ออกแบบหน้าร้านออนไลน์อย่างไร ให้ลูกค้ารีบซื้อ

หัวข้อ : ออกแบบหน้าร้านออนไลน์บน Shopee และ Lazada ให้ลูกค้ารีบซื้อ
อ่านเพิ่มเติม :https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/sme-design-online-shop.html

 

 

การทำธุรกิจในยุคนี้การมีหน้าร้านเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอกับในสภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงอีกต่อไป แต่ควรมีร้านค้าออนไลน์ควบคู่กันไปด้วย เพื่อสร้างบริการที่ทั่วถึงให้กับผู้บริโภคในยุคสมัยใหม่ เรามี 5 เทคนิคการออกแบบหน้าร้านบนช้อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) อย่างไรให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดลูกค้ามาแนะนำ

 

1. ตั้งชื่อร้านให้รู้ว่าเป็นแบรนด์ของคุณ

ชื่อร้าน หากเปรียบให้เห็นภาพก็เปรียบเหมือนกับชื่อที่เราใช้เรียกคนที่รู้จัก

  • ตั้งชื่อร้านน่าฟัง คุ้นหู ช่วยสร้างการจดจำให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และเป็นแบรนด์แรกที่จะนึกถึงเวลาจะซื้อสินค้า
  • ชื่อร้านต้องเป็นคำสั้น ๆ ประมาณ 2-5 พยางค์ ให้จดจำง่าย
  • อาจจะใส่ไอเดียสร้างคำที่สื่อถึงสินค้าที่ขาย เช่น หากขายเสื้อผ้าอาจจะตั้งชื่อร้านว่า SHIRTORIA ที่แสดงให้เห็นถึงชื่อแบรนด์ และสินค้าที่ขายว่าคืออะไร
  • อาจจะใช้ชื่อภาษาไทยเพื่อสื่อความหมายโดยตรง อย่างเช่น หากขายเสื้อเชิ๊ต ตั้งชื่อร้านว่า เชิ๊ตชาย ก็ได้

 

2. ตกแต่งหน้าร้านให้น่าดึงดูด

การตกแต่งหน้าร้านก็เปรียบกับหน้าต่างบานแรกที่ลูกค้าจะเปิดเข้ามา หากผู้ประกอบการตกแต่งหน้าร้านที่สื่อถึงแบรนด์สินค้ามากเท่าไหร่ ผู้ซื้อก็จะเข้าใจความแตกต่างในร้านของคุณมากเท่านั้น อาจจะกล่าวได้ว่าร้านค้าที่ดึงดูดความสนใจย่อมมียอดคลิก และอัตราการซื้อมากกว่าร้านค้าทั่ว ๆ ไปที่ไม่มีการตกแต่งอะไรเลย การขายสินค้าผ่านหน้าแพลตฟอร์มช้อปปี้และลาซาด้า มีข้อดีอยู่ตรงที่สามารถออกแบบหน้าร้านได้ตามไอเดียของตัวเอง 

  • ควรดีไซน์ให้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาด้วยการทำแบนเนอร์ โดยเป็นรูปแบบหนึ่งของการโฆษณาด้วยวิธีนำรูปภาพ หรือวิดีโอมาโปรโมทโปรโมชั่น/แคมเปญ บนหน้าร้านค้า
  • ลองใช้เทคนิคการไดคัทเป็นการตกแต่งรูปด้วยการตัดขอบตามรูปทรง ที่จะทำให้สินค้ามีความโดดเด่น สร้างความสวยงามให้กับผู้พบเห็น ซึ่งปัจจุบันมีโปรแกรมแต่งรูปมากมายให้ผู้ประกอบการได้เลือกใช้ 
  • ดีไซน์หน้าร้านควรคุมโทนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความดึงดูดให้กับลูกค้าเวลาเข้ามาเลือกซื้อสินค้า
  • ในส่วนของการจัดวางสินค้าบนหน้าร้าน แนะนำว่าควรจัดสินค้า แยกให้เป็นหมวดหมู่ เช่น หากขายสินค้าแฟชั่น ก็แยกสินค้าออกเป็น เสื้อผ้า กางเกง กระโปรง เครื่องประดับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า

