ออกแบบหน้าร้านออนไลน์อย่างไร ให้ลูกค้ารีบซื้อ

หัวข้อ : ออกแบบหน้าร้านออนไลน์บน Shopee และ Lazada ให้ลูกค้ารีบซื้อ
อ่านเพิ่มเติม :https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/sme-design-online-shop.html

 

 

การทำธุรกิจในยุคนี้การมีหน้าร้านเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอกับในสภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงอีกต่อไป แต่ควรมีร้านค้าออนไลน์ควบคู่กันไปด้วย เพื่อสร้างบริการที่ทั่วถึงให้กับผู้บริโภคในยุคสมัยใหม่ เรามี 5 เทคนิคการออกแบบหน้าร้านบนช้อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) อย่างไรให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดลูกค้ามาแนะนำ

 

1. ตั้งชื่อร้านให้รู้ว่าเป็นแบรนด์ของคุณ

ชื่อร้าน หากเปรียบให้เห็นภาพก็เปรียบเหมือนกับชื่อที่เราใช้เรียกคนที่รู้จัก

  • ตั้งชื่อร้านน่าฟัง คุ้นหู ช่วยสร้างการจดจำให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และเป็นแบรนด์แรกที่จะนึกถึงเวลาจะซื้อสินค้า
  • ชื่อร้านต้องเป็นคำสั้น ๆ ประมาณ 2-5 พยางค์ ให้จดจำง่าย
  • อาจจะใส่ไอเดียสร้างคำที่สื่อถึงสินค้าที่ขาย เช่น หากขายเสื้อผ้าอาจจะตั้งชื่อร้านว่า SHIRTORIA ที่แสดงให้เห็นถึงชื่อแบรนด์ และสินค้าที่ขายว่าคืออะไร
  • อาจจะใช้ชื่อภาษาไทยเพื่อสื่อความหมายโดยตรง อย่างเช่น หากขายเสื้อเชิ๊ต ตั้งชื่อร้านว่า เชิ๊ตชาย ก็ได้

 

2. ตกแต่งหน้าร้านให้น่าดึงดูด

การตกแต่งหน้าร้านก็เปรียบกับหน้าต่างบานแรกที่ลูกค้าจะเปิดเข้ามา หากผู้ประกอบการตกแต่งหน้าร้านที่สื่อถึงแบรนด์สินค้ามากเท่าไหร่ ผู้ซื้อก็จะเข้าใจความแตกต่างในร้านของคุณมากเท่านั้น อาจจะกล่าวได้ว่าร้านค้าที่ดึงดูดความสนใจย่อมมียอดคลิก และอัตราการซื้อมากกว่าร้านค้าทั่ว ๆ ไปที่ไม่มีการตกแต่งอะไรเลย การขายสินค้าผ่านหน้าแพลตฟอร์มช้อปปี้และลาซาด้า มีข้อดีอยู่ตรงที่สามารถออกแบบหน้าร้านได้ตามไอเดียของตัวเอง 

  • ควรดีไซน์ให้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาด้วยการทำแบนเนอร์ โดยเป็นรูปแบบหนึ่งของการโฆษณาด้วยวิธีนำรูปภาพ หรือวิดีโอมาโปรโมทโปรโมชั่น/แคมเปญ บนหน้าร้านค้า
  • ลองใช้เทคนิคการไดคัทเป็นการตกแต่งรูปด้วยการตัดขอบตามรูปทรง ที่จะทำให้สินค้ามีความโดดเด่น สร้างความสวยงามให้กับผู้พบเห็น ซึ่งปัจจุบันมีโปรแกรมแต่งรูปมากมายให้ผู้ประกอบการได้เลือกใช้ 
  • ดีไซน์หน้าร้านควรคุมโทนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความดึงดูดให้กับลูกค้าเวลาเข้ามาเลือกซื้อสินค้า
  • ในส่วนของการจัดวางสินค้าบนหน้าร้าน แนะนำว่าควรจัดสินค้า แยกให้เป็นหมวดหมู่ เช่น หากขายสินค้าแฟชั่น ก็แยกสินค้าออกเป็น เสื้อผ้า กางเกง กระโปรง เครื่องประดับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า

 

3. บอกรายละเอียดสินค้าให้ชัดเจน

เรื่องที่ควรตระหนักเป็นอย่างมากคือ การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ลูกค้าจะไม่สามารถเห็นสินค้าจริง ดังนั้นผู้ประกอบการควรระบุข้อมูลรายละเอียดของสินค้าชิ้นนั้นให้ครบถ้วน 

  • หากขายเสื้อผ้าควรบอก ขนาดไซส์ รอบอก ความกว้าง ความยาว 
  • หากขายสินค้าบริโภค ควรบอกสรรพคุณ ข้อควรระวัง รวมถึงวัน-เวลาหมดอายุให้ชัดเจน
  • การรีวิวจากลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าไปแล้วเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้รู้ว่าสินค้าได้รับความชื่นชอบมากแค่ไหน หากได้รับคำชมย่อมเป็นเรื่องที่ดีกับผู้พบเห็น และชั่งใจว่าจะเลือกซื้อสินค้านี้ดีหรือไม่

 

4. ไม่พลาดที่จะจัดโปรโมชั่น

การจัดโปรโมชั่นให้กับสินค้าก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้สำหรับการกระตุ้นยอดขายให้กับร้านเป็นอย่างดี 

  • อาจจะใช้การแจกคูปองส่วนลดมอบให้กับลูกค้า
  • อาจเข้าร่วมแคมเปญกับแพลตฟอร์มที่ปัจจุบันเห็นกันอย่างแพร่หลาย อย่างเทศกาลลดราคาสินค้า ที่กำหนดเวลาเป็นวันใดวันหนึ่งของเดือนนั้น เช่น เทศกาลลดราคาสินค้า 9 เดือน 9 เป็นต้น

 

5. แอคทีฟตลอดเวลา

ถึงจะเป็นร้านค้าออนไลน์แต่ก็ต้องคอยมอนิเตอร์ร้านค้าอยู่เสมอ ลูกค้าถามปุ๊บตอบปั๊บ เพราะการขายสินค้าออนไลน์บนช้อปปี้และลาซาด้ามีคู่แข่งจำนวนมาก จึงควรแอคทีฟกับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา 

  • เมื่อมีลูกค้าเข้ามาสอบถาม หรือสั่งซื้อสินค้า ควรจะตอบกลับในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับลูกค้าที่ว่าตนเองเป็นฝ่ายมาซื้อสินค้า แต่ทำไมต้องปล่อยให้รอนาน 
  • การตอบกลับอย่างรวดเร็วจะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถปิดดีลได้เร็วขึ้น ซึ่งเทคนิคที่สำคัญ คือ ผู้ประกอบการต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้า และสามารถตอบคำถามได้อย่างกระจ่างตรงกับความคาดหวังของผู้ซื้อ
  • ข้อดีของการแอคทีฟตลอดเวลา จะแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจที่มีต่อลูกค้า และสร้างความมั่นใจว่าแม้จะอยู่ในโลกออนไลน์ก็มีตัวตนอยู่จริง ๆ

