ขายของออนไลน์ ตั้งราคาอย่างไรให้ไม่ขาดทุน

หัวข้อ : กำหนดราคาขายยังไง ไม่ให้ขาดทุนบนโลกออนไลน์
อ่านเพิ่มเติม : https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/cost-and-price.html

ต้นทุนการขายสินค้าออนไลน์ ไม่ได้มีแค่ค่าตัวสินค้าเพียงอย่างเดียว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่คุณต้องจ่ายไม่ว่าจะเป็น ค่าจัดส่ง, ค่าแพ็กสินค้า และค่าโฆษณา ดังนั้นคุณต้องคำนวณให้ดีว่าต้นทุนของสินค้ามีราคาอยู่ที่เท่าไรกันแน่ 

เมื่อทราบต้นทุนที่แท้จริงแล้ว ก็จะทำให้กำหนดราคาสินค้าได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม อยู่บนพื้นฐานของการไม่ “ขาดทุน” นอกจากนั้นยังสร้าง “กำไร” จากการตั้งราคาสินค้าที่สามารถสร้างการแข่งขันได้อีกด้วย

ตั้งราคาตามจุดขายของสินค้า โดยประเมินจากต้นทุน, คุณสมบัติของสินค้า และความต้องการของผู้บริโภค จะช่วยให้สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสมของสินค้าขึ้นมาได้

- ต้องรู้จักสินค้าของตัวเองก่อนว่าสินค้ามีต้นทุนต่อหน่วยเท่าไร

- ต้องรู้ว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าประเภทไหน เป็นสินค้าสำหรับคนทั่วไปที่ซื้อง่ายขายคล่อง หรือเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนคนซื้อที่จำกัด

- คุณสมบัติของสินค้าที่แตกต่างกันก็จะมีวิธีในการบวกกำไรในจำนวนที่มากน้อยไม่เท่ากัน

ตั้งราคาจากการเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ไม่ว่าคุณจะขายสินค้าอะไรก็ตามมักจะมีคู่แข่งอยู่เสมอ 

- ศึกษาคู่แข่งว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอะไร เป็นข้อมูลสำหรับการนำเอากลับมาตั้งราคาสินค้าของคุณเอง

- ศึกษาว่าคู่แข่งมีจำนวนมากน้อยขนาดไหน ถ้าสินค้าแบบเดียวกันกับของคุณมีคู่แข่งเยอะ ราคาสินค้าของคุณก็ควรจะเกาะกลุ่มไม่ให้ต่างกันมาก แต่ถ้าหากสินค้าของคุณไม่มีคู่แข่งเลย การตั้งราคาสินค้าก็อาจจะตั้งได้สูงในระดับที่คุณพอใจได้เลย

- ก่อนจะตั้งราคาทุกครั้งควรสำรวจตลาดเพื่อเช็กราคาสินค้า ว่าส่วนใหญ่ขายกันราคาเท่าไร แล้วนำมาคำนวณต้นทุนของเราว่าจะบวกกำไรได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้มีกำไรและแข่งขันกับรายอื่น ๆ ได้

อย่าเริ่มต้นด้วยราคาที่ต่ำจนเกินไป การตั้งราคาสินค้าต่ำอาจจะทำให้ขายสินค้าได้ง่าย แต่อาจไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป

- อาจทำให้ลูกค้าคิดหรือมองสินค้าของคุณไปในด้านลบ หรือทำให้ไม่มั่นใจในตัวสินค้า

- อาจทำให้คุณไม่มีช่องว่างเหลือพอที่จะถอยหลัง ในกรณีที่เปิดตัวด้วยราคาถูกแล้วยังขายไม่ได้ จะลดราคาลงอีกก็เข้าเนื้อ

จัดราคาโปรโมชั่นเพื่อค้นหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทำการตลาดโดยใช้กลยุทธ์สินค้าดีราคาถูกในช่วงโปรโมชั่น เพื่อค้นหาความต้องการสินค้าของผู้บริโภค ดังนี้

- ไม่ควรทำบ่อยจนเกินไป เพราะมันอาจจะทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่า ราคาจริง ๆ ของสินค้าก็คือราคาโปรโมชั่น