 

3. บอกรายละเอียดสินค้าให้ชัดเจน

เรื่องที่ควรตระหนักเป็นอย่างมากคือ การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ลูกค้าจะไม่สามารถเห็นสินค้าจริง ดังนั้นผู้ประกอบการควรระบุข้อมูลรายละเอียดของสินค้าชิ้นนั้นให้ครบถ้วน 

  • หากขายเสื้อผ้าควรบอก ขนาดไซส์ รอบอก ความกว้าง ความยาว 
  • หากขายสินค้าบริโภค ควรบอกสรรพคุณ ข้อควรระวัง รวมถึงวัน-เวลาหมดอายุให้ชัดเจน
  • การรีวิวจากลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าไปแล้วเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้รู้ว่าสินค้าได้รับความชื่นชอบมากแค่ไหน หากได้รับคำชมย่อมเป็นเรื่องที่ดีกับผู้พบเห็น และชั่งใจว่าจะเลือกซื้อสินค้านี้ดีหรือไม่

 

4. ไม่พลาดที่จะจัดโปรโมชั่น

การจัดโปรโมชั่นให้กับสินค้าก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้สำหรับการกระตุ้นยอดขายให้กับร้านเป็นอย่างดี 

  • อาจจะใช้การแจกคูปองส่วนลดมอบให้กับลูกค้า
  • อาจเข้าร่วมแคมเปญกับแพลตฟอร์มที่ปัจจุบันเห็นกันอย่างแพร่หลาย อย่างเทศกาลลดราคาสินค้า ที่กำหนดเวลาเป็นวันใดวันหนึ่งของเดือนนั้น เช่น เทศกาลลดราคาสินค้า 9 เดือน 9 เป็นต้น

 

5. แอคทีฟตลอดเวลา

ถึงจะเป็นร้านค้าออนไลน์แต่ก็ต้องคอยมอนิเตอร์ร้านค้าอยู่เสมอ ลูกค้าถามปุ๊บตอบปั๊บ เพราะการขายสินค้าออนไลน์บนช้อปปี้และลาซาด้ามีคู่แข่งจำนวนมาก จึงควรแอคทีฟกับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา 

  • เมื่อมีลูกค้าเข้ามาสอบถาม หรือสั่งซื้อสินค้า ควรจะตอบกลับในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับลูกค้าที่ว่าตนเองเป็นฝ่ายมาซื้อสินค้า แต่ทำไมต้องปล่อยให้รอนาน 
  • การตอบกลับอย่างรวดเร็วจะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถปิดดีลได้เร็วขึ้น ซึ่งเทคนิคที่สำคัญ คือ ผู้ประกอบการต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้า และสามารถตอบคำถามได้อย่างกระจ่างตรงกับความคาดหวังของผู้ซื้อ
  • ข้อดีของการแอคทีฟตลอดเวลา จะแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจที่มีต่อลูกค้า และสร้างความมั่นใจว่าแม้จะอยู่ในโลกออนไลน์ก็มีตัวตนอยู่จริง ๆ

 

 

Published on 15 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

มาตรฐานใหม่ CODEX ที่ธุรกิจอาหารควรรู้

หัวข้อ : มาตรฐานใหม่ CODEX จัดการสารก่อภูมิแพ้ ตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร
อ่านเพิ่มเติม :https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Codex-FB-130820.aspx

จากการประชุมโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex Alimentarius Commission) ล่าสุดครั้งที่ 43 มีประเด็นเกี่ยวกับการยกระดับการจัดการความปลอดภัยด้านอาหารที่ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร ได้แก่ ผู้ผลิตขั้นต้น โรงงานแปรรูป ร้านค้าปลีกและร้านอาหาร จะต้องเตรียมพร้อมรับมือ นั่นคือ 

