Le Casino เปลี่ยนขยะเป็นโอกาสกับเส้นทางเดินของรองเท้ารักษ์โลก

 

Le Casino เปลี่ยนขยะเป็นโอกาสกับเส้นทางเดินของรองเท้ารักษ์โลก 

“เราอาจจะไม่ต้องหาอะไรที่ไกลตัว แค่มองใกล้ๆ ตัวเราอาจจะเห็นโอกาสมากมาย เช่นเดียวกับ รองเท้ารักษ์โลก ที่ไม่ใช่เพียงสวมใส่สบายและสวยงาม แต่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” คุณกัญชรัตน์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Le Casino และดีไซเนอร์

“Le Casino” แบรนด์รองเท้าสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีของไทย ที่ก่อตั้งโดย ดีไซเนอร์ไทย จากจุดเริ่มต้นของธุรกิจครอบครัว ที่อยู่ในวงการผลิตรองเท้ามากว่า 30 ปี เริ่มต้นตั้งแต่จำหน่ายวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตรองเท้า ทำ OEM จนเริ่มมาผลิตจำหน่ายเอง 

จากต้นกำเนิดของธุรกิจครอบครัว สู่ความชอบส่วนตัวและความรักที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ที่ถูกแปรผันมาต่อยอดด้วยเศษขยะเหลือทิ้ง จนขึ้นหิ้งแบรนด์รักษ์โลกที่ทันสมัย มีเอกลักษณ์ และความหรูหรา โดยมีการผลิตคอลเลคชั่นใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง 

แนวคิดของ แบรนด์ Le Casino เกิดจากการเห็นเศษหนังเหลือทิ้งจำนวนมาก จากการผลิตรองเท้า และของเสียจากการฟอกหนัง ที่ไหลลงสู่ทะเล จึงมีความคิดว่าอยากจะหาวัสดุอื่นมาทดแทนหนัง โดยทางแบรนด์ได้ทำการศึกษาข้อมูลมากมาย จึงได้พบว่าในต่างประเทศมีการนำขวดพลาสติก มาแปรรูปให้กลายเป็นของใช้ต่างๆ อย่างแพร่หลาย และด้วยที่พื้นฐานครอบครัวที่ทำธุรกิจผลิตรองเท้า จึงได้มีความคิดริเริ่มหาหนทางดำเนินการผลิตรองเท้ารักษ์โลกจากเศษขยะเหลือใช้และทำให้สามารถใส่ได้แบบมีอายุการใช้งานได้ยาวนาน

คุณกัญชรัตน์ ยังได้กล่าวต่ออีกว่า ที่เลือกใช้ขวดพลาสติกใช้แล้ว เนื่องจากเป็นวัสดุที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ด้วยในกระบวนการการผลิตได้ใช้ความร้อนในการรีดวัสดุและผสมสีเข้าไปในเม็ดสีพลาสติกทันที ทำให้ไม่เกิดสารพิษหรือของเสียออกมาภายนอก 

สำหรับแนวคิดของ “Le Casino” นั้น เน้นการนำวัตถุดิบเหลือใช้มาหมุนเวียน เพื่อให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง โดยทางแบรนด์ได้กำหนดแนวทางอย่างชัดเจนกับผู้ผลิต ยกตัวอย่างเช่น ส่วนประกอบของรองเท้าที่วางสู่ตลาดนั้น จะสามารถนำกลับรีไซเคิลใหม่ได้ อีกด้วย

ปัจจุบัน “Le Casino”  ได้คลอด Collection Waste to Wow กับการเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง เพื่อนำมาประกอบเป็นรองเท้า ผลิตด้วยงานฝีมือ (แฮนด์เมด) จากช่างที่มีฝีมือคุณภาพของไทย ซึ่งแบรนด์นี้ เป็นแบรนด์แรกในไทยที่ผลิตรองเท้าจากขวดพลาสติก มีมายาวนานเกือบ 10 ปี

 

พลิกวิกฤต Covid-19 สู่โอกาสเติบโตบนโลกออนไลน์

ด้วยความคุ้นชินกับธุรกิจและรากฐานของลูกค้า ที่มักจะมาซื้อผ่านหน้าร้าน คุณกัญชรัตน์ จึงมุ่งหน้าทำแบรนด์ผ่านทางช่องทางออฟไลน์มาโดยตลอด จนกระทั่งได้พบกับสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ศูนย์การค้าถูกสั่งปิด ส่งผลกระทบทำให้ยอดขายตกต่ำลงอย่างมาก 

แบรนด์ Le Casino ได้เปลี่ยนแผนการตลาดใหม่ทั้งหมด โดยได้นำบทเรียนจาก Covid-19 พลิกวิกฤตมาทำการตลาดออนไลน์ สร้างฐานลูกค้าใหม่ โดยการทำโฆษณาให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้รู้จักกับแบรนด์มากขึ้น จนปัจจุบันทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่เพียงความสำเร็จด้านยอดขาย แต่ Le Casino ได้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นจากลูกค้ากลุ่มเดิมๆ 

คุณกัญชรัตน์ ได้นำเสนอ แบรนด์ Le Casino ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยได้ชูจุดเด่นจากวัตถุการผลิตรองเท้าที่พัฒนามาจากขวดพลาสติกรีไซเคิล รายแรกของไทย ที่มีดีไซน์ที่สวยงาม ทำความสะอาดง่าย และใช้ได้ทนทาน ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ล้วนเป้นจุดขายที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์เป็นอย่างมาก 

จากความสาหัส สู่การพัฒนาการตลาดของแบรนด์ ทำให้ปัจจุบัน แบรนด์ Le Casino เรียกได้ว่าเข้าสู่การตลาดออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ 

คุณกัญชรัตน์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า แรงบันดาลใจ เกิดขึ้นจากสิ่งรอบๆ ตัวเราเอง บางทีเราอาจจะไม่ต้องไปมองหาไกลๆ ว่าเราจะทำอะไรดี บางครั้งมันอาจจะอยู่ใกล้ตัวเราแค่นี้แต่เรามองไม่เห็นมัน

อย่างที่ทราบว่าในทุกช่วงของวิกฤตการณ์ มักมาพร้อมกับการปรับเปลี่ยนของตลาดอยู่เสมอ หลากหลายธุรกิจประสบปัญหา หลากหลายธุรกิจพบทางออกที่ดี หรือแม้แต่บางธุรกิจอาจจะต้องปิดตัวลง 

ในทุกการเปลี่ยนแปลงของการทำการตลาด จะเห็นได้ว่าได้มีองค์มากมายเกิดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น สสว. อุทยานวิทยาศาสตร์หรือกระทรวงต่าง ๆ  อีกมากมาย ทั้งนี้หากผู้ประกอบการ หรือผู้ที่อยากทำธุรกิจ มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ที่เกิดขึ้นตามองค์กรต่างๆ ได้เช่นกัน

