รู้ทันทรัพย์สินทางปัญญา จดไวธุรกิจไปไกลทั่วโลก

หัวข้อ : รู้ทันทรัพย์สินทางปัญญา จดไวธุรกิจไปไกลทั่วโลก
อ่านเพิ่มเติม : https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/dip

 

ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องเรียนรู้ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคิดจะทำธุรกิจกันยาว ๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต การออกแบบสินค้าและบริการ ตลอดจนชื่อแบรนด์และโลโก้สินค้า ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามีราคาแทบทั้งสิ้น

ทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้หมายถึงเพียงผลงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ แต่ในแง่ของธุรกิจนั้นการสร้างสรรค์งานส่วนใหญ่จะเน้นการสร้างความแตกต่างให้สินค้าสามารถแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาตัวหนึ่งที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากปล่อยให้ผู้อื่นนำผลงานสร้างสรรค์ของตัวเองไปลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำ

 

ทรัพย์สินทางปัญญาที่กฎหมายให้การคุ้มครองจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรมและลิขสิทธิ์ 

ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม สามารถแบ่งออกมาได้อีก 6 ประเภทย่อย คือ 

1.สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร 

2.เครื่องหมายทางการค้า 

3.แบบผังภูมิของวงจรรวม 

4.ความลับทางการค้า 

5.เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI

6.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่

 

แต่ส่วนที่มีความสำคัญกับธุรกิจการค้าและมักเป็นประเด็นขัดแย้งจนกลายเป็นคดีความกันบ่อยครั้งจะมีอยู่ 3 เรื่อง คือ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายทางการค้า

ลิขสิทธิ์ : เป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เป็นงานที่เกิดมาจากแรงบันดาลใจจากข้างในของผู้สร้างสรรค์เอง เช่น งานเขียน งานออกแบบ หรืองานศิลปะต่าง ๆ ซึ่งสิทธิ์จะเกิดขึ้นทันทีที่งานนั้นถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา แต่ในการฟ้องร้องเพื่ออ้างสิทธิ์ ผู้เป็นเจ้าของผลงานจะต้องจัดเตรียมหลักฐานมาใช้ในการเรียกร้องสิทธิ์เอง โดยสิทธิ์มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และต่อเนื่องไปอีก 50 ปี หลังจากนั้นผลงานจะตกเป็นของสาธารณะ ใครก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

สิทธิบัตร : เป็นผลงานด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่คิดค้นขึ้นมาใหม่โดยมีหลักในการพิจารณา 3 เรื่องคือ 

  1. เป็นเรื่องที่คิดค้นขึ้นมาใหม่โดยที่ยังไม่มีใครในโลกนี้เคยคิดค้นขึ้นมาก่อน 
  2. เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูง 
  3. สามารถนำมาประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตจำนวนมาก ๆ 

ดังนั้นอะไรที่ไม่ใหม่ไม่ถือว่าจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งการจดต้องมีการตรวจสอบกับข้อมูลจากทั่วโลกเพราะต้องเป็นเรื่องที่ใหม่จริง ๆ ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งคิดมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะอยู่แห่งใดในโลกก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การจดสิทธิบัตรค่อนข้างใช้เวลานาน

 

กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ให้คำแนะนำไว้ว่า การจดสิทธิบัตรเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการก่อนเรื่องอื่นใดทั้งหมด ซึ่งอาจจองสิทธิ์ไว้ก่อนแล้วจึงไปดำเนินการอย่างอื่น หรือควรรอให้ได้รับสิทธิ์เรียบร้อยก่อนค่อยไปทำอย่างอื่น เพราะหากทำการตลาดไปแล้ว ปรากฏว่าการจดสิทธิบัตรไม่ผ่าน ก็อาจเสี่ยงต่อการถูกลอกเลียนแบบและแย่งจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ให้ดี

 

เครื่องหมายทางการค้าหรือโลโก้ : ต้องไม่บรรยาย บ่งบอก หรือแสดงถึงสินค้าที่จะขาย เหตุผลก็เพราะทรัพย์สินทางปัญญาคือสิทธิผูกขาด ซึ่งผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์สามารถฟ้องผู้ละเมิดได้ ดังนั้นคำที่บรรยายถึงสินค้าจึงควรเป็นคำที่ทุกคนสามารถใช้ได้ ไม่ใช่สิทธิ์เฉพาะของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งถ้าปล่อยให้ใครจดทะเบียนครอบครองสิทธิ์ได้ คนที่จดได้ก่อนก็จะได้สิทธิ์ผูกขาดอยู่เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่เป็นธรรมกับคนอื่น ๆ ที่ต้องการทำการค้าในสินค้าอย่างเดียวกัน ยกตัวอย่างเรื่องของกาแฟ ผู้ค้าอาจใช้คำว่า Coffee อยู่ในเครื่องหมายการค้าได้ แต่คำว่า Coffee จะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ ใครก็สามารถใช้คำ ๆ นี้ได้เช่นกัน