  • CODEX เตรียมประกาศมาตรฐานใหม่ เรื่อง "หลักปฏิบัติสำหรับการจัดการสารก่อภูมิแพ้สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร" เบื้องต้นอาจเริ่มประกาศใช้ประมาณปลายปี 2563 โดยสารก่อภูมิแพ้ที่ CODEX ระบุไว้มี 8 กลุ่ม ได้แก่ 
    • ธัญพืชที่มีกลูเตน 
    • นมและผลิตภัณฑ์นม 
    • ไข่ 
    • เมล็ดถั่ว (Tree Nuts) 
    • ถั่วลิสง 
    • ถั่วเหลือง 
    • ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีเปลือกแข็ง (เช่น กุ้ง ปู)
    • ซัลเฟอร์ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 10 มก./กก.
  • จากเดิมอันตรายที่กำหนดไว้จะได้แก่ อันตรายทางกายภาพ เคมีและจุลินทรีย์ แต่มาตรฐานใหม่จะเพิ่มสารก่อภูมิแพ้และกำหนดวิธีการควบคุมสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งจะทำให้การจัดการสารก่อภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นจากการผลิตอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้นและครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตอาหาร เช่น
    • การพิจารณาสารก่อภูมิแพ้ในทุกกิจกรรม 
    • การกำหนดวิธีการทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องจักร 
    • การอบรมพนักงาน 
    • การพิจารณากฎหมายของแต่ละประเทศและกลุ่มประชากรที่แพ้สารก่อภูมิแพ้

ความปลอดภัยด้านอาหารเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

  • ประชากรที่เป็นโรคภูมิแพ้อาหารที่ประเมินโดยองค์กรโรคภูมิแพ้โลก พบว่าน่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 240 ล้านคน 
  • การปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร เป็นหนึ่งในปัญหาการถูกเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Recall) มากที่สุด
  • จากสถิติการเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศต่าง ๆ คือ อันตรายจากฉลากไม่ถูกต้อง (คิดเป็นสัดส่วนราว 49% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด) ส่วนใหญ่มาจากการไม่แสดงสารก่อภูมิแพ้บนฉลาก
  • สินค้าที่พบอันตรายจากฉลากไม่ถูกต้องมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ อาหารพร้อมทาน อาหารแช่แข็ง และกลุ่มนมและผลิตภัณฑ์นม
  • ไทยมีการถูกเรียกคืนสินค้า 6 รายการ 1 ในนั้นคือการพบสารก่อภูมิแพ้ในผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป 
  • ผลกระทบทางธุรกิจของไทยจากการถูกเรียกคืนสินค้าที่จะเกิดตามมาคือ อาจทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นถูกดำเนินการจากกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศผู้นำเข้า เช่น นำสินค้าออกจากตลาด ทำลายหรือส่งกลับประเทศต้นทาง ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจได้

ผู้ประกอบการส่งออกอาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูปและอาหารพร้อมทาน จึงเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่จะต้องเตรียมรับมือจากประเด็นนี้ เนื่องจากตลาดส่งออกของไทยคงจะมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นต่อการจัดการด้านการปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป รวมถึงจีนที่แม้ปัจจุบันยังไม่ค่อยเข้มงวดเท่าไรนัก ก็มีแนวโน้มจะเข้มงวดมากขึ้น 

ผลกระทบของมาตรฐานใหม่ CODEX ต่อผู้ประกอบการไทย

ผู้ประกอบการอาหารส่งออกของไทยมีการปฏิบัติตามเกณฑ์ GMP และ HACCP อยู่แล้ว ในเบื้องต้นอาจกระทบในเรื่องต่อไปนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้ตลอดห่วงโซ่การผลิต

  • อาจทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการด้านการผลิตอาหารที่เพิ่มขึ้น
  • อาจกระทบต่อส่วนแบ่งกำไรสุทธิหรือมาร์จิ้นของธุรกิจบ้างในระยะสั้น จากการปรับเปลี่ยนส่วนต่าง ๆ 
  • อาจจำเป็นต้องมีการแยกสายพานการผลิต 
  • อาจต้องออกแบบหรือจัดขั้นตอนการผลิตใหม่ 
  • อาจต้องมีการอบรมพนักงาน การดูแลเครื่องมือเครื่องจักร 
  • อาจจะต้องปรับในส่วนของบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง

สำหรับผู้บริโภคในประเทศนั้น ก็จะได้รับการดูแลเช่นกัน สะท้อนจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารมาจำหน่ายในประเทศ ที่จะต้องปฎิบัติตามมาตรฐานใหม่นี้ เพราะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่จะทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากล อาทิ GMP HACCP รวมถึงมาตรฐาน CODEX

Published on 15 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

เทรนด์ "วีแกน" ทางเลือกผู้ผลิตอาหารไทย

หัวข้อ : ‘วีแกน’ เจาะตลาด Niche Market ทางเลือกผู้ผลิตอาหารไทย
อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbanksme.com/en/vegan-niche-market-thai-food-producer

 

 

‘มังสวิรัติ’ หรือ ‘วีแกน’ คือผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด ถือเป็นกระแสการบริโภคที่กำลังมาแรงในสังคมยุคปัจจุบันที่ผู้คนหันมาสนใจรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระแสนี้ไม่เพียงจะส่งผลให้สุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น แต่ยังทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาและเติบโตมากขึ้น จนทำให้ผู้ประกอบการไม่อาจมองข้ามถึงโอกาสในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกระแสนี้ได้

 

สำหรับวีแกนในปัจจุบันสามารถแบ่งตามความเคร่งครัดในการปฏิบัติได้อย่างน้อย 3 ประเภท คือ

  1. วีแกน (Vegan) หรือผู้บริโภคที่ไม่บริโภคทุกอย่างที่เกี่ยวข้องเนื้อสัตว์ หรือชิ้นส่วนใด ๆ ที่ได้จากสัตว์อย่างเคร่งครัด กลุ่มนี้จะบริโภคเฉพาะอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากผัก ผลไม้ ธัญพืชแบบ 100%
  2. ผู้บริโภคที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ (Vegetarian) แต่ยังสามารถบริโภคน้ำผึ้ง ไข่ นม และเนยได้
  3. ผู้บริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) สามารถทานเนื้อสัตว์ได้เป็นครั้งคราว

 

แนวโน้มความนิยมการเป็นวีแกนจากทั่วโลกเพิ่มสูงมากถึง 987% จากปี 2560 โดยในปี 2561 ยอดขายของอาหารวีแกนเติบโตสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้บริษัทวิจัยตลาดได้คาดการณ์อีกว่า ตลาดวีแกนจะเติบโตขึ้นสูงถึง 200,000 ล้านบาทภายในปี 2566

  • ปัจจุบันพบว่า แนวโน้มการบริโภคอาหารมังสวิรัติในสหราชอาณาจักรมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 350%
  • ตลาดในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่มีประชากรวีแกนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี สินค้าอาหารสำเร็จรูปแบบวีแกนกำลังเติบโตขยายตัวอย่างมาก
  • เทรนด์วีแกนประเทศในทวีปเอเชียเองก็เติบโตรวดเร็วไม่แพ้ตะวันตก โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่เป็นประเทศเกษตรกรรม มีทั้งพืชเศรษฐกิจและวัตถุดิบสำคัญสำหรับการทำอาหารมังสวิรัติ
  • ประชาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีชาววีแกนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นถึง 440% ในช่วงระยะเวลาเพียง 4 ปี ตั้งแต่ 2555 – 2559
  • ประเทศไทยก็มีอัตราการเติบโตของการบริโภคอาหารมังสวิรัติอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ประเทศไทยมีประชากรวีแกนสูงถึง 2.3 ล้านคน