 

 

Published on 15 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ตลาดเครื่องสำอางกับโอกาสทางธุรกิจ

หัวข้อ : วารสาร K Sme Inspried Small - scale แจ็คผู้ไล่ยักษ์ 
อ่านเพิ่มเติม : https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Dec-2018.aspx

 

 

เมื่อผู้หญิงไม่หยุดสวย ช่วยให้ตลาดเครื่องสำอางไทยโตไม่หยุด แบบไม่แคร์เศรษฐกิจหรือการเมือง โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ผลิตจากธรรมชาติ เครื่องสำอางเฉพาะกลุ่ม แม้แต่เครื่องสำอางที่จับตลาดชาวมุสลิมก็มีมูลค่าสูงถึง 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นขุมทรัพย์ที่เอสเอ็มอีมีโอกาสไม่น้อย  สำหรับมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยอยู่ที่ประมาณ 2.51 แสนล้านบาท แยกเป็น ตลาดในประเทศ 66.9% ตลาดส่งออก 33.1%

 

5 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางครองตลาดในประเทศ

  1. ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (Skincare) ที่ครองตลาดเครื่องสำอางสูง ถึง 46.8% แยกเป็นผลิตภัณฑ์
  • ดูแลผิวหน้า 84%
  • ดูแลผิวกาย 16%
  1. ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผม (Hair) ครองตลาดอยู่ที่ 18.3% แยกเป็น
  • ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 83%
  • เปลี่ยนสีผม 11%
  • จัดแต่งทรงผม 4%
  • ยึดติดผม 1%
  1. เครื่องสำอางสำหรับตกแต่ง (Makeup) ครองตลาดอยู่ที่ 13.5% แยกเป็น
  • ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้า 56%
  • ริมฝีปาก 26% 
  • ตกแต่งตา 17%
  • ตกแต่งเล็บ 1%
  1. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่างกาย (Hygiene) ครองตลาดอยู่ที่ 16.3%
  2. น้ำหอม (Fragrance) ครองตลาดอยู่ที่ 5.1%


ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมีการเติบโตสูงสุด เมื่อเทียบกับเครื่องสำอางประเภทอื่นๆ อาจเป็นผลจากสภาพอากาศ มลภาวะต่างๆ ทำให้ความต้องการเครื่องสำอางที่ช่วยปกป้อง หรือซ่อมแซมผิวหรือร่างกายได้รับความนิยม นอกจากนี้ พฤติกรรมคนไทยที่หันมาเพิ่มขั้นตอนในการดูแลผิวหน้า ทำให้เครื่องสำอางประเภทมาส์กหน้า (Mask) ที่มีสารบำรุงผิวเข้มข้นได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นเดียวกัน

 


 

ตลาดเครื่องสำอางส่งออก

ด้วยคุณภาพมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัย ประกอบกับการมีวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอาง โดยเฉพาะวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ รวมถึงความหลากหลายของประเภทเครื่องสำอาง ซึ่งมีเอกลักษณ์และนวัตกรรมการผลิตที่หลากหลายเครื่องสำอางของไทยจึงได้รับความนิยมในต่างประเทศ

  • ตลาดที่สำคัญ เช่น อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน
  • ตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับเครื่องสำอางไทยได้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน  กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม
  • ลูกค้าคนหนุ่มสาวคนวัยทำงานมีเพิ่มขึ้น และตอบรับพฤติกรรมการดูแลร่างกายตามค่านิยมสมัยใหม่มากขึ้น
  • ความชื่นชอบในดารานักร้องของไทยผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้เครื่องสำอางจากไทยได้รับความนิยมสูงโดยเฉพาะสินค้าประเภทแต่งหน้าและดูแลผิว




 

5 กลุ่มตลาดโอกาสทางธุรกิจเครื่องสำอาง

เด็ก ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กยุคใหม่เริ่มเปิดกว้างต่อการใช้เครื่องสำอางเพื่อดูแลและเสริมบุคลิกภาพในกลุ่มเด็กมากขึ้น แต่เครื่องสำอางควรต้องมีความปลอดภัย เนื่องจากผิวเด็กมีความบอบบาง

ผู้ชาย หันมาใส่ใจตัวเองเพื่อเสริมบุคลิกภาพ ซึ่งกระแสดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและดูแลเส้นผม น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวและน้ำหอมที่มีการใช้อยู่แล้ว

ผู้สูงอายุ จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกมีประมาณ 1,000 ล้านคน ซึ่งผู้สูงอายุบางกลุ่มมีกำลังซื้อและมีความต้องการสินค้าประเภทเครื่องสำอางที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะด้าน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตรวมถึงการเสริมบุคลิกภาพที่ดี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ต่อต้านริ้วรอยให้ดูอ่อนกว่าวัย และผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุ

ประเทศมุสลิม ตลาดเครื่องสำอางสำหรับชาวมุสลิมในตลาดโลกเติบโตเฉลี่ยประมาณ 7% ต่อปี โดยประเภทของเครื่องสำอางที่น่าสนใจได้แก่ เครื่องสำอางที่ใช้สำหรับดูแลเส้นผมสำหรับผู้ชาย และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิวสำหรับเด็ก ซึ่งตลาดมุสลิมที่มีมูลค่าสูงได้แก่ อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย ตุรกี มาเลเซีย และบังกลาเทศ ตามลำดับ

นักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอางของผู้ผลิตชั้นนำของโลก ทำให้สินค้ามีราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับที่ถูกส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศ และไทยยังมีสินค้าเครื่องสำอางที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ ทั้งพืชและสมุนไพรที่มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่นิยมซื้อ เครื่องสำอาง/ครีมบำรุงผิว 25.5%

 


 

4 ข้อต่อยอดธุรกิจความงาม

  • พัฒนานวัตกรรมหรือวัตถุดิบที่มีความแตกต่าง ซึ่งอาจใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอด ขณะเดียวกันต้องใช้วัตถุดิบที่มีความน่าเชื่อถือ เหมาะกับกลุ่มผู้ใช้ เช่น 
    • ต้องมีความอ่อนโยนต่อผิวของเด็กและผู้สูงอายุ
    • ส่วนผสมและขั้นตอนการผลิตที่สอดคล้องกับหลักฮาลาลเพื่อจับตลาดกลุ่มผู้บริโภคมุสลิม
  • การสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้า สำหรับเอสเอ็มอีอาจมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณวิจัยและพัฒนา ดังนั้น การมุ่งผลิตสินค้าที่จับตลาดเฉพาะจะง่ายต่อการติดตามตรวจสอบคุณภาพสินค้า
  • ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้า เช่น เครื่องสำอางสำหรับผู้สูงอายุควรมีความสะดวกในการหยิบจับ มีรายละเอียดวิธีใช้ที่ง่าย ไม่ซับซ้อน
  • พัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย จากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไป มีการค้นหาข้อมูลจากสื่อโซเชียลและออนไลน์ผ่านการรีวิวสินค้ามากขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรเพิ่มช่องทางตลาดผ่านออนไลน์เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

