ธีระพล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทรู อินคิวท์ มีการลงทุนในสตาร์ทอัพประมาณ 100 ราย มีสตาร์ทอัพที่สามารถอยู่รอดในตลาดได้ในสัดส่วน 20-30 เปอร์เซ็นต์

“การลงทุนในสตาร์ทอัพเสี่ยงไหมเสี่ยง บริษัทขนาดเล็กและมีเทคโนโลยี10 บริษัทอาจจะเหลือแค่1-2 บริษัท และเวลาสำเร็จแล้วการคูณมูลค่าของบริษัทจะสูงขึ้นมากเพราะฉะนั้นเมื่อความเสี่ยงสูงบริษัทเหล่านี้เค้าก็ต้องการที่จะถอนทุนจากการที่เสี่ยงทั้ง 10 บริษัทเพราะฉะนั้นการที่เราทำให้กองทุนต่างๆสนใจที่มาลงที่ประเทศ ไทยการแก้เรื่อง Capital gain tax หรือการเก็บภาษี ที่ได้จากการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพเป็นเรื่องสำคัญบริษัทสตาร์ทอัพกว่าจะกำไร5 ปีเพราะฉะนั้นในการเว้นภาษีเค้าจะไปเว้นบริษัทปีที่4 ปีที่5 เพราะเค้ารู้เลยว่ามันเป็นกำไรช่วงเวลานั้นแต่ของเราไปเว้นภาษี ปีที่หนึ่งปีที่สองซึ่งบริษัทกำลังขาดทุนหนักเพราะว่ายังเป็นบริษัทเล็กอยู่คือเราต้องเข้าใจพฤติกรรมของสตาร์ทอัพด้วยอย่างสหราชอาณาจักรอังกฤษก็ลดสูงสุด 0เปอร์เซ็นต์ เหมือนกันสิงคโปร์ 0เปอร์เซ็นต์ตลอดในขณะที่ประเทศไทย แทบจะเก็บสูงที่สุดในโลกของประเทศไทยเก็บ 20เปอร์เซ็นต์”

ในความคิดเห็นของ ดร.ธีระพล เขามองว่า การสร้างนักรบธุรกิจรุ่นใหม่ คือทำให้ประเทศมีกลไก เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้เพราะฉะนั้นพยายามจะปลูกฝังความเป็นเถ้าแก่ให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างประโยชน์ใน 3 ระดับ คือ ประโยชน์ในระดับประเทศ ประโยชน์ระดับประชาชน และประโยชน์ของบริษัท ปัจจุบันผู้บริโภคซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่แต่ถ้าประเทศไทยจะแข่งได้ในอนาคตควรจะมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง และควรจะมีคนรุ่นใหม่ที่เป็นเจ้าของธุรกิจที่เติมเข้าไปในภาคอุตสาหกรรมด้วย รวมทั้งสามารถสร้างคุณค่าให้กับบริษัทด้วย

สำหรับแนวทางการพัฒนาสตาร์ทอัพของทรู อินคิวท์ ประกอบด้วยกลยุทธ์ 4i คือ Inspire, Innovate, Incubate และ Invest

โดยในส่วนของการ Inspire นั้น ทรู อินคิวท์ พยายามชวนคนที่ไม่ใช่สตาร์ทอัพมาเป็นสตาร์ทอัพ มีการสร้างแรงบันดาลใจก่อนเริ่มสตาร์ทอัพในมหาวิทยาลัย นำเอาคนเก่งมาสร้างมาสอนแรงบันดาลใจในการเป็นสตาร์ทอัพ ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดงาน Startup Wednesday เป็นการจัดวิทยากรที่อยู่ในวงการธุรกิจมาให้ความรู้ คำแนะนำเพื่อให้คนที่อยากเป็นสตาร์ทอัพได้รับรู้พร้อมกับค้นหาตนเอง และเพื่อมาสร้างแรงบันดาลใจ ขณะที่ Innovate เป็นการสอนให้สตาร์ทอัพมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง เพื่อสร้างจุดเด่นของตนเองและความสร้างสรรค์ของตนเอง