 

โอกาสของผู้ประกอบการกับตลาดวีแกน

  • ความแรงของกระแสวีแกนที่นับวันจะขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ที่สำคัญมีความพร้อมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าโดยที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านรายได้
  • ตลาดเนื้อมังสวิรัติหรือเนื้อวีแกนซึ่งไม่เพียงแต่จะดึงดูดผู้บริโภคที่เป็นมังสวิรัติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้บริโภคอื่น ๆ ที่ใส่ใจต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมด้วย 
  • กลุ่มวีแกนจึงเป็นผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ ที่ต้องการขยายตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาดสินค้าทั่วไป (Mass Market) ที่สูงขึ้นทุกวัน
  • ผู้ผลิตอาหารไทยมีข้อได้เปรียบตรงที่มีประสบการณ์ ในการผลิตอาหารมังสวิรัติหรืออาหารเจมาไม่น้อย
  • ผู้ผลิตอาหารไทยสามารถนำประสบการณ์มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ รูปแบบ และกลยุทธ์การขายให้เหมาะสม เพื่อขยายตลาดสินค้าสำหรับผู้บริโภคในกลุ่มนี้เพิ่มเติมได้ไม่ยากจนเกินไปนัก

 

 

Published on 15 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

เทคนิคบริหารเงินสด ให้ธุรกิจไม่มีวันล้ม

หัวข้อ : วารสาร K Sme Inspried อวสานธุรกิจลุยเดี่ยว เกมรบยุคใหม่แบบร่วมด้วยช่วยกันโต
อ่านเพิ่มเติม : https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Feb-2019.aspx

 

หากเปรียบธุรกิจเป็นร่างกายคนแล้ว “เงินสด” ก็เป็นเหมือนกับกระแสเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจอยู่รอดหรือต้องหยุดชะงัก บางครั้งกำไรเยอะก็เจ๊งได้ถ้าไม่รู้จักวิธีบริหารกระแสเงินสดให้ดีและมีประสิทธิภาพ

 

6 หลักบริหารกระแสเงินสดให้คล่อง

การมีกำไรมากมายจากการกทำธุรกิจอาจไม่ได้แปลว่าสภาพคล่องของกระแสเงินสดจะดีไปด้วย หากยอดขายส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของลูกหนี้การค้า จึงเป็นที่มาของคำว่า กำไรเยอะก็เจ๊งได้ นี่คือหลักการบริหารกระแสเงินสดให้ประสบความสำเร็จ

  1. แยกส่วนด้านการเงินของการดำเนินธุรกิจ และด้านการเงินส่วนบุคคลออกจากกัน

จะทำให้คุณสามารถตรวจสอบทางการเงินได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

  1. เก็บรักษาข้อมูลและบันทึกลงบัญชี 

วางแผนทางการเงินอย่างเป็นระบบและขั้นตอน เพื่อให้ง่ายที่จะติดตามและสามารถตรวจสอบความเป็นไปในทางการเงินทั้งหมด รวมทั้งด้านผลกำไร และด้านค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป เพื่อให้สามารถหาวิธีการในการปรับปรุงด้านธุรกิจได้อย่างเหมาะสม

  1. จัดระเบียบและการเก็บใบแจ้งหนี้

กลยุทธ์ที่ดีที่สุด คือ การส่งข้อความเตือนความจำให้กับลูกค้าที่ยังไม่ได้ชำระเงิน หรือบางธุรกิจยังใช้วิธีด้วยการดำเนินการตรวจสอบเครดิตลูกค้าใหม่ หรือ ใช้วิธีปฏิเสธเครดิตกับลูกค้าที่มีประวัติการชำระเงินที่ไม่ดีอีกด้วย