 

 

Published on 15 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

Sackitem แปลงขยะเป็นแฟชั่นให้ดังไกลไปต่างแดน

Sackitem แปลงขยะเป็นแฟชั่นให้ดังไกลไปต่างแดน

SACKITEM ไม่ได้เป็นเพียงแค่แบรนด์กระเป๋าแฟชั่นที่มีดีไซน์สวยสะดุดตา แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในทุกไอเท็มที่ผลิตออกมาคือการสร้างจิตสำนึกให้คนมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียกว่า “ขยะ” 

กว่า 10 ปีแล้วที่ คุณธนารักษ์ วรฤทธานนท์ ผู้ก่อตั้งแบรน์ SACKITEM คิดค้นและออกแบบกระเป๋าแฟชั่นจากวัสดุเหลือทิ้งอย่างกระสอบจนทำให้ SACKITEM กลายเป็นแบรนด์อัพไซเคิลเจ้าแรกๆในเมืองไทยที่วันนี้ไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในประเทศแต่ยังดังไกลไปถึงต่างแดน ซึ่งปัจจุบันสินค้าแฟชั่นของ SACKITEM เป็นที่สนใจจากลูกค้าชาวจีน เกาหลี ญี่ปุ่น โดยที่ญี่ปุ่นมีการเซ็นสัญญาเป็นตัวแทนขายสินค้าของ SACKITEM อย่างเป็นทางการและดูแลเรื่องของการขายผ่านช่องทางออนไลน์ทั่วโลก นอกจากนี้สินค้าของ SACKITEM ยังกระจายออกไปยังประเทศต่างๆไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เยอรมัน เป็นต้น

“ผมเคยทำแบรนด์เสื้อผ้ามาก่อนหน้านี้ พอวันหนึ่งถึงจุดอิ่มตัวก็เป็นจังหวะที่เรามองเห็นว่ามีวัสดุเหลือทิ้งอยู่ในบ้านคือกระสอบข้าวที่คุณแม่และคุณยายแยกเก็บเอาไว้ ซึ่งเรามองว่าวัสดุเหล่านี้น่าจะนำมาทำอะไรได้ จึงลองนำมาเย็บเป็นกระเป๋าแล้ววางขายกับเสื้อผ้าของเรา ปรากฏว่ามีชาวต่างชาติมาเห็นแล้วชอบจึงซื้อกลับไปในราคาประมาณ 200 บาท จากนั้นเราก็เลยมีไอเดียว่ากระเป๋าที่เราทำมีคนสนใจและสามารถขายได้ ดังนั้นเราควรจะศึกษาเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น”

หลังจากกระเป๋าใบแรกถูกขายออกไป คุณธนารักษ์ ใช้เวลาในการเสาะหาข้อมูล เรียนรู้ ทดลองทำ และพัฒนารูปแบบของกระเป๋ามาเรื่อยๆ โดยเน้นใช้วัสดุอย่างขยะมาเป็นวัสดุหลักในการทำกระเป๋า คุณธนารักษ์ พบว่า ปกติวัสดุกระสอบที่นำมาใช้ในบ้านเรามีหลายประเภท มีทั้งกระสอบอาหารสัตว์ ถุงปุ๋ย ถุงข้าว ถุงแป้ง ถุงน้ำตาล แต่วัสดุหลักที่ SACKITEM ใช้จะเป็นกระสอบเม็ดพลาสติก รองลงมาเป็นกระสอบข้าว และกระสอบอาหารสัตว์ 

“เรามามองดูว่าตอนนั้นเรามีคอนเนคชั่นอะไรบ้าง ปรากฏว่าเรารู้จักโรงงานรีไซเคิล โรงงานผลิตกระสอบ โรงงานขยะ ดังนั้นเราจึงมาลองศึกษาดูว่ากระสอบที่โดนทิ้งแล้วจะไปที่ไหนได้บ้าง ก็พบว่าส่วนมากจะถูกนำไปหลอมเป็นพลาสติกเกรดต่ำ ซึ่งเรามองว่าจะดีกว่าไหมถ้าเรานำมาทำกระเป๋าเพิ่มมูลค่าให้เป็นสินค้าที่มีราคามากกว่านั้น ตอนแรกเราเย็บกระเป๋ากระสอบโดยใส่ดีไซน์เข้าไป ซึ่งแต่ละใบจะมีการรับน้ำหนักที่แตกต่างกัน จนในที่สุดเราเจอรุ่นพี่ที่มีกระสอบเม็ดพลาสติกมือหนึ่งซึ่งมีความสะอาด ในโรงงานเขาจะมีเศษพลาสติกที่เหลือทิ้งเหล่านี้เราจึงลองนำมาเย็บเป็นกระเป๋าซึ่งปรากฏว่าสามารถที่จะรับน้ำหนักได้ถึง 50 กิโล”

ในแง่ของฟังก์ชั่นกระเป๋ากระสอบซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาสามารถตอบโจทย์การใช้งานและรับน้ำหนักได้เป็นที่น่าพอใจ แต่สิ่งสำคัญอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือทำอย่างไรที่จะไม่ให้ลูกค้ารู้สึกว่ากระเป๋าที่พัฒนาขึ้นมาทำมาจากขยะ 

“เราใส่ดีไซน์เข้าไปเพื่อไม่ให้ลูกค้ารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้คือขยะ หลังจากนั้นเรามาเจอโรงงานพีวีซีซึ่งในกระบวนการผลิตจะมีส่วนที่เหลือทิ้งเรานำตรงนั้นมาหุ้มกระเป๋าของเรา ซึ่งมันช่วยในเรื่องของสีสัน ความทนทาน รวมกับแบบที่เราพัฒนาขึ้นเรื่อยๆทำให้ลูกค้าเริ่มสนใจสินค้าของเรา เราเริ่มได้รับการติดต่อให้ออกสื่อมากขึ้น มีคนสนใจเรามากขึ้น” 
ปัจจุบัน SACKITEM มีทั้งสินค้าหลากหลายแบบไม่ว่าจะเป็น กระเป๋าแฟชั่นรูปแบบต่างๆ ชุดเอี๊ยมสำหรับใส่วาดภาพหรือตัดผม ชุดกันเปื้อนสำหรับทำอาหาร พวงกุญแจ ซองใส่บัตร เป็นต้น และด้วยความโดดเด่นของดีไซน์รวมถึงเอกลักษณ์ของวัสดุที่ทำจากขยะทำให้สื่อต่างประเทศเก็บภาพไปลงทั้งในนิตยสารและช่องทางอื่นๆซึ่งนั่นทำให้ SACKITEM ได้รับความนิยมจากลูกค้าต่างชาติซึ่งสนใจสินค้าอัพไซเคิลเป็นจำนวนมาก