สำหรับ Incubate เป็นการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ อำนวยความสะดวกให้กับสตาร์ทอัพ อาทิ มีการจัดเตรียมออฟฟิศให้มีที่ปรึกษา (Mentor) มาให้คำแนะนำ รวมถึงให้เงินก้อนแรกหรือ Seed fund ในทำสตาร์ทอัพด้วย และ Invest เป็นการลงทุนกับสตาร์ทอัพและช่วยสตาร์ทอัพในการต่อยอดธุรกิจด้วย

“ระดับในมหาวิทยาลัยเป็นInspire เราจะเป็นการให้เงินที่เราให้ป่าวเป็นพวกให้เงินรางวัลอยู่ในกลุ่มTrue LabพอมาInnovate เราจะมีทุนเป็นไซด์เล็กกลางใหญ่ลิงก์กับมหาวิทยาลัยด้วย เป็นทุนวิจัยด้วยเพื่อที่จะให้เขามีเทคโนโลยีเบสสังเกตง่ายๆสตาร์ทอัพไหนที่ไม่มีเทคโนโลยีเป็นตัวแกนหลัก แป๊บเดียวก็เจ๊ง เพราะทำได้ดีคนอื่นเค้าอยากทำบ้างเค้าทำแข่งได้เลยIncubate เราเริ่มจะซีเรียสแล้วหมายความว่าเรามีกรรมการมาPitching แล้วเค้าต้องเริ่มมีบริษัทIncubate เราจะเริ่มเอาเงินมาลงทุนจริงจังแล้ว จะเริ่มซีเรียสแล้วหมายความว่าเราต้องบ่มเพาะเขา3เดือนเพราะฉะนั้นเราไม่บ่มเพาะแบบไปเรื่อยเพราะมันใช้เวลาเยอะเราต้องเลือกบริษัทที่จะบ่มเพราะสุดท้ายInvest แปลว่าพอเราIncubate เค้าเสร็จเราจะพาเค้าไปหานักลงทุนอื่นด้วยถ้าเค้ามีนักลงทุนอื่นมาลงเราอาจจะลงเพิ่มไปกับเขาอีก” ดร. ธีระพล กล่าว

ปัจจุบันทรู อินคิวท์ มีสมาชิกสตาร์ทอัพ ประมาณ 300-400 ราย และมีสตาร์ทอัพที่มีความสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ หรือมี Success rate อยู่ที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

“สตาร์ทอัพมีล้มหายตายจากมีเกิดขึ้นจริงๆ แล้วมันแล้วแต่ระดับถ้าระดับรุ่นเด็กๆ มีเมมเบอร์เรามีเป็น 10,000 คนประมาณ300 - 400 สตาร์ทอัพที่ existing อยู่พอโตขึ้นมาหน่อยก็เป็นแบตที่ลงทุน success rate ของเรา อยู่ที่ประมาณซัก 30 เปอร์เซ็นต์แปลว่าลงทุน 100เปอร์เซ็นต์ที่บริษัทไปไม่รอดสัก 70 ที่ยังเหลืออยู่ก็ซักประมาณ 30เปอร์เซ็นต์”

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่หรือ New S-Curve ที่ทรู อินคิวท์ ที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพที่พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้าน Internet of thing (IoT) อนาเลติกส์ (Analytic) ดิจิทัล (Digital) สุขภาพ (Healthcare) ค้าปลีก (Retail) และ Edutainment เป็นต้น