  1. ชำระหนี้ตรงเวลาที่กำหนด

หากคุณจ่ายหนี้ตรงเวลาสม่ำเสมอ เครดิตการค้าของคุณก็ดีในสายตาเจ้าหนี้ เขาอาจขยายระยะเวลาเรียกเก็บหนี้ให้คุณก็ได้ นอกจากนี้ เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินก็มักนำเสนอส่วนลดสำหรับธุรกิจเพื่อผลักดันให้ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนด หากธุรกิจทำได้ก็สามารถช่วยประหยัดเงินได้ส่วนหนึ่ง

  1. ขึ้นราคาและการตัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นออก

บางครั้งต้องเลือกที่จะสูญเสียบางอย่าง แต่ทางที่เลือกต้องสามารถสร้างเงินมากกว่าการสูญเสียเงิน นี่เป็นหัวใจสำคัญที่สุด

  1. พิจารณาการจัดหาเงินทุนภายนอก

ธุรกิจอาจเจอปัญหาทางการเงินที่ชะลอตัวเป็นการชั่วคราว ซึ่งอาจเลือกวิธีการจัดหาเงินทุนภายนอกจากสินเชื่อเงินหมุนเวียน เพื่อมาแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในขณะนั้น

 

ข้อควรรู้ของการบริหารจัดการกระแสเงินสด

  • การถือเงินสดต้องให้เหมาะสมต่อการหมุนเวียนในวงจรปกติของธุรกิจ ไม่น้อยจนติดขัดขาดสภาพคล่อง และไม่มากจนเสียโอกาสในการเอาไปลงทุนให้งอกเงย 
  • กรณีที่กระแสเงินสดไม่เพียงพอหมุนเวียนในธุรกิจ อาจทำได้โดยเจรจาขอยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้กับซัปพลายเออร์
  • อีกวิธีการหาเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจ อาจจำเป็นต้องหาเงินทุนด้วยการเพิ่มทุนจากหุ้นส่วน หรือการกู้ยืมเงินจากแหล่งต่าง ๆ
  • การทำพยากรณ์ วางแผน และประเมินความเสี่ยงของกระแสเงินสดทั้งรายรับ และรายจ่ายในระยะสั้นและระยะยาวจะช่วยทำให้บริหารวงจรเงินสดของธุรกิจได้มีประสิทธิภาพ
  • หมั่นปรับปรุงกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อการแข่งขันหรือลดความเสี่ยงได้ทัน
  • ต้องไม่ลืมสำรองเงินไว้เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำเป็นต้องมีเงินสดหรือทรัพย์สินที่ซื้อง่ายขายคล่องสำรองเตรียมพร้อมไว้เสมอ

 

 

Published on 15 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

5 เทคนิคโพสต์เฟซบุ๊กให้ขายดี

หัวข้อ : วารสาร K Sme Inspried ต่าง Gen แต่เป้าหมายไม่แตกต่าง
อ่านเพิ่มเติม :www.kasikornbank.com/th/business/sme/Inspired-Jan-2019.aspx

 

ข้อความที่สื่อผ่านเฟซบุ๊กนับเป็นปราการด่านแรกทำให้ผู้พบเห็นอ่านแล้วเกิดความสนใจ บทความหรือคำโฆษณาจะต้องมีพลังโน้มน้าวให้ลูกค้าตัดสินใจได้ในทันที แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายนักแต่ก็พอจะมีสูตรเด็ดเคล็ดไม่ลับที่ใช้กัน และมักได้ผลเสมอ