 

ข้อควรรู้สำหรับผู้ประกอบการ

- สิทธิบัตรกับเครื่องหมายทางการค้าเป็นสิทธิ์เฉพาะดินแดน คือจดทะเบียนที่ประเทศไหนได้รับความคุ้มครองเฉพาะประเทศนั้น

- การให้สิทธิ์ของสิทธิบัตรจะดูเรื่องของความใหม่เป็นสำคัญภายใน 1 ปีหากยังไม่ไปจดความใหม่นั้นอาจจะหมดไปหรือมีคนอื่นไปจดก่อน 

- ปัจจุบันจะมีระบบการจองสิทธิ์ผ่านทางออนไลน์ที่เรียกว่า PCT (Patent Cooperation Treaty) โดยเจ้าของสิทธิ์จะต้องยื่นเรื่องผ่านระบบออนไลน์ในเว็บของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อจองสิทธิ์ในเบื้องต้นก่อน และจะมีเวลา 18  เดือนในการเดินทางไปจดทะเบียนจริงที่ประเทศนั้น ๆ

- เครื่องหมายทางการค้าสามารถยื่นผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน แต่ต้องยืนยันตัวตนและสมัครเข้าเป็นสมาชิกกับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาเสียก่อน

- การจดทะเบียนสิทธิ์ในต่างประเทศเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลทางการค้ามาก เช่น หากมีคนจีนเอาสินค้าแบรนด์คุณที่ขายดีในไทยไปจดทะเบียนที่จีน นั่นจะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำสินค้าแบรนด์ตัวเองเข้าไปเปิดตลาดในจีนได้เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ ยกเว้นแต่จะเข้าไปในชื่อแบรนด์อื่น

- การจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้าในต่างประเทศ โดยหลักแล้วจะมีข้อพิจารณาอยู่ 4 ข้อ

  1. จดทะเบียนในไทยก่อน 
  2. เลือกจดเฉพาะประเทศที่คิดจะเข้าไปเปิดตลาดหรือทำการค้าด้วย 
  3. ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการลอกเลียนแบบสินค้า
  4. ประเทศที่มีคู่แข่งทำการค้าขายสินค้าประเภทเดียวกัน

- อายุการคุ้มครองในส่วนของเครื่องหมายทางการค้าจะได้สิทธิ์ 10 ปี แต่ผู้เป็นเจ้าของสามารถต่อสิทธิ์ได้เรื่อย ๆ หากไม่ต่อสิทธิ์และมีใครมาจดแทน สิทธิ์นั้นก็จะเปลี่ยนเป็นของคนใหม่ทันที

- สิทธิบัตรจะมีอายุการคุ้มครอง 20 ปี หลังจากนั้นสิทธิ์จะกลายเป็นของสาธารณะ ซึ่งใครก็สามารถนำไปใช้

 

 

Published on 27 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

3 สิ่งที่เอสเอ็มอีมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับดิจิทัล

หัวข้อ : 3 สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Digital Marketing
อ่านเพิ่มเติม : https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/digital-marketing-ibe

 

ในยุคที่แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคส่วนใหญ่ในประเทศ ทำให้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเป็นโจทย์ที่ทุกธุรกิจต้องตีให้แตกตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ดียังมีความเข้าใจบางอย่างที่ยังคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง วันนี้มาไขความจริงให้กระจ่างไปด้วยกัน

 

1. การตลาดออนไลน์ ไม่ใช่การขายของออนไลน์

เมื่อกล่าวถึง ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง (Digital Marketing) หรือการตลาดออนไลน์ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการขายของบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ฯลฯ ซึ่งนี้เรียกว่าอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) เป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมดของการตลาดออนไลน์ การตลาดออนไลน์เป็นเครื่องมือให้เกิดการซื้อขายได้  2 แบบ ได้แก่  

