ปรับตัวให้ทันรับโอกาสใหม่ ด้วยการเข้าใจลูกค้ากลุ่ม Gen Z ให้มากขึ้น

 

การจะเปิดเส้นทางใหม่ ๆ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจคุณให้ไปได้ไกลมากขึ้น กลุ่มลูกค้าใหม่ที่น่าสนใจมากในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นกลุ่ม Gen Z แล้วคนกลุ่มนี้คือใคร ดังนี้

– คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2555 (ค.ศ. 1997 – 2012) ซึ่งในปีปัจจุบัน พ.ศ. 2563 คน Gen Z จะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 7 ปี ถึง 22 ปี

– ถูกเรียกว่า Digital Natives และเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ขั้นสูง (Tech-savvy)

– เป็นกลุ่มคนที่เกิดมาพร้อมติบโตมาพร้อมกับโลกแห่งความก้าวหน้า และนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอันไร้ขีดจำกัด มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต Smartphone และ Platform ต่างๆ เป็นที่แพร่หลาย

– พวกเขาไม่เคยรู้จักโลกที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ที่พวกเขาสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างทันที

– บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินการเรียกคน Gen Z ว่า คน Gen C (ซี) ด้วยเหตุผลที่ว่า ตัวอักษร C มาจากคำว่า Communication (การสื่อสาร), Collaboration (การทำงานร่วมกัน), Connection (การเชื่อมโยง) และ Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของ Gen Z นั่นเอง

 

ทำไมคนทำธุรกิจทั่วโลกถึงจับตามองคน  Gen Z

เพราะปัจจุบัน Gen Z คิดเป็น 32% ของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งทำให้ Gen Z จะเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดในปี พ.ศ. 2562 และ Global Consumer Population ของ Gen Z คาดว่าจะมีจำนวน 2.6 พันล้านคน ก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2564 สิ่งนี้ทำให้คน Gen Z มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลก โครงสร้างทางวัฒนธรรม โครงการทางสังคม โครงสร้างขององค์กร และวิธีชีวิตของประชาชนทั่วโลก

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถเข้าใจ Gen Z มากขึ้น และเห็นความแตกต่างระหว่าง Gen Z กับคนรุ่นก่อนๆ (Baby Boomers, Gen X, Millennials) ได้แก่

 

1. พฤติกรรมการบริโภค Social Media ของ Gen Z

เป็นสิ่งที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ อย่างชัดเจนตรงที่ พวกเขาไม่ได้ใช้ Social Media เพื่อการติดต่อพุดคุยอย่างเดียว แต่ยังใช้เพื่อความบันเทิง เพื่อเรียนรู้สิ่งที่สนใจ และเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์และแบรนด์สินค้าใหม่ๆ ซึ่ง Gen Z ใช้เวลาเฉลี่ยบน Social Media ประมาณ 7.4 ชั่วโมงต่อวัน โดย Online Platforms ที่ใช่มากที่สุดคือ Youtube รองลงมาเป็น Instagram, Snapchat, Facebook และ Twitter ตามลำดับ สำหรับ Facebook นั้นมีเปอร์เซ็นการใช้ลดลงจาก 71% ในปี พ.ศ. 2557 เหลือเพียง 51% ในปี พ.ศ. 2561

การจะเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็น Gen Z ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้า และการทำการตลาดอื่นๆ ควรมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับ Youtube เป็นอันดับแรก นอกเหนือจากนี้ Gen Z ยังใช้ประโยชน์จาก Youtube เพื่อการศึกษาผ่อนคลาย ให้กำลังใจตนเอง และพัฒนาทักษะเฉพาะด้านของพวกเขาอีกด้วย

 

2. พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย (Shopping) ของ Gen Z

– 66% ของ Gen Z กล่าวว่า คุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพวกเขา

– 93% เลือกที่จะซื้อสินค้าที่ดูดี รองลงมาเป็น การทำงาน (Functionality) คุณภาพสินค้า (Quality) ที่ตรงตามความต้องการของตน และ ความทันสมัย ตามลำดับ

– 62% ของ Gen Z ที่ช้อปปิ้งออนไลน์ ชื่นชอบเว็ปไซต์ที่มีส่วนลด รองลงมาเป็นการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้าคืน (Free Return Shipping) และรูปภาพที่ดึงดูด ตามลำดับ

– 60% ของ Gen Z จะไม่ใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่มี Loading Times ช้า

– 58% ของนักช้อปปิ้งกล่าวว่า พวกเขาเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มประมาณ 150 บาท ($5) หากสินค้าถึงมือพวกเขาภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง

– Gen Z ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือ สูงกว่าคนในรุ่น Millennial ถึง 2 เท่า

 

3. ทัศนคติที่มีต่อเทคโนโลยีและงานในอนาคต ของ Gen Z

จากงานวิจัยของ บริษัท Dell Technologies ที่ได้ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 12,000 คน ทั้งนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ใน 17 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา ประเทศบราซิล สหราชอาณาจักร ประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศตุรกี ประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ซึ่งผลสำรวจพบว่า Gen Z มีความมั่นใจในทักษะทางด้านเทคโนโลยีของพวกเขา แต่ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับความพร้อมสำหรับการเป็นพนักงาน ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 Gen Z จะอยู่ในตลาดแรงงานถึง 20 % ของตลาดแรงงานทั่วโลก

 

ผลการสำรวจของ บริษัท Dell Technologies ระบุว่า

– 98% ใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา

– 91% กล่าวว่าเทคโนโลยีที่นายจ้างเสนอให้นั้น เป็นปัจจัยในการตัดสินใจสำหรับการเลือกงาน

– 80% ต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ Cutting-edge Technology 38% มีความสนใจในสายงานอาชีพไอที และ 39% ต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ Cybersecurity

– 80% เชื่อว่าเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ (Automation) จะสามารถสร้างสภาพแวดล้อม การทำงานที่เท่าเทียมมากขึ้น โดยสามารถป้องกันการเลือกปฏิบัติและอคติได้

– 89% ตระหนักดีว่า พวกเขากำลังเข้าสู่ยุคของการเป็นหุ้นส่วนมนุษย์กับเครื่องจักร (Human-machine Partnerships) โดย 51% เชื่อว่ามนุษย์และเครื่องจักรจะทำงานเป็นทีมรวมกันได้ในขณะที่ 38% มองว่าเครื่องจักรเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับมนุษย์

 

ผลการศึกษาของทีมนักวิเคราะห์ของ Indeed เว็บไซต์หางานอันดับ 1 ของโลก ในหัวข้อ “งานอะไรที่ได้รับความสนใจจาก Gen Z” โดยวิเคราะห์จากการคำนวณจาก “Popularity Index” ที่ Gen Z คลิกในประกาศการรับสมัครงานแบบเต็มเวลา (Full-time Job Postings) ผลการศึกษานี้ ระบุว่า ตำแหน่งงานด้านดิจิทัล ได้รับความนิยมสูงสุดเป็น 3 อันดับแรก ในบรรดางานด้านอื่นๆ ดังนี้

อันดับที่ 1 นักพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ iOS (iOS Developer)

อันดับที่ 2 วิศวกรคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision Enginee

คอมพิวเตอร์วิทัศน์ เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาการทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) โดยการฝึกให้ระบบ เรียนรู้ เข้าใจและตอบสนองต่อวัตถุต่าง ๆ ผ่านแบบจำลอง Deep Learning ด้วยภาพดิจิทัลหรือวิดีโอต่าง ๆ โดยตัวอย่างของการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์ ได้แก่ เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Augmented Reality), เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Face Recognition), เทคโนโลยีด้านการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing), เทคโนโลยีหุ่นยนต์ชั้นสูง (Advanced Robotic) และเทคโนโลยียานพาหนะ ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle) เป็นต้น

อันดับที่ 3 วิศวกรการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning Engineer)

 

จากจากพฤติกรรมของ Gen Z ในข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างไปจากคนในยุค Baby Boomers, Gen X, Millennials อย่างมาก ทำให้หลายประเทศเห็นโอกาสและความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นในยุคใหม่ของ Gen Z จึงเป็นที่มาของการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเมือง เพื่อรองรับและดึงดูดเด็ก Gen Z ที่ถูกคาดว่าจะเป็นบุคลากรทักษะสูงทางด้านดิจิทัลในอนาคต (Tomorrow’s Digital Talent) จะเป็นผู้สร้างในอนาคต (Tomorrow’s Creators) และ จะเป็นผู้สนับสนุนในอนาคต (Tomorrow’s Advocates) รวมถึง จะเป็น ผู้บุกเบิกในอนาคต (Tomorrow’s Pioneers)