“สิ่งที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักทั้งจากคนไทยและต่างชาติเรามองว่าเป็นเพราะเราซื่อสัตย์กับตัวเองว่าสิ่งที่เราทำเราทำอย่างจริงจัง เราสามารถตอบลูกค้าได้ว่าสินค้าของเราแต่ละชิ้นทำมาจากขยะจริงๆและเราสามารถลดปริมาณขยะประเภทกระสอบได้ปีหนึ่งประมาณ 5-6 ตัน นอกจากนี้เรายังช่วยตัดขั้นตอนในการใช้พลังงานที่จะนำขยะเหล่านั้นไปกำจัดด้วย”

นอกเหนือจากสินค้าของ SACKITEM จะโดดเด่นในแง่ของการช่วยลดขยะ คุณธนารักษ์เสริมว่าในกระบวนการผลิตสินค้า SACKITEM ยังช่วยสร้างรายได้ให้กระจายไปสู่ชุมชนบางส่วนด้วย

“เราให้ชุมชนเข้ามามีส่วนในการตัดเย็บสินค้าของเราโดยโรงงานหลักที่เราส่งให้เย็บคือโรงงานที่พระประแดงและชุมชนหนองแขม ตอนนี้ตลาดอัพไซเคิลเริ่มมีคนสนใจมากขึ้น เราอยากให้แบรนด์เราเติบโตเพื่อต่อยอดให้ทั้งสินค้าของเราและการสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย รวมถึงเราต้องการเห็นสินค้าของเราเป็นภาพจำหนึ่งซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวแล้วอยากซื้อกลับไปเป็นของฝาก หรือนึกถึงประเทศไทยในแง่ของการเป็นประเทศที่ใส่ใจเรื่องของการลดขยะด้วย”

แน่นอนว่าการทำธุรกิจก่อนที่จะประสบความสำเร็จจนถึงวันนี้ SACKITEM ก็พบอุปสรรคมาแล้วเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น แต่สิ่งที่ทำให้ผ่านอุปสรรคต่างๆมาได้ก็คือความมุ่งมั่น จริงใจ และเดินหน้าเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า 

“อุปสรรคในธุรกิจที่เราเจอเรื่องแรกก็คือเรื่องของวัสดุที่มีข้อจำกัดเพราะเราทำจากขยะดังนั้นเราจึงไม่สามารถหาวัสดุซึ่งตรงใจลูกค้าได้ทุกอย่าง เราก็ต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่าวัสดุที่ใช้ไม่สามารถกะเกณฑ์ได้ตามความต้องการของเขาเพื่อให้เขายอมรับในความเป็นเรา อุปสรรคเรื่องที่สองก็คือการก๊อปปี้แบบของเราแต่คุณภาพด้อยกว่าเราซึ่งหลายครั้งเมื่อลูกค้าซื้อของก๊อปปี้ไปใช้แล้วไม่มีคุณภาพเขาก็จะรู้สึกแย่กับแบรนด์ของเรา สิ่งที่เราทำได้ก็คือมองข้ามแล้ววิ่งไปข้างหน้า พัฒนาทั้งคุณภาพและดีไซน์ของเราให้ดียิ่งขึ้น อุปสรรคข้อสุดท้ายเป็นเรื่องที่เราเจอตอนนี้คือโควิด-19 ทำให้สินค้าของเราซึ่งขายต่างประเทศนำออกไปขายไม่ได้ ตรงนี้เราก็ได้แต่หวังว่าอีกไม่นานสถานการณ์น่าจะคลี่คลาย ตรงนี้ก็เป็นบททดสอบว่าเราจะอยู่สู้กับมันได้แค่ไหน” 

เป้าหมายของ SACKITEM ในวันนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องของการทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำแต่คือการสร้างการรับรู้ใหม่ๆให้คนทั่วไปกล้าใช้ขยะในรูปแบบของแฟชั่น กล้าใส่ กล้าถือ รวมถึงต้องการเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่หยิบจับขยะมาทำให้เกิดประโยชน์ให้มากกว่าที่เป็นในวันนี้

“ตอนนี้เราทำได้เท่านี้ แต่คนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นมาในอนาคตเขาอาจจะหยิบจับขยะหรือหาขยะประเภทอื่นมาทำให้เป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าเราก็ได้” คุณธนารักษ์กล่าวปิดท้าย

Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ไอศกรีม Guss Damn Good ตั้งชื่อรสชาติจากการคิดนอกกรอบ

 

การดำเนินธุรกิจในยุค 4.0 ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ สิ่งสำคัญ คือการสร้างความแตกต่าง เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้าและบริการ แต่ธุรกิจจะสร้างความแตกต่างให้ได้นั้น ผู้ประกอบการก็ต้องมีวิธีคิดแบบ “การคิดนอกกรอบ”

การคิดนอกกรอบ คือ การสร้างมุมมองใหม่ ด้วยวิธีคิดที่แตกต่าง แปลกใหม่แต่สร้างสรรค์ หรือเป็นการคิดต่าง เห็นต่างจากคนอื่น เพื่อทำให้สินค้าและบริการมีความโดดเด่น เป็นที่จดจำของผู้บริโภค หรือกลุ่มเป้าหมาย เพราะการคิดนอกกรอบ แท้จริงแล้วก็คือ "ความคิดสร้างสรรค์" ที่ก่อให้เกิดการแข่งขัน และเกิดการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง การคิดนอกกรอบ จึงเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพทางด้านความคิดของคน และทำให้สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา 

ดังนั้น การคิดนอกกรอบ จึงเหมาะกับทุกคน ทุกธุรกิจ ที่ต้องการสร้างความแตกต่างในเรื่องต่างๆ หรือแม้แต่องค์กรต่างๆ ก็ล้วนต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาองค์กร ซึ่งการคิดนอกกรอบอาจทำในมุมของการออกแบบสินค้าและบริการ หรือมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสร้างเป็นจุดขายใหม่ หรือเพื่อการแก้ปัญหา แม้แต่เรื่องของ แรงบันดาลใจ ก็ยังสามารถช่วยสร้างวิธีคิดไปสู่ การคิดนอกกรอบ ได้เช่นกัน

วันนี้เรามีตัวอย่างของ “การคิดนอกกรอบ” จากธุรกิจไอศกรีม ที่ชวนให้สงสัยว่า เหตุใดไอศกรีมที่หน้าตาดูเรียบๆ มีแต่ตัวไอศกรีม และไม่มีสีสันการตกแต่งจากซอส หรือท้อปปิ้งสวยๆ เหมือนร้านแบรนด์ดัง แต่กลับสร้างจุดขายด้วยรสชาติที่แปลกแหวกแนว และสามารถวางราคาจำหน่ายได้สูงถึงลูกละ 85 บาท และได้รับความนิยมจนต้องขยายสาขาเพิ่มถึง 9 สาขา และยังสามารถลบคำสบประมาทว่า ธุรกิจจะไปไม่รอดเพราะไอศกรีมไม่สวยแต่มีราคาสูง