การเขียนคำโฆษณา หมายถึง ข้อความที่ทำให้ผู้บริโภคเล็งเห็นถึงคุณค่าที่เป็นเหตุผลสำคัญของการตัดสินใจซื้อสินค้ามากกว่า “ราคา” กูรูทางด้านการเขียนข้อความโฆษณากล่าวไว้อีกด้วยว่า นักเขียนคำโฆษณาคือ “พนักงานขายที่อยู่หลังแป้นพิมพ์” เพราะข้อความที่เขียนต้องทำให้เกิดการขาย คำโฆษณาที่ดี “ต้องยาวพอที่จะปกปิด (ครอบคลุม) ส่วนสำคัญ และสั้นพอที่จะเร้าใจ” สรุปเป็นเทคนิคสั้น ๆ ได้ว่า “สั้นกระชับ ครอบคลุม กระตุ้นต่อมอยาก”

การเขียนข้อความบนโฆษณาเฟซบุ๊กให้ขายดี อาจจะไม่ถึงกับต้องเขียนได้ระดับเดียวกับครีเอทีฟ แต่เป้าหมายคือ 

  • ต้องทำให้ผู้พบเห็นเกิดความสนใจ อยากอ่านต่อ
  • เกิดอารมณ์ หรือความต้องการ อยากได้ใคร่มี 
  • ต้องโน้มน้าว (สร้างความชอบ และเชื่อ) เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจ

 

เคล็ดการเขียนคำโฆษณาที่ใช้ได้ผลเสมอ

1. ตั้งคำถาม เรียกร้องให้สนใจ

กระตุ้นความสนใจ ด้วยคำถามให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึง เช่น คิดจะย้ายบ้าน? หรือ อยากแต่งสวน? 

  • การเริ่มต้นด้วยคำถามจะทำให้กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้คิด หรือกำลังคิด เกิดความสนใจ และอยากรู้คำตอบ เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเขาโดยตรง
  • เป้าหมายของการทำโฆษณาก็คือ ต้องการให้ผู้เห็นโฆษณาตอบ “ใช่” หรือ “เห็นด้วย” 
  • การเรียกร้องให้สนใจด้วยคำถามที่เป็นปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่เป็นเทคนิคที่ใช้ได้เสมอ

ข้อควรระวัง : เทคนิคนี้ใช้ได้เฉพาะโพสต์ที่คุณไม่ได้ตั้งใจจะจ่ายเงินซื้อโฆษณากับเฟซบุ๊กเท่านั้น เนื่องจากการเลือกใช้ประโยคคำถามในข้อความ อาจจะทำให้ซื้อโฆษณาไม่ผ่านได้

 

2. อย่าใช้คำที่เป็นทางการเกินไป

เพราะเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มที่มีบุคลิกของความเป็นเพื่อน ดังนั้น ภาษาที่เป็นทางการมากเกินไปจะทำให้ไม่น่าสนใจ และเลี่ยงการภาษาที่สูงส่งเกินเข้าใจ

  • ผู้บริโภคมีเวลาไม่กี่วินาทีในการตัดสินใจว่า จะอ่านโพสต์นั้นๆ หรือไม่ 
  • การเลือกใช้คำในเฟซบุ๊กยังส่งผลต่อคะแนนความตรงเป้าหมาย (Relevance Score) อย่างมีนัยอีกด้วย
  • พยายามใช้ข้อความที่เหมือนการพูดคุย สนุกสนาน บันเทิง
  • เวลาเขียนให้นึกถึงว่า ถ้าเรากำลังจะเล่าให้เพื่อนฟังเกี่ยวกับสินค้า หรือบริการใหม่ที่น่าสนใจ 
  • เทคนิคเพิ่มเติมก็คือ ใส่อีโมจิ ที่ช่วยเพิ่มอารมณ์ และความน่าสนใจ อีกทั้งยังช่วยให้โทนของข้อความไม่ดูทางการ เกินไปได้ทันที :D

 

3. หากซื้อโฆษณา อย่าแก้ไขโฆษณาเร็วเกินไป

เทคนิคนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเขียนโดยตรง แต่ควรรู้ไว้ว่า