- ควรจะระบุระยะเวลาที่ชัดเจน และไม่ใช้บ่อยจนเกินไป

- ไม่ควรจะลดราคาสินค้ามากเกินไปจนหากำไรไม่ได้

Published on 28 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

เริ่มธุรกิจออนไลน์ ต้นทุนอะไรบ้างที่เปลี่ยนไป

หัวข้อ : เริ่มธุรกิจออนไลน์ ต้นทุนอะไรบ้างที่เปลี่ยนไป
อ่านเพิ่มเติม : https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/online-business-cost.html

 

ธุรกิจไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์นั้น วิธีการที่จะทำให้ธุรกิจมีกำไรเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในวิธีที่นิยมทำกันมากที่สุดก็คือ การทำให้ต้นทุนของธุรกิจลดต่ำลง หากผู้ประกอบการมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของต้นทุนทั้งสองแบบได้แล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าการเริ่มธุรกิจออนไลน์ต้นทุนอะไรบ้างที่จะเปลี่ยนไป

 

ต้นทุนของธุรกิจออฟไลน์มักใช้เงินลงทุนสูง เพราะการจัดการธุรกิจที่มีหน้าร้านจริงจัง ส่วนใหญ่แล้วจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ ค่าอุปกรณ์ตกแต่ง พนักงาน หรือแม้แต่ค่าที่จอดรถ และในระยะยาวก็ยังต้องใช้เงินลงทุนสูงอีกเช่นกัน เช่น ถ้าคุณขายสินค้า คุณก็ยังต้องมีการสต็อกสินค้า ซึ่งนั่นก็เป็นค่าใช้จ่ายในการเช่าโกดังหรือบำรุงรักษาเช่นกัน

ต้นทุนของธุรกิจออนไลน์ใช้เงินไม่มาก เพราะสถานที่เป็นสิ่งที่ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อธุรกิจและยอดขาย ไม่มีค่าใช้จ่ายในการตกแต่งร้าน เช่าที่ หรือค่าจอดรถ ธุรกิจออนไลน์นั้นสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยต้นทุนที่ไม่แพง เพียงแค่ลงทุนไปกับเว็บไซต์ที่เป็นหน้าร้านเดียวของคุณให้ดีเพื่อระยะยาวเท่านั้น

 

ต้นทุนคงที่ของธุรกิจ

ต้นทุนคงที่ของธุรกิจออฟไลน์ คือ ต้นทุนพื้นฐานที่คุณต้องจ่าย ไม่ว่าจะผลิตหรือขายมากน้อยเพียงใด ตัวอย่างของต้นทุนชนิดนี้ในธุรกิจออฟไลน์ก็คือ ค่าเช่าที่ เงินเดือนพนักงาน และค่าเช่าที่เก็บสินค้า

ต้นทุนคงที่ของธุรกิจออนไลน์ ต้องเปลี่ยนไปเป็นต้นทุนการสร้างหน้าร้านทางออนไลน์อย่างเว็บไซต์ หรืออาจจะมีการเปลี่ยนจากค่าจ้างของพนักงานขายไปเป็นการจ้างแอดมินหรือผู้ดูแล ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการหน้าร้านแบบออนไลน์แทน ซึ่งถ้าหากเจ้าของธุรกิจสามารถจัดการเรื่องของออนไลน์ได้เอง ก็จะทำให้มีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนแบบนี้

 

ต้นทุนผันแปรของธุรกิจ

ต้นทุนผันแปรของธุรกิจออฟไลน์ คือ ต้นทุนที่จะแปรผันไปตามปริมาณการผลิตสินค้าและการขายสินค้า เรียกได้ว่าต้นทุนแบบนี้ยิ่งผลิตมากก็ต้องจ่ายมาก สามารถลดต้นทุนชนิดนี้ได้ด้วยการเปลี่ยนไปเป็นแบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้คุณประหยัดเรื่องของค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าคอมมิชชั่นต่าง ๆ ลงไปได้