ไอศกรีม Guss Damn Good คือ ตัวอย่างของการสร้างธุรกิจจากการคิดนอกกรอบที่มีจุดเริ่มต้นจาก “แรงบันดาลใจ” ของสองหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ความประทับใจจากสิ่งที่ได้พบเห็นในร้านไอศกรีมที่เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ Babson College จนเกิดเป็นไอเดียที่อยากนำเอาบรรยากาศ และวัฒนธรรมที่ได้สัมผัสเหล่านั้นกลับมาทำธุรกิจร้านไอศกรีมในรูปแบบที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย

“ที่บอสตันมีร้านไอศกรีมมากมาย เราตระเวนทานไอศกรีมกับเพื่อนๆ เพราะรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ไปร้านไอศกรีม ที่บอสตันจะเน้นขายแต่ตัวไอศกรีม ไม่ได้มีท็อปปิ้งเยอะๆ เหมือนเมืองไทย ภายในร้านมีบรรยากาศของความสนุกสนาน เป็นกันเอง แม้อากาศหนาวหิมะตกแต่คนก็ยังมาต่อคิวทานไอศกรีมกัน เพราะคนที่นั่นทานไอศกรีมในช่วงหน้าหนาวเพื่อทำให้รู้สึกถึงบรรยากาศในช่วงหน้าร้อนที่เต็มไปด้วยแสงแดด และมีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำมากมาย”

 

คุณระริน ธรรมวัฒนะ Co-founder, Chief Ice-cream Artist ร้านไอศกรีม Guss Damn Good บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะกลายเป็นไอเดียการทำธุรกิจร้านไอศกรีมหลังจากจบการศึกษา และเดินทางกลับมาประเทศไทย พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า 

Guss Damn Good เป็น Feeling Crafted Ice cream เน้นจับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ในตลาดระดับ Affordable Premium ที่มีความเป็นพรีเมี่ยมในระดับราคาที่จับต้องได้ด้วยสนนราคาก้อนละ 85 บาท ถือว่าเป็นราคาที่สูงกว่าแบรนด์ยอดนิยม แต่ก็ยังต่ำกว่าอินเตอร์แบรนด์ที่มีอยู่ในท้องตลาดทั่วไป และสร้างความโดดเด่นด้วยบรรจุภัณฑ์ และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่รอบตัว 

Guss Damn Good สร้างความน่าสนใจด้วยการนำเสนอตัวผลิตภัณฑ์ และรูปแบบหน้าร้านที่แตกต่างจากร้านไอศกรีมทั่วไป โดยไอศกรีมที่มีอยู่กว่า 60 รสชาติ ไม่มีรสชาติที่เป็น Signature แต่รสชาติส่วนใหญ่จะมีสีสัน และหน้าตาที่คล้ายคลึงกัน ไม่มีการติดป้ายบอกรสชาติของไอศกรีม แต่มีชื่อเรียกแต่ละรสชาติที่ฟังดูแปลกไม่คุ้นหูอย่าง Don’t Give Up #18, Tokyo Mist หรือ Bonfire เป็นต้น

 

ภายในร้านยังมีพนักงานขาย หรือ Scooper ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงลูกค้ามาสู่แบรนด์ เพราะ Scooper จะทำหน้าที่แนะนำรสชาติของไอศกรีมที่มีอยู่ภายในตู้แช่ และบอกเล่าเรื่องราวก่อนจะมาเป็นรสชาตินั้นๆ ด้วยบรรยากาศการพูดคุยแบบเป็นกันเอง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของร้านไอศกรีมในบอสตันที่หาไม่ได้จากร้านไอศกรีมในเมืองไทย สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ ทุกรสชาติ มีการคิดสูตร คำนวณส่วนผสมต่างๆ ที่ถูกแปลงมาจากเรื่องราวรอบๆ ตัว กลั่นกรองจนกลายเป็นความรู้สึก และถูกเทียบเคียงด้วยวัตถุดิบชนิดต่างๆ จนได้มาซึ่งรสชาติที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร

 

“คอนเซ็ปต์ของไอศกรีม Guss Damn Good คือ Story to Flavor ทุกรสชาติจะมีจุดเริ่มมาจากเรื่องราว โดยเราจะนำเรื่องราว (Story) มาแปลงเป็นความรู้สึก (Filling) จากความรู้สึก (Feeling) กลายมาเป็นรสชาติ (Flavor) จะไม่มีการย้อนกลับกระบวนการทางความคิด หรือกระบวนการผลิตโดยเด็ดขาด”

 

คุณนที จรัสสุริยงค์ Chief Ice-cream Scientist เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Guss Damn Good กล่าวเสริมว่า คนอเมริกันมีวัฒนธรรมการทานไอศกรีมที่ค่อนข้างลึกซื้ง เพราะมองว่าไอศกรีมเป็นเรื่องของความสุข ทำให้นึกถึงช่วงเวลาดีๆ ในช่วงฤดูร้อน ไอศกรีมจึงไม่ใช่แค่ขนมหวานแต่มีเรื่องของความรู้สึกที่แฝงอยู่ในนั้น เมื่อคิดจะทำธุรกิจร้านไอศกรีมในเมืองไทย จึงอยากให้ไอศกรีมเป็นสื่อกลางในการส่งเรื่องราวดีๆ ระหว่างกัน 

ก่อนเริ่มทำร้าน คุณนที เล่าว่า ต้องอ่านหนังสือเป็นจำนวนมาก ต้องเรียนรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์การทำไอศกรีม  โดยแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุด ก็คือ ร้านไอศกรีมที่บอสตัน โดยหน้าที่หลักๆ คือ การคิดคำนวณส่วนผสมต่างๆ เพื่อให้ได้รสชาติตามที่คิดไว้ มีการผูกสูตรผ่านโปรแกรม Excel เพื่อคำนวณส่วนผสม และองค์ประกอบทั้งหมดที่มีผลต่อรสชาติ ขณะที่ คุณระริน จะเป็นฝ่ายครีเอทีฟ มองหาเรื่องราวมาสร้างสรรค์เป็นรสชาติของไอศกรีม

 

“เราต้องเรียนรู้ไปจนถึงเรื่องจุดเยือกแข็ง จุดหลอมเหลว ความหวาน ความมัน เพื่อหาสมดุลของสัดส่วนไขมันที่ส่งผลต่อเนื้อสัมผัสไอศกรีมในแบบที่ต้องการ แม้แต่เรื่องของอากาศก็ส่งผลต่อรสชาติ”

 