“ถ้าใครไม่มีทีเด็ดสตาร์ทอัพที่ไม่มีทีเด็ดไม่มีเทคโนโลยีอยู่ไม่ได้จริงๆคุณจะอยู่ได้ในระยะแรก ที่คนยังไม่มาทำพอคนเห็นว่าคนว่ามันเวิร์คคนเริ่มมาทำคุณก็จะเจ๊งเพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องมีก็คือมีทีเด็ดมีเทคโนโลยีที่เป็นเจ้าของจริงๆเพราะมันมีตลาดหมดเพียงแต่ว่าอย่างแรกเลยก็คือว่าเราต้องมีนวัตกรรมหรือมีจุดที่สร้าง มันแตกต่างได้สองก็คือเราต้องมีตลาดที่ไม่ใช่แค่ตลาดไทเราต้องมองถึงตลาดต่างประเทศด้วยเพราะว่าตลาดในเมืองไทยมันไม่ได้ใหญ่ก็ต้องพยายามดูว่าเราจะสามารถที่จะขยายตลาดไปต่างประเทศได้”

อย่างไรก็ตามในการสนับสนุนระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในประเทศไทยนั้น ทรู อินคิวท์ จะร่วมกับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในสตาร์ทอัพ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศมาตั้งสาขาในประเทศไทย รวมถึงดึงดูดสตาร์ทอัพเข้ามาในประเทศไทย เพื่อร่วมกันผลักดันกับทรูดิจิทัลพาร์ค เพื่อให้ประเทศไทยเป็น สตาร์ทอัพฮับของอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าอย่างไรก็ตามภาครัฐบาลจะต้องปรับนโยบาย กลไกทางด้านสิทธิประโยชน์ (Incentive) ต่างๆให้สามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่นบริษัทโครงสร้างพื้นฐานมาอยู่ในประเทศไทย และแก้กฎหมายต่างๆให้มีความหยืดหยุ่น สามารถรองรับธุรกิจใหม่และมีความทันสมัยและสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเตรียมบุคลากร ให้เพียงพอ มีการเสริมสร้างทักษะของบุคลากรหรือ Upskill และ ยกระดับทักษะของบุคลากร หรือ Reskill ทางด้านดิจิทัลมากขึ้น

“สตาร์ทอัพเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่ต้องให้ความสำคัญมากๆโดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นมาแล้วบทบาทหน้าที่ของเราก็คือรักษาชีวิตเขาไม่ให้เค้าล้มหายตายจากไปเพราะ การสร้างธุรกิจใหม่มันยากการที่จะมีคนที่เก่งมารวมตัวกันและเกิดเป็นธุรกิจมันยากในต่างประเทศเราจะเห็นว่าเค้าแทบจะอุ้มสตาร์ทอัพด้วยซ้ำหาลูกค้าให้เราต้องอยากปล่อยให้สตาร์ทอัพล้มหายตายจากเพราะฉะนั้นอนาคต ของสตาร์ทอัพหลังโควิดเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสมันจะมีเรื่องเซอร์วิดซ์ใหม่ใหม่มากมายตลาดจะเปิดอีกมากมายSoutheast Asia ประเทศไทยจะเป็นเซ็นเตอร์ของอาเซียนAEC ก็รออยู่ผมคิดว่ามันมีโอกาสจริงๆขอแค่ว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสและเราก็เห็นจริงๆก็มีคนที่ในช่วงโควิดที่เค้าปรับตัวได้แล้วก็ทำรายได้เยอะๆก็มีภาพในอนาคตของทรูสามปีในส่วนภารกิจของผมใน3-5 ปีเราต้องสร้างอีโคซิสเต็มส์ให้คนไทยมีโรโมเดลทางด้านสตาร์ทอัพเราต้องเป็น ฮับของภูมิภาคให้ได้เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ดร. ธีระพล กล่าวทิ้งท้าย

บทความแนะนำ

งานวิจัยและนวัตกรรม ตัวช่วย Scale Up สำหรับ SMEs ไทย

กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานสำคัญอีกหนึ่งหน่วยงานที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยสามารถพัฒนาศักยภาพของสินค้าและบริการของตนให้โดดเด่น แตกต่าง สามารถแข่งขันกับคู่แข่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศแต่หมายถึงการ Scale Up ธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศที่ใหญ่กว่าในอนาคต