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สเต็ปพลัสฟุตแวร์ จำกัด

ที่อยู่ : 2024/127-128 ซ.สุขุมวิท 50 ถ.ริมทางรถไฟสายปากน้ำ 
แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10260 

โทร: +66 2-258-2757

แฟ็กซ์: +66 2-259-4973

Website : https://www.lecasinobrand.com 

Facebook : Le Casino

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

ICONIC h สร้างสรรค์ความสำเร็จ จากอุปสรรค พัฒนามาตรฐานอย่างครบวงจร

 

ICONIC h สร้างสรรค์ความสำเร็จ จากอุปสรรค พัฒนามาตรฐานอย่างครบวงจร

“ถ้าจะมองหาโรงงานที่ผลิตเครื่องสำอางค์ ต้องบอกว่าผลิตที่ไหนก็ได้ แต่ ICONIC h สามารถไปได้ไกลกว่า ไม่ว่าจะแบรนด์เล็ก หรือแบรนด์ใหญ่ เราจะดูแลให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างแน่นอน” คุณน้ำเพชร กรรมการผู้จัดการ House of soap Thailand

House of soap Thailand  หรือ ICONIC h เกิดจากความหลงใหลในกลุ่มเครื่องสำอางค์ ของคุณน้ำเพชร จนทำให้เกิดความชอบจนได้ไปศึกษาข้อมูลในศาสตร์ต่างๆ ของการผลิตเครื่องสำอางค์ ไม่ว่าจะเป็น การผลิตสบู่ การเป็นบล็อกเกอร์เขียนรีวิว จนไปถึงการเริ่มต้นทำโรงงานเล็กๆ สำหรับผลิตสบู่รับทำแบรนด์อย่างจริงจัง 

การตลาดของ ICONIC h เริ่มต้นจากการทำ Social Media โดยลูกค้ากลุ่มแรกเป็นเพื่อนของ คุณน้ำเพชร เอง กับจำนวนการผลิตจำนวน 5,000 ชิ้น และนั่นเป็นจุดที่ คุณน้ำเพชร เริ่มเห็นถึงความเจริญเติบโตที่อาจจะเกิดขึ้น และมองว่าเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ ICONIC h เติบโตในฐานะผู้ผลิตได้ 

ปัญหาทำให้เติบโตและความรู้ช่วยแก้ไขข้อผิดพลาด

ในช่วงแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ ICONIC h ได้ประสบปัญหาด้านการผลิตเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการควบคุมคุณภาพและความเข้าใจในการควบคุมการผลิต ทำให้ตัดสินใจเข้าศึกษาต่อใน สาขาเภสัชกร (วิทยาศาสตร์เครื่องสำอางค์) แล้วร่วมการฝึกอบรมตามโครงการต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สสว., สวทช., ฯลฯ จนทำให้คุณน้ำเพชร มีความรู้และแข็งแกร่งมากขึ้นในอุตสาหกรรมนี้

ไม่ใช่แต่เพียงตนเองเท่านั้น แต่คุณน้ำเพชร ยังได้ถ่ายทอดความรู้ที่ตนเองได้รับ ไปยังพนักงาน ICONIC h ในทุกภาคส่วน ซึ่งสิ่งที่ได้รับคือ การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพของพนักงานและงาน ตลอดจนไปถึงการควบคุมของเสียในการผลิต และเพิ่มกำไรในองค์กรได้

 

ต่อยอดความรู้ให้กับพนักงาน สู่กระบวนการทำงานที่ดีที่สุด

ICONIC h เป็นทีมที่ปรับตัวอยู่เสมอ โดยบุคคลากรในบริษัทฯ ในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ส่วนของไล์การผลิต จนถึงหัวหน้างาน จะได้รับการฝึกอบรม หรือเข้าร่วมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านสายงาน เพื่อขึ้นสู่ในระดับต่อไป 

ทั้งนี้ คุณน้ำเพชร ยังเล็งเห็นถึงโอกาสการเติบโตของบริษัทผลิตเครื่องสำอางค์ อีกว่า การเป็นโรงงานผลิตอาจจะไม่ใช่แนวทางที่จะเติบโตได้ที่สุดในสายงานนี้ ซึ่ง ICONIC h ไปได้ไกลกว่า 

จากข้อมูลเบื้องต้น ทำให้ปัจจุบัน ICONIC h เป็นโรงงานเครื่องสำอางค์ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ โดยได้วางตัวเองในมุมที่มิใช่เพียงโรงงานผลิต แต่เป็นพาร์ทเนอร์ หรือเพื่อนคู่คิดของกลุ่มลูกค้า

 

อย่างไรก็ตาม ICONIC h ได้มองเห็นข้อจำกัดของกลุ่มคนที่อยากมีแบรนด์เครื่องสำอางค์เป็นของตัวเองแต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร จึงได้จัดให้มีทีมผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้า ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกัน การพัฒนาสูตร ตลอดจนการทำการตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย โดย ICONIC h มิได้มองว่าลูกค้าที่มีเงินเยอะจะเป็นลูกค้าที่ทางทีมงานให้ความสนใจที่สุด แต่ทุกคนเป็นลูกค้าที่สำคัญสำหรับ ICONIC h อย่างเท่าเทียมกัน ถึงแม้จะมีเงินลงทุนเพียงหลักพันชิ้นก็สามารถเป็นลูกค้าของ ICONIC h และเติบโตไปพร้อมกันได้

ไม่ไช่เพียงแต่เรื่องธุรกิจและลูกค้าเท่านั้นแต่ ICONIC h ยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการทำโปรเจคเกี่ยวกับ โซล่าร์เซลล์ การจัดการของเสีย รวมถึงสารเคมีที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ICONIC h ยังได้ให้ความสำคัญในด้านสุขภาพ อีกด้วย

“อุปสรรคไม่เคยทำให้เราหยุดพัฒนา เพราะเชื่อว่าทุก ๆ การลงมือทำจะทำให้เราไปข้างหน้าเสมอ”

เพราะเราควรเชื่อว่าเราทำได้และทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่เสมอ อย่าดูถูกตัวเอง อย่าคิดว่าทำไม่ได้ ทุกความรู้อยู่รอบตัวรา ทุกการเปลี่ยนแปลงของการทำธุรกิจมีเพื่อนคู่คิดให้เสมอ จะเห็นได้ว่าได้มีองค์มากมายเกิดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น สสว. อุทยานวิทยาศาสตร์หรือกระทรวงต่าง ๆ  อีกมากมาย ทั้งนี้หากผู้ประกอบการ หรือผู้ที่อยากทำธุรกิจ มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ที่เกิดขึ้นตามองค์กรต่าง ๆ ได้เช่นกัน