คุณนที ยกตัวอย่างรสชาติที่ชื่นชอบและทานเป็นประจำ คือ Bonfire เพราะชอบทั้งเรื่องราวและรสชาติที่ถูกดีไซน์ออกมา เป็นเรื่องราวที่ได้แรงบันดาลใจจากการไปแคมปิ้งกับเพื่อนๆ เพื่อเล่นสโนว์บอร์ด ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหนาวเย็นที่มีกลิ่นควันไฟ และรสชาติของมาร์ชเมโลย่างที่ออกแนวขมๆ 

Bonfire จึงถูกจินตนาการออกมาเป็นรสชาติของ Burn Caramel ที่ถูกเคี่ยวจนไหม้ รสชาติออกขม ซึ่งเป็นรสที่ขายดีติดอันดับ Top5 ของทางร้าน และยังมีอีกหลากหลายรสชาติที่มีเรื่องราวน่าสนใจ เช่น Don’t give up #18 ไอศกรีม Fresh Milk Equality ไอศกรีม Fresh Milk ผสมด้วย Toffee Crack Sprinkle Love is Love ไอศกรีมรสมะนาวสีชมพูจากบีทรูท มีรสเปรี้ยวจากส่วนผสมของ Lemon Curd และ Crumble 

 

สำหรับความหมายของชื่อแบรนด์ Guss Damn Good ที่ก่อนหน้านี้เคยใช้ชื่อแบรนด์ว่า Guss Ice-cream  มาจากคำว่า Gut (Gut Feeling) และ Cus ที่มาจากคำว่า Focus ส่วนคำว่า Damn Good เกิดจากคำอุทานของเพื่อนรุ่นพี่ที่ได้มีโอกาสเข้ามาชิมไอศกรีมที่ทำกันเอง จนต้องอุทานคำนี้ออกมา จึงเกิดไอเดียเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Guss Damn Good จนถึงปัจจุบัน

“Guss Damn Good ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องไอศกรีม แต่ยังหมายรวมถึงทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวกับเรา ต่อไปถ้าเราจะทำอย่างอื่นเราก็สามารถใช้ชื่อนี้ได้ด้วย เพราะเราไม่ได้ตีกรอบว่าเป็นแค่ไอศกรีม"



คุณนที ยอมรับว่า การทำธุรกิจในช่วงแรกไม่ได้มีการวางกลยุทธ์ที่ชัดเจน แต่เน้นการทำตลาดแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) เป็นหลัก จึงมีเพียงการสื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊ค และอินสตาแกรม ควบคู่ไปกับการออกร้านตามงาน Flea Market เพื่อทำความรู้จักกับกลุ่มเป้าหมาย

 

“เรากลับมาเมืองไทยปี 2015 เปิดสาขาแรกปลายปี 2016 เพราะลูกค้าเริ่มถามหาหน้าร้าน ในช่วงแรกเราเน้นการออกบูธตาม Flea Market ซึ่งงานแรก คือ งานของแสนสิริ ทำให้เราได้รู้จักกับกลุ่ม Food Blogger ที่มีโอกาสได้มาทานไอศกรีมของเราและรู้สึกชอบจึงเริ่มมีรีวิวออกมา ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เราเลือกไปงานแสนสิริเพราะมองว่ามีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นครอบครัว เป็นคนที่อยู่ในวัยทำงาน เริ่มต้นมีครอบครัว มีความทันสมัยเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ส่วนการเติบโตทางด้านยอดขาย ส่วนใหญ่มาจากการเปิดสาขาร้านมากขึ้น รวมถึงการขยายช่องทางการขายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น เดลิเวอรี่ ทำให้แต่ละร้านมียอดขายที่เพิ่มมากขึ้นไปด้วย” 

 

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ Guss Damn Good ประสบความสำเร็จ และเป็นที่รู้จักในเวลาไม่นาน คือ การทำตลาดในรูปแบบ Collaboration ซึ่งเป็นการร่วมมือกับแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่ต้องการให้ทางร้านคิดรสชาติที่สะท้อนความเป็นตัวตนของแบรนด์ หรือเพื่อตอบโจทย์แคมเปญการสื่อสารการตลาดที่แต่ละแบรนด์ทำออกมาในช่วงเวลานั้น โดย Guss Damn Good ได้ทำ Collaboration ร่วมกับแบรนด์ชั้นนำมากมายในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ เครื่องสำอาง wet & wild, เอสเต้ ลอเดอร์, ยัสปาล, แสนสิริ, ดีแทค, ดีลอยท์, เดอะสแตนดาร์ด, อะเดย์, รถยนต์มินิ, ดีนเดลูก้า เป็นต้น แม้จะไม่ใช่กลยุทธ์หลักที่ถูกกำหนดขึ้นในวันแรกของการทำธุรกิจ แต่ก็เป็นรูปแบบการทำตลาดที่ทำให้แบรนด์ Guss Damn Good เป็นที่รู้จักมากขึ้นในเวลาไม่นาน  

 

คุณระริน ย้ำถึงวิธีคิดที่มีจุดเริ่มต้นจากการอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน และจะมีช่วงเวลาไหนบ้างที่ Guss Damn Good สามารถทำให้คนรู้สึกดีขึ้นได้ อาจเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวของเราในมุมที่ชื่นชอบ หรือการมองย้อนกลับไปในวัยเด็กว่า เรามีความสุขตรงไหน ก่อนจะแปลงเรื่องราวตรงนั้นออกมา 

หรือในแง่ของการ Collaboration กับแบรนด์ต่างๆ ก็จะเป็นในลักษณะของการนำเสนอข้อความที่แบรนด์ต่างๆ อยากจะสื่อสารกับลูกค้าของเขา เช่น การแสดงความขอบคุณ การบอกเล่าถึงคอลเลกชั่นใหม่ๆ หรือการนำเสนอตัวตนของแบรนด์ที่คนยังไม่เคยเห็น เป็นต้น 

 

“ทุกรสชาติ คือ Positive Meaning เป็นความรู้สึกดีๆ ในแต่ละมุมมอง ที่แบรนด์ต่างๆ อยากสื่อสารออกไป” 

 

สำหรับเป้าหมายในอนาคต Guss Damn Good จะไม่ได้มีแค่เรื่องของไอศกรีม แต่จะขยายไลน์สินค้าไปสู่กลุ่มต่างๆ ที่สามารถใช้วัตถุดิบร่วมกันได้กับไอศกรีม เช่น สินค้าในกลุ่มเบเกอรี่ ควบคู่ไปกับการขยายสาขาไปตามหัวเมืองใหญ่อย่างภูเก็ต และเชียงใหม่ โดยปัจจุบัน Guss Damn Good เปิดให้บริการ 9 สาขา กระจายอยู่ตามห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าชั้นนำ อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์ ดิ เอ็มควอเทีย เป็นต้น

 