  • หลังจากที่เราสั่งรันแคมเปญ ระบบเฟซบุ๊กจะเริ่มนำส่งโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เราเลือก ไปพร้อม ๆ กับเรียนรู้ฟีดแบ็กที่ได้จากโฆษณานั้น ๆ
  • ในระหว่างที่ระบบโฆษณากำลังเรียนรู้ เพื่อจัดเตรียมกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสสูงสุด (นี่คือ เหตุผลที่ทำให้เราสังเกตเห็นว่า ผลลัพธ์ที่ได้ในช่วงแรกจะยังไม่โอเคนัก จนกว่าระบบเฟซบุ๊กจะเจอรูปแบบของกลุ่มที่ใช่) 
  • ไม่ควรเปลี่ยนข้อความโฆษณาช่วงนี้ เพราะจะทำให้การเรียนรู้ของระบบผิดพลาด หากจำเป็นต้องแก้ไขจริง ๆ ให้ทำหลังจากระบบแจ้งว่า initial learning complete แล้ว

 

4. อ่านจบได้ไม่ต้องคลิก “ดูเพิ่มเติม”

เทคนิคนี้อาจต้องมีการทดสอบข้อความโฆษณา โดยเฉพาะการเลือกใช้ข้อความโฆษณาแบบยาวกับแบบสั้น เพราะกูรูโฆษณาส่วนใหญ่ให้ความเห็นตรงกันว่า 

  • การโพสต์ด้วยข้อความสั้น โดยไม่มีลิงก์คลิก ดูเพิ่มเติม...หรือ see more... แต่สามารถเห็นลิงก์ไปยังหน้าเว็บเป้าหมาย หรือแอ็กชันด้วยการคลิกปุ่มได้ทันที จะให้ผลลัพธ์ดีกว่ามาก 
  • การให้กลุ่มเป้าหมายต้องคลิก ดูเพิ่มเติม เพื่ออ่านต่ออีก ผลลัพธ์จะลดลงได้ (หากอ่านแล้ว ไม่ได้ทำให้อยากซื้อเพิ่มขึ้น) 

เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่จะไม่อ่านโฆษณาทั้งชิ้น แต่จะใช้การลากนิ้วผ่านไปอย่างรวดเร็ว ถ้าเห็นโฆษณาแล้วอ่านข้อความจบ ครบถ้วน ชวนให้อยากแล้วคลิกไปซื้อ หรือลงหน้าเว็บผลิตภัณฑ์ได้ทันทีก็จะเป็นการดีสำหรับพวกเขาและธุรกิจ อย่างไรก็ตาม กฎทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้น เพื่อความมั่นใจแนะนำให้ทำโฆษณาทดสอบโฆษณาก๊อบปี้ยาวกับสั้นเทียบกันก่อน

 

5. เริ่มต้นข้อความด้วย “ตัวเลข”

ถ้าคุณขายสินค้าจับต้องได้ ผู้พบเห็นโฆษณาอาจต้องการรู้ว่า มันมีราคาเท่าไร โดยเฉพาะหากคุณกำลังจะเซลสินค้าตัวนั้น โอกาสที่ลูกค้าจะตัดสินใจแทบจะทันที เทคนิคนี้ เชื่อว่า น่าจะมีอาการคลิกลั่น เกิดกับผู้บริโภคอย่างแน่นอน 

  • แม้ก๊อบปี้หรือข้อความโฆษณาจะสำคัญหรือน่าสนใจแค่ไหนก็ตาม การมีข้อเสนอที่ชัดเจน (ตัวเลข) ดึงดูดจะช่วยให้โฆษณานั้นสำเร็จไวขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
  • ไม่ใช่เฉพาะสินค้าที่มีราคาไม่แพงมากเท่านั้น แม้แต่ดีลเลอร์ขายรถก็ยังสามารถใช้เทคนิคนี้ได้เหมือนกัน ตัวอย่าง เช่น “0% ผ่อนสบาย ๆ ไม่ต้องมีเงินดาวน์”

 

 

Published on 15 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