  • การซื้อขายเกิดขึ้นออนไลน์ โดยผู้ซื้อผู้ขายไม่เห็นหน้ากัน เรียกว่าอีคอมเมิร์ซ 
  • การซื้อกับคนโดยใช้เครื่องมือการตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ นำลูกค้ามาพบผู้ขายเพื่อทำการตกลงซื้อขายออฟไลน์ โดยแบบนี้จะใช้กับธุรกิจที่มีมูลค่าสูงเช่น อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ B2B เป็นต้น

เครื่องมือการตลาดออนไลน์แต่ละตัวมีจุดเด่นแตกต่างกัน จึงต้องนำมาใช้ผสมผสานสนับสนุนกันอย่างเหมาะสม เช่น 

  • เฟซบุ๊ก (Facebook) เปรียบเสมือนทีวีส่งข้อความหากลุ่มเป้าหมาย 
  • กูเกิล (Google) เป็นการช่วยให้ข้อมูลผ่านการค้นหา (Search) 
  • แชทบอต เหมาะกับการทำอีคอมเมิร์ซ แต่ไม่เหมาะกับรูปแบบการซื้อกับคน เป็นต้น

ข้อสำคัญของการทำการตลาดดิจิทัลคือ "มือถือ" ทุกการสื่อสารที่จะออกไปต้องเหมาะกับการดูในมือถือ ไม่ว่าจะโพสต์บน เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือไลน์ ขนาดตัวหนังสือต้องเหมาะกับการอ่านบนมือถือและน่าสนใจพอที่จะไม่ถูกเลื่อนผ่าน

เว็บไซต์ คืออีกหนนึ่งหัวใจสำคัญ นอกจากเป็นสินทรัพย์อย่างเดียวที่ผู้ประกอบการสามารถถือครองได้บนโลกออนไลน์แล้ว ยังเป็นเหมือนหน้าร้านที่เปิดขายตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน เว็บไซต์ที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้

  • ต้องสามารถดึงจุดขายสินค้าบริการออกมาได้มากที่สุด
  • ต้องเป็นมิตรกับผู้ใช้ (User-Friendly) และใช้งานได้ง่ายไม่ยุ่งยาก (UX – User Experience)
  • หน้าตาสวยน่าเข้าดู (UI - User Interface)
  • มีระบบโปรแกรมมิ่งหลังบ้านดี โหลดเร็ว อัพเดทง่าย และเป็นเรซสปอนต์ซีฟ (Responsive) เหมาะกับมือถือ

 

2. การมีส่วนร่วม (Engagement) ไม่ได้หมายถึงยอดขาย

หลายคนคิดว่าการทำเพจเฟซบุ๊กต้องมียอดไลก์เยอะๆ แต่ในความจริงแล้วนั่นอาจไม่ได้หมายถึงยอดขาย เพราะจากผลสำรวจพบว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ 

  • กลุ่มชอบคลิก (Engager) คลิกไลก์แบบไม่คิดอะไร
  • กลุ่มชอบดู (Watcher) คือดูแต่ไม่คลิก ซึ่งสถิติบอกว่า 90% ของคนที่ดูโฆษณาและซื้อสินค้าจะไม่คลิก

การสื่อสารโฆษณาทางออนไลน์จึงต้องหาลูกค้าที่แท้จริงด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ ของแพลตฟอร์มเข้าช่วย อย่างเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือที่เก็บข้อมูลทุกการกระทำในโลกออนไลน์ได้ละเอียด มีการคาดการณ์พฤติกรรมในอนาคตของผู้ใช้ได้แม่นยำ โดยอ้างอิงจากพฤติกรรมในอดีตด้วยฐานข้อมูลสถิติของคนครึ่งโลก รวมไปถึงการหากลุ่มลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

การทำโฆษณษเฟซบุ๊กสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายอย่างง่ายๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มเป้าหมายหลัก (Core Audience) โดยเลือก ข้อมูล (Demographic), ความสนใจ (Interests), พฤติกรรม (Behaviors), สถานที่ (Location), ความเชื่อมโยง (Connection)
  • กลุ่มเป้าหมายที่กำหนดเอง (Custom Audience) คือการยิงโฆษณาโดยตรงสู่กลุ่มลูกค้าที่เรากำหนดโดยใช้ฐานข้อมูลอีเมล/เบอร์โทรลูกค้าเก่า หรือคนที่มาแสดงความสนใจสินค้า
  • กลุ่มคนที่มีลักษณะเหมือนกับกลุ่มเป้าหมายเดิม (Lookalike Audience) โดยอ้างอิงจากสมมติฐานว่าคนที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันจะมีพฤติกรรม ความสนใจเหมือน ๆ กัน จึงน่าจะสนใจสินค้าของเราด้วย

