ส่องนวัตกรรมอาหาร 10 เทรนด์แรง! ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

“ทางเลือก” “ความยั่งยืน” และ “การปรับแต่งให้ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล” เป็น 3 สิ่งสำคัญที่จะเข้ามากำหนดแนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหารโลกในปัจจุบัน ที่ไม่เพียงแต่จะต้องมีความหลากหลาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภครายบุคคลได้อย่างแท้จริงเท่านั้น ยังต้องมีการพัฒนาและนำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้ เพื่อทำให้ “อาหาร” แหล่งพลังงานสำคัญของการขับเคลื่อนชีวิตของมนุษย์ สามารถเติมเต็มช่องว่างของความต้องการของผู้บริโภคได้

Statista หน่วยงานที่รวบรวมสถิติและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตลาดของอุตสาหกรรมต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2562 รายได้ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกจะอยู่ที่ 64,650 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 10.2% ส่งผลให้รายได้ของตลาดจะขยับขึ้นไปถึง 95,421 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2566

เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการสูญเสียโอกาสที่จะเข้ามาช่วงชิงความได้เปรียบในอุตสาหกรรมนี้ไป มาดู 10 เทรนด์ที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมอาหารในมุมมองของบริษัทวิจัยตลาดอาหารและเครื่องดื่ม Innova Market Insights กัน

 

 

1. “ความแปลกใหม่” เอาใจผู้บริโภคชอบผจญภัย

การเปลี่ยนแปลงของโลก หรือ “โลกาภิวัฒน์” กระตุ้นให้ผู้คนออกไปแสวงหาอาหารและเครื่องดื่มแนวใหม่ๆ ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ พยายามเพิ่มลูกเล่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ กลิ่น รสชาติ สี หรือ เนื้อสัมผัสของอาหารที่หลากหลายมากขึ้น ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าที่ชื่นชอบความแปลกใหม่ เช่น Kit Kat ได้เปิดตัวช็อกโกแลตรสชาติใหม่อย่าง Ruby Chocolate หรือช็อกโกแลตทับทิม ที่มาในสีชมพูสดใส และมีรสชาติออกเปรี้ยวนิดๆ เหมือนผสมเบอร์รี่ ถือเป็นนวัตกรรมสำคัญและวิวัฒนาการของวงการช็อกโกแลต จากเดิมที่มีเพียงแค่ดาร์กช็อกโกแลต มิลค์ช็อกโกแลต และไวท์ช็อกโกแลต

 

2. อาณาจักรแห่ง “พืช”

กระแสรักสุขภาพของผู้บริโภค บวกกับการคำนึงถึงเรื่องของความยั่งยืนและสวัสดิภาพของสัตว์ ส่งผลให้อาหารที่มีส่วนประกอบหรือทำจากพืชยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง คนจำนวนไม่น้อยหันมาเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ในขณะที่แบรนด์เองก็หันมาใช้พืชเป็นส่วนประกอบในอาหารเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นการใช้เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ทั้งหมด หรือเป็นการผสมผสานกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่น เช่น Carrefour ได้นำเสนอ Le Palet Boeuf Et Vegetal ซึ่งเป็นการผสมผสานของเบอร์เกอร์ที่มีส่วนประกอบจากพืชและเนื้อวัว

 

 

3. “อาหารทางเลือก” มาแรง

ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการบริโภคอาหารที่ทำมาจากพืชและอาหารมังสวิรัติ จำนวนของชาววีแกน ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการทางเลือกด้านอาหารที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือก อย่างเช่น เนื้อ นม โปรตีน สารให้ความหวาน และแม้กระทั่งปลา โดยกระแสโปรตีนทางเลือกจากพืชกำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น และมีหลายแบรนด์ทำผลิตภัณฑ์ออกมาตอบโจทย์ความต้องการในจุดนี้ เช่น Likemeat ที่ทำไส้กรอกแฮมจากโปรตีนถั่ว หรือ Jimini’s ที่ทำธัญพืชอัดแท่งที่มีโปรตีนจากจิ้งหรีด เป็นต้น

 

4. “รักษ์โลก” แรงหนุนด้านความยั่งยืน

จากผลการสำรวจของ Innova Market Insights บอกไว้ว่า ผู้บริโภค 2 ใน 3 ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน กล่าวว่า บริษัทอาหารต่างๆ ควรมีการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งอาจจะเป็นด้านของการพัฒนา ตรวจสอบกระบวนการต่างๆ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือความรับผิดชอบในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน ไปจนถึงการใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เพื่อแสดงให้ลูกค้าเห็นว่า แบรนด์หรือบริษัทนั้นๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

 