คุณนที มองว่า สำหรับคนที่สนใจอยากทำร้านไอศกรีม ต้องหาให้เจอก่อนว่า ตัวเองชอบไอศกรีมแนวไหน และต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องของ Ice Cream Science ให้ได้ว่า จะทำสูตรแบบไหนออกมา ต้องบาลานซ์สูตรให้ได้ว่า เนื้อไอศกรีมแบบที่ต้องการควรมีส่วนผสมอะไรบ้าง 

 

“คนที่สนใจทำธุรกิจตรงนี้ ควรมีการเรียนรู้ที่ลึกอยู่พอสมควร เพราะถ้าจะทำธุรกิจไอศกรีม เราก็ควรทำไอศกรีมเป็น ต้องรู้จักไอศกรีม และรู้ลึกในเรื่องขององค์ประกอบ และส่วนผสมต่างๆ เช่น เรื่องของความหวาน ไขมัน น้ำ หรือแม้แต่อากาศก็เป็นส่วนผสมที่สำคัญอย่างหนึ่ง"

 

สุดท้ายแล้ว คุณนที ยังย้ำว่า “ถ้าจะให้ดี เราต้องทำไอศกรีมเป็น และควรควบคุมกระบวนการผลิตเอง ไม่ควรจ้างผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และตรงกับสิ่งที่เราคิดไว้ให้มากที่สุด” 

 

 

Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

Butterfly Thai Perfume ปรุงวัตถุดิบไทยเป็นทุน ด้วยเทคนิคโบราณให้ทันสมัย

 

ในความหลากหลายของรสนิยมและตัวเลือกบนโลกสมัยใหม่ ผู้บริโภคชาวไทยบางส่วนอาจหันไปนิยมชมชอบแบรนด์น้ำหอมต่างชาติ หลงลืมประวัติศาสตร์น้ำอบน้ำปรุงสมัยโบราณของไทย แต่เมื่อผู้ประกอบการไทยนำสมุนไพรเครื่องเทศมาเป็นส่วนประกอบในการทำน้ำหอม สร้างมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบไทย และบริหารจัดการธุรกิจด้วยวิถีทันสมัย ความรับรู้ถึงน้ำหอมแบรนด์ไทยก็เปลี่ยนไป 

 

 

หนึ่งในน้ำหอมไทยที่โดดเด่นและโลดแล่นในวงการมาเกือบทศวรรษ คือ Butterfly Thai Perfume น้ำหอมแบรนด์ไทยที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 9 ปี  ซึ่งมีผลิตภัณฑ์น้ำหอมที่เป็นเอกลักษณ์หลากหลายกลิ่น อาทิ กลิ่นข้าวเหนียวมะม่วง กลิ่นว่านสาวหลง กลิ่นมะกรูดกานพลู กลิ่นส้มผักชี กลิ่นบุหรี่กุหลาบ กลิ่นโคลนสาบควาย เป็นต้น 

หากกลิ่นข้างต้นยังไม่แปลกใหม่เพียงพอ อนาคตเราอาจได้ดอมดม กลิ่นส้มตำ จากน้ำหอม Butterfly หากจะทำความเข้าใจแบรนด์ Butterfly ก็ต้องรู้ถึงภูมิหลังและพื้นเพชีวิตเจ้าของแบรนด์ คุณสุชิน แก้วอุดร 

 

จากเด็กเลี้ยงวัวที่จังหวัดชัยภูมิ มีพ่อเป็นชาวนาปลูกข้าว คุณสุชินได้กลิ่นสมุนไพรไทยที่เกิดตามท้องไร่ท้องนาตั้งแต่วัยเยาว์ เช่น ดอกกระเจียว ดอกกล้วยไม้ป่า ทำให้ชื่นชอบกลิ่นอายความหอมแบบไทยๆ และเคยคิดว่าพืชพรรณเหล่านี้สามารถตีมูลค่าเป็นเงินมากกว่าข้าวที่พ่อปลูกได้หรือไม่ แม้ว่าตอนเด็กคุณสุชินอยากเป็นดีไซเนอร์ แต่ไม่เคยคิดจะทำน้ำหอม หลังเรียนจบวิศวกรรมโยธา คุณสุชินทำงานหลายอย่าง เช่น ออกแบบบ้าน ทำงานเป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้า คุณสุชินบอกว่า การทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก รายได้ที่มาจากหลายธุรกิจจึงมีความจำเป็น ประจวบกับที่เริ่มศึกษาจริงจังเรื่องการทำน้ำหอม

คุณสุชินเรียนรู้วิธีการทำน้ำหอมจากการสอบถาม ถามคนเฒ่าคนแก่ เก็บข้อมูล อ่านหนังสือ และทดลองทำผมศึกษาเรื่องสมุนไพร หากดูประวัติศาสตร์ไทยสมัยก่อน ประเทศไทยส่งออกเครื่องหอม กฤษณากำยาน ไปเมืองนอกได้เยอะมาก แสดงว่ามีโอกาส จากตรงนั้นเลยหันมาดูเรื่องไม้กฤษณา ช่วงนั้นกำลังจะมีคนเริ่มปลูกไม้กฤษณาเพื่อส่งไปขายที่ดูไบ ผมเลยไปอ่านตำราไม้กฤษณา และเอามาบวกกับการทำน้ำหอม ลองทำโดยใช้ทั้งเทคนิคการทำน้ำอบน้ำปรุงสมัยโบราณ และการทำน้ำหอมสมัยใหม่ โดยใช้สมุนไพรจากบ้านเรา นี่เป็นโจทย์แรกที่คิดขึ้นมา

คุณสุชิน ยกตัวอย่างเทคนิคการทำน้ำอบน้ำปรุงสมัยโบราณ เช่น ใบเนียมไม่มีกลิ่น แต่พอโดนความร้อนจะมีกลิ่น จึงเอาใบเนียมมาย่างไฟแล้วดูดซับ (absorb) กลิ่นด้วยแอลกอฮอล์ การนำใบไม้ไปต้มเพื่อสกัดกลิ่น การเก็บดอกไม้ที่ส่งกลิ่นตอนเที่ยงคืน เป็นต้น ส่วนการทำน้ำหอมสมัยใหม่ คือ กระบวนการหมักที่ทันสมัยมากขึ้น การเก็บวัตถุดิบในโถอลูมิเนียม รวมถึงกรรมวิธีการทำที่ง่ายขึ้น และเป็นรูปแบบธุรกิจ

สมัยก่อน เขาจะกรองน้ำหอมโดยใช้ผ้าขาวบาง แต่เรากรองโดยระบบโรงงาน ทำสุญญากาศให้ทันสมัยและสะอาดมากขึ้นคุณสุชิน กล่าวและเสริมว่า Butterfly ใช้เทคนิคโบราณโดยนำทองคำที่บดเป็นผง มาเป็นส่วนผสมในการหมักทำน้ำหอม เพื่อทำให้มวลสารเสถียรมากขึ้นและได้กลิ่นที่ดีมากขึ้น