นอกจากนี้ ถ้าลูกค้ามีหลายกลุ่ม ก็ต้องมีการปรับชิ้นงานที่สื่อออกไปให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มด้วย ถ้าไม่แน่ใจว่าชิ้นงานไหนจะได้ผลก็สามารถทำการทดสอบ (A/B Testing) โดยขึ้นชิ้นงาน 2 ชิ้นพร้อมกันแล้วดูผลตอบรับที่ออกมา

ในส่วนของกูเกิ้ล อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่สำคัญ มีเครื่องมือที่ครบวงจร ตั้งแต่ กูเกิล เสิร์ช (Google Search), กูเกิล แมพ (Google Map), โฆษาณากูเกิล (Google Ad), ยูทูบ (YouTube), จีเมล (Gmail) และ ดิสเพล เน็ตเวิร์ค (Display Network)

  • หากต้องการทำการตลาดผ่านค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดต่าง ๆ ให้ชื่อสินค้าเราปรากฎขึ้นเมื่อลูกค้าค้นหาบนกูเกิล เลือกใช้การทำ SEO (Search engine optimization) คือการปรับปรุงเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพ หรือ SEM (Search engine marketing) คือการลงโฆษณาทำการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหาบนอินเตอร์เน็ต
  • ดิสเพล เน็ตเวิร์ค เป็นเครื่องมือลงโฆษณาที่ทำให้ภาพแบนเนอร์ (Banner) ของร้านค้าไปปรากฏในเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้ โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงเท่ากับการลงผ่านเว็บไซต์นั้น ๆ โดยตรง
  • สิ่งที่ทำให้กูเกิลเป็นเครื่องมือการตลาดออนไลน์ที่ทรงประสิทธิภาพ คือความสามารถในการทำ รีมาร์เก็ตติ้ง (Remarketing) ลูกค้าอย่างได้ผล คือการให้โฆษณาติดตามเฉพาะคนที่มีความสนใจสินค้าของเรา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดการกดสั่งซื้อสูง

 

3. อัดเงินยิงโฆษณาเพื่อสร้างยอดขาย

การตลาดออนไลน์ให้ประสบการณ์สำเร็จ ไม่ได้หมายถึงการทุ่มเงินซื้อโฆษณา แต่ต้องประกอบด้วย

  • การมองภาพรวมเพื่อสร้างกลยุทธ์ (Mindset) กำหนดเป้าหมายที่ถูกต้อง ซึ่งเป้าหมายจะต้องนิ่งและชัดเจนว่าเราต้องการอะไร
  • วิธีคิดวิธีวางแผน (Skill Set) กำหนดกลยุทธ์ หาวิธีการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย
  • การใช้เครื่องมือ (Tool Set) เลือกเครื่องมือเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมาย

 

 

Published on 27 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ธุรกิจโรงแรม-ที่พัก เขียนบทความอย่างไรเสริมยอดขายให้พุ่งแรง

หัวข้อ : สร้าง Content อย่างไร เสริมยอดขายให้พุ่งแรง
อ่านเพิ่มเติม : https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/content-marketing-for-hotels

ธุรกิจโรงแรมที่อยากมียอดคนจองห้องพักอย่างสม่ำเสมอในยุคนี้นั้น นอกจากการสร้างโรงแรมให้สวยงามโดดเด่นมีจุดขาย มอบประสบการณ์การบริการที่ดีเยี่ยมให้กับลูกค้าแล้ว การทำการตลาดออนไลน์ด้วยคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง (Content Marketing) เพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมต้องเรียนรู้เช่นกัน

 

ใช้ความรักสร้างสรรค์เนื้อหา

เนื้อหาของบทความต่าง ๆ ที่มาจากความรักความชอบ จะสร้างความแตกต่างจากสิ่งที่คนอื่นทำอยู่ การแชร์ประสบการณ์ผ่านการเล่าเรื่องที่สนุกก็จะทำให้การสร้างเพจประสบความสำเร็จได้ เพจโรงแรมก็เช่นกัน ต้องมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนว่าโรงแรมเป็นแบบไหน  สื่อสารกับลูกค้ากลุ่มใด แล้วสร้างเนื้อหาจากสิ่งที่คนคนค้นหาก็จะทำให้เพจมีคนติดตามเพิ่มขึ้น