ซึ่งการเตรียมความพร้อมของเมืองดังกล่าวเป็นการดึงดูด Gen Z ไม่ว่าจะเป็นในประเทศของตนเองหรือจากต่างประเทศที่มีต้องการจะเข้ามาศึกษาต่อ ทำงานหรือเริ่มต้นธุรกิจในประเทศนั้นๆ โดย คน Gen Z จากต่างประเทศกลุ่มนี้มีแนวความคิดว่า พวกเขาสามารถปฏิเสธที่จะอาศัย ศึกษา หรือทำงานในประเทศของตัวเองได้ หากประเทศนั้นๆ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของพวกเขาได้

Nestpick ได้ทำการสำรวจและประเมินเมืองทั่วโลกจำนวน 110 เมือง สำหรับ “ความพร้อมในการตอบสนองความต้องการของ Gen Z” โดย ผลการศึกษาระบุว่า 5 อันดับแรกของเมืองที่มีความพร้อมในการตอบสนองความต้องการของเด็ก Gen Z ได้แก่

อันดับที่ 1 เมืองลอนดอน (London) สหราชอาณาจักร (United Kingdom)

อันดับที่ 2 เมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm) ประเทศสวีเดน (Sweden)

อันดับที่ 3 ลอสแอนเจลิส (Los Angeles) ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States of America)

อันดับที่ 4 เมืองโทรอนโต (Toronto) ประเทศแคนาดา (Canada)

อันดับที่ 5 เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States of America)

สำหรับประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 103

 

Nestpick ใช้เกณฑ์ประเมินทั้งสิ้น 22 เกณฑ์สำคัญ และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับการศึกษานี้คือ Nestpick ใช้ตัวชี้วัดของ Degree of Digitalization เป็นครั้งแรก โดย ตัวชี้วัดของ Degree of Digitalization ประกอบด้วย

  1. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐบาล (Government Digitalization) ตาม 2018 United Nations E-government Development Index นั้น ระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐบาล (Government Digitalization) ประเมินจากประสิทธิภาพของการบริหารระดับชาติในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-government)

โดยมีตัวชี้วัด 3 ตัวชี้วัด ได้แก่

– การให้บริการออนไลน์ (Online Services)

– การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสารโทรคมนาคม (Telecommunication Infrastructure)

– การขับเคลื่อน การเสริมสร้างศักยภาพกำลังคนดิจิทัล

โดยเมืองโคเปนเฮเกน (Copenhagen) ได้รับการประเมินในระดับความก้าวหน้ามากที่สุด สำหรับการพัฒนา E-government ด้วยคะแนนเต็ม 100 คะแนน ตามด้วยเมืองเมลเบิร์น (Melbourne) เมืองซิดนีย์ (Sydney) เมืองบริสเบน (Brisbane) และเมืองเพิร์ท (Perth)

  1. การเชื่อมต่อและเครือข่าย 5G (Connectivity/5G) ตาม Ookla Speedtest และ 5G Map, Testmy.net และ Cable.co.uk นั้น การเชื่อมต่อและเครือข่าย 5G (Connectivity/5G) ประเมินจากโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสาร ความเร็วสูง รวมถึงความพร้อมในการผสมผสานและต่อยอดกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Next Generation Technology)

โดยมีตัวชี้วัดประกอบด้วย

– ความเร็วบรอดแบนด์ของเมือง (City Broadband)

– ความเร็วของมือถือเฉลี่ยในระดับประเทศ

– ความพร้อมในการทดสอบหรือการวางแผนการขับเคลื่อนการบริการในเครือข่าย 5G ทั่วประเทศ

ประเทศสิงคโปร์มีคะแนนการเชื่อมต่อและเครือข่าย 5G (Connectivity/5G) สูงที่สุดด้วยคะแนนเต็ม 100 คะแนน ตามด้วยเมืองโซล (Seoul) และเมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm)

  1. การทำธุรกรรมรับ-จ่ายเงินในระบบดิจิทัล (Digital Payment) และธนาคารดิจิทัล (Digital Banking) ตาม 2018 EIU Government E-Payments Adoption Ranking, G4S 2018 World Cash Report และ Hootsuite/We Are Social 2018 Global Digital Report นั้น การทำธุรกรรมรับ-จ่ายเงินในระบบดิจิทัล (Digital Payment) และ ธนาคารดิจิทัล (Digital Banking) ประเมินจากความพยายามของรัฐบาลในการประยุกต์ใช้การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การแพร่หลายของการชำระเงินดิจิทัล และความพร้อมของเมืองในการเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless)
  2. การขับเคลื่อนระบบขนส่งด้วยดิจิทัล (Digitalized Mobility) และเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ตาม 2018 Timbro Sharing Economy Index, 2019 Coya Bicycle Cities Index, ADL 2018 Future of Mobility Report, 2019 Easypark Smart Cities Index, Uber และ Bike Share Map นั้น ประเมินจากระบบนิเวศของเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันระหว่างผู้ใช้ (Peer to Peer : P2P) โดยมุ่งเน้นไปที่การบริการการสัญจรแบบแบ่งปัน (Shared Mobility Services) เช่น การบริการรถจักรยานสาธารณะแบบแบ่งปัน (Bike-sharing) และ การบริการผ่านทางแอปพลิเคชันเพื่อใช้เรียกยานพาหนะในเครือข่ายผู้ให้บริการ (Ride-hailing)
  3. นิสัยทางสังคมแบบดิจิทัล (Digitalized Social Habits) ตาม Hootsuite/We Are Social 2018 Global Digital Report นั้น นิสัยทางสังคมแบบดิจิทัล (Digitalized Social Habits) ประเมินจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และร้อยละ ของพลเมืองที่ใช้บริการดิจิทัลเพื่อจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
  4. การศึกษา (Education) ตาม Times Higher Education 2019 World University Rankings นั้น การศึกษา (Education) มีตัวชี้วัดประกอบด้วยจำนวนสถาบันการศึกษาระดับสูงที่มีหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) เทคโนโลยี (Technology) และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม โดย คำนวณจากที่ตั้งของสถาบันการศึกษา อยู่ภายในรัศมี 200 กิโลเมตรจากใจกลางเมืองนั้น ๆ
  5. ความเป็นส่วนตัว (Privacy) และ ความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ตาม The French National Commission on Informatics and Liberty (CNIL), National Cyber Security Index, Kaspersky และ TheBestVPN นั้น ความเป็นส่วนตัว (Privacy) และความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ประเมินจากการให้คำมั่นของรัฐบาลที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานและปกป้องความปลอดภัยบนออนไลน์ โดยคะแนนจะรวมถึงขอบเขตของกฎหมายความเป็นส่วนตัวทางด้านดิจิทัล (Digital Privacy Legislation) ข้อห้ามของเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network) และ ระดับความปลอดภัยสำหรับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต

นอกเหนือจากนี้ เกณฑ์ประเมินยังประกอบด้วยคะแนนจากตัวชี้วัดอื่น ๆ เช่น ความเท่าเทียมกันทางสังคม (Social Equality) ความเป็นสากล (Internationalism) ความบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเกมอิเล็กทรอนิกส์ (E-gaming Events) สถานที่นั่งทำงานร่วมกันกับผู้อื่นแบบชั่วคราว (Co-working Space) การเข้าถึงบริการสุขภาพ (Access to Healthcare) จิตวิญญาณผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Entrepreneurial Spirit & Innovation) ความเป็นผู้ประกอบการสังคม (Social Entrepreneurship) และความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

ในท้ายที่สุดประเทศที่มีศักยภาพและพร้อมรองรับคน Gen Z ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะมีผลต่อเนื่องทำให้ประเทศเหล่านั้นสามารถเป็น Pool ของ Global Talent และยกระดับระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Global Competitiveness) ต่อไป

 