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

House of soap Thailand

ที่อยู่ : 21 ซอย เพชรเกษม 65/1

แขวง หลักสอง เขต บางแค กรุงเทพฯ 10160

โทร: 082 226 3654

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

Coco Peat Plus ปลูกชีวิตใหม่จากขุยมะพร้าวเหลือทิ้ง

Coco Peat Plus ปลูกชีวิตใหม่จากขุยมะพร้าวเหลือทิ้ง

Coco Peat Plus คือ วัสดุปลูกพืชคุณภาพสูงทดแทนดินผลิตจากขุยมะพร้าวที่เหลือทิ้ง ภายใต้แบรนด์ชื่อ C.A.COCO ซึ่งสามารถใช้ในการเพาะต้นกล้าและใช้ปลูกพืชให้งอกงาม แข็งแรง และเจริญเติบโตได้อย่างดีเยี่ยม เพราะผ่านกระบวนการปรับสภาพและเติมสารที่จำเป็นให้เหมาะกับการปลูกพืชได้ทุกชนิด โดยลดค่าแทนนิน ลดค่าโซเดียม ที่เป็นพิษต่อต้นกล้าและเป็นพิษต่อพืชลง ให้คงเหลือแต่สารตัวที่จำเป็นต่อการปลูกพืชก็คือ ลิกนิน ซึ่งมีอยู่มากในขุยมะพร้าว ทำหน้าที่เป็นสารยับยั้งเชื้อราและแบคทีเรียให้กับพืชได้

นอกจากเป็นวัสดุปลูกที่เหมาะสมกับพืชแล้ว ความพิเศษของ Coco Peat Plus คือ การเข้ามาทดแทนการใช้พีทมอส (Peat Moss) ที่ถูกใช้งานเป็นวงกว้างในการเกษตรปัจจุบัน 

พีทมอสเป็นวัสดุปลูกทดแทนดินคุณภาพสูง แต่ก็มีราคาสูงเช่นกัน เพราะแหล่งพีทมอสนั้นมีอยู่จำกัด ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งต้นทางของพีทมอสมาจากการทับถมกันของเศษซากพืชนานกว่าหลายร้อยปี ประกอบกับแหล่งพื้นที่ที่มีพีทมอส นั้นช่วยเก็บกักคาร์บอนเอาไว้ไม่ให้ลอยสู่ชั้นบรรยากาศ เมื่อมีการขุดเอาพีทมอสมาใช้ พื้นที่ที่ดูดซับคาร์บอนนั้นก็จะค่อยๆ หายไป 

พีทมอสนั้นถูกขุดจำหน่ายให้ทั่วโลกไปกว่า 3 ล้านตันต่อปี เกษตรกรไทยเองก็มีการนำเข้าพีทมอสจากต่างประเทศกว่า 18,000 ตันต่อปี และพื้นที่พีทมอสเหล่านี้กำลังจะหมดลงในอนาคตอันใกล้

 

มองปัญหาในมุมต่าง สร้างโอกาสให้ธุรกิจ

คุณอนุสรณ์ ขวัญคงบุญ เจ้าของผลิตภัณฑ์ Coco Peat Plus เห็นถึงปัญหาระยะยาวที่จะเกิดขึ้นถ้าหากพีทมอสหมดลงในอนาคตอันใกล้นี้ และเหล่าเกษตรกรก็ยังไม่สามารถหาวัสดุปลูกทดแทนได้ จึงเกิดความคิดที่จะผลิตวัสดุทดแทนพีทมอสขึ้นโดยที่ยังต้องรักษาคุณภาพในการปลูกพืชไว้ให้ได้เทียบเท่าหรือดีกว่าเดิมเท่านั้น ในขณะเดียวกันด้วยความที่พื้นเพเป็นคนจังหวัด สงขลา ได้พบว่าประเทศไทยนั้น มีมะพร้าวเป็นผลผลิตทางการเกษตรมากเป็นอันดับ 7 ของโลก แต่ 85% ของเปลือกมะพร้าวกลับถูกทิ้งขว้างอย่างไม่มีค่า และยังไม่มีใครนำมาพัฒนาแปรรูปให้เกิดเป็นสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่ม จากจุดนี้เองที่ทำให้คุณ อนุสรณ์ เห็นโอกาสและตั้งใจที่จะพัฒนาวัสดุปลูกทดแทนพีทมอสจากขุยมะพร้าวเหลือทิ้ง นับเป็นการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรได้ทั้ง 2 เรื่องไปพร้อมกัน 

หลังจากผ่านกระบวนการค้นคว้า ทดลอง วิจัย นานถึง 2 ปี จึงได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเป็น Coco Peat Plus วัสดุเพาะกล้าและวัสดุปลูกพืชไร้ดินจากขุยมะพร้าว ซึ่งพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ง่าย เพราะในวัสดุปลูกมีการเติมธาตุอาหารเติมปุ๋ยเพื่อให้ต้นกล้าต้นพืชเจริญเติบโตมาแล้ว ผู้ใช้ทำหน้าที่เพียงแค่รดน้ำต้นไม้เท่านั้น 

Coco Peat Plus ถูกคิดให้สามารถใช้เพาะเมล็ดได้ทุกพืช ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพืชผักเมล็ดดอกไม้ ไปจนถึงการใช้เป็นวัสดุตอนกิ่ง หรือเป็นวัสดุปลูกกระบองเพชรก็ได้เช่นกัน โดยแบ่งวัสดุปลูกออกเป็น 2 ประเภทคือ 1. วัสดุเพาะเมล็ด และ 2. วัสดุปลูกพืช 

วัสดุเพาะเมล็ดจะมีเพียงสูตรเดียว แต่สำหรับวัสดุปลูกพืช จะแบ่งออกเป็นหลายสูตรแตกต่างกันตามความเหมาะสมของพืช เช่น สูตรปลูกสตรอว์เบอร์รี, สูตรปลูกเมล่อน, สูตรปลูกกัญชงกัญชา เป็นต้น รวมถึงสามารถทำวัสดุปลูกพืชเฉพาะทางแต่ละชนิดตามโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อีกด้วย 

Coco Peat Plus วางจำหน่ายให้กับเกษตรกรในประเทศไทยที่ทำธุรกิจเพาะกล้า, ทำธุรกิจปลูกพืช และได้มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งแอลจีเรีย มาเลเซีย และ ลาว หลังจากทำตลาดอยู่ประมาณ 2 ปี ก็สามารถสร้างยอดขายให้เติบโตขึ้นกว่า 100% ได้ ยอดขายยังเติบโตต่อเนื่องมาแล้วกว่า 3 ปีติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน แม้ในระหว่างนั้นจะเกิดสถานการณ์ โควิด-19 แต่ลูกค้าต่าง ๆ ก็มีการสั่งซื้อในปริมาณที่เพิ่มขึ้น โดยก่อนโควิด-19 นั้นมีสัดส่วนการขายในประเทศอยู่ประมาณ 60% ต่างประเทศประมาณ 40 % แต่ในปัจจุบัน นั้นขายในประเทศประมาณ 95% และต่างประเทศ 5%