5. “ขนมขบเคี้ยว” ไม่ใช่แค่ของกินเล่น

ของกินเล่น หรือ ขนมขบเคี้ยว จะไม่ใช่แค่อาหารที่ทานเล่นอีกต่อไป เมื่อ 63% ของชาวมิลเลนเนียม (Millennials) เลือกบริโภคขนมแทนอาหารมื้อหลัก เนื่องจากไม่มีเวลาว่าง ซึ่งด้วยวิถีชีวิตแบบนี้ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างอาหารมื้อหลักและของทานเล่นเริ่มจะถูกผสานเข้าด้วยกัน โดยขนมเพื่อสุขภาพมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ขนมที่ทำจากผักหรือเห็ด เป็นต้น

 

 

6. จับตา “อาหารส่วนบุคคล”

ความต้องการและความชอบส่วนบุคคล มีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จะเห็นได้ว่า อาหารสามารถปรับให้เข้ากับความชอบเฉพาะบุคคล หรือ Personalised ได้ เช่น EatLove แพลตฟอร์มโภชนาการส่วนบุคคลและบริการวางแผนอาหาร ได้จับมือร่วมกับ AmazonFresh เพื่อส่งมอบอาหารส่วนบุคคล โดยเป็นบริการที่จะทำการวิเคราะห์สูตรอาหารที่เหมาะสมและตรงตามความต้องการของผู้ใช้ พร้อมบอกรายการของที่ต้องใช้ในการทำอาหารในมื้อนั้นๆ ซึ่งสามารถสั่งซื้อวัตถุดิบต่างๆ ได้ผ่านทาง AmazonFresh และรอรับที่หน้าบ้านได้เลย

 

7. การกลับมาของ “ไฟเบอร์”

ไฟเบอร์ หรือ เส้นใยอาหาร กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในวงการอาหาร โดยผลการศึกษาของ Innova Market Insights บอกว่า 44% ของคนในอเมริกา และ 33% ของคนในสหราชอาณาจักรที่ตอบแบบสอบถามนั้น มีการบริโภคไฟเบอร์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่อ้างถึงการใช้ไฟเบอร์เป็นส่วนผสมเติบโตขึ้นถึง 21% ต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งจะเห็นการใช้ไฟเบอร์ในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เป็นส่วนผสมของโภชนาการด้านกีฬา เช่น สปอร์ตบาร์ต่างๆ (Sports Bars) เป็นต้น

 

 

8. ทานแล้ว “รู้สึกดี”

ผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับสุขภาพ โดยไม่ได้มุ่งแค่เรื่องของโภชนาการอีกต่อไป เพราะพวกเขาต้องการทานอาหารที่จะทำให้รู้สึกดี ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ หรือ จิตใจ โดยมีอาหารและเครื่องดื่มที่เปิดตัวโดยชูเรื่องทานแล้วรู้สึกดีให้เห็นมากขึ้น เช่น Oreo Joy Fills โอรีโอโฉมใหม่ที่ไม่ได้มาในแบบคุกกี้กลมๆ เหมือนเดิม ถึงรูปทรงจะเปลี่ยนไปแต่ความอร่อยยังถูกใจสาวกเช่นเดิม นอกจากนี้ 1 ใน 4 ของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน ยังกล่าวว่า “ความผ่อนคลาย” คือ สิ่งสำคัญในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วย

 

9. คนเลือกซื้อของจาก “แบรนด์เล็ก”

บริษัทสตาร์ทอัพยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการเข้ามาเขย่าวงการอาหารและเครื่องดื่ม โดย 2 ใน 5 ของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ชอบซื้อสินค้าจากผู้ผลิตแบรนด์เล็กๆ เนื่องจากมองว่า พวกเขามีความใส่ใจในเรื่องตัวผลิตภัณฑ์มากกว่า และมีเรื่องราวในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ และเพื่อเป็นการแก้เกม แบรนด์ใหญ่จึงเริ่มหันมาจับมือร่วมทำงานกับสตาร์ทอัพมากขึ้น อย่าง Beyond Meat ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกัน ผู้ผลิตเนื้อกระป๋องทดแทนจากพืช ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้เล่นรายใหญ่ เช่น Tyson Foods, Humane Society, General Mills และนักแสดงอย่าง ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ

 

 

10. “โซเชียลส่งเสียง” ร่วมสร้างสูตรอาหาร

โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลเป็นอย่างมากกับเทรนด์นี้ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคสามารถแชร์ว่า พวกเขาทานอะไรกันได้แล้ว ยังเป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารไปยังแบรนด์หรือบริษัท ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาอาหาร โดยผู้บริโภคชาวจีน (55%) อเมริกัน (43%) และอังกฤษ (24%) ที่มีอายุ 26 – 35 ปี กล่าวว่า พวกเขาถ่ายรูปอาหาร แล้วโพสต์บนออนไลน์อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง และด้วยเทรนด์นี้ ทาง โอรีโอ จึงสร้างแฮชแท็ก #myoreocreation ที่ให้แฟนๆ เลือกได้ว่า อยากได้รสชาติใหม่รสไหน ซึ่งรสเชอร์รี่โคล่า เป็นผู้ชนะไปและได้ผลิตออกสู่ตลาดจริง

 

“นวัตกรรม” ทางออก SME สร้างความต่าง ตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่