ต้นทุนผันแปรของธุรกิจออนไลน์ หลัก ๆ คือค่าทำการตลาดแบบออนไลน์ และค่าโฆษณาบนสื่อออนไลน์ต่าง ๆ นั่นเอง ที่หากผู้ประกอบการต้องการให้โฆษณาเข้าถึงคนบนออนไลน์จำนวนมากเท่าใด ก็ต้องแลกด้วยการเพิ่มขึ้นของต้นทุนแบบนี้เพิ่มขึ้นเท่านั้น

 

อยากได้กำไรต้องลดต้นทุนให้เป็น

การหาจุดที่ทำธุรกิจแล้วคุ้มค่ากับการดำเนินงาน เราเรียกว่า จุดคุ้มทุน ซึ่งก็คือจุดที่ธุรกิจมีรายได้จากยอดขายเท่ากับต้นทุน ถ้าหากคุณสามารถทำยอดขายได้มากกว่าจุดคุ้มทุนที่คำนวณได้ก็แสดงว่าธุรกิจมีกำไร แต่ถ้ายอดขายต่ำกว่าค่าจุดคุ้มทุนที่คำนวณได้นั่นคือธุรกิจมีต้นทุนมากกว่ารายได้หรือขาดทุน

 

 

Published on 28 August 2020
SMEONE “ทุกเรื่องครบ…จบในที่เดียว”

บทความแนะนำ

รู้ทันทรัพย์สินทางปัญญา จดไวธุรกิจไปไกลทั่วโลก

หัวข้อ : รู้ทันทรัพย์สินทางปัญญา จดไวธุรกิจไปไกลทั่วโลก
อ่านเพิ่มเติม : https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/dip

 

ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องเรียนรู้ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคิดจะทำธุรกิจกันยาว ๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต การออกแบบสินค้าและบริการ ตลอดจนชื่อแบรนด์และโลโก้สินค้า ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามีราคาแทบทั้งสิ้น

ทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้หมายถึงเพียงผลงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ แต่ในแง่ของธุรกิจนั้นการสร้างสรรค์งานส่วนใหญ่จะเน้นการสร้างความแตกต่างให้สินค้าสามารถแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาตัวหนึ่งที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากปล่อยให้ผู้อื่นนำผลงานสร้างสรรค์ของตัวเองไปลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำ

 

ทรัพย์สินทางปัญญาที่กฎหมายให้การคุ้มครองจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรมและลิขสิทธิ์ 

ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม สามารถแบ่งออกมาได้อีก 6 ประเภทย่อย คือ 

1.สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร 

2.เครื่องหมายทางการค้า 

3.แบบผังภูมิของวงจรรวม 

4.ความลับทางการค้า 

5.เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI

6.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่

 

แต่ส่วนที่มีความสำคัญกับธุรกิจการค้าและมักเป็นประเด็นขัดแย้งจนกลายเป็นคดีความกันบ่อยครั้งจะมีอยู่ 3 เรื่อง คือ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายทางการค้า

ลิขสิทธิ์ : เป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เป็นงานที่เกิดมาจากแรงบันดาลใจจากข้างในของผู้สร้างสรรค์เอง เช่น งานเขียน งานออกแบบ หรืองานศิลปะต่าง ๆ ซึ่งสิทธิ์จะเกิดขึ้นทันทีที่งานนั้นถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา แต่ในการฟ้องร้องเพื่ออ้างสิทธิ์ ผู้เป็นเจ้าของผลงานจะต้องจัดเตรียมหลักฐานมาใช้ในการเรียกร้องสิทธิ์เอง โดยสิทธิ์มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และต่อเนื่องไปอีก 50 ปี หลังจากนั้นผลงานจะตกเป็นของสาธารณะ ใครก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

สิทธิบัตร : เป็นผลงานด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่คิดค้นขึ้นมาใหม่โดยมีหลักในการพิจารณา 3 เรื่องคือ 

  1. เป็นเรื่องที่คิดค้นขึ้นมาใหม่โดยที่ยังไม่มีใครในโลกนี้เคยคิดค้นขึ้นมาก่อน 
  2. เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูง 
  3. สามารถนำมาประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตจำนวนมาก ๆ 

ดังนั้นอะไรที่ไม่ใหม่ไม่ถือว่าจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งการจดต้องมีการตรวจสอบกับข้อมูลจากทั่วโลกเพราะต้องเป็นเรื่องที่ใหม่จริง ๆ ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งคิดมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะอยู่แห่งใดในโลกก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การจดสิทธิบัตรค่อนข้างใช้เวลานาน