อ่านฉบับเต็มเพิ่มเติม : โอกาสและความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของยุค Gen Z

https://www.depa.or.th/th/article-view/gen-z-digital-natives/

บทความแนะนำ

ธุรกิจแฟชั่นควรปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับ New Normal หลังวิกฤตสิ้นสุด

อีกครั้งกับเรื่องของ New Normal ที่เราจะพาคุณไปเจาะกลุ่มธุรกิจแฟชั่นกันบ้าง COVID-19 ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายธุรกิจและรวมถึงในธุรกิจแฟชั่น ในรูปแบบที่ใหม่ที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค ระบบการผลิต วัสดุหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ระบบการจำหน่าย รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการตลอด supply chain ที่กระแสของเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่อย่างสมบูรณ์แบบ

 

ลงทุนในระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยี

ทันทีที่การระบาดสิ้นสุดลงคาดการณ์ว่า ธุรกิจแฟชั่นในหลากหลายแบรนด์ต่างจะมุ่งเน้นลงทุนในระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยี และแน่นอนว่าย่อมจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจแฟชั่นรูปแบบใหม่ในอนาคต โดยแบรนด์ต่าง ๆ ที่จะประสบความสำเร็จต่อการปรับเปลี่ยนนั้น ต่างต้องยอมรับรูปแบบที่จะเกิดขึ้นใหม่ใน 3 ด้านด้วยกัน คือ เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (วิธีการทำงาน/การจ้างงาน)

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดนั้น เช่น

ในสายงานปฏิบัติการออกแบบและวิจัยของ Adidas ได้เพิ่มสัดส่วนการทำงานในระยะไกล หรือ remote working สูงถึง 84% ขณะที่การประชุมผ่าน VDO conference อยู่ 79% และเพิ่มชั่วโมงการทำงานให้มีความยืดหยุ่น (flexible working) เพิ่มขึ้น 58% การลงทุนเรื่องของเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการสื่อสารในองค์กรเกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและรองรับรูปแบบการเปลี่ยนของการดำเนินธุรกิจที่มีความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

การเลือกใช้ Platform เฉพาะสำหรับธุรกิจแฟชั่น

การนำเรื่องของเทคโนโลยีจาก Platform เฉพาะสำหรับธุรกิจแฟชั่นมาใช้ในช่วงโรคระบาดได้รับความสนใจจากแบรนด์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น การนำเทคโนโลยี 3D มาใช้ในการออกแบบ หรือการจัดแสดงผลงานแฟชั่นโชว์ในรูปแบบเสมือนจริง หรือ Digital showroom หรือผ่านการใช้ Livestream และรวมถึงการใช้ AI โดยในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม 2020 พบว่า มียอดคำสั่งซื้อการใช้งาน Platform เหล่านี้เพิ่มขึ้นกว่า 20%  (Zoom VDO communication ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าต่อวันตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรค)

แบรนด์แฟชั่นจะต้องปรับให้เกิดความยืดหยุ่นใน supply chain มากขึ้น โดยลดเวลาในการออกสู่ตลาดและปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มและความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น นั่นคือ ผู้ออกแบบ ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายสินค้า จะต้องย่นระยะเวลาในกระบวนการออกแบบ การผลิต ไปจนส่งกระบวนการส่งมอบให้กับลูกค้าใช้ระยะเวลาที่สั้นลง โดยอาศัย Platform เฉพาะสำหรับธุรกิจแฟชั่นเป็นตัวขับเคลื่อน

 

การย้ายฐานการผลิต

การผลิตอัจฉริยะ ในรูปแบบของ Nearshoring คือ การย้ายฐานการผลิตกลับมาใกล้ๆ ประเทศของตนเอง กำลังเป็นทางเลือกที่ผู้ผลิตให้ความสนใจ เพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าจากราคาค่าขนส่งและนำเข้า บวกกับระยะเวลาการขนส่งสินค้า ทั้งยังสามารถลดมลภาวะ เพราะผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าได้ทันกับความต้องการของตลาด จึงช่วยลดขยะจากเสื้อผ้าเหลือทิ้ง คาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2568 เสื้อผ้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อเลือกเสื้อผ้าของผู้บริโภคในอนาคต

การเพิ่มขึ้นของ Digital showroom และการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ B2B ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลแบบ update ได้ตลอดเวลา ทำให้ลดขั้นตอนการซื้อขาย เกิดการซื้อขายที่สะดวกรวดเร็ว เพราะข้อมูลต่าง  อยู่บน social network และเกิดการสื่อสารกับธุรกิจอื่น  ที่อาจจะมีการติดต่อธุรกิจแบบ B2B ด้วยเช่นกัน และยังรวมถึงเป็นการสร้างวัฒนธรรมของธุรกิจให้ปรากฏต่อสาธารณะง่ายขึ้น และง่ายต่อการขยายธุรกิจแบบ networking”

 

กระแสความยั่งยืนสำหรับการดำเนินธุรกิจ

ธุรกิจแฟชั่นของแบรนด์ต่างๆ จะสร้างสรรค์นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์จากพื้นฐานแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นสำคัญ ความยั่งยืนสำหรับการดำเนินธุรกิจ เป็นอีกหนึ่งแนวทางการในสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ซึ่งยังคงเป็นประเด็นความท้าทายและเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับธุรกิจแฟชั่น ในปี 2020

 

ธุรกิจแฟชั่นจึงจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนารูปแบบการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และปรับให้มีความเหมาะสมกับในการดำเนินธุรกิจภายหลังที่วิกฤตการณ์สิ้นสุด ดังนั้น New Normal ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อระบบหรือธุรกิจแฟชั่นภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดจะประกอบด้วย

 

  1. การบริหารจัดการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของ supply chain รูปแบบใหม่ที่มีรอบระยะเวลาที่สั้นลง และ/หรือความร่วมมือระหว่างกันของธุรกิจ เพื่อขจัดข้อจำกัดในการดำเนินงานและเป็นการจัดหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ๆ ร่วมกัน
  2. การสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจแฟชั่นบนพื้นฐานของคววามโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้
  3. การสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจตลอด supply chain และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างแม่นยำภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด โดยอาศัยแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
  4. พฤติกรรมการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค จะกลายเป็นตัวแปรหลักในการกำหนดทิศทางระบบทางการตลาดในอนาคต
  5. ถึงแม้กระแสด้านเทคโนโลยีจะส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจแฟชั่นในปัจจุบัน แต่เชื่อมั่นว่า กระบวนการขั้นพื้นฐานเพื่อการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงออกถึงความสวยงาม จะยังคงอยู่ในการดำเนินธุรกิจแฟชั่นในอนาคต
  6. Local brand จะกลับมามีบทบาทสำคัญในระบบแฟชั่นของแต่ละประเทศ
  7. โมเดลของความต้องการของตลาด หรือ Demand driven จะถูกขับเคลื่อนด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนคือ เทคโนโลยี 3D, การจัดแสดงผลงานในรูปแบบเสมือนจริง (virtual sampling) และระบบปฏิบัติการด้วย AI

 

อ่านฉบับเต็มเพิ่มเติม : New Normal ที่มีต่อธุรกิจแฟชั่นภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุด

https://www.thaitextile.org/th/insign/detail.1785.1.0.html

 

Published on 24 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

10 เทรนด์ผู้บริโภคของโลกหลังวิกฤต COVID-19

‘ความปกติรูปแบบใหม่’ หรือ New Normal ซึ่ง Bill Gross นักลงทุนและผู้จัดการกองทุนชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Pacific Investment Management (PIMCO) กล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2008 ที่อธิบายถึงพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง อาทิ การถือกำเนิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตหรือสมาร์ทโฟนที่กลายเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน จนกระทั้งมาถึงวิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิด New Normal และกำหนดพฤติกรรมของผู้บริโภครูปแบบใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจหรือเจ้าของแบรนด์ให้ความสำคัญและปรับเปลี่ยนกลยุทธให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

Trendwatching บริษัทที่ปรึกษาด้านเทรนด์ผู้บริโภคชั้นนำของโลก ได้คาดการณ์ถึง 10 แนวโน้มผู้บริโภคหลังจากผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 เพื่อให้ภาคธุรกิจหรือเจ้าของแบรนด์ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือและมองเห็นโอกาสใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจในอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะมาถึงนี้

 