ในขณะที่แบรนด์โลกเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง ผู้ประกอบการอาหารบ้านเราก็ไม่น้อยหน้า ต่างพากันนำเอานวัตกรรมมาประยุตก์ใช้สร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาท้าสายตาของผู้บริโภคและนักชิม ยกตัวอย่าง ดร. ภูมิยศ พยัคฆวรรณ เจ้าของผลิตภัณฑ์ไก่แผ่นอบกรอบ Sexy Chick ที่นำเนื้ออกไก่มาพัฒนาเป็นขนมขบเคี้ยว ซึ่งผ่านกระบวนการขึ้นรูปใหม่และอบแห้ง ให้ทั้งโปรตีนสูงและพลังงานแก่ร่างกาย ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการบริโภคขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ

 

 

“เรามุ่งเจาะไปที่ตลาดนักกีฬา คนออกกำลังกาย คนเล่นกล้ามที่ต้องอาศัยการทานโปรตีน รวมถึงคนรักสุขภาพที่ไม่อยากทานพวกไขมันและแป้ง โดยทำการเปลี่ยนการบริโภคเนื้ออกไก่ในรูปแบบเดิมๆ มาเป็นขนมทานเล่นที่มีโปรตีนสูง เพื่อทำให้เกิดความแปลกใหม่ และไม่จำเจ โดยเฉพาะกับนักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายที่ต้องทานอกไก่อยู่เป็นประจำ แน่นอนว่า “นวัตกรรม” เป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาสินค้าออกมาสักชิ้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่า จะนำมาใช้อย่างไร ซึ่งการจะมีผลิตภัณฑ์ที่ดี และเข้าไปอุดช่องว่างในตลาดได้ ก็ต้องอาศัยการใช้นวัตกรรม ที่จะมาช่วยทั้งในแง่ของการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น”

 

 

ในขณะที่ตลาด Ready to Cook หรือ อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงนั้น มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คุณอภัสนันท์ พงศ์ธนะนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Top THAI LED CO WORKER CO., LTD จึงไม่รอช้าที่จะนำนวัตกรรมการทำแห้งด้วยการแช่เยือกแข็ง (Freeze dehydration หรือ Lyophilisation) มาพัฒนาจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำแกงส้มทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง ภายใต้แบรนด์ AP Thailand

“ฟรีซดราย เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของต่างชาติ ช่วยรักษาคุณภาพ โดยคงสภาพความสดใหม่ของอาหารได้เป็นอย่างดี และเก็บได้นานถึง 1 ปี อีกทั้งยังตอบรับกับกระแส Ready to Cook ทั้งในแง่ของผู้บริโภครายเล็กและร้านอาหารในต่างประเทศที่ต้องการหาสมุนไพรและวัตถุดิบแบบไทยๆ ได้ง่ายขึ้น”

นอกจากนี้ เมื่อสังคมผู้สูงวัยมีการเติบโตมากขึ้น ขณะที่ผู้มีปัญหาด้านการเคี้ยวและกลืนยังถูกมองข้าม จึงจุดประกายให้ คุณชวลิต ธนสหวรคุณ ผู้อำนวยการ บริษัท เบนส์เวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ลุกขึ้นมาพัฒนาเยลลี่สูตรใหม่ ที่มีเนื้อสัมผัสนุ่มลื่น รับประทานง่าย รสชาติอร่อย และพกพาสะดวก เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้

 

 

“เดิมทีเรามีผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย เป็นแบบผงชงแล้วดื่มอยู่แล้ว ทำให้เรามีวัตถุดิบอยู่ในมือ จึงมีความคิดที่จะต่อยอดและนำไปพัฒนาเป็นอาหารประเภทอื่น จนมาตกผลึกที่การเป็นเยลลี่สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาด้านการเคี้ยวและการกลืนอาหาร ซึ่งในเมืองไทยยังไม่มี โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 1 ปี ทดลองกันอยู่หลายสิบครั้งจึงสำเร็จออกมา โดยเป็นเยลลี่ที่กลืนง่าย มีความลื่นหรือหนืดที่เหมาะสม และมีการเพิ่มคุณค่าทางอาหารเข้าไปด้วย เช่น สารสกัดจากใบแปะก๊วย โอเมก้า 3 (อีพีเอ/ EPA) โปรตีน ใยอาหาร แคลเซียม และวิตามินแร่ธาตุสูง อีกทั้งยังปราศจากกลูเตน น้ำตาล และน้ำตาลแลคโตส”

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังตอบโจทย์กลุ่มผู้ที่มีปัญหาด้านการเคี้ยวและการกลืนอาหาร เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งในช่องปากและช่องคอ ผู้มีความบกพร่องของหลอดอาหาร รวมถึง ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งระบบประสาทสั่งงานด้านการเคี้ยวและกลืนไม่สัมพันธ์กัน