 

รู้เขา - รู้เรา ปล่อยเนื้อหากี่ครั้งก็โดน

หลักการสร้างสรรค์เนื้อหาให้โดนใจ มี 3 ข้อ 

  1. ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะทำเนื้อหาแนวไหน ทำเพื่ออะไร 
  2. ต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายว่าคือใคร 
  3. นำเสนอเนื้อหาจากปัญหาที่ลูกค้าเคยพบ (อาจจะเป็นปัญหาจากที่อื่น ๆ หรือปัญหาทั่วไป) หรือสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายตามหา ที่สำคัญเป้าหมายต้องชัดเจน

 

ไวรัลสร้างได้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

การสร้างเนื้อหาให้น่าสนใจจนเกิดเป็นไวรัล  (Viral) นั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมีดังนี้

  • ค้นหาให้เจอว่าคนต้องการเห็นอะไร ดูข้อมูลเชิงลึก (Insight) เพื่อหาให้เจอว่าช่วงเวลานั้นคนกำลังสนใจอะไรอยู่ 
  • เวลาคนจะแชร์เนื้อหาเพราะเห็นคุณค่า (Value) ต้องมองให้ออกว่ากลุ่มเป้าหมายให้คุณค่ากับอะไร
  • ต้องระลึกเสมอว่าเป้าหมายที่จะสื่อสารคืออะไร ใครคือลูกค้า ลูกค้าอยากฟังหรือไม่ ถ้าไม่รู้จักลูกค้าอย่างแท้จริง เนื้อหาที่สื่อสารก็จะไม่สื่อถึงแบรนด์ของเรา

 

โปรโมทสถานที่ที่ไม่มีใครรู้จักต้องทำอย่างไร

การสร้างเนื้อหาเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่คนไม่รู้จัก นอกจากจะต้องถ่ายภาพให้สวยงามดึงดูดใจ ยังต้องนำเสนอด้วยไอเดียแปลกใหม่ มีวิธีการอย่างไรเพื่อจูงใจให้คนไปเที่ยวตาม

  • ต้องตอบให้ได้ว่าสถานที่นั้นดีอย่างไร หาจุดเด่นให้เจอ ทำไมคนต้องไป
  • ต้องรู้ลึกรู้จริงเข้าใจพื้นที่นั้นมากกว่าคนทั่วไป
  • รูปแบบที่นำเสนอต้องโดนใจผู้บริโภค
  • สถานที่นั้นให้ประสบการณ์อะไรกับคนที่ไป
  • ลองขายสถานที่นั้นทางออฟไลน์ก่อน โดยหาลักษณะร่วมของลูกค้าเป้าหมายให้เจอ (Persona) และลองเสนอขาย ถ้าขายออฟไลน์ไม่ได้อย่าลงออนไลน์

 

เพิ่มยอดขายด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว

การสร้างเพจหรือเว็บไซต์โรงแรมนอกจากจะต้องมีข้อมูลพื้นฐานของโรงแรมแล้ว การสร้างเนื้อหาเกี่ยวสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบจะเป็นการช่วยเพิ่มยอดขายให้โรงแรมได้อีกทางหนึ่ง โดยทำดังนี้

  • หาเส้นทางการมาของลูกค้าว่ามาอย่างไร ตัดสินใจเลือกโรงแรมเพราะอะไร
  • มองหาว่าสถานที่ใกล้โรงแรมมีอะไรบ้าง ทั้งสถานที่ยอดนิยมหรือสถานที่ใหม่ ๆ
  • สร้างสรรค์เนื้อหามาเสริม เช่น จุดเด่นของโรงแรมที่คนมาพัก, สถานที่ท่องเที่ยวรอบโรงแรม เป็นต้น

 

เลือกเนื้อหาอย่างไรให้เข้ากับแพลตฟอร์ม

โซเซียลมีเดียมีหลากหลายแพลตฟอร์ม ควรเลือกสร้างเนื้อหาที่เหมาะสม โดยต้องเรียนรู้พฤติกรรมของคนในแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น ยูทูบ เน้นนำเสนอวิดีโอ, เฟซบุ๊ก เน้นให้ข้อมูลนำเสนอได้หลายทั้งแบบภาพ อัลบั้มภาพและวิดีโอ, อินสตาแกรม เน้นรูปสวยช่วยสร้างแรงบันดาลใจ

 

วางแผนการสร้างเนื้อหาต่าง ๆ อย่างไร?