1. VIRTUAL EXPERIENCE ECONOMY

Virtual Experience หรือ ประสบการณ์บนโลกเสมือน จะเป็นทางเลือกใหม่ในการดำเนินธุรกิจและปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้ ตัวอย่างเช่น เกม Assassin’s Creed โดยบริษัท Ubisoft ผู้ผลิตเกมจากฝรั่งเศส ที่พัฒนาเกมให้ผู้เล่นได้เข้าไปท่องเที่ยวในพีระมิดหรือศึกษาอารยธรรมของอียิปเสมือนได้ไปอยู่ในสถานที่จริง หรือบรรดาพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลก อาทิ British Museum หรือ Louvre Museum ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจชมผลงานศิลปะสามารถเข้าชมด้วย Google Street View หรือในแวดวงแฟชั่นที่ล่าสุดมีการจัด ‘Shanghai Fashion Week’ โดยใช้ Virtual Runway และทำการ Livestream มียอดผู้ชมกว่า 11 ล้านวิว สร้างยอดขายได้กว่า 20 ล้านหยวน (ประมาณ 2.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รวมไปถึงนักร้องชื่อดังอย่าง เลดี้ กาก้า ที่กำลังจะจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบ virtual music festival ที่มีชื่อว่า “One World Together at Home” ในวันที่ 18 เม.ย. นี้

 

 

2. SHOPSTREAMING

ในเทรนด์ของปี 2018 ที่ผ่านมา Trendwatching ได้คาดการณ์ว่าตลาด e-commerce และการขายออนไลน์ด้วยการ Live streaming ในเอเชียจะมีการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่หลังจากวิกฤตนี้จบลง ตลาดการขายของออนไลน์ในรูปแบบของการ Streaming จะเติบโตมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว ไม่เพียงแค่ภาคเอกชนที่จะมีการนำแพลตฟอร์มต่างๆ มาเป็นช่องทางการขายมากยิ่งขึ้น ในส่วนของภาครัฐก็จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการค้าของภาคประชาชนด้วย เช่นที่เมืองซานยาในไหหนาน จังหวัดทางตอนใต้ของจีน ที่ทางนายกเทศมนตรีช่วยเหลือเกษตรกรขายมะม่วงด้วยการใช้ Taobao Live ในการ Live streaming ซึ่งได้ยอดขายถึงวันละ 3,000 ตัน

 

 

3. VIRTUAL COMPANIONS

เราอาจจะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่มาช่วยสร้างความสะดวกสบายหรือเครื่องมือช่วยในการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น Siri ระบบสั่งการด้วยเสียงที่สามารถโต้ตอบได้ หรือ Chatbot การตอบกลับข้อความแบบอัตโนมัติ ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการใช้ของผู้บริโภคในอนาคตอีกต่อไป และผลกระทบจากมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้เราต้องการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด หรือกระทั่งเป็นเพื่อนคลายเหงาในยามที่เราไม่สามารถพบปะกันได้ อย่างเช่น ‘NEON’ โครงการสร้าง มนุษย์ประดิษฐ์ (Artificial Humans) ของ Samsung ที่ได้เปิดตัวในงาน CES 2020 ที่ผ่านมา โดย NEON ใช้เทคโนโลยีเรียกว่า CORE R3 (Reality, Real Time และ Responsiveness) ที่จะสามารถตอบโต้ได้เหมือนกับแชทบอต แต่มีความเป็นมนุษย์มากกว่า รวดเร็วกว่า และกำลังพัฒนาสำหรับใช้โต้ตอบลูกค้า ซึ่งอาจเป็นตัวช่วยที่ดีในการดำเนินธุรกิจได้ในอนาคตโดยเฉพาะในธุรกิจภาคบริการ

 

 

4. AMBIENT WELLNESS

พฤติกรรมการล้างมือเป็นประจำและการใส่ใจในสุขอนามัยอาจนับว่าเป็น New Normalที่เห็นได้ชัดเจนของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบพฤติกรรมที่จะอยู่กับผู้บริโภคไปอีกระยะนึง ดังนั้นกลุ่มผู้บริโภคหลังจากนี้จะตั้งคำถามเชิงสุขอนามัยต่อตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น ใส่ใจรายละเอียดไม่เพียงแค่ส่วนประกอบหรือวัตถุดิบ แต่รวมไปถึงการขนส่ง หรือการส่งต่อผลิตภัณฑ์ให้ถึงมือลูกค้าอย่างสะอาดและปลอดภัย แบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง Stella McCartney สาขาลอนดอน ได้นำเสนอจุดเด่นของร้านในเรื่องของสุขอนามัยภายในร้านด้วยการติดตั้งเครื่องกรองอากาศที่สามารถกรองฝุ่นได้ถึง 95% พร้อมปรับอากาศด้วยน้ำหอมเพิ่มบรรยากาศที่ดีในการเดินเลือกสินค้าภายในร้าน แสดงให้เห็นว่า แบรนด์ใส่ใจลูกค้าไม่เว้นกระทั่งอากาศที่ลูกค้าหายใจเข้าไป หรือ EnergyUp café ร้านกาแฟ Starbucks ในเนเธอแลนด์ร่วมกับบริษัท Philips ด้วยการติดตั้งหลอดไฟภายในร้านที่ให้แสงธรรมชาติซึ่่งทำให้ลูกค้าสดชื่นและผ่อนคลาย

 

5. M2P (MENTOR TO PROTÉGÉ)

การที่ผู้บริโภคมีเวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้นไม่ต้องสูญเสียเวลากับการเดินทางไปทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ และมีเวลาอยู่กับตัวเอง สำรวจตัวเอง หรือพัฒนาตนเอง เราจึงเห็นคอร์สเรียนออนไลน์ที่เปิดให้เรียนฟรีมากมายหลายแห่ง เช่น เว็บไซต์เรียนออนไลน์ Coursera ที่เปิดให้ผู้ใช้งานได้ลงทะเบียนเรียนกว่า 100 คอร์ส หรือแคมเปญที่ชื่อว่า ‘Global Ambassador’ ของเว็บไซต์สอนภาษา Duolingo ร่วมกับ TWITCH แพลตฟอร์มเกมออนไลน์ ร่วมกันทำ Live streaming สอนภาษา โดยให้ผู้ที่ไลฟ์สตรีมเกมอยู่นั้น พูดอธิบายเกมในรูปแบบ 2 ภาษา (หรือมากกว่านั้น) เพื่อให้ผู้ชมได้เรียนรู้เรื่องภาษาอื่นไปในตัว

 

 

6. A-COMMERCE

ผลจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคคุ้นชินกับการเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกัน การบริโภคสินค้าจึงมุ่งสู่โลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น ธุรกิจเดลิเวอรี่เป็นที่นิยมอย่างมาก ส่งผลให้เกิดเทรนด์ที่เรียกว่า ‘การขายสินค้าอัตโนมัติ หรือ A-Commerce (Automated Commerce)’ คือการใช้หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติช่วยอำนวยความสะดวกในการขายสินค้า อย่างที่ Domino Pizza ได้เริ่มมีการทดสอบระบบการขายสินค้าอัตโนมัติ โดยร่วมกับบริษัท Nuro พัฒนาหุ่นยนต์ R1 ยานยนต์ไรคนขับ สำหรับส่งพิซซ่าอุ่นร้อนและสินค้าประเภทอื่นๆ ให้กับลูกค้า หรือ Amazon Dash ของ Amazon บริษัทขายของ ออนไลน์ของอเมริกา ที่ให้สร้างความสะดวกสบายในการสั่งซื้อสินค้าในเว็บไซต์ได้เพียงแค่กดปุ่ม สินค้าก็จะถูกจัดส่งมาให้ทันที ซึ่งในอนาคตอันใกล้เราคงจะได้เห็นรูปแบบการขายในลักษณะนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

 