นอกจากความสำเร็จด้านยอดขาย Coco Peat Plus ยังได้รับรางวัลในการประกวดเวทีต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศ ไปจนถึงระดับภูมิภาค ตั้งแต่โครงการ RSP Innovation award ในปี 2020 ชนะเลิศประเภทนักธุรกิจนวัตกรรม หลังจากนั้นได้รับรางวัล Top Award for Internationalization ของ AABI หรือ สมาคมผู้ประกอบการบ่มเพาะของเอเชียในปี 2021 ซึ่งจัดงานที่ฮ่องกงมีประเทศเข้าร่วมมากกว่า 20 ประเทศ สร้างความภาคภูมิใจให้กับคุณอนุสรณ์เป็นอย่างยิ่ง 

ในอนาคต Coco Peat Plus จะมีการพัฒนาวัสดุปลูกพืชแบบสำเร็จรูปสำหรับลูกค้ากลุ่มที่มีพื้นที่น้อย โดยเน้นเจาะกลุ่มคนเมือง และลูกค้าที่ไม่มีความรู้ด้านเกษตรมากนัก โดยจะทำเป็นวัสดุปลูกสำเร็จรูป ให้ลูกค้าเพียงแค่รดน้ำอย่างเดียว การเจริญเติบโตจะเป็นไปโดยอัตโนมัติจนถึงเก็บเกี่ยว

แนวคิดที่สำคัญในการทำธุรกิจของคุณอนุสรณ์ นั้นมองว่าทุกคนมีความสามารถของตนเองอยู่แล้ว การเป็นนักธุรกิจที่สำคัญก็คือความกล้า จะต้องกล้าเดินออกมาจาก Comfort Zone หรือในสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบันก่อน เพื่อที่จะมาสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในตัวตนของคุณเอง อย่างที่สองก็คือเรื่องของ Growth mindset เพราะถ้ายิ่งมี Mindset ที่เป็น Fix mindset เยอะมากเท่าไหร่ก็ไม่สามารถออกมาทำธุรกิจตัวเองได้ 

ในปัจจุบันการทำธุรกิจนั้นมีองค์กรอย่าง เช่น สสว. อุทยานวิทยาศาสตร์หรือกระทรวงต่าง ๆ ที่คอยสนับสนุนผู้ประกอบการอยู่มากมาย เพียงแต่ว่าขอให้เรามีความกล้าและมีความคิดใหม่ๆ ที่จะทำธุรกิจ อย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และมีแรงผลักดันธุรกิจของเราในทุกๆ วันจนกว่าจะประสบความสำเร็จ

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

บริษัท โคโค่ อะกรีคัลเจอร์ จำกัด
ที่อยู่: 35 หมู่4 ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทร: 074-893346
อีเมล: cocopeatplus@gmail.com


สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (IFRPD)

สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (IFRPD)

 

“ถ้าเราสามารถยืดอายุการเก็บผลิตภัฑณ์และผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย ก็จะสามารถจำหน่ายได้อย่างกว้างขวางและส่งออกได้มากขึ้น” คำกล่าว ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2498 มีพันธกิจในการมุ่งเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพการผลิต ผ่านกระบวนการวิจัย ทางวิทยศาสตร์การอาหารในการแก้ปัญหา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่สถาบันเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหามีมากมายหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ SME เกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการด้านอาหารต่างๆ ที่มีปัญหาแล้วก็ต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์

แม้จะก่อตั้งมาเป็นระยะเวลาเกือบ 70 ปี แต่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ก็ยังคงพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งในด้านอุปกรณ์เทคโนโลยี การให้บริการข้อมูล และความรู้ ความเข้าใจของบุคคลากร 

นอกจากนั้น สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังมีภารกิจด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อการรองรับความต้องการในการแก้ปัญหา 

จากข้อมูลข้างต้น ทำให้ปัจจุบันสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร หรือ IFRPD มีบริการที่หลากหลายและครอบคลุม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในแขนงต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ดังข้อมูลต่อไปนี้

 

บริการจากทางสถาบันฯ

ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทุกผลิตภัณฑ์ที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตออกจำหน่าย ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลจากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลอง และพัฒนา อย่างจริงจังและต่อเนื่อง จากนักพัฒนา ตามหลักวิชาการ

การให้บริการฝึกอบรม ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในบริการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ด้านเทคโนโลยีการแปรรูป การผลิตและเก็บรักษาอาหาร รวมทั้งวิทยาการต่าง ๆ ที่สถาบันฯ ได้เตรียมไว้สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทุกระดับ โดยให้บริการมากว่า 20 ปีแล้ว

บริการวิเคราะห์และทดสอบ FQA ทางสถาบันยังมีบริการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบ ด้านเคมี กายภาพ จุลชีววิทยา และการจัดทำฉลากโภชนาการ ตลอดจนการทดสอบทางชีวภาพด้านโภชนาการและพิษวิทยาอาหาร โดย นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยเทคนิค วิธีและเครื่องมือที่ทันสมัย

การบริการให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นพันธกิจที่สำคัญของสถาบัน ที่ทำขึ้นมเพื่อผู้ประกอบการและเกษตรกร โดยหากต้องการเข้ามาปรึกษาด้วยตนเอง สามารถติดต่อเพื่อนัดวันและเวลาล่วงหน้าได้ด้วยตนเอง

ทั้งนี้ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังมีบริการอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งยังพร้อมช่วยเหลือ สนับสนุน และพัฒนาขีดความสามารถ ของผู้ประกอบการที่ต้องความช่วยเหลือ ผ่านการฝึกอบรมหรืองานสัมมนาทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 

อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีช่วยในการติดต่อสื่อสารกับผู้ประกอบการและเกษตรกร ให้เข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยผ่านช่องทางการติดต่อทางออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็น Line, Facebook และให้ความรู้ผ่าน ช่องทาง YouTube อีกด้วย

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร
ตู้ ป.ณ. 1043 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ , จตุจักร กทม. 10903

เลขที่ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

โทร: 0 2942 8629-35
โทรสาร: 0 2561 1970
เว็บไซต์ : ifrpd.ku.ac.th / www.facebook.com/ifrpd.ku

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

กระท่อมเห็ด ฟาร์ม ไทรน้อย จาก Passive Income สู่ Agro Tourism

กระท่อมเห็ด ฟาร์ม ไทรน้อย

จาก Passive Income สู่ Agro Tourism

 

กระท่อมเห็ด เกิดจากความคิดที่ต้องการจะสร้างรายได้เสริมหรือ Passive Income ของพนักงานกินเงินเดือน 2 คนคือ นัยนา ยังเกิด และปรียนันท์ แสงดี ทั้ง 2 หาข้อมูลการทำธุรกิจจนมาเจอหลักสูตรสอนการเพาะเห็ดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงตัดสินใจเข้าอบรม ก่อนเริ่มลงมือเพาะเห็ดอย่างจริงจัง