 

กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ให้คำแนะนำไว้ว่า การจดสิทธิบัตรเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการก่อนเรื่องอื่นใดทั้งหมด ซึ่งอาจจองสิทธิ์ไว้ก่อนแล้วจึงไปดำเนินการอย่างอื่น หรือควรรอให้ได้รับสิทธิ์เรียบร้อยก่อนค่อยไปทำอย่างอื่น เพราะหากทำการตลาดไปแล้ว ปรากฏว่าการจดสิทธิบัตรไม่ผ่าน ก็อาจเสี่ยงต่อการถูกลอกเลียนแบบและแย่งจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ให้ดี

 

เครื่องหมายทางการค้าหรือโลโก้ : ต้องไม่บรรยาย บ่งบอก หรือแสดงถึงสินค้าที่จะขาย เหตุผลก็เพราะทรัพย์สินทางปัญญาคือสิทธิผูกขาด ซึ่งผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์สามารถฟ้องผู้ละเมิดได้ ดังนั้นคำที่บรรยายถึงสินค้าจึงควรเป็นคำที่ทุกคนสามารถใช้ได้ ไม่ใช่สิทธิ์เฉพาะของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งถ้าปล่อยให้ใครจดทะเบียนครอบครองสิทธิ์ได้ คนที่จดได้ก่อนก็จะได้สิทธิ์ผูกขาดอยู่เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่เป็นธรรมกับคนอื่น ๆ ที่ต้องการทำการค้าในสินค้าอย่างเดียวกัน ยกตัวอย่างเรื่องของกาแฟ ผู้ค้าอาจใช้คำว่า Coffee อยู่ในเครื่องหมายการค้าได้ แต่คำว่า Coffee จะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ ใครก็สามารถใช้คำ ๆ นี้ได้เช่นกัน

 

ข้อควรรู้สำหรับผู้ประกอบการ

- สิทธิบัตรกับเครื่องหมายทางการค้าเป็นสิทธิ์เฉพาะดินแดน คือจดทะเบียนที่ประเทศไหนได้รับความคุ้มครองเฉพาะประเทศนั้น

- การให้สิทธิ์ของสิทธิบัตรจะดูเรื่องของความใหม่เป็นสำคัญภายใน 1 ปีหากยังไม่ไปจดความใหม่นั้นอาจจะหมดไปหรือมีคนอื่นไปจดก่อน 

- ปัจจุบันจะมีระบบการจองสิทธิ์ผ่านทางออนไลน์ที่เรียกว่า PCT (Patent Cooperation Treaty) โดยเจ้าของสิทธิ์จะต้องยื่นเรื่องผ่านระบบออนไลน์ในเว็บของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อจองสิทธิ์ในเบื้องต้นก่อน และจะมีเวลา 18  เดือนในการเดินทางไปจดทะเบียนจริงที่ประเทศนั้น ๆ

- เครื่องหมายทางการค้าสามารถยื่นผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน แต่ต้องยืนยันตัวตนและสมัครเข้าเป็นสมาชิกกับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาเสียก่อน

- การจดทะเบียนสิทธิ์ในต่างประเทศเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลทางการค้ามาก เช่น หากมีคนจีนเอาสินค้าแบรนด์คุณที่ขายดีในไทยไปจดทะเบียนที่จีน นั่นจะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำสินค้าแบรนด์ตัวเองเข้าไปเปิดตลาดในจีนได้เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ ยกเว้นแต่จะเข้าไปในชื่อแบรนด์อื่น

- การจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้าในต่างประเทศ โดยหลักแล้วจะมีข้อพิจารณาอยู่ 4 ข้อ

  1. จดทะเบียนในไทยก่อน 
  2. เลือกจดเฉพาะประเทศที่คิดจะเข้าไปเปิดตลาดหรือทำการค้าด้วย 
  3. ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการลอกเลียนแบบสินค้า
  4. ประเทศที่มีคู่แข่งทำการค้าขายสินค้าประเภทเดียวกัน