“การกลืนอาหารหรือน้ำไม่ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะสามารถส่งผลกระทบได้ทั้งทางร่ายกายและจิตใจ ซึ่งนอกจากจะต้องเจอกับปัญหาการขาดน้ำและสารอาหารแล้ว ยังทำให้มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคมด้วย โดยผลิตภัณฑ์นี้จะเข้ามาทำให้ทั้งสุขภาพและชีวิตทางสังคมของคนเหล่านี้ดีขึ้นได้”

เห็นแล้วใช่ไหมว่า หากต้องการจะทำธุรกิจอาหารยุคใหม่ให้แตกต่างและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ ต้องไม่มองข้าม “นวัตกรรม” อย่างเด็ดขาด

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

10 เทคนิคกู้เงิน ฉบับ SMEs

ปัญหาหลักที่มักพบ เวลากู้เงินธนาคาร

ปัญหาการกู้เงินของผู้ประกอบการ SMEs ไม่ได้เป็นเรื่องยากหรือง่าย แต่ด้วยปัจจุบันการกู้ไม่ผ่าน หรือที่บอกว่ากู้ยาก น่าจะเป็นการสื่อสารหรือไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ให้กู้และผู้กู้ ที่ความคิดเห็นในบางมุมยังไม่ตรงกัน เช่น ธนาคารต้องการข้อมูลบางอย่าง แต่ผู้กู้ไม่สามารถให้ข้อมูลที่ได้ตรงตามที่ธนาคารต้องการได้ ก็อาจทำการกู้นั้นกู้ไม่ผ่าน ดั้งนั้น ผู้ที่ต้องการกู้จะต้องเตรียมตัวพอสมควร เพื่อให้ธนาคารหรือผู้ให้กู้ มั่นใจว่า การกู้ครั้งนี้ผู้กู้สามารถชำระเงินคืนได้

นอกจากการสื่อสารที่เป็นปัญหาแล้ว ต้องมองในมุมผู้ให้กู้ว่า หากมีคนมากู้เงินเรา สิ่งที่เรากังวลคือวัตถุประสงค์ของเงินนี้จะนำไปทำอะไร มีโอกาสที่จะชำระคืนได้ไหม ภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน สามารถชำระได้หรือไม่ ในมุมของธนาคารก็เช่นกัน การที่จะให้ SMEs หนึ่งรายกู้เงิน ธนาคารก็ต้องการทราบว่าธุรกิจที่ต้องการกู้มีศักยภาพหรือความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และความสามรถในการชำระคืนเป็นไปตามที่ตกลงกันหรือเปล่า

สิ่งเหล่านี้ คือ การที่ SMEs ต้องแสดงตัวตนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์พูดคุย หรือการเตรียมข้อมูลเอกสารต่างๆ เพื่อให้ธนาคารสามารถตรวจสอบได้ว่า สิ่งที่ธนาคารต้องการนั้น ลูกค้าสามารถสอบผ่านในเกณฑ์ต่างๆ ของธนาคารได้

เทคนิคที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs กู้เงินจากธนาคารได้ง่ายขึ้น
เป็นเทคนิคที่ บสย. รวบรวมจากผู้ประกอบการ SMEs และธนาคาร สรุปเป็นหัวข้อ ดังนี้

1.  พฤติกรรมการชำระหนี้ 

ทำอย่างไรให้ธนาคารรู้จักเราพอสมควร เราเป็นใคร ทำธุรกิจอะไร ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร สิ่งนี้ ถือเป็นด่านแรกที่ธนาคารจะตรวจสอบว่า ผู้ประกอบการมีประวัติชำระหนี้ที่ดีหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบธนาคารได้มากที่สุดในเรื่องพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ผ่านมาว่า ลูกค้ารายนี้เป็นลูกค้าที่ดีหรือไม่ เคยติดยอดค้างชำระอะไรหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันการยื่นขอสินเชื่อธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอี หรือสินเชื่อส่วนบุคคล หรือซื้อรถ ซื้อบ้าน ทุกคนต้องแสดงตัวตน เรื่องประวัติการชำระหนี้ จากการตรวจสอบประวัติเครดิต หรือที่เรียกว่า “เครดิตบูโร”

 

2. เตรียมบัญชีธุรกิจ 

การเตรียมบัญชีของกิจการหรือธุรกิจ ธนาคารจะขอดูเรื่องการเดินบัญชีว่า มีเงินบวกมากกว่าเงินออกหรือไม่  โดยจะดูเป็นค่าเฉลี่ยย้อนหลังไป 6 เดือน หรือ 1 ปี ขึ้นอยู่กับอายุของกิจการ

 

3. วัตถุประสงค์การกู้ 

แผนธุรกิจหรือแผนงานการลงทุนที่จะขอกู้ การกู้ในครั้งนี้จะนำไปลงทุนในส่วนไหนของกิจการ นำไปลงทุนขยายงาน หรือไปใช้หมุนเวียนในกิจการ เรื่องเหล่านี้ต้องตอบธนาคารให้ชัดเจน เพราะการจะกู้เงินได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแผนงานของธุรกิจด้วยว่า เรามีความรอบคอบในการจัดแผนงานในการไปขอกู้ มีการวางแผน และประมาณการไปข้างหน้าว่า ได้เงินแล้วจะทำอะไร อย่างไร

