เปิดไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่ ป้องกันร้านอาหารถูกเอาเปรียบ

หัวข้อ : เปิดหลักเกณฑ์ Food Delivery ปกป้องร้านอาหารถูกเอาเปรียบ
อ่านเพิ่มเติม :https://www.bangkokbanksme.com/en/food-delivery-guidelines-protect-restaurants

 

ในช่วงการล็อกดาวน์จะเห็นชัดว่า ผู้บริโภคใช้บริการสั่งอาหารและจัดส่งออนไลน์หรือ Food Delivery เพิ่มขึ้นมาก จึงเป็นโอกาสที่ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ตลอดจนร้านค้าปลีกต่าง ๆ ใช้โอกาสนี้ในการสร้างรายได้ 

แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ อาจช่วยสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้น แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่ทางร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ นั้นถูกเรียกว่า GP (Gross Profit) หรือค่าส่วนแบ่งยอดขาย ซึ่งแพลตฟอร์มจะเรียกเก็บที่ประมาณ 30 -35 % ต่อเมนู ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็คือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ของร้านอาหารที่เข้าแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ที่สำคัญในปัจจุบันยังไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนในการป้องกันแพลตฟอร์มออนไลน์เอาเปรียบร้านค้า

ล่าสุดก็มีข่าวดี เมื่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อยกร่าง “ไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่” เพื่อป้องกันแพลตฟอร์มส่งอาหารออนไลน์เอารัดเอาเปรียบร้านอาหาร เตรียมเปิดประชาพิจารณารับฟังความคิดเห็น ก่อนประกาศบังคับใช้ เปิดเงื่อนไขที่ห้ามกระทำในเบื้องต้น

 

ห้ามเรียกรับผลประโยชน์ไม่เป็นธรรม เช่น

  • การเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่สูงเกินสมควรหรือแตกต่างกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร
  • การเรียกเก็บอัตราค่าธรรมเนียมการโฆษณา ที่เป็นการเรียกเก็บโดยปราศจากความชัดเจนและไม่มีเหตุผลอันสมควร
  • การเรียกเก็บค่าส่งเสริมการขายในโอกาสพิเศษทางการตลาด โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
  • การเรียกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมอื่น ๆ 
  • กำหนดให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราหรือวิธีการเรียกรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจใด ๆ แพลตฟอร์มฟู้ด เดลิเวอรี่ จะต้องแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารทราบล่วงหน้าถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาที่เหมาะสม

 

ห้ามจำกัดหรือขัดขวางการทำธุรกิจกับรายอื่น เช่น การกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดยการห้ามจำหน่ายอาหารกับแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่รายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม และหากผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษด้วยวิธีทางการค้าต่าง ๆ เช่น 

  • การคิดอัตราค่าส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่สูงขึ้น 
  • การไม่ให้หรือระงับส่วนลดอัตราค่าส่วนแบ่งรายได้ 
  • การคิดอัตราผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในอัตราที่สูงเกินสมควร

 

ห้ามใช้อำนาจเหนือตลาดหรืออำนาจต่อรองที่มีอยู่ กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม เช่น 

  • การแทรกแซง หรือจำกัดอิสระในการกำหนดราคาของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างไม่เป็นธรรม
  • การกำหนดเงื่อนไขบังคับด้านราคาที่เท่ากันในทุกช่องทางการจำหน่าย โดยไม่มีทางเลือกด้านราคาอย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร
  • การประวิงเวลาจ่ายค่าสินค้าตามระยะเวลาที่กำหนดในระยะเวลาที่นานเกินสมควร
  • การปฏิเสธการทำการค้ากับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เนื่องจากกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารปฏิเสธเงื่อนไขข้อตกลงที่กำหนดหรือปฏิเสธที่จะทำการใด ๆ ที่ถูกร้องเรียนอย่างไม่เป็นธรรม
  • การถอดผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารหรือร้านค้าออกจากช่องทางการจำหน่ายออนไลน์อย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้า
  • การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขภายใต้สัญญาหรือระยะเวลาของสัญญา โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
  • การเปลี่ยนแปลงระยะเวลาของสัญญาโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน

 

เรื่องนี้ต้องตามกันต่อไปว่าคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะประกาศใช้ไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่ เมื่อไร เพราะนี่เป็นเรื่องที่ธุรกิจร้านอาหารต่างเฝ้ารอและอยากให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

 

 

Published on 10 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

7 กฎเหล็กทำธุรกิจที่ปรับใช้ได้ทุกยุคสมัย

หัวข้อ : 7 กฎเหล็กทำธุรกิจที่ปรับใช้ได้ทุกยุคสมัย
อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbanksme.com/en/business-rules-apply-everytime

 

การสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จไม่ได้มาจากโชคช่วย แต่มาด้วยการลงมือทำผ่านทักษะหลายด้านจึงจะสามารถสร้างธุรกิจให้ไปไกลได้ หากแต่หลายคนพังก่อนจะปังเพราะก้าวพลาดตั้งแต่เริ่มต้นจากความไม่รู้และขาดประสบการณ์ เพราะการเริ่มธุรกิจด้วยความสนใจหรือความรักเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่พอที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ซึ่งการจะไปถึง ณ จุดนั้น ได้จะต้องผ่านกฎเหล็กเหล่านี้

 

1. หาจุดที่ก่อให้เกิดปัญหาในตลาดและกลุ่มเป้าหมายให้ได้ก่อนจะหาสินค้าหรือบริการ 

ถ้าเราไม่รู้ความต้องการของผู้บริโภค เราก็มีโอกาสที่จะเริ่มต้นพลาด จะไม่รู้เลยว่าขณะนี้ตลาดเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรให้สินค้ามีความแตกต่าง และไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ เพราะถ้าพลาดในข้อนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะตกม้าตายตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นได้เลย และการหาจุดที่ก่อให้เกิดปัญหา (pain point) ที่ซ่อนตัวอยู่ในตลาดเจอนั่นคือจุดเริ่มต้นของชัยชนะ

 

2. ทำความเข้าใจสินค้าและบริการของตัวเองอย่างถี่ถ้วน 

  • จะได้รู้ว่าจุดอ่อน จุดแข็งอยู่ตรงไหน 
  • ตัวตนของสินค้าคืออะไร มีสไตล์แบบไหน
  • สินค้าตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใด 

ถ้าเจ้าของเข้าถึงสินค้าของตัวเองได้ทุกแง่มุม จะง่ายต่อการดำเนินการในขั้นตอนต่อ ๆ ไปได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำตลาด

 

3. การตั้งราคาต้องเหมาะสม 

การกำหนดราคาของหนึ่งสิ่งควรมีการคำนวณอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้คุ้มค่าใช้จ่ายทางตรงและค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เกิดขึ้นรอบด้าน

  • ไม่ควรเริ่มจากราคาที่ต่ำสุดจนเสี่ยงต่อการขาดทุนหรือสูงสุดจนขายไม่ได้
  • หากเป็นสินค้าตามกระแสนิยม (Seasonal Peak) มักมีการบวกเปอร์เซ็นต์กำไรไว้สูงในช่วงแรก เพื่อชดเชยในช่วงที่สินค้าล้าสมัย
  • ถ้าเป็นสินค้าที่ต้องใช้เป็นประจำหรือซื้อบ่อย (Convenience Goods) หาได้ง่ายและมีการแข่งขันกันมาก อาจบวกเปอร์เซ็นกำไรให้ต่ำลง 
  • สินค้าที่ขายไม่ได้บ่อยนักหรือใช้พื้นที่วางสินค้ามาก จำต้องบวกเปอร์เซ็นต์กำไรไว้สูง
  • ถ้าเป็นสินค้าที่จับกลุ่มผู้ซื้อที่มีฐานะดี ก็จะบวกเปอร์เซ็นต์กำไว้สูงเกินกว่าสินค้าที่ผู้ซื้อมีฐานะยากจน

 

4. การทำงานเป็นทีมคือสิ่งสำคัญ

ในการสร้างธุรกิจจำเป็นต้องใช้ทักษะความรู้ความชำนาญจากคนหลายกลุ่มความรู้ การทำอะไรตัวคนเดียวไปทุกอย่าง นอกจากจะไม่สามารถทำออกมาให้ดีที่สุดแล้ว ยังจะทำให้พลาดโอกาสในการใช้เวลาที่มีไปคิดต่อยอดบริหารกิจการ วางแผนกลยุทธ์ในด้านอื่น ดังนั้นทีมทำงานที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นธุรกิจ

 

5. คิดถึงประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับมากกว่าเงินที่จะได้จากลูกค้า 

การยึดสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับจากสินค้าเป็นที่ตั้งมากกว่าการคาดหวังเรื่องเงินหรือผลกำไรที่จะได้ อาจนำมาซึ่งฐานลูกค้าอันเหนียวแน่น และทำให้ลูกค้าเดินเข้าหาแทนการที่เราต้องวิ่งไล่ตามลูกค้า เพราะลูกค้าจะสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับนั้นดีหรือไม่

 

6. ตุนเงินสำรองในการทำธุรกิจอย่างน้อย 6 เดือนแต่จะให้ดีควรมีสัก 1 ปี

การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ อาจไม่ได้นำมาซึ่งผลกำไรหรือยอดขายตามที่หวัง เนื่องจากยังใหม่ต่อตลาด กว่าลูกค้าจะรู้จัก วางใจ ให้การยอมรับ อาจต้องใช้เวลาและการยืนหยัดที่ยาวนานจนลูกค้าเกิดความคุ้นชิน และเห็นว่าธุรกิจมีความมั่นคงน่าเชื่อถือ จนเกิดความเชื่อมั่นในธุรกิจและนำมาสู่การเข้าหาสินค้าอย่างวางใจ