- อายุการคุ้มครองในส่วนของเครื่องหมายทางการค้าจะได้สิทธิ์ 10 ปี แต่ผู้เป็นเจ้าของสามารถต่อสิทธิ์ได้เรื่อย ๆ หากไม่ต่อสิทธิ์และมีใครมาจดแทน สิทธิ์นั้นก็จะเปลี่ยนเป็นของคนใหม่ทันที

- สิทธิบัตรจะมีอายุการคุ้มครอง 20 ปี หลังจากนั้นสิทธิ์จะกลายเป็นของสาธารณะ ซึ่งใครก็สามารถนำไปใช้

 

 

Published on 27 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

3 สิ่งที่เอสเอ็มอีมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับดิจิทัล

หัวข้อ : 3 สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Digital Marketing
อ่านเพิ่มเติม : https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/digital-marketing-ibe

 

ในยุคที่แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคส่วนใหญ่ในประเทศ ทำให้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเป็นโจทย์ที่ทุกธุรกิจต้องตีให้แตกตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ดียังมีความเข้าใจบางอย่างที่ยังคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง วันนี้มาไขความจริงให้กระจ่างไปด้วยกัน

 

1. การตลาดออนไลน์ ไม่ใช่การขายของออนไลน์

เมื่อกล่าวถึง ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง (Digital Marketing) หรือการตลาดออนไลน์ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการขายของบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ฯลฯ ซึ่งนี้เรียกว่าอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) เป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมดของการตลาดออนไลน์ การตลาดออนไลน์เป็นเครื่องมือให้เกิดการซื้อขายได้  2 แบบ ได้แก่  

  • การซื้อขายเกิดขึ้นออนไลน์ โดยผู้ซื้อผู้ขายไม่เห็นหน้ากัน เรียกว่าอีคอมเมิร์ซ 
  • การซื้อกับคนโดยใช้เครื่องมือการตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ นำลูกค้ามาพบผู้ขายเพื่อทำการตกลงซื้อขายออฟไลน์ โดยแบบนี้จะใช้กับธุรกิจที่มีมูลค่าสูงเช่น อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ B2B เป็นต้น

เครื่องมือการตลาดออนไลน์แต่ละตัวมีจุดเด่นแตกต่างกัน จึงต้องนำมาใช้ผสมผสานสนับสนุนกันอย่างเหมาะสม เช่น 

  • เฟซบุ๊ก (Facebook) เปรียบเสมือนทีวีส่งข้อความหากลุ่มเป้าหมาย 
  • กูเกิล (Google) เป็นการช่วยให้ข้อมูลผ่านการค้นหา (Search) 
  • แชทบอต เหมาะกับการทำอีคอมเมิร์ซ แต่ไม่เหมาะกับรูปแบบการซื้อกับคน เป็นต้น

ข้อสำคัญของการทำการตลาดดิจิทัลคือ "มือถือ" ทุกการสื่อสารที่จะออกไปต้องเหมาะกับการดูในมือถือ ไม่ว่าจะโพสต์บน เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือไลน์ ขนาดตัวหนังสือต้องเหมาะกับการอ่านบนมือถือและน่าสนใจพอที่จะไม่ถูกเลื่อนผ่าน

เว็บไซต์ คืออีกหนนึ่งหัวใจสำคัญ นอกจากเป็นสินทรัพย์อย่างเดียวที่ผู้ประกอบการสามารถถือครองได้บนโลกออนไลน์แล้ว ยังเป็นเหมือนหน้าร้านที่เปิดขายตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน เว็บไซต์ที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้

  • ต้องสามารถดึงจุดขายสินค้าบริการออกมาได้มากที่สุด
  • ต้องเป็นมิตรกับผู้ใช้ (User-Friendly) และใช้งานได้ง่ายไม่ยุ่งยาก (UX – User Experience)
  • หน้าตาสวยน่าเข้าดู (UI - User Interface)
  • มีระบบโปรแกรมมิ่งหลังบ้านดี โหลดเร็ว อัพเดทง่าย และเป็นเรซสปอนต์ซีฟ (Responsive) เหมาะกับมือถือ

 