7. THE BURNOUT

ผลกระทบต่อจิตใจในภาวะวิกฤตเช่นนี้สร้างความเครียดและเหนื่อยล้า ไม่เพียงแค่จากข่าวสารมากมายที่ผู้บริโภคได้รับ แต่อาจเกิดจากการนั่งทำงานในห้องเดิมเป็นเวลานาน หรือจากปัญหาอื่นๆ รายวัน การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์เพื่อช่วยสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้บริโภคได้ในพื้นที่ที่จำกัด เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่เริ่มเกิดขึ้นให้เห็นกันบ้างแล้ว อย่างโรงแรม ‘The Moxy NYC Chelsea’ โรงแรมที่พักในเครือ Marriott ใช้แนวคิดของการ ASMR (Autonomous Sensory Meridian Response) คือวิธีการผ่อนคลายแนวใหม่ที่ใช้การตอบสนองต่อประสาทรับความรู้สึก มาสร้างโปรแกรมการพักผ่อนที่เรียกว่า Bedtime Stories เช่นเดียวกับแบรนด์เครื่องใช้ในบ้านอย่าง IKEA ก็ได้นำ ASMR มาใช้ในการโฆษณาสินค้าบนยูทูปที่มีความยาวกว่า 25 นาที

 

8. OPEN SOURCE SOLUTIONS

ในปี 2018 สามบริษัทยักใหญ่อย่าง Ford, Uber และ Lyft ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลสาธารณะที่ชื่อว่า ‘SharedStreets’ ด้วยเงินทุนจากองค์กรการกุศลอย่าง Bloomberg Philanthropies เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทางของผู้คนใน 30 เมืองทั่วโลก และใช้เป็นข้อมูลในการลดปัญหาที่เกิดจากการขับขี่บนท้องถนน หรืออย่างการจดสิทธิบัตรรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ของอีลอน มัสก์ ในรูปแบบโอเพนซอร์ส (Open Source) เพื่อให้เกิดการนำนวัตกรรมนี้ไปพัฒนาและช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จากตัวอย่างทั้งสองสะท้อนให้เห็นเทรนด์ที่เกิดจากการร่วมมือกันทั้งในฐานะหน่วยงาน หรือในฐานะผู้บริโภคเองก็จะให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นในอนาคต และมักจะนึกถึงแบรนด์หรือบริษัทเหล่านี้เป็นอันดับต้นๆ

 

 

 

9. ASSISTED DEVELOPMENT

การที่ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น (แทบจะ 24 ชั่วโมง) ทำให้ต้องทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเอง การเติบโตของธุรกิจบริการแบบ On-demand อาทิ บริการรับส่งของ/อาหาร จึงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงผู้บริโภคต้องทำอาหารทานเองมากขึ้น แบรนด์เครื่องครัว ‘Equal Parts’ จึงมีบริการที่ตอบรับกับเทรนด์นี้ที่เรียกว่า ‘Text a Chef’ ที่ลูกค้าสามารถส่งข้อความไปขอสูตรหรือเคล็ดลับการทำอาหารจากทางแบรนด์ได้ และยังสามารถกระตุ้นยอดขายเครื่องครัวจากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการนี้ได้อีกด้วย หรือแพลตฟอร์มหาที่พักอย่าง Airbnb ที่ตอบรับเทรนด์นี้ด้วย Airbnb Online Experience ที่ชวนโฮสหรือเจ้าบ้านมาร่วมทำกิจกรรมในรูปแบบ VDO On-demand และพร้อมหารายได้ในช่วงวิกฤตนี้ โดยมีตั้งแต่กิจกรรมนั่งสมาธิกับพระภิกษุชาวญี่ปุ่น เยี่ยมเยือนสุนัขจรจัดแห่งเชอร์โนบิล และทำอาหารกับครอบครัวชาวโมร็อกโก เป็นต้น

 

 

10. VIRTUAL STATUS SYMBOLS

ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับสถานะบนโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น การมีตัวตนบนโลกเสมือนจริงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ถวิลหา ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในธุรกิจแฟชั่น อย่างเช่น ‘Drest’ แอพลิเคชันรูปแบบเกมที่ผู้ใช้สามารถเลือกเสื้อผ้ามาแต่งให้กับนางแบบ ซึ่งเป็นคอลเลคชันเสื้อผ้าที่มีอยู่จริงจากเเบรนด์ชั้นนำ อาทิ Burberry, Gucci และ Prada และยังสามารถกดซื้อได้จากภายในเกม (in-game purchases) ได้เลยด้วย

 

 

เรียบเรียงโดย ฐิติญาณ สนธิเกษตริน

อ้างอิง:
skift.com/2020/03/17/after-the-virus-10-consumer-trends-for-a-post-coronavirus-world/
marketingoops.com/reports/industry-insight/shanghai-fashion-week-virtual-runway-and-live-streaming
weforum.org/agenda/2020/04/lady-gaga-coronavirus-response-fund
xinhuanet.com/english/2020-02/14/c_138783295.htm
techsauce.co/pr-news/online-experiences-airbnb-covid-19

 

ขอบคุณแหล่งที่มาhttps://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/newnormal/

 

 

Published on 24 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

รวมมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ Covid-19

สำหรับวิกฤตการณ์โควิด – 19 ที่ผ่านมา เชื่อว่าผู้ประกอบการหลายท่าน คงต้องเจอกับปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน พนักงาน หรือแม้แต่หน้าร้านก็ตาม ต่างต้องหยุดพัก หรือเว้นช่วงการขายไปพักใหญ่ แต่หลังจากรัฐบาลได้มีมาตรการคลายล็อคดาวน์ ผู้ประกอบการก็ได้กลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง แต่ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งอย่าง ทางภาครัฐจึงได้เล็งเห็นความสำคัญ พร้อมยื่นมือเข้ามาช่วยผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้เราก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน โดยภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ได้มีโครงการและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากมาย และ SMEONE ได้รวบรวมมาให้ทุกคนแล้ว

 

• Medical Device Fight COVID-19 โครงการสนับสนุนการทดสอบผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในสถานการณ์ Covid- 19 ภายใต้โครงการ ITAP รับเงินสนับสนุนงบประมาณสูงสุดถึง 70% แต่ไม่เกิน 400,000 บาทต่อโครงการ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.smeone.info/event-detail/9378

 

• กรมสรรพากรขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษี สำหรับผู้ประกอบการทุกราย

- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของเดือนมีนาคม 2563 ที่ต้องยื่นภายในเดือนเมษายน 2563 และ เดือนเมษายน 2563 ที่ต้องยื่นภายในเดือนพฤษภาคม 2563 ขยายออกไปถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม การขายสินค้าและบริการภายในประเทศ ของเดือนมีนาคม 2563 ที่ต้องยื่นภายในเดือนเมษายน 2563 และเดือนเมษายน 2563 ที่ต้องยื่นภายในเดือนพฤษภาคม 2563 ขยายออกไปถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2563

- การจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ ของเดือนมีนาคม 2563 ที่ต้องยื่นภายในเดือนเมษายน 2563 และเดือนเมษายน 2563 ที่ต้องยื่นภายในเดือนพฤษภาคม 2563 ขยาย ออกไปถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563

- ภาษีธุรกิจเฉพาะ ของเดือนมีนาคม 2563 ที่ต้องยื่นภายในเดือนเมษายน 2563 และเดือนเมษายน 2563 ที่ต้องยื่นภายในเดือนพฤษภาคม 2563 ขยายออกไปถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2563

- แต่ไม่รวมถึงกรณีการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่ชำระในขณะจดทะเบียน สิทธิและนิติกรรม อากรแสตมป์ ที่ต้องยื่นชำระภายในวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ขยายออกไปถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิขยายเวลาเฉพาะกรณีที่ปิดสถานประกอบการตามคำสั่งของทางราชการจะต้องมีหน้าที่ในการยื่นแบบและชำระภาษี

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.smeone.info/detail-article/9271

 

• มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME จากสำนักงานประกันสังคม
1. ลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอัตราร้อยละ 4 เป็นระยะเวลา 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม) 2. ขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนมีนาคมเมษายน และพฤษภาคม 2563 ออกไปอีก 3 เดือน แบ่งเป็นงวดตามนี้
– งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 กรกฎาคม 2563
– งวดค่าจ้างเดือนเมษายน 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 สิงหาคม 2563
– งวดค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 กันยายน 2563
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.smeone.info/detail-article/9273

 

• โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายการย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) สินเชื่อรายได้เล็ก (Extra cash) เพื่อเสริมสภาพคล่อง และ/หรือ เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ วงเงินโครงการรวม 10,000 ล้านบาท อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.smebank.co.th/loans/Extra_cash

 