ผ่านไปไม่กี่ปีจากซุ้มเห็ดเล็กๆ กระท่อมเห็ดได้ขยายกิจการมาเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับเห็ดในชื่อ “กระท่อมเห็ด ฟาร์ม ไทรน้อย” โดยเปิดอบรมไปแล้วกว่า 99 รุ่น ปัจจุบันกระท่อมเห็ด ฟาร์ม ไทรน้อยเริ่มขยับขยายไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยวการเกษตร หรือ Agro Tourism ที่กำลังได้รับความนิยม

วันนี้นัยนา ยังเกิด จะมาเล่าถึงเคล็บลับความสำเร็จกว่าจะมาเป็นฟาร์มเห็ดอินทรีย์ ว่าทำอย่างไรให้ขายดี ชนิดที่ว่า เพาะเห็ดได้เท่าไหร่ก็ไม่พอขาย

SME ONE : จุดเริ่มต้นของกระท่อมเห็ดมีที่มาอย่างไร

นัยนา : จุดเริ่มต้นเกิดจากความกลัวตกงาน เพราะสถาบันการเงินที่ทำงานในช่วงนั้นมีการควบรวมกิจการ ตอนนั้นกังวลว่าถ้าเกิดตกงานขึ้นมาจริงๆ จะทำอย่างไร จากที่เป็นคนทำงานกินเงินเดือนมาตลอดจึงเริ่มมองหาว่าจะทำธุรกิจอะไรเสริม พอดีคุณยายที่เชียงใหม่ให้คำแนะนำว่าให้ลองศึกษาการทำฟาร์มเห็ด จึงเริ่มต้นด้วยการค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ตามด้วยการทดลองหาซื้อก้อนเห็ดให้ร้านสอนวิธีการเพาะเห็ด ว่าต้องรดน้ำอย่างไร ให้ความชื้นแบบไหน แล้วก็ลองเอามาปลูกข้างบ้าน

พอได้ลองทำก็เห็นผลผลิตที่ออกมาแล้วตื่นตาตื่นใจ ก็เลยตกหลุมรัก มันเหมือนกับเราปลูกต้นไม้อะไรไม่เคยขึ้นเลยแต่ทำไมเราปลูกเห็ดขึ้น จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้น มุ่งมั่น ตั้งใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม 

พอหาข้อมูลเพิ่มก็เห็นว่าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีหลักสูตรสอนให้กับคนที่สนใจ จึงตัดสินใจลงเรียนจนจบหลักสูตร และได้อาจารย์ที่สอนมาเป็นที่ปรึกษาตอนที่เริ่มทำธุรกิจ คำแนะนำของอาจารย์ คือ ต้องหาแหล่งชุมชน และหาที่ปลูกใกล้บ้านจะได้ดูแลง่าย เพราะว่าเห็ดต้องดูแลค่อนข้างใกล้ชิด จนได้ที่ประมาณ 300 ตารางวา ก็เริ่มทดลองปลูกรวม 3 กระท่อม กระท่อมละ 5,000 ก้อน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มเห็ดที่ชื่อ กระท่อมเห็ดขึ้นมา

 

SME ONE : ตอนที่เริ่มทำมองเทรนด์สุขภาพอย่างไร 

นัยนา : ตอนนั้นไม่ได้มองเรื่องเทรนด์เรื่องสุขภาพเลย มองแค่ว่าเราจะลงทุนทำอะไรที่ใช้ทุนน้อย แต่ว่าสามารถเก็บเงินได้ทุกวัน ที่สำคัญคือ เราเป็นผู้หญิง ผู้หญิงก็รักสวยรักงามก็ไม่ชอบที่จะไปอยู่กลางแดด ไม่ชอบที่จะต้องไปทำงานหนักๆ แล้วเห็ดคือต้องดูแลในโรงเรือนที่มีความชื้น เก็บในร่ม คือไม่ได้เหนื่อยมาก แล้วพอเก็บเห็ดมาเสร็จ เราก็เอามาแพ็ก เห็ดมันก็สวยเหมือนดอกไม้สีชมพู สีเหลือง สีน้ำตาล สีขาว พอแพ็กบรรจุใส่ลงไปในถุงสวยๆ มันเหมือนกับเราจัดดอกไม้ คือเราก็ทำไปก็รู้สึกมีความสุขไปด้วย

ประจวบเหมาะที่ช่วงนั้นกระแสเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีการประชาสัมพันธ์มากขึ้น กระท่อมเห็ดก็เลยอยู่ในเทรนด์ตรงนั้นไปด้วย เราก็ใช้ประสบการณ์ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์จากงานประจำมาประยุกต์ใช้ว่าเราจะชูจุดเด่นส่วนไหนขึ้นมา เพื่อให้คนได้รู้จัก อย่างเช่น วันวาเลนไทน์ เราก็เอาดอกเห็ดสีชมพูมาจัดเป็นช่อบูเก้ เป็นแบบเป็นช่อดอกเห็ดให้คนไปมอบแทนดอกกุหลาบ คือดอกเห็ดสีชมพูแสดงถึงความรักอยู่แล้ว แล้วยังสามารถกินและดูแลสุขภาพได้ด้วย ก็ กลายเป็นว่าคนได้รู้จักเห็ดสีชมพูเพิ่มขึ้น จากเดิมไม่มีใครกล้ากิน 

 

SME ONE : ช่วงเริ่มต้นปลูกเห็ดขาย เจออุปสรรคหรือปัญหาอะไรบ้างหรือไม่

นัยนา : เราเจอปัญหาเรื่องการขาย ตอนแรกเราคิดว่าแม่ค้าที่ขายเห็ดอยู่แล้วคงจะชอบ เพราะไม่ต้องเดินทางไปซื้อที่อื่น แต่ที่ไหนได้ พฤติกรรมของแม่ค้าตามตลาดสดทั่วไป เขาไม่ได้วิ่งซื้อตามฟาร์ม เขาไปรับซื้อตามตลาดค้าส่ง เช่นตลาดไท เขาจะโทรสั่งตอนเย็นว่าอะไรขาดบ้าง เช่น มะเขือ พริก มะนาว เห็ด วันรุ่งขึ้นเขาไปรับทุกอย่างขึ้นรถกระบะ คือเขาไม่จำเป็นต้องวิ่งไปแต่ละฟาร์ม ก็เลยกลายเป็นว่าแม่ค้าไม่รับเห็ดของเรา