“ภารกิจของเราหลักๆของเราคือพยายามนำงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่หลายพันชิ้นในบ้านเรามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด โดยเรามีการทำงานร่วมกับทางเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะนำงานวิจัยและเทคโนโลยีไปทำประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการในหลายๆกลุ่ม ทั้ง SME กลุ่มผู้ประกอบการในระดับชุมชน กลุ่มที่ใหญ่กว่า SME รวมถึงกลุ่มที่เป็นผู้ประกอบการแนวใหม่อย่าง startup ผ่านกิจกรรมในรูปแบบของโครงการและเครือข่ายที่เราร่วมทำงานอยู่ ซึ่งภารกิจที่ผมดูแลก็คือการขับเคลื่อนอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อช่วยยกระดับผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคซึ่งกลุ่ม SME ก็เป็นกลุ่มนึงที่เราโฟกัสที่จะทำประโยชน์ให้กับเขา” ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการพิเศษ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปฎิบัติหน้าที่ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พูดถึงบทบาทของกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีงานวิจัยที่พร้อมถ่ายทอดจำนวนมาก อยู่ภายในมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปัจจุบันอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในมหาวิทยาลัยมีรวมทั้งสิ้น 44 มหาวิทยาลัยทั้งเหนือ อีสาน กลาง ใต้ โดยงานวิจัยที่มีอยู่ในระบบฐานข้อมูลที่เรียกว่าฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งฐานข้อมูลส่วนนี้เป็น Database ที่ทำขึ้นมาเพื่อรวบรวมทั้งผลการวิจัยที่พร้อมถ่ายทอด นักวิจัยที่พร้อมให้บริการแก่ภาคเอกชน รวมถึงห้องแลปเพื่อที่จะเป็น Infrastructure ทางงานวิจัย ให้เอกชนได้เข้ามาใช้บริการซึ่งดร.ชาญวิทย์เสริมว่าแต่ละปีภาคเอกชนมีการดึงงานวิจัยเหล่านี้ไปใช้ในอัตราส่วน 20-30 เปอร์เซ็นต์ซึ่งยังไม่มากนัก 

ดร.ชาญวิทย์ มองว่าจุดเด่นของ SMEs ไทยบางกลุ่มคือมีความกระตือรือร้น มีหัวคิดที่ทันสมัย และความตั้งใจที่จะพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้เติบโตขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

“หลายคนไม่ใช่แค่ว่าจะมารอพึ่งทางเราหรือทางมหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่มีการพัฒนาในระดับของตัวเองได้พอสมควร ต่างคนต่างมีพัฒนาการแล้วก็มีงานวิจัยมีสิ่งที่สนใจในมือของตัวเองอยู่ แต่ระดับอาจจะแตกต่างกันไปบางคนมีความคิดที่อยากจะทำโปรดักต์ให้มีความหลากหลายเพราะฉะนั้นโดยรวมในมุมบวกผมมองว่าเขามีก็มีความกระตือรือร้นแล้วก็มีความตั้งใจที่อยากจะยกระดับธุรกิจแล้วก็บริการของตัวเองด้วยงานวิจัยมากยิ่งขึ้น ส่วนจุดด้อยที่มองเห็นคือ SMEs หลายรายยังมองตลาดไม่ออกอาจจะเป็นเพราะว่า Project ที่มาทำกับเราส่วนใหญ่เป็นแนว Supply push คือมีงานวิจัยอะไรก็อยากใช้ตัวเองมีแนวคิดมี ไอเดียดีๆ ก็อยากทำและก็เชื่อว่าของที่ทำมันจะขายได้เพราะเป็นของที่ใหม่ เรื่องการทำพวก Market Survey การดูตลาดอาจจะยังมองไม่ลึกบางคนยังตั้งเป้าไว้แค่ว่าฉันอยากจะขายในจังหวัด ฉันอยากจะขายในภาคของฉันซึ่งก็เข้าใจว่าหลายท่านอาจจะมีข้อจำกัดเรื่องของ Connection ที่จะส่งไปทั่วประเทศ ดังนั้นน้อยคนที่จะเข้ามาหาเราแล้ว Day One จะพูดถึงการทำสินค้าขายทั่วประเทศ” 