 

4. เอกสารที่นอกเหนือจากแผนธุรกิจ

คือเอกสารของตัวผู้กู้ เช่น หนังสือรับรอง หนังสือจดทะเบียนบริษัท ในกรณีบุคคลธรรมดา เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ต้องเตรียมไปให้พร้อม รวมถึงเอกสารที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการ

 

5. ศึกษาข้อมูลสินเชื่อ

การปรึกษาธนาคารเกี่ยวกับสินเชื่อที่จะขอว่ามีกี่ประเภท แบบไหนบ้าง สินเชื่อแบบไหนควรเข้าไปปรึกษาที่ธนาคารใด หรือจะสอบถามผ่านธนาคารที่มีบัญชีอยู่แล้ว หรือสอบถามมาทาง บสย. เราจะเป็นตัวกลางในการให้ข้อมูลและคำแนะนำว่า สินเชื่อแบบไหน มีธนาคารใดให้บริการอยู่

 

6. ให้ข้อมูลกับธนาคารถูกต้อง ครบถ้วน

ให้ข้อมูลกิจการกับธนาคาร ข้อมูลที่ให้ต้องชัดเจน ถูกต้อง เป็นข้อมูลที่ตอบธนาคารได้อย่างมั่นใจ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ธนาคารทำเรื่องในการขออนุมัติได้ง่ายขึ้น

 

7. เตรียมสัดส่วนเงินทุน

การเตรียมสัดส่วนเงินทุน ทั้งทุนของเราเองกับเงินที่กู้ธนาคาร ในการกู้ธุรกิจธนาคารไม่ได้ให้กู้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพื่อเอาไปลงทุน แต่จะต้องมีสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม ระหว่างทุนของกิจการเองและจากทางธนาคาร ทุนในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเงิดสดอย่างเดียว อาจจะเป็นรถที่ซื้อใช้ในกิจการ บ้านที่เป็นที่อาศัยและออฟฟิศในตัว หรือเป็นที่สต๊อกสินค้า ให้แจ้งกับธนาคารว่าเป็นส่วนที่กิจการลงทุนมาเบื้องต้น

 

8. ศึกษาแนวโน้มธุรกิจ

ศึกษาแนวโน้มของธุรกิจ เมื่อดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้วต้องมีการศึกษาข้อมูลมาประกอบ เพราะในการขอสินเชื่อ ธนาคารจะมองแผนธุรกิจที่วางไว้ ว่าต้องไปในทิศทางเดียวกันกับการทำธุรกิจในปัจจุบันด้วย

 

9. กรณีได้สินเชื่อไม่ตรงตามความต้องการ

กิจการควรเตรียมเอกสารหรือข้อมูล เพื่อที่จะให้กับธนาคารเพิ่มเติม และค่อยๆ หาเหตุผลประกอบ กรณีที่ธนาคารไม่สามารถให้สินเชื่อเต็มวงเงินตามที่เราต้องการได้

 

10. หลักประกัน

การขอสินเชื่อ คือการสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารว่า กิจการจะสามารถชำระเงินคืนได้ ในระยะเวลา และจำนวนเงินที่ธนาคารกำหนด แต่ในเรื่องการรองรับความเสี่ยง แม้ว่าธนาคารจะพิจารณาสินเชื่ออย่างดี และอนุมัติสินเชื่อให้กับธุรกิจตามต้องการแล้ว แต่ธนาคารเอง ก็ต้องมีการบริหารความเสี่ยง จึงต้องมีหลักประกันเป็นตัวบริหารความเสี่ยง เช่น ที่ดิน สำนักงาน เพื่อที่จะขายชำระหนี้แทน ในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่ง บสย. เป็นหนึ่งในหลักประกัน ที่ผู้กู้สามารถใช้บริการได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นพันธกิจหลักของ บสย. เพื่อให้ธนาคารมีความเชื่อมั่นในการอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

5 กลยุทธ์ที่จะช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง

ต้นทุนการขนส่งนับเป็นต้นทุนที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งเพราะในปัจจุบันการขนส่งมีความสำคัญต่อธุรกิจเกือบทุกประเภท ทำให้ในหลาย ๆ ธุรกิจต้นทุนการผลิตมีผลกระทบต่อต้นทุนรวมของผลิตภัณฑ์และบริการ ต้นทุนของผู้ประกอบการขนส่งจะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาค่าขนส่ง ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องวางแผนกำหนดกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนในการขนส่ง ดังต่อไปนี้

 

1. กลยุทธ์การใช้พลังงานทางเลือก

โดยปรับเปลี่ยนพลังงานที่ใช้ในการขนส่งจากน้ำมันดีเซล หรือเบนซิน เป็นไบโอดีเซล หรือ ก๊าซ CNG ซึ่งการใช้ก๊าซ CNG นั้นจะประหยัดกว่าการใช้น้ำมันถึง 60-70%