พอแม่ค้าไม่รับซื้อเห็ด แล้วดอกเห็ดก็ออกมาเต็มโรงก็เลยตัดสินใจไปเช่าแผงที่ตลาดกับเพื่อน ตื่นมาประมาณตี 3 ตี 4 แล้วก็เอาเห็ดไปยืนขาย แต่เห็ดของเราเก็บตอนเช้าก็จะดูสด ดูใหม่ เพราะเราเห็นตามท้องตลาดจะเป็นแพ็กๆ แบบว่าเป็นถาดโฟมแล้วก็มีพลาสติกรัด ไม่สวย หน้าตาแต่ละแผงจะเหมือนกันหมด เพราะไปรับที่แหล่งเดียวกัน จึงกลายเป็นว่าเห็ดของเรามีความต่างเกิดขึ้นในท้องตลาด คนที่เป็น End User เดินมาถาม อันนี้คือเห็ดภูฏานหรือ? ทำไมที่เขากินทุกวันหน้าตาไม่เป็นแบบนี้? เราก็ต้องอธิบายให้ลูกค้าทราบว่าเห็ดของเรามาจากฟาร์มโดยตรง

เชื่อไหมว่า ตอนนั้นเห็ดร้อยกว่าถุง ขายหมดในเวลาประมาณชั่วโมงกว่าๆ ไม่ถึง 2 ชั่วโมง เราจึงรู้ว่าสินค้ามันขายได้ด้วยตัวของมันเองถ้าของเราดีจริง ก็เลยตัดสินใจว่าถ้าไม่มีใครรับ เราก็มาขายเองดีกว่า ไม่ต้องผ่านแม่ค้าคนกลางด้วย แต่ว่าปรากฏว่าพอเราขายดีมีคนมามุงเพื่อซื้อสินค้าของเรา แม่ค้าที่เขาปฏิเสธเราเขาก็เห็น และรับซื้อเห็ดของเรา หลังจากนั้นก็ไม่ต้องไปขายที่ตลาดอีกเลย กลายเป็นว่าแม่ค้าแวะเวียนกันมาซื้อเห็ดที่ฟาร์มของเรา

ส่วนเรื่องของดินฟ้าอากาศที่ส่งผลกับสินค้า บางครั้งหน้าฝนจะมีปัญหาตรงที่ว่าเห็ดออกมาเยอะก็จะทำให้ราคาของเราจะถูกกดด้วย ถ้าเกิดแม่ค้าที่เขาเคยมารับเรา พอเขาไปเจอที่อื่นถูกกว่าเราเขาก็ไม่เอาของเรา เราต้องทำอย่างไร ก็คือเราต้องเพิ่มการแปรรูป เพิ่มการกระจายสินค้าไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น ตอนนี้เราเริ่มไปขายที่ตลาดจริงใจ เซ็นทรัล เวสต์เกต ที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ แล้วก็เพิ่งเริ่มเข้าไปจำหน่ายที่ Golden Place ถ้าเรามีกำลัง เราก็สามารถกระจายทั่วประเทศ แต่ตอนนี้ผลิตผลของเราสามารถกระจายได้แค่ประมาณ 4-5 สาขาเท่านั้น

 SME ONE : จากปลูกเห็ดขายก็เริ่มขยายมาสอนปลูกเห็ด แนวคิดเกิดขึ้นมาได้อย่างไร 

นัยนา : พอเราได้มาอยู่ตรงนี้ เราก็อยากให้คนได้มีประสบการณ์ในการทำเกษตร เพราะว่าเรานึกถึงตอนที่เราเป็นมนุษย์เงินเดือน กว่าเราจะหาอาชีพได้สักอาชีพมันยากมาก บางคนนี่ล้มลุกคลุกคลานต้องเสียเงิน แบบลองผิดลองถูก เราก็เลยเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ คือให้คนได้สามารถเดินเข้ามาดู ได้เข้ามามีประสบการณ์ในเรื่องของการเอาก้อนเห็ดไปลองเพาะ เหมือนที่เราเคยไปเอาก้อนเห็ดมาลองเพาะข้างบ้าน เพื่อให้รู้ว่าเขาชอบหรือเปล่า เขามีความสนใจในเรื่องของเกษตรหรือเปล่า ก่อนที่เขาจะลงทุนจริง

เราสอนการดูแลเห็ดเบื้องต้น คุณจะเอามาก้อน 2 ก้อน 3 ก้อนก็แล้วแต่ คือเราเปิดรับเต็มที่เลย กลายเป็นว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจพอเพียงกำลังมา หน่วยงานต่างๆ ที่เขาเห็นก็พาชาวบ้านมาเรียนรู้ แล้วเราก็ทำหลักสูตรสำหรับคนที่อยากเป็นเจ้าของฟาร์มเห็ด โดยให้อาจารย์ที่เกษตรมาสอนแต่ปรับหลักสูตรให้สั้นลง เหลือแค่หลักสูตรลงมือปฏิบัติอย่างเดียว เพราะว่าคนที่มาเขาก็ต้องการที่จะรู้ว่าตัวเองเหมาะไหมกับอาชีพนี้หรือไม่ เราเปิดเพื่อให้คนที่ได้มาเรียนรู้แบบทำเป็นอาชีพได้อย่างจริงจัง แล้วก็เราเป็นที่ปรึกษาให้

ตอนนั้นเลยกลายเป็นเทรนด์ มีคนสมัครเรียนเยอะมาก เดือนหนึ่งเรารับเต็มที่เกือบ 30 คน เมื่อก่อนตั้งใจจะเปิดแค่เดือนละครั้ง แต่ตอนกระแสเศรษฐกิจพอเพียงมาแรง เราเปิดสอนเกือบทุกอาทิตย์ แล้วคนก็เต็มทุกครั้ง ทุกคนที่เข้ามาคือเขาอยากรู้จริงๆ 

 

SME ONE : ไม่กลัวว่าคนที่เรียนแล้วเขาจะมาแย่งอาชีพเราหรือ

นัยนา : ตอนเราเปิดสอนมีแต่คนถามประเด็นนี้ ต้องบอกว่าจริงๆ แล้ว การเกษตรยุคนี้เป็นเรื่องของปากท้องจริงๆ แต่เห็ดเป็นอะไรที่สามารถประยุกต์ไปช่องทางอื่นๆ ได้ ไม่ใช่แค่เอามาผัดกับทอด ไม่ใช่ว่าไปอยู่ตามแผงผักอย่างเดียว ถ้าเกิดเราศึกษาลงไปลึกๆ แล้ว เห็ดมีสารสำคัญของยา เห็ดมีคุณค่าสามารถเป็นโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ได้ คือสามารถต่อยอดไปในเรื่องของสุขภาพ เป็นเทรนด์ในเรื่องอาหารเป็นยา เป็นเทรนด์ในเรื่องของอาหารเสริมได้ คนที่มาเรียนบางส่วนเขามาเรียนเพื่อที่จะไปต่อยอดในเรื่องของสายสุขภาพ นำไปแปรรูป นำไปทำอาหารเสริมแบบทำเป็นผงอาหารบด 