 

7. แผนสำรองต้องมี เพราะทุกการลงทุนคือความเสี่ยง 

ควรมีแผน 2-3-4 สำรองไว้เสมอ ก่อนจะเริ่มต้นลงทุนทำธุรกิจอะไรต้องทำความเข้าใจให้ได้ด้วยว่า ได้ก้าวขาเข้ามายืนอยู่บนความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่จุดที่แย่ที่สุด (The worst point) ด้วย เพื่อเตรียมแผนการรับมือ อย่าคิดแต่ในทางที่จะได้เพียงอย่างเดียว มิเช่นนั้นจะสะดุดล้มแล้วหายไปแทนที่จะลุกขึ้นได้ใหม่ ในแนวทางที่ดีกว่าเดิม

 

 

Published on 10 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย



บทความแนะนำ

ลดต้นทุนธุรกิจโรงแรมเพียงแค่ ปรับ เปลี่ยน เลิก

หัวข้อ : ลดต้นทุนธุรกิจโรงแรมเพียงแค่ ปรับ เปลี่ยน เลิก
อ่านเพิ่มเติม : https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/hotel-cost

 

ธุรกิจโรงแรม ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีการใช้พลังงานที่สูงอีกหนึ่งธุรกิจ เมื่อมีการใช้พลังงานเยอะย่อมทำให้โรงแรมมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามไปด้วย จึงทำให้เกิดสภาวะที่อาจทำให้ธุรกิจปิดตัวลงได้ ดังนั้น การที่จะให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดไปได้ ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความใส่ใจในเรื่องดังกล่าวให้มาก การลดต้นทุนการดำเนินงานลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จะช่วยลดต้นทุนของโรงแรมได้ แต่ต้องไม่ให้คุณภาพลดลง นี่คือแนวทางในการลดต้นทุนที่คุณสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้

 

การปรับเปลี่ยนติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ เพื่อใช้ในการตรวจจับความเคลื่อนไหวภายในห้องพัก เมื่อไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ลยสักพักหนึ่ง ระบบไฟฟ้า จะหยุดทำงาน หรือลดระดับเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน ซึ่งช่วยลดความสิ้นเปลืองไฟฟ้าไปได้มาก 

 

การใช้แผงโซลาเซลล์สร้างพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะถ้าโรงแรมสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองได้ ย่อมช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก แต่ถ้าวันไหนมีแสงแดดน้อยก็สามารถปรับเปลี่ยนกลับมาใช้ไฟฟ้าตามปกติได้ หากโรงแรมของคุณมีขนาดใหญ่สามารถผลิตพลังงานได้มากจนเหลือใช้ สามารถขายพลังงานให้แก่พื้นที่ใกล้เคียง เพิ่มรายได้ให้โรงแรมได้อีกทางหนึ่ง

 

เปลี่ยนมาใช้ทีวีจอแบนและใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์แทนหลอดไส้ เพราะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า อีกทั้งแม้หลอดไส้มีราคาถูกกว่า แต่ระยะเวลาการใช้งานก็น้อยกว่า หลอดฟลูออเรสเซนต์สามารถใช้ได้นานถึง 6 ปี 

 

คอยล์ร้อนและคอยล์เย็น ไม่ควรปล่อยให้สกปรกมากเกินไป เพราะ คอมเพรสเซอร์จะต้องทำงานหนักขึ้น การทำความสะอาดคอยล์ร้อนและคอยล์เย็นสม่ำเสมอจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยืดอายุการใช้งาน และประหยัดพลังงานได้อย่างแน่นอน

 

การออกแบบโรงแรมควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อม คือ สามารถเปิดรับลมโล่งในเวลากลางวัน หากพื้นที่โรงแรมมีวิวทิวทัศน์ของธรรมชาติที่สวยงาม เช่น ริมเขา ริมเขื่อน ริมแม่น้ำ ริมคลอง หรือแม้กระทั่งริมทะเล สามารถช่วยประหยัดพลังงานการใช้ไฟฟ้าเพื่อการปรับอากาศ อีกทั้งยังสามารถออกแบบให้เกิดมุมมอง ที่น่าประทับใจของแขกผู้มาพักได้

 

การดำเนินธุรกิจโรงแรมนั้น การให้บริการลูกค้าและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ในบางครั้งการบริการที่ประทับใจก็อาจมีส่วนที่เป็นการสิ้นเปลืองพลังงานได้เช่นกัน การลดต้นทุนด้านพลังงานจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำ เพราะนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับกิจการของคุณแล้ว ยังเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

 

Published on 10 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

SMEONE |รีวิวศูนย์บริการ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

SMEONE | สัมภาษณ์ผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


 

Published on 10 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