ดังนั้นกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆเพื่อช่วยเหลือให้ SMEs สามารถที่จะเติบโตไปได้ในทุกเลเวลของการพัฒนาของผู้ประกอบการ

เรามีการ Groom งานวิจัยให้พร้อมมากขึ้น ในฝั่งหนึ่งเราดึงงานวิจัยให้ SMEs เข้ามาสู่การ Commercialize มากขึ้น แต่ในสเตปของการ Commercialize ของเขา เรามีการดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะเราเข้าใจดีว่า SME มองว่ามีความเสี่ยงที่จะต้องมาช้อปปิ้งงานวิจัยไปเพื่อไปพัฒนาต่อ เราจึงมองว่าแบบนั้นควรจะมาร่วมกันพัฒนาตั้งแต่สเตจแรก เพื่อให้รู้ว่าหากจะใช้งานวิจัยเพื่อ Scale Up ไปในเชิงพาณิชย์ได้ต้องทำอย่างไรบ้าง 

โดยแพลตฟอร์มหลักที่ดีไซน์ขึ้นมาหลักๆมี 2 ตัวที่สำคัญคือแผนงานบ่มเพาะผู้ประกอบการธูรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Science Technology and Innovation STI Business Incubation) และ แผนงานพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ (Industrial Research and Technology Capacity development program : IRTC)

“เรามีตัว R&D Facility Booth up ที่เอาไว้ใช้ช่วย SME ในมุมของ Infrastructure และ Facility เรื่องการวิจัย และสนับสนุนด้วยแพลตฟอร์มที่กระทรวงอว.สนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนให้กับผู้ประกอบการ โดยถ้าผู้ประกอบการจะเข้ามาใช้ Facility เราสนับสนุนให้ 90%  ซึ่งเลเวลของการใช้งานมีหลายรูปแบบมีทั้งที่เข้ามาใช้ Pilot Plant ซึ่งเรามี Pilot Plant ที่ SME สามารถเข้ามาทดลองใช้ในการผลิตสินค้หลายส่วนแต่ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ นอกจากนี้เรายังมีห้องแลปที่ใช้วิเคราะห์ทดสอบเพื่อได้ค่าต่างๆไปขอมาตรฐานซึ่งช่วยให้ SME ลดค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือและการผลิตสินค้าตัวอย่าง” 

ช่องทางในการติดต่อขอใช้บริการหรือแพลตฟอร์มเหล่านี้ผู้ประกอบการสามารถติดต่อไปที่เครือข่ายของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั้ง 44 แห่ง นอกจากนี้ดร.ชาญวิทย์เสริมว่ามีการทำงานในเชิงรุกซึ่งถ้าเป็นภาวะปกติทางอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคจะมีโรดโชว์ไปตามพื้นที่ต่างๆเพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาสมัคร

“เคสตัวอย่างที่มาใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเราแล้วสเกลอัพธุรกิจได้ ก็คือ HILLKOFF เป็นแบรนด์กาแฟที่เข้ามาใช้บริการที่อุทธยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือของเรา ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการมี Passion ในการใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาพัฒนาธุรกิจของตนเองอยู่แล้ว เขาไม่ได้มีสินค้าตัวเดียวแล้วทำยอดขายได้เปรี้ยงปร้าง แต่เขามีผลิตภัณฑ์ที่แตกหน่อออกไปในหลายกลุ่ม เดิมทีเขาขายกาแฟผง กาแฟเม็ด แต่พอเข้ามาทำกับ Sci-Park ที่ภาคเหนือก็มีการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ออกไปมากยิ่งขึ้น มีการทำชาจากกาแฟ หรือในส่วนของกระบวนการคั่วจะมีเม็ดหรือส่วนประกอบบางอย่างที่เหลืออยู่เขาก็สามารถเอาตรงนั้นมาแตกไลน์เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง ขายทั้งกาแฟทั้งชาโดยที่มีวัตถุดิบต้นทางแบบเดียวกัน หลังจากนั้นเขาก็เริ่มแตกไปที่พืชชนิดอื่นมีการนำวัตถุดิบเหลือใช้มาทำเป็นวัสดุถักทอเป็นเส้นใยศิลปะ ที่เราภูมิใจคือเขาสามารถที่จะตั้งศูนย์วิจัยขึ้นมาเพื่อทำ Product Development ในบริษัท ซึ่งในมุมของเราเรามองว่าการจะพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืนได้ผู้ประกอบการต้องเป็นนักวิจัยเองด้วย”

ซึ่งแพลตฟอร์มที่ HILLKOFF ใช้คือ แพลตฟอร์มการบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นโปรแกรมเริ่มต้น นอกจากนั้นยังมีแพลตฟอร์ม Industrial Research and Technology Capacity development program หรือ IRTC ด้วย

ส่วนของคำแนะนำสำหรับ SMEs ที่ต้องการ Scale Up ตัวเองดร.ชาญวิทย์มองว่าต้องเป็น SMEs ที่มีสินค้าหรือบริการซึ่งมีจุดเด่นและเข้าถึงได้ 

“โดยส่วนมาก SMEs ที่เราช่วยเหลืออยู่จะอยู่ในกลุ่มของ Food และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าถ้าเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่นยอดขายจะไม่ได้ตกมากแม้ในช่วงโควิด-19 เพราะอาหารเป็นปัจจัย 4 และสามารถซื้อหาได้ง่ายโดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ สินค้าของเราควรเป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยี มีความโดดเด่น มีคุณค่าและส่งต่อคุณค่าไปสู่ผู้บริโภคได้ สามารถทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อเราได้อีก นี่เป็นปัจจัยที่จำเป็นและสำคัญไม่ว่าจะก่อนหรือหลังโควิด ซึ่งสิ่งที่จะทำให้มีจุดเด่นได้ก็คือการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับสินค้าของเรา ดึงดูดลูกค้าเข้ามาได้ และขายสินค้าได้อย่างยั่งยืน อีกส่วนที่สำคัญก็คือการปรับตัว เพราะอย่างไรก็ตามผู้บริโภคเปลี่ยนตลอดเวลาอยู่แล้วดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรเปลี่ยนแปลงเพื่อสอดรับความต้องการของผู้บริโภคด้วย ใครปรับตัวได้เร็วก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน” ดร.ชาญวิทย์ กล่าวปิดท้าย

ผู้ประกอบการที่สนใจแพลตฟอร์มต่างๆรวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรมของกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ttc.ops.go.th/ หรือติดตามได้ที่เฟสบุกแฟนเพจ  https://www.facebook.com/officepromotetransfer

บทความแนะนำ

เทคโนโลยีจดจำใบหน้า เทคโนโลยีส่งเสริมธุรกิจยุคดิจิทัล

ในระดับโลก ดีมาน์ของเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial recognition technology) เติบโตอย่างก้าวกระโดดในหลายประเทศ โดย Market Insight Reports คาดการณ์ว่า มูลค่าแต่ละปีของธุรกิจนี้จะสูงเกิน 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2569

หลายบริษัทได้ทำการระดมเงินทุนจำนวนมากในช่วง 4ปีที่ผ่านมา โดยประเทศจีนจัดเป็นผู้นำในเทคโนโลยีนี้ ตามด้วยสหรัฐอเมริกา จีนได้ลงทุนมหาศาลในปัญญาประดิษฐ์ (AI-artificial intelligence) รวมถึงเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าและได้ออกแอพพลิเคชั่นการใช้งานทั้งในเชิงพาณิชย์ และในด้านกิจการความมั่นคง