• ธนาคาร ธ.ก.ส. มาตรการพักหนี้ธุรกิจ SMEs
พักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 6 เดือน (ตั้งแต่เมษายน – กันยายน 2563)
พักชำระหนี้แบบอัตโนมัติทุกราย
ผู้พักชำระหนี้จะไม่ถูกรายงานเครดิตบูโรเป็น NPLs
ผู้ที่ประสงค์จะชำระดอกเบี้ยเพื่อเป็นการลดภาระของลูกค้าเองในช่วงที่ได้รับสิทธิ์พักหนี้ ( 1 เม.ย. – 30 ก.ย. 63) จะได้รับเงินคืน 10% ของส่วนที่มาชำระ (cash back)
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/3c75jGV

 

• ธนาคาร ธ.ก.ส. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ SMEs
อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 2 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี
ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรก (รัฐบาลรับภาระ)
ยกเว้นค่าธรรมเนียมทุกประเภท
วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้าง (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562)
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/36BHyWp

 

• ธนาคารออมสิน มาตราช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ฝ่าวิกฤตโควิด-19

สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan)
สถาบันการเงิน 55,000 ล้านบาท
วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาท/ราย
ดอกเบี้ย 2% (2 ปีแรก)

ธนาคารออมสิน 95,000 ล้านบาท
ธุรกิจ SMEs & ท่องเที่ยว 15,000 ล้านบาท
วงเงินสูดสุด 20 ล้านบาท/ราย
ดอกเบี้ย 2% (2 ปีแรก)
เงินกู้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี
เงินกู้ระยะยาวไม่เกิน 10 ปี (ปลอดเงินต้นสูงสุด 2 ปี)

Non – Bank 80,000 ล้านบาท
ระยะเวลากู้ 2 ปี
ดอกเบี้ย 2% ต่อปี
รายละไม่เกิน 5,000 ล้านบาท

Soft Loan ธปท./ SMEs (ลูกค้าเดิม) วงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท/ราย
ดอกเบี้ย 2%
เงินกู้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี
เงินกู้ระยะยาว (ปลอดหนี้สูงสุด 6 เดือน)
ยกเว้นค่าธรรมเนียมทุกประเภท

สถานธนานุเคราะห์ 2,000 ล้านบาท
ดอกเบี้ย 0.10% ต่อปี
ระยะเวลา 2 ปี

สินเชื่อ SMEs Extra Liquidity
อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจากสถาบันการเงินเดิม
บสย. ค้ำประกัน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 6 ปี ปลอดต้น 1 ปี
พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน (อัตโนมัติ)
ระยะเวลา 1 เม.ย. – 30 ก.ย. 63 (วงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท)

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.gsb.or.th/GSBSupportCOVID19.aspx

 

• ธนาคารไทยพาณิชย์
มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยให้ SMEs มีสภาพคล่อง
มาตรการเงินกู้เสริมสภาพคล่อง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.scb.co.th/th/about-us/news/apr-2563/nws-scb-sme-bot-covid.html

 

• ธนาคารกรุงเทพ มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ลดเกณฑ์ชำระขั้นต่ำ ลดดอกเบี้ย และพักชำระหนี้
สินเชื่อธุรกิจ SME
วงเงินกลุ่มไม่เกิน 100 ล้านบาท พักจ่ายเงินต้น และดอกเบี้ยนาน 6 เดือน โดยอัตโนมัติ
วงเงินกลุ่มไม่เกิน 500 ล้านบาท สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เงินกู้สภาพคล่อง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.bangkokbank.com/th-TH/COVID19-Update

 

• ธนาคารออมสิน ร่วมกับ บสย. มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19
มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน แก่ลูกค้าธุรกิจ (ผู้ประกอบการ SMEs > ท่องเที่ยว)
มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน แก่ลูกค้าธุรกิจ (ผู้ประกอบการ SMEs > ค้าส่ง/ค้าปลีก)
มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน แก่ลูกค้าธุรกิจ (ผู้ประกอบการ SMEs > อุตสาหกรรมการผลิต และอื่นๆ)
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://gfa.or.th/sfi/Home/Measures

 

• ธนาคาร ธ.ก.ส. ร่วมกับ บสย. มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19
ขยายต้นเงินเดิม และขยายดอกเบี้ยเดิม สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ปกติ (เกษตรกรและ SMEs เกษตร)
ขยายต้นเงินเดิม และขยายดอกเบี้ยเดิม สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ค้างชำระ (เกษตรกรและ SMEs เกษตร)
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://gfa.or.th/sfi/Home/Measures

 

• ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับ บสย. มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19
มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย นาน 6 เดือน สำหรับลูกค้าธุรกิจ (ผู้ประกอบการ SMEs ค้าส่ง/ค้าปลีก)
มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย นาน 6 เดือน สำหรับลูกค้าธุรกิจ (ผู้ประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมการผลิตและอื่นๆ)
มาตรการพักชำระเงินต้นวงเงินสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) และขยายระยะเวลาชำระหนี้สำหรับตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ (Trade Finance) สำหรับลูกค้าธุรกิจสินเชื่อขนาดกลางขึ้นไป (ผู้ประกอบการ SMEs ท่องเที่ยว)
มาตรการพักชำระเงินต้นวงเงินสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) และขยายระยะเวลาชำระหนี้สำหรับตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ (Trade Finance) สำหรับลูกค้าธุรกิจสินเชื่อขนาดกลางขึ้นไป (ผู้ประกอบการ SMEs ค้าส่ง/ค้าปลีก)
มาตรการพักชำระเงินต้นวงเงินสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) และขยายระยะเวลาชำระหนี้สำหรับตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ (Trade Finance) สำหรับลูกค้าธุรกิจสินเชื่อขนาดกลางขึ้นไป (ผู้ประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมการผลิตและอื่นๆ
มาตรการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้แก่ลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโควิด – 19 (ผู้ประกอบการ SMEs ท่องเที่ยว)
มาตรการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้แก่ลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโควิด – 19 (ผู้ประกอบการ SMEs ค้าส่ง/ค้าปลีก)
มาตรการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้แก่ลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโควิด – 19 (ผู้ประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมการผลิตและอื่นๆ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://gfa.or.th/sfi/Home/Measures

 

• ธนาคาร ธอส. ร่วมกับ บสย. มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19
พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ระยะเวลา 6 เดือน (ผู้ประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมการผลิตและอื่นๆ

 

• ธนาคาร ธอส. โครงการ ธอส.ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” มาตรการที่ 7
มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://measure.ghbank.co.th/register-measure-7/

 

• ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ร่วมกับ บสย. มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19
ขยาย หรือ ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ (ผู้ประกอบการ SMEs > ท่องเที่ยว)
ขยาย หรือ ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ (ผู้ประกอบการ SMEs > ค้าปลีก)
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://gfa.or.th/sfi/Home/Measures

 

• ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บสย. มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19
มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและกำไร ระยะเวลานาน 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท (ผู้ประกอบการ SMEs > อุตสาหกรรมการผลิต และอื่นๆ)
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://gfa.or.th/sfi/Home/Measures

 

• ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ร่วมกับ บสย. มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19
ขยายระยะเวลาชำระเงินที่ให้ความคุ้มครองสูงสุด 270 วัน (ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก)
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://gfa.or.th/sfi/Home/Measures

 

• ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
ลูกค้าเอสเอ็มอีมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาททุกราย จะได้รับการพักชำระหนี้ 6 เดือนโดยอัตโนมัติโดยไม่จำเป็นต้องติดต่อธนาคาร
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.scb.co.th/th/about-us/news/mar-2563/nws-help-covid-19-qa.html

 

• ธนาคารกสิกรไทย (KBank)
พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกค้าผู้ประกอบการที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ระยะเวลา 6 เดือน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.kasikornbank.com/th/announcement/Pages/stronger-together.aspx

 

• ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มาตรการพักชำระหนี้สินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย
พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือนแก่ลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.krungsri.com/bank/th/Other/AboutUs/krungsri-announce/support-npl-sme.html?utm_source=home

 

• ธนาคารกรุงไทย
พักชำระหนี้เงินต้นเเละดอกเบี้ย 6 เดือน ให้กับลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://krungthai.com/th/krungthai-update/news-detail/511

 