2. การมีส่วนร่วม (Engagement) ไม่ได้หมายถึงยอดขาย

หลายคนคิดว่าการทำเพจเฟซบุ๊กต้องมียอดไลก์เยอะๆ แต่ในความจริงแล้วนั่นอาจไม่ได้หมายถึงยอดขาย เพราะจากผลสำรวจพบว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ 

  • กลุ่มชอบคลิก (Engager) คลิกไลก์แบบไม่คิดอะไร
  • กลุ่มชอบดู (Watcher) คือดูแต่ไม่คลิก ซึ่งสถิติบอกว่า 90% ของคนที่ดูโฆษณาและซื้อสินค้าจะไม่คลิก

การสื่อสารโฆษณาทางออนไลน์จึงต้องหาลูกค้าที่แท้จริงด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ ของแพลตฟอร์มเข้าช่วย อย่างเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือที่เก็บข้อมูลทุกการกระทำในโลกออนไลน์ได้ละเอียด มีการคาดการณ์พฤติกรรมในอนาคตของผู้ใช้ได้แม่นยำ โดยอ้างอิงจากพฤติกรรมในอดีตด้วยฐานข้อมูลสถิติของคนครึ่งโลก รวมไปถึงการหากลุ่มลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

การทำโฆษณษเฟซบุ๊กสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายอย่างง่ายๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มเป้าหมายหลัก (Core Audience) โดยเลือก ข้อมูล (Demographic), ความสนใจ (Interests), พฤติกรรม (Behaviors), สถานที่ (Location), ความเชื่อมโยง (Connection)
  • กลุ่มเป้าหมายที่กำหนดเอง (Custom Audience) คือการยิงโฆษณาโดยตรงสู่กลุ่มลูกค้าที่เรากำหนดโดยใช้ฐานข้อมูลอีเมล/เบอร์โทรลูกค้าเก่า หรือคนที่มาแสดงความสนใจสินค้า
  • กลุ่มคนที่มีลักษณะเหมือนกับกลุ่มเป้าหมายเดิม (Lookalike Audience) โดยอ้างอิงจากสมมติฐานว่าคนที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันจะมีพฤติกรรม ความสนใจเหมือน ๆ กัน จึงน่าจะสนใจสินค้าของเราด้วย

นอกจากนี้ ถ้าลูกค้ามีหลายกลุ่ม ก็ต้องมีการปรับชิ้นงานที่สื่อออกไปให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มด้วย ถ้าไม่แน่ใจว่าชิ้นงานไหนจะได้ผลก็สามารถทำการทดสอบ (A/B Testing) โดยขึ้นชิ้นงาน 2 ชิ้นพร้อมกันแล้วดูผลตอบรับที่ออกมา

ในส่วนของกูเกิ้ล อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่สำคัญ มีเครื่องมือที่ครบวงจร ตั้งแต่ กูเกิล เสิร์ช (Google Search), กูเกิล แมพ (Google Map), โฆษาณากูเกิล (Google Ad), ยูทูบ (YouTube), จีเมล (Gmail) และ ดิสเพล เน็ตเวิร์ค (Display Network)

  • หากต้องการทำการตลาดผ่านค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดต่าง ๆ ให้ชื่อสินค้าเราปรากฎขึ้นเมื่อลูกค้าค้นหาบนกูเกิล เลือกใช้การทำ SEO (Search engine optimization) คือการปรับปรุงเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพ หรือ SEM (Search engine marketing) คือการลงโฆษณาทำการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหาบนอินเตอร์เน็ต
  • ดิสเพล เน็ตเวิร์ค เป็นเครื่องมือลงโฆษณาที่ทำให้ภาพแบนเนอร์ (Banner) ของร้านค้าไปปรากฏในเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้ โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงเท่ากับการลงผ่านเว็บไซต์นั้น ๆ โดยตรง
  • สิ่งที่ทำให้กูเกิลเป็นเครื่องมือการตลาดออนไลน์ที่ทรงประสิทธิภาพ คือความสามารถในการทำ รีมาร์เก็ตติ้ง (Remarketing) ลูกค้าอย่างได้ผล คือการให้โฆษณาติดตามเฉพาะคนที่มีความสนใจสินค้าของเรา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดการกดสั่งซื้อสูง

 