ในธุรกิจค้าปลีก รีเทลเลอร์ได้หันมาใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้ากันมากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลผู้บริโภคเชิงลึกและตอบสนองดีมานด์ลูกค้าและเพิ่มกำไร โดยเทคโนโลยีนี้จะตรวจสอบและจำแนกข้อมูลประชากรศาสตร์ หรือข้อมูลพื้นฐานของลูกค้าแบบเรียลไทม์ และนำเสนอโฆษณาที่เกี่ยวข้องเจาะจง ตรงความสนใจกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็ว

นอกจากโฆษณาแล้ว บริษัทยังสามารถนำเสนอโปรโมชั่นที่น่าดึงดูดให้กับลูกค้าที่มีศักยภาพได้อีกด้วย อาทิ สำหรับลูกค้าประจำที่เป็นสมาชิก หากลูกค้ากลุ่มนี้เดินเข้าร้านมา ก็สามารถส่งข้อความเกี่ยวกับดีลพิเศษหรือสินค้าที่อาจสนใจแบบทันที

ร้านค้าปลีกยังสามารถรู้ว่าลูกค้าแต่ละรายเข้ามาใช้บริการในร้านนานเท่าใด เพื่อว่าในอนาคตจะได้ปรับปรุงการบริการในร้านได้ดียิ่งขึ้นในฝั่งของพนักงาน เทคโนโลยีการระบุตัวตนสามารถบันทึกข้อมูลการเข้าออกของพนักงาน และติดตามการทำงานของพนักงานและวัดผลิตภาพการทำงานได้อีกด้วย

นอกจากธุรกิจค้าปลีกแล้ว เซ็กเตอร์สาธารณสุขก็มีการใช้งานเทคโนโลยีจดจำใบหน้าและปัญญาประดิษฐ์กันอย่างกว้างขวาง รวมถึงการติดตามผู้ป่วยผ่านการวิเคราะห์การแสดงออกทางใบหน้า ความสามารถของ AI ยังช่วยติดตามระดับความเจ็บปวด และเร่งการตรวจวิเคราะห์ และการรักษา

เทคโนโลยี AI และการจดจำใบหน้ายังถูกใช้ในโรงพยาบาลเพื่อจำแนกพนักงาน หมอ ผู้ป่วย รวมถึงแยกแยะผู้ป่วยรายใหม่อีกด้วย

 

ความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว

ในประเทศจีน บริษัท Alipay ภายใต้ Ant Group ได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์การจดจำใบหน้าไว้ที่ร้านค้าปลีก โดยลูกค้าสามารถทำการจ่ายเงินด้วยการโชว์ใบหน้าและยิ้ม โดยไม่ต้องใช้มือถือ ซึ่งเป็นการจ่ายเงินที่รวดเร็วและประหยัดเวลา อย่างไรก็ตาม ลูกค้าบางส่วนยังไม่เปิดรับกับเทคโนโลยีนี้ เพราะมีความกังวลว่าภาพใบหน้าและข้อมูลของตนจะถูกนำไปใช้งานอย่างไร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของลูกค้า (Privacy Concerns)

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดในจีน มีการออกไกด์ไลน์ใหม่ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า โดยกฏใหม่ระบุว่า โรงแรม ช้อปปิ้งมอลล์ สนามบิน และสถานที่พาณิชย์อื่นๆ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าถึงจะใช้ข้อมูลการจดจำใบหน้าได้ และการใช้เทคโนโลยีนี้จะต้องไม่เกินเลยจากความจำเป็น บริษัทต่างๆ ต้องดำเนินมาตรการที่ปกป้องข้อมูล