 

2. กลยุทธ์การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งแบบใหม่

หรือเป็นวิธีการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการผสมผสานการขนส่งตั้งแต่ 2 รูปแบบขึ้นไป โดยอยู่ภายใต้สัญญาหรือผู้รับผิดชอบการขนส่งรายเดียว ซึ่งโครงสร้างของระบบขนส่ง สามารถแบ่งตามลักษณะทางกายภาพได้ 5 แบบ คือ การขนส่งทางถนนการขนส่งทางราง การขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางอากาศ และการขนส่งทางท่อการผสมผสานการขนส่งหลายรูปแบบ เพื่อให้สามารถทันต่อการตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยคำนึงถึงต้นทุนการขนส่งของรูปแบบ
ต่าง ๆ ให้ประหยัดที่สุด

 

3. กลยุทธ์ศูนย์กระจายสินค้า

การหาที่ตั้งศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าตามยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่สามารถกระจายและส่งต่อไปยังจังหวัดใกล้เคียงหรือประเทศเพื่อนบ้านได้โดยการจัดศูนย์กระจายสินค้าจะช่วยทำให้สามารถลดต้นทุนในการขนส่งได้ เนื่องจากการขนส่งตรงถึงลูกค้าในต่างจังหวัดโดยไม่มีศูนย์รวบรวมพักสินค้า ทำให้ส่วนใหญ่ต้องขนส่งเที่ยวเปล่ากลับ หรือขนส่งไม่เต็มคันรถซึ่งสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้จากการกำหนดศูนย์กระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ มีโครงข่ายกระจายสินค้าทำหน้าที่รวบรวมสินค้าให้เต็มคันรถหรือจัดพาหนะให้เหมาะสมกับจำนวนและสอดคล้องกับสถานที่ส่งมอบสินค้า

 

4. กลยุทธ์การขนส่งสินค้าทั้งเที่ยวไปและกลับ

การเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งด้วยการลดการวิ่งเที่ยวเปล่า เพราะการขนส่งโดยทั่วไปเมื่อส่งสินค้าเสร็จจะตีรถวิ่งเที่ยวเปล่ากลับมาส่งผลให้เกิดต้นทุนการประกอบการเพิ่มสูงขึ้นโดยเปล่าประโยชน์ โดยต้นทุนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าและผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนเหล่านี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ต้นทุนประกอบการเพิ่มสูงขึ้น

 

5. กลยุทธ์การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

เพื่อมาช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง คือ ระบบบริหารจัดการการขนส่งสินค้า (Transportation management system; TMS) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการวางแผนการขนส่ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของธุรกิจการขนส่ง ซึ่งคือความรวดเร็วและต้นทุนที่ประหยัดที่สุด องค์ประกอบของระบบ TMS คือ การบริหารการจัดการด้านขนส่งซึ่งมีหน้าที่ในการวางแผนการดำเนินงานขนส่งและอีกองค์ประกอบหนึ่ง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งหน้าที่ช่วยในการตัดสินใจในเรื่องการบรรทุกสินค้า และการจัดวางเส้นทางให้มีประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้ข้อจำกัดต่างๆหัวใจหลักของการขนส่ง คือการส่งของให้รวดเร็วและเกิดต้นทุนในการขนส่งที่ต่ำที่สุด ดังนั้นผู้ประกอบการขนส่งจึงจำเป็นต้องพิจารณาจากหลากหลายปัจจัยที่จะช่วยทำให้ลดต้นทุนในการขนส่ง เพื่อไม่ให้ไปกระทบต่อต้นทุนรวมของผลิตภัณฑ์และบริการของธุรกิจ

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

ปลูกไม้ยืนต้นลงทุนไม่เสียเปล่า 4 กลุ่มต้นไม้เศรษฐกิจ ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้

จากการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้บังคับหลักประกัน สถาบันการเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ประเด็น “ต้นไม้มีมูลค่า ประเมินราคาอย่างไร” จำนวนทั้งสิ้น 3 ครั้ง ทำให้ผู้ที่เข้ารับการอบรมได้รับความรู้เชิงลึกและเข้าใจถึงแก่นหลักของการนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น

ทั้งนี้ ผศ.ดร.สาพิศ ดิลกสัมพันธ์ หัวหน้าภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้คำอธิบายความหมายของคำว่า ไม้ยืนต้น ตามกฎกระทรวงพาณิชย์ว่า “คือต้นไม้ชนิดใดๆ ที่มีศักยภาพและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ การปลูกต้นไม้ถือเป็นการลงทุน และหากไม้ยืนต้นที่ปลูกมีอัตราการเจริญเติบโตช้า การปลูกไม้ยืนต้นนั้นก็จะเป็นการลงทุนระยะยาว