โรงงานทำน้ำหอมสมัยใหม่ส่วนมากจะผสมแอลกอฮอล์ ออยล์ และส่วนผสมอื่น แต่ Butterfly แตกต่างด้วยกระบวนการร่วมสมัยบวกเข้ากับวิธีโบราณ รวมถึงการใช้สมุนไพรและวัตถุดิบจากธรรมชาติหลายชนิด อาทิ ตะไคร้ ข่า ส้มโอ ใบสะระแหน่ ใบหูเสือ ดอกสารภี ดอกแก้ว ชะลูด กำยาน ลูกจันทน์เทศ ใบเนียม เป็นต้น

 

คุณค่าของวัตถุดิบไทย คือ กลิ่น ความต่างคือกลิ่นคุณสุชิน กล่าวว่าน้ำหอม Butterfly พยายามลดการใช้สารเคมีให้มากที่สุด และใช้สมุนไพรในการผลิตให้มากที่สุด”

 

 

หนึ่งในกลิ่นหอมที่โดดเด่นแตกต่างของ Butterfly คือ กลิ่นโคลนสาบควาย คำว่าโคลนสาบควาย เด็กสมัยนี้อาจไม่ได้สัมผัสมันแล้ว เราคิดว่าจะทำกลิ่นโคลนสาบควายให้เด็กสมัยนี้รู้ว่ากลิ่นเป็นอย่างไร โดยได้แรงบันดาลใจจากควายที่เล็มหญ้าอยู่กลางท้องทุ่ง ความเขียวของหญ้า กลิ่นโคลนที่ติดอยู่บนตัวควาย กลิ่นโคลนสาบควาย มีหลายกลิ่นผสมผสาน อาทิ ดอกพุด ดอกปีบ แอมเบอร์ หญ้าฝรั่น ชะมดเช็ด เป็นต้น 

คุณสุชิน กล่าวว่า กว่าจะได้น้ำหอมแต่ละกลิ่น ต้องทำการทดสอบ 300-400 ครั้งกว่าจะลงตัว บางครั้งกว่าจะได้กลิ่นน้ำหอมมาขาย ต้องผ่านกระบวนการถึง 2 ปี เช่น กลิ่นว่านสาวหลง เขาต้องให้ชาวบ้านปลูกว่านสาวหลงประมาณ 5 ตัน เพื่อสกัดน้ำมันว่านสาวหลง และนำมาทำน้ำหอม

 

การทำน้ำหอมเป็นเรื่องง่าย แต่การทำให้ขายได้และยั่งยืนเป็นเรื่องยาก ในการเทสต์ เราต้องเปลี่ยนสูตรไปเรื่อยๆ สูตรน้ำหอมต้องเป็นที่นิยมพอสมควร จะเฉพาะกลุ่ม (Niche) เกินไปก็ไม่ได้ สุดโต่งเกินไปก็ไม่ใช่ เราทำน้ำหอมกลิ่นหนึ่ง เราต้องคิดถึงญาติเรา คิดถึงคนใกล้ตัวว่าจะชอบหรือเปล่า เราไม่ได้ทำเพื่อจะเป็นงานศิลปะที่ขายแค่ชิ้นเดียว แต่คนส่วนมากอยากไปยืนอยู่ใกล้ๆ คนฉีดน้ำหอมกลิ่นนี้ การทำน้ำหอมจึงเป็นการบาลานซ์ทั้งศิลปะและการตลาดให้ลงตัวมากที่สุด

 

หลังจากทำธุรกิจมานานหลายปี น้ำหอม Butterfly อยู่ในช่วงการขยายธุรกิจ และทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนและช่องทางการขายสินค้า ในเรื่องคนหรือพนักงาน คุณสุชิน กล่าวว่า ในแต่ละร้านสาขาของ Butterfly จะมีพนักงานประจำที่ร้าน แต่การควบคุมบริหารพนักงานร้านเป็นเรื่องยาก พนักงานบางส่วนถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์และน้ำหอมได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ นอกจากนั้น บริษัทยังต้องการทีมงานออกแบบน้ำหอมที่ดีมากกว่านี้ เพราะตัวคุณสุชินทำทั้งหมดคนเดียวไม่ได้ ต้องมีทีมงานสนับสนุนที่ดี 

สำหรับช่องทางการขาย ยอดขายของน้ำหอม Butterfly มาจากร้านสาขา 50% และมาจากช่องทางออนไลน์ 50%  “ในช่องทางออนไลน์ เราได้จาก Shopee เรามีน้ำหอมขวดเล็กขายในราคาไม่แพง ลดราคาให้ลูกค้าได้ไปลองใช้ก่อน แล้วลูกค้ากลับมาซื้อใหม่” คุณสุชินเสริมว่าในอีคอมเมิร์ซ บริษัทยังสามารถควบคุมสารที่ต้องการสื่อไปถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นวีดีโอที่บอกเล่าเรื่องราวกลิ่นของน้ำหอม รวมถึงการทำไลฟ์สด น้ำหอมในปัจจุบันจึงขายผ่านอีคอมเมิร์ซได้ง่ายขึ้น ลูกค้าบางคนอาจไม่ไปที่ร้าน คุณสุชิน กล่าวว่า เตรียมจะลดจำนวนร้านสาขาและขายผ่านอีคอมเมิร์ซให้มากขึ้น  ผมมองว่าอีคอมเมิร์ซน่าสนใจ ในระยะยาวแล้วมีมูลค่ามากมายสำหรับเรา ถ้าเราวางแผนและจัดการดีๆ

นอกจากตลาดในเมืองไทย น้ำหอม Butterfly ยังส่งออกผลิตภัณฑ์ไปตลาดต่างประเทศผ่านดีลเลอร์ เช่น ไต้หวัน จีน พม่า ฮ่องกง เป็นต้น  สำหรับน้ำหอมกลิ่นต่อไป คุณสุชิน บอกว่าอยากทำน้ำหอมกลิ่นส้มตำ ซึ่งประกอบด้วยความเผ็ดของพริก มะนาว เกลือ ปลาร้า และน้ำหอมกลิ่นบำบัด (Aromatherapy) กลิ่นที่ทำให้คนมีความสุขและหลับสบายขึ้น แต่ Butterfly ไม่ใช่แค่แบรนด์น้ำหอม คุณสุชินวางแผนให้ Butterfly เป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ โดยอาจแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต อาทิ เครื่องหอมในบ้าน สเปรย์ที่ฉีดให้ผ้าหอม น้ำหอมในรถยนต์ เสื้อผ้า เป็นต้น 

หากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการจัดการสมัยใหม่ และบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไทยที่มีเสน่ห์ วัตถุดิบไทยก็เป็นทุนที่ต่อยอดได้ไม่จบสิ้น เหมือนกลิ่นหอมที่กำจรกำจายไปไกลแสนไกล

 

 

Published on 11 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