เมื่อมีการสร้างเพจหรือเว็บไซต์ของโรงแรมแล้ว หากอยากให้มียอดผู้ติดตามและยอดการมีส่วนร่วม ควรวางแผนการสร้างเนื้อหา ดังนี้

  • วางแผนสร้างเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง อาจวางผังตลอดทั้งปีเพื่อให้เห็นภาพรวมว่ามีเนื้ออะไรได้บ้าง เพื่อให้เห็นโพสต์ในแต่ละวัน
  • วางแผนสร้างเนื้อหาในรูปแบบคอลัมน์ประจำซึ่งจะทำให้ง่ายขึ้น เพราะแต่ละคอลัมน์จะมีลักษณะเนื้อหาเฉพาะ คนเขียนจะได้ไม่หลงทาง
  • แทรกด้วยการสร้างเนื้อหาตามกระแส (Real-Time Content) แต่ต้องดูเสมอว่ากระแสนั้นสร้างมาเชื่อมโยงเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมได้มั้ย ไม่ใช่ทำทุกเรื่องต้องดูเสมอว่าตอบโจทย์หรือไม่

 

สุดท้ายต้องไม่ลืมเรื่องปิดการขาย เพราะถึงแม้จะสร้างเนื้อหาได้ดีเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่สามารถปิดการขายได้ก็เสียเงินเสียเวลาเปล่า รวมถึงต้องสื่อสารกับพนักงานฝั่งออฟไลน์ให้รู้เท่าออนไลน์ เพราะถ้าลูกค้าโทรศัพท์เข้ามาพนักงานไม่สามารถตอบคำถามได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์เช่นเดียวกัน



Published on 27 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

อาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้าน โอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

หัวข้อ : Functionals Foods โอกาสของผู้ประกบการ SMEs
อ่านเพิ่มเติม : https://sme.ktb.co.th/sme/previewPdf.action?fileId=19#book/13

 

อาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้าน หรือ Functional Foods เป็นตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการยกระดับไปสู่ธุรกิจอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

 

อาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้าน กับ อาหารทั่วไป แตกต่างกันอย่างไร? 

 

โดยทั่วไปหมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงในการส่งเสริมสุขภาพด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมจากคุณประโยชน์ทางโภชนาการของอาหารทั่วไป โดยเป็นการเพิ่มสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างโปรตีน วิตามิน คอลลาเจน หรืออาจครอบคลุมไปถึงการลดสารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อยออกไป เช่น น้ำตาล เกลือ ที่สำคัญคือการยังคงสภาพเป็นอาหาร ไม่ใช่แคปซูลหรือเป็นผงเหมือนยา และไม่มีข้อจำกัดในการบริโภค

สำหรับประเทศไทยมีผู้ประกอบการหลายรายที่เริ่มเข้ามาทำตลาดนี้กันมากขึ้นแล้ว เช่น โทฟุซัง ซึ่งเป็นเจ้าแรก ๆ ของนมถั่วเหลืองแบบพาสเจอไรซ์ และได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากขึ้น อย่าง การเพิ่มงาดำซึ่งมีแคลเซียม การเพิ่มโปรตีน ส่งผลให้ปัจจุบันโทฟุซังมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับต้น ๆ ในตลาดนมถั่วเหลืองแบบพาสเจอไรซ์ได้อย่างรวดเร็ว

 

ทำไมตลาดอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้าน (Functional Foods) จึงน่าสนใจ 

 

1. การให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

แนวคิดที่ว่าการป้องกันโรคดีกว่าการรักษาโรค จากค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่สูง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคมองหาอาหารที่ช่วยเสริมสุขภาพเฉพาะด้านมากขึ้น 

โดยยูโรมอนิเตอร์ (Euromonitor) ประเมินว่า ตลาดอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านของไทย อยู่ที่ประมาณ 68,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2018 - 2022 จะเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งในต่างประเทศอัตรากำไรของบริษัทที่ทำอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านจะสูงกว่าอาหารทั่วไปถึงเกือบ 3 เท่า โดยมีอัตรากำไรเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 7.3 ขณะที่ผู้ประกอบการอาหารทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.8

 

2. การเจาะตลาดอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านอาจไม่ยากอย่างที่คิด