3. อัดเงินยิงโฆษณาเพื่อสร้างยอดขาย

การตลาดออนไลน์ให้ประสบการณ์สำเร็จ ไม่ได้หมายถึงการทุ่มเงินซื้อโฆษณา แต่ต้องประกอบด้วย

  • การมองภาพรวมเพื่อสร้างกลยุทธ์ (Mindset) กำหนดเป้าหมายที่ถูกต้อง ซึ่งเป้าหมายจะต้องนิ่งและชัดเจนว่าเราต้องการอะไร
  • วิธีคิดวิธีวางแผน (Skill Set) กำหนดกลยุทธ์ หาวิธีการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย
  • การใช้เครื่องมือ (Tool Set) เลือกเครื่องมือเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมาย

 

 

Published on 27 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ธุรกิจโรงแรม-ที่พัก เขียนบทความอย่างไรเสริมยอดขายให้พุ่งแรง

หัวข้อ : สร้าง Content อย่างไร เสริมยอดขายให้พุ่งแรง
อ่านเพิ่มเติม : https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/content-marketing-for-hotels

ธุรกิจโรงแรมที่อยากมียอดคนจองห้องพักอย่างสม่ำเสมอในยุคนี้นั้น นอกจากการสร้างโรงแรมให้สวยงามโดดเด่นมีจุดขาย มอบประสบการณ์การบริการที่ดีเยี่ยมให้กับลูกค้าแล้ว การทำการตลาดออนไลน์ด้วยคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง (Content Marketing) เพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมต้องเรียนรู้เช่นกัน

 

ใช้ความรักสร้างสรรค์เนื้อหา

เนื้อหาของบทความต่าง ๆ ที่มาจากความรักความชอบ จะสร้างความแตกต่างจากสิ่งที่คนอื่นทำอยู่ การแชร์ประสบการณ์ผ่านการเล่าเรื่องที่สนุกก็จะทำให้การสร้างเพจประสบความสำเร็จได้ เพจโรงแรมก็เช่นกัน ต้องมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนว่าโรงแรมเป็นแบบไหน  สื่อสารกับลูกค้ากลุ่มใด แล้วสร้างเนื้อหาจากสิ่งที่คนคนค้นหาก็จะทำให้เพจมีคนติดตามเพิ่มขึ้น

 

รู้เขา - รู้เรา ปล่อยเนื้อหากี่ครั้งก็โดน

หลักการสร้างสรรค์เนื้อหาให้โดนใจ มี 3 ข้อ 

  1. ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะทำเนื้อหาแนวไหน ทำเพื่ออะไร 
  2. ต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายว่าคือใคร 
  3. นำเสนอเนื้อหาจากปัญหาที่ลูกค้าเคยพบ (อาจจะเป็นปัญหาจากที่อื่น ๆ หรือปัญหาทั่วไป) หรือสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายตามหา ที่สำคัญเป้าหมายต้องชัดเจน

 

ไวรัลสร้างได้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

การสร้างเนื้อหาให้น่าสนใจจนเกิดเป็นไวรัล  (Viral) นั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมีดังนี้

  • ค้นหาให้เจอว่าคนต้องการเห็นอะไร ดูข้อมูลเชิงลึก (Insight) เพื่อหาให้เจอว่าช่วงเวลานั้นคนกำลังสนใจอะไรอยู่ 
  • เวลาคนจะแชร์เนื้อหาเพราะเห็นคุณค่า (Value) ต้องมองให้ออกว่ากลุ่มเป้าหมายให้คุณค่ากับอะไร
  • ต้องระลึกเสมอว่าเป้าหมายที่จะสื่อสารคืออะไร ใครคือลูกค้า ลูกค้าอยากฟังหรือไม่ ถ้าไม่รู้จักลูกค้าอย่างแท้จริง เนื้อหาที่สื่อสารก็จะไม่สื่อถึงแบรนด์ของเรา

 

โปรโมทสถานที่ที่ไม่มีใครรู้จักต้องทำอย่างไร

การสร้างเนื้อหาเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่คนไม่รู้จัก นอกจากจะต้องถ่ายภาพให้สวยงามดึงดูดใจ ยังต้องนำเสนอด้วยไอเดียแปลกใหม่ มีวิธีการอย่างไรเพื่อจูงใจให้คนไปเที่ยวตาม