แม้ไกด์ไลน์นี้จะค่อนข้างกำกวมว่า อะไรคือความจำเป็น แต่การเตือนว่าบริษัทอาจถูกลงโทษทางการเงินจากคดีความที่ตามมา ก็น่าจะทำให้มีการลดการใช้เทคโนโลยีนี้ที่เกินขอบเขต ในเอกสารยังระบุถึงแนวทางที่ผู้บริโภคจะฟ้องร้อง หากรู้สึกว่าได้ถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว

 

เทคโนโลยีชีวมิติในประเทศไทย

ในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ในการให้บริการทางการเงินโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับบริษัทที่นำ Biometrics โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีFacial recognitionมาให้บริการทางการเงินเพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจว่าการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดังกล่าวจะมีความปลอดภัย สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสากล 

แนวปฏิบัติครอบคลุมหลักการที่ผู้ให้บริการทางการเงินพึงปฏิบัติ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ 2) การรวบรวมข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างมีคุณภาพ และปลอดภัย 3) การประมวลผลข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างแม่นยำ 4) การรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างเข้มงวดและรัดกุม ตามมาตรฐานสากล 5) การคุ้มครองผู้ใช้บริการและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวมิติอย่างเหมาะสม และ 6) การควบคุมความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง

ใบหน้าบุคคลเป็นข้อมูลส่วนตัวที่มีความสำคัญ (Sensitive) เพราะไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ หากข้อมูลมีการรั่วไหลและนำไปใช้ในทางที่ผิด ก็อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางทรัพย์สิน

SME ที่ต้องการนำเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ จึงต้องศึกษาข้อกฏหมายให้ละเอียดถี่ถ้วน วางมาตรการปกป้องข้อมูลลูกค้าอย่างรัดกุม และศึกษาข้อมูลใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

เพราะแม้ว่าเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ต้องมีการบริหารจัดการและดูแลความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ อย่างรอบคอบ

 

โอกาสทางธุรกิจในยุคดิจิทัล

ปัจจุบันเทคโนโลยีตรวจสอบและจดจำใบหน้าเริ่มถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถตรวจสอบ  และระบุตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างแม่นยำ ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มความสะดวกในการให้บริการ และนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้งานกับธุรกิจได้อย่างหลากหลาย อาทิ

  1. ธุรกิจค้าปลีก ระบบตรวจสอบและจดจำใบหน้าช่วยเก็บข้อมูลลูกค้าและพฤติกรรมการใช้บริการ เช่น ความถี่การซื้อสินค้าหรือใช้บริการ หรือแยกว่าเป็นลูกค้าใหม่หรือลูกค้า
  2. ธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่เพิ่มความสะดวกในการใช้บริการ ตั้งแต่การใช้บริการในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไปจนถึงฟิตเนสขนาดเล็ก
  3. ธุรกิจการศึกษา ที่โรงเรียนหลายแห่งเริ่มเอาเทคโนโลยีตรวจสอบและจดจำใบหน้าสามารถมาใช้ในการยืนยันตัวตนของผู้ปกครองที่มารับนักเรียน หรือใช้ตรวจสอบการมาเรียนและขาดเรียนของนักเรียน
  4. ธุรกิจการขนส่งสินค้า ที่สามารถใช้ระบบตรวจสอบและจดจำใบหน้าในการยืนยันตัวตนผู้ส่งและผู้รับ เพื่อป้องกันการส่งสินค้าผิดพลาด รวมถึงสินค้าสูญหาย 

เทคโนโลยีตรวจสอบและจดจำใบหน้านี้สามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจอื่นๆ ได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจและวัตถุประสงค์ในการใช้งาน รวมถึงความคุ้มค่าของการนำระบบดังกล่าวมาเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า

 


แหล่งอ้างอิงข้อมูล

https://www.marketwatch.com/press-release/facial-recognition-market-size-opportunity-analysis-report-by-2026-2021-08-18

https://www.washingtonpost.com/world/facial-recognition-china-tech-data/2021/07/30/404c2e96-f049-11eb-81b2-9b7061a582d8_story.html

บทความแนะนำ