• ธนาคารกรุงเทพ
– สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการค้าทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติ ระยะเวลา 6 เดือนและไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต เพื่อช่วยให้มีสภาพคล่องรองรับรายจ่ายจำเป็น
– ธนาคารพร้อมสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (soft loan) เพื่อเป็นเงินกู้เสริมสภาพคล่อง สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการค้าทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกและไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6เดือนแรก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.bangkokbank.com/th-TH/COVID19-Update

 

• LH BANK
– พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน สำหรับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท รวมถึงพร้อมปล่อยกู้เสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน ซึ่งกู้ได้ไม่เกิน 20% ของหนี้คงค้าง
– ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระ เช่น ปลอดเงินต้นสูงสุด 12 เดือน และขยายระยะเวลาเงินกู้ เพื่อให้ภาระการผ่อนชำระลดลง หลังหมดช่วงปลอดเงินต้น เเละสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมด้วย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/2Xzolk0

 

• ธนาคาร UOB
ลูกค้าเอสเอ็มอี สามารถแจ้งความประสงค์ขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือนหรือเลือกพักชำระเงินต้นโดยชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้สูงสุด 12 เดือน หรือยื่นขอสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องกับสินเชื่อโครงการ Soft Loan ที่อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาท
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.uob.co.th/investor/covid-relief-assistance.page

 

• ธนาคาร TMB & ธนชาต
– วงเงินสินเชื่อของกลุ่มบริษัทรวมไม่เกิน 100 ล้านบาท – วงเงินสินเชื่อของกลุ่มบริษัทรวมไม่เกิน 500 ล้านบาท
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.tmbbank.com/page/view/loan-covid19.html

 

• แบงก์ชาติ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan)
– สินเชื่อ soft loan วงเงินไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562
– อัตราดอกเบี้ย ไม่เกิน 2% ต่อปี นาน 2 ปี โดยคิดตามวงเงินที่เบิกใช้จริง
– ฟรี ดอกเบี้ย 6 เดือนแรก โดยจ่ายคืนเฉพาะเงินต้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.bot.or.th/covid19/Pages/content/sme/softloan/default.aspx

 

• กระทรวงการคลัง มาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ช่วง COVID-19 ระยะที่ 1-3
แบ่งมาตรการเป็น 2 ด้านด้วยกันคือ เพิ่มสภาพคล่อง และ ลดภาระ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/2X9wGvO

 

• สภาอุตสาหกรรม นโยบาย Local Economy กับ 5 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ช่วงวิกฤต COVID-19
มาตรการด้านภาษี
มาตรการด้านการเงิน
มาตรการด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน
มาตรการด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน
มาตรการด้านอื่น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/2ZNTXVN

 

• ธนาคารแห่งประเทศไทย 4 มาตรการช่วยเหลือ SMEs พร้อมเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ช่วง COVID-19
มาตรการเลื่อนชำระหนี้
มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ
มาตรการจัดตั้งกองทุน
มาตรการลดการนำส่ง FIDF Fee
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/2M2tjR7

 

• ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มาตรการและโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/3gtQamz

 

• ธนาคารและสถาบันทางการเงิน: มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ช่วง COVID-19
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/2TJEhPq

 

• กระทรวงแรงงาน 15 มาตรการ ช่วยเหลือลูกจ้าง นายจ้าง ผู้ประกอบการ ที่ได้ผลกระทบจากโควิด-19

  • จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การว่างงาน
  • ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ Covid-19 รวมถึงมาตรการป้องกัน
  • ปรับรูปแบบศูนย์บริการ OSS
  • ผู้ประกันตนตรวจและรักษาฟรี Covid -19
  • เพิ่มสิทธิ์ผู้ประกันตน กรณีไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุ Covid-19
  • เพิ่มสิทธิ์ผู้ประกันตน กรณีต้องออกจากงาน
  • ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน
  • ยืดเวลานำส่งเงินสมทบทั้งนายจ้างและผู้ประกันตน
  • โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
  • สร้างเพจ “เสิร์ฟงานด่วน” รองรับผู้ต้องการงาน
  • มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ
  • พัฒนาทักษะฝีมือแก่กลุ่มแรงงานในระบบ
  • โครงการจ้างบัณฑิตที่ว่างงาน
  • ดำเนินการสร้างความเข้าใจที่ดีในระบบแรงงานสัมพันธ์
  • ให้ความช่วยเหลือสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.posttoday.com/social/general/618975

 

• ธนาคารแห่งประเทศไทย
– พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาททุกราย เป็นเวลา 6 เดือน
– สนับสนุนสินเชื่อใหม่ (soft loan) เพื่อเสริมสภาพคล่อง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur-5764-id.html

 

• สำนักงานประกันสังคม
ขยายเวลาการนำส่งเงินสมทบให้แก่นายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สำหรับงวดเดือนมี.ค.-พ.ค.63 ออกไปอีก 3 เดือน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur-5764-id.html

 

• กรมสรรพากร
– ขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษีออกไป
– ผู้ประกอบการที่กู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของรัฐบาล สามารถหักรายจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มได้ 1.5 เท่า
– สนับสนุนให้เอสเอ็มอีจ้างงานต่อเนื่อง โดยสามารถนำรายจ่ายค่าจ้างพนักงานมาหักรายจ่ายได้ 3 เท่า
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur-5764-id.html

 

• การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประกาศลดค่าไฟฟ้าอัตรา 3 เปอร์เซ็นต์ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทรวม 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) และขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและที่ให้เช่าพักอาศัยระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ออกไป เป็นต้องชำระล่าช้าได้ไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่คิดค่าปรับดอกเบี้ย

การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และการประปานครหลวง (กปน.) ลดค่าน้ำประปา 3 เปอร์เซ็นต์ ให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภทเป็นเวลา 3 เดือน โดยกปภ.เริ่มตั้งแต่รอบการใช้งานเดือนเม.ย. – มิ.ย.63 ส่วนกปน. ตั้งแต่รอบการใช้งานเดือน พ.ค.-ก.ค.63 รวมถึงยังขยายระยะเวลาการชำระค่าน้ำประปา สำหรับผู้ใช้น้ำที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจโรงแรม และกิจการที่ให้เช่าพักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ย ผ่อนชำระได้นานถึง 6 เดือน โดยไม่มีการตัดมิเตอร์น้ำ ติดต่อแจ้งความประสงค์ได้ที่สำนักงานสาขาในพื้นที่

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ปรับลดราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนลง 45 บาทต่อถัง (ขนาด 15 กิโลกรัม) และลดราคาขายปลีกเอ็นจีวี 3 บาทต่อกิโลกรัมให้กับรถโดยสารสาธารณะเป็นเวลา 3 เดือน โดยยังตรึงราคาเอ็นจีวีออกไปอีก 5 เดือนนับจากเดือน เม.ย.นี้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur-5764-id.html

 

• กรมการท่องเที่ยว
คืนหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว 70เปอร์เซ็นต์ของวงเงินประกัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur-5764-id.html

 

• กระทรวงอุตสาหกรรม
ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้ผู้ประกอบการโรงงาน ล่าสุดเตรียมดำเนินการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มอก. เพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur-5764-id.html

 

• กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)
เปิดตัวเฟซบุ๊คเพจ “สไตล์ ดีไอทีพี” เพื่อเป็นช่องทางให้กับผู้ส่งออกกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur-5764-id.html

 

• กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม – DIProm
“พักหนี้ – ขยายเวลาผ่อน” เยียวยา COVID-19 7 กลุ่ม อุตสาหกรรมครัวเรือนและหัตถกรรม
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/dipromindustry/posts/3013240572065833

 

Published on 24 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

เทคโนธานี Technopolis พื้นที่นวัตกรรมเสริมแกร่ง SME

ในยุคสมัยที่หลายประเทศแข่งขันช่วงชิงความเป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การมีพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนความก้าวหน้าของนวัตกรรมและผู้ประกอบการไทย นับได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งยวด หนึ่งในพื้นที่ส่งเสริมนวัตกรรมและ SME ของประเทศไทย คือ เทคโนธานี 


เทคโนธานี (Technopolis) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2532 เพื่อสนับสนุนให้มีการเร่งรัดสร้างสรรค์งานวิจัยพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ 

เทคโนธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มีเนื้อที่รวมประมาณ 574 ไร่ โดยเป็นแหล่งรวมกิจกรรมทั้งทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี, นวัตกรรม, พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 7 หน่วยงาน จาก 3 กระทรวง คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

7 หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ของเทคโนธานี ได้แก่

1) สำนักงานปลัดกระทรวงอว.
2) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
3) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
4) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ
5) ศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ โดยทั้ง 5 หน่วยงานนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงอว.
6) กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน 
7) ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

เทคโนธานีมีหลากหลายพันธกิจ อาทิ สนับสนุนให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงองค์ความรู้และบริการของหน่วยงานภายในเทคโนธานี, พัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งแวดล้อมและพลังงานเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานของเทคโนธานี ให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของประเทศ


คุณวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวว่า วว. มีงานวิจัยหลายด้าน อาทิ เกษตร, อาหาร, สมุนไพร และช่วยเหลือ SME ในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงมีสถานที่สำหรับบ่มเพาะธุรกิจอาหารอย่างครบวงจร

“หลายที่ผลิตภัณฑ์มีปัญหา ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็มาให้วว. ช่วยในการทำวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา ส่วนใหญ่ตอนนี้จะไปเรื่องเครื่องสำอางค์ บางทีก็เป็นเรื่องอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะมองเรื่องความปลอดภัย การเพิ่มมูลค่า และการยืดอายุ บางทีเขาอยากจะส่งออกต่างประเทศ แต่ติดปัญหาเรื่องอายุการใช้งาน Shelf Life ต่ำ เราจะมีเทคโนโลยีในการช่วยพัฒนา ทำอย่างไรให้อาหารเก็บได้ยาวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี อีกส่วนหนึ่งเป็นเทคโนโลยีทางด้านบรรจุภัณฑ์ เรามีศูนย์บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยทำแพคเกจจิ้งที่ปลอดภัยและยืดอายุ” 

คุณวิรัช กล่าวว่า วว. ให้บริการที่เป็น Total Solution เบ็ดเสร็จครบวงจร เริ่มตั้งแต่งานวิจัย, ทดสอบ, สอบเทียบเครื่องมือ, การรับรอง และมี Scale-up Plant ในชื่อว่าโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) ให้ผู้ประกอบการ SME มาทดลองผลิตอาหารและเครื่องดื่ม โรงงานนี้ขอ GMP (Good Manufacturing Practice) พอผลิตเครื่องดื่มแล้วก็ได้ตราอย. มีบรรจุภัณฑ์และวางขายได้เลย “SME ไม่ต้องไปลงทุนสร้างโรงงาน มาใช้บริการได้เลย หากขายดีก็ค่อยไปสร้างโรงงานเองได้ แต่หากขายไม่ดีก็อาจมาปรับสูตร หรือวิจัยใหม่” 


ในโรงงานของวว. กำลังสร้างไลน์ผลิตเครื่องสำอาง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2563 โดยต่อไปผู้ประกอบการ SME สามารถมาทดลองผลิตเครื่องสำอางค์ได้ 

หน่วยงานอีกแห่งที่ตั้งอยู่ในเทคโนธานี คือ ศูนย์ฉายรังสี อยู่ภายใต้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) โดยสทน. เป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ มีงานบริการและการฝึกอบรม ประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ คือ อุตสาหกรรม, การแพทย์, อาหาร, อัญมณี, ความปลอดภัยและเครื่องวัดปริมาณรังสี และด้านสิ่งแวดล้อม 

สทน. มีเครื่องฉายรังสีภายใต้การควบคุมและดูแลของศูนย์ฉายรังสี ให้บริการฉายรังสีด้วยรังสีแกมมาให้แก่บุคคลทั่วไปโดยผลิตภัณฑ์ที่นำมาฉายรังสีนั้นมีหลากหลายชนิด เช่น อาหารสัตว์, สมุนไพร, ผลไม้ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา, หลอดยาจุกยางฉีดยา เป็นต้น “ศูนย์ฉายรังสีดีลกับ SME ได้คือ ฉายรังสีเพื่อยืดอายุการเก็บผลิตภัณฑ์ เช่น แหนม, ผลไม้, สมุนไพร, อาหาร, เครื่องเทศ” คุณวิรัช กล่าว 

สทน. ได้จัดตั้ง “โครงการคูปองนวัตกรรมด้านรังสี” เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME และ OTOP สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนิวเคลียร์ได้ง่ายขึ้น โดยให้ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในการผลิต หรือต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เข้ามารับการแนะนำหรือวิจัยกับสถาบัน ซึ่งพร้อมร่วมมือกับผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

สำหรับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) จัดเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาระบบมาตรวิทยาของชาติให้สอดคล้องกับระบบมาตรวิทยาสากล และให้การส่งเสริมสนับสนุนระบบมาตรฐาน เพื่อให้เกิดการยอมรับว่าประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เกษตรกรรมที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


มว. ให้บริการแก่ผู้ประกอบการหลักๆ  2 เรื่อง

1) ให้บริการสอบเทียบ สำหรับเครื่องมือเกือบทุกประเภทที่ภาคอุตสาหกรรมใช้อยู่ โดยเฉพาะเครื่องมือที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งห้องปฏิบัติการสอบเทียบทั่วไปไม่สามารถดำเนินการได้
2) ให้บริการด้านฝึกอบรม เช่น เทคโนโลยีการวัดใหม่ๆ เทคโนโลยีการวัดที่ต้องการความแม่นยำสูง และยังมีบริการให้คำปรึกษาให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME เพื่อให้มีความสามารถในการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น หรือมีประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้น เพิ่มคุณภาพให้กับสินค้า และลดการเกิดของเสีย 

คุณวิรัช กล่าวว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่คอยปรับเทียบให้เกณฑ์ของประเทศไทยลิงก์กับต่างประเทศและอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการปรับจูนทุกเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรวิทยา เช่น ความแม่นยำของเครื่องมือ, เวลา, น้ำหนัก, เสียง, แสง, เคมี, อุณหภูมิ เป็นต้น 

“มว. ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) ทำในระดับไพรมารี่ (Primary) ไม่ได้ไดเร็กส์โดยตรงกับ SME อาจมีบ้าง แต่น้อย ยกเว้นว่าเป็นรายการที่แปลกแล้วหาใครทำไม่ได้ ก็จะเข้ามาที่มว. แต่โดยส่วนใหญ่ถ้ามีคนอื่นสอบเทียบให้แล้ว เขาจะไม่มา เพราะมว. ทำระดับไพรมารี่ แต่หน่วยงานอื่น วว. และหน่วยงานแล็บเอกชนทั้งหลาย จะทำ Secondary Standard”

สำหรับศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะ ความสามารถของนักวิจัยและบุคลากรที่เกี่ยวข้องขององค์กร และพัฒนาระบบและกลไกการถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านงานวิจัยพัฒนา นวัตกรรม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาหลักสูตร ฝึกอบรม และสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน 

กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน ทำหน้าที่ฝึกอบรม พัฒนา ถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการพลังงาน โดยอบรมพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพในการผลิตและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด เพื่อให้การพัฒนาพลังงาน และการอนุรักษ์พลังงานของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

คุณวิรัช กล่าวว่า เป้าหมายของเทคโนธานี คือ หน่วยงานในพื้นที่แห่งนี้มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามเป้าหมาย SDG (การพัฒนาที่ยั่งยืน) เพื่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงต้องการให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงองค์ความรู้และบริการของหน่วยงานภายในเทคโนธานี

จากเป้าหมายและบทบาทข้างต้น ทำให้เทคโนธานีเป็น  One Stop Solution ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี, นวัตกรรม, พลังงาน และสิ่งแวดล้อม 

 

ท่านสามารถติดต่อรับบริการหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของหน่วยงาน....

  1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
    https://www.tistr.or.th/tistrnew/main/index.php
  1. สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ(มว.) http://www.nimt.or.th/main/
  2. ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม(ศวฝ.)-กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม http://www.ertc.deqp.go.th/
  3. ศูนย์ฉายรังสี- สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.)   https://www.tint.or.th/main/index.php/th/
  4. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ  http://www.nsm.or.th/
  5. กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน http://www2.dede.go.th/bhrd/

Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย




บทความแนะนำ