  • ต้องตอบให้ได้ว่าสถานที่นั้นดีอย่างไร หาจุดเด่นให้เจอ ทำไมคนต้องไป
  • ต้องรู้ลึกรู้จริงเข้าใจพื้นที่นั้นมากกว่าคนทั่วไป
  • รูปแบบที่นำเสนอต้องโดนใจผู้บริโภค
  • สถานที่นั้นให้ประสบการณ์อะไรกับคนที่ไป
  • ลองขายสถานที่นั้นทางออฟไลน์ก่อน โดยหาลักษณะร่วมของลูกค้าเป้าหมายให้เจอ (Persona) และลองเสนอขาย ถ้าขายออฟไลน์ไม่ได้อย่าลงออนไลน์

 

เพิ่มยอดขายด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว

การสร้างเพจหรือเว็บไซต์โรงแรมนอกจากจะต้องมีข้อมูลพื้นฐานของโรงแรมแล้ว การสร้างเนื้อหาเกี่ยวสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบจะเป็นการช่วยเพิ่มยอดขายให้โรงแรมได้อีกทางหนึ่ง โดยทำดังนี้

  • หาเส้นทางการมาของลูกค้าว่ามาอย่างไร ตัดสินใจเลือกโรงแรมเพราะอะไร
  • มองหาว่าสถานที่ใกล้โรงแรมมีอะไรบ้าง ทั้งสถานที่ยอดนิยมหรือสถานที่ใหม่ ๆ
  • สร้างสรรค์เนื้อหามาเสริม เช่น จุดเด่นของโรงแรมที่คนมาพัก, สถานที่ท่องเที่ยวรอบโรงแรม เป็นต้น

 

เลือกเนื้อหาอย่างไรให้เข้ากับแพลตฟอร์ม

โซเซียลมีเดียมีหลากหลายแพลตฟอร์ม ควรเลือกสร้างเนื้อหาที่เหมาะสม โดยต้องเรียนรู้พฤติกรรมของคนในแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น ยูทูบ เน้นนำเสนอวิดีโอ, เฟซบุ๊ก เน้นให้ข้อมูลนำเสนอได้หลายทั้งแบบภาพ อัลบั้มภาพและวิดีโอ, อินสตาแกรม เน้นรูปสวยช่วยสร้างแรงบันดาลใจ

 

วางแผนการสร้างเนื้อหาต่าง ๆ อย่างไร?

เมื่อมีการสร้างเพจหรือเว็บไซต์ของโรงแรมแล้ว หากอยากให้มียอดผู้ติดตามและยอดการมีส่วนร่วม ควรวางแผนการสร้างเนื้อหา ดังนี้

  • วางแผนสร้างเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง อาจวางผังตลอดทั้งปีเพื่อให้เห็นภาพรวมว่ามีเนื้ออะไรได้บ้าง เพื่อให้เห็นโพสต์ในแต่ละวัน
  • วางแผนสร้างเนื้อหาในรูปแบบคอลัมน์ประจำซึ่งจะทำให้ง่ายขึ้น เพราะแต่ละคอลัมน์จะมีลักษณะเนื้อหาเฉพาะ คนเขียนจะได้ไม่หลงทาง
  • แทรกด้วยการสร้างเนื้อหาตามกระแส (Real-Time Content) แต่ต้องดูเสมอว่ากระแสนั้นสร้างมาเชื่อมโยงเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมได้มั้ย ไม่ใช่ทำทุกเรื่องต้องดูเสมอว่าตอบโจทย์หรือไม่

 

สุดท้ายต้องไม่ลืมเรื่องปิดการขาย เพราะถึงแม้จะสร้างเนื้อหาได้ดีเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่สามารถปิดการขายได้ก็เสียเงินเสียเวลาเปล่า รวมถึงต้องสื่อสารกับพนักงานฝั่งออฟไลน์ให้รู้เท่าออนไลน์ เพราะถ้าลูกค้าโทรศัพท์เข้ามาพนักงานไม่สามารถตอบคำถามได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์เช่นเดียวกัน



Published on 27 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