แล้วเห็ดมันไม่เหมือนสินค้าเกษตรทั่วไป สมมติว่า มะม่วง 1 ต้น ออกลูกทีบางครั้งเป็น 100 ลูกพร้อมกันแค่ครั้งเดียว แต่ว่าเห็ดจะไม่ใช่ เราจึงไม่เห็นเลยว่าเกษตรกรฟาร์มเห็ด จะเอาเห็ดมาเททิ้งเพื่อประท้วงรัฐบาลเรื่องราคาของพืชผลการเกษตรจากเห็ด และปัจจุบันนี้ในเชิงของผู้บริโภคเห็ดยังมีความต้องการมากกว่าการผลิตอยู่ ทุกวันนี้ดอกเห็ดที่ออกมาก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งๆ ที่ตอนนี้เราเพิ่งขยายพื้นที่ปลูกอีกประมาณ 3 โรง เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการผู้บริโภคแต่ก็ยังไม่พอ 

เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่ากลัวไหมเราไม่กลัวเลย เราบอกกับคนที่มาเรียนทุกคนว่า สิ่งสำคัญที่เราจะทำเกษตรแล้วประสบความสำเร็จ ก็คือเราต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน สมัยก่อนบางคน One man show คุณจะโตคนเดียวอาจจะทำได้ แต่ในยุคปัจจุบันมันต้องมีการแบ่งปันข้อมูลและมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างเช่น เรามีลูกฟาร์ม ช่วงไหนที่ลูกฟาร์มเขาขาดดอกเห็ด เขาจะมีกลุ่มแม่ค้าประจำมารับ เขาก็สามารถวิ่งมารับเห็ดของเราได้ เพื่อที่เขาจะได้ไม่เสียลูกค้าของเขา 

เหมือนกัน ถ้าเราขาดดอกเห็ดก็สามารถที่จะไปรับของเขามา เพื่อที่จะเอามาให้ลูกค้าเรา การรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนจะไม่ทำให้ลูกค้าเราหายไป เวลาที่เกิดโรคระบาดเราก็เปลี่ยนข้อมูลกัน มันก็เลยทำให้เหมือนกับว่าช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะแข่งขันกัน

 

SME ONE : วันที่กระท่อมเห็ดต้องขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น ต้องลงทุนซื้อที่ดินเพิ่ม วันนั้นตัดสินใจด้วยเหตุผลอะไร

นัยนา :  อย่างที่บอกว่าเราก็ยังทำงานประจำอยู่ ด้วยความที่เรามีความรู้สึกว่าเราอยากมีรายได้ 2 ทาง ส่วนของฟาร์มเห็ดก็เป็น Passive Income ที่เข้ามา เงินเดือนประจำเราก็มี เราก็มีความรู้สึกว่าธุรกิจนี้ไปได้ แล้วมันก็สามารถที่จะเลี้ยงดูเรา หรือหากเกิด Crisis ในชีวิต เกิดมีการ Layoff หรือว่าเกิดเราเบื่องานหรืออะไรก็ตาม ก็เลยมองว่าถ้าเราจะทำก็ต้องรู้จักต่อยอดอาชีพ จึงตัดสินใจไปซื้อที่ดินที่ไทรน้อยด้วยเงินลงทุนที่มาน้ำพักน้ำแรงของเรา จากเงินเดือนประจำ จาก Passive Income จากฟาร์มที่เราได้มา เอาไปลงซื้อที่ดิน 1 ไร่ แล้วก็ลงทุนใหม่หมดทุกอย่าง

ตอนนั้นคิดไว้ในใจว่ากระท่อมเห็ดจะไม่ใช่แค่ศูนย์เรียนรู้ ไม่ใช่แค่ขายดอกเห็ด แต่ต้องเป็นเกษตรท่องเที่ยว คือ เราต้องทำอย่างไรให้คนได้เข้ามามีประสบการณ์ ได้มาท่องเที่ยว เรียนรู้ แล้วก็ถ้าเกิดใครเข้ามาแล้วเขารู้สึกว่าเขาชอบ แล้วเขาจะเลือกทำเป็นอาชีพต่อ ก็เลยกลายมาเป็นเปิดเป็นสถานที่ที่คนที่เข้ามาเรียนรู้และมาเที่ยวได้ โดยที่มีคาเฟ่ มีร้านอาหารที่เน้นเมนูเห็ดเป็นหลัก แล้วก็มีกิจกรรมให้ครอบครัวพ่อแม่ลูก หรือจะเป็นใครก็ตามที่อยากจะมามีประสบการณ์ได้มาเก็บเห็ด 

คือพอเขาได้เข้าไปในโรงเห็ดแล้วให้เขาเห็นว่า ทำไมเห็ดมีสีเหลือง สีชมพู สีดำ สีขาว คือเขาก็จะได้เรียนรู้ว่าเห็ดต้องดูแลอย่างไร ให้เขาก็รู้สึกว่ามีความสุขกับการที่เขาได้เก็บเห็ด แล้วเราก็ทำหน้าที่ให้ความรู้เขาว่าเห็ดต้องเก็บหรือต้องดูแลอย่างไร  แล้วคุณสามารถเอาไปทำอาหารได้อะไรบ้าง แล้วมีประโยชน์กับร่างกายเราอย่างไร ตรงนี้มันก็เลยเป็นวงจรธุรกิจในภาพที่ใหญ่ขึ้น

 

SME ONE : กระท่อมเห็ดได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากน้อยเพียงใด

นัยนา :  COVID-19 ระลอกแรก ไม่กระเทือนเลยขายดีขึ้นอีกต่างหาก เพราะว่าคนทำกับข้าว อยู่บ้าน ล็อกดาวน์ สินค้าของเราที่ขายที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่พอขาย คือวางขายปุ๊บ หมดวันต่อวันเลย เราก็ต้องเร่งกำลังการผลิตเพื่อจะเอาดอกเห็ดไปวางขาย แล้วก้อนเห็ดของเรา ลูกค้าก็มาซื้อเพราะเขาต้องการเอาเห็ดไปเพาะหลังบ้าน แล้วเก็บเอง จะได้ไม่ต้องไปซื้อตามท้องตลาด เราเลยเพิ่มช่องทางนอกจากที่จะเป็นหน้าฟาร์ม มาขายออนไลน์ผ่าน Shopee ลูกค้าต้องการที่จะให้ส่ง Delivery ไปที่บ้านในต่างจังหวัดก็จะมาซื้อในช่องทางนี้

แล้วบางคนที่เป็นพวกผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ที่เขาต้องเลี้ยงลูกน้อง อย่างเช่น โรงแรมที่ปิดเขาก็มาเอาก้อนเห็ดไปเพาะ เพื่อที่จะเอารายได้มาเลี้ยงลูกน้อง ให้ลูกน้องมีอะไรทำ ซึ่งตรงนี้กลายเป็นว่าเกษตรสามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าในช่วงสถานการณ์ COVID-19 คนยังต้องกิน ยังต้องใช้ ก็ยังขายได้อยู่