ดังนั้น การส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างแรงจูงใจและต้องการกลไกทางการเงินเข้ามาช่วยสนับสนุน รวมทั้ง การปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎหมายให้การปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสามารถตัด จำหน่าย ทำไม้ได้อย่างสะดวก การให้องค์ความรู้ทางวิชาการในเรื่องการปลูก การเลือกพันธุ์ไม้ และพื้นที่ปลูกก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ

ปัจจุบันมีการแยกประเภทพันธุ์ไม้ที่มีศักยภาพสำหรับปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจ ตามโครงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นทุนระยะยาว โดยใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราการเติบโต รอบตัดฟัน และมูลค่าของเนื้อไม้มาใช้เพื่อแบ่งต้นไม้ออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตเร็ว รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ กลุ่มนี้จะมีมูลค่าต่ำ เช่น ยูคาลิปตัส สัตตบรรณ กระถินเทพา กระถินณรงค์ ฯลฯ

กลุ่มที่ 2 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ประดู่ ยางนา กระบาก สะตอ ฯลฯ

กลุ่มที่ 3 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง ได้แก่ สัก ฯลฯ

กลุ่มที่ 4 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก เช่น พะยูง ชิงชัน จันทน์หอม มะค่าโมง ฯลฯ เป็นต้น

สำหรับต้นไผ่ในทางวิชาการไม่ถือว่าเป็นไม้ยืนต้น แต่ปัจจุบันมีการนำไม้ไผ่มาแปรรูปและทำประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ มากมาย ดังนั้น การนำไม้ไผ่มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจสามารถทำได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องของคู่สัญญาระหว่างผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกันที่จะตกลงกัน แต่ในมุมมองของไม้มีค่า “ไผ่” ถือเป็นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

 

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินราคาทรัพย์สิน คุณไพรัช มณฑาพันธุ์ นายกสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย ได้กล่าวว่า การประเมินมูลค่าไม้ยืนต้นเพื่อรับเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้ไม้ยืนต้นสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันนั้น ก็เพื่อให้ “ต้นไม้” ซึ่งมีมูลค่าในตัวเองโดยไม่ถือเป็นส่วนควบของที่ดิน สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ แต่เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าต้นไม้เป็นการเฉพาะ จึงต้องใช้หลักวิธีการประเมินทรัพย์สินอื่นที่เทียบเคียง โดยวิธีการประเมินทรัพย์สินที่เป็นมาตรฐานสากลโดยทั่วไปจะใช้หลัก IVSC (International Valuation Standards Council) แบ่งเป็น 3 วิธี ได้แก่

วิธีที่ 1 การประเมินโดยคิดจากมูลค่าต้นทุน (Cost Approach) คือ มูลค่าของไม้ยืนต้นจะเท่ากับผลรวมของต้นทุนทั้งหมดในการพัฒนาผลผลิต ได้แก่ ต้นทุนเริ่มเตรียมการ การพัฒนาดิน ค่ากล้าไม้ และต้นทุนอื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยจ่าย เบี้ยประกัน ค่าแรง ค่าใช้จ่ายอื่นๆในการประกอบการ วิธีนี้จะไม่คำนึงถึงศักยภาพของผลผลิต และการเติบโตในอนาคต ดังนั้น ต้นทุนที่สูงไม่ได้สะท้อนถึงมูลค่าตลาดว่าจะสูงตามไปด้วย

วิธีที่ 2 การประเมินโดยเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) วิธีการนี้เป็นการวิเคราะห์มูลค่าจากการซื้อขายต้นไม้จริง การเปรียบเทียบราคา การใช้ข้อมูลทางสถิติ ข้อมูลราคาไม้แปรรูปในตลาดเปิด เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) สำนักงานส่งเสริมปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ เป็นต้น รวมทั้งการพิจารณามูลค่ามาตรฐานไม้ยืนต้น แก่นไม้ กระพี้ เปลือก วิธีนี้จะสะท้อนมูลค่าของตลาด แต่ข้อมูลที่ใช้สำหรับเปรียบเทียบราคาจำเป็นต้องมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการประเมินราคาด้วย

วิธีที่ 3 การประเมินโดยคิดจากรายได้ (Income Approach) คือ การประเมินมูลค่าผลประโยชน์ตอบแทนสุทธิที่จะได้มาในอนาคต ด้วยการจัดทำประมาณการกระแสเงินสด (รายรับ-รายจ่าย) แล้วคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ข้อมูลสำหรับการประเมินได้จากการประมาณการปริมาตรไม้ยืนต้นบนแปลงที่ประเมิน มูลค่าตามอายุไม้ที่สามารถตัดไปทำประโยชน์ได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ วิธีการประเมินไม้ยืนต้นที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย คือ การประเมินราคาโดยเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) โดยสืบหาและเทียบเคียงราคาซื้อขายในตลาดให้ได้ราคาที่ใกล้เคียงมากที่สุดเพื่อสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง และปัจจุบันมีการซื้อขายต้นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ครบถ้วน แพร่หลาย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีราคากลางเพื่อเป็นมาตรฐานในการประเมินราคาต่อไป

 