เนื่องจากยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมากจากการที่ตลาดนี้มีลักษณะเป็นแบบตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมาก แตกต่างจากตลาดอาหารทั่วไป จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการเข้าไปเจาะตลาดซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ยังเข้าไม่ถึง และยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดเป็นผู้นำตลาดอย่างชัดเจน 

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคากับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ อีกทั้งเนื่องจากเป็นสินค้าที่มูลค่าเพิ่มสูงกว่า เมื่อเทียบกับอาหารทั่วไปเพราะผู้บริโภคในกลุ่มนี้มักให้ความสำคัญกับคุณค่าและประโยชน์ของสารอาหารที่ได้รับมากกว่าปัจจัยทางด้านราคา จึงยอมจ่ายในราคาที่แพงกว่า



 

3. การก้าวเข้าสู่ธุรกิจอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านยังมีข้อดีจากการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

เพราะเป็นหนึ่งในธุรกิจฟิวเจอร์ฟู้ดส์ (Future Foods) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่ม S-Curve จึงทำให้ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

 

เทรนด์ตลาดอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้าน

- ราคาของกลุ่มอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านอย่าง นมไขมันต่ำ ขนมปังเติมวิตามิน มีราคาไม่แต่ต่างจากอาหารทั่วไปมากนัก ในขณะที่ โปรตีนบาร์ และนมโปรตีนสูง กลับมีราคาที่สูงกว่าราคาอาหารทั่วไปถึงร้อยละ 200 - 400

- ผู้บริโภคไทยในปัจจุบันมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการดูแลสุขภาพตัวเอง โดยเฉพาะการควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกาย ทำให้อาหารในหมวดกลุ่มที่ให้พลังงาน กลุ่มควบคุมน้ำหนัก มาแรง

-  ขณะที่ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องเผชิญกับมลพิษ ความเครียดจากการทำงานหนัก แต่ต้องการทางเลือกที่ไม่ใช่ยา จะช่วยผลักดันให้อาหารในหมวดที่ช่วยภูมิคุ้มกันน่าสนใจยิ่งขึ้น

 

หากต้องการยกระดับจากอาหารทั่วไป มาเป็นอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านต้องรู้จักใครบ้าง

- เบื้องต้นผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ยังคงต้องศึกษาและทำความเข้าใจการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตอาหาร ให้ได้ตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากพบว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถยกระดับตัวเองมาสู่ธุรกิจอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านได้ มาจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งเกิดส่วนสูญเสียระหว่างกระบวนการผลิตมาก

- การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยผู้ประกอบการยกระดับผลิตภัณฑ์จากอาหารทั่วไปเป็นอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรจะรู้จักและเป็นพาร์ทเนอร์กับผู้เชี่ยวชาญ 2 กลุ่ม ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการทำ R&D ผลิตภัณฑ์ ให้ “อร่อย มีประโยชน์ และได้มาตรฐาน”

  • กลุ่มแรกคือ ผู้ผลิตสารประกอบในอาหาร (Functional Ingredients) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทแม่จากต่างประเทศ ซึ่งการเลือกที่จะเป็นพาร์ทเนอร์กับรายใดอาจต้องจพิจารณาเบื้องต้นจากชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญของประเภทสารอาหาร ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละบริษัท รวมถึงผู้ประกอบการยังควรศึกษาคุณประโยชน์ต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ ของสารอาหารแต่ละชนิด เพื่อที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้
  • กลุ่มที่สองคือ หน่วยงานวิจัยจากภาครัฐหรือสถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญ และสามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำ R&D มีหลายแห่ง เช่น 
    • ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหารคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
    • สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
    • สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
    • สถาบันอาหาร 

ซึ่งผู้ประกอบการอาจเลือกพิจารณาเบื้องต้นจากผลงานวิจัยในช่วงที่ผ่านมา จำนวนผลิตภัณฑ์ที่วิจัยและพัฒนาจนออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเงื่อนไขในการสนับสนุนเงินทุน

 


Published on 27 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

"บีโอไอ" ช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างไร

หัวข้อ : มาตราการบีไอโอ ทางออก SMEsไทย ปีที่ 3 ฉบับที่ 5
อ่านเพิ่มเติม : https://www.boi.go.th/upload/ejournal/2020/05/files/extfile/DownloadURL.pdf

 

 