แต่พอระลอกหลังๆ กลายเป็นว่าคนเจอพิษเศรษฐกิจหนักขึ้น การลงทุนก็เริ่มลดลง หลังจากเจอระลอก 3 คนเริ่มชะลอการลงทุน เพราะว่าเขาเริ่มรู้สึกไม่มั่นใจ อย่างคนที่เขาเป็นเจ้าของโรงแรมที่เคยซื้อเห็ดเราไป เขาก็ไปต่อไม่ไหวต้องเอาลูกน้องออกก็ไม่มีใครดูเห็ด ก็เลยไม่ได้มารับก้อนเห็ดจากเรา จากเดิมที่ว่าเอาก้อนเห็ดไปให้ลูกน้องขาย ก็ต้อง Layoff ก็เลยไม่ทำอะไรต่อ กลายเป็นว่าก้อนเห็ดที่ระลอกแรกขายดี ระลอกหลังก็เริ่มซาลง แต่ดอกเห็ดยังขายได้

ส่วนธุรกิจร้านอาหารช่วงที่เราปิดร้าน เราก็ยังมีรายได้จากการขายก้อนเห็ดมาช่วยจุนเจือ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ ทำให้เราสามารถพยุงธุรกิจให้ไปได้

SME ONE : ถ้าทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ อยากจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร

นัยนา : เรามองไปที่ Plant-Based Food เพราะว่าตอนนี้คนกำลังสนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม คนไม่ค่อยอยากจะทานอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องปศุสัตว์ที่สร้างมลภาวะ เพราะเขาต้องการอาหารที่ไม่ทำลายโลก อันนี้เป็นเทรนด์ที่เราศึกษามา เราอาจจะอยู่วงการ ESG (Environmental, social and corporate governance) ด้วยก็เลยทำให้เราเห็นภาพ

ในเรื่องของการเกษตรจริงๆ แล้วเห็ดค่อนข้างที่จะไม่มีอะไรที่ทำร้ายโลก เพราะ Zero Waste มากๆ อย่างที่บอกว่าเห็ดถ้าไม่สวยก็ไม่ได้ทิ้งให้เกิดแก๊สมีเทนขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศ เพราะเอามาแปรรูปได้หมดทุกอย่าง แล้วก้อนเห็ดก็ไม่เป็นขยะ เพราะว่าเอาไปทำเป็นปุ๋ยได้หมด  

ส่วนในตลาดผู้สูงวัย ตอนนี้กำลังดูอยู่ว่าจะสกัดสารสำคัญในเห็ดนางนวลสีชมพู กับเห็ดนางรมทองที่มีคอลลาเจนค่อนข้างสูง ตอนนี้กำลังศึกษาว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถเข้าไปอยู่ในตลาดความสวยความงามได้ ซึ่งตรงนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เขาเกี่ยวข้องเพิ่มเติม

 

SME ONE : จากนี้ต่อไป อะไรคือความท้าทายของกระท่อมเห็ด

นัยนา : อย่างที่กล่าวไปว่าเราอยากจะเรียนรู้ในเรื่องของการต่อยอดธุรกิจอาหารในส่วนของที่เป็นอาหารในอนาคต คือ Plant-Based Food กับต่อยอดในเรื่องของความสวยความงาม เราพยายามหาสารสำคัญของในเห็ดแล้วก็ดึงออกมา ซึ่งตอนนี้ก็มีอาจารย์ที่ปรึกษาที่รู้จักใน Agro Genius ให้คำปรึกษาอยู่

นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเรามีคนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอบรมกับเรา ทำให้เรารับรู้ข้อมูลว่าในประเทศลาวมีความต้องเห็ดเยอะมาก แต่เขาไม่มีวัตถุดิบ ไม่มีการรวมกลุ่มที่ทำให้เพาะเห็ดได้ เพราะว่าเขาไม่มีขี้เลื่อยแบบเรา เนื่องจากอาหารของเห็ดที่ดีคือขี้เลื่อยจากไม้ยางพารา ต้องเป็นไม้ยางพาราถึงจะดีที่สุด ซึ่งตรงนี้ที่ลาวไม่ค่อยมี  เคยมีนักลงทุนที่ลาวชวนเราไปลงทุน ซึ่งเรามองว่าลาวก็ไม่ได้ไกลบ้านเราเท่าไหร่ หลัง COVID-19 เราก็คงต้องมาศึกษาตลาดเรื่องนี้อย่างจริงจัง

SME ONE : อยากจะให้ฝากคำแนะนำสำหรับคนที่อยากจะมาทดลองปลูกเห็ดขายจะให้คำแนะนำอะไร

นัยนา : แนะนำว่าคุณต้องเริ่มต้นด้วยการถามตัวเองว่าชอบหรือเปล่า เพราะสิ่งนี้มันเป็น Passion ถ้าเรามีความชอบในสิ่งนั้น เวลาเราเจอปัญหาหรืออุปสรรคอะไรมันจะทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่อยากท้อ อันนี้คือต้องถามใจตัวเองว่าเราชอบหรือไม่เป็นอันดับแรก อีกเรื่องคือต้องค่อยๆ ลงมือทำ บางคนอาจจะมีกำลังทรัพย์ก็จริง เราเคยเจอลูกศิษย์หลายๆ คนที่ตอนแรกทำแบบฟาร์มใหญ่โต แต่ไม่ประสบความสำเร็จก็มี ซึ่งตรงนี้เราอยากให้เขาค่อยๆ เริ่ม ค่อยๆ ก้าว หลังจากนั้นจะขยายธุรกิจก็ไม่สายเกินไป ถ้าคุณพร้อมในเรื่องของประสบการณ์ เรื่องของตลาด และเรื่องของกำลังคน เพราะทุกอย่างต้องเอื้อกันหมด ที่สำคัญพอคุณทำแล้วประสบความสำเร็จ คุณต้องต่อยอด และต้องหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ใช่นิ่งอยู่ตรงนั้น อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องเน้นย้ำ

 

บทสรุป

ความสำเร็จของกระท่อมเห็ดมาจากการเลือกปลูกพืชที่ตลาดมีความต้องการ มีการแข่งขันไม่สูง และมีการศึกษาข้อมูลก่อนจะลงมือทำจริงๆ จนเกิดความชำนาญ อีกทั้งยังใช้วิธีการมองลูกค้าเป็นศูนย์กลางโดยมีการนำข้อมูลความต้องการของลูกค้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจล่าสุด คือร้านอาหารที่มีการเพิ่มเมนูอาหารใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ 

รวมถึงประสบการณ์ของผู้ก่อตั้งที่ทำงานประจำในสายงานสื่อสารการตลาดทำให้กระท่อมเห็ดไวต่อการเปลี่ยนแปลงในส่วนของพฤติกรรมการรับสารของผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชียล มีเดีย

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