 

ขณะเดียวกัน คุณวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมหารือกับสถาบันการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บ.ส.ย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ประเด็น “การนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ” เพื่อให้สถาบันการเงินเปิดรับไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เช่น ปัญหา-อุปสรรค และแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้มากที่สุด และเป็นที่พึ่งสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี/ประชาชนทั่วไปที่ต้องการนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจหรือเพื่อการกู้เงิน

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

3 ขั้นตอนจดทะเบียนบริษัทได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสำหรับผู้ประกอบการหลายๆ คนมองมักว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบาก เพราะต้องมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและต้องเตรียมเอกสารมากมาย แต่ปัจจุบันกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการพัฒนาระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ผ่านทาง www.dbd.go.th เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ สามารถดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ดังนั้น มาดูกันว่าหากผู้ประกอบการจะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยตนเองต้องทำอย่างไรบ้าง

 

1. จองชื่อบริษัท

สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ คือ จองชื่อบริษัท ด้วยการเข้าไปยื่นจองชื่อนิติบุคคลผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th คลิกที่เมนู จองชื่อนิติบุคคล ซึ่งชื่อที่จะใช้นั้นต้องไม่ซ้ำ หรือใกล้เคียงกับบริษัทที่เคยจดทะเบียนไปแล้ว โดยจะทำการจองได้ครั้งละ 1 ชื่อเท่านั้น จากนั้นให้ดำเนินการจองชื่อและนายทะเบียนจะทำการตรวจสอบ เมื่อจองชื่อได้แล้วจะต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นต้องทำการจองชื่อใหม่

 

2. จัดเตรียมข้อมูลให้พร้อม

ในการจดทะเบียนบริษัท ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลสำหรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและการจดจัดตั้งบริษัท ซึ่งหนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือที่แสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท มีไว้เพื่อระบุขอบเขตต่างๆ ของธุรกิจ โดยผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิไปในคราวเดียวกันได้ แต่จะต้องมีการเตรียมข้อมูลให้พร้อมเพื่อความถูกต้องและรวดเร็ว

สำหรับข้อมูลที่ต้องเตรียมไว้ให้พร้อมมีดังนี้

  1. ชื่อบริษัทตามที่ได้จองไว้
  2. รายละเอียดที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หากไม่ได้เป็นเจ้าของสถานที่เอง ต้องมีหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่
  3. วัตถุประสงค์ของบริษัทต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม
  4. ทุนจดทะเบียน เป็นการจำกัดความรับผิดชอบความเสียหายที่บริษัทอาจก่อขึ้น ส่วนใหญ่นิยมจดกันที่ 1 ล้านบาท
  5. ข้อมูลผู้เริ่มก่อการ หากอธิบายง่ายๆ ก็คือ ผู้ก่อตั้งธุรกิจนั่นเอง จะต้องมีอย่างน้อย 3 คน และต้องจองซื้อหุ้นอย่างน้อยคนละ 1 หุ้น
  6. ข้อมูลผู้ถือหุ้น ชื่อ-สกุล ที่อยู่ สัญชาติ และจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน
  7. ข้อมูลพยาน ต้องมี 2 คน โดยกรอก ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน วันเกิด ที่อยู่ อาชีพ
  8. รายละเอียดการประชุมจัดตั้งบริษัท เช่น ข้อมูลกรรมการบริษัท ชื่อ-สกุล ที่อยู่ และวันเกิดของกรรมการบริษัทแต่ละคน ข้อมูลผู้สอบบัญชี โดยกรอกชื่อ-นามสกุล เลขทะเบียนผู้สอบบัญชี และค่าตอบแทน และอำนาจกรรมการ ระบุจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท และระบุว่าต้องมีตราประทับหรือไม่ ถ้าเลือกต้องมีตราประทับก็จะต้องจัดทำตรายางด้วย เป็นต้น

 

3. ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านระบบออนไลน์

การยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท สามารถดำเนินการผ่าน ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยสามารถยื่นจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทั้งในรูปแบบของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัด

เริ่มจากลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว เพื่อขอรับ Username และ Password สำหรับใช้งานระบบ e-Registration ได้ที่ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1-6 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการต้องไปแสดงตัวตนต่อหน้านายทะเบียน หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนก็ได้ เท่านี้ก็จะมีรายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว

จากนั้นให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ e-Registration เพื่อยื่นคำขอจดทะเบียน และชำระค่าธรรมเนียม หากผู้ประกอบการชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัทครบถ้วนแล้ว นายทะเบียนจะทำการรับเรื่องจดทะเบียน และแจ้งผลการจดทะเบียนผ่านอีเมล์  เมื่อท่านได้รับอีเมล์ ถือเป็นที่สิ้นสุดการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ จากนั้นรอรับหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งจะถูกจัดส่งให้กับท่านทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ ซึ่งได้ระบุไว้ในระบบการลงทะเบียน e-Registration นั่นเอง

 

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

บทความแนะนำ