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้การสนับสนุนธุรกิจทุกขนาด หากผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด โดยให้การส่งเสริมด้านการลงทุนทั้งในประเทศ และช่วยเหลือธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนต่างประเทศด้วยเช่นกัน อย่างธุรกิจที่ต้องการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ บีโอไอจะเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนช่วยเหลือ ศึกษาเรื่องกฏระเบียบการลงทุนในประเทศต่าง ๆ พร้อมให้คำปรึกษา เข้าเจรจากับภาครัฐของประเทศนั้น ๆ และหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าบีโอไอให้การส่งเสริมเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจจากต่างชาติ แต่อันที่จริงแล้วมีธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับการสนับสนุนอยู่ถึงร้อยละ 60 – 70 ทีเดียว

การส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร เช่น

  • การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปสูงสุดไม่เกิน 8 ปี
  • การยกเว้นอากรนำเข้าของเครื่องจักรและวัตถุดิบ

การส่งเสริมการลงทุนสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร เน้นให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทต่างชาติ เช่น

  • สิทธิในการถือครองที่ดิน
  • การอำนวยความสะดวกในเรื่องการนำเข้าแรงงานฝีมือจากต่างประเทศ

 

คุณสมบัติเอสเอ็มอีตามมาตรการของบีโอไอ

  1. เอสเอ็มอีจะต้องอยู่ในประเภทกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ประเภทกิจการในกลุ่ม A) และประเภทกิจการบางส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ประเภทกิจการในกลุ่ม B1) ตามประกาศ กกท. ที่ 2/2557
  2. เอสเอ็มอีจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% ของทุนจดทะเบียน
  3. รายได้รวมของเอสเอ็มอีทั้งที่ได้รับการส่งเสริมฯ และไม่ได้รับการส่งเสริมฯ ต้องไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 3 ปีแรก
  4. เอสเอ็มอีจะต้องมีเงินลงทุนในโครงการไม่น้อยกว่า 500,000 บาท โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน (จากปกติที่กำหนดไว้ที่ 1 ล้านบาท)
  5. กำหนดให้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 4 : 1 (จากปกติที่กำหนดไว้ที่ 3 : 1)

 

สิทธิประโยชน์บีโอไอ เพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ

แม้ว่าบีโอไอจะครอบคลุมธุรกิจทุกขนาด แต่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีหลายมาตรการที่ได้ตั้งข้อกำหนดพิเศษเอาไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้ง่ายขึ้น เช่น

- สิทธิประโยชน์พื้นฐานตามประเภทกิจการ และเพิ่มเติมวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 200 % ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน

- ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร

- อนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วของโครงการเดิม มาใช้ในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯได้ โดยมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่จะต้องลงทุนใหม่ในเครื่องจักรหลักเพิ่มเติมเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าเครื่องจักรทั้งหมดที่ใช้ในโครงการ

- สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน หากเอสเอ็มอีลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน จะสามารถขยายสิทธิประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น

  • การวิจัยพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ
  • การฝึกอบรมบุคคลากรหรือรับนักศึกษาฝึกงานระยะยาว
  • การซื้องานวิจัยในประเทศที่น่าสนใจมาใช้ประโยชน์ในเชิงพานิชย์
  • การอบรมเทคโนโลยีขั้นสูง
  • การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์

 

สิทธิและประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม 

  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ 20 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว สุโขทัย สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ทั้งนี้หากเป็นประเภทกิจการในกลุ่ม A1 และ A2 จะให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี นับจากวันที่กำหนดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง
  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ยกเว้นประเภทกิจการที่มีเงื่อนไขบังคับว่า จะต้องตั้งในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯและประเภทกิจการในกลุ่ม B
  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) จะได้รับวงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 200% ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับพิเศษตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

บีโอไอได้เปิดช่องทางเผยแพร่ข้อมูลและคำแนะนำแก่เอสเอ็มอีหลายช่องทางด้วยกัน

  • เว็บไซต์ www.boi.go.th ช่องทางหลักในการสื่อสาร เป็นพื้นที่ที่รวบรวมข้อมูลเอาไว้ทั้งหมด
  • อีเมล head@bot.go.th สามารถส่งคำถามผ่านทางอีเมลได้
  • ติดต่อ ศูนย์บริการลงทุน ที่บีโอไอสำนักงานใหญ่ หรือจามจุรีสแควร์
  • เฟซบุ๊ก BOI News
  • ไลน์แอด @boinews
  • โทรศัพท์ 025538111

 

Published on 27 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